หนุ่มสาวเอย…

วันนี้ไปร่วมกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เห็นนักศึกษามากมาย ก็พลันคิดไปว่า…

เมื่อไหร่หนอที่เขาจะสุกงอม เมื่อไหร่ที่จะทุกข์จนเกินทน ชีวิตเกิดมาก็ต้องเล่นบทไปตามวิบาก ถ้าหมดวิบากกรรมแล้วอีกนานแค่ไหนจะได้เจอกับสัตบุรุษ(ผู้รู้ธรรม) ได้ฟังสัจธรรม ได้นำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ก็คงจะประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ได้ในวันใดวันหนึ่ง

ว่าแล้วก็กลับมาคิดถึงตัวเอง กว่าจะมาเจอธรรมะจริง ๆ ก็ 29 ปี แม้ก่อนหน้านั้นจะศึกษามาบ้าง แต่ก็ล้วนแต่เป็นมิจฉาธรรม หรือไม่ก็ธรรมที่ไม่ครบพร้อม ขาด ๆ พร่อง ๆ เอาไปใช้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ไม่แตกฉาน ไม่ชัดเจน

กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโต กว่าจะเรียนจบมันใช้เวลานานมาก ประมาณ 20 กว่าปี ไหนจะต้องดิ้นรนแสวงหาอีก พอได้มาก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมากับลาภ ยศ อำนาจ อิสระ ฯลฯ ที่ได้มาจากความสามารถที่ตนมี เรียกว่าคงสนุกกับการหาเงิน หาความก้าวหน้า หรือไม่ก็วนเวียนอยู่กับการหาคู่อยู่หลายปีเลยล่ะ

แม้ว่าเราจะมีจิตที่เต็มใจจะช่วยเหลือคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเหลือใครได้ถ้าเขาไม่ทุกข์ การที่เขาไม่รู้สึกถึงทุกข์ ไม่ได้หมายความเขาไม่มีทุกข์ เขาอาจจะมีทุกข์ก็ได้ เพียงแต่เขาไม่มีปัญญารู้จักทุกข์นั้น ๆ เราก็คงต้องปล่อยให้ทุกข์งอม(สุกงอม)เสียก่อน

คือปล่อยให้เขาใช้ชีวิตของเขาให้ทุกข์ให้เต็มที่เลย ให้มันทุกข์จนรู้สึกทนไม่ไหว เขาถึงจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วถึงวันนั้นถ้าได้เจอกันก็ค่อยว่ากัน ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่เจอมันก็ไม่ใช่งานของเรา

เหมือนกับเรื่องคู่ ที่ผมค่อนข้างปล่อย อย่างเก่งก็แค่พิมพ์บทความออกไป สุดท้าย ใครเขาจะไปมีคู่ เพราะเขาเชื่อว่าไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยกว่าทนอยู่เป็นโสดมันก็เรื่องของเขา เขาก็ต้องรับทุกข์ของเขาในท้ายที่สุด เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้ไปทุกข์กับเขาด้วย ไม่ได้ยึดว่าเขาต้องได้ดีดังใจหมาย เพราะเขาก็เป็นของเขาไปแบบนั้นแหละ บางทีเราก็ได้แต่ดู ได้แต่ดูก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะถ้าการช่วยเขาคืองานของเรา เราก็จะได้ทำ แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็จะไม่ได้ทำนั่นเอง ง่ายจัง

ชีวิตหนึ่งเกิดมาเรียนรู้ และแม้ว่าสุดท้ายจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำความเจริญอะไรให้แก่ตน ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับผู้อื่น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า โมฆะบุรุษ คือคนที่เกิดมาเสียของ เบิกกุศลกรรมมากินใช้ไปวัน ๆ เป็นพวกกินของเก่า ไม่สร้างใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า พวกชิงหมาเกิด ซึ่งผมก็คิดว่าประมาณนั้นแหละ อ่านแล้วอาจจะว่าแรง แต่มันก็จริง เพราะเกิดมาแล้วขาดทุน ทำแต่เรื่องขาดทุน ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง ไม่เป็นประโยชน์กับใครอย่างแท้จริง เกิดมาใช้ทรัพยากรโลก แก่งแย่งมาเพื่อกิเลสตน สุดท้ายทั้งชีวิตก็เบียดเบียนชีวิตอื่นมาบำเรอตน เอาวิญญาณหมานิสัยดีเกิดมาแทนยังจะดีกว่า

จนกว่าจะสาแก่ใจ

คุยกับเพื่อนเกี่ยวกับการออกจากนรกคนคู่ (ที่คนทั่วไปมักจะเห็นเป็นสวรรค์) ว่าคนเรานี้จะออกได้ตอนไหน เพื่อนก็พูดคำประมาณว่า “จนกว่าจะสาแก่ใจ” คือให้ทุกข์จนกว่าจะสาสมใจนั่นแหละ ทุกข์ให้มันสะใจไปเลย ถึงตอนนั้นเดี๋ยวเขาก็อยากออกเอง

ถ้ายังรู้สึกสุขกับการมีคู่อยู่ นั่นคือกำลังอยู่บนสวรรค์ลวง ก็วิ่งเล่นเพลิดเพลินไปตามประสาคนไร้เดียงสา ค่อย ๆ สะสมอกุศลกรรม ปั้นแต่งวิบากบาปมุมนั้นมุมนี้ สร้างนรกที่ไม่ได้ฝันไว้ให้ตัวเองอย่างช้า ๆ (บางทีก็เร็ว)

คนจะพ้นทุกข์ได้นี่ประตูแรกต้องรู้จักกับทุกข์เสียก่อน ต้องรู้ว่าสิ่งที่เข้าไปเสพนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถ้ายังมีความเห็นว่ามันเป็นสุขมันจะไม่อยากออก แบบนี้ยังไม่ต้องคุยธรรมะกันให้เสียเวลา ก็ให้ไปลองพิสูจน์ดูจนกว่าจะสาแก่ใจ

บางคนแค่คบหาเป็นแฟนก็รู้จักทุกข์มากพอที่จะออกแล้ว แต่ส่วนใหญ่ต้องมากกว่านั้น ต้องแต่งงาน ต้องมีลูก ต้องโดนทอดทิ้ง ทำร้าย หักหลัก ฯลฯ มันถึงจะสาแก่ใจ …จะว่าไปก็เหมือนพวกมาโซคิสม์ ที่เจ็บแล้วสุข เขาทำร้ายแล้วก็สุข มันก็สุขแบบวิปริตตามประสาคนหลง เช่น ทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ตบตีกัน ทำร้ายกันแต่ก็ยังยินดีอยู่ด้วยกัน เพราะมันมีสุขลวงซ้อนอยู่ในทุกข์ ถ้ามีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขลวง ไม่มีใครเขามีคู่กันหรอก

จริง ๆ คู่รักมันก็ไม่มีอะไรมากกว่าหาผลประโยชน์(เสพกิเลส)ร่วมกัน ฉันได้จากเธอ เธอได้จากฉัน เราต้องมีกันและกัน เป็นอัตตาก้อนหนึ่ง มัดสองคนรวมกันไว้ ไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งอีกฝ่าย ไม่ตั้งอยู่บนหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่จะว่าไป…เขาก็ไม่คิดจะพึ่งตนเองตั้งแต่คิดจะไปมีคู่นั่นแหละนะ

ส่วนใครที่แค่เห็นคนอื่นมีคู่แล้วเห็นทุกข์ ก็ยินดีด้วย บางเรื่องไม่ต้องลงไปเล่นเองให้เสียเวลา แต่ถ้าใครอยากเล่นละครครอบครัวพ่อแม่(ลูก) ก็เชิญจนกว่าจะทุกข์จนสาแก่ใจ

โรคซึมเศร้า จำเลยรักในสังคม

ก่อนหน้านี้ผมได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาประมาณหนึ่ง ซึ่งสังเกตว่าสังคมนั้นไม่ได้แก้ปัญหาของโรคนี้ที่ต้นเหตุ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการทางจิต แต่จากที่ศึกษามานั้น มักจะถูกบำบัดโดยการให้ยาหรือรับการปรึกษา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดในจิต มันมีความผิดปกติในจิตใจ มีสิ่งแปลกปลอมในจิตใจ

ผมจะสรุปก่อนเลยว่า ความรู้ในปัจจุบันไม่มีวันที่จะรักษาโรคนี้หาย แต่มันจะเพิ่มมากขึ้น มีคนเป็นมากขึ้น รวมทั้งจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และโรคนี้มีความสัมพันธ์กับกิเลสอย่างชัดเจน

แต่วิธีรักษาโรคนี้มีมาตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน ในหลักพุทธศาสนา ธรรมทุกบทมีไว้เพื่อกำจัดทุกข์ทั้งสิ้น โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน

จะยกนิวรณ์ ๕ ขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย นิวรณ์นั้นไม่ได้เจอแค่ตอนเรานั่งสมาธิ นิวรณ์ของการนั่งสมาธิก็คือนิวรณ์ของการนั่งสมาธิ เมื่อเราพยายามจะแสวงหาความผาสุกในเรื่องใด เราก็จะเจอกับนิวรณ์ในเรื่องนั้นๆ ในโจทย์นั้นๆ

ความรักก็เช่นกัน

เมื่อมีความใคร่อยากเสพอยากได้ความรักมากขึ้น(กามฉันทะ) เมื่อไม่ได้ก็จะโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจมากขึ้น (พยาบาท) เมื่อไม่ได้สมใจเข้าหนักๆก็ตีกลับเกิดเป็นสภาพหดหู่ เศร้าหมอง (ถีนมิทธะ) แล้วก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย (อุทธัจจะกุกกุจจะ) เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง(วิจิกิจฉา)

สภาพก็เหมือนกับเด็กคนหนึ่งอยากได้ของเล่น แล้วก็ร้องไห้โวยวายลงไปดีดดิ้นที่พื้นสุดท้ายก็ยังไม่ได้ ก็งอนพ่องอนแม่ เสียใจคิดฟุ้งซ่านจะประชด จะฆ่าตัวตาย อะไรแบบนี้

โรคซึมเศร้า คืออาการของถีนมิทธะ ที่รุนแรง ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามปริมาณกิเลสองค์รวมในเรื่องนั้นๆ ยิ่งกิเลสมาก ก็ยิ่งซึมเศร้ามาก แก้ทางกายภาพให้ตายก็ไม่มีทางแก้ได้ อย่างเก่งก็ทำให้กลายเป็นคนติดยา ติดหมอ ต้องพึ่งยา พึ่งพาคนอื่น แต่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองให้พ้นจากอาการนี้ได้

ในเรื่องความซึมเศร้า สามารถอธิบายด้วยธรรมบทอื่นได้ด้วยเช่น ปฏิจสมุปปบาท ก็มีทุกข์ โทมนัส โสกะ ปริเทวะ ซึ่งเป็นอาการของทุกข์และความเศร้าโหยหา หดหู่เช่นกัน

…โรคซึมเศร้าในมุมมองผมก็คือกิเลสตัวหนึ่งที่มันกำลังแสดงอาการอยู่นั่นเอง ในมุมของธรรมะเราจะแก้ด้วยหลักอริยสัจ คือ มันทุกข์ในสิ่งใด มันทุกข์เพราะอะไร จะดับทุกข์อย่างไร แล้วจะปฏิบัติอย่างไร

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเหมือนกินยา และไม่หายในทันที เพราะต้องใช้ความเพียรต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง จึงเป็นทางแก้ที่แน่นอนแต่เห็นผลได้ยาก พอเห็นผลได้ยาก คนก็บอกว่ามันไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็กลับไปแก้ปัญหาด้วยวิธีโลกๆ แล้ววนเวียนอยู่กับทุกข์นั้นตลอดกาล

เหตุแห่งทุกข์ อยู่แห่งไหน ใครใคร่รู้

เป็นอีกบทความหนึ่งที่นอนๆอยู่แล้วนึกได้ จริงๆก็ตั้งหัวข้อไว้สักพักแล้ว แต่บ่ายนี้นอนคิดอะไรไปเพลินๆก็เผลอหลับไป สุดท้ายก็ได้หลายๆประเด็นที่จะมาพิมพ์บทความจากฝันนี่แหละ ประมาณว่าอ่านหนังสือจบแล้วเอาไปฟุ้งต่อในฝัน วิธีนี้ก็สะดวกดีเหมือนกัน

อันความว่าเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัยนั้น เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะใกล้ เพราะเราเจอทุกข์กันอยู่ทุกวัน เหตุแห่งทุกข์มันก็อยู่แถวๆนั้นแหละ แต่ความจริงแล้วมันช่างไกลเหลือเกิน การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แม้จะเพียรพยายามก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเจอได้ง่ายๆ เพราะเราไม่สามารถหักดิบปฏิบัติอธิศีลที่ยากๆได้ตั้งแต่แรก จึงต้องค่อยถือศีลไปเรื่อยๆจนสามารถเห็นเหตุแห่งทุกข์ที่ลึกลงไปเรื่อยๆได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย งดงามไปตามลำดับ การปฏิบัติก็เช่นกัน เราไม่สามารถที่จะได้คำตอบสุดท้ายแต่แรกได้ จึงต้องเพียรพยายามทำไปตามโจทย์ ตามฐาน ตามบารมีที่มี ลองมาอ่านกันดูจากบทความที่จะมาช่วยกันค้นหาเหตุแห่งทุกข์นี้

อ่านต่อได้ที่บทความ : เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat