พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

พิธีที่ทำแล้วมีผลเป็นสัมมาทิฏฐิ

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนเขาถึงกล้าเต้นแร้งเต้นกา เต้นรำกัน ทั้ง ๆ ที่ชีวิตปกติเขาเขาไม่ได้ทำแบบนั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ได้มีอาชีพแบบนั้น

จะยกตัวอย่างงานบวชนี่แหละ ภาพชัด ถ้าเป็นชุมชนต่างจังหวัด เมื่อมีงานบวชเราก็จะได้ยินเสียงเพลงดังลั่นหมู่บ้าน ดังไปตามถนน มีคนแห่ คนโห่ มีสิบล้อก็ขึ้นไปเต้นกันบนสิบล้อ เต้นโชว์คนที่ขับรถไปมาตามถนน

ถามว่าชีวิตปกติคนส่วนใหญ่เขากล้าทำอย่างนั้นกันไหม กล้าแสดงออกอย่างนั้นกันไหม ต่อให้เปิดเพลงปลุกใจให้เลย เขาจะแสดงท่าทีอย่างนั้นกันออกไหม?

มันไม่ได้หรอก มันเต้นไม่ออก มันแสดงไม่ออก มันต้องมีองค์ประกอบของกิเลสที่สุกงอม ท่ามันถึงจะออก

ในองค์ประกอบของสัมมาทิฎฐิ ถูกแยกย่อยเป็น ๑๐ ข้อ ในข้อ ๒ ว่าด้วย ยัญพิธีที่บูชาแล้วมีผล คำว่าบูชาแล้วก็คือทำแล้ว มีผลก็คือมีผลเพื่อการลด ละ เลิกการหลงมัวเมาในกิเลส ในความโลภ โกรธ หลง ในกามและอัตตา ถ้าปฏิบัติตามพิธีใด ๆ แล้วมีผลไปในทางนี้ถือว่าสัมมาทิฏฐิ

แต่งานบวชในปัจจุบันนั้นมีทิศทางไปตรงกันข้าม ถ้าพุทธะพาไปหาสุข หาสวรรค์ ทางที่ส่วนมากทำอยู่ในปัจจุบันก็คือทางไปนรก เพราะพิธีที่เขาทำนั้น ไม่ได้มีผลในการลดกิเลสของหมู่ชนเลย แถมยังเป็นงานพิธี ที่เพิ่มอัตราเร่งของกามและอัตตาคนที่ร่วมงานอีก

เริ่มต้นก็บ้องกัญชาแล้ว เหลาต่อไปมันก็ไม่กลับเป็นกระบอกไม้ไผ่หรอก เพราะสัมมาทิฏฐิ นั้นเป็นประธาน เมื่อเข้าใจผิด มีความเห็นผิด มรรคข้ออื่นก็จะปฏิบัติผิดทั้งหมด งานที่จัดขึ้นมา พาให้คนหลงผิด ผู้จัดก็ต้องรับวิบาก(ผล) นั้นด้วย นั่นคือตนเองก็ต้องหลงมัวเมาจากความผิดที่ตัวเองก่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะหยุดทำสิ่งที่ผิด

และที่สำคัญมันจะเห็นผิดจัดขนาดที่ว่ามันกลายเป็นแบบนั้นโดยสมบูรณ์โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เพราะเชื่อแบบผิด ๆ ไปแล้วว่าสิ่งที่ตนหรือพวกตนได้ทำนั้นคือสิ่งที่ดี แม้มันจะเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ทนโท่ก็ตาม

เรียกว่าสภาพ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นั่นเอง

เข้าใจเรื่องกรรม ไม่ช้ำใจ

เรื่องกรรมและผลของกรรมนี่เป็นเรื่องเข้าใจยาก อธิบายยาก สอนยาก เพราะมันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ

นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ อันนี้ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทำใจให้เข้าใจเมื่อกระทบกับความจริงตรงหน้า (คิดเอาท่องเอา มันก็พอได้อยู่หรอก)

ดังเช่นว่า เพื่อนร่วมงานเป็นที่รักของเจ้านาย ส่วนเรานี่เป็นที่น่าชังเสียเหลือเกิน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรม มันจะโทษองค์ประกอบภายนอกหมดเลย เขาลำเอียงบ้างล่ะ เขาเลียเจ้านายบ้างล่ะ เขาไม่เข้าใจถึงคุณค่าของเราบ้างล่ะ

จิตที่มีกิเลสมันจะพุ่งไปเอาทันทีเลย มันจะโลภ อยากได้ของที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์จะได้ อยากได้ของที่ตัวเองไม่ได้ทำมา อยากได้สภาพดี ๆ ชังสภาวะหมาหัวเน่า อะไรแบบนี้ ถึงแม้พยายามเก็บอาการ แต่มันก็จะทำให้ขุ่นใจ ซึ่งอาจจะทำให้ออกหน้า ออกท่าทางโดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้ามาทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ดี ๆ ว่านั่นเขาก็มีกรรมของเขาเนาะ ที่เขาจะเข้ากันได้ เกื้อกูลกันดี ก็เขาอาจจะเข้าขากันมาหลายภพหลายชาติ จริตเขาตรงกัน เขาก็มีผลกรรมที่เขาควรได้รับอย่างนั้น

แล้วเราทำไมไม่ได้อย่างเขา ก็เราไม่ได้ทำมา เราอาจจะเข้าใจว่าเราทำดีมามาก แต่ดีแบบนี้เราไม่ได้ทำ เราไปทำดีแบบอื่นมุมอื่น หรือจริง ๆ ก็คือเรายังทำดีไม่มากพอ ที่จะส่งผลให้มันเกิดสิ่งดีขึ้นกับเรา

ซึ่งดีโดยมากมันก็รั่วออกไปเพราะกิเลสนั่นแหละ ทำดีแล้วเททิ้ง ทำดีเป็นคนดี แต่พอโดนคนเข้าใจผิด ดูถูก ใส่ร้าย หยาม ข่ม ฯลฯ แล้วดันไปโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา อันนี้ดีที่ทำมามันรั่วออกรูนี้

ยิ่งเราสำคัญตนว่าตนดีเท่าไหร่ ฟ้าจะส่งโจทย์มาพิสูจน์ความดีเสมอว่า กระทบกับสิ่งเหล่านี้แล้วยังดีได้จริงอย่างที่คิดหรือเปล่า หรือเอาดีไปเททิ้งหมดแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายถึงเมื่อคนดีกระทบสิ่งใดแล้วก็จะไม่พาล ไม่ชิงชัง ไม่คิดร้าย ไม่เพ่งโทษ ไม่เห็นว่าสิ่งร้ายที่กระทบนั้นจะเป็นโทษใด ๆ แก่จิตอันเป็นกุศลของตนเอง และไม่สร้างความเห็นผิดให้ตนเองซ้ำ

เพราะมีความเห็นเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างถูกต้องว่า ก็ถูกแล้ว สิ่งร้ายและดีที่เราได้รับ นั้นเพราะเราทำมาเอง ได้รับก็ได้รู้ว่าทำมา ได้รู้ก็ได้ระลึกว่าตนทำดีทำชั่วมาแค่ไหน เจอร้าย ก็อ๋อ ทำชั่วมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ชั่วนี้แหละที่ทำ เจอดีก็ทำดีมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ดีนี้แหละที่ทำมา

เรื่องราวมันก็วนอยู่ในตัวอยู่เท่านี้ อยู่กับเรื่องตัวเองอยู่กับกรรมและผลของกรรมของตัวเอง เมื่อใจไม่ได้สุขไม่ได้ทุกข์กับสิ่งที่กระทบ ความเห็น ความคิด การพูด การทำต่อจากนั้นเราก็ปรับปรุงให้เกิดดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดีใหม่ที่เราจะทำอย่างมีสติ ไม่ใช่ดีที่หลงไปเองว่าดี เพราะดีที่ทำมา อาจจะไม่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริงก็ได้

วัดคนกันก็ตอน “ติ” นี่แหละ

correct
ภาพจากเพจ IdeaSpot (facebook)

ผมมีวิธีแยกคนโดยพื้นฐานนะ คือถ้าได้คบหากันมาประมาณหนึ่งแล้ว บางครั้งเราจะลองประมาณคำพูดกับเขา ซึ่งคำที่ประมาณนี่คือคำติ คำชมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาหรอก อย่างมากชมไปเขาก็ลอย เดี๋ยวเขาก็ไปแก้ของเขาเอง แก้ไม่ได้ก็ติดโลกธรรมต่อไป แต่มันไม่มีวิบากร้ายต่อกันมากเท่าคำติ เพราะติมากไปเขาก็จะโกรธ ดีไม่ดีเขาดูถูกเรากลับอีก

ตอนตินี่มันจะวัดเลยว่าเขาแข็งแกร่งพอที่จะรับความเห็นที่แตกต่างไหม? เพราะคำตินี่มันต่างจากที่เขาคิดและทำอยู่แล้ว ถ้าผ่านก็ขึ้น ถ้าไม่ผ่านก็ลง ตรงกลางไม่มีหรอก มันมีกระบวนการสั้น ๆ อยู่ คือ ๑.เราติไปเขายินดีรับฟังไหม ๒.เขาฟังแล้วทำใจในใจลงไปถึงที่เกิดในสิ่งที่เราติไหม (เหตุแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒)

ถ้าติแล้วมีอาการ ไม่ยินดีฟัง เฉไฉ แถ ข่มกลับ ฯลฯ ผมจะไม่ต่อแล้ว เพราะทำต่อไปไม่มีประโยชน์ เราแหย่แล้วเขาไม่เอา ก็เว้นวรรคไว้สักพักเลย จะเดือนหรือปีหรือชาติหน้า ค่อยประมาณกันใหม่อีกทีตามเหตุปัจจัย

หรือพวกฟังแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา คือตอนฟังน่ะดูดีเชียว แต่ไม่เข้าถึงใจ คือไม่เข้าใจว่าต้องไปแก้ไขตรงไหน ตรงไหนที่เป็นปัญหาที่เขาติ พวกนี้ก็จะดูอาการไปสักระยะ ถ้าไม่ไหวก็ปล่อย

จริง ๆ ผมเป็นคนติหนัก ติแรง ติตรงนะ ไม่ค่อยชอบอ้อม ชอบตรงประเด็นชัด ๆ ทีเดียว ถ้าไม่แก้ก็ตายไปเลยแล้วกัน แต่จะไปทำอย่างนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปก็ตายเปล่า ก็เลยไม่เคยติใครขนาดนั้นสักที อีกอย่างคือทำไปมันมีวิบากนะ ไม่ใช่ไม่มี เราก็ต้องประมาณด้วยว่าจะได้วิบากเป็น + หรือ – ถ้าเสี่ยงไปเราก็ไม่ติ ปล่อยไปก่อน ตามเวรตามกรรม ถ้ารู้สึกพอไหวก็ลองติ แต่ถ้าติแล้วไม่ไหวก็ถอย

การที่ผมติเนี่ย ถือว่าผมเคารพคนที่ผมกำลังติอยู่นะ เพราะผมประเมินว่าเขารับไหว แต่ถ้าคนถูกติจะประเมินผมต่ำ ไม่ฟังคำติผม หรือข่มผมกลับ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ผมรู้ตัวเดี๋ยวผมก็เลิกติเอง ผมไม่กล้าติคนที่ไม่อยากฟังหรอก

ให้เพราะว่ามันดี

บทเรียนล้ำค่า… เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ช่วยหญิงชราซื้อของ จากนั้นไม่นานเขาได้ทิปถึง 17,000 บาท

ให้เพราะว่ามันดี

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าดี ดีมันเกิดตั้งแต่หนุ่มคนนั้นช่วยหญิงชราแล้ว คือได้ทำดีไปแล้ว ได้ให้แล้ว ดีได้ทำลงไปแล้ว ก็จบกันไป

ในมุมของทานที่สัมมาทิฏฐิก็มีข้อมูลเพียงแค่ว่า ให้เพราะว่ามันดีในขณะนั้น ตามข้อมูล ตามปัญญา ตามกำลังที่มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้เพราะสงสาร หรือเขาไม่มี แต่ให้เพราะการให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี

ฝรั่งคนนี้เขาจะคิดอย่างไรผมก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เมื่อมองกลับมาเปรียบเทียบกับชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าการกระทำของเขานั้นดูมีทีท่าที่เจริญกว่าชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบันอยู่หลายขุม

ชาวพุทธส่วนมากนั้น ทำทานแล้วยังหวังผล ยังทำดีเพื่อหวังสิ่งดี หวังสวรรค์วิมาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกันไป ยกตัวอย่างในเรื่องราวนี้ ถ้าเรื่องมันจบไปตั้งแต่ชายหนุ่มช่วยหญิงชราก็คงจะไม่มีใครสนใจนัก แต่ที่มันได้รับความสนใจก็คือผลของการกระทำนั้น มองแบบโลกๆ มันก็ดูน่าสนใจจริงๆ

แต่ผมว่า เราอย่าไปยินดีในผลนั้นเลย ถ้าเราทำทานเพราะหวังว่าจะได้รับผลดี เราจะทุกข์ไปอีกนานแสนนาน แต่ถ้ายินดีที่เรายอมสละให้ทานได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี

ไม่ต้องถึงกับมีเจตนาปิดทองหลังพระอะไรกันหรอกนะ แค่ทำดีเพราะรู้ว่ามันดี และตรวจสอบชัดเจนว่ามันดี แค่นั้นก็ดีแล้ว ไปเน้นปิดทองเดี๋ยวมันจะกลายเป็นภพเป็นชาติกันยืดยาวต่อไปอีก

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง…

วันก่อนคุยกับเพื่อน เกี่ยวกับเรื่องภาวะที่สะกดจิตตนเองอยู่ในภพหนึ่งๆ คุยไปคุยมาก็ไปเรื่อง อุปาทาน คนอุปาทานกิเลสได้ คนก็อุปาทานธรรมะได้เหมือนกัน

เหมือนกับคนที่ฟังธรรมะมา (แม้จะเป็นธรรมที่ถูกตรงก็ตาม) แล้วยกทั้งหมดนั้นมาสวมหัว เหมือนสวมหัวโขนเป็นคนมีธรรมะ เป็นคนดี ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสภาพของ “สีลัพพตุปาทาน” คือเขาจะปฏิบัติได้หมดเลยนะ จะเป็นโสด จะไม่กินเนื้อสัตว์ จะกินมื้อเดียว จะเป็นคนเสียสละ จะพูดธรรมะ อะไรก็พูดได้จำได้คล่องก็มีเหมือนกัน

ผมมานั่งระลึกถึงหนังสือที่อ่านวันก่อนว่า บัวใต้น้ำ (อเวไนยสัตว์ – สัตว์ที่สอนไม่ได้) ก็มีเนื้อหาที่เขาให้มาดังนี้ คือเป็นผู้ดีแต่พูด เพราะได้ฟังพุทธพจน์ไว้มาก กล่าวก็มาก จำไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผลในชาตินี้ (พุทธกำเนิด หน้า76)

เอาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ที่เห็นเป็นเหมือนคนมีธรรมะก็อาจจะไม่มีจริงก็ได้ เห็นพูดเห็นสอนธรรมะ พิมพ์หนังสือ best seller เป็นนักพูดยอดนิยม ก็อาจจะไม่มีธรรมะนั้นจริงก็ได้

เพียงแค่จำมา ท่องมา ยกมาไว้ สวมหัวตน แล้วก็ท่องว่า นี่ฉันเป็นผู้มีธรรม ฉันเป็นผู้มีธรรม … ไอ้แบบนี้ มันก็ทำให้คนที่ไม่ได้ศึกษาเขาหลงเชื่อได้เหมือนกัน

สัมมาทิฏฐินั้นเป็นสภาพที่เกิดและเข้าใจในตนเอง ไม่ใช่เอาความเข้าใจของคนอื่นมาจำไว้เป็นความรู้(สัญญา) แล้วไปยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวฉันของฉัน เพียงแค่ได้อุปาทานธรรมนั้นๆ มาเป็นของตน

แต่ผมก็เข้าใจสัจจะนะ ว่าคนที่จะมาเอาดี เขาต้องยึดแบบสีลัพพตุปาทานก่อน มันจะกระโดดมาสมาทานไม่ได้ มันต้องหลงปฏิบัติธรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก่อน จนเห็นว่ามันผิด มันจึงค่อยหาทางมาสัมมาทิฏฐิได้

ทั้งนี้เหตุแห่งสัมมาทิฏฐินั้นมีสองข้อ หนึ่งคือการยอมฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่าง สองคือการทำในใจให้แยบคายลงไปถึงที่เกิด ข้อแรกนี่ก็ยากที่จะผ่านแล้ว เพราะส่วนใหญ่อัตตามันจะต้าน มันจะไม่ฟัง ถึงจะทำเหมือนฟัง แต่ถ้าจิตมันไม่ยอมรับ มันก็ไม่ผ่านข้อแรกอยู่ดี

ส่วนการทำใจในใจให้ถึงที่เกิดนี่มันยากถึงยากมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ คนปฏิบัติธรรมทั้งชีวิตจะไม่สามารถเข้าถึงการทำใจในใจที่ถูกตรง ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเป็นเรื่องยาก มันต้องมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนมาก ตั้งแต่มีมิตรดี มีศีล มีฉันทะ รู้จักอัตตา มีความเห็นที่ถูก ไม่ประมาท ถึงจะเจริญไปถึงการทำใจในใจได้

ถ้าอยากรู้ว่าตนเองสัมมาทิฏฐิไหมก็ต้องศึกษาองค์ประกอบของสัมมาทิฏฐินั้นเป็นอย่างไร แล้วลองกระทบกับปัญหาดู เมื่อมีปัญหา มีผัสสะ มีสิ่งกระทบ จะรู้ได้เห็นว่าความเห็นมันเป็นตรงตามแบบสัมมาทิฏฐิหรือไม่ตรง ถ้ามีจริงมันจะไม่เบี้ยวออกเลยนะ มันจะอยู่ในกรอบของสัมมาทิฏฐินั่นแหละ

แต่แบบท่องจำก็มี คือกระทบแล้ว เกิดอารมณ์แล้ว แต่ใช้สัมมาทิฏฐิที่เรียนรู้มานี่แหละ มาเป็นตัวตบให้เวทนามันสงบ เอาปัญญานี้มาใช้เป็นตัวทำให้สงบ เรียกว่าปัญญาสมถะ เช่นพอเราเรียนรู้เรื่องกรรมและผลของกรรมมา ครูบาอาจารย์ท่านว่าให้ทำความเห็นแบบนี้แบบนั้น พอเรากระทบเสร็จขุ่นใจเราก็เอามาท่อง มันก็สงบไปได้ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ มันจะออกมาเองเลย ไม่ต้องนึก เพราะความเห็นมันตรงอยู่แล้ว มันจะแก้กลับของมันเอง ในกรณีผัสสะนั้นๆ ไม่หนักมากจนเกินไป หรือถ้าเพื่อนเตือนก็จะนึกออกและระลึกได้เอง ไม่ต้องมานั่งปรับความเข้าใจ เพราะมันตรงอยู่แล้ว เพียงแค่สติมันหลุดไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกและเข้าใจยากเหมือนกันครับ ผมอาจจะอธิบายไม่ละเอียดนัก แต่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ ก็พยายามจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแต่ยังงงๆ

แมวที่ถูกโยน อธิบายเรื่องกรรมและผลของกรรม

จากกระทู้ : อยากให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานหน่อยเพราะลูกคุณอาจเป็นฆาตกรไม่รู้ตัว

วันก่อนมีโยนบกปลาวันนี้โยนแมว… จริงๆ มันก็เหมือนกันละนะ เจตนาโยนแมวนี่ไม่รู้ แต่เจตนาโยนบกปลานี่ต้องการให้มันตายแน่ๆ (ก็เขาว่ามาอย่างนั้น)

เรื่องก็มีอยู่ว่ามีเด็กเอาแมวไปรังแก โดยโยนลงมาจากที่สูงจนแมวบาดเจ็บ

อ่านเจอประโยคนึงเลยหยิบมาวิเคราะห์กัน คือ “มันทำอะไรผิดเหรอ? ทำไมถึงต้องมาทำกับมันขนาดนี้ถ้าเราแบบนี้กับมนุษย์ใจบาปบ้างล่ะ?

ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เป็นกรรมของแมวตัวนั้นละนะ ที่ต้องรับไว้ มันทำมามันก็ต้องได้รับของมันตามสัจจะ เป็นของของมันอย่างแน่แท้ทีเดียว

ทีนี้ได้รับแล้วผลของกรรมชุดนั้นก็หมดไป ไม่มีอะไร ได้ใช้กรรม ได้ใช้หนี้มันก็ดีแล้ว ไม่เห็นต้องไปทุกข์อะไร เจ้าของก็รักษาไปตามอาการ ช่วยได้ก็ช่วยเท่าที่ทำได้ ถ้ามันจะตายก็เป็นไปตามกรรมของมัน ส่วนการที่เราไปจองเวรคนอื่นนั้นเป็นกรรมใหม่ของเราที่จะไปผูกพันเราไว้กับคนที่เราเกลียด

กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ยากจะอธิบาย เป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่มีความเห็นถูกตรงจริงๆ จะเข้าใจในเรื่องกรรมโดยไม่สงสัยว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

ไม่ได้ตั้งใจวิจารณ์ จขกท นะ ที่เขามาเล่านี่ก็ดี ทำให้เห็นว่าสังคมเราก็มีแบบนี้ด้วย แต่ที่มาพิมพ์นี่ตั้งใจให้พิจารณาเรื่องกรรมกันให้ดีๆ ผลของกรรมหรือปัจจุบันที่แสดงให้เห็นอยู่ในโลกนี้แหละ คือสิ่งที่สมควรและสมเหตุสมผลอยู่ทุกวินาที …. แม้มันจะดูไม่เหมาะไม่ควรและไม่สมเหตุสมผลก็ตามที