บัณฑิต บนเส้นทางธรรม

การที่เราจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกนั้นได้นั้น จะต้องดำรงชีวิตอย่างบัณฑิต(ผู้รู้ทันกิเลส จนชำระได้โดยลำดับ) แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยินดีเป็น…บัณฑิต

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ ย่อมเศร้าหมอง

ถ้าผมจะเอาเกณนี้มาวัด ผมเชื่อว่าน้อยคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมจะเป็นบัณฑิต แน่นอนว่ามีอยู่ส่วนหนึ่งที่เขายินดีประพฤติตนเป็นโสด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

พวกที่ตั้งใจชัดเจนมันก็ชัดดี ส่วนพวกที่เลือกไปมีคู่เลยมันก็ไปทางนรกชัดเจนดี พวกลูกผีลูกคนนี่ดูยาก เหมือนจะตั้งใจ เหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะจริงใจ เหมือนจะเอาธรรมะ เอานิพพานเป็นตัวตั้ง แต่สุดท้ายมักจะ…”เละเทะ” กว่าจำพวกที่เลือกไปมีคู่แต่แรกอีก

มีนักปฏิบัติธรรมหลายคนอยู่เป็นโสด แต่หลายคนก็ไม่ใช่จะเป็นโสดเพราะธรรมะ นั่นเพราะเขาหาที่ถูกใจไม่ได้สักที เขาไม่ได้เข้าใจโทษของกิเลส ไม่ได้เข้าใจวิบากกรรม ไม่ได้เห็นวัฏสงสารที่วนเวียนหลงสุข หลงทุกข์ หลงชอบ หลงชัง มายาวนาน

เป็นการเสแสร้งแกล้งทำ เป็นมารยาของกิเลสที่กดอาการไว้ แสร้งว่าเป็นบัณฑิต เพราะเป็นโสดแล้วเพื่อนนักปฏิบัติธรรมต่างยินดี แล้วทีนี้ปฏิบัติธรรมไปแต่ไม่ได้ลดกิเลส ปฏิบัติธรรมไม่สัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติมิจฉาธรรม ไม่คบสัตบุรุต คบคนพาล กามมันก็โต ความอยากมันจัด สุดท้ายมันไม่เอาแล้วโสดเสิด.. เอาคู่นี่แหละสุขกว่า มันกว่า…

วิบากกรรมของคนที่ศึกษาและปฏิบัติแล้วไปมีคู่จะหนักกว่าคนทั่วไปที่เขายังไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นนักบวชในพุทธศาสนาก็ปาราชิก เปรียบได้กับชาตินี้เกิดมาเป็นโมฆะ เกิดแล้วตายไปเปล่า ๆ ฟรี ๆ เหมือนคนหาเงินหลายร้อยล้านมาแล้วเอาไปเผาเล่น เพื่อเสพสุขจากความอบอุ่นของไฟนั้น

ในมุมของฆารวาสแม้จะไม่มีโทษทางวินัยระบุไว้ แต่โดยสัจจะก็เรียกว่าร่วงกันไปยาว ๆ ชาตินี้คงไม่หวังจะมาเจอกันอีก เพราะรู้แล้วว่าบัณฑิตควรปฏิบัติตนให้เป็นไปเพื่อความโสด แต่จะไปเอาอีกทาง ไปเอาทางตรงข้าม ไปเอาคู่ครอง ไปเอาอย่างคนโง่ มันก็คือการดูถูกธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

ดูถูกอย่างไร? ก็ดูถูกว่าการมีคู่นั้นสุขกว่าการอยู่เป็นโสดยังไงล่ะ… เพราะความจริง พระพุทธเจ้าตรัสสอนแต่เรื่องทำให้พ้นทุกข์ ให้เป็นอยู่ผาสุก ให้เกิดปัญญา ท่านชี้ให้ว่าถ้าจะเจริญ ให้ทำตนเป็นดั่งบัณฑิต ต้องดำเนินไปแบบนี้ แล้วคนที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม รู้ธรรมแล้ว แล้วยังจะไปเอาทางตรงข้าม สรุปก็คือเห็นการมีคู่ดีกว่าธรรมะพระพุทธเจ้านั่นแหละ มันก็ห่างไกลความผาสุก ห่างไกลนิพพานไปเรื่อย ๆ

ผมจะตัดขีดพวกที่รู้ว่าดีแล้ว ทางนี้ดีที่สุดแล้ว แต่ไม่เอา ไปเอาอีกทาง ว่าเป็นพวกทำกรรมที่หนัก ถึงจะวนกลับมาก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก วิบากกรรมของการดูถูกธรรมมันหนัก ขนาดตอนแรกเขายังอยู่เป็นโสด ยังมีโอกาสได้ศึกษาสิ่งที่ดี เขายังเอาตัวให้รอดไม่ได้ แล้วตอนหลังจะมาเอาดี ยาก!! สภาพเหมือนไปตกบ่อขี้มา ขนาดยืนบนพื้นดินธรรมดายังเดินต่อไม่ได้ อยู่ในบ่อขี้บ่อกามมันยิ่งขึ้นยาก จะให้พ้นทุกข์ พ้นชั่ว พ้นโง่ มันไม่ง่าย

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้ห่างไกลคนพาล (คนที่เอาแต่เสพตามกิเลส) คบหาบัณฑิต … ผมว่านะ จากประสบการณ์ ถ้าจะเอาให้ชีวิตเจริญและมีเรื่องปวดหัวน้อย ผมคบแต่บัณฑิตดีกว่า พวกอยากมีคู่ หมกมุ่นกับเรื่องหาคู่มาบำบัดอาการอยากนี่ไม่ไหวล่ะ ให้เขาทุกข์กับความกระสันใคร่อยากของเขาให้พอเถอะ

สังคมที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ฯลฯ

พูดในรายการที่ได้เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ ที่ว่าการจะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน และผาสุก* นั้น จำเป็นต้องมีหมู่มิตรดีเป็นองค์ประกอบ

ก็มีผู้สนใจถามมาว่า จะเริ่มต้นที่ไหน ในประสบการณ์ของผมมีความเห็นว่า น่าจะเริ่มที่ค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม เพราะมีองค์ประกอบครบพร้อมในการศึกษา ยิ่งเป็นค่าย 5 วันขึ้นไปแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้พบกับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง คือไม่กินเนื้อสัตว์ตั้งหลายวันก็ยังแข็งแรงมีกำลังอยู่ได้ ไม่ตาย และหลายคนเขาก็ทำได้ ไม่เห็นจะแปลกอะไร ซึ่งมันก็เป็นพลังที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้น

หรือถ้าไม่มีเวลามากนัก ผมคิดว่าชุมชนในเครือข่ายอโศกน่าจะตอบโจทย์ได้ดี เช่นที่สันติอโศก (ถ.นวมินทร์) เขาจะมีตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จริง ๆ แล้วย่านนั้นก็มีอาหารมังสวิรัติขายประจำนั่นแหละ แต่เสาร์อาทิตย์ก็จะค่อนข้างคึกคักกว่า

สิ่งที่จะได้รับจากที่นี่คืออาหารมังสวิรัติราคาถูกและอร่อยตามมาตราฐานคนไทย ซึ่งต่างจากค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมที่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

ร้านขายอาหารมังสวิรัติในย่านสันติอโศก มีหลายร้าน สามารถเลือกซื้อเลือกกินได้ตามที่สนใจ โดยจะมีร้านหลักของชุมชน ชื่อว่าชมรมมังสวิรัติฯ สันติอโศก อยู่ติดถนน ตอนนี้อยู่หน้าปากซอยนวมินทร์ 48

ส่วนผู้ที่สนใจหาความรู้สามารถสอบถามที่ชมรมมังสวิรัติชั้น 2 จะมีหนังสือเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์จำหน่ายอยู่ ซึ่งเป็นแนวทาง ความเห็น ที่หาศึกษาได้ยากในปัจจุบัน

ผมขอแนะนำเพียงแค่ 2 องค์กรนี้เท่านั้น เพราะเท่าที่ศึกษา ผมมั่นใจว่าถ้าใครได้เข้าไปคบคุ้น ศึกษา พากเพียรปฏิบัติตาม ก็จะนำความผาสุกที่ยั่งยืนมาให้

ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา

ประโยคทองของอาจารย์หมอเขียว ที่ช่วยในการประมาณได้ดีมาก ๆ

ทำความผาสุกที่ตนนี่มันก็พอตรวจใจกันได้ง่าย ถ้ายังมีอาการทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ก็ทำใจ ปรับใจตรงนี้กันก่อน งานเราก็ต้องมาก่อนเป็นธรรมดา

ช่วยคนที่ศรัทธานี่สิยาก มันเป็นการประมาณข้างนอกแล้ว รู้เรานี่พอไหว รู้เขานี่เดากันล้วน ๆ จะไปช่วยเขานี่เขาศรัทธาเรารึเปล่า? เชื่อมั่นในเรารึเปล่า? มันก็ต้องใช้การประเมิน มันเดาไม่ได้หรอก

การประเมินก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่มันจะประเมินเขาพลาดเป็นธรรมดา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าช่วยคนที่ศรัทธาลึกซึ้งขึ้น คือศรัทธามันมีน้ำหนัก มีความเข้มของมัน และศรัทธา ไม่เที่ยง … คือเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มได้ ลดได้ แต่ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เช่นเมื่อก่อนเขาบอกว่าศรัทธาเรา แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราไปยึดตามสัญญาเก่า ไม่ประเมินจากปัจจุบัน เวลาช่วยเขามันจะพลาดกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พลาดกันตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นการไม่รีบ ไม่ลงรายละเอียด คุยเก็บข้อมูลไปก่อน มันก็จะช่วยป้องกันการผิดใจกันได้

แบบที่ลวง ๆ ก็มีเหมือนกัน เหมือนจะศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรจริงจัง คือมีอยู่ แต่ไม่มี เหมือนจะให้ช่วย แต่ก็ไม่ได้ทำตามอะไร อันนี้ก็เป็นศรัทธาที่น้ำหนักน้อย ความเข้มน้อย ศรัทธาแบบเจือจาง แต่เผิน ๆ อาจจะดูเยอะ ต้องใช้เวลาประเมินเช่นกัน

ในตอนนี้มันก็เลยสบายแบบสุด ๆ เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือถ้าไม่ชัดว่าศรัทธา ไม่ชัดว่าเชื่อมั่นในความเห็นกัน ประมาณ 90 % ผมไม่ต้องปรุงช่วยเขาให้เหนื่อยเลย ก็แค่คุยขีดเท่าที่เป็นกุศล ไม่บาดหมางกัน พูดประโยชน์ของธรรมะ โทษของกิเลสประมาณหนึ่ง ก็ผิว ๆ ไม่ลงรายละเอียด มันก็ไม่ต้องปรุงมาก ไม่เหนื่อย เอาพลังที่เหลือไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อ

มันเหมือนกลลวงของนักปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้ามันหลงกับการช่วยคน มันจะไม่มีขีดเตือนว่าควรจะช่วยถึงขั้นไหนหรือเท่าไหร่ มันจะดันไปที่ MAX ตลอด หรือตามภาษาที่เข้าใจโดยมากว่า “ติดดี ยึดดี” แต่ถ้าแบบที่ผมทำได้ตอนนี้คือมันปรับได้ มันปรับได้ว่าจะเอา MAX หรือ min คือจะเอามากน้อยมันปรับได้ พลาดไปเราก็ปรับลง เบาอีก หรือไม่ก็ปิดไปเลย แบบนี้มันอาจจะพลาด แต่มันจะพลาดน้อยลง

ยิ่งคนไม่รู้จัก ไม่เคยพบปะ ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยร่วมในเครือข่าย นี่ง่ายเลย เอา concept ไปก็พอ

รักแล้วไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำได้จริงหรือ?

รักโดยไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น” คำความอะไรประมาณนี้ เป็นวาทกรรมที่เขาฮิตกันมานาน เอาเป็นว่าก็เป็นข้ออ้างหนึ่งของกิเลสในการมีคู่นั่นแหละ

จะแปลความข้างต้นให้ไปถูกก็ได้ ให้ผิดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่พอเอาไปใช้จริงมันจะไปทางผิดเสียมากกว่า ดังนั้นจะแปลหรือตีความไปทางไหน สุดท้ายก็อยู่ที่ทุกข์หรือพ้นทุกข์เท่านั้นเอง

ส่วนที่เขาพูด ๆ กันนี่ทำได้จริงไหม ผมมีความเห็นว่า 99.99…% ทำไม่ได้หรอก พอเข้าไปรัก ไปผูกพัน ส่วนมากก็จะหลง สานสัมพันธ์ไปเลยเถิด เหมือนกับว่าหลงไปในเขาวงกตแห่งความสุข สุดท้ายก็ออกไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเข้ามายังไง ตั้งแต่ตอนไหน จะออกก็กลัวทุกข์ กลัวเสียใจ

เราสามารถพิสูจน์ ความเชื่อดังกล่าว ได้โดยการ เลิก… ก็เลิกทั้ง ๆ ที่รักอยู่นั่นแหละ เชื่อไหมทุกข์เกิดทันที ไม่เกิดฝั่งเรา ก็เกิดฝั่งเขาหรือไม่ก็เกิดทั้งสองฝั่ง

ลองเลิกยึดดู คบกันอยู่ บอกจะเป็นโสดตลอดชีวิต คิดว่าหลังจากที่พูดออกไป ชีวิตจะอยู่เป็นสุขไหม? แค่จินตนาการไปก็ดูเหมือนจะมีแต่ภาพหายนะทั้งนั้น

คนรักกันคบกันอยู่ เขาจะเลิกยึดกันเอาดื้อ ๆ นี่ไม่ง่ายนะ คนนึงจะไปบวชตลอดชีวิต คิดว่าอีกฝั่งจะยินดีกันง่าย ๆ หรือ ถ้าเขาไม่ยอม เขาก็ตามราวีคุณไปเรื่อย ๆ จองเวรไปทุกชาติ แบบนี้เรียกความผาสุกหรืออย่างไร

…ส่วนรักแล้วไม่ทุกข์เพราะไม่ยึดมั่นที่ถูกคือ ปราถนาดีต่อเขา ช่วยเหลือเขาตามสมควร แต่ก็ไม่นำเขาเข้ามาเป็นตัวเราของเรา เป็นความหวัง ความฝัน ความสุข ความมั่นคง หรือเป็นอนาคตของเรา …ส่วนที่หยาบ ๆ อย่างเอาเขามาเคียงคู่ อันนั้นไกลสุดไกลความผาสุกเลย สภาพเละเทะแบบนั้นถ้าจะรักอย่างพ้นทุกข์ก็ไม่ควรเอามา

พุดโถ่ พุดถัง เขาจะกินเนื้อสัตว์กันมันก็เป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าเราจะแบ่งความเห็นออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ยินดีในการเบียดเบียน อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ไม่ยินดีในการเบียดเบียน

เชื่อไหมว่าน้ำหนัก หรือปริมาณของคนที่จะตกไปในกลุ่มแรกนั้นมีมากมายมหาศาล ตั้งแต่คนเลี้ยงสัตว์ คนฆ่าสัตว์ คนขายเนื้อสัตว์ คนกินเนื้อสัตว์ ยืนสนับสนุนความเห็นของกันและกัน แต่ละคนก็ต่างอ้างว่าตนถูก ตามเหตุและผลประโยชน์ของตน

คนที่กินเนื้อสัตว์เขาจะออกไปยืนฝ่ายตรงข้ามกับคนเลี้ยง คนฆ่า คนขายไม่ได้หรอก เพราะเขาเป็นหุ้นส่วนกัน

ส่วนคนที่ไม่ยินดีในการเบียดเบียนเขาก็จะหาวิธีลดละเลิกการเบียดเบียน ไปสู่การไม่กิน ไม่ฆ่า ไม่ส่งเสริมให้เลี้ยง ฆ่า ขาย ซื้อ ไม่ยินดีในการเลี้ยง ฆ่า ขาย ซื้อ

…พุทธในไทยทุกวันนี้เรียกได้ว่าแทบอวสานไปแล้ว ชื่อน่ะเป็นพุทธเหมือนเดิม แต่เนื้อแท้หายไปแล้ว เหมือนร่างกายที่มีเซลล์ แต่เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งไปหมดแล้ว พร้อมที่จะกัดกินและทำลายเนื้อดีและชีวิตอย่างต่อเนื่อง

ทั้ง ๆ ที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เบียดเบียด เมื่อธรรมนั้นเผยแพร่ไปที่ไหน การฆ่า การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตและเนื้อสัตว์ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นในแผ่นดินพุทธ การจะหาเนื้อสัตว์กิน จึงเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะต้องรอมันตายของมันเอง และนาน ๆ มันจะตายสักที

ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนกลับไม่เหมือน สิ่งที่ดูใช่กลับไม่ใช่ เพราะธรรมกลายเป็นอธรรม ผู้ไม่เบียดเบียน กลายเป็นผู้เบียดเบียน แม้ปากจะพูดสอนธรรมมากสักเพียงใด แต่ถ้ากาย วาจา ใจ ยังไม่ยินดีในความเมตตา ความกรุณา ความไม่เบียดเบียนกัน ยังไม่เลิกสนับสนุนธรรมที่พาเบียดเบียน ก็ยากจะเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริงได้

ฝากชีวิตไว้กับ “รัก”

คงจะมีคนหลายคนในโลกนี้ที่ฝากชีวิต ฝากอนาคตไว้กับความรัก คนรัก ครอบครัวที่รัก แต่เมื่อวันหนึ่งที่ที่เขาฝากฝังไว้พังทลาย น้อยคนนักที่จะยังคงดำเนินชีวิตไปในเส้นทางแห่งความดีงามได้

ได้อ่านข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในชีวิตรักมาก็มาก เหตุนั้นก็ไม่ได้มาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเหล่านั้นลงทุนผิด เอาสิ่งสำคัญไปฝากฝังไว้กับอะไรที่มันพึ่งพาไม่ได้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฝากไว้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่มีจริง(ไม่สามารถคงสภาพนั้น ๆ ได้เที่ยงแท้ถาวร) เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนจะทนทุกข์ได้ถึงขนาดไหน จะหลงผิดไปยังไงก็แล้วแต่บุญกุศลของแต่ละคน

เวลาเราสวดมนต์(พุทธ) เราก็มักจะสวดบทไตรสรณคมน์ “พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ …” คือให้ชาวพุทธระลึกว่า ให้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเบื้องต้นแม้จิตยังไม่รู้จักวิธีการพึ่งพาอาศัยสามสิ่งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ยังมีผลให้เพิ่มความตระหนักว่าเราควรพึ่งสามสิ่งนี้นี่แหละ ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ไปสู่ความผาสุก

ยกตัวอย่างคนที่เขาศึกษาธรรมมาประมาณหนึ่ง ได้พบครูบาอาจารย์ ได้พบหมู่มิตรดีที่พากันปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เขากลับเลือกไปพึ่งสามี ภรรยา คือเข้าใจว่าชีวิตจะมั่นคงด้วยการมีคู่ มีลูกหลาน ฯลฯ เขาก็เลือกไปด้วยความหลงของเขา หลงไปยึดเอาสิ่งที่มันไม่เที่ยง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอยิ่งยึดในโลกีย์มันก็ยิ่งจะห่างจากธรรม

คนเรามีอยู่แค่สองเท้า ก็ยืนได้ในพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับจิตถ้าหลงไปยึดสิ่งใดแล้ว ย่อมพรากจากสิ่งอื่นโดยธรรมชาติ เช่นหลงยึดเอาอธรรม ก็ย่อมห่างไกลจากธรรม สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฎฐิไม่รวมอยู่ที่เดียวกัน(ภพในจิต) ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นยึดเอาคู่ครองครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิต ก็ย่อมจะพรากห่างจากพุทธธรรมสงฆ์เป็นธรรมดา

เพราะแทนที่จะใช้เวลาในชีวิตไปคิดว่าต้องทำอย่างไรเราจึงจะเจริญได้มากกว่านี้ จะลดโลภ โกรธ หลง ได้ยิ่งกว่านี้ ก็ต้องเอาเวลาไปเสียกับการสังเคราะห์ปัญหาหรือไม่ก็บำเรอกิเลสคนในครอบครัว วันนี้จะพากันไปกินอะไร จะไปเที่ยวกันที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะวางแผนครอบครัวยังไง สรุปแม้จะดูเหมือนนับถือศาสนา แต่กิเลสเอาเวลาไปกินหมด เวลา ทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ จ่ายให้กับที่พึ่งอันโยกเยกคลอนแคลนเหมือนกับไม้ผุปักเลน

พอวันหนึ่งที่พึ่งเหล่านั้นพังไปด้วยเหตุดังเช่นว่า คู่ครองนอกใจ คู่ครองตาย คู่ครองติดอบายมุข เป็นนักเลง ติดพนัน ติดยา ขี้เกียจ นิสัยชั่วร้าย ฯลฯ คือสภาพที่เคยคิดว่าดี มันเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายชีวิตก็จะพังตามไปด้วยตามน้ำหนักของการยึดสิ่งนั้น ๆ

บางคนยึดไว้แต่คู่ครองครอบครัว ไม่มีสิ่งอื่น พอมันพังไปชีวิตก็จบสิ้นไปด้วย บางคนยึดคู่ครองครอบครัวไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกขายังพยายามมายึดธรรมบ้าง ก็ยังถือว่าเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาที่ผ่านไป อาจจะทำให้ห่างธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วหลงเข้าใจไปเองว่าตัวเองยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง สุดท้ายต่อไม่ติด เข้าไม่ถึงธรรม ชีวิตก็อาจจะพังได้ (ทุกข์แสนสาหัส)

ส่วนคนที่ยึดพุทธธรรมสงฆ์ไว้อาศัย ก็ไม่ต้องลำบากเมื่อคู่ครองครอบครัว เปลี่ยนแปลง แตกหัก พังทลาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งแท้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นยึดไว้ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่สาระแท้ในชีวิต ก็สักแต่ว่าอาศัย ถึงมีอยู่ก็เอื้อให้เกิดกุศล จากไปก็แค่หมดภาระหน้าที่ในบทบาทนั้น ๆ ก็มีแต่อาการเบาลง ไม่เศร้า ไม่อาลัย ไม่เหมือนกับคนที่ยึดคู่ครอง พอคู่ครองครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจจะทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

นี่คือความต่างของการพึ่งพาอาศัยในสิ่งใด ๆ ชีวิตต้องการความผาสุกที่มั่นคง ดังนั้นเราก็ควรเลือก ที่พึ่งทางใจที่มั่นคงด้วย อย่าเอาไปฝากไว้กับ แฟน สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความมั่นคงใด ๆ เลย

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

เชิญชวนกันอย่างเป็นทางการในบทความนี้ กับกลุ่มปฏิบัติธรรมที่ใช้แนวทางของการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการขัดเกลากิเลส ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เจอมาและพร้อมจะเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษาให้กับทุกท่าน

ในการเดินทางของชีวิต การจะเดินไปถึงเป้าหมายที่เรียกว่าความสุขแท้ได้นั้น ชาวพุทธจะเรียกวิธีการนั้นว่าปฏิบัติธรรม แต่ปัญหาที่หลายคนพบเจอคือจะปฏิบัติธรรมอย่างไร ปฏิบัติธรรมคืออะไร ปฏิบัติธรรมต้องเริ่มจากอะไร ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้อะไร มรรคผลคืออะไร ทำไมปฏิบัติแล้วกลับไม่มีความสุข ไม่มีคำตอบให้ชีวิต นิสัยก็เหมือนเดิม ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ยิ่งปฏิบัติยิ่งหดหู่ ยิ่งท้อถอย ยิ่งทำยิ่งหลง ยิ่งวน  ยิ่งสงสัย ยิ่งไม่มั่นใจ ยิ่งกลัว ยิ่งกังวล…แล้วก็ทุกข์เหมือนเดิม

เมื่อได้เห็นและพิจารณาดู จึงเห็นว่าควรแล้วที่จะนำความรู้ที่ได้ศึกษามานั้น มาแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกท่าน ให้เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความดับกิเลส ยินดีที่จะไขทุกสภาวธรรมออกมาให้ศึกษากัน เรียนรู้กันทุกอย่างตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา เป็นลำดับขั้นตอนจากง่ายไปหายาก เพื่อให้ผู้มีบุญบารมีทุกฐานะได้ร่วมแบ่งปันและปฏิบัติธรรมในแนวทางนี้

การปฏิบัติที่ผมจะนำมาเสนอนั้นไม่ใช่แนวทางใหม่ เป็นเพียงการจับกิเลสตัวหนึ่งออกมาให้ทุกท่านได้ทดลองปฏิบัติธรรมเพื่อทำลายกิเลสตัวนี้ดู เพราะหากว่าใครที่สามารถเข้าใจกระบวนการฆ่ากิเลสนี้ได้แล้ว เขาจะสามารถนำความรู้ความเข้าใจนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆที่ตนยังติดยังยึดอยู่ได้

การกินมังสวิรัติของกลุ่มนั้นไม่ใช่การกินเพื่อให้ดูสวยงามหรือเพื่อให้ดูดี แต่เปรียบได้กับสงครามที่ต้องสู้รบกับกิเลส มีทั้งซากศพ ความแพ้พ่าย หยาดเหงื่อ และน้ำตาของผู้ที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสมามากมายในสมรภูมินี้

จึงขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการพบกับความผาสุกของชีวิต และยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้เกิดมรรคผล ได้เข้ามาลองร่วมกลุ่ม เพื่อเป็นพลังพลักดันและขับเคลื่อนด้วยมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี สร้างสังคมที่พากันลดกิเลส พากันทำลายกิเลส เป็นไปเพื่อการดับกิเลส

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

มังสวิรัติทางสายกลาง เป็นอย่างไร ลองมาอ่านกัน

การกินมังสวิรัติ ไม่ได้มีคุณค่าแค่เพียงทำให้สุขภาพดี ทำให้ตัวเองไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพียงแค่ได้กุศล แต่ยังเป็นโอกาสในการขัดเกลากิเลส ลด ละ เลิกการเสพ การติด การยึด ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมในแนวทางของศาสนาพุทธ เพื่อนำไปสู่ทางสายกลางซึ่งเป็นความผาสุกที่แท้และยั่งยืน

มังสวิรัติทางสายกลางไม่ใช่แนวทางหรือวิธีใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นวิธีเก่าที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เพียงแค่หยิบยกมารวมกับการกินมังสวิรัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ในยุคนี้ ผู้ที่พากเพียรปฏิบัติก็จะสามารถเข้าถึงผลได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ยังสงสัย ยังสับสน ยังไม่เชื่อ ก็ให้ลองศึกษาหาข้อมูลและเพียรทำความดีต่อไป

อ่านต่อได้ที่บทความ : มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน
มังสวิรัติทางสายกลาง

 

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat