บัณฑิต บนเส้นทางธรรม

การที่เราจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกนั้นได้นั้น จะต้องดำรงชีวิตอย่างบัณฑิต(ผู้รู้ทันกิเลส จนชำระได้โดยลำดับ) แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยินดีเป็น…บัณฑิต

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ ย่อมเศร้าหมอง

ถ้าผมจะเอาเกณนี้มาวัด ผมเชื่อว่าน้อยคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมจะเป็นบัณฑิต แน่นอนว่ามีอยู่ส่วนหนึ่งที่เขายินดีประพฤติตนเป็นโสด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

พวกที่ตั้งใจชัดเจนมันก็ชัดดี ส่วนพวกที่เลือกไปมีคู่เลยมันก็ไปทางนรกชัดเจนดี พวกลูกผีลูกคนนี่ดูยาก เหมือนจะตั้งใจ เหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะจริงใจ เหมือนจะเอาธรรมะ เอานิพพานเป็นตัวตั้ง แต่สุดท้ายมักจะ…”เละเทะ” กว่าจำพวกที่เลือกไปมีคู่แต่แรกอีก

มีนักปฏิบัติธรรมหลายคนอยู่เป็นโสด แต่หลายคนก็ไม่ใช่จะเป็นโสดเพราะธรรมะ นั่นเพราะเขาหาที่ถูกใจไม่ได้สักที เขาไม่ได้เข้าใจโทษของกิเลส ไม่ได้เข้าใจวิบากกรรม ไม่ได้เห็นวัฏสงสารที่วนเวียนหลงสุข หลงทุกข์ หลงชอบ หลงชัง มายาวนาน

เป็นการเสแสร้งแกล้งทำ เป็นมารยาของกิเลสที่กดอาการไว้ แสร้งว่าเป็นบัณฑิต เพราะเป็นโสดแล้วเพื่อนนักปฏิบัติธรรมต่างยินดี แล้วทีนี้ปฏิบัติธรรมไปแต่ไม่ได้ลดกิเลส ปฏิบัติธรรมไม่สัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติมิจฉาธรรม ไม่คบสัตบุรุต คบคนพาล กามมันก็โต ความอยากมันจัด สุดท้ายมันไม่เอาแล้วโสดเสิด.. เอาคู่นี่แหละสุขกว่า มันกว่า…

วิบากกรรมของคนที่ศึกษาและปฏิบัติแล้วไปมีคู่จะหนักกว่าคนทั่วไปที่เขายังไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นนักบวชในพุทธศาสนาก็ปาราชิก เปรียบได้กับชาตินี้เกิดมาเป็นโมฆะ เกิดแล้วตายไปเปล่า ๆ ฟรี ๆ เหมือนคนหาเงินหลายร้อยล้านมาแล้วเอาไปเผาเล่น เพื่อเสพสุขจากความอบอุ่นของไฟนั้น

ในมุมของฆารวาสแม้จะไม่มีโทษทางวินัยระบุไว้ แต่โดยสัจจะก็เรียกว่าร่วงกันไปยาว ๆ ชาตินี้คงไม่หวังจะมาเจอกันอีก เพราะรู้แล้วว่าบัณฑิตควรปฏิบัติตนให้เป็นไปเพื่อความโสด แต่จะไปเอาอีกทาง ไปเอาทางตรงข้าม ไปเอาคู่ครอง ไปเอาอย่างคนโง่ มันก็คือการดูถูกธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

ดูถูกอย่างไร? ก็ดูถูกว่าการมีคู่นั้นสุขกว่าการอยู่เป็นโสดยังไงล่ะ… เพราะความจริง พระพุทธเจ้าตรัสสอนแต่เรื่องทำให้พ้นทุกข์ ให้เป็นอยู่ผาสุก ให้เกิดปัญญา ท่านชี้ให้ว่าถ้าจะเจริญ ให้ทำตนเป็นดั่งบัณฑิต ต้องดำเนินไปแบบนี้ แล้วคนที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม รู้ธรรมแล้ว แล้วยังจะไปเอาทางตรงข้าม สรุปก็คือเห็นการมีคู่ดีกว่าธรรมะพระพุทธเจ้านั่นแหละ มันก็ห่างไกลความผาสุก ห่างไกลนิพพานไปเรื่อย ๆ

ผมจะตัดขีดพวกที่รู้ว่าดีแล้ว ทางนี้ดีที่สุดแล้ว แต่ไม่เอา ไปเอาอีกทาง ว่าเป็นพวกทำกรรมที่หนัก ถึงจะวนกลับมาก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก วิบากกรรมของการดูถูกธรรมมันหนัก ขนาดตอนแรกเขายังอยู่เป็นโสด ยังมีโอกาสได้ศึกษาสิ่งที่ดี เขายังเอาตัวให้รอดไม่ได้ แล้วตอนหลังจะมาเอาดี ยาก!! สภาพเหมือนไปตกบ่อขี้มา ขนาดยืนบนพื้นดินธรรมดายังเดินต่อไม่ได้ อยู่ในบ่อขี้บ่อกามมันยิ่งขึ้นยาก จะให้พ้นทุกข์ พ้นชั่ว พ้นโง่ มันไม่ง่าย

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้ห่างไกลคนพาล (คนที่เอาแต่เสพตามกิเลส) คบหาบัณฑิต … ผมว่านะ จากประสบการณ์ ถ้าจะเอาให้ชีวิตเจริญและมีเรื่องปวดหัวน้อย ผมคบแต่บัณฑิตดีกว่า พวกอยากมีคู่ หมกมุ่นกับเรื่องหาคู่มาบำบัดอาการอยากนี่ไม่ไหวล่ะ ให้เขาทุกข์กับความกระสันใคร่อยากของเขาให้พอเถอะ

บรรลุธรรมแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น คือความเห็นลามกที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ในสังคมพุทธส่วนใหญ่จากในอดีตที่ผ่านมา มักมีความเห็นหนึ่งที่ต่อต้านการแสดงตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เขาจะอ้างเหตุว่าเป็นการอวดตัวอวดตนบ้างล่ะ คนบรรลุธรรมจริงไม่บอกบ้างล่ะ บอกว่าบรรลุแล้วผิดวินัยบ้างล่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นที่จำ ๆ กันมาเพื่อที่จะยึดว่าสิ่งเหล่านั้นถูก ตามที่เขาถูกใจ

ในองค์ประกอบของความเห็นผิดเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์โลกีย์อยู่คือ ผู้ที่ยังมัว ๆ เมา ๆ ปฏิบัติหลง ๆ ไม่บอกใคร พอตนเองปฏิบัติได้ประมาณหนึ่ง มีผู้ศรัทธา เขาก็หลงคิดไปว่าอาจารย์ตนบรรลุธรรม แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ก็เดา ๆ กันไป แล้วก็งง ๆ กันอยู่แบบนั้น กลายเป็นสภาพตาบอดจูงตาบอดชวนกันไปดูหนังใบ้ คือตนเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรแล้วศิษย์ก็หลงไปว่าอาจารย์บรรลุ แล้วก็ไม่ได้เปิดเผยความจริง สุดท้ายก็เลยเป็นความมัว ที่ถูกต้องในสังคมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุด แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับกลายเป็นศาสนา ๆ ที่มัว ๆ เดา ๆ เอา คนนั้นเป็นอย่างนั้น ท่านนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เดาเอากันตามที่เขาว่ามา

ทีนี้มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบรรลุธรรมแล้วไม่บอกนี้ว่าอย่างไร

ในโลหิจจสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 351) มีพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือมีความคิดลามกคนหนึ่ง มีความเห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะเห็นว่าตัดกิเลสไปแล้ว จะไปสร้างเครื่องผูกขึ้นใหม่ทำไม ซ้ำยังบอกอีกว่าการบอกผู้อื่นเป็นความโลภ เพราะคนอื่นเขาจะมาสรรเสริญ จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พราหมณ์สรุปว่าการที่ผู้บรรลุธรรมนั้นบอกผู้อื่นคือความลามก

จะสังเกตได้ว่า ความเห็นของคนส่วนมากจะตรงกับพราหมณ์ลามกท่านนี้ แต่สุดท้ายจะจบไม่เหมือนกัน เพราะยังดีที่พราหมณ์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับอาหารของพราหมณ์

หลังพระพุทธเจ้าจากเสวยอาหารเสร็จ ท่านก็ถามพราหมณ์ว่า จริงหรือที่ท่านมีความเห็นลามกเช่นนั้น พราหมณ์ ก็ตอบว่าจริง และเชื่ออย่างนั้นอย่างเต็มใจ มั่นใจ

ได้ยินเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนโดยการเปรียบเทียบ เพื่อน้อมใจให้พราหมณ์ทำใจในใจตาม ความโดยสรุปว่า ถ้าเจ้าเมืองผู้มีสมบัติมาก ไม่แบ่งปันทรัพยากร ไม่บริหารทรัพยากรไปเพื่อสังคม ครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองนั้นถือเป็นคนที่เป็นภัยต่อชาวเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าเป็นภัย และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร

แล้วท่านก็ถามต่อว่าทำอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าไม่ มีจิตเป็นศัตรูหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่ มีจิตเป็นศัตรูนี่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่

พระพุทธเจ้าก็สรุปความว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดดังนั้น จะมีที่ไปสองอย่าง คือ 1. ไปนรก คือเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ 2.เกิดความเป็นเดรัจฉานในตน คือ เกิดความโง่ดั่งสัตว์เดรัจฉาน

หลังจากนั้นท่านก็สอนธรรมแก่พราหมณ์อีกหลายบท สุดท้ายพราหมณ์ก็ยอม และขอมอบตนเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา

…จะสรุปความและยกตัวอย่างให้ตรงยุค ก็คงต้องเทียบกับผู้นำประเทศที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แจกจ่ายหรือบริหารทรัพยากรให้ผู้อื่น เก็บไว้บำเรอตน เก็บไว้เพื่อตนผู้เดียว ไม่ให้ใคร ภาพที่ออกมาก็คงจะเป็นคนผู้เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดแน่นอน มีของดีแท้ ๆ แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ไม่แจกแจงให้ผู้อื่น

กลับมาในบริบทนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน เขาก็เห็นผิดไปตามวิบากของเขา ดีไม่ดีก็ไม่มีธรรมในตนจริงหรอก ไปตีกินเอา ไม่พูดก็ไม่ผิด ไม่มีใครมาตรวจสอบ สมัยนี้แม้ไม่บอกว่าตนบรรลุอะไร เขาก็เอาของมาบำเรออยู่ดี สู้อยู่เงียบ ๆ กินอยู่ไปเรื่อย รักษาตัวรอดไปจะดีกว่า บอกไปเดี๋ยวเขามาตรวจสอบเอา เหนื่อยอีก แถมไม่มีจริงอีก จะยิ่งลำบาก

แล้วจะเห็นว่าตอนแรกที่พราหมณ์มีความเห็นลามก เพราะไม่ได้อยู่ในพุทธ แต่ทุกวันนี้ความเห็นลามกเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อพุทธนี่เอง ดังนั้น มันจึงมีการบิดเบี้ยว ปัดป้อง เลี่ยงบาลี กันจนหลง จนงงกันไปหมด จริง ๆ แล้วความเห็นและการปฏิบัติส่วนมากในปัจจุบันนั้นนอกขอบเขตพุทธไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อเท่านั้นที่ใช่ แต่ความเห็นความเข้าใจไม่ใช่

โลหิจจพราหมณ์ เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ในเบื้องต้นจะมีความเห็นผิด แต่ก็สามารถทำใจในใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านน้อมนำได้เป็นอย่างดี จนละความลามกได้ในที่สุด

อย่าคิดว่าคนที่มีปัญญาอย่างโลหิจจพราหมณ์จะหากันได้ง่าย ๆ ในยุคนี้นะ ดีไม่ดีอ่านพระสูตรนี้ไปก็ยังเมาอยู่เลย ยังเบี้ยวไปตามความเห็นลามกของตนอยู่เลย ยังไม่เปลี่ยนทิศไปจากมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบบนี้แหละ อย่าไปหวังมาก ใกล้กลียุคแบบนี้คงต้องทำใจ

ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา

ประโยคทองของอาจารย์หมอเขียว ที่ช่วยในการประมาณได้ดีมาก ๆ

ทำความผาสุกที่ตนนี่มันก็พอตรวจใจกันได้ง่าย ถ้ายังมีอาการทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ก็ทำใจ ปรับใจตรงนี้กันก่อน งานเราก็ต้องมาก่อนเป็นธรรมดา

ช่วยคนที่ศรัทธานี่สิยาก มันเป็นการประมาณข้างนอกแล้ว รู้เรานี่พอไหว รู้เขานี่เดากันล้วน ๆ จะไปช่วยเขานี่เขาศรัทธาเรารึเปล่า? เชื่อมั่นในเรารึเปล่า? มันก็ต้องใช้การประเมิน มันเดาไม่ได้หรอก

การประเมินก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่มันจะประเมินเขาพลาดเป็นธรรมดา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าช่วยคนที่ศรัทธาลึกซึ้งขึ้น คือศรัทธามันมีน้ำหนัก มีความเข้มของมัน และศรัทธา ไม่เที่ยง … คือเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มได้ ลดได้ แต่ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เช่นเมื่อก่อนเขาบอกว่าศรัทธาเรา แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราไปยึดตามสัญญาเก่า ไม่ประเมินจากปัจจุบัน เวลาช่วยเขามันจะพลาดกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พลาดกันตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นการไม่รีบ ไม่ลงรายละเอียด คุยเก็บข้อมูลไปก่อน มันก็จะช่วยป้องกันการผิดใจกันได้

แบบที่ลวง ๆ ก็มีเหมือนกัน เหมือนจะศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรจริงจัง คือมีอยู่ แต่ไม่มี เหมือนจะให้ช่วย แต่ก็ไม่ได้ทำตามอะไร อันนี้ก็เป็นศรัทธาที่น้ำหนักน้อย ความเข้มน้อย ศรัทธาแบบเจือจาง แต่เผิน ๆ อาจจะดูเยอะ ต้องใช้เวลาประเมินเช่นกัน

ในตอนนี้มันก็เลยสบายแบบสุด ๆ เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือถ้าไม่ชัดว่าศรัทธา ไม่ชัดว่าเชื่อมั่นในความเห็นกัน ประมาณ 90 % ผมไม่ต้องปรุงช่วยเขาให้เหนื่อยเลย ก็แค่คุยขีดเท่าที่เป็นกุศล ไม่บาดหมางกัน พูดประโยชน์ของธรรมะ โทษของกิเลสประมาณหนึ่ง ก็ผิว ๆ ไม่ลงรายละเอียด มันก็ไม่ต้องปรุงมาก ไม่เหนื่อย เอาพลังที่เหลือไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อ

มันเหมือนกลลวงของนักปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้ามันหลงกับการช่วยคน มันจะไม่มีขีดเตือนว่าควรจะช่วยถึงขั้นไหนหรือเท่าไหร่ มันจะดันไปที่ MAX ตลอด หรือตามภาษาที่เข้าใจโดยมากว่า “ติดดี ยึดดี” แต่ถ้าแบบที่ผมทำได้ตอนนี้คือมันปรับได้ มันปรับได้ว่าจะเอา MAX หรือ min คือจะเอามากน้อยมันปรับได้ พลาดไปเราก็ปรับลง เบาอีก หรือไม่ก็ปิดไปเลย แบบนี้มันอาจจะพลาด แต่มันจะพลาดน้อยลง

ยิ่งคนไม่รู้จัก ไม่เคยพบปะ ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยร่วมในเครือข่าย นี่ง่ายเลย เอา concept ไปก็พอ

มีลูก สุขแว๊บเดียว ทุกข์แสนนาน

ช่วงนี้ค่อนข้างจะเห็นข่าวว่าเพื่อน ๆ มีลูกกันเยอะ เวลาเขาประกาศก็จะมีคนไปยินดี ดีใจกับเขาด้วย ถ้ามองกลับไปสมัยก่อนเราก็คงจะเป็นแบบนั้นนั่นแหละ

แต่เดี๋ยวนี้มันทำใจตามเขาไม่ได้นะ มันไม่เห็นสุขในนั้นเลย เห็นทุกข์แท้ ๆ ทุกข์เน้น ๆ ทุกข์นาน ๆ จะให้ยินดีก็ยินดีไม่ออกหรอก เพราะมันสงสารเขา ที่เขาหลงในสุขลวง หลงในลาภลวง เข้าใจว่าสิ่งที่ได้เป็นคุณค่าที่ควรได้

ถ้ามีลูกคนหนึ่งนะ ทุกข์อย่างน้อย ๆ แบบกลม ๆ ก็ยี่สิบปี กว่าจะเลี้ยง กว่าจะโต ซึ่งจริง ๆ ก็ทุกข์ตลอดไปนั่นแหละ เขาอยู่ก็เป็นทุกข์ เขาตายก็ทุกข์ เขาตายไปแล้วก็ยังทำทุกข์ทับถมตนได้อีก

กิเลสมันลวงเก่งมากเลยนะ พอมันเป็นของฉัน ลูกของฉันนี่มันหลงเลย ถ้าอยากเลี้ยงเด็กจริง ๆ อยากสร้างคนดี ก็มีเด็กด้อยโอกาสในโลกอีกตั้งเยอะแยะให้เลี้ยง จะกี่คนก็เลี้ยงไป ทุกข์เหมือนกัน แต่น้อยกว่ามีของตัวเอง เพราะมีเองนี่มันจะใส่อัตตาไปผสมเสียเยอะ ลูกของฉัน เลือดเนื้อของฉัน ใส่ความเชื่อไปว่าเขาจะดีอย่างนั้นอย่างนั้น ตามที่ฉันมี ฉันเป็น ฉันสร้าง … คนเราก็เชื่อมั่น มั่นใจในตัวเองไปตามฤทธิ์ของกิเลสนั่นแหละ

จะร่ายทุกข์ เหตุแห่งทุกข์กันก็คงจะยาวหลายหน้า เอาตามประเด็นที่ยกมา คือได้สุขสมใจแว็บเดียว สุขก็สุขตอนที่ตนได้ตามที่ตนยึดมั่นถือมั่นไว้ มันก็ได้บ้าง แต่ทุกข์นี่นาน เรียกว่ายี่สิบปียังน้อย เพราะจริง ๆ มันหลายภพหลายชาติ พอเข้าไปยึดแล้วไม่คลายยาก ดีไม่ดีตาบอดยิ่งกว่าหลงสามีภรรยาอีก ลูกนี่ทั้งดื้อทั้งเกเร ก็ยังรักยังหลง นี่ถ้าเป็นเด็กคนอื่นทำก็คงด่าไปแล้ว แต่พอเป็นลูกตัวเองนี่มือไม้อ่อน กิเลสนี่มันมีอำนาจจริง ๆ

แล้วยิ่งถ้ามาศึกษาธรรมแล้วไปมีลูกนะ เกือบจะเรียกว่าจบกันได้เลย เพราะต้องเอาเวลาส่วนใหญ่ไปดูแลลูกและครอบครัว ลำพังดูแลคู่ครองก็ต้องเสียเวลามากอยู่แล้ว ยังต้องเอาเวลาไปดูแลลูกอีก ยิ่งห่างกลุ่มนานก็ยิ่งจมลงไปเรื่อย ๆ ครอบครัวส่วนมากเขาก็พากันเสพตามกิเลสว่านั่นแหละ เขาไม่พาลด ละ เลิกกันหรอก ชีวิตคู่ครอบครัว นี่มีแต่แสวงหาอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตามาเสพกัน

คนนี่ติดสมมุติ แล้วก็ยึด เล่นพ่อแม่ลูกแล้วก็ยึดบทบาทไว้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลาย เห็นมาเยอะเหมือนกันนักปฏิบัติธรรมที่เขามีคู่ครองมีลูก เราคบคุ้นกับเขาไปจะเห็นความขาด ๆ เกิน ๆ ของเขาที่มีต่อครอบครัว แล้วใช่ว่าเราจะไปทักเขาได้ง่าย เขาก็เห็นว่าเราเป็นคนโสด เขาก็ไม่ได้สนใจความเห็นของเรา

แต่ที่เราโสด ไม่มีเมีย ไม่มีลูกน่ะ เพราะเรารู้โทษชั่วของมันไง รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้นี่แหละ ลากกันไป สอนก็ยาก จะไปทำดีก็ทำไม่ได้เต็มที่ ดีไม่ดีดึงเราไปลงนรกด้วยกันกับเขาอีก

ใครยังโสดอยู่ก็รักษาความโสดกันไปนะครับ ใครที่มีคู่ก็อย่าไปมีเลยลูกเนี่ย ประชากรโลกสมัยนี้ก็เยอะพออยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องเพิ่ม คงจะขาดแต่คนเสียสละนี่แหละ ที่น้อยเหลือเกิน เพราะเขาเอาเวลาไปบำเรอลูกเมียกันหมดรึเปล่านะ?

เสียสละก็เป็นเรื่อง ๆ ไป อย่างเรื่องคู่นี่เราเสียสละคู่เรา เราปล่อยเลย คืนให้โลกเขาไป ใครจะเอาก็เอาไป แต่เราสละสิทธิ์ในการมีคู่ ก็จะเหลือผู้หญิงโสดในโควต้าของเราอย่างน้อย 1 คน ให้คนอื่นได้นำไปพิจารณาต่อ

ส่วนสละลูกนี่ก็แบบว่า … ผมเห็นส่วนมากเขารักลูกมากกว่าคู่ครองกันอีกนะ ดังนั้นเอาไว้ก่อนแล้วกัน น่าจะยากไป

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี