มือไม่ถึง พาวอดวาย

วันนี้ได้ลองใช้สว่านไฟฟ้าขันสกรูเป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะใช้แต่ไขควง อย่างเก่งก็ใช้สว่านเจาะนำก่อน แต่ครั้งนี้สกรูมันยาว 3 นิ้ว แถมจุดหนึ่งก็หลายตัว จะไขด้วยมือก็คงนาน เลยใช้สว่านไขเอา

ก็เคยเห็นตอนช่างเขาทำอยู่ มันก็ดูเหมือนไม่ยาก ก็ดันไปแล้วก็กด มันก็เข้าไปได้ แต่พอลองเองนี่มันไม่ง่าย ถึงกับเสียหัวไปหนึ่งอัน แถมเสียสกรูอีก 2-3 อันและเสียเวลาขันสกรูที่เกือบจะเสียออก…ถึงจะพอจับทางได้ (ดีนะมีหัวสำรองอีกอัน)

…เข้าเรื่องกันเลย จากภาพจะเห็นว่าสกรูก็พัง หัวแฉกก็พัง สรุปคือพังทั้งคู่ ถ้าทำไม่เป็นมันจะพากันพังทั้งคู่

เหมือนกับธรรมะที่พอไม่เป็นแล้วทำเหมือนเป็นนี่มันพังจริง ๆ แล้วมันพังแบบแนบเนียนด้วย คือพังแล้วไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับที่เห็นกันมากมายในข่าวที่มีผู้นำลัทธิที่อ้างว่าใช้วิถีพุทธแล้วทำเรื่องผิดศีลมากมาย แบบนี้มันก็มีให้เห็นเยอะ แต่มันเป็นความน่ากลัวในความธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องอันตราย ถ้าแสดงฐานะเกินฐาน หรือเกินกว่าที่มีเมื่อไหร่ ภัยจะมา จริงอยู่ว่าในเบื้องต้นเราอาจจะแสร้งว่าเรามีธรรม เราเป็นผู้วิเศษ แต่ถ้ามันดันติดลมบน มีคนนิยม แล้วจะยังไงต่อ โลกธรรมมันเข้ามา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขมันเข้ามา แล้วตนเองไม่มีธรรมนั้นจริง แต่ก็ไม่อยากเสียโลกธรรม ก็เลยตามเลย แสดงธรรมไปตามที่ตนเข้าใจ(ผิด) ผลมันก็เหมือนกับหัวแฉกกับสกรูนี่แหละ คือตนเองก็พัง คนอื่นก็พัง พังเพราะพากันเมาในมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งในสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยคือมิจฉาทิฏฐิ ปิดไว้จะเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ แล้วคนที่เขาหลงเขาจะรู้ไหม เขาไม่รู้หรอก เขาก็เปิดเผยมิจฉาที่เขาหลงว่าเป็นสัมมานั่นแหละ ดีไม่ดีเขียนตำราใหม่เลย นี่แหละคือสัมมา(ของข้า)

สิ่งที่น่ากลัวกว่าโลกธรรม ก็คืออัตตา บางคนเหมือนว่าเขาไม่เสพโลกธรรมแล้ว ลาภมาไม่สน ชมมาไม่ฟู เรียกอาจารย์ก็ไม่ใส่ใจ แต่ลึก ๆ ในใจแล้วไม่มีใครรู้หรอก ภาพข้างนอกมันก็วิเคราะห์กันได้แค่ประมาณหนึ่ง คนอื่นเขาก็รู้ด้วยได้ยาก ว่าตกลงผ่านไม่ผ่าน

แล้วพวกอัตตาจัดนี่เวลาจับธรรมะแล้วจะโหดสาหัสเลย ยิ่งอ้างว่าตนเป็นพุทธแท้เท่าไหร่ยิ่งจะหนักเท่านั้น เพราะพูดออกไปมันได้โลกธรรมมาก ถ้าคนเชื่อเขาก็เทน้ำหนักให้มาก นั่นหมายถึงวิบากที่ได้รับก็มากตามได้ด้วยตามน้ำหนักที่ประกาศออกไป

ทีนี้มันก็มีทั้งจริงไม่จริงไง ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือมันไม่จริง พออัตตาจัดแสดงธรรม มันก็เหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีคนติดตาม มีลูกศิษย์ ทีนี้ก็ติดลมบนแล้ว ณ จุดนี้มันจะช่วยยากแล้ว เพราะส่วนมากก็ยึดตามหลักตนไปแล้ว ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็น…ฯลฯ แล้วล้างกิเลสไม่ได้จริง มันจะพอกเป็นอัตราพิเศษต่างจากคนทั่ว ๆ ไป

ธรรมะนี่เป็นหน่วยลงทุนที่กำไรมาก แต่เวลาพลาดก็ขาดทุนมากเช่นกัน และปัญหาคือขาดทุนแล้วไม่รู้ตัว หนึ่งในสภาพที่น่ากลัวก็คือ “หลงบรรลุธรรม” คือเกิดสภาพหลงไปว่าตัวเองมีคุณวิเศษนั้นจริง ไม่มีก็เข้าใจว่ามี เปรียบเหมือนคนบ้าหลงว่าตัวเองใส่เกราะถือดาบแต่จริง ๆ ใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว แล้วจะวิ่งไปรบกับกองทัพศัตรู มันก็มีแต่ตายเปล่าเท่านั้นเอง

แล้วยิ่งพาคนอื่นบ้าไปด้วยนี่วิบากมันจะยิ่งคูณ / ยกกำลังเข้าไปใหญ่ กว่าจะกลับมาเป็นคนปกติที่สามารถเรียนรู้ธรรมะที่สัมมาทิฏฐิได้ก็คงจะไม่ใช่ง่าย เพราะวิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้หลงตามปริมาณที่เคยพาคนอื่นหลง

จะเตือนกันว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่ารีบแสดงธรรมกันเลย มันก็คงจะไม่ไหว เพราะผลที่ได้จากการแสดงธรรมนี่มันหอมหวาน เต็มไปด้วยภาพเสมือนของกุศล(เหมือนจะดี)และโลกีย์รส โลกธรรมเอย อัตตาเอย เขาก็พุ่งเข้าหานั่นแหละ บางคนตอนแรกเขาก็ตั้งใจทำดี แต่เจอกิเลสดักตีหัว สุดท้ายก็อาจจะต้องจบลงแบบสกรูกับหัวแฉก แบบนี้ คือพังทั้งตนเองและผู้อื่น

ขึ้นอยู่กับวิธีใช้…

ผมสงสัยมานาน เวลาเห็นคนเขาตัดกระถิน ตัดกิ่งไม้แถวบ้าน เขาก็ใช้มีดตัดอ้อยธรรมดา ๆ นั่นแหละ ตัดทีเดียวขาด แต่ผมลองใช้ที่ผมมี ก็ตัดไม่ขาดแบบเขา ก็เลยไปหาซื้อมาเพิ่ม หนักบ้าง แพงบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้ดีขึ้น

ช่วงนี้มีโอกาสได้ลองใช้มีดตัดอ้อยของชาวบ้าน ก็พบว่า ปัญหามันไม่ใช่มีด ปัญหาคือวิธีใช้ของผมเอง มันมีจังหวะ มีน้ำหนัก การฟันที่ยังไม่เหมาะ ยังไม่ถูกหลักที่จะตัดให้ได้ตามเขา ผมก็เลยเอามีดเขาไปลองฝึกฟันจนเริ่มเข้าใจ ว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันต้องใช้จังหวะแบบนี้

…จริง ๆ ธรรมะก็คล้าย ๆ กันนะ ผมก็เคยเห็นคนที่เขาเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าบ้าง ของครูบาอาจารย์บ้าง เอามาใช้ แต่มันก็ทื่อ ๆ ไง คือฟังแล้วแข็งมาก พอเข้าใจเรื่องมีดตัดอ้อยมันก็เข้าใจขึ้น คือเขาจำ ๆ มาใช้ เขาหยิบมาใช้เลย เขาไม่รู้วิธี ไม่รู้จังหวะ ไม่รู้กระบวนการ

เหมือนกับครูบาอาจารย์ท่านใช้ขวานเหล็ก แล้วก็วางไว้ ทีนี้ลูกศิษย์ก็ไปหยิบมาใช้ แต่ลูกศิษย์นี่เหมือนเด็กอนุบาล แล้วไปหยิบขวานของผู้ใหญ่มาใช้ คือมันก็ใช้ได้ไปตามที่มันเป็นละนะ หรือจะเรียกว่าได้ใช้ก็ว่าได้ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมันไม่เท่ากัน คือภาพมันก็ทุลักทุเล แข็ง ไม่คม ผลคือตัดไม่ได้ ดีไม่ดีสับเอาขาตัวเองเข้าไปอีก

ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยได้เอาของครูบาอาจารย์มาใช้สักเท่าไรนัก จะปรุงใหม่มากกว่า เปรียบเช่น ถ้าท่านใช้ขวาน ผมก็ศึกษาแล้วเอามาตีขวานเล็กของผมเอง เอาให้มันสมฐานะ ให้สมแรง ไม่เกินแรง ถ้าเกินแรงมันฟาดไม่ไหว แถมมันไม่ใช่ธรรมที่เรามีในตนด้วย ไอ้การจะพูดสิ่งที่จำ ๆ มานี่บางทีมันก็เสี่ยงเข้าตัวเหมือนกัน จะพูดต้องตั้งสติและอ้างอิงด้วย ไม่งั้นพูดสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ได้แต่จำมา คนเขาเห็นท่า จะเหมือนเด็กอนุบาลถือขวานใหญ่เอา สภาพมันก็คงดูน่าเมตตามากกว่าน่าศรัทธานะ

ผมเชื่อว่ายุคนี้ต้องประมาณมาก มันไม่ mass ขนาดที่ว่าเอาธรรมะชุดหนึ่ง ประโยคหนึ่ง คำหนึ่งปล่อยออกไปแล้วมันจะได้ผลหรอก มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่แม่นเท่าธรรมที่ประมาณแล้วได้แสดงออกไป

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าผมฝึกประมาณธรรมไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นเหมือนการฝึกใช้มีดตัดอ้อยนั่นเอง

คู่รัก คู่ร้าย

พิมพ์เรื่องลูกไปแล้ว (วิบากกรรมโหดร้ายจนไม่กล้ามีลูก) มันก็ติดลม มาต่อกันด้วย เรื่องที่พิมพ์กันบ่อย ๆ อีกทีดีกว่า พิมพ์ไป ทบทวนธรรมไป เกลาพยัญชนะไป มันก็จะเก่งขึ้น ทีละหน่อย ๆ

การมีคู่รักหรือคนรัก นี่มันมาพร้อมความหวังนะ คือหวังอยากให้เขาดีดั่งใจ คือดีให้เท่าที่เป็นหรือมากกว่านี้ไปเรื่อย ๆ ก็คนมีคู่ใครเขาจะหวังให้ความรักมันเสื่อมเล่า เขาก็หวังให้มันเจริญงอกงามกันทั้งนั้นแหละ

แต่ความรักในรูปแบบของการมีคู่กับธรรมะ นี่มันสวนทางกัน ธรรมะว่า “ยิ่งรักยิ่งทุกข์” แต่ความรักกลับบอกว่า “ยิ่งรักยิ่งสุข” ซึ่งกล่าวกันตรง ๆ ก็อยู่คนละข้างกับธรรมะ หรือเป็น อธรรมนั่นเอง

เพราะความจริงแล้ว ยิ่งรักมากก็ยิ่งหวังมาก และยิ่งหวังในทางเจริญทางธรรมเท่าไหร่ ก็จะยิ่งผิดหวังมากเท่านั้น (ทางโลกก็เจริญ กันไปตามกิเลสนั่นแหละ)

เพราะหนึ่งในเหตุที่พากันเจริญทางธรรมยาก ก็คือพากันเจริญในอธรรมกันมามาก พากันกิน พากันเที่ยว พากันแต่งงาน พากัน…ฯลฯ มากันเท่าไหร่ ทีนี้พอจะไปทางเจริญมันจะโดนขัดขาเพราะวิบากพวกนี้ด้วยนี่แหละ

มันจะเป็นการพากันเจริญที่ยากแสนยาก ใครบอกว่ามีคู่เพื่อพากันเจริญทางธรรมนี่อย่าเพิ่งไปเชื่อเขา เขากล้าเปิดเผยบัญชีบุญบาป(กิจกรรมในชีวิต) ไหมล่ะ มันจะได้เห็นชัด ๆ เลยว่ากิจกรรมฝั่งกุศล อกุศล ฝั่งไหนมันมากกว่ากัน

ทีนี้คุณจะทุกข์หนักเวลาคนรักไม่เอาดีอย่างใจหมายนี่แหละ ส่วนใหญ่มันจะเจริญพร้อมกันได้ยาก มันจะมีคนใดคนหนึ่งที่เจริญขึ้นก่อน ด้วยความรักมันจะพยายามลากอีกคนขึ้นไปด้วย คุณจะรู้สึกถึงความหนัก ดึงยังไงก็ไม่ไป เว้นเสียแต่เขามีบารมีมากพอ กรณีนั้นก็ยกไว้

เอาแบบส่วนใหญ่แล้วกัน ส่วนใหญ่ลากไม่ไปหรอก อย่างเราไม่กินเนื้อสัตว์ เกิดเราไปรักไปชอบกับคนที่กินเนื้อสัตว์ คิดว่าเขาจะมาเลิกกินอย่างเราได้ไหม ยิ่งถ้าคุณถือศีลกินมื้อเดียว คิดว่าจะชวนเขามากินมื้อเดียวเหมือนกันได้ไหม มันจะยั่งยืนไหม มันจะชวนกันรุ่งหรือชวนกันร่วง ดีไม่ดีพากันเสื่อมกว่าเดิมอีก จากไม่กินเนื้อสัตว์มาตั้งนาน ไปมีคู่สุดท้ายเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็เป็นไปได้

ยิ่งเราฝึกปฏิบัติศีลสูงขึ้นมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นความต่าง จะเริ่มเห็นความไม่เสมอกัน อินทรีย์พละคนไม่เท่ากันหรอก และไม่มีทางที่จะเท่ากัน ศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็เช่นกัน มันไม่เท่ากันหรอก จะมีเท่ากันก็เวลาเดียว ก็คือเวลาที่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะเท่ากันทุกอย่าง

นอกนั้นมันก็แปรเปลี่ยนไปตามหลักอนิจจังทั้งนั้น วันนั้นใกล้เคียง วันนี้ต่างกันไป ถึงจะเจริญก็ใช่ว่าจะเจริญในทางเดียวกันเสมอไป มันอาจจะเด่นไปคนละด้านก็ได้

ยกอีกตัวอย่างกันให้ชัด กับฐานก้าวกระโดด คือคุณจะพาเจริญกันถึงขั้นเป็นโสดกันทั้งสองฝ่ายได้ไหมล่ะ มันไม่ง่ายนะ ที่จะไปได้พร้อม ๆ กัน แค่ตัวเองยังเอาตัวรอดยากเลย ซึ่งมันมักจะมีฝ่ายหนึ่งตามหลังอยู่ แล้วคุณจะทำใจได้ไหม ถ้าเขาไม่มาด้วยกับคุณ เขาไม่ยอมอยู่เป็นโสด คุณกล้ากระโดดออกมากไหม แล้วเขาอยากมีคู่ สุดท้ายเขาก็ไปมีคู่ของเขา คุณทำใจได้ไหมล่ะ

คนผ่านแล้วเขาก็เฉย ๆ คนยังไม่ผ่านนี่ยื้อกันช่วงนี้อยู่นานเลย ทุกข์ทั้งนั้น แล้วใช่ว่าเราจะอยู่เป็นโสดเขาจะยอมง่าย ๆ ที่ไหนล่ะ ก็สารพัดลีลามารยาที่เขาจะเอามาใช้กักเราไว้ให้อยู่กับเขานั่นแหละ เราใจไม่แข็ง เราก็ติดอยู่แบบนั้นแหละ มันก็นาน มันก็ช้า เขาไม่ยอมให้ออก เราก็ไม่มีแรงจะออกเพราะทนเห็นเขาทุกข์ไม่ได้ มันก็ติดกันไปแบบนี้

ส่วนตัวผมเห็นว่า ในด้านความเจริญทางธรรม การตั้งตนอยู่เป็นโสดนี่มันเพิ่งตีนเขาเองนะ อีกไกลกว่าจะถึงยอดเขา การมีคู่รักมันก็รั้งเราไว้นั่นแหละ ไม่ให้เจริญไปมากกว่านั้น มันร้ายลึกก็ตรงนี้

เพราะมันร้ายลึก มันก็เลยรู้ยาก เข้าใจยาก คนก็สงสัยว่ามันทุกข์ยังไงหว่า? ทุกข์ร้ายแสนสาหัสยังไงหว่า? นี่แหละอริยสัจถึงเข้าใจยากอย่างนี้ ถ้ายังไม่เห็นทุกข์ในการมีคู่ ก็ยังไปไหนต่อไม่ได้หรอก

กำแพง

cover-wall

กำแพง…

ระหว่างนั่งรถผ่านไปในเมืองเชียงใหม่ ก็มองไปเห็นกำแพงเมืองเก่า เห็นรูปทรงที่แปลกตา ก็เลยหยิบกล้องขึ้นมาถ่าย

ตอนสร้างกำแพงเขาก็คงจะสร้างตรง ๆ นั่นแหละ แต่พอนานวันไปผ่านเดือนผ่านปี อะไร ๆ ก็คงจะเปลี่ยนไป มันทำให้ผมนึกถึงธรรมะที่กำลังจะเสื่อมไป สมัยพุทธกาลนั้นอะไร ๆ ก็แข็งแรง แต่พอมายุคนี้ก็หย่อนยาน พอคิดอย่างนั้นมันก็นำมาระลึกให้เราไม่ประมาทได้

ในอีกนัยหนึ่ง แม้กำแพงนี้จะแข็ง แต่ก็มีความพริ้วไหวในรูปทรง มันก็เอามาเป็นกรรมฐานได้อีกมุมเหมือนกัน คือให้จิตใจแข็งแกร่งเหมือนหินนั่นแหละ แต่ก็ต้องมีศิลปะแววไหวพริ้วไหวไปตามกุศล

หลงนานเท่าไหร่ หาทางกลับนานกว่านั้น

วันนี้คุยกับเพื่อนในประเด็นกรรมและเวลาส่งผลในการหลงผิด ว่าคนที่เขาหลงผิดเนี่ย กว่าเขาจะสำนึกแล้วกลับมาปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ได้ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่

ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เหมือนเราเปิดร้านของชำอยู่ข้างทาง มีคนขับรถมาถามทาง แต่แล้วเขาก็ขับไปผิดทาง ไปผิดแยก ไปตรงข้ามกับที่เราบอกเลย ทีนี้กว่าเขาจะกลับมาได้นี่ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ก็เท่าที่เขาขับหลงไปนั่นแหละ แต่ถึงจะรู้ตัวก็ใช่ว่าจะกลับได้ทันทีนะ ถ้าขับรถไปต่างจังหวัดแล้วขับผิดทาง กว่าจะเจอยูเทินนี่ก็ต้องไปต่อหลายกิโลเมตรเลย

กลับมาที่ตัวอย่างใกล้ตัว อย่างที่เห็นกันว่าผมจะเผยแพร่ธรรมะที่พาไปสู่ความโสดอย่างเป็นสุข แล้วที่นี้มีคนมาอ่านแล้วเขาไม่เชื่อ เรื่องอื่นเขาอาจจะเคยศรัทธา เคยเชื่อ แต่เรื่องนี้เขาไม่เอา เขาก็ไปนู่นเลย ไปมีแฟน ไปแต่งงาน ก็ปฏิบัติตรงข้ามกันเลย มีแฟนว่าหลงไกลแล้ว แต่งงานนี่ไกลลิบ ๆ ไม่เห็นแม้แต่เงา ถ้ายังหลงอยู่ มันก็จะไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ มีลูกมีหลาน ไกลออกไปอีก ทีนี้จะกลับมามันไม่ง่ายแล้ว ชีวิตมันมีภาระแล้ว แค่ผัวเมียก็เป็นภาระหนักแล้ว มีลูกมีหลานนี่ยิ่งหนักหนา จะกลับมาปฏิบัติแบบตัวเบา ๆ นี่ไม่ได้แล้ว จะมีกำแพง มีอุปสรรคขวางกั้น นานเท่าไหร่น่ะหรอ? ก็นานเท่าที่ทำมา และหนักเท่าที่ทำใจไว้ผิดนั่นแหละ

แต่คนที่เขาหลงแล้วมาเจอเรานี่ต่างกันนะ คนไม่เคยได้ฟังแล้วหลงมาก็มี นั่นเขารับวิบากมาแล้ว ต่างจากคนที่ฟังแล้วไปผิดทาง วิบากกรรมมันจะต่างกัน

อย่างใครตามอ่านบทความที่ผมพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องความรักเรื่องคนโสดแล้วชัดว่าโสดดีกว่า เลิศกว่า ประเสริฐกว่า แต่กลับไปทำตรงข้ามนั่นแหละ จะยิ่งช้า นาน ไกล ห่างเหิน ทุกข์สะสมหนักนาน แต่ถึงจะทุกข์แสนสาหัสแล้วสำนึกมันจะออกหรือหลุดพ้นไม่ได้ง่าย ๆ เพราะวิบากมันกันไว้ กันไว้เท่าไหร่ก็เท่าที่หลง หนักเท่าไหร่ก็เท่าที่ทำใจไว้ผิด รวมกับกรรมชั่วที่ทำมาด้วยกันกับคู่ครอง และวิบากกรรมเก่าที่เสริมเติมดอกเบี้ยเข้ามาให้ทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อน หลงไปปีสองปี อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นได้ทันที มันก็ต้องทนทุกข์ไปอีกปีสองปีหลังสำนึกผิดเป็นอย่างน้อยนั่นแหละ

เปรียบเทียบง่าย ๆ กับความเห็นที่หลายคนชอบยกมาว่ามีคู่ดีมันก็ดี จริง ๆ มันไม่ดี เพราะจับมือกันควงคู่ก็คือการพากันลงต่ำแล้ว ต่ำแค่ไหนก็แล้วแต่กิเลสจะนำพา ทีนี้ตอนกลับก็เหมือนกับต้องปีนขึ้นมาจากขุมนรกนั่นแหละคุณ ตอนแรกมันหลงไง นึกว่านรกเป็นแดนสวรรค์เขาก็จูงมือกันไป แล้วกว่าจะปีนกลับขึ้นมาจุดเดิมได้นะ คือจุดที่เป็นโสดนั่นแหละ ยากแสนสาหัสเลย เพราะคู่ก็คอยฉุดรั้งไว้ ลูกก็คอยฉุดรั้งไว้ สังคมก็คอยฉุดรั้งไว้ ให้วนเวียนทุกข์ในนรกคนคู่นั่นแหละ

อ่านถึงตรงนี้แล้ว ใครจะลองลงนรกไปศึกษาก็ไม่ว่ากัน

ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของนักบำเพ็ญ

“ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของนักบำเพ็ญ”

เป็นประโยคที่ได้ยินจากครูบาอาจารย์เมื่อไม่นานมานี้ และเป็นประโยคที่ตรงจริตผมที่สุด

สำหรับผมแล้ว ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขนั้นไร้ค่าเมื่อเทียบกับปัญญา ทุกครั้งที่ผมได้รับอะไรมา ผมก็จะสังเกตว่านั้นคืออะไร มีน้ำหนัก มีกำลังเท่าไหร่ จะใช้ประโยชน์อะไรได้ไหม พวกโลกธรรมนี่รับมาแล้วก็ต้องประมาณการใช้ให้ดี ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นภัยเหมือนกัน แต่ปัญญานั้นต่างกัน เมื่อได้รับมาแล้วมีแต่สุข ทั้งแตกฉานในเรื่องโลกทั้งสว่างไสวในทางธรรม

ผมเองได้รับผลของการทำดีมาโดยลำดับ ในส่วนลาภสักการะทั่วไปผมก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจเท่าไหร่ แต่จะดีใจเมื่อได้ปัญญาใหม่ ๆ

บางทีผมก็รู้สึกว่าตัวเองดีใจเหมือนเด็กที่ได้ของเล่นชิ้นใหม่ การได้ปัญญาเพิ่มขึ้นมา เหมือนกับผมได้อาวุธใหม่ที่เอาไว้จัดการกับกิเลสของตัวเอง และยังสามารถใช้อาวุธนั้นช่วยผู้อื่นได้ด้วย หากว่าเขาต้องการ

ตั้งแต่พิมพ์บทความเผยแพร่ประสบการณ์มาจนวันนี้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือตัวผมเองนี่แหละ เพราะยิ่งให้มันยิ่งได้รับ ยิ่งแบ่งปันไปเท่าไหร่มันยิ่งได้มา บางครั้งได้มาเป็นชุดใหญ่ ๆ ยิ่งกว่าถูกหวย จะร้อยล้านพันล้าน…ฯลฯ ก็เอามาแลกปัญญานี้ไม่ได้ มันได้มายากมาก ผมต้องทำดีมากพอมันถึงจะได้

พอได้ปัญญาเพิ่มมามันก็ดีสิ ตัวเองก็ทุกข์น้อยลง แถมยังมีปัญญาในการอธิบายธรรมะให้ละเอียดลึกซึ้งได้มากยิ่งขึ้น มันก็เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น

ผมก็เลยตั้งหน้าตั้งตาจะทำความดีมากยิ่งขึ้น เท่าที่จะมีปัญญาเข้าถึงความดีนั้น ๆ ซึ่งมันก็คงจะพัฒนาไปโดยลำดับละนะ แต่ก็ไม่ได้ทำเพื่อที่จะอยากได้ปัญญาเป็นรางวัลหรอกนะ ที่ทำดีเพราะมีปัญญาเห็นว่าการทำดีมันให้ผลดีมันก็แค่นั้น ส่วนปัญหาแห่งธรรมที่จะได้มานั้นก็คือรางวัลไง ได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ได้ทำดีมันก็ดีถมเถแล้ว

มิจฉาธรรมในเรื่องคนคู่

เป็นเรื่องที่มีภัยต่อสังคมค่อนข้างมาก พอ ๆ กับพระอลัชชีเลยทีเดียว แต่มันละเอียดแนบเนียนกว่ามาก

มีผู้ตั้งตนเป็นผู้รู้หลายคน กล่าวถึงเรื่องความรัก แต่ก็มักจะไม่พ้นการวนเวียนอยู่ในภพคนคู่ คือสื่อสารออกมาแล้วสื่อในลักษณะที่ไม่ทำให้คลายกำหนัด ไม่ทำให้ปล่อยวางความอยากมีคู่ ซ้ำยังไปเพิ่มอุปาทานว่าต้องเลือกคู่ดีแบบนั้นแบบนี้จึงจะดี มีคู่แบบนั้นแบบนี้มีได้ ไม่ผิด อะไรแนว ๆ นี้

ผมจะขีดเส้นแบ่งชัด ๆ ให้ คือ พูดให้คนเลิกหลงอยากมีคู่ กับพูดให้คนหลงอยู่ในการมีคู่ ซึ่งมันจะเป็นสัมมาทางหนึ่ง มิจฉาทางหนึ่ง แต่ในส่วนสัมมานั้นจะมีอนุโลมอยู่ คือถ้ามันจะไปมีให้ได้ มันหื่นกระหายใคร่อยากจนทนไม่ไหวแล้ว อกมันจะแตกตายแล้ว ก็ให้เลือกคู่ที่ชั่วน้อยที่สุด คือมีศีลเป็นคุณสมบัติหลัก คือแพ้กิเลสอย่างไรให้เจ็บน้อยที่สุด จะไม่มีมาเชิดหน้าชูตาอวดคู่หรอก จะอาย จะหลบ จะไม่แสดงตัวตนมากนัก อันนี้คือหิริ ของผู้ที่มีความเห็นถูกอยู่บ้าง ส่วนพวกเห็นผิดนี่ปฏิบัติธรรมหาคู่แล้วเอามาโชว์กันออกหน้าออกตาเฉยเลย

ผมเห็นหลายคนเขาแสดงธรรมที่ผิดเหล่านี้แล้วก็สงสาร จริง ๆ เห็นมานานแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดว่ากรรมใครกรรมมัน แต่ตอนนี้มันชักจะไม่ไหว ผมว่าถ้าปล่อยไปมันจะดึงคนดีให้หลงไปหมด มันจะมีแต่คนทุกข์ เขาไม่ได้สร้างความฉิบหายให้ตนเองคนเดียว เขายังลากคนอื่นไปเห็นผิดอย่างเขาด้วย

ซึ่งก็เคยมีประสบการณ์ตรงเหมือนกัน คือเพื่อนที่ศึกษาด้วยกันมาเขาจะไปมีคู่ แต่ตอนที่เขาจะไปมีคู่ คือไปแต่งงานนั่นแหละ เขาไม่ปรึกษาเราสักคำ เขาไปปรึกษานักบวชที่เขาศรัทธา แล้วไงล่ะ สุดท้ายก็ไปแต่งงาน มันก็หล่น ก็เสื่อมไปแบบนั้น ราศีหมดเลยนะ พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้เกี่ยวกับต้นกำเกิดของคนว่า จากที่เคยมีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส แต่พอหลงไปกินง้วนดินเท่านั้นแหละ ราศีหายเลย แล้วไปมีคู่นี่ไม่ต้องห่วง หนักหนากว่ากินง้วนดินเยอะ

นี่ถ้าเขาเกาะกลุ่มกันไปเขาจะรอด แต่เขาไม่เลือกทางนี้ เขาเลือกทางอื่น เขาเลือกที่จะไปฟังธรรมที่ไม่ฉุดรั้งเขา ไม่ขัดเกลาเขา ส่งเสริมกิเลสเขา เขาก็เลยได้ไปสู่คติที่เขาอยากไป ไปอยู่ในภพที่เขาอยากอยู่

ผมเห็นแบบนี้แล้วก็เสียดายคนดี ทั้ง ๆ ที่มีภูมิธรรมเก่ามาเป็นทุนอยู่แล้ว แต่กลับต้องเสียเวลาหลงทางไปอีกชาติ อาจจะเป็นเพราะผมปล่อยวางมากไปก็ได้ อาจจะเป็นเพราะผมไม่เอาภาระก็ได้ อาจจะเป็นเพราะผมห่วงตัวเองมากไปก็ได้

เพราะการที่ผมจะเอาภาระตรงนี้ มันจะเกิดการกระทบมาก เอาง่าย ๆ คือมีศัตรูมากขึ้น เพราะธรรมมันจะขัดกันอย่างชัดเจน แล้วมันก็จำเป็นต้องชี้แจงว่าเขาผิดอย่างไร นั่นหมายถึงมีโอกาสที่เขาจะไม่พอใจ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้อยากมีศัตรูหรอกนะ แต่ก็เห็นใจคนที่กำลังหลงในมิจฉาธรรมในเรื่องคู่ เรื่องอื่นผมอาจจะไม่เก่ง แต่เรื่องคนคุ่หรือความรักนั้นผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะตีแผ่ความจริงว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูกได้

อย่าพึ่งรีบเชื่อใคร อย่าพึ่งรีบเชื่อผมเช่นกัน ให้ลองศึกษาและพิจารณาเปรียบเทียบเอา ก่อนที่ท่านจะพลาดพลั้งไป เพราะถ้าพลาดเรื่องคู่แล้ว มันอาจจะล็อกไปทั้งชาติเลย มันออกยาก ดีไม่ดีหลงไปอีกหลายชาติเลย

อันที่จริง ผมก็อยากให้คนที่เผยแพร่มิจฉาธรรมในเรื่องความรักเขาหยุดเผยแพร่นั่นแหละ จะขยันสร้าง content ไปมันก็จะยิ่งหลง เป็นวิบากบาปเท่านั้น แต่จะไปบอกเขาอย่างไรได้ ในเมื่อเขาสำคัญตนว่าเป็นผู้รู้ ผมก็เลยคิดว่าสุดท้ายผมก็ต้องนั่งพิมพ์แก้ไขความเห็นเหล่านั้นแล้วเผยแพร่ให้คนพิจารณาเองนั่นแหละ

ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็คงไม่สำคัญ เพราะถ้าผมได้ทำแล้วมันก็ดีแล้ว คนมีภูมิธรรมเขาอ่านแล้วเขาน่าจะเอาประโยชน์ได้ มันช่วยไม่ได้ทุกคนหรอก แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าที่ผมรู้แล้วไม่ได้เอาความรู้นั้นไปทำประโยชน์ให้ใคร (ทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้)

เกี่ยวกับการสร้างตัวตนที่ไม่มีจริง

จากประเด็นในอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการสร้างตัวตนลวงขึ้นมา อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ดูแสงเหนือโฟโต้ชอปมั้ยตัวเธอ : การ ‘เฟคประสบการณ์ท่องเที่ยว’ ลงโซเชียล

ในวงการธรรมะก็มีเหมือนกันนะ ที่คิดเอาเองว่าตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่ ยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็ยังมี มันก็เป็นความหลงของคนนั่นแหละ แต่แบบนั้นมันก็หยาบไปหน่อย แต่แม้จะหยาบแบบนั้น คนส่วนมากก็ยังเข้าใจไม่ได้

ที่ละเอียด ๆ ก็มี คล้าย ๆ ตัดต่อ photoshop นี่แหละ คือตัดต่อธรรมะมาเป็นของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่มีสิ่งนั้นจริง ๆ

….ประเด็นมันเป็นแบบนี้ คือถ้าคนเขาเคยไปในสถานที่เดียวกัน ถึงเขาจะถ่ายรูปมุมเดียวกันมา เล่าถึงความประทับใจเดียวกันมา มันก็ไม่แปลกอะไร

แต่คนที่ตัดต่อนี่คือไม่เคยไป แต่เอารูปเขามาตัดต่อใส่ตัวเองลงไปแล้วคิดไปเองว่าตนเองนั้นไปสถานที่นั้นที่นี้มาแล้ว

ธรรมะก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าท่องจำคำครูบาอาจารย์ได้แล้วจะมีความเห็นความเข้าใจเหมือนกันนะ เรียนธรรมะแบบนกแก้วนกขุนทองนี่ไปไม่รอดหรอก จำภาษาได้ก็จริงแต่สภาวะไม่มีพอตอนพูดมันจะเป็นแพทเทิร์น มีรูปแบบที่ยึดไว้ ไม่แววไว พอเขาถามมันจะมึน ๆ งง ๆ มันจะตอบเขาไม่ได้ พอเขาไล่ไปเรื่อย ๆ จะจนเอง เพราะตัวเองไม่มีจริงไง

ผมเห็นมาบ้างเหมือนกันกับคนที่ปฏิบัติธรรม แต่พอเจอคำถามพลิกแพลงหน่อยมักจะไปไม่เป็น คือเขาไม่ได้ถามตามตำรา เขาถามสภาวธรรมที่มี แต่ดันตอบตามที่เรียนมา ทีนี้ถ้าตอบไม่ได้แล้วพยายามเดาสภาวะ มันจะผิดเข้าไปอีก หน้าแตกไปอีก คนเดาจะไม่รู้ตัวหรอก แต่คนที่รู้จริงเขาจะรู้ว่าใครเดาใครรู้

ส่วนเหตุนั้นก็สรุปง่าย ๆ ว่าเพราะความหลงนั่นแหละ หลงตัวหลงตน มันก็พอกไปตั้งแต่น้อย ๆ จนมันหนา ไปจนถึงขั้นหลงว่าบรรลุธรรมได้เหมือนกัน พอหลงว่าบรรลุธรรมแล้วก็นรกเลย เหมือนเด็กที่ถือขวดนมไปสู้กับเสือนั่นแหละ ประมาณว่าดูการ์ตูนมากไปจนคิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ สุดท้ายตายหยั่งเขียด

เว็บบอร์ดธรรมะ

เมื่อประมาณสองปีก่อนสมัยเพิ่งรู้จักการปฏิบัติธรรมที่ลดกิเลสได้จริง มันก็คันไม้คันมือตามประสามือใหม่ แต่ก็ไม่ได้คันขนาดที่ว่าไปแสดงความคิดเห็นอะไรมั่วไปหมด

เพียงแต่มีความคิดว่า ควรหรือไม่ที่เราจะร่วมเข้าไปเล่นเว็บบอร์ด ไปตอบคำถามที่มีคนตั้งคำถาม ซึ่งหลายๆ คำถามนี่ก็น่าสนใจ น่าตอบมากเลยนะ ถ้าตอบไปเขาคงจะได้ประโยชน์มาก ตอนนั้นก็ยังคิดแบบนั้น

แต่ก็ยั้งใจไว้ มาถามครูบาอาจารย์ก่อนว่ามันเหมาะไหม มันควรหรือไม่ ท่านก็ตอบประมาณว่า ถ้ามันชั่วมากก็ไม่ควร (ผมจำได้ประมาณนี้นะ แต่ประโยคจริงๆ ก็จำไม่ได้)

ผมก็เข้าใจในตนเองเลยนะว่าจริงๆ แล้วเราควรจะไปร่วมกับมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี กลุ่มที่เขายังไม่ค่อยดีเราก็ยังไม่ควรเข้าไปยุ่ง มันจะทะเลาะกันเปล่าๆ เพราะความเห็นมันไม่ตรงกัน ทิฏฐิไม่เสมอสมานกัน ศีลไม่เสมอกัน หลายๆ อย่างไม่ตรงกัน และที่สำคัญเรายังอนุโลมไม่เก่ง จะไปเล่นมันก็จะทำตัวเองให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ดีไม่ดีไปขุ่นใจทะเลาะกับเขาอีก

ดังนั้นตั้งแต่ศึกษาธรรมะมาก็เลยไม่ได้เล่นเว็บบอร์ดธรรมะใดๆ เลย ทั้งที่เป็นคนที่โตมากับยุคอินเตอร์เน็ตและการเล่นเว็บบอร์ด

จริงๆ แล้ว ใครจะเล่นหรือจะตอบก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ถ้าเข้าไปแล้วมันไม่ชั่ว คือตัวเองไม่เกิดความชั่วขึ้นแล้วไม่ทำให้คนอื่นเกิดความชั่วตาม ผมคิดว่ามันก็ไม่มีปัญหา ก็ใช้ศิลปะในการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กันไป

แต่โดยส่วนตัวนั้นผมคิดว่า ลึกๆ มันก็ไม่เหมาะอยู่ดี เพราะลักษณะของพุทธนั้นไม่น่าจะเริ่มต้นด้วยการที่จะเอาคนมานั่งสุมหัวคุยกัน แต่เป็นการแสวงหาบุคคลผู้มีธรรมะ หรือที่เรียกว่า “สัตบุรุษ” แล้วเข้าไปรับฟังธรรมของท่านเหล่านั้น แล้วนำมาปฏิบัติจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสมากกว่า ส่วนการสุมหัวคุยนั้นน่าจะเหมาะสำหรับคนที่ปฏิบัติตรงแล้วเป็นส่วนใหญ่มากกว่า เพราะถ้าปฏิบัติผิด ยิ่งสุมหัวก็จะยิ่งทะเลาะกัน

และจากที่ผมทดลองโดยส่วนตัว คือเอาตัวเองลงไปในกลุ่มต่างๆ แล้วทดสอบดู จึงรู้ว่าเป็นการยากที่จะทำให้คนอื่นๆ รับฟังความเห็นที่แตกต่าง แม้จะมีคนที่ถูกจริงอยู่ในกลุ่มสนทนานั้นก็ตาม แต่ความเห็นของเขาจะถูกกลบลงไปตามน้ำหนักของความเห็นทางโลก (อันนี้ผมอาจจะไม่เก่งเองก็ได้)

แม้ว่าผมจะเป็นคนที่พิมพ์บทความเกี่ยวกับธรรมะที่ตนเองศึกษาไว้ค่อนข้างมาก แต่จะให้ผมสอนใคร หรือแนะนำใคร หรือไปทักใครว่าเขาผิดเขาถูกอย่างนั้น ผมจะไม่ทำ เว้นเสียแต่ว่าคนคนนั้นเขาได้บอกกล่าว หรือร้องขอให้เราบอกเขา ซึ่งก็จะพิจารณาอีกทีว่าจะไม่ตอบเขาหรือตอบเขาอย่างไร

เพราะลึกๆ ผมรู้สึกว่าการตอบคำถามหรือแนะนำกันในอินเตอร์เน็ตนั้นอันตราย เพราะไม่รู้อาการของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นจึงประมาณได้ยาก ไม่เหมือนเจอกัน พูดคุยกัน อันนี้มันประมาณได้ง่ายกว่า ผิดพลาดน้อยกว่า เสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งดูๆ แล้วการนิ่งไว้ก่อนจะเป็นกุศลมากกว่าที่จะเสี่ยงไปแนะนำหรือไปตอบอะไรมั่วๆซั่วๆ

แนะนำ ไตรสิกขา

ในบทความนี้ก็จะมาแนะนำเพจไตรสิกขาที่ทำไว้กันเสียหน่อย แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีบทความอะไรมากนัก แต่ก็มีบทความที่แก่นและแนวทางเขียนไว้แล้ว

ติดตามเนื้อหาได้ที่ เพจไตรสิกขา (facebook) หรือ บล็อก ไตรสิกขา (web)

ไตรสิกขา ปฐมบทไตรสิกขา ปฐมบท : บทความแรกของเพจไตรสิกขา เป็นภาพรวมของการปฏิบัติไตรสิกขาในบทบรรยายโดยไม่แจกแจงเนื้อหามากนัก ซึ่งจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้พอเข้าใจในแนวทางปฏิบัติเสียก่อน

ไตรสิกขา การศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพื่อก้าวข้ามสามภพไตรสิกขา บทย่อ / บทขยาย : ในบทความนี้จะสร้างขึ้นประกอบภาพการ์ตูนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายโดยใช้ธรรมะข้ออื่นๆเข้ามาประกอบในการตรวจสอบการปฏิบัติ ซึ่งในบทความนี้มีทั้งบทย่อที่อ่านได้ง่าย เพราะสรุปมาเป็นเนื้อหาสั้นๆ และบทขยายที่แจกแจงรายละเอียดของแต่ละข้อให้กระจ่างมากขึ้น

เริ่มต้นไตรสิกขาตั้งแต่วันนี้ด้วย อธิศีลอธิศีล : การเริ่มต้นศึกษาสามอย่างนั้นเริ่มที่อธิศีล  การมีศีลนั้นถือเป็นจุดตั้งต้นในการปฏิบัติ แต่การจะมีศีลได้นั้นจะต้องมีปัญญาที่เห็นว่าศีลนั้นดี ศีลนั้นประเสริฐ มาเป็นฐานเสียก่อน หากใจของเรานั้นยังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ในการปฏิบัติศีล ก็เรียกได้ว่าผู้ที่ยังไม่พร้อมจะศึกษา ไตรสิกขา

ติดตามเนื้อหาอื่นๆได้ที่ เพจไตรสิกขา (facebook) หรือ บล็อก ไตรสิกขา (web)