งานบวช คะนองกาม คำรามอัตตา

ช่วงหลังมานี่ก็ได้เห็นข่าว เห็นสื่อเกี่ยวกับงานบวชที่เรียกว่าออกทะเลไปไกล

ไกล คือไกลพุทธะ เพราะไปทางกิเลสเสียเป็นส่วนใหญ่ จากที่ดูประมาณ 99 % นี่ไม่มีอะไรเป็นไปทางลดกิเลสเลย คือเขาจะบวชเพื่ออะไรก็ไม่ทราบได้ แต่การบวชในพระพุทธศาสนาคือการลดกามลดอัตตา

ทีนี้เขาบวชมันก็ดีกับตัวเขา แต่กลายเป็นว่าการจัดงานบวชนี่มันเละเทะเลย เรียกว่ากามก็จัด อัตตาก็แรง

กามจัดคืออะไร ก็กิน เสพ แต่งตัวกันอย่างจัดจ้าน แสดงท่าทีลีลา ยั่วย้อมมอมเมาสารพัด ดังที่ปรากฏในหลาย ๆ คลิปที่เห็นมาในช่วงหลายปี

อัตตาแรงคืออะไร ก็พอจัดงานบวช กลายเป็นงานบาป เหมือนผีเข้าสิง ความเก่ง ความกร่างมันก็โผล่มา ว่าข้านี่เป็นดั่งเทพ
ข้าเป็นคนพิเศษ มีกำลังที่จะบงการ จัดการ สิ่งใด ๆ ได้ทั้งหมด

…ตัวอย่างที่ผมเจอวันนี้เลย คือเจอขบวนบวชนาค ยาวเหยียด ที่ขับรถช้า ๆ ไปตามถนนที่มีแค่ 2 เลน สวนกัน แต่ก็ใช่ว่าเขาจะเกรงใจนะ เขาก็ขับกันคับถนนนั่นแหละ ไม่ได้ชิดซ้ายอะไร แถมยังขับช้า ๆ ซึ่งก็ไม่รู้จะขับช้าไปเพื่ออะไร ขับรถไปถึงวัดก็บวช ก็จบแล้ว แต่ดู ๆ ไป ก็จะไปทางบันเทิงเสียมากกว่า ดีไม่ดีจะอวดชาวบ้านเสียด้วยซ้ำว่าข้ามี ข้าเป็น ฯลฯ

นี่แค่กำลังจะบวชก็เบียดเบียนชาวบ้านแล้ว เอาจริง ๆ ประเพณีมันก็เพี้ยนมามากแล้ว มันไปทางกามทางอัตตาคนนี่แหละ จะเจริญก็เพราะคน จะเสื่อมก็เพราะคน

ยิ่งข่าวที่ออกมาช่วงนี้อีก คือ ไปงานบวชเขา แล้วชุมชนข้างเคียงเขาเตือนมา เพราะว่ามันรบกวน กลุ่มนี้ก็ทำตัวกร่างเข้าไปทำร้ายเขา ลวนลามเขา

ปัญหาคือการคบคนพาลนี่แหละ การคบคนพาลอยู่ในธรรม หมวดอบายมุข ๖ และมงคล ๓๘ พระพุทธเจ้าให้ดำรงชีวิตห่างไกลคนพาล ใครยังยินดีคบคนพาลเป็นมิตรจิตก็ยังจมอยู่ในอบายมุข

พอมีการจัดงานอะไร พอเพื่อน มิตร สหาย ที่เป็นคนพาลมารวมกัน เขาก็จะพากันทำสิ่งที่ไร้สาระ เบียดเบียน สร้างความลำบากให้ผู้อื่นและตัวของเขาเองเป็นธรรมดา ด้วยเหตุแห่งความมักมากในกามและความมัวเมาในอัตตาตัวตนของเขานั่นเอง

ดังนั้นชีวิตก็ควรคบคนดีเป็นมิตร คบบัณฑิต(ผู้มีธรรม) ชีวิตก็จะผาสุก ถึงจะจัดงานบวช แต่ถ้ามีบัณฑิตเป็นผู้นำ งานบวชก็จะเป็นไปโดยสงบ เป็นรูปแบบการจัดงานเหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันคนละโลกกับงานบวชที่รวมคนพาลไว้ด้วยกัน

มือไม่ถึง พาวอดวาย

วันนี้ได้ลองใช้สว่านไฟฟ้าขันสกรูเป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะใช้แต่ไขควง อย่างเก่งก็ใช้สว่านเจาะนำก่อน แต่ครั้งนี้สกรูมันยาว 3 นิ้ว แถมจุดหนึ่งก็หลายตัว จะไขด้วยมือก็คงนาน เลยใช้สว่านไขเอา

ก็เคยเห็นตอนช่างเขาทำอยู่ มันก็ดูเหมือนไม่ยาก ก็ดันไปแล้วก็กด มันก็เข้าไปได้ แต่พอลองเองนี่มันไม่ง่าย ถึงกับเสียหัวไปหนึ่งอัน แถมเสียสกรูอีก 2-3 อันและเสียเวลาขันสกรูที่เกือบจะเสียออก…ถึงจะพอจับทางได้ (ดีนะมีหัวสำรองอีกอัน)

…เข้าเรื่องกันเลย จากภาพจะเห็นว่าสกรูก็พัง หัวแฉกก็พัง สรุปคือพังทั้งคู่ ถ้าทำไม่เป็นมันจะพากันพังทั้งคู่

เหมือนกับธรรมะที่พอไม่เป็นแล้วทำเหมือนเป็นนี่มันพังจริง ๆ แล้วมันพังแบบแนบเนียนด้วย คือพังแล้วไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับที่เห็นกันมากมายในข่าวที่มีผู้นำลัทธิที่อ้างว่าใช้วิถีพุทธแล้วทำเรื่องผิดศีลมากมาย แบบนี้มันก็มีให้เห็นเยอะ แต่มันเป็นความน่ากลัวในความธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องอันตราย ถ้าแสดงฐานะเกินฐาน หรือเกินกว่าที่มีเมื่อไหร่ ภัยจะมา จริงอยู่ว่าในเบื้องต้นเราอาจจะแสร้งว่าเรามีธรรม เราเป็นผู้วิเศษ แต่ถ้ามันดันติดลมบน มีคนนิยม แล้วจะยังไงต่อ โลกธรรมมันเข้ามา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขมันเข้ามา แล้วตนเองไม่มีธรรมนั้นจริง แต่ก็ไม่อยากเสียโลกธรรม ก็เลยตามเลย แสดงธรรมไปตามที่ตนเข้าใจ(ผิด) ผลมันก็เหมือนกับหัวแฉกกับสกรูนี่แหละ คือตนเองก็พัง คนอื่นก็พัง พังเพราะพากันเมาในมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งในสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยคือมิจฉาทิฏฐิ ปิดไว้จะเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ แล้วคนที่เขาหลงเขาจะรู้ไหม เขาไม่รู้หรอก เขาก็เปิดเผยมิจฉาที่เขาหลงว่าเป็นสัมมานั่นแหละ ดีไม่ดีเขียนตำราใหม่เลย นี่แหละคือสัมมา(ของข้า)

สิ่งที่น่ากลัวกว่าโลกธรรม ก็คืออัตตา บางคนเหมือนว่าเขาไม่เสพโลกธรรมแล้ว ลาภมาไม่สน ชมมาไม่ฟู เรียกอาจารย์ก็ไม่ใส่ใจ แต่ลึก ๆ ในใจแล้วไม่มีใครรู้หรอก ภาพข้างนอกมันก็วิเคราะห์กันได้แค่ประมาณหนึ่ง คนอื่นเขาก็รู้ด้วยได้ยาก ว่าตกลงผ่านไม่ผ่าน

แล้วพวกอัตตาจัดนี่เวลาจับธรรมะแล้วจะโหดสาหัสเลย ยิ่งอ้างว่าตนเป็นพุทธแท้เท่าไหร่ยิ่งจะหนักเท่านั้น เพราะพูดออกไปมันได้โลกธรรมมาก ถ้าคนเชื่อเขาก็เทน้ำหนักให้มาก นั่นหมายถึงวิบากที่ได้รับก็มากตามได้ด้วยตามน้ำหนักที่ประกาศออกไป

ทีนี้มันก็มีทั้งจริงไม่จริงไง ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือมันไม่จริง พออัตตาจัดแสดงธรรม มันก็เหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีคนติดตาม มีลูกศิษย์ ทีนี้ก็ติดลมบนแล้ว ณ จุดนี้มันจะช่วยยากแล้ว เพราะส่วนมากก็ยึดตามหลักตนไปแล้ว ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็น…ฯลฯ แล้วล้างกิเลสไม่ได้จริง มันจะพอกเป็นอัตราพิเศษต่างจากคนทั่ว ๆ ไป

ธรรมะนี่เป็นหน่วยลงทุนที่กำไรมาก แต่เวลาพลาดก็ขาดทุนมากเช่นกัน และปัญหาคือขาดทุนแล้วไม่รู้ตัว หนึ่งในสภาพที่น่ากลัวก็คือ “หลงบรรลุธรรม” คือเกิดสภาพหลงไปว่าตัวเองมีคุณวิเศษนั้นจริง ไม่มีก็เข้าใจว่ามี เปรียบเหมือนคนบ้าหลงว่าตัวเองใส่เกราะถือดาบแต่จริง ๆ ใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว แล้วจะวิ่งไปรบกับกองทัพศัตรู มันก็มีแต่ตายเปล่าเท่านั้นเอง

แล้วยิ่งพาคนอื่นบ้าไปด้วยนี่วิบากมันจะยิ่งคูณ / ยกกำลังเข้าไปใหญ่ กว่าจะกลับมาเป็นคนปกติที่สามารถเรียนรู้ธรรมะที่สัมมาทิฏฐิได้ก็คงจะไม่ใช่ง่าย เพราะวิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้หลงตามปริมาณที่เคยพาคนอื่นหลง

จะเตือนกันว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่ารีบแสดงธรรมกันเลย มันก็คงจะไม่ไหว เพราะผลที่ได้จากการแสดงธรรมนี่มันหอมหวาน เต็มไปด้วยภาพเสมือนของกุศล(เหมือนจะดี)และโลกีย์รส โลกธรรมเอย อัตตาเอย เขาก็พุ่งเข้าหานั่นแหละ บางคนตอนแรกเขาก็ตั้งใจทำดี แต่เจอกิเลสดักตีหัว สุดท้ายก็อาจจะต้องจบลงแบบสกรูกับหัวแฉก แบบนี้ คือพังทั้งตนเองและผู้อื่น

เขาทิ้งเรา เราทิ้งเขา

อ่านเจอกระทู้หนึ่งในพันทิพ เขาว่าลูกกับเมียเขากำลังจะตีตัวออกห่างเขา ทั้งบ้านและรถ ไม่ใช่ชื่อเขา ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร?

ผมอ่านแล้วก็น่าคิด ถ้าเป็นผมตอนนี้ ผมยอมให้หมดเลย อยากได้อะไรก็เอาไป จะไปไหนก็ไป เรามีทางไปของเราแล้ว บ่วงหลุดไปจากเรา เราไม่ต้องลำบากแล้ว ดังนั้นผมประเมินว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมจนได้ผลประมาณหนึ่ง เมื่อพบกับเหตุการณ์เขาทิ้งเรามันจะไม่ยากเท่าไหร่

แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป ไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม ผมก็เข้าใจ เขาทุกข์แน่นอนแหละ แต่จะทุกข์หนักทุกข์นานแค่ไหนนั่นก็แล้วแต่วิบาก ถ้ามันหมดวิบากก็ไม่ต้องไปแส่หาเพิ่ม เอาเวลาไปศึกษาธรรมให้พ้นทุกข์ พ้นวนเวียนเรื่องครอบครัวจะดีกว่า

ทีนี้มาคิดถึงประเด็นเราทิ้งเขา(ทั้งที่ยังรัก)นี่มันยาก มันต่างกับเขาทิ้งเราโดยสิ้นเชิง เขาทิ้งเรานี่เราแค่รับกรรมเก่าที่ทำมา ส่วนกรรมชั่วใหม่เราไม่ทำมันก็จบไป แต่สำหรับเราทิ้งเขานี่มันยาก เพราะมันเป็นกรรมใหม่ที่เราจะต้องทำเพื่อความเจริญ

ปกติมันทิ้งกันไม่ได้ง่าย ๆ หรอก มีสารพัดร้อยล้านเหตุผลที่จะติดอยู่อย่างนั้น มันจะหนืด ๆ ดึงไม่ค่อยออก เรียกว่าไม่ยอมดึงตัวเองออกมาเลยจะชัดกว่า

ตรงนี้แหละที่มันจะยาก เพราะจะไม่ออกมาเลยก็ติดกาม กระชากออกมาก็เป็นอัตตา มันโต่งทั้งด้านอยู่ ทั้งด้านไป แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าบำเพ็ญความดีไปทั้งชาติแล้วเขาจะปล่อยเรา บางทีการปล่อยไปตามกรรมทั้งชาติโดยไม่ทำอะไรให้ชัดเจน ก็เป็นการสร้างวิบากกรรมใหม่เช่นกัน คือกรรมที่ไม่พยายามทำอะไรดี ๆ เลย ซึ่งมันก็จะทำให้ช้า บางทีมันต้องพรากออกมาเพื่อประโยชน์ที่มากกว่า แม้จะเป็นช่วง ๆ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

นี่ขนาดคนอยากออกจากความเป็นครอบครัวยังยากในการประมาณ นับประสาอะไรกับคนทั่วไป ยากนักที่คนทั่วไปจะอยากออกจากความเป็นครอบครัว ออกจากสภาพความเป็นคู่ มาอยู่อย่างยินดีในความโสด

คนบวชเป็นพระมานานยังสึกไปมีเมียได้ สารพัดมิจฉาธรรมที่พาให้คนยินดีในการมีคู่ สื่อสารออกไปแล้วไม่ได้ทำให้คนละหน่ายความอยากมีคู่ ซ้ำร้ายบางทียังหาข้ออ้าง หาช่องทางในการมีคู่ได้โดยดูไม่ผิดหลักธรรมอีก ยุคนี้กิเลสมันร้าย ระวังกันไว้นะครับ

คนมีหนาม

วันนี้ระหว่างที่ตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่มีหนามแหลม ก็นึกเรื่องนึงขึ้นได้…

การตัดต้นไม้ที่มีหนามนี่ต้องระวังมาก ทั้งการจับ การดึง การตัด ตัดไม่ดีบางทีมันเด้ง มันกระเด็น มันตกมาใส่เราอีก แถมจะขนไปทิ้งยังลำบาก ต้องค่อย ๆ จับ ไม่งั้นหนามมันก็ตำเอา

ระหว่างที่ขนกิ่งไม้หนามไปทิ้ง หนามของมันก็ไปเกี่ยวนั่นเกี่ยวนี่ เกี่ยวของ ของก็ตก เกี่ยวถุงพลาสติก ถุงก็ขาด เกี่ยวแขนขาเรา ก็ได้เลือด

ก็มาระลึกว่า เรานี่นะ ต้องพยายามทำตัวไม่ให้มีหนาม ไม่งั้นมันจะไปเกี่ยวคนอื่น ทำให้เขาเจ็บปวด มีบาดแผล แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือเราจะมี “กรรม” ไปเกี่ยวกับเขานี่แหละ ถ้ามันเป็นกรรมดีมันก็แล้วไป แต่ถ้าเปรียบกับหนามนี่ดูจะเป็นกรรมชั่วเสียมากกว่า

เกี่ยวกันด้วยกรรมชั่วแล้ว ผลมันก็ออกมาชั่วนั่นแหละ นำความทุกข์ เสียหายมาให้ ทั้งเราและเขา

พอพิจารณาเรื่องหนามอย่างนี้ จิตมันก็เริ่มเกรงกลัวภัยของกิเลสมากขึ้น เพราะรู้ว่าความยึดดีจะนำโทษมาให้ ผมเปรียบหนามก็คือความยึดดีนั่นแหละ นึกภาพคนดีปราบคนชั่วเอานะ คือมันจะมีเหตุผลดี ๆ สารพัดในการปราบคนชั่ว ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามใจ ถ้านึกภาพหยาบ ๆ ก็คือคนดีเอาดีไปข่มคนชั่วเขานั่นแหละ

คือมันก็ดีล่ะนะ แต่มันเหมือนหนาม มันแทงใจเขา มันไม่ได้แทงแบบช่วยเขาด้วย มันแทงแบบทำลายเขา ไม่ใช่ทำลายกิเลสเขานะ ทำลายตัวเขาเลยนั่นแหละ ทีนี้พอแทงไปปุ๊ป เขาก็โกรธปั๊ป พยาบาทจองเวรต่อเนื่องกันไป

ก็เหมือนโดนหนามทิ่มนั่นแหละ มันไม่ได้จบแค่เจ็บและเลือดไหลเสียหน่อย ไอ้ปลายหนามที่มันฝังอยู่ในหนังเรานี่แหละตัวทำให้เจ็บปวด ดีไม่ดีเอาไม่ออก ฝังเป็นก้อนแข็งให้รำคาญอยู่ในเนื้อหนังเลยก็เป็นได้

เปรียบกลับมาก็เหมือนหนามของคนติดดีนี่แหละ ทิ่มเข้าไปทีฝังในวิญญาณเขาเลย ประมาณว่าเขาฟังแล้วก็ดีนะ เออเอ็งดี เอ็งเก่ง แต่ข้าไม่เอาด้วย เพราะมันเจ็บ มันครูด มันปัก มันเกี่ยว มันฝังใจ มันเป็นดีที่ยังไม่ใส ยังไม่เนียน

…ว่าแล้วก็มานั่งเอาเข็มมาเกี่ยวเอาหนามที่ฝังอยู่ออก ก็เห็นว่าเข็มกับหนามนี่มันแหลมเหมือนกันนะ แต่มันทำหน้าที่ต่างกัน เอาเป็นว่าหน้าที่หนามให้เป็นของคนอื่นแล้วกัน ยังมีคนดีอีกมากที่ยังมีหนาม ผมก็ยกให้เขาทำไป แล้วจะเปลี่ยนงานมาเป็นเข็มไว้ถอนหนามออกแล้ว นี่ก็ต้องปรับตัวอยู่เหมือนกันนะ จะเปลี่ยนงานมันก็ไม่ง่าย แต่ก็คงต้องฝึกกันไป

ความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ได้ตัดกันง่ายๆ

ผมมีความเห็นว่าจะตัดความอยากกินเนื้อกันด้วยปัญญานี่มันยากนะ มันต้องตัดด้วย “อัตตา” คือยึดดี ไปก่อนนี่แหละ มันถึงจะเลิกกิน(ยึดชั่ว) ได้

คือการไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันก็มีอะไรดี ๆ มากมายให้ยึดอยู่เหมือนกัน จะเมตตา จะสุขภาพ จะประหยัด จะ…ฯลฯ ก็ต้องหาจุดยึดไปก่อน ไม่งั้นมันไหลไปตามน้ำ ไหลไปตามกระแสโลกหมด

แล้วถ้าพัฒนาตัวเองจนโตขึ้นได้แล้ว ว่ายน้ำได้แล้ว ขาถึงพื้นแล้ว ก็ค่อยเลิกยึดหลัก เลิกยึดดี (อัตตา) นั้นอีกทีหนึ่ง ปฏิบัติไปเป็นลำดับ ล้างกาม ล้างอัตตา มันก็จะดูเป็นไปได้หน่อย

จะไปล้างอัตตาก่อนนี่มันจะไปไม่ได้ มันจะมั่วเลย ชิงวางก่อนเลย ทำดียังไม่ได้ทำเลย วางไปแล้ว ก็เรียกว่ามันยังไม่ได้ทำอะไรนั่นแหละ ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย ยังไม่มีดีให้วางเลย จะวางดีได้ยังไง ถ้าจะเรียกว่า “วาง” ได้จริง มันต้องมี “สิ่ง” ให้วางด้วย ไม่ใช่ไม่มีอะไรดีเลย จะวาง มันก็ไม่ใช่ มันก็เล่นตลกเท่านั้นแหละ

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้จริง วางได้จริง จิตมันจะสบาย ทางโลกที่แสดงออกจะมีลักษณะ 3 อย่างคือ ตัวเองก็ไม่กินเนื้อสัตว์, ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์, ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนและผู้อื่น …แล้วก็ไม่ทุกข์ใด ๆ ในองค์ประกอบ 3 อย่างนี้

1.ไม่กินก็ไม่ทุกข์ร้อน ไม่กินทั้งชีวิตก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องอดไม่ต้องทน การไม่กินเนื้อสัตว์ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

2.ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ ไม่ต้องยึดดี ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรถ้าคนอื่นจะเห็นแย้งหรือไม่เอาด้วย อธิบายบอกตามเหตุปัจจัยที่เหมาะแก่ความเจริญ แล้วก็วางดีเหล่านั้นไป ไม่ต้องทะเลาะกับใครให้ปวดหัว

3.ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนเองและผู้อื่น ตนเองก็ยินดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แม้จะกินแค่ข้าวเปล่าจิตก็ยังยินดี ไม่มีน้อยใจ ขุ่นใจ เห็นคนอื่นเขาไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยินดี เขาลดได้แม้เล็กแม้น้อยก็ยินดีกับเขา

…แค่เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ชีวิตก็ยกระดับขึ้นอีกขั้นแล้ว ไม่ใช่ความโก้หรูดูดีมีศีลเคร่งอะไรหรอก มันยกระดับขึ้นจากทุกข์นั่นแหละ คือจากที่เคยลอยคอ มันก็สูงขึ้น ไม่ต้องสำลักน้ำบ่อย ๆ

จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางคนมีกำลังจิตดี มีปัญญามากก็ตัดได้ไว แต่ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ทำกันหรอก เพราะเขาไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเขา หรือไม่ก็เห็นว่ามี แต่มันไม่มีแรงต้าน ดังนั้น มันจึงต้องเพิ่มความยึดดีเป็นแรงต้าน ความอยากกินเนื้อสัตว์ (กาม) นั้นก่อน

เจอตอบนทางธรรม

วันก่อนผมเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ตระหนักถึงภัยอันน่ากลัว คือผมเดินไปสะดุดกระดานรองเขียนที่วางไว้ที่พื้น กระดานนั้นมันมีสีน้ำตาลเหมือนสีพื้น แม้มันจะสูงกว่าพื้นไม่มากนัก แต่มันก็ไม่ใช่พื้น และเราก็ไม่ทันสังเกต เราไปเห็นว่ามันเป็นพื้น สุดท้ายก็เลยสะดุดมัน

ก็ทำให้คิดว่า บนเส้นทางธรรมนี่ก็เป็นเส้นทางที่น่ากลัวเหมือนกัน ประมาทไม่ได้ และประมาทใครก็ไม่ได้ คนที่ไม่มีสติจะไม่ทันสังเกตความแตกต่าง คนไม่มีปัญญาจะไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร

คนที่หันมาปฏิบัติธรรมแรก ๆ ส่วนมากจะมีความอ่อนน้อม เพราะรู้ตัวว่ายังไม่เก่ง แต่พออยู่นานเข้า ศึกษาและปฏิบัตินานเข้า ก็จะเริ่มเก่งและอัตตาก็จะเริ่มโต พออัตตาโตสายตามันก็จะเริ่มสั้น เริ่มมองเห็นไม่ชัด เห็นได้แต่ใกล้ ๆ คือเห็นสำคัญแต่ตัวตนของตนเอง แต่มักไม่เห็นความสำคัญในผู้อื่น

พอมองไม่ชัด มันก็เผลอ ก็พลาด ก็เลยเกิดเป็นสภาพชนตอ ทีนี้พออัตตาจัดแล้วชนตอ มันจะไม่รู้ตัวว่าชนตอ รู้แต่เจ็บ รู้แต่ทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าชนอะไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ชนไปแล้ว

หายนะอย่างหนึ่งของผู้ปฏิบัติธรรม คือการเพ่งโทษกันในหมู่คนดี กรรมเหล่านั้นจะให้ผลเช่น หลง เสื่อม เจ็บ ตาย ฯลฯ ซึ่งจะมีความรุนแรงไปตามตัวแปรคือบุคคลที่ไปเพ่งโทษ เรื่องที่ไปเพ่งโทษ และระยะเวลาที่ยังไม่ได้แก้ความเห็นผิดนั้น ๆ

ผมเคยเห็นผู้ที่ทำกรรมนี้มาแล้ว คือทำดีมาแทบตาย สุดท้ายชนตอ แล้วตอใหญ่ด้วย แต่ตัวเองไม่เห็น ไม่สำคัญว่านั่นคือตอ ชนทีเดียวตายเลย

ผมจึงต้องคอยตรวจสอบและระวังตัวเองให้มาก ไม่ให้สบประมาทใคร ไม่ให้เพ่งโทษใคร ไม่ให้อัตตาครอบงำจนสายตาสั้นหรือตาบอดมองไม่เห็นตอนั้น เพราะทันทีที่ผมพลาด ชีวิตผมก็คงจะล่มจมและฉิบหายด้วยผลแห่งกรรมนั้น ๆ

แม้จนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังต้องตรวจจิตตัวเองซ้ำแล้วซ่ำเล่าว่ายังดีอยู่ไหม ยังมีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อยู่ไหม หรือมันเบี้ยว มันเอนออก เราตรวจสอบกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เขาให้ความเห็นอย่างไร เขายังเห็นว่าเรายังดีอยู่ไหม ก็ต้องตรวจทั้งตนเองและให้ผู้อื่นตรวจ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วได้ผลที่ถูกตรงนั้นน่ากลัวเหมือนอสรพิษ ที่ว่าน่ากลัวไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นจะมาทำร้ายเรา แต่น่ากลัวเพราะถ้าเราจะพลาดไปคิดพูดทำไม่ดีต่อท่าน นั่นหมายถึงเราได้สร้างความฉิบหายในระดับที่เรียกว่าโดนงูพิษกัดก็ยังน้อยไปให้ชีวิตของเรานั่นเอง

วิ่งไปเจอตัวเวรตัวกรรม

เอาแล้วไง โกบี เจ้าตูบชื่อดังทำแสบ หายตัวจนนักวิ่งคู่หูต้องประกาศหาวุ่น

วิ่งไปวิ่งมาก็เจอตัวเวรตัวกรรม ว่าแล้วก็ยึดมาเป็นของตน

นักวิ่งคนนี้เขาวิ่งอยู่ดีๆ ก็มีหมามาวิ่งตามไปด้วยกันกว่าสี่สิบกิโล ก็ถูกอกถูกใจหมา เกิดความผูกพันรักใคร่หมาขึ้นมาจนคิดจะเอาไปเลี้ยง

ยังไม่ทันได้พาบินกลับประเทศหมาก็หายไป เขาก็เป็นทุกข์ ร้อนใจ ตามหาหมา

ข่าวนี้แสดงให้เห็นถึง ความไม่รู้จักภัยของความรัก นี่หมาเข้ามาทำดี ทำให้ถูกใจ ก็หลงรักหมา เอามันมาเป็นของตัวของตน นี่หมาของฉันนะ ทั้งๆ ที่หมามันก็เป็นตัวของมันเอง มันหายไปของมันเอง ก็พยายามไปตามหามันกลับมา ไม่ยอมปล่อยมันไป นี่เรียกว่าเราไปยื้อเขาไว้เอง เขาจะไปตามกรรมของเขาแล้วแท้ๆ เราไปดึงเขากลับมาเอง

ไม่ว่าจะหมา คน สัตว์อื่นๆ หรือสิ่งของ คนที่ไม่รู้จักโทษ ก็เข้าไปยึดแบบนี้ เอามันมาเป็นตัวเป็นตนของเรา ทั้งๆที่ตอนแรกมันไม่มี ก็กลับทำให้มันมี ทีนี้พอมันหายไปก็ต้องทุกข์ร้อน ไปแสวงหาให้มันมีอีกครั้ง นี่คือความหลงในอัตตาของคน เป็นอัตตาหยาบๆ คือเอาวัตถุ สิ่งของอื่นๆ เป็นตัวเราของเรา

ซึ่งสุดท้ายเขาก็ต้องทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง และไม่ใช่ของๆ เขาอย่างแท้จริง แต่เขากลับไปคิดว่า หมามันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป เป็นของเขาตลอดไป ด้วยความไม่รู้จริงนั่นเอง

อย่ายึดมั่นถือมั่น

อย่ายึดมั่นถือมั่น…

ผมได้อ่านประโยคเหล่านี้บ่อย เมื่อได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับความเห็นจากการศึกษาศาสนาพุทธต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ คนเขาก็ว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, การเลือกกินมันยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ

ผมมาเห็นรูปนี้แล้วก็นึกได้ … เออเนาะ คนเรานี่ก็หลอกตัวเองได้เยอะเลย ยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่ามันเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามใจตน เช่น สิ่งนี้คือแกะ แกะกินได้ แกะอร่อย ฯลฯ

ไอ้ “สิ่งนี้คือแกะ” นี่ก็สมมุติทั่วไป คือการตั้งสัญญาให้ตรงกัน ไม่ได้เบียดเบียนอะไรแกะ ถึงมันจะถูกเรียกว่า แกะ แอะ แมะ ฯลฯ ก็ไม่ได้กระทบอะไรมัน แต่ที่ไปกำหนดว่ามันกินได้นี่สิ มันเริ่มจะไปเบียดเบียนมันแล้ว ส่วนที่ไปฆ่าเขาแล้วซื้อมากินกันนี่เบียดเบียนเต็มๆ

ทีนี้คนที่ยึดมั่นถือมั่นนี่เขาจะไม่ปล่อยไม่คลายเลยนะ เขาว่าแกะกินได้ หมูกินได้ เขาก็จะกินอยู่นั่นแหละ เขาจะไม่ยอมคลายออกเลย เขาจะยึดอยู่แบบนั้น นี่แหละคือความยึดมั่นถือมั่นในสัญญาของคนที่ติดเนื้อสัตว์

กลายเป็นเอาเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน (อัตตา) เหมาเอาว่าเนื้อแกะชิ้นนี้ เป็นของฉัน ฉันซื้อมา อันนี้มันเมาสมมุติทั้งนั้น เหมือนเด็กเล่นขายของแล้วจริงจัง จริงๆ แกะมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการซื้อขายของเราหรอกนะ เราสมมุติขึ้นมาเอง แล้วยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นความดีความชอบของเรา

อย่ายึดมั่นถือมั่น…ในสิ่งที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นเลย วางเสียทีเถิด ยึดถือสิ่งที่เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อประโยชน์ตนอยู่นั่นแหละ(เห็นแก่ตัว) ไม่รู้จักวางเสียที


ผู้ที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า “สัญญาไม่เที่ยง” จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย แต่จะเหลือเพียงหลักพิจารณาประโยชน์และโทษให้เป็นไปตามจริง (ตามข้อมูลและความรู้ที่มี ณ ขณะนั้นๆ)

เช่นความรู้เดิมคือเนื้อสัตว์กินได้ แต่พอได้ความรู้ใหม่ว่า เขาต้องฆ่ามาถึงจะได้เนื้อมากินนะ ก็จะพิจารณาเอาประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเลือกไม่กินเนื้อสัตว์เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบียดเบียนผู้อื่นและไม่สร้างบ่วงกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยเวรนั้นทับถมให้เป็นทุกข์แก่ตน

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้หรือฟังอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงโอกาสในการที่เราจะฉลาดขึ้น มีปัญญามากขึ้น รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่การจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะมีอัตตายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ได้รู้มา และไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วได้ เมื่อเป็นดังนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความไม่คุ้นชิน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปให้กับกับอัตตา หรือที่เรียกว่า เพ่งโทษฟังธรรม นั่นเอง เป็นอย่างไรก็ลองมาอ่านกันดูถึงโทษภัยของการฟังอย่างเพ่งโทษและคอยจับผิด

อ่านต่อได้ที่บทความ : เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี

บทความนี้จะพามาไขความลับของนรกคนดี ทำไมคนดีจึงอยู่ไม่เป็นสุข กินมังสวิรัติได้ดีแล้วชีวิตน่าจะมีความสุข อายุยืน เจ็บป่วยน้อย แต่ทำไมชีวิตของเรายังไม่สุขเสียที เห็นคนนั้นคนนี้กินเนื้อสัตว์ก็ยังรู้สึกทุกข์ใจขุ่นใจอยู่เรื่อย อยากให้เกิดดีดังใจหมาย อยากให้ทุกคนหันมากินมังสวิรัติ อยากให้คนอื่นได้เลิกเบียดเบียน พอเขาทำไม่ได้ก็ทุกข์ใจ

นี่แหละคือพลังของอัตตาที่จะมาทำลายความสุขของเรา ถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องอัตตาไว้บ้างก็ยากที่จะพบกับความสุขแท้ เพราะอัตตานั้นเป็นกิเลสที่ละเอียด รู้ได้ยาก ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ชื่อแห่งความดี ความติดดี ติดสุข จนเราไม่สามารถที่จะล้างอัตตาได้ จนต้องทนทุกข์ไปอีกหลายต่อหลายชาติ นานตราบเท่าที่จะยินดีแบบอัตตานั้นไว้

อ่านต่อได้ที่บทความ : อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์
อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat