เรียนรู้การสอนจากอาจารย์

การที่เราได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้ฟังความคิดเห็นของท่าน ได้พูดคุย ได้ซักถาม ได้ทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เลิศยอดที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะพึงมีได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในอนุตริยสูตร

ผมเคยได้เห็นหลายลีลาการสอนของอาจารย์ทั้งแบบปกติ จริงจัง ดุ ปล่อยวาง ทำเฉย ฯลฯ แต่ละครั้งก็เป็นสิ่งที่ประทับไว้ในใจ เพื่อการเรียนรู้และประโยชน์ของศิษย์

ครั้งนี้ไปค่ายพระไตรปิฎก สิ่งพื้นฐานที่ได้เรียนก็คือภาคทฤษฎี แต่ค่ายนี้จะมีภาคปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นมา คือกิจกรรมการทำบาราย ซึ่งต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการทำ

ภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้แสดงให้ได้เห็นและเรียนรู้อยู่เสมอ ผมไม่แปลกใจที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาและมาร่วมเสียสละเช่นนี้

ระหว่างที่ร่วมพูดคุยงานในส่วนวิชาการและสื่อ อาจารย์ได้เดินมาทักทาย และพูดคุย มีเนื้อความตอนหนึ่งประมาณว่า “การสอนงานคนนี่แหละจะทำให้บรรลุธรรมเร็วที่สุด” เนื้อหาขยายหลังจากนั้นคือการสอนนี่จะได้พบกับความไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เพ่งโทษกันไปกันมาระหว่างนักเรียนกับคนสอน ก็จะมีโจทย์ให้ได้ฝึกล้างใจกันไป

มาถึงตอนเย็น ผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนาม ทำบาราย ขนอิฐและเศษวัสดุ ลงในร่องน้ำ

ซึ่งตรงนั้นก็มีท่อน้ำที่เชื่อมระหว่างถนนสองฝั่ง อาจารย์ก็บอกให้เอาหินก้อนใหญ่ไปกันปากท่อไม่ให้มีเศษหินเล็ก ๆ หล่นเข้าไป

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าวางหินอย่างไร เพื่อที่จะได้ผลนั้น อาจารย์ก็มาวางให้ดู เราก็ทำตาม…

ผ่านไปสักครู่เล็ก ๆ ระหว่างลำเลียงหินและเศษวัสดุมาถม ผมก็ลืมไปเลยว่าเคยเอาหินไปวางบังปากท่อ ว่าแล้วก็เอาพวกเศษปูนที่รับมาทุ่มลงไป หมายจะให้เศษแผ่นปูนแตกละเอียด เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาตามทุบกันทีหลัง …อาจารย์เห็นดังนั้นก็ทักอย่างปกติประมาณว่า ค่อย ๆ วางก็ได้นะ เพราะแผ่นหินที่วางกันปากท่อไว้แตกหมดแล้ว

พอได้ยินดังนั้น เราก็นึกได้ ลืมสนิทว่าเคยทำไว้ ว่าแล้วก็ค่อย ๆ รื้อมาทำใหม่ วางให้ดีกว่าเดิม

… ดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม แต่ผมได้เรียนรู้อย่างมากมาย เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า การสอนคนต้องทำอย่างไร

นี่ขนาดผมทำลายสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ท่านก็ยังเฉย ๆ ยังเบิกบานได้อย่างปกติ แล้วก็ยังสามารถบอกสิ่งดีกับผมได้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยวางให้มันพังไปอย่างนั้น เป็นความสงบเย็นที่จะรับรู้ได้เมื่อได้ทำงานร่วมด้วย

ตอนที่จัดหินใหม่ให้เข้าที่ ผมก็ระลึกว่า เราก็ต้องใจเย็นแบบอาจารย์นี่แหละ ทำให้ได้แบบอาจารย์นี่แหละ แม้เราจะบอกจะสอนเขาไปแล้ว เขาทำไม่ได้ เขาทำผิด เขาทำพัง เราก็ต้องวางใจ แล้วก็ทำดีบอกสิ่งดีกับเขาไปเรื่อย ๆ ส่วนความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สอน มีเพียงการนำเสนอสิ่งดีเท่านั้นที่เป็นหน้าที่

สรุปก็ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี คือได้ฟังคำสั่งสอน และภาคปฏิบัติ คือทำให้ดู ให้เห็นเลยว่า ความดีนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะดีจริง ดีแท้ ดีไม่มัวหมอง (ความดีที่มัวหมอง คือดีที่มีอัตตา หรือมีความชอบ ความชังไปปน)

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าและคนบาป ทำไมจึงไม่เลิกกินเสียล่ะ?

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม 25 สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ข้อ 112)

อ่านเจอพระสูตรนี้คิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนทำใจในใจได้ ถ้าอยากเจริญ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลก … ต่อให้ไม่อยากก็ได้ แค่ใช้ชีวิตไม่ให้ไม่เป็นโทษภัยต่อสัตว์อื่นก็พอ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราละเว้นบาป เหมือนคนมีปัญญา รู้เห็นอยู่ว่าสิ่งที่กำลังจะกินอยู่นั้น มันก่อบาป ก่อโรค เป็นทั้งห่วงโซ่อุปทานในวงจรบาป เป็นทั้งอาหารก่อโรคภัยในตนเอง บัณฑิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไปทำอย่างนั้นให้มันลำบากหรอก ก็เหมือนมันมีทางให้เลือกเดิน ทางรกกับทางเรียบ ๆ เราก็ไปทางเรียบสิ จะไปทางรกทำไมให้มันลำบาก

ทางอื่นในการดำรงชีวิตนอกจากกินเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แล้วจะไปกินทำไมให้มันลำบากตัวเอง เบียดเบียนสัตว์อื่น

บัณฑิตหรือผู้รู้นี่เขาเห็นแล้วว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ เขาก็เลิกไปเท่านั้นเอง เพราะไอ้บาป เวร ภัย นี่มันชัด ๆ อยู่แล้ว เป็นการเบียดเบียนหยาบ ๆ ที่แม้แต่คนทั่วไป ศาสนาใดเขาก็รับรู้ได้ จริง ๆ ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่น่าจะมั่นใจว่าตนเป็นพุทธนะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ไม่ใช่ศาสนาไม่รู้ มั่ว ๆ เดา ๆ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมใดเบียดเบียน กรรมใดไม่เบียดเบียน อันนี้มันก็หาศึกษาไม่ได้ยากในยุคอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแบบนี้นะ

คนที่เห็นทางที่ดีกว่า สบายกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า แล้วยังไม่ไป ก็ไม่แปลก ก็เขาไม่ใช่บัณฑิตไง …ตรงข้ามกับบัณฑิตก็มีแต่คนพาลเท่านั้นแหละ

พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

บรรลุธรรมแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น คือความเห็นลามกที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ในสังคมพุทธส่วนใหญ่จากในอดีตที่ผ่านมา มักมีความเห็นหนึ่งที่ต่อต้านการแสดงตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เขาจะอ้างเหตุว่าเป็นการอวดตัวอวดตนบ้างล่ะ คนบรรลุธรรมจริงไม่บอกบ้างล่ะ บอกว่าบรรลุแล้วผิดวินัยบ้างล่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นที่จำ ๆ กันมาเพื่อที่จะยึดว่าสิ่งเหล่านั้นถูก ตามที่เขาถูกใจ

ในองค์ประกอบของความเห็นผิดเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์โลกีย์อยู่คือ ผู้ที่ยังมัว ๆ เมา ๆ ปฏิบัติหลง ๆ ไม่บอกใคร พอตนเองปฏิบัติได้ประมาณหนึ่ง มีผู้ศรัทธา เขาก็หลงคิดไปว่าอาจารย์ตนบรรลุธรรม แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ก็เดา ๆ กันไป แล้วก็งง ๆ กันอยู่แบบนั้น กลายเป็นสภาพตาบอดจูงตาบอดชวนกันไปดูหนังใบ้ คือตนเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรแล้วศิษย์ก็หลงไปว่าอาจารย์บรรลุ แล้วก็ไม่ได้เปิดเผยความจริง สุดท้ายก็เลยเป็นความมัว ที่ถูกต้องในสังคมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุด แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับกลายเป็นศาสนา ๆ ที่มัว ๆ เดา ๆ เอา คนนั้นเป็นอย่างนั้น ท่านนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เดาเอากันตามที่เขาว่ามา

ทีนี้มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบรรลุธรรมแล้วไม่บอกนี้ว่าอย่างไร

ในโลหิจจสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 351) มีพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือมีความคิดลามกคนหนึ่ง มีความเห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะเห็นว่าตัดกิเลสไปแล้ว จะไปสร้างเครื่องผูกขึ้นใหม่ทำไม ซ้ำยังบอกอีกว่าการบอกผู้อื่นเป็นความโลภ เพราะคนอื่นเขาจะมาสรรเสริญ จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พราหมณ์สรุปว่าการที่ผู้บรรลุธรรมนั้นบอกผู้อื่นคือความลามก

จะสังเกตได้ว่า ความเห็นของคนส่วนมากจะตรงกับพราหมณ์ลามกท่านนี้ แต่สุดท้ายจะจบไม่เหมือนกัน เพราะยังดีที่พราหมณ์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับอาหารของพราหมณ์

หลังพระพุทธเจ้าจากเสวยอาหารเสร็จ ท่านก็ถามพราหมณ์ว่า จริงหรือที่ท่านมีความเห็นลามกเช่นนั้น พราหมณ์ ก็ตอบว่าจริง และเชื่ออย่างนั้นอย่างเต็มใจ มั่นใจ

ได้ยินเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนโดยการเปรียบเทียบ เพื่อน้อมใจให้พราหมณ์ทำใจในใจตาม ความโดยสรุปว่า ถ้าเจ้าเมืองผู้มีสมบัติมาก ไม่แบ่งปันทรัพยากร ไม่บริหารทรัพยากรไปเพื่อสังคม ครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองนั้นถือเป็นคนที่เป็นภัยต่อชาวเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าเป็นภัย และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร

แล้วท่านก็ถามต่อว่าทำอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าไม่ มีจิตเป็นศัตรูหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่ มีจิตเป็นศัตรูนี่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่

พระพุทธเจ้าก็สรุปความว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดดังนั้น จะมีที่ไปสองอย่าง คือ 1. ไปนรก คือเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ 2.เกิดความเป็นเดรัจฉานในตน คือ เกิดความโง่ดั่งสัตว์เดรัจฉาน

หลังจากนั้นท่านก็สอนธรรมแก่พราหมณ์อีกหลายบท สุดท้ายพราหมณ์ก็ยอม และขอมอบตนเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา

…จะสรุปความและยกตัวอย่างให้ตรงยุค ก็คงต้องเทียบกับผู้นำประเทศที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แจกจ่ายหรือบริหารทรัพยากรให้ผู้อื่น เก็บไว้บำเรอตน เก็บไว้เพื่อตนผู้เดียว ไม่ให้ใคร ภาพที่ออกมาก็คงจะเป็นคนผู้เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดแน่นอน มีของดีแท้ ๆ แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ไม่แจกแจงให้ผู้อื่น

กลับมาในบริบทนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน เขาก็เห็นผิดไปตามวิบากของเขา ดีไม่ดีก็ไม่มีธรรมในตนจริงหรอก ไปตีกินเอา ไม่พูดก็ไม่ผิด ไม่มีใครมาตรวจสอบ สมัยนี้แม้ไม่บอกว่าตนบรรลุอะไร เขาก็เอาของมาบำเรออยู่ดี สู้อยู่เงียบ ๆ กินอยู่ไปเรื่อย รักษาตัวรอดไปจะดีกว่า บอกไปเดี๋ยวเขามาตรวจสอบเอา เหนื่อยอีก แถมไม่มีจริงอีก จะยิ่งลำบาก

แล้วจะเห็นว่าตอนแรกที่พราหมณ์มีความเห็นลามก เพราะไม่ได้อยู่ในพุทธ แต่ทุกวันนี้ความเห็นลามกเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อพุทธนี่เอง ดังนั้น มันจึงมีการบิดเบี้ยว ปัดป้อง เลี่ยงบาลี กันจนหลง จนงงกันไปหมด จริง ๆ แล้วความเห็นและการปฏิบัติส่วนมากในปัจจุบันนั้นนอกขอบเขตพุทธไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อเท่านั้นที่ใช่ แต่ความเห็นความเข้าใจไม่ใช่

โลหิจจพราหมณ์ เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ในเบื้องต้นจะมีความเห็นผิด แต่ก็สามารถทำใจในใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านน้อมนำได้เป็นอย่างดี จนละความลามกได้ในที่สุด

อย่าคิดว่าคนที่มีปัญญาอย่างโลหิจจพราหมณ์จะหากันได้ง่าย ๆ ในยุคนี้นะ ดีไม่ดีอ่านพระสูตรนี้ไปก็ยังเมาอยู่เลย ยังเบี้ยวไปตามความเห็นลามกของตนอยู่เลย ยังไม่เปลี่ยนทิศไปจากมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบบนี้แหละ อย่าไปหวังมาก ใกล้กลียุคแบบนี้คงต้องทำใจ

เกี่ยวกับการสร้างตัวตนที่ไม่มีจริง

จากประเด็นในอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการสร้างตัวตนลวงขึ้นมา อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ดูแสงเหนือโฟโต้ชอปมั้ยตัวเธอ : การ ‘เฟคประสบการณ์ท่องเที่ยว’ ลงโซเชียล

ในวงการธรรมะก็มีเหมือนกันนะ ที่คิดเอาเองว่าตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่ ยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็ยังมี มันก็เป็นความหลงของคนนั่นแหละ แต่แบบนั้นมันก็หยาบไปหน่อย แต่แม้จะหยาบแบบนั้น คนส่วนมากก็ยังเข้าใจไม่ได้

ที่ละเอียด ๆ ก็มี คล้าย ๆ ตัดต่อ photoshop นี่แหละ คือตัดต่อธรรมะมาเป็นของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่มีสิ่งนั้นจริง ๆ

….ประเด็นมันเป็นแบบนี้ คือถ้าคนเขาเคยไปในสถานที่เดียวกัน ถึงเขาจะถ่ายรูปมุมเดียวกันมา เล่าถึงความประทับใจเดียวกันมา มันก็ไม่แปลกอะไร

แต่คนที่ตัดต่อนี่คือไม่เคยไป แต่เอารูปเขามาตัดต่อใส่ตัวเองลงไปแล้วคิดไปเองว่าตนเองนั้นไปสถานที่นั้นที่นี้มาแล้ว

ธรรมะก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าท่องจำคำครูบาอาจารย์ได้แล้วจะมีความเห็นความเข้าใจเหมือนกันนะ เรียนธรรมะแบบนกแก้วนกขุนทองนี่ไปไม่รอดหรอก จำภาษาได้ก็จริงแต่สภาวะไม่มีพอตอนพูดมันจะเป็นแพทเทิร์น มีรูปแบบที่ยึดไว้ ไม่แววไว พอเขาถามมันจะมึน ๆ งง ๆ มันจะตอบเขาไม่ได้ พอเขาไล่ไปเรื่อย ๆ จะจนเอง เพราะตัวเองไม่มีจริงไง

ผมเห็นมาบ้างเหมือนกันกับคนที่ปฏิบัติธรรม แต่พอเจอคำถามพลิกแพลงหน่อยมักจะไปไม่เป็น คือเขาไม่ได้ถามตามตำรา เขาถามสภาวธรรมที่มี แต่ดันตอบตามที่เรียนมา ทีนี้ถ้าตอบไม่ได้แล้วพยายามเดาสภาวะ มันจะผิดเข้าไปอีก หน้าแตกไปอีก คนเดาจะไม่รู้ตัวหรอก แต่คนที่รู้จริงเขาจะรู้ว่าใครเดาใครรู้

ส่วนเหตุนั้นก็สรุปง่าย ๆ ว่าเพราะความหลงนั่นแหละ หลงตัวหลงตน มันก็พอกไปตั้งแต่น้อย ๆ จนมันหนา ไปจนถึงขั้นหลงว่าบรรลุธรรมได้เหมือนกัน พอหลงว่าบรรลุธรรมแล้วก็นรกเลย เหมือนเด็กที่ถือขวดนมไปสู้กับเสือนั่นแหละ ประมาณว่าดูการ์ตูนมากไปจนคิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ สุดท้ายตายหยั่งเขียด