เรียนรู้จาก เหตุการณ์อาจารย์ลงสนามรบ น้ำปัสสาวะ

เวลาเราศึกษาธรรมะเนี่ย มันต้องมีครูบาอาจารย์ แล้วต้องมีตัวเป็น ๆ ด้วย ที่จะเป็นตัวอย่าง เห็นได้ สอบถามได้ มันถึงจะเจริญไปได้
 
ช่วงนี้อาจารย์หมอเขียว ออกรายการสดค่อนข้างถี่ การกระทบก็เยอะ ผมยังไม่ได้ดูหรอก ติดปัญหานิดหน่อย แต่มีเพื่อนช่วยสรุปข่าวแบบละเอียดมาให้ ก็เลยพอเห็นภาพ
 
เวลาผมจะศึกษา ผมจะคอยดูว่าเวลาอาจารย์กระทบความเห็นต่าง กระทบคนพาล คือโดนเขาด่านั่นแหละ อาจารย์จะทำอย่างไร อาจารย์จะช่วยเขายังไง จะปลอบหรือจะติ มันไปได้ทั้งสองแนว คือทั้งเบาทั้งหนัก
 
ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าใครเขาจะด่า อาจารย์ที่เรานับถืออย่างไร จะไม่ให้เกียรติ จะดูถูก จะทำไม่มีมารยาทยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปสนใจสักเท่าไหร่
 
แต่ถ้าเรารัก เราหลงอาจารย์ เราจะชังคนที่มาติ ด่า ข่ม ดูถูก อาจารย์ หรือคนที่เรารัก ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราไม่ได้เห็นสาระสำคัญที่ท่านกำลังแสดงให้ดู เพราะมัวแต่ไปเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ผมว่ามันน่าเสียดายนะ ที่พลาดโอกาสในการเรียนรู้นั้น ๆ เพราะเอาเวลาไปสนใจสิ่งไร้สาระ
 
ผมไม่ได้ศรัทธาครูบาอาจารย์เพราะผมจะตามท่านตลอดไป แต่ผมศรัทธาเพราะผมจะทำให้ได้แบบท่าน ให้เป็นคนแบบท่าน อย่างน้อย ได้ 1 ในล้านเรื่องก็ยังดี ดังนั้น งานปกป้องอาจารย์จึงไม่ใช่งานของผม ผมไม่ใช่แนวพระอานนท์ที่ไปยืนขวางช้างนาฬาคีรีที่กำลังพุ่งชนพระพุทธเจ้าแน่ ๆ ผมก็คงจะแค่คอยดูปรากฎการณ์ไม่ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นแล้วบันทึกลงในจิตวิญญาณเท่านั้น
 
การร่วมกับอาจารย์นั้น ไม่ได้หมายถึงการเดินร่วมทางกันไป แต่หมายถึงเราได้บรรลุผลตามคำสอนของอาจารย์ได้มากน้อยแล้วเท่าไหร่ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนั้นชาวพุทธจึงถือเอากิเลสที่ลดได้เป็นตัวร่วม เป็นทิฏฐิสามัญญตา เป็นความเห็นเดียวกัน เสมอกัน มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกับอาจารย์ได้มากเท่าไหร่ ก็ร่วมมากเท่านั้น แต่ถ้าอาจารย์สอนอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันก็ไม่ร่วม

ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม…

เจอประโยคนี้ระหว่างอ่านพระไตรปิฎก คนพูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พระพุทธเจ้านั่นแหละ ถึงเวลาท่านจะข่มคนโง่ ท่านก็อัดตรง ๆ เลย

มายุคนี้จะไปพูดกับใครเขาแบบนี้ไม่ได้นะ เขาเอาตายเลย บารมีเราไม่พอด้วย จะไปใช้ภาษาระดับพระพุทธเจ้ามันก็ไม่ไหว

ไอ้การที่จะไปปะทะกับคนพาล คนโง่ คนชั่ว นี่มันยาก ในมงคล 38 ประการท่านก็ว่าให้ห่างไกลคนพาลไว้ก่อน

ในพระไตรปิฎกบทหนึ่งท่านก็กล่าวไว้ว่า คนต่ำกว่าไม่ต้องไปคบ ถ้าจะคบก็คบไว้เพื่อไว้ช่วยเขา ดังนั้นถ้าจะหาความเจริญก็ต้องมุ่งไปหาคนที่เจริญ ไปคลุกคลีอยู่กับคนที่เจริญกว่า เก่งกว่า เก๋ากว่า

ผมนี่ไม่ค่อยอยากจะเสียเวลากับคนมากเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ จะว่าไปก็ไม่มีปัญญาไปช่วยเขาหรอก เหตุหนึ่งเพราะเขาก็ไม่ได้ให้เราช่วย คือไม่ได้ศรัทธากันขนาดนั้น มันก็ช่วยไม่ไหว ทำไปมันก็เสียเปล่า สู้เอาเวลาไปสนับสนุนคนดีจะดีกว่า เสียเวลาเท่ากันได้ประโยชน์กว่าเยอะ

ช่วยคนที่ไม่ศรัทธา ให้ตายก็ช่วยไม่สำเร็จ ดีไม่ดีมีการเพ่งโทษกลับไปอีก ลงนรกลึกเข้าไปอีก จากอยู่ขุมที่มันไม่ทุกข์มาก พอเพ่งโทษแล้วไม่รู้จะลงไปอยู่ขุมไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นคนพาลก็ปิดประตูบรรลุธรรมแล้ว ดังนั้นไปยุ่งกับคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาขนาดนั้น มันก็มีแต่เสียเป็นส่วนใหญ่

ครูบาอาจารย์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ศรัทธาประมาณไหน ท่านถึงจะลงมือ ท่านก็บอกว่าระดับ full house คือเปรียบเทียบกับการได้ไพ่รูปแบบหนึ่งใน poker ซึ่งมีอัตราส่วนที่เขาประเมินมาก็ประมาณ 0.1% นั่นหมายความว่า เจอพันคน ก็จะช่วยได้จริง ๆ ก็หนึ่งคนนั่นแหละ พอเห็นอัตราส่วน มันก็สบายใจเลย โล่งเลย แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รอให้เต็มรอบค่อยลงมือก็ได้ พวกไม่จริงจังก็ปล่อยเขาไปตามที่ชอบ ๆ ของเขา ก็ win win เราก็ไม่ต้องเสียเวลา เขาก็ไม่ต้องมาเพ่งโทษเรา

พุทธมีหลากหลาย ทางปฏิบัติก็มีมากมาย แต่ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว

ดูสารคดีแล้วนึกถึงสมัยแรก ๆ หลังจากเข้าใจทางปฏิบัติ ก็มุ่งสืบหาว่ากลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่นมีวิธีอย่างที่ทำได้บ้างไหม?

อ่านหนังสือก็หลายเล่ม โลกกว้างมาก แต่ความกว้างเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งกว้าง ยิ่งไกล ยิ่งหลง ก็คงมีไว้เพื่อศึกษาความผิดพลาดเท่านั้น

ผมมีความเห็นว่า ถ้าคนเกิดความเข้าใจที่ถูกตรงจริง ๆ จะมั่นคงในกลุ่มที่ตนปฏิบัติได้ผล จะศรัทธาอย่างยิ่งในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะไม่วอกแว่ก ไขว้เขว ไม่เที่ยวไปกลุ่มที่มีความเห็นต่างออกไป

เพราะถ้าเจอทางพ้นทุกข์แล้วปฏิบัติเองจนเห็นผล มันจะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาลัทธินั้นกลุ่มนี้ ที่ผมเคยตามหาไม่ใช่ว่าจะไปหากลุ่มเพิ่ม แต่ค้นหาและศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ …ที่มีทางเดียว

*จุดสำคัญ คือต้องปฏิบัติจนพ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยสัมมาอริยมรรค ที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๘ มิใช่เพียงเข้าใจและเลือกใช้มรรคใดมรรคหนึ่ง ดังสมการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสัมมาสมาธิจะเกิดได้จาก มรรคทั้ง ๗ ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ไม่ใช่การนั่งสมาธิแล้วเรียกสิ่งนั้น สัมมาสมาธิ …เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็เรียกว่าหาแทบไม่ได้แล้ว ว่าที่ไหนในประเทศไทยจะสอนสัมมาสมาธิอย่างถูกต้องอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากที่ผมศึกษาและเห็นมา ส่วนมากจะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

และมิจฉาสมาธินี่แหละ คือรูปแบบที่แตกตัวไปทั่วโลก เพราะมันไม่ถูกต้อง จึงทำได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากสัมมาสมาธิที่คาดเดาได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามไม่ได้ง่าย ๆ ลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สัตบุรุษ) เท่านั้น

ดังนั้นผมจึงไม่เอาเวลาไปเสียกับกลุ่มบุคคุลหรือคนที่ยังไม่เห็นทางพ้นทุกข์ ทฤษฎีหรือตรรกะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พูดกันไปได้ แต่สภาวธรรมเป็นสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้เข้าถึงธรรม และผู้ที่แจกแจงสภาวะได้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ผมเคยเจอคนที่อ้างตนว่ามีสภาวะ แต่พอถามเข้าหน่อย ให้แจกแจงเข้าหน่อย ก็นั่งนิ่ง ไปไม่เป็น บางทีคนก็หลงสภาวะกับสัญญา คือจำเขามา จำได้ นึกได้ ก็หลงไปว่าเข้าใจ แต่จริง ๆ มันเป็นแค่สัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

ดังเช่นว่าหลายคนที่ศึกษาธรรมะ ก็รู้นะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ของที่อยากได้ โดนพรากของรัก โดนด่า โดนดูถูก โดนทำร้าย ก็ไปโกรธเขา ชิงชังเขา สภาพแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นแค่ความจำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งดีอะไรให้จำเลย ก็ยังดีกว่าไม่มีเป้าหมาย

…อริยสัจ ๔ คือธรรม ๔ หัวข้อสั้น ๆ แต่ยากที่สุดในโลก เชื่อไหมว่าแม้จะมี 100 ลัทธิ เขาก็จะอธิบายและปฏิบัติไปได้มากกว่า 100 แบบ มันจะบิดเบี้ยวและเพี้ยนไปตามวิบากบาปของแต่ละคน หัวข้ออาจจะคล้ายกัน แต่พอขยายลงรายละเอียดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จะมีส่วนถูกบางส่วนปนอยู่ในเนื้อบ้าง แต่ถ้ามันไม่ 100% มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่ดีนั่นเอง

…สรุป ก็ลองสุ่มปฏิบัติตามกันไป ตามที่ศรัทธา ทำให้เต็มที่ อันไหนพ้นทุกข์ก็อันนั้นแหละ อันไหนไม่พ้นก็เลิก แต่ถ้าแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อันนั้นที อันนี้ที จากที่เห็นมา ส่วนใหญ่ไม่รอด กิเลสเอาไปกินหมด หลงเข้าป่าเข้าพงกันไปหมด

กำลังศรัทธา สู่พลังใจ

กำลังศรัทธา สู่พลังใจ

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นเศษส่วนหนึ่งของบรรยากาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก นั่นคือความพร้อมใจกันของประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ จึงได้แนวคิดและเก็บมาสังเคราะห์ต่อในประเด็นของความศรัทธา

บ่ายวันที่ ๕ ผมเดินทางไปด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจากต้นทางก็ไม่ค่อยเห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่าไหร่ เท่าที่มองเห็นจะมีคนใส่เสื้อเหลืองราว ๆ 4 ใน 10 ส่วน แต่พอเริ่มเดินทางเข้าใกล้ที่หมายมากขึ้น ภาพรวมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป สีอื่นเริ่มหายไป เหลือแต่โทนสีเหลืองกับสีอื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่

เป็นเวลาบ่ายแก่ ๆ อีกวันหนึ่งที่อากาศร้อนมาก แต่ภาพที่เราเห็นคือมีคนจำนวนมากมาทนร้อนทนแดดกันกลางถนน ภาพเหล่านี้ก็ดูเหมือนภาพธรรมดา อาจจะคิดไปได้ว่า งานสำคัญเช่นนี้เขาก็ทนร้อนกันได้ แต่เมื่อพบคิดทบทวนไป ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องทำดีขนาดไหน ถึงจะมีบารมีขนาดที่ว่ามีคนจำนวนมากมายขนาดนี้ ยอมทนลำบาก ทนร้อน ทนหิว ทนความอึดอัด และอื่น ๆ อีกสารพัดที่ต้องใช้ความอดทน ถ้าเทียบกับตัวเราตอนนี้นี่จะให้คนสักคน เขาออกจากบ้านมาเจอเรายังทำไม่ได้เลย จะให้มาทนแดดทนลำบากอย่างนี้คงไม่ไหว พอระลึกทบทวนได้แบบนี้ก็รู้ซึ้งในบารมีของในหลวง ร.๑๐ มากขึ้น และพิจารณาต่อไปอีกว่า การที่คนจำนวนมากสามารถทนลำบากได้ขนาดนี้ ก็เพราะเขามีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ความร้อน ตลอดจนความไม่สบายต่าง ๆ กำลังใจที่มากผิดปกตินี้ เกิดจากความศรัทธาอย่างตั้งมั่น เชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ เชื่อมั่นในความเป็นไทย เป็นความแนบแน่นมั่นคงในจิตใจของประชาชนชาวไทยส่วนมาก

ถ้าให้แต่ละคนมาทนตากแดดรอคนที่เขาไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา เขาจะทำกันไม่ได้หรอก พอใจไม่ศรัทธา มันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีแรงจะพาร่างกายออกมา มันก็เป็นธรรมดาของคนที่ไม่ใส่ใจ จึงไม่มีพลังพิเศษ ไม่มีพลังใจที่เชื่อมถึงกัน แม้ในวันนั้นผมจะไม่สามารถเดินดูปริมาณผู้คนทั้งหมดได้ด้วยตา แต่ก็พอจะเห็นว่ามาก คือมากพอที่จะทำให้ผมเดินต่อเข้าไปยังส่วนที่ลึก ๆ ไม่ได้ คนมากมายมานั่งรอกันแน่นถนน ถึงแม้จะมีคนมาก ก็ยังมีการแสดงออกถึงน้ำใจที่มีให้กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลกันและกัน แบ่งปันน้ำ อาหาร ยา ที่นั่ง ที่หลบแดดแก่กันและกัน จะเห็นได้ว่างานพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นงานแห่งการแบ่งปัน ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปที่มารอรับเสด็จ จิตอาสา และเจ้าหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ

กลับมาที่เรื่องของศรัทธาในมุมมองของผม เมื่อผมได้เจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ผมก็มักจะนำมาวิเคราะห์ต่อ พอทบทวนดูแล้ว ศรัทธาเป็นธรรมที่ผมค่อนข้างจะมองข้ามไป ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ไม่ค่อยมีกลยุทธ์เรื่องศรัทธา แต่จะเน้นไปในด้านปัญญาเป็นหลัก เพราะมองว่า คนมีปัญญาก็คือคนที่ศรัทธานั่นแหละ แต่จากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ศรัทธานี่เขามีกำลังนะ มีกำลังขนาดนี้เลยนะ ขนาดที่ว่าเราไม่มีปัญญาจะทำได้นั่นแหละ ซึ่งในทางธรรม การใช้ศรัทธาในเบื้องต้นมันก็แน่นกว่า เพราะปัญญานี่มันฟุ้งพอสมควร แต่ศรัทธานี่จะไปทางแกร่ง แน่นใน ทำให้ภาพรวมชัดเจน ส่วนปัญญาคือความคม ความแม่นยำ ชัดเจน ฯลฯ กรณีเราช่วยคนในด้านเพิ่มศรัทธา เพิ่มกำลังใจ ก็จะทำให้เขาทรงตัวอยู่ได้นาน มีกำลังพอที่จะทนไปได้ระดับหนึ่ง  ส่วนการใช้ปัญญานี่มันก็เสี่ยงสูงเหมือนกัน เพราะถ้าไม่แม่นโอกาสพลาดก็เยอะกว่า ขาดก็ไม่ดี เกินก็ไม่ดี สำคัญคือต้องมีความรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งยากสุดยากในการประมาณการใช้ปัญญาในการช่วยคน แม้ผลจะเป็นที่น่าพอใจสุด ๆ ก็ตามที แต่บางครั้งกลยุทธ์เชิงปัญญามันไปไม่ได้ บางคนเขาเป็นสายศรัทธา เขาก็ไม่รับคลื่นฝั่งปัญญาเท่าไหร่ ถ้ามองในมุมของตัวเอง ผมจะใช้ปัญญาแก้ปัญหาเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ใช้ศรัทธาหรือกำลังใจในการผ่านปัญหาที่เข้ามาสักเท่าไรนัก

เรื่องตัวเองก็พอเอาตัวรอดไปได้ระดับหนึ่ง พอมันเป็นเรื่องตัวเองมันก็ง่ายกว่า เพราะมันรู้เห็นได้ชัด พอเป็นเรื่องคนอื่นนี่มันยากมาก แม้ในหลาย ๆ ครั้ง ฟังดูก็พอรู้นะว่าเขาติดอะไร แต่การจะลงดาบเลยทันทีในสภาพที่ศรัทธาไม่พอนี่มันเสียหายอยู่เยอะเหมือนกัน คือถ้าใช้ปัญญากับคนอินทรีย์พละสูงมันก็ง่าย แต่พอเจอคนอินทรีย์พละต่ำ ศรัทธาต่ำ กำลังใจน้อย ไม่เชื่อใจกัน มันก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเขาเปราะบางเกินไป ผมเคยเจอกรณีแบบนี้หลายครั้ง ส่วนมากจะพลาด ก็นึกว่าเขาแกร่ง แทงไปปุ๊ป!…เหลวเป็นเต้าหู้หลอดเลย หลัง ๆ เลยคิดเลยว่า พอ ๆ ถ้าไม่ศรัทธากันมากพอไม่เสี่ยงแล้ว ทีนี้พอมาเห็นปรากฏการณ์ในวันที่ ๕ ก็ตั้งใจใหม่ ว่าจริง ๆ เราไปพัฒนาด้านศรัทธาบ้างก็ได้ ไม่เห็นต้องใช้ด้านปัญญาทั้งหมดเลย ศรัทธามาก่อนมันก็แกร่งดี ทนแดด ทนร้อน ทนหอก ทนดาบได้ดี มันก็น่าจะพัฒนาได้ไกลกว่า

แม้กับตัวเราเองก็ตาม การฝึกในด้านศรัทธา หรือเพิ่มกำลังใจ ก็จะทำให้ใจแกร่งขึ้น ทนขึ้น หนักแน่นขึ้นอีก ก็ไม่ได้เอาความแกร่งของใจไปใช้กับอะไรหรอก ก็ใช้กับกิเลสเรานั่นแหละ ส่วนที่ทนแดด ทนฝน ทนลำบากได้ อันนั้นกำไรทางโลก

ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา

ประโยคทองของอาจารย์หมอเขียว ที่ช่วยในการประมาณได้ดีมาก ๆ

ทำความผาสุกที่ตนนี่มันก็พอตรวจใจกันได้ง่าย ถ้ายังมีอาการทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ก็ทำใจ ปรับใจตรงนี้กันก่อน งานเราก็ต้องมาก่อนเป็นธรรมดา

ช่วยคนที่ศรัทธานี่สิยาก มันเป็นการประมาณข้างนอกแล้ว รู้เรานี่พอไหว รู้เขานี่เดากันล้วน ๆ จะไปช่วยเขานี่เขาศรัทธาเรารึเปล่า? เชื่อมั่นในเรารึเปล่า? มันก็ต้องใช้การประเมิน มันเดาไม่ได้หรอก

การประเมินก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่มันจะประเมินเขาพลาดเป็นธรรมดา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าช่วยคนที่ศรัทธาลึกซึ้งขึ้น คือศรัทธามันมีน้ำหนัก มีความเข้มของมัน และศรัทธา ไม่เที่ยง … คือเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มได้ ลดได้ แต่ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เช่นเมื่อก่อนเขาบอกว่าศรัทธาเรา แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราไปยึดตามสัญญาเก่า ไม่ประเมินจากปัจจุบัน เวลาช่วยเขามันจะพลาดกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พลาดกันตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นการไม่รีบ ไม่ลงรายละเอียด คุยเก็บข้อมูลไปก่อน มันก็จะช่วยป้องกันการผิดใจกันได้

แบบที่ลวง ๆ ก็มีเหมือนกัน เหมือนจะศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรจริงจัง คือมีอยู่ แต่ไม่มี เหมือนจะให้ช่วย แต่ก็ไม่ได้ทำตามอะไร อันนี้ก็เป็นศรัทธาที่น้ำหนักน้อย ความเข้มน้อย ศรัทธาแบบเจือจาง แต่เผิน ๆ อาจจะดูเยอะ ต้องใช้เวลาประเมินเช่นกัน

ในตอนนี้มันก็เลยสบายแบบสุด ๆ เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือถ้าไม่ชัดว่าศรัทธา ไม่ชัดว่าเชื่อมั่นในความเห็นกัน ประมาณ 90 % ผมไม่ต้องปรุงช่วยเขาให้เหนื่อยเลย ก็แค่คุยขีดเท่าที่เป็นกุศล ไม่บาดหมางกัน พูดประโยชน์ของธรรมะ โทษของกิเลสประมาณหนึ่ง ก็ผิว ๆ ไม่ลงรายละเอียด มันก็ไม่ต้องปรุงมาก ไม่เหนื่อย เอาพลังที่เหลือไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อ

มันเหมือนกลลวงของนักปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้ามันหลงกับการช่วยคน มันจะไม่มีขีดเตือนว่าควรจะช่วยถึงขั้นไหนหรือเท่าไหร่ มันจะดันไปที่ MAX ตลอด หรือตามภาษาที่เข้าใจโดยมากว่า “ติดดี ยึดดี” แต่ถ้าแบบที่ผมทำได้ตอนนี้คือมันปรับได้ มันปรับได้ว่าจะเอา MAX หรือ min คือจะเอามากน้อยมันปรับได้ พลาดไปเราก็ปรับลง เบาอีก หรือไม่ก็ปิดไปเลย แบบนี้มันอาจจะพลาด แต่มันจะพลาดน้อยลง

ยิ่งคนไม่รู้จัก ไม่เคยพบปะ ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยร่วมในเครือข่าย นี่ง่ายเลย เอา concept ไปก็พอ

ไม่มีฉันทะ ก็ไม่ต้องเริ่มกันเลย

ได้ฟังพ่อครูกับอาจารย์หมอเขียวก่อนหน้านี้ในประเด็นประมาณนี้ คือถ้าไม่มีฉันทะ ไม่มีศรัทธา ทำยังไงก็ไม่สำเร็จ

แต่ก่อนมันก็ประมาณไม่เก่งหรอก มันก็จะเกิน ๆ ไปเสียส่วนมาก แล้วก็ไม่รู้โทษ ความจริงคือที่เกินนี่มันเสียของ เททิ้งน้ำเลย เราให้ เขาไม่เอา เขาเสียกุศลเขา ความเห็นเราเขาเอาไปเททิ้ง พูดไปเสียเวลา เสียกำลังปรุงไปเฉย ๆ สรุปเสียทั้งสองฝ่าย

ตอนนี้ก็สบายขึ้นเยอะ ไม่ผลักดันเหมือนก่อน เดี๋ยวนี้ก็ประมาณเอาตามศรัทธาของเขานั่นแหละ ถ้ามีก็ค่อยลงมือ ถ้าไม่มีก็คุยตามมารยาทกันไป

อย่าเอาธรรมะไปให้กับคนที่ไม่รู้ค่า
(ธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นมูล)

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์
๕ เมษายน ๒๕๖๒
บวรราชธานีอโศก
อุบลราชธานี

 

กลัว – เกิน

เวลาที่เราเริ่มมีความเก่งหรือชำนาญด้านใดขึ้นมาเป็นพิเศษ ก็จะเริ่มมีโอกาสที่จะใช้ความรู้นั้นช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้พอดี

จากประสบการณ์ ผมก็เจอมาแล้วทั้งสภาพกลัว และสภาพเกิน

กลัวคือ ไม่กล้าจะบอกสิ่งดีออกไป แม้จะมีโอกาสเหตุปัจจัยที่เหมาะสม อาจจะด้วยเหตุที่ว่ากลัวเสียหน้า เสียมิตร เสีย…ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที ก็จะทำให้เสียโอกาสในการทำดีไป

ความเกิน คือสภาพล้น ส่วนมากเกิดจากความล้นของอัตตา บางส่วนเป็นการประมาณที่ผิด เป็นสภาพที่เห็นได้ง่ายและเห็นได้บ่อย เพราะถ้าคนทั่วไปเขากลัวนี่เขาก็ไม่พูด ไม่พูดก็ไม่รู้ ก็เลยดูเหมือนไม่มี แต่ความเกินนี่มันแสดงตัวตนของมันออกมาอยู่แล้ว เลยเห็นได้ง่าย แต่ก็รู้ไม่ได้ง่าย ๆ เพราะความยึดดีมันมักจะบัง และทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ฉันทำอยู่นั้นดี นี่ฉันแสดงสิ่งดีให้เธอ เธอจงฟังฉัน เธอจงน้อมใจมาในธรรมของฉัน ถ้าอัตตามันจะมีอารมณ์มั่นใจแบบเกิน ๆ ปนอยู่

แต่สภาพพอดีนั้นเป็นไปได้ยาก แม้เราจะประเมินตัวเราได้ 100% แต่ฝั่งเขาเราประเมินไม่ได้ทั้งหมด ได้แค่ประมาณเอาตามข้อมูลที่ได้รับ และใน 100% ที่เราเข้าใจ อาจจะเป็นความจริงเพียงแค่ 50% ตามที่เขาแสดงออกมาก็เป็นได้

สภาพพอดี 100% ทั้งผู้ให้และผู้รับ คือสภาพของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก ผู้ให้ต้องมีองค์ประกอบของปัญญาและสัปปุริสธรรม(หลักการประมาณ) ที่แม่นยำ ผู้รับต้องมีศรัทธาที่มากพอ คือมีอินทรีย์พละที่มากพอที่จะสามารถทำใจในใจตามธรรมนั้นได้

ในชีวิตจริง ใครล่ะที่จะทำได้ขนาดนั้น แล้วทำได้ทุกครั้งหรือไม่ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เอาจริง ๆ ก็ยากเสียจนนึกไม่ออกเลยล่ะ ดังนั้นเมื่อไม่ใช่เรื่องง่ายมันก็ต้องฝึก ก็ฝึกไปทั้งที่มันเกิน ๆ นี่แหละ แต่ให้เกินให้น้อยที่สุด

คือเสนอดีแล้ววางดีให้ได้ ถ้ากลัวไม่กล้าเสนอมันก็ไม่ต้องวางอะไร เพราะมันชิงวางไปก่อนหน้านั้นแล้ว วางทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำดีอะไร กุศลมันก็ไม่เกิด แต่วางหลังจากทำดีไปแล้ว แม้ไม่เกิดดีก็มีกุศล และยังมีโอกาสที่จะเกิดบุญจากการละวางตัวตน วางความเห็น วางความยึดดี ถือดี หลงดี ที่จะหลงยึดมั่นถือมั่นให้เขามาเอาตามที่เราหวังอีกด้วย

แต่การเสนอดี หรือบอกสิ่งดีก็ต้องมีศิลปะ อาจจะไม่ได้พูดทั้งหมด มี 100 อาจจะพูด 1 ถ้าเขาสนใจก็ค่อยเพิ่ม เขาไม่สนก็ค่อยเลิก ไม่ใช่ มี 100 ใส่ 100 อันนี้บางทีมันจะกดดัน พากันแตกร้าว แถมทุ่มหมดตัวก็อาจจะทำให้วางดีนั้นได้ยากตามไปด้วยเช่นกัน

ขึ้นอยู่กับวิธีใช้…

ผมสงสัยมานาน เวลาเห็นคนเขาตัดกระถิน ตัดกิ่งไม้แถวบ้าน เขาก็ใช้มีดตัดอ้อยธรรมดา ๆ นั่นแหละ ตัดทีเดียวขาด แต่ผมลองใช้ที่ผมมี ก็ตัดไม่ขาดแบบเขา ก็เลยไปหาซื้อมาเพิ่ม หนักบ้าง แพงบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้ดีขึ้น

ช่วงนี้มีโอกาสได้ลองใช้มีดตัดอ้อยของชาวบ้าน ก็พบว่า ปัญหามันไม่ใช่มีด ปัญหาคือวิธีใช้ของผมเอง มันมีจังหวะ มีน้ำหนัก การฟันที่ยังไม่เหมาะ ยังไม่ถูกหลักที่จะตัดให้ได้ตามเขา ผมก็เลยเอามีดเขาไปลองฝึกฟันจนเริ่มเข้าใจ ว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันต้องใช้จังหวะแบบนี้

…จริง ๆ ธรรมะก็คล้าย ๆ กันนะ ผมก็เคยเห็นคนที่เขาเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าบ้าง ของครูบาอาจารย์บ้าง เอามาใช้ แต่มันก็ทื่อ ๆ ไง คือฟังแล้วแข็งมาก พอเข้าใจเรื่องมีดตัดอ้อยมันก็เข้าใจขึ้น คือเขาจำ ๆ มาใช้ เขาหยิบมาใช้เลย เขาไม่รู้วิธี ไม่รู้จังหวะ ไม่รู้กระบวนการ

เหมือนกับครูบาอาจารย์ท่านใช้ขวานเหล็ก แล้วก็วางไว้ ทีนี้ลูกศิษย์ก็ไปหยิบมาใช้ แต่ลูกศิษย์นี่เหมือนเด็กอนุบาล แล้วไปหยิบขวานของผู้ใหญ่มาใช้ คือมันก็ใช้ได้ไปตามที่มันเป็นละนะ หรือจะเรียกว่าได้ใช้ก็ว่าได้ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมันไม่เท่ากัน คือภาพมันก็ทุลักทุเล แข็ง ไม่คม ผลคือตัดไม่ได้ ดีไม่ดีสับเอาขาตัวเองเข้าไปอีก

ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยได้เอาของครูบาอาจารย์มาใช้สักเท่าไรนัก จะปรุงใหม่มากกว่า เปรียบเช่น ถ้าท่านใช้ขวาน ผมก็ศึกษาแล้วเอามาตีขวานเล็กของผมเอง เอาให้มันสมฐานะ ให้สมแรง ไม่เกินแรง ถ้าเกินแรงมันฟาดไม่ไหว แถมมันไม่ใช่ธรรมที่เรามีในตนด้วย ไอ้การจะพูดสิ่งที่จำ ๆ มานี่บางทีมันก็เสี่ยงเข้าตัวเหมือนกัน จะพูดต้องตั้งสติและอ้างอิงด้วย ไม่งั้นพูดสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ได้แต่จำมา คนเขาเห็นท่า จะเหมือนเด็กอนุบาลถือขวานใหญ่เอา สภาพมันก็คงดูน่าเมตตามากกว่าน่าศรัทธานะ

ผมเชื่อว่ายุคนี้ต้องประมาณมาก มันไม่ mass ขนาดที่ว่าเอาธรรมะชุดหนึ่ง ประโยคหนึ่ง คำหนึ่งปล่อยออกไปแล้วมันจะได้ผลหรอก มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่แม่นเท่าธรรมที่ประมาณแล้วได้แสดงออกไป

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าผมฝึกประมาณธรรมไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นเหมือนการฝึกใช้มีดตัดอ้อยนั่นเอง

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ในระหว่างเรียนค่ายพระไตรปิฎกที่ผ่านมา ก็ได้ยินเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม กล่าวถึงการขอเอาครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งบ้าง ขอเอาหมู่กลุ่มที่ปฏิบัติธรรมเป็นที่พึ่งบ้าง ฯลฯ

ผมได้ฟังแล้วก็ประทับใจ เมื่อเห็นรอบของศรัทธาที่เจริญขึ้น มีความรักตั้งมั่นและหยั่งลงเป็นสภาพที่นิ่งขึ้น ไม่หวั่นไหว ไม่ส่ายไปมา ทำให้ผมนึกถึงประโยคในบทสวดที่ว่า “สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” คือ ขอเอาสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

สงฆ์ในความหมายของศาสนาพุทธคือผู้ที่มุ่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนเกิดมรรคผลลดจนถึงดับกิเลสได้จริง จะเป็นฆราวาสก็ได้ นักบวชก็ได้

โดยทั่วไปคนก็มักจะไม่ได้เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งหรอก เขาก็เอาผัวเอาเมียเอาลูก ไม่ก็ทรัพย์สินเงินทอง วัตถุข้าวของ เกียรติ ศักดิ์ศรี ฯลฯ เป็นที่พึ่ง แต่คนที่มีศรัทธามากมีปัญญามาก จะรู้เลยว่าเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นที่พึ่งไม่ได้ มันไม่มั่นคงไม่แน่นอน แปรเปลี่ยนเป็นเหตุให้ทุกข์ได้เสมอ

เมื่อผมได้ยินว่าเขาเหล่านั้น ตั้งจิตเอาครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งบ้าง ขอเอาหมู่กลุ่มที่ปฏิบัติธรรมเป็นที่พึ่งบ้าง ฯลฯ ผมก็รู้เลยว่าเขาจะมุ่งไปสู่การพ้นทุกข์ในวันใดก็วันหนึ่งแน่นอน และจะเจริญมากขึ้นตามศรัทธาที่แนบแน่น ทุติยัมปิ(แม้ครั้งที่สอง…) ตะติยัมปิ(แม้ครั้งที่สาม…) แข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หวั่นไหวต่อโลก เป็นศรัทธาที่ตั้งมั่น พากเพียรปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จนเจริญไปถึงระดับที่ไม่มีวันหวนกลับจะไปเอาสิ่งอื่นใดนอกจากพุทธะ ธรรมะ สังฆะ มาเป็นที่พึ่งทางใจอีกต่อไป

ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก (2) ..บริจาคตามศรัทธา

มาเล่าย้อนกันต่อกับเรื่องการให้ทาน เมื่อนานมาแล้วผมเคยไปสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นเขาก็มีงานเทศกาลอะไรสักอย่าง

ก็มีบูทเปิดขายหนังสือ ผมก็ดูหนังสือ แล้วก็ถามว่าเท่าไหร่ เขาตอบมา 9 บาท แต่ที่ใส่เงินนั้นเป็นกล่องบริจาค ผมก็แปลกใจเล็กน้อย ผมมีเหรียญ 10 หนังสือ 9 บาท ถ้าผมจะขอทอนนี่คือผมงกรึเปล่า? แต่ด้วยความที่ว่าไม่อยากยุ่งยากก็หยอดไป 10 บาทนั่นแหละ เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมเงินไว้ทอน มีแต่กล่องให้ใส่เงินเท่านั้น ผมก็สงสัยอยู่ในใจ ขาย 9 บาทก็รับ 9 บาทสิ แล้วจะเอาเงิน 9 บาทนั้นไปใส่อะไรก็ตามใจ ส่วนกล่องบริจาคก็ตั้งแยกไว้ไกล ๆ หน่อย ไว้กันคนหน้าใหญ่มาใส่เงินเกินความจำเป็น

ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างตะขิดตะขวงใจกับคำประมาณว่า “บริจาคตามศรัทธา” อยู่แล้ว ผมเองไม่ได้จน แต่ก็ไม่ได้รวย พอมีเงินอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่คนใช้เงินไม่คิด

มาเล่าเคสที่สองกัน เป็นแผงใกล้ ๆ เขามีหนังสือมาวาง เป็นหนังสือเกี่ยวกับวินัยของพระ ผมเปิดดูก็น่าสนใจ แต่ไม่เห็นมีป้ายบอกว่ากี่บาท เลยถามเขาว่านี่เอามาแจกหรอครับ คนที่นั่งอยู่เขาก็ว่าให้ฟรี แต่คนที่ยืนอยู่เขาก็บอกว่าตามกำลังศรัทธา

ผมมองไปที่เขายืนอยู่ก็มีกล่องบริจาค ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดว่า เอาไงดี คนหนึ่งบอกแจก คนหนึ่งบอกบริจาคตามกำลังศรัทธา ผมเลยถามย้ำอีกทีว่าเล่มนี้ผมรับฟรีได้ใช่ไหม? ก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิม สรุปผมก็เลยขอเขามาฟรี ๆ นั่นแหละ สมัยนั้น ศีลข้อ ๒ ยังไม่แน่นเท่าตอนนี้ ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงไม่รับเพราะมันมีอาการสะดุดอยู่ ไม่ลื่น มัน 50/50 ไม่ 100%

ตอนนั้นผมคิดว่ามันก็คงจะดีถ้าเรารับมาฟรี คนให้ทานได้เสียสละ 100% ดีกว่าคนให้ทานแล้วมาหวังสิ่งตอบแทน เช่นการบริจาคตามกำลังศรัทธา ถ้าอย่างนั้นคนรวยบริจาคมากก็ศรัทธามาก คนจนมีน้อยบริจาคน้อยก็ศรัทธาน้อยอย่างนั้นหรือ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งกล่องบริจาคใด ๆ โดยเฉพาะคนที่อ้างตนเป็นพุทธ เพราะมันผิดหลักการพ้นทุกข์ของพุทธ คือมาทำดีแล้วยังหวังผล ยังเอาลาภแลกลาภอยู่ อันนี้ก็ไม่ดี หลังจากนั้นสักพักใหญ่ ๆ ผมก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้อยู่ในร้านหนังสือ ราคา 60 บาท ผมก็รู้สึกว่า นี่ถ้าเรามาซื้อในร้านหนังสือคงจะดีกว่า ไม่น่าไปเอาของเขามาเลย

จะสรุปก่อนเลยว่าการตั้งกล่องบริจาคไม่ควรมีในลัทธิพุทธ ถ้าเขาจะให้เดี๋ยวเขาก็ให้เอง ไม่ต้องไปเอื้อจนมันจะกลายเป็นการวัดใจหรือมารยาทขนาดนั้น คือจะขายราคาไหนก็ขายไปเลย ราคาทุนก็ระบุว่าราคาทุน ก็ขายไปเท่านั้นอย่าไปมีกิเลสหวังเศษเงินจากการทำดี เช่นขาย 9 บาท จะหวังให้เขาให้ 10 บาทมันก็ไม่ดี เหมือนนั่งแท็กซี่แล้วคนขับทำฟอร์มไม่มีเศษเหรียญทอนในตอนท้าย

ในเรื่องที่เล่ามาสองตัวอย่างนี้เป็นบทเรียนให้ผมเรียนรู้ความผิดพลาด ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ เราไม่ควรไปอยากได้อะไรเลย ถ้าจำเป็นก็ซื้อไป แต่การจะไปเอาของใครนี่ต้องระวัง ในตอนนี้ ถ้าเขาไม่ใส่พานมาให้ ผมก็ไม่เอาหรอก หรือถ้าปกติหน่อยก็เช่น เขาเปิดโอกาสให้เราเข้าไปเอา อันนี้เราก็พิจารณาอีกทีว่าเหมาะไหม เช่น กรณีเขาแจกหนังสือ ๙๙ พระบรมราโชวาทฯ เราก็พิจารณาก่อนว่า อันนี้เขาให้แล้วหรือยัง ถ้าเขาให้แล้วจำเป็นกับเราไหม เราไม่จำเป็นต้องรับทุกอย่างที่เขาให้ แต่ของที่รับมานั้นควรจะเป็นของที่เขายินดีให้

การเรียนรู้และขัดเกลาเรื่องการรับทำให้ชีวิตผมปลอดภัยและผาสุกขึ้น เพราะถ้าเราไปรับอะไรมั่ว ๆ ภัยก็จะเกิดกับเราได้ ดังที่พระพุทธเจ้าว่าแม้ลาภสักการะยังเป็นภัยต่อพระอรหันต์ แล้วกระจอก ๆ อย่างผมจะไปเหลืออะไร…

ตอนนี้การที่ผมจะรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะยากขึ้น แม้เขาจะยินดีให้ก็ใช่ว่าผมจะต้องรับ ในกรณีบางคนผมอาจจะรับไว้เพื่อรักษาน้ำใจ หรืออาจจะไม่รับเพื่อรักษาความสัมพันธ์ก็ได้ เรื่องทานนี่มันลึกซึ้ง เพราะยากทั้งการให้และการรับ ต้องประมาณให้เกิดกุศล อย่าทำให้เป็นอกุศล นี่ยังไม่รวมเรื่องบาปบุญนะ แต่ก็จบเท่านี้ก่อนแล้วกัน