ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม…

เจอประโยคนี้ระหว่างอ่านพระไตรปิฎก คนพูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พระพุทธเจ้านั่นแหละ ถึงเวลาท่านจะข่มคนโง่ ท่านก็อัดตรง ๆ เลย

มายุคนี้จะไปพูดกับใครเขาแบบนี้ไม่ได้นะ เขาเอาตายเลย บารมีเราไม่พอด้วย จะไปใช้ภาษาระดับพระพุทธเจ้ามันก็ไม่ไหว

ไอ้การที่จะไปปะทะกับคนพาล คนโง่ คนชั่ว นี่มันยาก ในมงคล 38 ประการท่านก็ว่าให้ห่างไกลคนพาลไว้ก่อน

ในพระไตรปิฎกบทหนึ่งท่านก็กล่าวไว้ว่า คนต่ำกว่าไม่ต้องไปคบ ถ้าจะคบก็คบไว้เพื่อไว้ช่วยเขา ดังนั้นถ้าจะหาความเจริญก็ต้องมุ่งไปหาคนที่เจริญ ไปคลุกคลีอยู่กับคนที่เจริญกว่า เก่งกว่า เก๋ากว่า

ผมนี่ไม่ค่อยอยากจะเสียเวลากับคนมากเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ จะว่าไปก็ไม่มีปัญญาไปช่วยเขาหรอก เหตุหนึ่งเพราะเขาก็ไม่ได้ให้เราช่วย คือไม่ได้ศรัทธากันขนาดนั้น มันก็ช่วยไม่ไหว ทำไปมันก็เสียเปล่า สู้เอาเวลาไปสนับสนุนคนดีจะดีกว่า เสียเวลาเท่ากันได้ประโยชน์กว่าเยอะ

ช่วยคนที่ไม่ศรัทธา ให้ตายก็ช่วยไม่สำเร็จ ดีไม่ดีมีการเพ่งโทษกลับไปอีก ลงนรกลึกเข้าไปอีก จากอยู่ขุมที่มันไม่ทุกข์มาก พอเพ่งโทษแล้วไม่รู้จะลงไปอยู่ขุมไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นคนพาลก็ปิดประตูบรรลุธรรมแล้ว ดังนั้นไปยุ่งกับคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาขนาดนั้น มันก็มีแต่เสียเป็นส่วนใหญ่

ครูบาอาจารย์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ศรัทธาประมาณไหน ท่านถึงจะลงมือ ท่านก็บอกว่าระดับ full house คือเปรียบเทียบกับการได้ไพ่รูปแบบหนึ่งใน poker ซึ่งมีอัตราส่วนที่เขาประเมินมาก็ประมาณ 0.1% นั่นหมายความว่า เจอพันคน ก็จะช่วยได้จริง ๆ ก็หนึ่งคนนั่นแหละ พอเห็นอัตราส่วน มันก็สบายใจเลย โล่งเลย แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รอให้เต็มรอบค่อยลงมือก็ได้ พวกไม่จริงจังก็ปล่อยเขาไปตามที่ชอบ ๆ ของเขา ก็ win win เราก็ไม่ต้องเสียเวลา เขาก็ไม่ต้องมาเพ่งโทษเรา

พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติให้เลิกกินเนื้อสัตว์

มีบางท่านก็ยังเห็นและสงสัย ส่วนบางท่านปักมั่นไปแล้วก็ลองพิจารณากันดู

ครั้งที่พระเทวทัตมาขอให้บัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ยินดีตามพระเทวทัต

!? แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ และท่านก็ไม่ได้ห้าม ถ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ครั้งที่มีพราหมณ์มากล่าวหาว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ท่านก็ยังปฏิเสธว่า เราถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง

*ทำไม่ท่านจึงไม่บัญญัติ เพราะท่านบัญญัติไว้แล้วในศีลข้อ ๑ เนื้อความว่า “เธอละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่”

นั่นหมายความว่าเมื่อปฏิบัติตามศีลไป จะละเว้นเนื้อสัตว์ได้เอง เพราะการที่ยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ก็ยังไม่เต็มในเมตตา ยังไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความกรุณา ไม่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ …ก็อาจจะเถียงไปได้ ว่าหวังประโยชน์แก่คนฆ่า คนขาย คนเลี้ยง เดี๋ยวธุรกิจบาปเขาจะพัง

ในการปฏิบัติศีลนี้ไม่มีบทลงโทษ นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติก็จะทำไปตามลำดับได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละ คนอ่อนแอ ยังอยากมากก็ต้องหามาเสพ แต่ถ้าตั้งจิตถูกว่าจะพยายามลด ละ เลิกก็ไม่ได้ผิดในทางปฏิบัติอะไร เพราะท่านเข้าใจว่ากิเลสมันร้าย มันต้องค่อย ๆ ปฏิบัติลด ละ เลิกไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วการไม่กินเนื้อสัตว์ นั้นเป็นระดับเบสิคของพุทธที่เรียกว่าได้กันโดยสามัญ เพราะใช้ปัญญาเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้ในปัจจุบัน ผู้คนไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธ เขาก็ยังมีปัญญาลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนชีวิตอื่นมาก

ดังจะสอดคล้องกับหลักพุทธอีกหลายข้อ คือการเอาสัตว์มาฆ่ากินนี่บาปตั้งแต่ สั่ง ฉุด ลาก ดึงมันมา ทำร้ายมัน ฆ่ามัน สุดท้ายทำให้คนยินดีในเนื้อที่ฆ่ามานั้น บาปทุกขั้นตอน หรือการค้าขายที่ผิด พระพุทธเจ้าไม่ให้ขายชีวิตสัตว์ ไม่ให้ขายซากหรือเนื้อสัตว์ เพราะท่านรู้ว่ามันจะเป็นเหตุให้คนไปหาผลประโยชน์จากสัตว์ ไปเบียดเบียนสัตว์ ท่านก็ปิดประตูนี้

แค่เอาจากจุลศีลข้อ ๑ ,มิจฉาวณิชชา ๕ ,ทำบุญได้บาป ๕(ชีวกสูตร) เอาแค่นี้ก็ไม่ต้องบัญญัติว่าควรกินหรือไม่ควรกินแล้ว เพราะสาวกผู้มีปัญญา ปฏิบัติตามครรลองคลองธรรมไปโดยลำดับแล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดควรละ สิ่งใดควรยึดอาศัย

เชื่อไหม ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ นี่มันไม่ต้องเถียงกันเลยนะ มันจะสอดคล้องกับข้อธรรมทั้งหมดเลย มันจะไม่ขัด ไม่แย้งกันเลย แต่ถ้ากินเนี่ยนะ มันจะขัด จะแย้งไปหมด ยังมีอีกหลายบทที่ยกมาแล้วจะยิ่งล็อกไปใหญ่ แต่มันยาว ก็ยกไว้ก่อน

แต่ก็เอาเถอะ ถ้าเขาปฏิบัติจนเจริญจริง ภาวนาได้จริง เมตตามีจริง เขาก็หาทางเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงทางอ้อมนั่นแหละ ไม่ปฏิบัติอะไรหรือปฏิบัติผิด มันก็ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร มันก็เถียงกินอยู่นั่นแหละ เอ้อ จะมีปัญญาเพิ่มก็ปัญญากิเลสนี่แหละ สามารถเถียงกิน เถียงเพื่อที่จะทำชั่ว เถียงเพื่อที่จะเบียดเบียนได้เก่งขึ้น

…ก็เอานะ ถ้าเข้าใจว่าพ้นทุกข์ก็ทำกันไป แต่ผมว่าไม่พ้นหรอก เพราะสุดท้ายก็ต้องคอยเถียงกินกันทุกชาติ ผมว่ามันทุกข์นะ ไม่เหมือนคนที่เผยแพร่สิ่งดี เอ้ามาลด ละ เลิกการเบียดเบียนกันเถอะ นี่เขาทำไปมันก็เป็นกรรมดี คนจะเห็นต่างบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกับใคร ไม่ต้องมาปกป้องกิเลสหรือความเห็นผิดของตัวเองกับใคร ก็เผยแพร่ไปตามโอกาสของตัวเองนี่แหละ สบาย ๆ นึกออกก็บอก นึกไม่ออกก็วางไป ไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องบอกสิ่งดี แต่ก็อาศัยสิ่งดีให้ดีเกิด

สัจจะมันไม่ได้ถูกหรือผิดเพราะเชื่อหรือคนกำหนดนะ มันถูกมันผิดของมันโดยธรรม คุณกินสิ่งที่มันเป็นโทษ มันเบียดเบียน มันก็เป็นโทษ เบียดเบียนของมันอยู่อย่างนั้น มันหนีความจริงนี้ไม่พ้นหรอก สุดท้ายก็ต้องได้รับผลกรรมตามที่ทำ และผลของการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็แตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยของมัน

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี

ความเสื่อมสลายโดยรูปของศาสนา

ความเสื่อมสลายโดยรูปของศาสนา

อ่านเจอข่าวสถานที่ปฏิบัติธรรมลารุงการ์ในทิเบต กำลังถูกรื้อถอนและจำกัดจำนวนผู้พักอาศัยลดลงมากกว่าครึ่ง

ก็มานั่งคิดว่า ศาสนานี่มันต้องเสื่อมแน่ๆ แต่เพียงแค่มันเสื่อมโดยรูปเท่านั้น นามนั้นยังมีอยู่ แต่นามนั้นเป็นของจริงไม่จริงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องพุทธในทิเบตก็ยกไว้ก่อน เอาพุทธในไทยนี่แหละ

ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีกระแสกล่าวหาว่าพุทธนั้นโดนศาสนาอื่นโจมตี ก็มานั่งนึกอีกว่า เขาจะมากล่าวหา โจมตี สอดไส้สร้างความเสื่อมเสียแล้วมันยังไงหรือ? ถ้าเนื้อแท้มันยังอยู่ มันต้องไปกังวลทำไมเล่า ปัญหาจริงๆ คือตอนนี้มันมีแต่หนังรึเปล่า เนื้อไม่มีแล้ว มีแต่เปลือกๆ มันเลยสั่นคลอน หวั่นไหวได้ง่าย

ประเด็นคือคนที่ไม่รู้จริงก็จะกลัวความเสื่อม วิตกกังวลกันไปใหญ่ ก็พากันขัดขืนบ้าง เร่งสร้างหลักฐานบ้าง ก็เห็นชาวพุทธไทยนี่ชอบสร้างหลักฐานในการมีอยู่ของพุทธกันเหลือเกิน จนมันค่อนไปทางอัตตาเสียมาก คือมีอะไรก็สร้างวัตถุเป็นหลัก ธรรมะก็เน้นวัตถุกันอีก จะส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานนี่เขาเน้นส่งแต่วัตถุกันนะ แต่จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ ก็เขารู้เท่านั้น

ในส่วนตัวผมนะ ว่าจะไม่เน้นวัตถุเลย เอาข้างในให้มันได้จริงๆ ก่อนเถอะ ถึงวันนั้นจะมีวัดไม่มีวัด มีพระไม่มีพระ มีพระไตรปิฎกหรือไม่มี มันก็ไม่ได้สำคัญเท่าไหร่หรอก (จริงๆ มีก็ดี แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร)

อย่างตอนที่พระเถระท่านร่วมกันสร้างพระไตรปิฎกขึ้นมานี่ วัตถุมันไม่ได้มาก่อนนะ มันตามมาทีหลัง มันเป็นมรดกจากความสมบูรณ์ คือพระอรหันต์ 500 รูปมาร่วมกันสร้าง ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์นี่เข้าร่วมไม่ได้นะ

แต่ทุกวันนี้อรหันต์ไม่อรหันต์ไม่รู้แหละ ตะบี้ตะบันสร้างวัตถุกันไป วัดบ้าง ตำราบ้าง ก็เยอะแยะหลากหลาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะ ให้ทำคุณอันสมควรก่อน จึงพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง..

ผมนั่งนึกถึงวันที่พุทธในไทยมันเสื่อมสลายเหมือนกันนะ คือรูปไม่เหลือเลย วัดก็เละเทะ พระก็เละเทะ แล้วมันจะยังไง นึกไปมันก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะมันต้องเป็นไปอย่างนั้นอยู่แล้ว และที่สำคัญพุทธก็ไม่ได้สืบทอดกันแบบนั้นเสียหน่อย ศาสนาในปัจจุบันจะเละอย่างไร คนที่มีภูมิเก่าเขาก็สืบทอดสิ่งที่เขามีเขาเป็นมาก่อน แล้วพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ พอมีจริงแล้วมันก็เลยไม่กังวลว่าพุทธจะเสื่อมสลายไป เพราะรู้ว่าตนเองนี่แหละมีความเป็นพุทธอยู่ ถึงเหลือคนเดียวในโลกก็ทำไปเท่าที่ทำได้ ตายไปก็เกิดมาศึกษาต่อไปจนกว่าจะหมดกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้อย่ารีบเชื่อ ทั้งตำรา อาจารย์ผู้มีชื่อเสียง เพราะของพวกนี้มันไม่เที่ยง มันหลอกได้ มันปลอมได้ แต่ภาวะในตนนี่มันเป็นของจริง มันรู้แล้วรู้เลย มันแน่นอนกว่า เพราะเกิดจากการปฏิบัติสะสมมาหลายภพหลายชาติ พอไปลองปฏิบัติตามดูก็จะรู้เองว่าทางไหนใช่ ทางไหนไม่ใช่ ดังนั้นความเป็นพุทธจึงไม่หล่นหายไปไหน แม้รูปของศาสนาจะเสื่อมไปโดยสมบูรณ์ก็ตาม คนที่เขาปฏิบัติได้จริงถึงมรรคผลจริง เขาก็มีของเขาอยู่แบบนั้นแหละ

ทีนี้คนไม่รู้จริงเขาก็จะไม่มีความเข้าใจแบบนี้ เขาก็จะกังวล ตื่นตระหนก หากพุทธที่เขารักโดนทำร้ายทำลาย ถูกทำให้เสื่อมลง ส่วนใหญ่ก็จะเร่งสร้างวัตถุ สร้างมวล แต่ไม่ได้สร้างคุณภาพ คือไม่ทำความเห็นของตนให้ถูก เขาก็เลยต้องทุกข์เพราะความผิดหวังจากการพลัดพรากอยู่อย่างนั้น

 

มังสวิรัติทางสายกลาง เป็นอย่างไร ลองมาอ่านกัน

การกินมังสวิรัติ ไม่ได้มีคุณค่าแค่เพียงทำให้สุขภาพดี ทำให้ตัวเองไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพียงแค่ได้กุศล แต่ยังเป็นโอกาสในการขัดเกลากิเลส ลด ละ เลิกการเสพ การติด การยึด ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมในแนวทางของศาสนาพุทธ เพื่อนำไปสู่ทางสายกลางซึ่งเป็นความผาสุกที่แท้และยั่งยืน

มังสวิรัติทางสายกลางไม่ใช่แนวทางหรือวิธีใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นวิธีเก่าที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เพียงแค่หยิบยกมารวมกับการกินมังสวิรัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ในยุคนี้ ผู้ที่พากเพียรปฏิบัติก็จะสามารถเข้าถึงผลได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ยังสงสัย ยังสับสน ยังไม่เชื่อ ก็ให้ลองศึกษาหาข้อมูลและเพียรทำความดีต่อไป

อ่านต่อได้ที่บทความ : มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน
มังสวิรัติทางสายกลาง

 

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

เหตุแห่งทุกข์ อยู่แห่งไหน ใครใคร่รู้

เป็นอีกบทความหนึ่งที่นอนๆอยู่แล้วนึกได้ จริงๆก็ตั้งหัวข้อไว้สักพักแล้ว แต่บ่ายนี้นอนคิดอะไรไปเพลินๆก็เผลอหลับไป สุดท้ายก็ได้หลายๆประเด็นที่จะมาพิมพ์บทความจากฝันนี่แหละ ประมาณว่าอ่านหนังสือจบแล้วเอาไปฟุ้งต่อในฝัน วิธีนี้ก็สะดวกดีเหมือนกัน

อันความว่าเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัยนั้น เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะใกล้ เพราะเราเจอทุกข์กันอยู่ทุกวัน เหตุแห่งทุกข์มันก็อยู่แถวๆนั้นแหละ แต่ความจริงแล้วมันช่างไกลเหลือเกิน การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แม้จะเพียรพยายามก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเจอได้ง่ายๆ เพราะเราไม่สามารถหักดิบปฏิบัติอธิศีลที่ยากๆได้ตั้งแต่แรก จึงต้องค่อยถือศีลไปเรื่อยๆจนสามารถเห็นเหตุแห่งทุกข์ที่ลึกลงไปเรื่อยๆได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย งดงามไปตามลำดับ การปฏิบัติก็เช่นกัน เราไม่สามารถที่จะได้คำตอบสุดท้ายแต่แรกได้ จึงต้องเพียรพยายามทำไปตามโจทย์ ตามฐาน ตามบารมีที่มี ลองมาอ่านกันดูจากบทความที่จะมาช่วยกันค้นหาเหตุแห่งทุกข์นี้

อ่านต่อได้ที่บทความ : เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

เรื่องปฏิบัติธรรมนี่ก็เป็นเรื่องที่เหมือนจะใกล้ตัวแต่ก็มักจะไกลตัว มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงเข้าใจไปว่าจะไปรอปฏิบัติธรรมกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป หรือแม้กระทั่งหลงไปว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นกิจกรรมคนแก่ ทั้งๆที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมหรือการขัดเกลากิเลสนั้น ทำให้เราสามารถพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นได้ ลดกิเลสได้ก่อนก็พ้นทุกข์ก่อน ก็เกิดสุขก่อน ได้สุขตั้งแต่วันนี้ มันไม่ดีหรืออย่างไร…

อ่านต่อได้ที่บทความ :  ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat