พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

สังคมต้องการคนดีที่กล้าหาญ

ธรรมจากอาจารย์หมอเขียวครับ ยากแสนยากเลย ท้าท้ายกิเลสทั้งสองด้าน จะแยกเป็น 5 มุมตามความเข้าใจนะครับ

1.ติเพราะชัง …เกลียดเขาก็ใส่ยับเลย บันดาลโทสะเต็มที่ กิเลสงอกงาม
2.ชมเพราะชอบ …เพราะเขาคิดเหมือนเรา เอามาเพิ่มพลังเรา เพิ่มอัตตากันให้เต็มบ้อง
3.ไม่ติเพราะกลัว …ไม่กล้าแตะ กลัวเขาสวน กลัวคนเกลียด
4.ไม่ชมเพราะกลัว …ไม่กล้าชม กลัวคนหาว่าโง่
5.ไม่ติไม่ชมเพราะโง่ …เข้าใจผิดว่า ผู้อยู่เหนือหรือผู้บรรลุคือผู้ไม่ติไม่ชม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสความประมาณว่า ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม …ส่วนพวกไม่ติไม่ชมนี่มิจฉาทิฏฐิ ฤๅษีชอบคิดแบบนั้น

ส่วนติชมที่ไม่เป็นไปตามกิเลสก็มี คือเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตนเองก็ได้แสดงสิ่งดี ผู้อื่นก็จะได้นำไปพิจารณา ที่เหลืออยู่ที่จิตของแต่ละคนแล้วแหละ ว่าข้างในคิดอะไร