ส่งการบ้านวิชชาราม

ช่วงประมาณ 1 ปีมานี้ ไปคลุกอยู่กับสถาบันวิชชาราม ทั้งอาสาในส่วนของงานทั่วไปและในส่วนของนักศึกษาด้วย ซึ่งการศึกษาของสถาบันวิชชารามนี่เขาก็ศึกษาแบบนอกระบบทั่วไป เอาง่าย ๆ ว่าจะสอนให้ล้างกิเลสกันเป็นหลัก ผ่านการงานนั่นแหละ

แล้วในส่วนการบ้านนี่ก็เป็นส่วนสำคัญนะ คือจะว่าการบ้านก็ใช่ เป็นการแบ่งปันก็ใช่ เพราะเขาก็ไม่ได้บังคับให้ทำ ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ผลงานที่ผมได้ส่งไว้ก็มีมากมาย ตอนนี้เขาย้ายส่วนของการบ้านมาใส่ไว้ใน ห้องสมุดนักศึกษาวิชชาราม

ท่านใดสนใจก็กดเข้าไปดูได้ แม้จะไม่ได้มีงานบทความใหม่ ๆ แต่งานการบ้านเยอะมากเลยเชียวล่ะก็ไปติดตามกันดูได้ มีหลายท่านหลายเรื่อง ตั้งใจแบ่งปันความรู้ แบ่งปันประโยชน์กันทั้งนั้น

ไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร?

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วชีวิตมันจะดีขึ้นอย่างไร ในเมื่อความรู้เดิม ๆ ที่เคยได้รับมาเนื้อสัตว์ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งดีเสียด้วยซ้ำ แล้วการเลิกเสพสิ่งที่สังคมเข้าใจว่าดีนั้น มันจะดีได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ที่ผมเคยพิมพ์ผ่านหลาย ๆ บทความมา ก็แจกแจงข้อดีในการเลิกกินเนื้อสัตว์ ข้อเสียในการกินเนื้อสัตว์มาก็มากก็มาย มาวันนี้เรามีเนื้อหาโดยสรุปจากอาจารย์หมอเขียว ให้เข้าใจได้ง่าย กับข้อดีของการเลิกกินเนื้อสัตว์ ที่ดีอย่างยิ่ง 3 ประการ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ลองรับชมกันดูเลย

อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง

เรียนรู้การสอนจากอาจารย์

การที่เราได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้ฟังความคิดเห็นของท่าน ได้พูดคุย ได้ซักถาม ได้ทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เลิศยอดที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะพึงมีได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในอนุตริยสูตร

ผมเคยได้เห็นหลายลีลาการสอนของอาจารย์ทั้งแบบปกติ จริงจัง ดุ ปล่อยวาง ทำเฉย ฯลฯ แต่ละครั้งก็เป็นสิ่งที่ประทับไว้ในใจ เพื่อการเรียนรู้และประโยชน์ของศิษย์

ครั้งนี้ไปค่ายพระไตรปิฎก สิ่งพื้นฐานที่ได้เรียนก็คือภาคทฤษฎี แต่ค่ายนี้จะมีภาคปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นมา คือกิจกรรมการทำบาราย ซึ่งต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการทำ

ภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้แสดงให้ได้เห็นและเรียนรู้อยู่เสมอ ผมไม่แปลกใจที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาและมาร่วมเสียสละเช่นนี้

ระหว่างที่ร่วมพูดคุยงานในส่วนวิชาการและสื่อ อาจารย์ได้เดินมาทักทาย และพูดคุย มีเนื้อความตอนหนึ่งประมาณว่า “การสอนงานคนนี่แหละจะทำให้บรรลุธรรมเร็วที่สุด” เนื้อหาขยายหลังจากนั้นคือการสอนนี่จะได้พบกับความไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เพ่งโทษกันไปกันมาระหว่างนักเรียนกับคนสอน ก็จะมีโจทย์ให้ได้ฝึกล้างใจกันไป

มาถึงตอนเย็น ผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนาม ทำบาราย ขนอิฐและเศษวัสดุ ลงในร่องน้ำ

ซึ่งตรงนั้นก็มีท่อน้ำที่เชื่อมระหว่างถนนสองฝั่ง อาจารย์ก็บอกให้เอาหินก้อนใหญ่ไปกันปากท่อไม่ให้มีเศษหินเล็ก ๆ หล่นเข้าไป

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าวางหินอย่างไร เพื่อที่จะได้ผลนั้น อาจารย์ก็มาวางให้ดู เราก็ทำตาม…

ผ่านไปสักครู่เล็ก ๆ ระหว่างลำเลียงหินและเศษวัสดุมาถม ผมก็ลืมไปเลยว่าเคยเอาหินไปวางบังปากท่อ ว่าแล้วก็เอาพวกเศษปูนที่รับมาทุ่มลงไป หมายจะให้เศษแผ่นปูนแตกละเอียด เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาตามทุบกันทีหลัง …อาจารย์เห็นดังนั้นก็ทักอย่างปกติประมาณว่า ค่อย ๆ วางก็ได้นะ เพราะแผ่นหินที่วางกันปากท่อไว้แตกหมดแล้ว

พอได้ยินดังนั้น เราก็นึกได้ ลืมสนิทว่าเคยทำไว้ ว่าแล้วก็ค่อย ๆ รื้อมาทำใหม่ วางให้ดีกว่าเดิม

… ดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม แต่ผมได้เรียนรู้อย่างมากมาย เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า การสอนคนต้องทำอย่างไร

นี่ขนาดผมทำลายสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ท่านก็ยังเฉย ๆ ยังเบิกบานได้อย่างปกติ แล้วก็ยังสามารถบอกสิ่งดีกับผมได้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยวางให้มันพังไปอย่างนั้น เป็นความสงบเย็นที่จะรับรู้ได้เมื่อได้ทำงานร่วมด้วย

ตอนที่จัดหินใหม่ให้เข้าที่ ผมก็ระลึกว่า เราก็ต้องใจเย็นแบบอาจารย์นี่แหละ ทำให้ได้แบบอาจารย์นี่แหละ แม้เราจะบอกจะสอนเขาไปแล้ว เขาทำไม่ได้ เขาทำผิด เขาทำพัง เราก็ต้องวางใจ แล้วก็ทำดีบอกสิ่งดีกับเขาไปเรื่อย ๆ ส่วนความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สอน มีเพียงการนำเสนอสิ่งดีเท่านั้นที่เป็นหน้าที่

สรุปก็ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี คือได้ฟังคำสั่งสอน และภาคปฏิบัติ คือทำให้ดู ให้เห็นเลยว่า ความดีนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะดีจริง ดีแท้ ดีไม่มัวหมอง (ความดีที่มัวหมอง คือดีที่มีอัตตา หรือมีความชอบ ความชังไปปน)

สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

กำลังศรัทธา สู่พลังใจ

กำลังศรัทธา สู่พลังใจ

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นเศษส่วนหนึ่งของบรรยากาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก นั่นคือความพร้อมใจกันของประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ จึงได้แนวคิดและเก็บมาสังเคราะห์ต่อในประเด็นของความศรัทธา

บ่ายวันที่ ๕ ผมเดินทางไปด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจากต้นทางก็ไม่ค่อยเห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่าไหร่ เท่าที่มองเห็นจะมีคนใส่เสื้อเหลืองราว ๆ 4 ใน 10 ส่วน แต่พอเริ่มเดินทางเข้าใกล้ที่หมายมากขึ้น ภาพรวมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป สีอื่นเริ่มหายไป เหลือแต่โทนสีเหลืองกับสีอื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่

เป็นเวลาบ่ายแก่ ๆ อีกวันหนึ่งที่อากาศร้อนมาก แต่ภาพที่เราเห็นคือมีคนจำนวนมากมาทนร้อนทนแดดกันกลางถนน ภาพเหล่านี้ก็ดูเหมือนภาพธรรมดา อาจจะคิดไปได้ว่า งานสำคัญเช่นนี้เขาก็ทนร้อนกันได้ แต่เมื่อพบคิดทบทวนไป ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องทำดีขนาดไหน ถึงจะมีบารมีขนาดที่ว่ามีคนจำนวนมากมายขนาดนี้ ยอมทนลำบาก ทนร้อน ทนหิว ทนความอึดอัด และอื่น ๆ อีกสารพัดที่ต้องใช้ความอดทน ถ้าเทียบกับตัวเราตอนนี้นี่จะให้คนสักคน เขาออกจากบ้านมาเจอเรายังทำไม่ได้เลย จะให้มาทนแดดทนลำบากอย่างนี้คงไม่ไหว พอระลึกทบทวนได้แบบนี้ก็รู้ซึ้งในบารมีของในหลวง ร.๑๐ มากขึ้น และพิจารณาต่อไปอีกว่า การที่คนจำนวนมากสามารถทนลำบากได้ขนาดนี้ ก็เพราะเขามีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ความร้อน ตลอดจนความไม่สบายต่าง ๆ กำลังใจที่มากผิดปกตินี้ เกิดจากความศรัทธาอย่างตั้งมั่น เชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ เชื่อมั่นในความเป็นไทย เป็นความแนบแน่นมั่นคงในจิตใจของประชาชนชาวไทยส่วนมาก

ถ้าให้แต่ละคนมาทนตากแดดรอคนที่เขาไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา เขาจะทำกันไม่ได้หรอก พอใจไม่ศรัทธา มันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีแรงจะพาร่างกายออกมา มันก็เป็นธรรมดาของคนที่ไม่ใส่ใจ จึงไม่มีพลังพิเศษ ไม่มีพลังใจที่เชื่อมถึงกัน แม้ในวันนั้นผมจะไม่สามารถเดินดูปริมาณผู้คนทั้งหมดได้ด้วยตา แต่ก็พอจะเห็นว่ามาก คือมากพอที่จะทำให้ผมเดินต่อเข้าไปยังส่วนที่ลึก ๆ ไม่ได้ คนมากมายมานั่งรอกันแน่นถนน ถึงแม้จะมีคนมาก ก็ยังมีการแสดงออกถึงน้ำใจที่มีให้กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลกันและกัน แบ่งปันน้ำ อาหาร ยา ที่นั่ง ที่หลบแดดแก่กันและกัน จะเห็นได้ว่างานพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นงานแห่งการแบ่งปัน ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปที่มารอรับเสด็จ จิตอาสา และเจ้าหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ

กลับมาที่เรื่องของศรัทธาในมุมมองของผม เมื่อผมได้เจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ผมก็มักจะนำมาวิเคราะห์ต่อ พอทบทวนดูแล้ว ศรัทธาเป็นธรรมที่ผมค่อนข้างจะมองข้ามไป ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ไม่ค่อยมีกลยุทธ์เรื่องศรัทธา แต่จะเน้นไปในด้านปัญญาเป็นหลัก เพราะมองว่า คนมีปัญญาก็คือคนที่ศรัทธานั่นแหละ แต่จากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ศรัทธานี่เขามีกำลังนะ มีกำลังขนาดนี้เลยนะ ขนาดที่ว่าเราไม่มีปัญญาจะทำได้นั่นแหละ ซึ่งในทางธรรม การใช้ศรัทธาในเบื้องต้นมันก็แน่นกว่า เพราะปัญญานี่มันฟุ้งพอสมควร แต่ศรัทธานี่จะไปทางแกร่ง แน่นใน ทำให้ภาพรวมชัดเจน ส่วนปัญญาคือความคม ความแม่นยำ ชัดเจน ฯลฯ กรณีเราช่วยคนในด้านเพิ่มศรัทธา เพิ่มกำลังใจ ก็จะทำให้เขาทรงตัวอยู่ได้นาน มีกำลังพอที่จะทนไปได้ระดับหนึ่ง  ส่วนการใช้ปัญญานี่มันก็เสี่ยงสูงเหมือนกัน เพราะถ้าไม่แม่นโอกาสพลาดก็เยอะกว่า ขาดก็ไม่ดี เกินก็ไม่ดี สำคัญคือต้องมีความรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งยากสุดยากในการประมาณการใช้ปัญญาในการช่วยคน แม้ผลจะเป็นที่น่าพอใจสุด ๆ ก็ตามที แต่บางครั้งกลยุทธ์เชิงปัญญามันไปไม่ได้ บางคนเขาเป็นสายศรัทธา เขาก็ไม่รับคลื่นฝั่งปัญญาเท่าไหร่ ถ้ามองในมุมของตัวเอง ผมจะใช้ปัญญาแก้ปัญหาเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ใช้ศรัทธาหรือกำลังใจในการผ่านปัญหาที่เข้ามาสักเท่าไรนัก

เรื่องตัวเองก็พอเอาตัวรอดไปได้ระดับหนึ่ง พอมันเป็นเรื่องตัวเองมันก็ง่ายกว่า เพราะมันรู้เห็นได้ชัด พอเป็นเรื่องคนอื่นนี่มันยากมาก แม้ในหลาย ๆ ครั้ง ฟังดูก็พอรู้นะว่าเขาติดอะไร แต่การจะลงดาบเลยทันทีในสภาพที่ศรัทธาไม่พอนี่มันเสียหายอยู่เยอะเหมือนกัน คือถ้าใช้ปัญญากับคนอินทรีย์พละสูงมันก็ง่าย แต่พอเจอคนอินทรีย์พละต่ำ ศรัทธาต่ำ กำลังใจน้อย ไม่เชื่อใจกัน มันก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเขาเปราะบางเกินไป ผมเคยเจอกรณีแบบนี้หลายครั้ง ส่วนมากจะพลาด ก็นึกว่าเขาแกร่ง แทงไปปุ๊ป!…เหลวเป็นเต้าหู้หลอดเลย หลัง ๆ เลยคิดเลยว่า พอ ๆ ถ้าไม่ศรัทธากันมากพอไม่เสี่ยงแล้ว ทีนี้พอมาเห็นปรากฏการณ์ในวันที่ ๕ ก็ตั้งใจใหม่ ว่าจริง ๆ เราไปพัฒนาด้านศรัทธาบ้างก็ได้ ไม่เห็นต้องใช้ด้านปัญญาทั้งหมดเลย ศรัทธามาก่อนมันก็แกร่งดี ทนแดด ทนร้อน ทนหอก ทนดาบได้ดี มันก็น่าจะพัฒนาได้ไกลกว่า

แม้กับตัวเราเองก็ตาม การฝึกในด้านศรัทธา หรือเพิ่มกำลังใจ ก็จะทำให้ใจแกร่งขึ้น ทนขึ้น หนักแน่นขึ้นอีก ก็ไม่ได้เอาความแกร่งของใจไปใช้กับอะไรหรอก ก็ใช้กับกิเลสเรานั่นแหละ ส่วนที่ทนแดด ทนฝน ทนลำบากได้ อันนั้นกำไรทางโลก

สังคมต้องการคนดีที่กล้าหาญ

ธรรมจากอาจารย์หมอเขียวครับ ยากแสนยากเลย ท้าท้ายกิเลสทั้งสองด้าน จะแยกเป็น 5 มุมตามความเข้าใจนะครับ

1.ติเพราะชัง …เกลียดเขาก็ใส่ยับเลย บันดาลโทสะเต็มที่ กิเลสงอกงาม
2.ชมเพราะชอบ …เพราะเขาคิดเหมือนเรา เอามาเพิ่มพลังเรา เพิ่มอัตตากันให้เต็มบ้อง
3.ไม่ติเพราะกลัว …ไม่กล้าแตะ กลัวเขาสวน กลัวคนเกลียด
4.ไม่ชมเพราะกลัว …ไม่กล้าชม กลัวคนหาว่าโง่
5.ไม่ติไม่ชมเพราะโง่ …เข้าใจผิดว่า ผู้อยู่เหนือหรือผู้บรรลุคือผู้ไม่ติไม่ชม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสความประมาณว่า ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม …ส่วนพวกไม่ติไม่ชมนี่มิจฉาทิฏฐิ ฤๅษีชอบคิดแบบนั้น

ส่วนติชมที่ไม่เป็นไปตามกิเลสก็มี คือเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตนเองก็ได้แสดงสิ่งดี ผู้อื่นก็จะได้นำไปพิจารณา ที่เหลืออยู่ที่จิตของแต่ละคนแล้วแหละ ว่าข้างในคิดอะไร

เลวที่สุดในแผ่นดิน คือหากินบนคำว่า ช่วยเขา

(โศลก : พ่อครูสมณะโพธิรักษ์)

ผมนี่ซึ้งกับประโยคนี้จริง ๆ เพราะเป็นประโยคที่อธิบายชั่วในดี ที่แอบแฝง ซ่อนเร้น มารยา ตอแหล ฯลฯ ได้อย่างดี

เป็นภาวะของเทวดาเก๊ที่สร้างภาพขึ้นมาว่าจะช่วยเขา แต่ที่จริงตัวเองแอบเสพสุขอยู่ หรือสร้างองค์ประกอบขึ้นมาลวง ๆ ให้ดูเหมือนว่าตัวเองกำลังช่วยเขา แต่ที่จริงมีวาระซ่อนเร้นอยู่

เหมือนคนสูบบุหรี่แล้วอ้างว่าเอาภาษีไปช่วยชาติ แต่จริง ๆ ตนเองนั่นแหละอยากสูบบุหรี่

เหมือนคนที่ซื้อหวยแล้วบอกว่าเอาไปพัฒนาชาติ แต่จริง ตนเองโลภมากอยากลงทุนน้อยได้เงินมาก อยากถูกรางวัล

เหมือนคนที่หาเรื่องมากมายเพื่อที่จะมาปรึกษา พูดคุย แนะนำกับคู่ตรงข้าม แต่จริง ๆ ก็แอบชอบเขา

เหมือนคนที่สอนธรรมคนอื่น แต่จริง ๆ แอบเสพสุขที่มีคนยกย่อง ชื่นชม ศรัทธาตนเอง

เหมือนคนที่บวชมาในพุทธศาสนา ปากก็บอกว่าต้องการจะสืบสานศาสนา แต่มุ่งหน้ากอบโกยลาภสักการะและบริวาร

ถ้าจะเอาให้เหมือนจริง ๆ ก็นักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยการ ทำเหมือนว่าจะทำเพื่อประชาชนนั่นแหละ

…ตามความเข้าใจของผม ที่พ่อครูว่า “เลวที่สุด” เพราะมันมีสภาพชั่วเชิงซ้อน คือชั่วแล้วชั่วอีก หมายถึงที่จะทำมันก็ชั่วพออยู่แล้ว ยังจะไปหลอกคนอื่นว่าชั่วที่ตนทำนั้นมันดีเสียอีก

ไอ้ชั่วซับซ้อนแบบนี้นี่มันแก้ยาก แกะยาก อธิบายยาก เข้าใจยาก รู้ได้ยาก เพราะมันซ่อนไว้ในดี เวลาคนดีไปแตะเขาจะโดนกระแทกกลับมา เพราะมันไม่ใช่ชั่วตรง ๆ มันมีเกราะแห่งความดีตอแหลป้องกันอยู่ ดังนั้นมันจึงเป็นชั่วที่หนักหนามาก ปราบได้ยาก ทำลายได้ยาก ความชั่วที่ทำลายได้ยาก ชำระได้ยาก แก้ได้ยาก ก็ย่อมเป็นความเลวที่สุดเป็นธรรมดา

จริง ๆ มันก็มีภาวะลึก ๆ อีก แต่จะไม่ลงรายละเอียด เอาเป็นว่าใครสนใจก็ตามไปศึกษาหัวข้อธรรม เมถุนสังโยค ข้อ 7 กันต่อได้เลย

ถ้าผมไม่ได้เป็นโสด

สมัยยังหลง ยังเฉโกอยู่ มันก็เคยหาเหตุจะไปมีคู่เหมือนกัน กิเลสผมมันก็ฉลาดใช่ย่อย แต่ดีที่เราคบบัณฑิต เราเลยรอดมาได้

ผมเคยคิดนะว่า ชีวิตเรามีคู่ไปก็ปฏิบัติธรรมได้ ช่วยเผยแพร่ธรรมได้ แต่ความจริงที่ได้มันจะไม่เป็นแบบนั้นหรอก

นี่ถ้าทุกวันนี้ผมไม่ได้อยู่เป็นโสดนะ ผมไม่มีเวลามานั่งพิมพ์แบบนี้หรอก ก็ต้องเอาเวลาไปบำรุงบำเรอคู่ เอาสมองไปคิดเรื่องคู่ ดีไม่ดีมีลูก ต้องคิดเรื่องครอบครัวอีก ไม่ใช่แค่คิดนะ ต้องทำด้วย เวลาที่เรามีอิสระในการทำประโยชน์อื่น ๆ มันจะเสียไปหมดเลย มันจะไปเทลงที่คนไม่กี่คนนั่นแหละ แทนที่จะทำประโยชน์ได้เยอะ ๆ มันก็ได้แค่นิดเดียว เพราะชีวิตมันจะลำเอียง เทไปด้านที่ตนหลงชอบ

แล้วผมก็จะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากผมฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็บอกแล้วว่าอย่าไปมี ไม่มีประโยชน์กับความเจริญเลย ทีนี้ถ้าเราจะฝืนไปทิศตรงข้ามนี่มันนรกเลย มันเข้าใกล้ขีดอนันตริยกรรมได้เลย (อัญญสัตถารุทเทส) คือได้ฟังธรรมที่ถูกแล้ว ได้เจอหมู่คนดีที่ถูกแล้ว เรายังหลีกยังหนีออกไปมีคู่ ไปสู่อธรรม มันจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ จะเริ่มตกต่ำ ห่างธรรม ธรรมที่เคยมีก็เสื่อมถอย เวียนกลับ ธรรมที่มีก็จะเริ่มบิดเบี้ยว ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องทนทุกข์รับวิบากกรรมไป

เพราะมีคู่มีครอบครัว ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยมาทำดีง่าย ๆ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเสียเวลาดูแลเขา ต้องทำหน้าที่ ต้องรับผิดชอบ ถามว่าทำแล้วดีไหม มันก็ดี เป็นสิ่งดี เป็นมงคล แต่ถ้าไม่ต้องทำมันก็ดีกว่า มันมีดีอย่างอื่นที่ดีกว่าเอาเวลาไปดูแลลูกเมียอีกเยอะ

แล้วกิจกรรมกับหมู่กลุ่มคนดีนี่อย่าไปหวัง ต้องเก็บวันหยุดยาวไปเที่ยวกับครอบครัว ถ้าไม่พาไป เขาก็โกรธ ไม่พอใจอีก แถมค่าใช้จ่ายบานเบอะ เขาไม่ได้ทนลำบากกันได้สักเท่าไหร่หรอก รถนี่ต้องมี แถมบางทีก็ต้องขึ้นเครื่องบิน ยิ่งถ้าร้องจะไปเมืองนอกนี่ยิ่งซวยเข้าไปใหญ่

เอาแล้วไง จะมานั่งพิมพ์บทความได้ที่ไหนล่ะ มันต้องเอาเวลาไปหาเงิน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย บำเรอให้เขาอิ่มกัน อิ่มวันนี้พรุ่งนี้หิวอีก ก็ต้องทำงานกันไป ทุกข์ก็ต้องทนทำ เบื่อก็ต้องทนทำ เวลาฟังธรรมหรออย่าหวังมาก แค่ต้องมาฟังปัญหาร้อยแปดภายในครอบครัวก็หมดเวลาแล้ว ไหนจะพ่อแม่พี่น้อง ไหนจะญาติมิตรเพื่อนสหาย ปัญหาเยอะไปหมด

ถ้าผมไปมีคู่นะ มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายไปแล้ว มันพลาดตั้งแต่เราเบือนหน้าหนีธรรมอาจารย์นั่นแหละ ท่านสอนทางพ้นทุกข์ เราไม่ทำตามมันก็ไปทางทุกข์เท่านั้นเอง แล้วจะหวังอะไรกับทางทุกข์ มันคนละทางกับทางพ้นทุกข์ มันยิ่งไปมันยิ่งทุกข์ มันไม่พ้นอยู่แล้ว นั่นหมายถึงผมก็มีโอกาสจะเสียชาตินี้ไปอีกชาติ ถึงจะเก่งก็เก่งขึ้นไม่ได้มากกว่าภาวะคนคู่ เพราะชาตินี้มันสอบตก มันล้างไม่ทัน จะไปเบื่อตอนแก่มันก็ไม่ทัน ผัสสะมันไม่เหมือนเดิม เหตุปัจจัยมันหมดแล้ว มันมีจังหวะเดียวให้ชีวิตผลิกก็แค่ตอนจะตัดสินใจมีหรือไม่มีนั่นแหละ

ส่วนจะหวังบรรลุหรือหลุดพ้นเพราะคบกันนี่ผมบอกเลยว่า ยากกกกกกกก… เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น คุณร่วมกันทำบาป ทำตามกิเลสกันมาเท่าไหร่ ทุ่มเทบำเรอกาม บำรุงอัตตากันมาเท่าไหร่ มันมีผลนะ มันบันทึกเป็นกรรมไม่พอ มันยังฝังเป็นอุปาทานด้วย ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นไปไม่ได้ จะมีเฉพาะบางกรณีพิเศษเท่านั้น ซึ่งก็อย่าไปหวังเลยว่าเราจะเป็นกรณีพ้นได้แบบง่าย ๆ

ขอให้ยินดีในความโสดเถอะครับ อย่างน้อยมันก็ยังทำให้เราได้มีเวลาแบ่งปันศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน

ทำดียังหวังผล

ในหลักสูตรของวิชชาราม(แพทย์วิถีธรรม) การบ้านประจำสัปดาห์ตอนนี้เขาให้ลองฝึกเล่าสภาวธรรมประยุกต์กับ “อริยสัจ ๔” ก็เลยทดลองพิมพ์เพื่อทบทวนตนเอง ขัดเกลาภาษาและการเรียบเรียง รวมทั้งแบ่งปันแนวทางที่ทำได้แก่ผู้ที่สนใจครับ ลองอ่านแล้วศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ไปช่วยขายข้าว ในช่วงข้าวใกล้หมดสต็อก ทางกลุ่มเลยจำกัดการจำหน่ายท่านละ 1 กก. เท่านั้น เมื่อไปเป็นผู้ขายจึงได้มีโอกาสเจอกับผู้ซื้อ และเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นจึงมีปัญหาให้จัดการ ปัญหานั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากกิเลสของตัวเอง

ทุกข์ : เกิดความรู้สึกชังเล็กน้อย เมื่อลูกค้าท่านหนึ่ง ยืนยันที่จะซื้อมากกว่า 1 กก. ให้ได้ และเมื่อเราได้อธิบายไป ดังเช่นว่า ข้าวใกล้หมด , แบ่งปันให้คนที่ยังมาไม่ถึง ฯลฯ เขาก็ยังยืนยันจะซื้อให้ได้ โดยเริ่มต่อว่าเราว่าเรื่องมาก ทำไมไม่ขาย ไม่อยากได้เงินหรือ? อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ว่าเขาจะไปหาคนมาซื้อ เราก็ตอบเขาว่าก็แล้วแต่ เพียงแต่เราจำกัดการซื้อคนละ 1 กก. เท่านั้น

สมุทัย : เหตุที่เกิดความชังนั้น เพราะเราสงสารคนที่เขาพยายามจะเอาชนะเรา พยายามจะเอาอำนาจเงินมาซื้อเรา เราไม่ได้ชังเขาเพราะเขาว่าเรา แต่เราชังการที่เราอธิบายเขาแล้ว เขาไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ซ้ำยังกระแทกกลับมาด้วยลีลาที่แสดงว่าฉันได้เปรียบ ฉันต้องได้ เป็นต้น สรุปคือ “ที่ชังก็เพราะอธิบายแล้วเขาไม่พร้อมจะทำความเข้าใจนั่นแหละ” สรุปไปอีกชั้นของรากให้ชัดขึ้น คือเราไม่ได้ต้องการคนมาเข้าใจ แต่เราต้องการให้คนที่เราได้อธิบายแล้วได้ทำความเข้าใจ (ต่างกันตรงที่ต้องมีตัวเราไปอธิบาย) สรุปลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ เราต้องการทำดีแล้วให้มันเกิดผลดี คือเขาเข้าใจ สรุปลึกลงไปอีกชั้นคือเป็นอาการของความโลภ เพราะเราหลงว่าถ้าเขาเข้าใจตามที่เราพูดจึงจะดีที่สุด จึงจะสุขที่สุด

นิโรธ : กำหนดความดับในเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการความสำเร็จในการทำดี ดังนั้น ถ้าจะกำหนดจุดที่ควรทำให้ดับ ทำให้มอด ทำให้จางคลาย ก็คือทำลายในส่วนของความต้องการที่เกินความจำเป็น นั่นก็คือความต้องการในความสำเร็จเมื่อลงมือทำดี ดังนั้นสภาพที่เป็นเป้าหมายที่พึงจะหวังได้คือ การทำดีโดยไม่ต้องหวังอะไร ทำดีแค่ทำดี ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกจากกันออกไป จะเกิดอะไรก็ได้เป็นสภาพที่อิสระต่อกัน ไม่ยึดว่าทำดีแล้วจะต้องเกิดผลดีตามที่เราหวัง ดีนั้นเกิดผลแน่ แต่มันจะไม่เป็นไปตามตัณหาของเรา มันจะเป็นไปตามกรรม

มรรค : การปฏิบัติตนให้ไปถึงผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเราในตอนนี้ยังมีความเห็นที่ยังผิดบิดเบี้ยวไปจากความผาสุกอยู่ คือทำดีแล้วยังจะเอาดีอยู่ ก็เลยต้องหาธรรมมาปรับความเห็นความเข้าใจให้ถูก เช่นใช้คำสอนของอาจารย์ ดังเช่นว่า “ให้แล้วคิดที่จะไม่เอาอะไรจากใครให้ได้” ดูแล้วเข้ากับการปฏิบัตินี้ดี รวมทั้งการหมั่นพิจารณาธรรมด้วยหลักไตรลักษณ์ เช่น ผลที่มันจะเกิดนี่มันไม่แน่นอน มันคาดเดาไม่ได้ หวังไม่ได้ และความอยากให้เกิดดีนี่มันเป็นทุกข์ และสุดท้ายอยากไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เกิดดีมันก็เป็นดีของเขา เกิดร้ายมันก็ร้ายของเขา เราก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราทำดีมันก็กรรมดีของเรา ส่วนผลดีร้ายที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมของเราและของเขาสังเคราะห์กัน ถ้าเราทำดีไม่หวังผลดี เราก็จะได้ประโยชน์จากความเบา โล่ง สบาย ส่วนถ้าเรายังทำดีแล้วเราจะเอาผลดีด้วยนี่มันหนักใจ มันไม่สบาย มันก็ไม่เป็นประโยชน์

ส่วนการคิด ก็คิดสวนทางกับความคาดหวังนั้น ๆ ในเรื่องการทำก็ขยันทำดี ขยันอธิบาย พูด บอก ให้มากขึ้น จะได้มีโอกาสกระทบมากขึ้น กระทบมากขึ้นก็ได้โอกาสในการจับอาการกิเลสมากขึ้นด้วย ที่เหลือก็ใช้สติที่มีจับอาการกิเลสให้ได้ กิเลสนี่มันจับตัวยากที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ต้องเพิ่มกำลังของสติด้วยเมื่อตั้งใจทำดี สุดท้ายมีสมาธิเป็นผล ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในนิโรธ ได้ยั่งยืนถาวร ยาวนาน ไม่กำเริบ ไม่เวียนกลับ ไม่มีความคิดเห็นผิดใดๆ มาหักล้างได้ ฯลฯ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จบงานกิเลสเรื่องนี้ไป

29.10.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มือไม่ถึง พาวอดวาย

วันนี้ได้ลองใช้สว่านไฟฟ้าขันสกรูเป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะใช้แต่ไขควง อย่างเก่งก็ใช้สว่านเจาะนำก่อน แต่ครั้งนี้สกรูมันยาว 3 นิ้ว แถมจุดหนึ่งก็หลายตัว จะไขด้วยมือก็คงนาน เลยใช้สว่านไขเอา

ก็เคยเห็นตอนช่างเขาทำอยู่ มันก็ดูเหมือนไม่ยาก ก็ดันไปแล้วก็กด มันก็เข้าไปได้ แต่พอลองเองนี่มันไม่ง่าย ถึงกับเสียหัวไปหนึ่งอัน แถมเสียสกรูอีก 2-3 อันและเสียเวลาขันสกรูที่เกือบจะเสียออก…ถึงจะพอจับทางได้ (ดีนะมีหัวสำรองอีกอัน)

…เข้าเรื่องกันเลย จากภาพจะเห็นว่าสกรูก็พัง หัวแฉกก็พัง สรุปคือพังทั้งคู่ ถ้าทำไม่เป็นมันจะพากันพังทั้งคู่

เหมือนกับธรรมะที่พอไม่เป็นแล้วทำเหมือนเป็นนี่มันพังจริง ๆ แล้วมันพังแบบแนบเนียนด้วย คือพังแล้วไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับที่เห็นกันมากมายในข่าวที่มีผู้นำลัทธิที่อ้างว่าใช้วิถีพุทธแล้วทำเรื่องผิดศีลมากมาย แบบนี้มันก็มีให้เห็นเยอะ แต่มันเป็นความน่ากลัวในความธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องอันตราย ถ้าแสดงฐานะเกินฐาน หรือเกินกว่าที่มีเมื่อไหร่ ภัยจะมา จริงอยู่ว่าในเบื้องต้นเราอาจจะแสร้งว่าเรามีธรรม เราเป็นผู้วิเศษ แต่ถ้ามันดันติดลมบน มีคนนิยม แล้วจะยังไงต่อ โลกธรรมมันเข้ามา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขมันเข้ามา แล้วตนเองไม่มีธรรมนั้นจริง แต่ก็ไม่อยากเสียโลกธรรม ก็เลยตามเลย แสดงธรรมไปตามที่ตนเข้าใจ(ผิด) ผลมันก็เหมือนกับหัวแฉกกับสกรูนี่แหละ คือตนเองก็พัง คนอื่นก็พัง พังเพราะพากันเมาในมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งในสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยคือมิจฉาทิฏฐิ ปิดไว้จะเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ แล้วคนที่เขาหลงเขาจะรู้ไหม เขาไม่รู้หรอก เขาก็เปิดเผยมิจฉาที่เขาหลงว่าเป็นสัมมานั่นแหละ ดีไม่ดีเขียนตำราใหม่เลย นี่แหละคือสัมมา(ของข้า)

สิ่งที่น่ากลัวกว่าโลกธรรม ก็คืออัตตา บางคนเหมือนว่าเขาไม่เสพโลกธรรมแล้ว ลาภมาไม่สน ชมมาไม่ฟู เรียกอาจารย์ก็ไม่ใส่ใจ แต่ลึก ๆ ในใจแล้วไม่มีใครรู้หรอก ภาพข้างนอกมันก็วิเคราะห์กันได้แค่ประมาณหนึ่ง คนอื่นเขาก็รู้ด้วยได้ยาก ว่าตกลงผ่านไม่ผ่าน

แล้วพวกอัตตาจัดนี่เวลาจับธรรมะแล้วจะโหดสาหัสเลย ยิ่งอ้างว่าตนเป็นพุทธแท้เท่าไหร่ยิ่งจะหนักเท่านั้น เพราะพูดออกไปมันได้โลกธรรมมาก ถ้าคนเชื่อเขาก็เทน้ำหนักให้มาก นั่นหมายถึงวิบากที่ได้รับก็มากตามได้ด้วยตามน้ำหนักที่ประกาศออกไป

ทีนี้มันก็มีทั้งจริงไม่จริงไง ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือมันไม่จริง พออัตตาจัดแสดงธรรม มันก็เหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีคนติดตาม มีลูกศิษย์ ทีนี้ก็ติดลมบนแล้ว ณ จุดนี้มันจะช่วยยากแล้ว เพราะส่วนมากก็ยึดตามหลักตนไปแล้ว ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็น…ฯลฯ แล้วล้างกิเลสไม่ได้จริง มันจะพอกเป็นอัตราพิเศษต่างจากคนทั่ว ๆ ไป

ธรรมะนี่เป็นหน่วยลงทุนที่กำไรมาก แต่เวลาพลาดก็ขาดทุนมากเช่นกัน และปัญหาคือขาดทุนแล้วไม่รู้ตัว หนึ่งในสภาพที่น่ากลัวก็คือ “หลงบรรลุธรรม” คือเกิดสภาพหลงไปว่าตัวเองมีคุณวิเศษนั้นจริง ไม่มีก็เข้าใจว่ามี เปรียบเหมือนคนบ้าหลงว่าตัวเองใส่เกราะถือดาบแต่จริง ๆ ใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว แล้วจะวิ่งไปรบกับกองทัพศัตรู มันก็มีแต่ตายเปล่าเท่านั้นเอง

แล้วยิ่งพาคนอื่นบ้าไปด้วยนี่วิบากมันจะยิ่งคูณ / ยกกำลังเข้าไปใหญ่ กว่าจะกลับมาเป็นคนปกติที่สามารถเรียนรู้ธรรมะที่สัมมาทิฏฐิได้ก็คงจะไม่ใช่ง่าย เพราะวิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้หลงตามปริมาณที่เคยพาคนอื่นหลง

จะเตือนกันว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่ารีบแสดงธรรมกันเลย มันก็คงจะไม่ไหว เพราะผลที่ได้จากการแสดงธรรมนี่มันหอมหวาน เต็มไปด้วยภาพเสมือนของกุศล(เหมือนจะดี)และโลกีย์รส โลกธรรมเอย อัตตาเอย เขาก็พุ่งเข้าหานั่นแหละ บางคนตอนแรกเขาก็ตั้งใจทำดี แต่เจอกิเลสดักตีหัว สุดท้ายก็อาจจะต้องจบลงแบบสกรูกับหัวแฉก แบบนี้ คือพังทั้งตนเองและผู้อื่น