Cyber bully กรณีศึกษา กระแสน้ำปัสสาวะรักษาโรค

เคยได้ยินคำนี้มาสักพัก จากในเฟสบุคนี่แหละ ก็มีเพจดัง ๆ ที่เขาพากันต่อต้านเจ้า Cyber bully หรือการไปขยี้ ขยำ ย่ำ เหยียดผู้ที่ตนเห็นว่าจะสามารถข่มได้

ผู้ที่โดน Cyber bully มักจะเป็นผู้ที่ตกเป็นข่าว หรือเรื่องที่ตกเป็นข่าว แม้เป็นถึงระดับคนใหญ่คนโตของประเทศก็หนีไม่พ้น

Cyber bully เป็นสภาพที่แสดงความตกต่ำของจิตวิญญาณแบบหนึ่ง ซึ่งโดยปกติในชีวิตแล้ว การที่ใครสักคนหนึ่งจะไปแสดงอาการ ท่าทาง วาจาที่ไม่ดีตีต่ออีกฝ่ายนั้น มักจะไม่เกิดบ่อยนัก แต่ในโลก social สังคมแคบลง การสื่อสารไวขึ้น ทำให้เกิดการแสดงออกบ่อยขึ้น คือปกติกิเลสเหล่านั้นก็มีอยู่แล้ว แต่พอมีช่องทางให้แสดงออก ให้ปล่อยออก มันก็ไหลออกมาโดยธรรมชาติของกิเลสที่จะแส่หาสิ่งใด ๆ มาเสพ ในกรณี ของ Cyber bully ภาพรวมก็คือความสะใจที่ได้ข่ม ได้แสดงออก ได้แสดงตัวตน ได้อวดความรู้ ได้แสดงตนว่าเป็นผู้ปราบมาร เป็นต้น.

Cyber bully มักจะเกิดจากสาเหตุหนึ่ง คือความเห็นต่าง และมีองค์ประกอบ คือมีผู้นำที่จะถล่ม ความเห็นต่างนั้น ๆ เชื่อไหมว่าตัวตั้งตัวตี ที่เคยเห็นว่าไม่สนับสนุน Cyber bully กลับเป็นตัวตั้งตัวตีที่มีส่วนในการโน้มน้าวผู้ที่เห็นต่าง ให้มาแสดงพฤติกรรม Cyber bully

จากกรณี กระแสน้ำปัสสาวะรักษาโรค ซึ่งผมก็อยู่ในห้อง มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะบำบัดฯ ตามที่เป็นข่าวและรู้กันโดยมากว่านี้คือห้องที่รวบรวมผู้ใช้น้ำปัสสาวะบำบัดมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

แต่เมื่อเกิดกระแสข่าวในสังคมขึ้นมา สมาชิกใหม่จำนวนมาก ก็สมัครเข้ามาในกลุ่ม แต่เขาไม่ได้สมัครเข้ามาเพื่อจะศึกษา จากที่สังเกตุดูมาระยะหนึ่ง โดยมากจะเข้ามาเพื่อแสดงทัศนคติที่แตกต่างของคน ซึ่งจะมีน้ำหนักไปที่การเหยียดหยาม ดูถูก ชิงชัง รังเกียจ หรือนั่นก็คือลักษณะหนึ่งของ Cyber bully

ซึ่งจริง ๆ แล้ว การเห็นต่างไม่ได้หมายความว่าต้องมาทำการ Cyber bully หรือต้องไปขยำ ขยี้ผู้ที่เห็นต่าง แต่อย่างใด พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง เมื่อบัณฑิตหรือผู้มีปัญญา รับทราบถึงความแตกต่าง ย่อมไม่เพ่งโทษ ถือสา หรือเบียดเบียนทำร้ายใคร

ต่างจากคนพาลซึ่งมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หมายถึง เมื่อคนพาลได้ที คือเข้าใจว่าตนดีกว่า ตนเหนือกว่า ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจที่ถูกหรือผิดก็ตาม คนพาลจะเพ่งโทษความเห็นอื่น ๆ ที่แตกต่างจากตน พาลน้อยก็เพ่งโทษในจิต พาลมากก็ออกทางวาจา ในกรณีของ Cyber bully ก็เป็นขีดพาลมาก และพาลที่สุดคือทางกาย คือทำร้ายร่างกายกัน

ในกรณีของผู้ที่ทำการเสี้ยม หรือทำสื่อให้คนอาการอยากจะขยี้ ขยำฝ่ายอื่นด้วย กาย วาจา ใจ เช่น ถ่ายคลิปออกมาเพื่อที่จะแสดงความถูกต้อง และข่มผู้อื่นในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิดในเชิงของความรู้ แต่ถ้าทำให้คนเกิดอคติ ความเกลียด ความชัง หรือทะเลาะกัน ก็เป็นบาป ผู้ที่ทำสื่อ ก็เป็นผู้นำคนทำบาป วิบากบาปก็จะมาก เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนที่มาก

ในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกใด ๆ ก็ต้องตรวจตัวเองดี ๆ ว่ามีผลดีกับใคร ทำไปแล้วเกิดผลยังไง ลดโลภ โกรธ หลง รึเปล่า หรือยิ่งเพิ่มความโลภ โกรธ หลง เข้าไปอีก

ความหลงเบียดเบียนอย่างไร ความหลงยึดว่าฉันถูก แกผิดนี่แหละ คือเหตุเบื้องต้นของ Cyber bully เพราะถ้าหลงว่าตนถูกเมื่อไหร่ คนที่เห็นต่างเป็นผู้ร้ายทันที ตัวเองกลายเป็นพระเอกทันที ทีนี้ผีเข้าแล้ว เหมือนผีไปสิงให้ไปปราบผู้ร้าย แต่ที่จริงตัวเองเป็นผู้ร้ายไปเบียดเบียนเขาก็ยังไม่รู้ตัว อันนี้มันก็น่าเห็นใจ ความหลงตัวหลงตนนี่มันเป็นภัยจริง

ในฝ่ายที่ถูก Cyber bully นั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ก็รับวิบากกรรมที่เคยทำมาด้วยใจผาสุกให้ได้ ก็ต้องเห็นใจเขา ถ้าเขามีปัญญารู้ว่าสิ่งใดเบียดเบียน เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น เขาก็จะไม่ทำ เหมือนกับเราที่เคยไปทำอย่างนี้แหละ มาหลายต่อหลายชาติ ชาติที่เราไม่มีปัญญา ไม่รู้อะไรลึกซึ้ง ก็แห่ไปตามกระแสอย่างนี้แหละ แบบนี้แหละวัฏสงสาร มันน่าสงสารไหมล่ะ หลงทำบาปวนเวียน ขอทุกท่านจงเห็นใจ และวางใจ

ท่องเที่ยว ท้าทาย อบายมุข

การท่องเที่ยวนี่ยิ่งท้าท้าย ยิ่งเบียดเบียนมาก อ่านข่าวแล้วเจอเนื้อหาที่ว่าน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ละลายแล้วเจอศพแช่แข็งกว่า 300 ศพ

เขาก็ไปท้าทายกัน ท้าทายไปก็ไม่ได้อะไร ภูเขามันก็อยู่ของมันแบบนั้น การที่จะมีคนไปเหยียบหรือไม่มี ไม่มีผลอะไรกับมันเลย

แต่เขาก็เอาชีวิตไปทิ้งกัน เสี่ยงไหมก็เสี่ยงมาก เขาก็เอาไปเสี่ยงกัน ไปท้าทาย เพราะหลงว่ามันจะดี มันจะสุข มันจะเลิศยอด สุดท้ายก็ตายหายสาปสูญกันไป

เบียดเบียนตัวเองและญาติมิตรไปแล้วยังไม่พอ ยังลำบากคนอื่นอีก เพราะค่ากู้ศพแต่ละศพนั้นมีต้นทุนเป็นหลักล้านในการดำเนินงาน

ก็อย่าไปหลงตามโลกกันนักเลยว่าที่นั่นดี ที่นี่ดี ที่นั่นท้าทาย อร่อย สนุก ฯลฯ มันลองไม่หมดโลกหรอก ทำจนตายก็ลองไม่หมด เหลือทิ้งไว้แต่ปัญหาและตัณหาเท่านั้นแหละ

ท่องเที่ยวทั่วไปก็พอกันนั่นแหละ ไปก็มีแต่กิเลส บำเรอกาม ผ่านการกิน ดู ชม ฟัง ฯลฯ คือทำแล้วกิเลสเพิ่มอย่าไปเลย

แต่ถ้าไปทำอะไรแล้วกิเลสลด อันนี้มันก็น่าลอง แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่สนใจหรอก ใครจะไปล่ะ ไม่สนองกิเลส ไปขัดเกลาอัตตา ใครจะไป … ก็มีแต่คนต้องการพ้นทุกข์นั่นแหละ

กูทำมา(แค่นั้น…)

ช่วงก่อนหน้านี้สักพักคำว่า “กูทำมา” ค่อนข้างฮิตในหมู่จิตอาสา พวธ. ซึ่งผมเองก็ชอบอยู่เหมือนกันเพราะมันชัดดี แถมน้ำหนักก็ได้

ต่อมาก็เอามาประยุกต์ใช้เอง ซึ่งตัวผมสนใจฝึกจุลศีล ข้อ ๒. เป็นพิเศษ (รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้…)

พอเกิดเหตุการณ์อะไรที่มันไม่ได้ดั่งใจ ก็เอามาประยุกต์พิจารณาได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เขาทำไม่ได้ดีอย่างใจเรา เขาไม่ทำดีเท่าที่เขาควรจะทำได้ ,ต่อเรา ต่อผู้อื่น

พอเจอเหตุการณ์แบบนี้กิเลส “โลภ” มันจะออกอาการ มันจะอยากได้ดีเกินจริง อยากให้ได้เกินที่ทำมา ให้เราได้เกินจากที่ควร ให้เขาได้เกินจากที่ควร

มันก็เลยต้องมีกรรมฐานไว้พิจารณาเพื่อสกัดความโลภ(ยึดดีเกลียดชั่ว) คือ “กูทำมา(แค่นั้น…)” … คือทำดีมาเท่านั้น จะหวังอะไรมากมาย ก็ทำมาแค่นั้น มันได้เท่าที่เห็นมันก็ถูกแล้ว จะได้สังวร สันโดษ ใจพอ พอใจกับสิ่งที่ได้ ไม่โลภมาก

แล้วมันก็ไม่ได้ไปโทษใคร เพราะดีที่เกิดขึ้นมันก็ดีได้เท่าที่เราเคยทำมานั่นแหละ

พอมันเริ่มเข้าใจ ก็จะเกิดฉันทะ(ความยินดี พอใจ เต็มใจ) ที่จะทำดีเพิ่ม เพราะสิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดดีที่มากกว่าเดิมได้ ก็คือการทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ

…ก็เป็นการประยุกต์ใช้ธรรมะจากครูบาอาจารย์แบบหนึ่ง จริง ๆ ก็มีหลายกระบวนท่าเลย ที่ประยุกต์มาใช้ แต่ก็ไม่เคยแชร์ ไว้เรียบเรียงได้ก็จะลองเอามาพิมพ์ดูครับ

นาบุญ

ช่วงหลายวันก่อนมีประเด็นคุยกับพี่น้องร่วมปฏิบัติธรรมกันอยู่บ้างในเรื่องที่คนเขาไปบำเพ็ญ ทำดีกันในที่ต่าง ๆ กัน

คำถามก็คือทำไมคนถึงไม่มาร่วมกันทำดีในที่ที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งที่มีครูบาอาจารย์พูดกำชับอยู่แล้วว่าที่นั่นที่นี่ควรทำก่อน…?

ก็จริงอยู่ที่ว่าคนเราทำดีที่ไหนก็ได้ มันก็จริง แต่มันก็ได้ผลไม่เท่ากัน เหมือนปลูกข้าวในที่ดินดีกับปลูกข้าวในที่แห้งแล้ง มันก็ได้ปลูกเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันได้ผลไม่เหมือนกัน

คืออาจจะเหนื่อยเท่ากัน แต่ผลดีเกิดไม่เหมือนกัน แล้วเราจะเลือกทำดีที่ไหนล่ะ ดีที่เกิดผลสูงสุด หรือดีที่เกิดทั่ว ๆ ไป

ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่ทุกคนจะเข้าถึงดีที่สูงที่สุดได้ แต่ละคนจะมีขอบเขตที่ตนปฏิบัติได้ โดยถูกกันจากวิบากกรรมตนเองบ้าง กิเลสตนเองบ้าง ไม่ให้มี “สิทธิ์” เข้าถึงพื้นที่นาบุญแห่งนั้นได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าถึงสิทธิ์นั้นจะทำดีได้มากกว่า เขาเพียงแค่ได้โอกาสทำดีได้ผลดีมากกว่า ซึ่งนั่นก็ดี แต่ถ้าหากเขามัวแต่ปลูกหญ้าในนาบุญ มันก็จะไม่ได้ข้าว ทำให้โอกาสเหล่านั้นเสียเปล่าไปเรื่อย ๆ

การอยู่ในที่ที่ดีมันก็เป็นดาบสองคม คือถ้าทำดีไม่เต็มที่ก็จะเสื่อมเร็ว เพราะทุกวันก็ต้องกินต้องใช้ ก็เอาไปให้กิเลสกินหมด กุศลกรรมที่ทำมามันก็หมดเร็ว พอถึงจุดนึงหมดแล้วมันก็ต้องร่วง ต้องหลุดออก ไปต่อท้ายแถวใหม่

ไปต่อไกล ๆ นู้นนน ทำดีรอบ ๆ ไป ทำดีเต็มที่ สุดท้ายก็ได้เข้ามาใหม่ ก็อยู่ที่ว่าตอนได้สิทธิ์นั้น ทำดีคู่ควรกับสถานที่/โอกาส/คน ฯลฯ นั้นหรือไม่

ส่วนตัวผมใครจะทำดีที่ไหนยังไงก็เข้าใจเขานะ เพราะเราก็เคยมีประสบการณ์ทั้งสองแบบนั่นแหละ คือทำดีในที่ห่างไกลความเจริญทางธรรม(นาบุญ) กับทำดีในนาบุญ มันก็แตกต่างกัน แต่มันก็เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น ว่าโลกนี้มันก็พร่อง ๆ แบบนี้แหละ

มันจะไปเอาดีที่สุดเลยทันทีไม่ได้ มันต้องกำจัดขวากหนาม(กิเลส/วิบากกรรม) ตามทางไปก่อน จะไปตะลุยดงหนามมันจะเจ็บมาก ทรมานมาก สุดท้ายมันก็ดีได้เท่าที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ

ทำบุญล้างซวย

ความเห็นผิดแบบมหภาคของชาวไทยเลยก็คือ เห็นว่าบุญเป็นเหมือนโชค ทำบุญแล้วจะมีผลไปเพิ่มโชค คือทำบุญมากมีโชคมากอะไรแบบนั้น

เมื่อชีวิตพบกับความซวยซ้ำซวยซ้อนก็เข้าใจว่าตัวเองดวงตก วิธีการทั่วไปก็คือไปทำบุญแบบที่เขาเข้าใจนั่นแหละ ทำแล้วก็เข้าใจว่าตัวเองได้โชคเพิ่ม จะโชคดีขึ้น จะพ้นเคราะห์อะไรแบบนี้

จริง ๆ แล้วความซวย มันไม่ได้เกิดจากบุญหมดหรือโชคหมด แต่เกิดจากกรรมอันมีกิเลสเป็นตัวบงการ เมื่อกิเลสสั่ง สิ่งที่ทำนั่นก็ย่อมชั่ว จึงกลายเป็นกรรมชั่วให้ต้องมารับผลซวย ๆ อย่างที่เห็นกัน

ทีนี้ทำบุญล้างซวยมันกลายเป็นความเชื่อชนิดฝังหัวไปแล้วไง คนก็เอาแต่ไปทำบุญล้างซวย และซวยยิ่งกว่าคือล้างผิด เหมือนคนเหยียบขี้แต่ไม่ล้าง กลับพยายามเอาน้ำหอมมาฉีด

เพราะจะล้างซวยกันจริง ๆ ก็ต้องล้างเหตุแห่งความซวย ก็คือล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความซวยนี่แหละ มันถึงจะหายซวย มันถึงจะสะอาด ไปล้างผิดที่อีกกี่ชาติก็ไม่หายซวย

อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆแต่ผมเชื่อว่า 99.99 % หรือมากกว่าของชาวพุทธในประเทศไทยยังมีความเห็นผิดเช่นว่า ทำบุญล้างซวย

หรือถ้าเอาให้ถูกตามพยัญชนะแบบเดิม ก็คือ ทำบุญ(ล้างกิเลสเหตุแห่งความชั่ว) ล้างซวย( เมื่อไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องรับผลซวย ๆ ) แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็ถูก แต่ถ้าเข้าใจแบบอื่นก็ผิด … แต่จะเห็นว่าความเห็นแบบนี้ผิดก็ไม่มีปัญหา เพราะคนเห็นผิดก็ต้องเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกเป็นธรรมดา เอาเป็นว่าก็ทดลองศึกษากันไปว่าทำแบบไหนมันจะพ้นทุกข์ได้จริง

รักมาก ตายง่าย

จากข่าว : พิษรักแรงหึง ! เห็นเมียยืนคุยกับช่างทาสี ชักปืนยิงแสกหน้า ดับรวม 3 ศพ

คนที่ฆ่ากันเพราะแรงหึงนี่เรียกว่าเป็นภาพที่ชัดที่สุดของความรักแบบโลกีย์ เพราะเมื่อคนรักมาก ๆ เอาเขามาเป็นของเรามาก ๆ จะหวงมากจนไม่ยอมให้ใครแตะ และไม่ยอมให้เปลี่ยนไปจากเดิม(ที่เคยรัก) เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่หนักหนา เจอหมาหวงก้างยังดีซะกว่า เพราะถึงไปแย่งก้างหมา มันก็ไม่ถึงกับฆ่าเรา

เราอาจจะคิดกันไปว่า ฉันไม่เป็นถึงขนาดนี้หรอก แค่คิดนี่มันก็คิดได้ แต่กิเลสมันไม่คิดด้วย เพราะกิเลสนี่มันจะพาให้หลงติดหลงยึดแบบไม่มีขอบเขต คือเคยคิดไว้ว่าติดเท่าไหร่ มันจะติดมากขึ้นไปกว่านั้น และจะโตยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าเดิมแบบไม่รู้จบ

มันก็เริ่มโตตั้งแต่คิดว่าเขารักเรา เขาให้ความสำคัญกับเรา เขาเป็นของเรานี่แหละ พอได้ดั่งใจก็สะสมความยึดมั่นถือมั่นไปเรื่อย ๆ พอไม่ได้ดั่งใจก็ผูกโกรธ จองเวรจองกรรม พยายามจะเอาชนะกันมากขึ้นอีก

ความรักแบบโลกีย์จึงเป็นสภาพของการเอาชนะกันที่ซ้อนอยู่ในความรัก คือพยายามทำให้เขามารัก พยายามให้เขาเป็นของเรา ให้ได้ดั่งใจเรา ใช้กาม ใช้อำนาจที่มีล่อลวงอีกฝ่าย ทีนี้มันก็จะโตขึ้นไปทุกภพทุกชาติ ชาตินี้อาจจะไม่จัดจ้าน แต่ก็จะเก็บกดสะสมอารมณ์ไว้เรื่อย ๆ เป็นความอยากที่ฝังลงเป็นความยึดและรอคอยให้อีกฝ่ายมาสนอง

สุดท้ายก็กลายเป็นความกระสันใคร่อยากต้องการอีกฝ่ายมาบำเรอให้ตนสุขสมบูรณ์แบบที่สุด ให้ตนได้มากที่สุด ตนต้องได้คนเดียว ห้ามคนอื่นได้แบบตน ถ้าคนอื่นมาแย่ง ก็ฆ่ามันเลย ถ้าตนไม่ได้ คนอื่นก็ต้องไม่ได้

จริง ๆ การมีคู่ก็ไม่ใช่อะไรที่ลึกลับซับซ้อนหรอก มันก็เป็นเพียงแค่การอยากเอาชนะ ควบคุม ครอบครองอีกฝ่าย เพื่อสนองตัณหาตนเองเท่านั้นเอง

ศรัทธา?

วันนี้ไปซื้อของที่ตลาดนัดจตุจักร เดินผ่านร้านแสตมป์ เห็นมีชุดรวม 9 รัชกาล ซึ่งราคาก็ไม่ใช่ถูก ๆ ชุดหนึ่งเขาขาย 1,200 บาท

ช่วงนี้คงจะถือเป็นช่วงขาขึ้นของนักเก็งกำไร เพราะเป็นโอกาสที่จะขายของให้กับผู้ที่ศรัทธาได้ง่าย เพราะโดยมากแล้วคนมักจะสนใจเก็บสิ่งที่จับต้องได้เป็นหลัก

ผมจึงอยากเสนอแนะให้ผู้ที่คิดจะเก็บบางสิ่งที่จะใช้ระลึกถึงผู้ที่เคารพรักในช่วงนี้ อย่าไปหลงกลกิเลส อย่าประมาทมัวเมา เพราะถ้าท่านเผลอตัวไป ท่านอาจจะกลายเป็นนักเก็งกำไรอีกคนก็ได้

ถ้าท่านอยากได้รูปที่เป็นกระดาษ ท่านก็ตัดเอาตามหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้ก็ได้ หรือถ้าอยากได้เป็นวัตถุที่มั่นคงแข็งแรง เหรียญ 25 สตางค์ก็เป็นทางเลือกที่ดี

เราไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งที่หายากหรือสวยงาม เพราะคุณค่ามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณค่าแท้จริงคือการระลึกถึงบุคคลที่ควรบูชา ถ้าท่านอยากให้มันแปลกมันสวย ให้มันมีคุณค่าทางการค้า สิ่งที่เกินมาเหล่านั้นคือกิเลสของท่าน

อย่าเอากิเลสมาปนเปื้อนไปกับศรัทธาเลย มันจะทำให้ศรัทธานั้นด่างพร้อย มัวหมอง เสื่อมค่าลงไปตามกิเลสที่ท่านมี

โรคซึมเศร้า จำเลยรักในสังคม

ก่อนหน้านี้ผมได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาประมาณหนึ่ง ซึ่งสังเกตว่าสังคมนั้นไม่ได้แก้ปัญหาของโรคนี้ที่ต้นเหตุ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการทางจิต แต่จากที่ศึกษามานั้น มักจะถูกบำบัดโดยการให้ยาหรือรับการปรึกษา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดในจิต มันมีความผิดปกติในจิตใจ มีสิ่งแปลกปลอมในจิตใจ

ผมจะสรุปก่อนเลยว่า ความรู้ในปัจจุบันไม่มีวันที่จะรักษาโรคนี้หาย แต่มันจะเพิ่มมากขึ้น มีคนเป็นมากขึ้น รวมทั้งจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และโรคนี้มีความสัมพันธ์กับกิเลสอย่างชัดเจน

แต่วิธีรักษาโรคนี้มีมาตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน ในหลักพุทธศาสนา ธรรมทุกบทมีไว้เพื่อกำจัดทุกข์ทั้งสิ้น โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน

จะยกนิวรณ์ ๕ ขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย นิวรณ์นั้นไม่ได้เจอแค่ตอนเรานั่งสมาธิ นิวรณ์ของการนั่งสมาธิก็คือนิวรณ์ของการนั่งสมาธิ เมื่อเราพยายามจะแสวงหาความผาสุกในเรื่องใด เราก็จะเจอกับนิวรณ์ในเรื่องนั้นๆ ในโจทย์นั้นๆ

ความรักก็เช่นกัน

เมื่อมีความใคร่อยากเสพอยากได้ความรักมากขึ้น(กามฉันทะ) เมื่อไม่ได้ก็จะโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจมากขึ้น (พยาบาท) เมื่อไม่ได้สมใจเข้าหนักๆก็ตีกลับเกิดเป็นสภาพหดหู่ เศร้าหมอง (ถีนมิทธะ) แล้วก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย (อุทธัจจะกุกกุจจะ) เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง(วิจิกิจฉา)

สภาพก็เหมือนกับเด็กคนหนึ่งอยากได้ของเล่น แล้วก็ร้องไห้โวยวายลงไปดีดดิ้นที่พื้นสุดท้ายก็ยังไม่ได้ ก็งอนพ่องอนแม่ เสียใจคิดฟุ้งซ่านจะประชด จะฆ่าตัวตาย อะไรแบบนี้

โรคซึมเศร้า คืออาการของถีนมิทธะ ที่รุนแรง ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามปริมาณกิเลสองค์รวมในเรื่องนั้นๆ ยิ่งกิเลสมาก ก็ยิ่งซึมเศร้ามาก แก้ทางกายภาพให้ตายก็ไม่มีทางแก้ได้ อย่างเก่งก็ทำให้กลายเป็นคนติดยา ติดหมอ ต้องพึ่งยา พึ่งพาคนอื่น แต่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองให้พ้นจากอาการนี้ได้

ในเรื่องความซึมเศร้า สามารถอธิบายด้วยธรรมบทอื่นได้ด้วยเช่น ปฏิจสมุปปบาท ก็มีทุกข์ โทมนัส โสกะ ปริเทวะ ซึ่งเป็นอาการของทุกข์และความเศร้าโหยหา หดหู่เช่นกัน

…โรคซึมเศร้าในมุมมองผมก็คือกิเลสตัวหนึ่งที่มันกำลังแสดงอาการอยู่นั่นเอง ในมุมของธรรมะเราจะแก้ด้วยหลักอริยสัจ คือ มันทุกข์ในสิ่งใด มันทุกข์เพราะอะไร จะดับทุกข์อย่างไร แล้วจะปฏิบัติอย่างไร

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเหมือนกินยา และไม่หายในทันที เพราะต้องใช้ความเพียรต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง จึงเป็นทางแก้ที่แน่นอนแต่เห็นผลได้ยาก พอเห็นผลได้ยาก คนก็บอกว่ามันไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็กลับไปแก้ปัญหาด้วยวิธีโลกๆ แล้ววนเวียนอยู่กับทุกข์นั้นตลอดกาล

เรื่องลวงโลกอะไรบ้างที่เข้าใจผิดกันมานาน

จากกระทู้ : เรื่องลวงโลกอะไรบ้างที่เป็นที่เข้าใจผิดกันมาเป็นเวลานาน

ชอบกระทู้แบบนี้นะ เปิดประเด็นมาดี แต่ถ้าเราไปตอบมันจะหลุดโลกไปเลย 55

เรื่องที่เราลวงโลกอยู่นี่ก็พยายามจะลดๆลงไป ส่วนเรื่องที่โลกลวงเรานี่ก็เยอะเลย ยิ่งถ้าได้มาศึกษาพุทธนี่ยิ่งแบบ… อธิบายเป็นคำก็ยาก

เอาเรื่องเด็ดๆ แล้วกัน เช่น เราต้องมีคู่!, เราต้องกินเนื้อสัตว์!, เราต้องรวย!, เราต้องประสบความสำเร็จ(แบบโลกๆ)! จึงจะมีความสุขอะไรแบบนั้น

วันนี้นึกหัวข้อได้เรื่องหนึ่งตอนบ่ายๆ คือ “เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง” กะว่าจะเอาไปใส่ในหมวดคู่มือคนโสดในเพจละนะ…

ที่คิดจะพิมพ์เรื่องนี้เพราะมันลวงจริงๆ โลกเขาลวงให้เราหลงว่ามันเป็นสิ่งควรมีควรได้ควรแสวงหา ไอ้เราก็หลงเมาตามเขาอยู่กว่า 30 ปี กว่าจะโงหัวขึ้นมาได้

ในฐานความรู้ที่ผมมีตอนนี้มันก็สุดแค่นี้แหละ จะไปพิมพ์เรื่องที่มันยากกว่านี้มันก็เกินฐานะไป เอาเรื่องที่ตัวเองเข้าใจและมั่นใจที่สุดก็เรื่องโสดเรื่องคู่นี่แหละ ตอนนี้กลายเป็นเรื่องเด่นที่ถนัดแล้ว

ส่วนตัวแค่คิดว่าเรื่องกิเลสในคู่ครองนี่ก็เรียกได้ว่าพอใช้ความรู้นี้แบ่งปันได้ชั่วชีวิตแล้ว เพราะคงยากที่จะมีคนพ้นด่านนี้มาได้ (พวกหมดโควต้านี่ไม่นับว่าผ่านนะ)

แต่ก็ยังรู้สึกไม่พอใจ มันตันอยู่ฐานนี้นานละ เดี๋ยวจะพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้มีความรู้ใหม่มาพิมพ์บทความกัน แค่คิดก็น่าสนุกแล้ว…แต่ล้างกิเลสนี่ไม่สนุกเลย~ ทุกข์สุดทุกข์ กว่าจะสุขก็นู่นนนนน หมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ ไกลจัง~

อเจลสูตร

อเจลสูตร

ผมกำลังศึกษาเกี่ยวกับจิตตคฤหบดี และมีสมมติฐานว่าท่านน่าจะเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่พระอนาคามีอย่างที่เขาว่ากัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามีฆราวาสเป็นพระอรหันต์ ซึ่งในส่วนตัวผมก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะเป้าหมายของพุทธนั้นเป็นเรื่องของการหลุดพ้นจากกิเลส ใครก็หลุดพ้นได้ถ้าปฏิบัติจนถึงผล

กลับมาในอเจลสูตร เป็นสูตรที่ผมประทับใจเมื่อได้อ่าน อเจลกัสสปซึ่งเป็นสหายเก่าของจิตตคฤหบดี ที่ไม่ได้เจอกันนาน ไปแสวงหาปฏิบัติธรรมตามที่ตนเข้าใจ

เมื่อจิตตคฤหบดีได้พบก็ทักทายกันทั่วไป สักพักก็เปิดบทสนทนาด้วย เนื้อความประมาณว่า ที่ท่านไปปฏิบัติกว่า 30 ปี นั้นได้มรรคผลอะไรบ้างล่ะ

อเจลกัสสปก็ตอบว่า ไม่ได้อะไรนอกจากเป็นชีเปลือย หัวโล้น สลัดฝุ่น…

ว่าแล้วอเจลกัสสปก็ถามกลับไปว่าแล้วท่านล่ะ จิตตคฤหบดี ก็ตอบไปว่า เราไม่มีกามแล้ว ไม่มีอกุศลแล้ว บรรลุฌาน ๔ พระพุทธเจ้าพยากรว่าท่านไม่มีสังโยชน์ใดที่จะเป็นเหตุให้กลับมายังโลก (โลกียะ) อีกแล้ว (ในส่วนตัวผม แค่เนื้อความตอนนี้ก็มากพอที่จะยืนยันว่าเป็นอรหันต์แล้ว)

ฟังแล้วอเจลกัสสปก็ประทับใจ เกิดอยากบวชขึ้นมาทันที จิตตคฤหบดีก็เลยพาไปพบกับหมู่สงฆ์จนได้บวชและปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ในที่สุด… จบสูตรนี้

…..ชอบสูตรนี้ตรงที่ว่า ๑. เป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันแล้วพากันไปเจริญ ในสูตรนี้ไม่ได้มีการพูดข่มใดๆ เลย เพียงแค่รับฟังกันตามความเป็นจริง
๒. ถามกันตรงๆ ว่าปฏิบัติธรรมมานานแล้วมีมรรคผลอะไรนี่แหละ …. ในปัจจุบันยอมรับเลยว่า การจะไปถามใครแบบนี้เขาจะโกรธเอา แต่ในสูตรนี้นี่เพื่อนเก่าไม่ได้เจอกันมานานมาก เรียกว่าห่างไปนาน มาเจอกันก็ยังถามได้ ผมว่ามันดีนะ จริงๆก็อยากถามเหมือนกันว่า แบบที่คุณๆ ปฏิบัติกันอยู่มันมีมรรคผล มีความวิเศษ มีอะไรดีๆ เกิดขึ้น ในชีวิตบ้าง… บางทีก็อยากจะถามไปเหมือนกันว่า ไอ้ที่ปฏิบัติอยู่เนี่ย มันลด โลภ โกรธ หลงอย่างไร? ….แต่ก็คงยาก ไปถามใคร เขาก็คงไม่ชอบใจ 555 (เพราะจะถามเจาะไปเรื่อยๆ) สมัยนี้ก็คงยกไว้แค่คนที่ถือวิสาสะกันจริงๆ เท่านั้น มิตรสหายทั่วๆไป นี่ผมไม่กล้า…

อีกสูตรหนึ่งที่มีน้ำหนักคือ ปุตตสูตร มีเนื้อความประมาณว่า หญิงชาวพุทธวิงวอนขอให้ลูกตัวเองเป็นอย่างจิตตคฤหบดีและหัตถกอาฬวกอุบาสก แต่ถ้าจะบวชก็ให้เป็นอย่างพระโมคคัลลานะ,พระสารีบุตร *ขอให้ลูกจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล …. นั่นหมายถึงที่ยกมาก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นอรหันต์ทั้งหมด