ฝากชีวิตไว้กับ “รัก”

คงจะมีคนหลายคนในโลกนี้ที่ฝากชีวิต ฝากอนาคตไว้กับความรัก คนรัก ครอบครัวที่รัก แต่เมื่อวันหนึ่งที่ที่เขาฝากฝังไว้พังทลาย น้อยคนนักที่จะยังคงดำเนินชีวิตไปในเส้นทางแห่งความดีงามได้

ได้อ่านข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในชีวิตรักมาก็มาก เหตุนั้นก็ไม่ได้มาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเหล่านั้นลงทุนผิด เอาสิ่งสำคัญไปฝากฝังไว้กับอะไรที่มันพึ่งพาไม่ได้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฝากไว้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่มีจริง(ไม่สามารถคงสภาพนั้น ๆ ได้เที่ยงแท้ถาวร) เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนจะทนทุกข์ได้ถึงขนาดไหน จะหลงผิดไปยังไงก็แล้วแต่บุญกุศลของแต่ละคน

เวลาเราสวดมนต์(พุทธ) เราก็มักจะสวดบทไตรสรณคมน์ “พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ …” คือให้ชาวพุทธระลึกว่า ให้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเบื้องต้นแม้จิตยังไม่รู้จักวิธีการพึ่งพาอาศัยสามสิ่งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ยังมีผลให้เพิ่มความตระหนักว่าเราควรพึ่งสามสิ่งนี้นี่แหละ ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ไปสู่ความผาสุก

ยกตัวอย่างคนที่เขาศึกษาธรรมมาประมาณหนึ่ง ได้พบครูบาอาจารย์ ได้พบหมู่มิตรดีที่พากันปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เขากลับเลือกไปพึ่งสามี ภรรยา คือเข้าใจว่าชีวิตจะมั่นคงด้วยการมีคู่ มีลูกหลาน ฯลฯ เขาก็เลือกไปด้วยความหลงของเขา หลงไปยึดเอาสิ่งที่มันไม่เที่ยง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอยิ่งยึดในโลกีย์มันก็ยิ่งจะห่างจากธรรม

คนเรามีอยู่แค่สองเท้า ก็ยืนได้ในพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับจิตถ้าหลงไปยึดสิ่งใดแล้ว ย่อมพรากจากสิ่งอื่นโดยธรรมชาติ เช่นหลงยึดเอาอธรรม ก็ย่อมห่างไกลจากธรรม สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฎฐิไม่รวมอยู่ที่เดียวกัน(ภพในจิต) ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นยึดเอาคู่ครองครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิต ก็ย่อมจะพรากห่างจากพุทธธรรมสงฆ์เป็นธรรมดา

เพราะแทนที่จะใช้เวลาในชีวิตไปคิดว่าต้องทำอย่างไรเราจึงจะเจริญได้มากกว่านี้ จะลดโลภ โกรธ หลง ได้ยิ่งกว่านี้ ก็ต้องเอาเวลาไปเสียกับการสังเคราะห์ปัญหาหรือไม่ก็บำเรอกิเลสคนในครอบครัว วันนี้จะพากันไปกินอะไร จะไปเที่ยวกันที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะวางแผนครอบครัวยังไง สรุปแม้จะดูเหมือนนับถือศาสนา แต่กิเลสเอาเวลาไปกินหมด เวลา ทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ จ่ายให้กับที่พึ่งอันโยกเยกคลอนแคลนเหมือนกับไม้ผุปักเลน

พอวันหนึ่งที่พึ่งเหล่านั้นพังไปด้วยเหตุดังเช่นว่า คู่ครองนอกใจ คู่ครองตาย คู่ครองติดอบายมุข เป็นนักเลง ติดพนัน ติดยา ขี้เกียจ นิสัยชั่วร้าย ฯลฯ คือสภาพที่เคยคิดว่าดี มันเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายชีวิตก็จะพังตามไปด้วยตามน้ำหนักของการยึดสิ่งนั้น ๆ

บางคนยึดไว้แต่คู่ครองครอบครัว ไม่มีสิ่งอื่น พอมันพังไปชีวิตก็จบสิ้นไปด้วย บางคนยึดคู่ครองครอบครัวไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกขายังพยายามมายึดธรรมบ้าง ก็ยังถือว่าเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาที่ผ่านไป อาจจะทำให้ห่างธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วหลงเข้าใจไปเองว่าตัวเองยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง สุดท้ายต่อไม่ติด เข้าไม่ถึงธรรม ชีวิตก็อาจจะพังได้ (ทุกข์แสนสาหัส)

ส่วนคนที่ยึดพุทธธรรมสงฆ์ไว้อาศัย ก็ไม่ต้องลำบากเมื่อคู่ครองครอบครัว เปลี่ยนแปลง แตกหัก พังทลาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งแท้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นยึดไว้ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่สาระแท้ในชีวิต ก็สักแต่ว่าอาศัย ถึงมีอยู่ก็เอื้อให้เกิดกุศล จากไปก็แค่หมดภาระหน้าที่ในบทบาทนั้น ๆ ก็มีแต่อาการเบาลง ไม่เศร้า ไม่อาลัย ไม่เหมือนกับคนที่ยึดคู่ครอง พอคู่ครองครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจจะทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

นี่คือความต่างของการพึ่งพาอาศัยในสิ่งใด ๆ ชีวิตต้องการความผาสุกที่มั่นคง ดังนั้นเราก็ควรเลือก ที่พึ่งทางใจที่มั่นคงด้วย อย่าเอาไปฝากไว้กับ แฟน สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความมั่นคงใด ๆ เลย

กินเนื้อสัตว์ ค้าขายเนื้อสัตว์ ฆ่าสัตว์ หิริโอตตัปปะเสมอกัน

คนเสมอกันย่อมคบค้าสมาคมกัน (คนฆ่า=คนขาย=คนกิน)

เปิดพระไตรปิฎกมั่วๆ ไปเจอสูตรนึง มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ

สัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ” ( อหิริกมูลกสูตร เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐)

ตอนแรกอ่านผ่านๆ ก็นึกไม่ออก ก็ทำใจในใจตามไป โห! สูตรนี้ดีจัง เอามาใช้ประโยชน์ได้ กับเรื่องการไม่กินเนื้่อสัตว์นี่แหละ

คนที่เขาฆ่าสัตว์นี่เขาเป็นคนผิดศีลเป็นประจำเลยนะ จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาก็คิดว่าการฆ่านั้นคุ้มค่าที่จะแลกมาเพื่อการดำรงอยู่ของเขา คนที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำนี่น่าคบไหม? ผิดศีลเป็นประจำนี่เป็นคนดีไหม? ไม่มีหิริโอตตัปปะนี่เจริญไหม?

นี่เขาอยู่นอกพุทธไปไกลมากเลยนะ ชาวพุทธที่แท้จริงนี่ศีล ๕ ขั้นต่ำนี่ต้องให้แน่นๆ เลย ทีนี้คนฆ่าเขาก็คบหาสมาคมกับคนขายไง เขาก็ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เราฆ่านายขาย อันนี้เขาก็มีความเสมอกันแล้ว

ทีนี้คนก็ไปซื้อจากคนขายมา ก็คบค้าสมาคมกับคนขาย มีส่วนได้ส่วนเสียกัน มีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน นั่นก็หมายถึงมีความเสมอกันด้วยหิริโอตตัปปะนั่นแหละ เพราะลึกๆ คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังยินดีที่เขาฆ่ามา

ถ้าผู้อ่านเข้าใจความในสูตรนี้จะเข้าใจเลยว่า ทำไมใน วณิชชสูตร (เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) ที่ตรัสถึงเนื้อหาการค้าขายที่ชาวพุทธไม่สมควรทำ ว่าไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ และค้าขายชีวิตสัตว์ อันนี้มันร้อยกันอยู่ มันเข้ากันพอดี

คนฆ่าคนขาย เขาก็มีความเห็นเดียวกัน คนขายคนซื้อกินเขาก็มีความเห็นเดียวกัน ดังนั้นคนฆ่าคนซื้อกินก็มีความเห็นเดียวกัน

รู้อย่างนี้แล้ว อย่ารีรอให้นรกถามหาเลย ควรปฏิบัติให้มากทำให้ความเห็นให้ถูกตรง ให้หิริโอตตัปปะมันเจริญขึ้น ให้มันเจริญไปกว่าคนที่เขาผิดศีลฆ่าสัตว์ ไม่ใช่บอกว่าตัวเองบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แต่ดันมีความเห็นตรงกับคนที่ฆ่าสัตว์ มันก็ผิดอยู่ในตัวนั่นแหละ

มงคล ๓๘ ข้อแรกนั้นท่านให้ห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล …แต่นี่อะไร ไปซื้อเนื้อสัตว์มันก็สนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์อยู่แล้ว ยิ่งเอามากินให้ดูยิ่งกลายเป็นการชักชวนให้คนอื่นกินตามอีก มันก็หลงกันไปใหญ่ อย่างนี้แหละ ติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดไปหมดเลย บรรลุธรรมกันไปนอกขอบเขตพุทธกันไปหมด หลุดกันไปไกลแบบนี้จะกลับมากันได้ไหมนี่ ก็พยายามทำความเข้าใจกันนะ

ความเสื่อมสลายโดยรูปของศาสนา

ความเสื่อมสลายโดยรูปของศาสนา

อ่านเจอข่าวสถานที่ปฏิบัติธรรมลารุงการ์ในทิเบต กำลังถูกรื้อถอนและจำกัดจำนวนผู้พักอาศัยลดลงมากกว่าครึ่ง

ก็มานั่งคิดว่า ศาสนานี่มันต้องเสื่อมแน่ๆ แต่เพียงแค่มันเสื่อมโดยรูปเท่านั้น นามนั้นยังมีอยู่ แต่นามนั้นเป็นของจริงไม่จริงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องพุทธในทิเบตก็ยกไว้ก่อน เอาพุทธในไทยนี่แหละ

ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีกระแสกล่าวหาว่าพุทธนั้นโดนศาสนาอื่นโจมตี ก็มานั่งนึกอีกว่า เขาจะมากล่าวหา โจมตี สอดไส้สร้างความเสื่อมเสียแล้วมันยังไงหรือ? ถ้าเนื้อแท้มันยังอยู่ มันต้องไปกังวลทำไมเล่า ปัญหาจริงๆ คือตอนนี้มันมีแต่หนังรึเปล่า เนื้อไม่มีแล้ว มีแต่เปลือกๆ มันเลยสั่นคลอน หวั่นไหวได้ง่าย

ประเด็นคือคนที่ไม่รู้จริงก็จะกลัวความเสื่อม วิตกกังวลกันไปใหญ่ ก็พากันขัดขืนบ้าง เร่งสร้างหลักฐานบ้าง ก็เห็นชาวพุทธไทยนี่ชอบสร้างหลักฐานในการมีอยู่ของพุทธกันเหลือเกิน จนมันค่อนไปทางอัตตาเสียมาก คือมีอะไรก็สร้างวัตถุเป็นหลัก ธรรมะก็เน้นวัตถุกันอีก จะส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานนี่เขาเน้นส่งแต่วัตถุกันนะ แต่จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ ก็เขารู้เท่านั้น

ในส่วนตัวผมนะ ว่าจะไม่เน้นวัตถุเลย เอาข้างในให้มันได้จริงๆ ก่อนเถอะ ถึงวันนั้นจะมีวัดไม่มีวัด มีพระไม่มีพระ มีพระไตรปิฎกหรือไม่มี มันก็ไม่ได้สำคัญเท่าไหร่หรอก (จริงๆ มีก็ดี แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร)

อย่างตอนที่พระเถระท่านร่วมกันสร้างพระไตรปิฎกขึ้นมานี่ วัตถุมันไม่ได้มาก่อนนะ มันตามมาทีหลัง มันเป็นมรดกจากความสมบูรณ์ คือพระอรหันต์ 500 รูปมาร่วมกันสร้าง ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์นี่เข้าร่วมไม่ได้นะ

แต่ทุกวันนี้อรหันต์ไม่อรหันต์ไม่รู้แหละ ตะบี้ตะบันสร้างวัตถุกันไป วัดบ้าง ตำราบ้าง ก็เยอะแยะหลากหลาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะ ให้ทำคุณอันสมควรก่อน จึงพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง..

ผมนั่งนึกถึงวันที่พุทธในไทยมันเสื่อมสลายเหมือนกันนะ คือรูปไม่เหลือเลย วัดก็เละเทะ พระก็เละเทะ แล้วมันจะยังไง นึกไปมันก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะมันต้องเป็นไปอย่างนั้นอยู่แล้ว และที่สำคัญพุทธก็ไม่ได้สืบทอดกันแบบนั้นเสียหน่อย ศาสนาในปัจจุบันจะเละอย่างไร คนที่มีภูมิเก่าเขาก็สืบทอดสิ่งที่เขามีเขาเป็นมาก่อน แล้วพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ พอมีจริงแล้วมันก็เลยไม่กังวลว่าพุทธจะเสื่อมสลายไป เพราะรู้ว่าตนเองนี่แหละมีความเป็นพุทธอยู่ ถึงเหลือคนเดียวในโลกก็ทำไปเท่าที่ทำได้ ตายไปก็เกิดมาศึกษาต่อไปจนกว่าจะหมดกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้อย่ารีบเชื่อ ทั้งตำรา อาจารย์ผู้มีชื่อเสียง เพราะของพวกนี้มันไม่เที่ยง มันหลอกได้ มันปลอมได้ แต่ภาวะในตนนี่มันเป็นของจริง มันรู้แล้วรู้เลย มันแน่นอนกว่า เพราะเกิดจากการปฏิบัติสะสมมาหลายภพหลายชาติ พอไปลองปฏิบัติตามดูก็จะรู้เองว่าทางไหนใช่ ทางไหนไม่ใช่ ดังนั้นความเป็นพุทธจึงไม่หล่นหายไปไหน แม้รูปของศาสนาจะเสื่อมไปโดยสมบูรณ์ก็ตาม คนที่เขาปฏิบัติได้จริงถึงมรรคผลจริง เขาก็มีของเขาอยู่แบบนั้นแหละ

ทีนี้คนไม่รู้จริงเขาก็จะไม่มีความเข้าใจแบบนี้ เขาก็จะกังวล ตื่นตระหนก หากพุทธที่เขารักโดนทำร้ายทำลาย ถูกทำให้เสื่อมลง ส่วนใหญ่ก็จะเร่งสร้างวัตถุ สร้างมวล แต่ไม่ได้สร้างคุณภาพ คือไม่ทำความเห็นของตนให้ถูก เขาก็เลยต้องทุกข์เพราะความผิดหวังจากการพลัดพรากอยู่อย่างนั้น

 

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

เรื่องปฏิบัติธรรมนี่ก็เป็นเรื่องที่เหมือนจะใกล้ตัวแต่ก็มักจะไกลตัว มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงเข้าใจไปว่าจะไปรอปฏิบัติธรรมกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป หรือแม้กระทั่งหลงไปว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นกิจกรรมคนแก่ ทั้งๆที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมหรือการขัดเกลากิเลสนั้น ทำให้เราสามารถพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นได้ ลดกิเลสได้ก่อนก็พ้นทุกข์ก่อน ก็เกิดสุขก่อน ได้สุขตั้งแต่วันนี้ มันไม่ดีหรืออย่างไร…

อ่านต่อได้ที่บทความ :  ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat