ท่องเที่ยว ท้าทาย อบายมุข

การท่องเที่ยวนี่ยิ่งท้าท้าย ยิ่งเบียดเบียนมาก อ่านข่าวแล้วเจอเนื้อหาที่ว่าน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ละลายแล้วเจอศพแช่แข็งกว่า 300 ศพ

เขาก็ไปท้าทายกัน ท้าทายไปก็ไม่ได้อะไร ภูเขามันก็อยู่ของมันแบบนั้น การที่จะมีคนไปเหยียบหรือไม่มี ไม่มีผลอะไรกับมันเลย

แต่เขาก็เอาชีวิตไปทิ้งกัน เสี่ยงไหมก็เสี่ยงมาก เขาก็เอาไปเสี่ยงกัน ไปท้าทาย เพราะหลงว่ามันจะดี มันจะสุข มันจะเลิศยอด สุดท้ายก็ตายหายสาปสูญกันไป

เบียดเบียนตัวเองและญาติมิตรไปแล้วยังไม่พอ ยังลำบากคนอื่นอีก เพราะค่ากู้ศพแต่ละศพนั้นมีต้นทุนเป็นหลักล้านในการดำเนินงาน

ก็อย่าไปหลงตามโลกกันนักเลยว่าที่นั่นดี ที่นี่ดี ที่นั่นท้าทาย อร่อย สนุก ฯลฯ มันลองไม่หมดโลกหรอก ทำจนตายก็ลองไม่หมด เหลือทิ้งไว้แต่ปัญหาและตัณหาเท่านั้นแหละ

ท่องเที่ยวทั่วไปก็พอกันนั่นแหละ ไปก็มีแต่กิเลส บำเรอกาม ผ่านการกิน ดู ชม ฟัง ฯลฯ คือทำแล้วกิเลสเพิ่มอย่าไปเลย

แต่ถ้าไปทำอะไรแล้วกิเลสลด อันนี้มันก็น่าลอง แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่สนใจหรอก ใครจะไปล่ะ ไม่สนองกิเลส ไปขัดเกลาอัตตา ใครจะไป … ก็มีแต่คนต้องการพ้นทุกข์นั่นแหละ

พิธีที่ทำแล้วมีผลเป็นสัมมาทิฏฐิ

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนเขาถึงกล้าเต้นแร้งเต้นกา เต้นรำกัน ทั้ง ๆ ที่ชีวิตปกติเขาเขาไม่ได้ทำแบบนั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ได้มีอาชีพแบบนั้น

จะยกตัวอย่างงานบวชนี่แหละ ภาพชัด ถ้าเป็นชุมชนต่างจังหวัด เมื่อมีงานบวชเราก็จะได้ยินเสียงเพลงดังลั่นหมู่บ้าน ดังไปตามถนน มีคนแห่ คนโห่ มีสิบล้อก็ขึ้นไปเต้นกันบนสิบล้อ เต้นโชว์คนที่ขับรถไปมาตามถนน

ถามว่าชีวิตปกติคนส่วนใหญ่เขากล้าทำอย่างนั้นกันไหม กล้าแสดงออกอย่างนั้นกันไหม ต่อให้เปิดเพลงปลุกใจให้เลย เขาจะแสดงท่าทีอย่างนั้นกันออกไหม?

มันไม่ได้หรอก มันเต้นไม่ออก มันแสดงไม่ออก มันต้องมีองค์ประกอบของกิเลสที่สุกงอม ท่ามันถึงจะออก

ในองค์ประกอบของสัมมาทิฎฐิ ถูกแยกย่อยเป็น ๑๐ ข้อ ในข้อ ๒ ว่าด้วย ยัญพิธีที่บูชาแล้วมีผล คำว่าบูชาแล้วก็คือทำแล้ว มีผลก็คือมีผลเพื่อการลด ละ เลิกการหลงมัวเมาในกิเลส ในความโลภ โกรธ หลง ในกามและอัตตา ถ้าปฏิบัติตามพิธีใด ๆ แล้วมีผลไปในทางนี้ถือว่าสัมมาทิฏฐิ

แต่งานบวชในปัจจุบันนั้นมีทิศทางไปตรงกันข้าม ถ้าพุทธะพาไปหาสุข หาสวรรค์ ทางที่ส่วนมากทำอยู่ในปัจจุบันก็คือทางไปนรก เพราะพิธีที่เขาทำนั้น ไม่ได้มีผลในการลดกิเลสของหมู่ชนเลย แถมยังเป็นงานพิธี ที่เพิ่มอัตราเร่งของกามและอัตตาคนที่ร่วมงานอีก

เริ่มต้นก็บ้องกัญชาแล้ว เหลาต่อไปมันก็ไม่กลับเป็นกระบอกไม้ไผ่หรอก เพราะสัมมาทิฏฐิ นั้นเป็นประธาน เมื่อเข้าใจผิด มีความเห็นผิด มรรคข้ออื่นก็จะปฏิบัติผิดทั้งหมด งานที่จัดขึ้นมา พาให้คนหลงผิด ผู้จัดก็ต้องรับวิบาก(ผล) นั้นด้วย นั่นคือตนเองก็ต้องหลงมัวเมาจากความผิดที่ตัวเองก่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะหยุดทำสิ่งที่ผิด

และที่สำคัญมันจะเห็นผิดจัดขนาดที่ว่ามันกลายเป็นแบบนั้นโดยสมบูรณ์โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เพราะเชื่อแบบผิด ๆ ไปแล้วว่าสิ่งที่ตนหรือพวกตนได้ทำนั้นคือสิ่งที่ดี แม้มันจะเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ทนโท่ก็ตาม

เรียกว่าสภาพ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นั่นเอง

งานบวช คะนองกาม คำรามอัตตา

ช่วงหลังมานี่ก็ได้เห็นข่าว เห็นสื่อเกี่ยวกับงานบวชที่เรียกว่าออกทะเลไปไกล

ไกล คือไกลพุทธะ เพราะไปทางกิเลสเสียเป็นส่วนใหญ่ จากที่ดูประมาณ 99 % นี่ไม่มีอะไรเป็นไปทางลดกิเลสเลย คือเขาจะบวชเพื่ออะไรก็ไม่ทราบได้ แต่การบวชในพระพุทธศาสนาคือการลดกามลดอัตตา

ทีนี้เขาบวชมันก็ดีกับตัวเขา แต่กลายเป็นว่าการจัดงานบวชนี่มันเละเทะเลย เรียกว่ากามก็จัด อัตตาก็แรง

กามจัดคืออะไร ก็กิน เสพ แต่งตัวกันอย่างจัดจ้าน แสดงท่าทีลีลา ยั่วย้อมมอมเมาสารพัด ดังที่ปรากฏในหลาย ๆ คลิปที่เห็นมาในช่วงหลายปี

อัตตาแรงคืออะไร ก็พอจัดงานบวช กลายเป็นงานบาป เหมือนผีเข้าสิง ความเก่ง ความกร่างมันก็โผล่มา ว่าข้านี่เป็นดั่งเทพ
ข้าเป็นคนพิเศษ มีกำลังที่จะบงการ จัดการ สิ่งใด ๆ ได้ทั้งหมด

…ตัวอย่างที่ผมเจอวันนี้เลย คือเจอขบวนบวชนาค ยาวเหยียด ที่ขับรถช้า ๆ ไปตามถนนที่มีแค่ 2 เลน สวนกัน แต่ก็ใช่ว่าเขาจะเกรงใจนะ เขาก็ขับกันคับถนนนั่นแหละ ไม่ได้ชิดซ้ายอะไร แถมยังขับช้า ๆ ซึ่งก็ไม่รู้จะขับช้าไปเพื่ออะไร ขับรถไปถึงวัดก็บวช ก็จบแล้ว แต่ดู ๆ ไป ก็จะไปทางบันเทิงเสียมากกว่า ดีไม่ดีจะอวดชาวบ้านเสียด้วยซ้ำว่าข้ามี ข้าเป็น ฯลฯ

นี่แค่กำลังจะบวชก็เบียดเบียนชาวบ้านแล้ว เอาจริง ๆ ประเพณีมันก็เพี้ยนมามากแล้ว มันไปทางกามทางอัตตาคนนี่แหละ จะเจริญก็เพราะคน จะเสื่อมก็เพราะคน

ยิ่งข่าวที่ออกมาช่วงนี้อีก คือ ไปงานบวชเขา แล้วชุมชนข้างเคียงเขาเตือนมา เพราะว่ามันรบกวน กลุ่มนี้ก็ทำตัวกร่างเข้าไปทำร้ายเขา ลวนลามเขา

ปัญหาคือการคบคนพาลนี่แหละ การคบคนพาลอยู่ในธรรม หมวดอบายมุข ๖ และมงคล ๓๘ พระพุทธเจ้าให้ดำรงชีวิตห่างไกลคนพาล ใครยังยินดีคบคนพาลเป็นมิตรจิตก็ยังจมอยู่ในอบายมุข

พอมีการจัดงานอะไร พอเพื่อน มิตร สหาย ที่เป็นคนพาลมารวมกัน เขาก็จะพากันทำสิ่งที่ไร้สาระ เบียดเบียน สร้างความลำบากให้ผู้อื่นและตัวของเขาเองเป็นธรรมดา ด้วยเหตุแห่งความมักมากในกามและความมัวเมาในอัตตาตัวตนของเขานั่นเอง

ดังนั้นชีวิตก็ควรคบคนดีเป็นมิตร คบบัณฑิต(ผู้มีธรรม) ชีวิตก็จะผาสุก ถึงจะจัดงานบวช แต่ถ้ามีบัณฑิตเป็นผู้นำ งานบวชก็จะเป็นไปโดยสงบ เป็นรูปแบบการจัดงานเหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันคนละโลกกับงานบวชที่รวมคนพาลไว้ด้วยกัน

คนไข้และหมอจะพากันป่วยตาย…

ตอนแรกที่ได้ยินก็พอเข้าใจอยู่ แต่ไม่ค่อยเห็นภาพชัด แต่พอไปโรงพยาบาลเมื่อวาน ภาพก็ชัดเจนขึ้นทันที ว่าปลายทางคือพากันป่วยตายแน่นอน

จากประโยคเต็ม “หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง ถ้าสุขภาพพึ่งตนเกิดไม่ได้ คนไข้และหมอจะพากันป่วยตาย” จากอาจารย์หมอเขียว (ดร.ใจเพชร กล้าจน)

ผมเห็นภาพที่คนไข้มากมายต่างมารอการรักษา ซึ่งโดยสถิติตามที่ได้รับรู้มาคือคนไข้โดยรวมไม่เคยลดลงเลย มีแต่มากขึ้น โรงพยาบาลก็สร้างตึกมากขึ้น นี่คือสิ่งที่แสดงการขยายตัวของความเจ็บป่วย

คนไข้ป่วย นี่เขาก็มีโอกาสจะตายอยู่แล้ว แต่หมอป่วยตายตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจจนไปเห็นภาพ คนไข้ที่มหาศาล แล้วหมอกับพยาบาลต้องแบกรับไว้

คนป่วยคนไข้ นี่เขามาพร้อมกับวิบากบาป โดนทำให้ป่วย ให้เป็นทุกข์ เป็นพลังทางลบ หดหู่ เศร้าหมอง ถ้าถามว่าช่วยเขามันดีไหม มันก็ดีแหละ ได้ใช้ชีวิต ได้ใช้เวลาและความสามารถช่วยเหลือคนอื่นมันก็ดี มันก็เป็นกุศลกรรมที่ดี

แต่ปัญหาคือเขามาให้เรารักษาเขาไม่ได้คิดจะพึ่งตน เขาไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการรักษาขนาดนั้น ถ้าตามหลักพุทธความเจ็บป่วยความตายนี่มันเกิดจากความเบียดเบียน แล้วเอาง่าย ๆ แค่ตามที่หมอแนะนำ ส่วนมากเขายังทำกันไม่ค่อยได้เลย เช่น ออกกำลังกายบ้าง ลดอาหารรสจัดบ้าง แค่นี้ก็ยากแล้ว

ซึ่งในความจริงมันก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือแก้ที่กิเลส แก้ความอยากได้อยากมีอยากเสพที่ฟุ่มเฟือยเกินไปจนเบียดเบียนชีวิตตนเองและผู้อื่น

แล้วคนไปรักษาเขาอยากพรากจากกิเลสไหมล่ะ ไม่มีหรอก เขาแค่อยากหาย แล้วก็กลับไปเสพตามที่เขาสมใจ สร้างทุกข์ สะสมเหตุแห่งทุกข์แล้วมาให้หมอกับพยาบาลแก้

แล้วหมอกับพยาบาลก็พากันแก้ได้เต็มที่แค่วัตถุ วัตถุมันก็เท่านั้นแหละ เท่าที่เห็นคนเต็มโรงพยาบาล แก้ได้จริงโรงพยาบาลมันต้องเกือบร้างสิ มันก็ไม่ 100% เพราะวัตถุนี่มันสังเคราะห์ตามจิตวิญญาณ มันยังมีองค์ประกอบที่แก้ด้วยวัตถุไม่ได้อยู่เหมือนกัน เช่นความเครียด ความกังวล ความกลัว ความอยาก ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุที่ส่งผลต่อการเกิดหรือการกำเริบของโรค

แล้วโดยหน้าที่ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ก็ต้องแบกคนไข้ เป็นทั้งอาชีพและจริยธรรม ส่วนตัวแล้วผมว่านี่มันซวยสุด ๆ เลยนะ คนเขาก็ว่าอาชีพนี้ดี ได้กุศล คนก็สรรเสริญ แต่จากมุมมองผมนะ ให้ไปแบกคนไม่ลดกิเลสผมไม่เอาด้วยหรอก มีแต่จะสร้างปัญหามาให้เรื่อย ๆ ปัญหาเดิมก็ไม่ลด แล้วยังสร้างปัญหาใหม่มาอีก ตายกันพอดี

แบกคนที่เขาพยายามล้างกิเลสมันยังพอไปไหวอยู่บ้าง แต่แบบว่าเอาแต่เสพสมใจ ทำชั่วมาเต็มที่ แล้วมาให้แก้นี่มันไม่ไหว มันก็เป็นอาชีพที่ดี รายได้ดี แต่ต้องมาแลกกับการแบกปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้ 1 แต่เพิ่มมา 2

ผมว่าบุคลากรทางการแพทย์จะป่วยตายก็เพราะแบบนี้แหละ ต้องมาร่วมแบกรับวิบากกรรมของการเบียดเบียน ของการสนองกิเลสตามใจอยาก

แล้วบุคลากรทางการแพทย์นี่ผมว่าสร้างไม่ทันคนเจ็บคนป่วยหรอก สุดท้ายอัตราส่วนก็จะขยายตัวต่างกันหลายเท่า แบกกันไปก็เจ็บป่วยล้มตายตามกันไป

การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ

วันนี้ไปธุระที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบว่าคนเยอะกว่าไปเดินห้างอีก เห็นแล้วก็สงสัยว่านี่มันอะไรกัน ทำไมคนป่วยถึงเยอะขนาดนี้

ก็คิดทบทวน ก็เข้าใจว่ายุคนี้มันก็แบบนี้แหละ คนเบียดเบียนกันมาก เบียดเบียนสัตว์มาก ก็ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บล้มตายมากเป็นธรรมดา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนสรุปความได้ว่า ผู้ที่เบียดเบียนสัตว์ ไม่มีความเอ็นดูต่อสัตว์ จะทำให้มีโรคมากและอายุสั้น (จูฬกัมมวิภังคสูตร เล่ม 14 ข้อ 579…)

แล้วยุคนี้คนกินเนื้อสัตว์ขนาดนี้ ส่งเสริมการล่าสัตว์ สนับสนุนโรงฆ่าสัตว์กันขนาดนี้ วิบากกรรมจะไปทางไหนได้นอกจากทางทุกข์

คนที่เขาไปโรงพยาบาลนี่เขาก็ดูมีเงินกันทั้งนั้นนะ ค่ารักษาไม่ใช่ถูก ๆ บางคนเขาก็คิดว่านี่การที่เขามีเงินรักษานี่แหละคือดี โชคดีที่มีเงิน ดีที่มีลาภ

อันนี้มันก็ตื้น ๆ พอเห็นได้ เข้าใจได้ง่าย แต่มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากมายนัก เพราะสุดท้ายก็ต้องไปหาเงินมาก ๆ เบียดเบียนชาวบ้านมาก ๆ เพื่อให้ได้เงินมา ก็เป็นวิบากบาปใหม่อยู่ดี วนเวียนไป ทำชั่ว รักษาตัว แล้วไปทำชั่วเพื่อมารักษาตัวใหม่

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ นี่มันไม่ใช่เรื่องโชคช่วยนะ มันต้องทำเอา คือทำตนให้เป็นคนไม่เบียดเบียน เกื้อกูลผู้คนและสัตว์ มันถึงจะมีลาภก้อนนี้สะสมได้ ส่วนลาภคือเงินที่เขาเอาไปใช้จ่ายค่ารักษานี่ผมว่ามันเทียบคุณค่ากับการไม่มีโรคไม่ได้เลยนะ

ไม่เชื่อก็ลองเลือกดูก็ได้ ไม่ป่วย กับ ป่วยแล้วมีเงินรักษา จะเลือกกันแบบไหน … แต่ความจริงมันก็เลือกไม่ได้หรอก มันต้องทำเอา อยากได้รับผลกรรมแบบไหนก็ทำแบบนั้น เบียดเบียนก็ได้ผลเป็นโรคและอายุสั้น ไม่เบียดเบียนเกื้อกูลก็ได้ผลเป็นแข็งแรงอายุยืน ก็เลือกธรรมกันเอาตามที่ชอบ

ชอบเป็นทุกข์ก็เบียดเบียนกันต่อไปทั้งทางตรงทางอ้อมทางแอบ ๆ อะไรก็ตามที แต่ถ้าจะให้เป็นอยู่ผาสุกก็ต้องหยุดเบียดเบียน ชวนคนอื่นเลิกเบียดเบียน ยินดีในธรรมที่พากันไม่เบียดเบียน

มหาอำนาจผู้เบียดเบียน

เดี๋ยวนี้เวลาจะพิมพ์บทความใหม่ ๆ จะเก็บข้อมูลนานมาก กว่าจะตกผลึก แต่พอมันมีจุด หรือองค์ประกอบที่เหมาะ มันก็พิมพ์ได้เลย อันนี้ประมาณ 80% ของที่คิดไว้ ก็พอใจ ก็ปล่อยแล้ว คงจะไม่เสียเวลาเกลาไปมากกว่านี้ เพราะมันเหมาะกับสถานการณ์ช่วงนี้

มหาอำนาจผู้เบียดเบียน (life.dinp.org)

 

รับ …โดยไม่เฉไฉ แชเชือน บิดเบือน บดบัง

หนึ่งในกรรมฐานที่ผมระลึกได้เมื่อปีก่อนว่าควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง คือยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราฝึกไม่เบียดเบียนจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือปรับกลับไปมาระหว่างปล่อยวางกับลงมือได้ดีพอสมควร

หนึ่งในการยอมให้เบียดเบียน ก็คือการถูกติ ถูกวิจารณ์ ถูกด่า ถูกเข้าใจผิด ความเบียดเบียนเหล่านั้นคือสิ่งที่เข้ามาเบียดมาบี้ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ซึ่งสิ่งที่เข้ามาจะเป็นธรรมะก็ได้อธรรมก็ได้ ก็จะฝึกปฏิบัติไปเพื่อการยอมให้ถูกสิ่งอื่น เข้ามาขยี้ความยึดมั่นถือมั่น

ผมตั้งใจว่าถ้ามีสิ่งใด ๆ เข้ามาก็จะยินดีรับโดยไม่ปัดป้อง คือยินดีให้มันเข้ามาถึงจิตกันตรง ๆ เลย กำลังจิต(เจโต)ที่มีก็จะไม่เอามาปิดกั้นไว้ ให้มันได้เผชิญความจริงกันแบบใส ๆ เลยว่ากระทบแล้ว มันยังไง มันรู้สึกยังไง มันไปยึดอะไร

เมื่อกระทบกับเหตุการณ์แล้วจะไม่พยายามไปกดให้มันสงบในทันที แต่จะเน้นไปในการพิจารณาเหตุของความขุ่นมัวที่ฟุ้งขึ้นมาในจิต ว่ามันติดมันหลงยึดอะไร แต่ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ ถ้ามันจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น คงต้องกดแล้วเก็บไว้ก่อน

ผมเคยเห็นคนที่ถูกวิจารณ์แล้วเฉไฉ ปัดป้อง ติอย่างหนึ่งไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ติเรื่องหนึ่งไปยอมรับอีกเรื่องหนึ่ง ติปัจจุบันไปยอมรับอดีต ถ้าโดยส่วนตัวสมัยก่อนผมก็เคยเป็นอาการนั้น คือมันอยู่ภายใต้กิเลส เวลาโดนติ กิเลสมันจะพาเฉ ไม่พาซื่อ มันอาจจะเหมือนซื่อ แต่มันจะออกเป็นซื่อบื้อ คือติมาเสียของ ติมาไม่ได้ถูกนำไปแก้ปัญหา คือไม่ได้เอามาพิจารณาจนถึงเหตุเกิด ไม่ได้เอามาทำใจในใจไปถึงที่เกิด เพราะมันถูกบิดเบือนตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนการฟังแล้ว มันเพี้ยนไปตั้งแต่ฟังแล้ว เพราะไม่มีปรโตโฆษะ สิ่งที่ฟังมันเลยบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่เขาพูด เพราะมันไม่ฟัง หรือฟังเขา 1/2 ฟังกิเลส 1/2 รวมกันเป็น 1 คือฟัง แต่ไม่ได้ฟังเขาทั้งหมด

ผมรู้เลยว่าถ้าเรายังไม่ยินดีรับคำติ ไม่ยินดีฟังความเห็นที่แตกต่าง เราก็จะเสียโอกาสในการพัฒนา คำติที่เขาติมามันก็เสียของ

ซึ่งผมก็เอามาประยุกต์กับตัวเองเมื่อจำเป็นต้องติคนอื่นเหมือนกัน คือดูว่าติเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็เลิก เสียพลัง เสียเวลา กิเลสเขาครอบ อินทรีย์พละเขาอ่อน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตินี่มันไม่ง่าย มันต้องปรุงเยอะ ต้องประมาณมาก

บางคนบอกยอมให้ติได้ แต่พอติไปแล้วไม่เข้า เฉไฉ ผมก็เลิก เมื่อผมเข้าใจดังนั้นว่าการตินี่มันไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องทำดีมากพอ คนติเขาก็เสี่ยง และเสียพลัง จึงพยายามฝึกตัวเองให้กล้าหาญและแกร่งมากพอจะรับคำติโดยไม่เฉไฉ บิดเบือน ยอมรับความจริงในปัจจุบันเลยว่า เขาติเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุอะไรก็ต้องไปตรวจตัวเองดูว่าตัวเองพร่องหรือผิดพลาดอะไรแล้วก็เอาไปแก้ไข ถ้าเขาติถูกเราก็ได้แก้ไข ติผิดก็ไม่เป็นไร ก็เอามาตรวจใจทวนไปว่าเรายอมให้เขาติได้หรือไม่ แม้จะถูกจะผิดก็ตามที

เพราะสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับเรายอมให้คนอื่นเข้ามาเบียดเบียนบดขยี้ความยึดมั่นถือมั่นของเราหรือไม่ เท่านั้นเอง

หมู…

วันนี้ระหว่างขับรถตอนเช้าก็เห็นรถขนหมู น่าจะขนหมูได้ 3 ชั้น ระหว่างที่รถเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ผมก็มองหมูที่อยู่ในกรงเหล่านั้นขยับตัวไปมาได้เท่าที่มันจะขยับได้

ตอนเย็นก็ว่าลืมเรื่องหมูไปแล้ว แต่ระหว่างรถติดก็มีภาพที่มาย้ำ เป็นภาพหมูที่ถูกชำแหละแล้ว ยังเหลือสภาพของหมูอยู่ คือดูรู้ว่าเป็นหมู แต่ก็เป็นเพียงซากที่ถูกวางซ้อน ๆ กันหลังรถกะบะคันหนึ่ง

ผมว่ามันก็น่ากลัวเหมือนกันนะ ที่คนมองว่าการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ก็ต้องยอมรับจริง ๆ ว่ามันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำไมเราถึงโดนหล่อหลอมให้เห็นแก่ตัวเพียงแค่อ้างว่าร่างกายต้องการสิ่งที่เรียกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยเนี่ย (จากพืชก็มีนะ)

เพื่อตัวเองแล้ว จะเบียดเบียนหรือทำร้ายชีวิตสัตว์อื่นก็ได้ สังคมก็ยังยอมรับได้ อันนี้ดีแล้วหรือ? ดีจริงหรือ? คุ้มค่าจริงหรือ? ก็เรียนรู้กันไป…

อย่ายึดมั่นถือมั่น

อย่ายึดมั่นถือมั่น…

ผมได้อ่านประโยคเหล่านี้บ่อย เมื่อได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับความเห็นจากการศึกษาศาสนาพุทธต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ คนเขาก็ว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, การเลือกกินมันยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ

ผมมาเห็นรูปนี้แล้วก็นึกได้ … เออเนาะ คนเรานี่ก็หลอกตัวเองได้เยอะเลย ยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่ามันเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามใจตน เช่น สิ่งนี้คือแกะ แกะกินได้ แกะอร่อย ฯลฯ

ไอ้ “สิ่งนี้คือแกะ” นี่ก็สมมุติทั่วไป คือการตั้งสัญญาให้ตรงกัน ไม่ได้เบียดเบียนอะไรแกะ ถึงมันจะถูกเรียกว่า แกะ แอะ แมะ ฯลฯ ก็ไม่ได้กระทบอะไรมัน แต่ที่ไปกำหนดว่ามันกินได้นี่สิ มันเริ่มจะไปเบียดเบียนมันแล้ว ส่วนที่ไปฆ่าเขาแล้วซื้อมากินกันนี่เบียดเบียนเต็มๆ

ทีนี้คนที่ยึดมั่นถือมั่นนี่เขาจะไม่ปล่อยไม่คลายเลยนะ เขาว่าแกะกินได้ หมูกินได้ เขาก็จะกินอยู่นั่นแหละ เขาจะไม่ยอมคลายออกเลย เขาจะยึดอยู่แบบนั้น นี่แหละคือความยึดมั่นถือมั่นในสัญญาของคนที่ติดเนื้อสัตว์

กลายเป็นเอาเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน (อัตตา) เหมาเอาว่าเนื้อแกะชิ้นนี้ เป็นของฉัน ฉันซื้อมา อันนี้มันเมาสมมุติทั้งนั้น เหมือนเด็กเล่นขายของแล้วจริงจัง จริงๆ แกะมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการซื้อขายของเราหรอกนะ เราสมมุติขึ้นมาเอง แล้วยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นความดีความชอบของเรา

อย่ายึดมั่นถือมั่น…ในสิ่งที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นเลย วางเสียทีเถิด ยึดถือสิ่งที่เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อประโยชน์ตนอยู่นั่นแหละ(เห็นแก่ตัว) ไม่รู้จักวางเสียที


ผู้ที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า “สัญญาไม่เที่ยง” จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย แต่จะเหลือเพียงหลักพิจารณาประโยชน์และโทษให้เป็นไปตามจริง (ตามข้อมูลและความรู้ที่มี ณ ขณะนั้นๆ)

เช่นความรู้เดิมคือเนื้อสัตว์กินได้ แต่พอได้ความรู้ใหม่ว่า เขาต้องฆ่ามาถึงจะได้เนื้อมากินนะ ก็จะพิจารณาเอาประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเลือกไม่กินเนื้อสัตว์เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบียดเบียนผู้อื่นและไม่สร้างบ่วงกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยเวรนั้นทับถมให้เป็นทุกข์แก่ตน

เลือกที่รัก มักที่ชัง กรณีการข่มเหงสัตว์

ผมรู้สึกแปลกใจว่า เรามีทั้งนักปกป้องมนุษชน มีคนสำนึกดีมากมายที่คอยติเตียนคนที่ทำร้ายผู้อื่น และมีทั้งคนที่โกรธแค้นอาฆาต เมื่อมีคนทำร้ายผู้คน เมื่อมีข่าวฆ่ากันตายหรือข่มขืน เราก็จะออกมาเรียกร้องหาศีลธรรมกันยกใหญ่

การฆ่ากัน ทำร้ายกัน ข่มขืนกัน ก็เป็นการข่มเหงรังแกกัน ด้วยกำลังอำนาจที่มากกว่า ถ้าสิ่งนี้เป็นที่น่ารังเกียจจริงแล้วล่ะก็…

…ทำไมเรายังทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับการฆ่าสัตว์ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา การสั่งฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารของเรา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว มันก็เป็นการข่มเหงรังแกกันด้วยกำลังอำนาจเหมือนกัน

แค่เราเป็นมนุษย์ เราจึงมีสิทธิเหนือสัตว์อื่นอย่างนั้นหรือ คนรังแกคนนั้นผิด แต่คนรังแกสัตว์ไม่ผิดอย่างนั้นหรือ ทำไมจิตใจช่างมีความลำเอียงกันได้ถึงเพียงนี้ จะเหลือช่องเว้นว่างไว้ให้ตนเองได้มีพื้นที่เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ทำไม แม้สิ่งนั้นโลกจะสมมุติกันว่าไม่ผิด แต่ตามสัจจะแล้วมันก็ไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นมาอยู่ดีนั่นแหละ

ถ้าสงสัยว่ามันเบียดเบียนอย่างไร สื่อที่เขามีเกี่ยวกับการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ในปัจจุบันนั้นมีเผยแพร่อยู่มากมาย ส่วนมากก็เรียกว่าโหดถึงระดับไม่อยากจะดูกันเลย แต่นั่นแหละคือความจริงของการเบียดเบียน