[23] การเลือกวัสดุอุปกรณ์ (ลวด)

diary-0023-การเลือกวัสดุอุปกรณ์-ลวด

23. การเลือกวัสดุอุปกรณ์ (ลวด)

วันนี้จะมาเล่าเรื่องลวด ในรูปนี้มีลวดสองเส้น เส้นหนึ่งเป็นของเก่า อีกเส้นพึ่งซื้อมาใหม่…

เส้นที่เป็นของเก่าซื้อติดบ้านไว้นานแล้ว อยู่ด้านขวา แขวนไม้ไว้เป็นปีก็ไม่มีสนิมกิน แต่ลวดด้านซ้ายซื้อมาไม่นาน เอามาผูกไม้ก็ไม่นาน สนิมกินในเวลาไม่นาน

บางครั้งการเริ่มทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง เราก็ต้องเสียเวลาให้กับความไม่รู้ อย่างเช่นเราไม่มีความรู้ในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ เห็นหน้าตามันเหมือนจะกันสนิมได้ก็ซื้อมา แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นสนิมเหมือนกับลวดผูกเหล็กทั่วไปได้

ของแต่ละอย่างมีวิธีใช้ของมัน ลวดด้านซ้าย ถ้าใช้ในร่มในที่แห้งก็คงไม่มีปัญหาอะไร

เหมือนกับของหลายอย่างที่ผมใช้แล้วใช้ผิดวิธีเพราะไม่มีความรู้ บุ้งกี๋มันยกของหนักมากไม่ได้ แรงเรามีจริง แต่มันตามแรงเราไม่ไหว มันก็หัก มันก็พัง หรือมีดที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่พอฟันผิดเหลี่ยมนิดหน่อย กลับงอไปทั้งเล่ม

เราก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนี่แหละครับ พวกนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้มีชุดความรู้เผยแพร่อยู่ทั่วไป อาจจะมีก็เช่นพวกในกลุ่มของคนที่ทำอาชีพหรือคนที่เผชิญกับปัญหาเดียวกันเอามาแบ่งปัน แต่ส่วนใหญ่เราก็พลาดก่อนทั้งนั้น เพราะไม่รู้ยังไงล่ะครับ มันก็เลยประมาณผิดไป

จากเริ่ม จนจบที่มังสวิรัติ

แสงยามเช้า

เมื่อปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ผมเองก็ยังเป็นคนทั่วไป กินอยู่อย่างคนทั่วไป มื้ออาหารทุกมื้อประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติทั่วไป ผมใช้ชีวิตแบบทั่วไปแบบนี้มาทั้งชีวิต จนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่มีเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารของผมมานานหลายเดือนแล้ว…

ชีวิตที่ผ่านมา บอกตรงๆ ว่าไม่เคยสนใจเรื่องมังสวิรัติเลย แม้แต่กินเจก็ไม่เคยกิน ไม่สนใจ ไม่เข้าใจ กินไปทำไม…

จนกระทั่งต้นปี 2556 เพื่อนชวนไปค่ายสุขภาพของหมอเขียว จริงๆก็ไม่ได้สนใจสุขภาพอะไรหรอกนะ พอดีว่าว่าง หาอะไรทำ ก็เลยไปกับเขา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในค่ายมีอะไร ให้ทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร จะได้อะไร ก็รู้แค่ว่าดีกว่าอยู่บ้าน

การไปค่ายสุขภาพครั้งนั้นได้ก็นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตผมอย่างรุนแรง ความรู้ที่ได้รับจากค่าย ทำให้ผมเข้าใจทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ของการที่เรายังอยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งต่อสุขภาพในระยะยาว และอื่นๆอีกมากมาย แน่นอนว่าผมไม่อยากเป็นคนแก่ที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล อย่างน้อยที่สุดก็อยากจะสุขภาพดีเท่าที่ทำได้ละนะ

บนยอดเขา

กินมังสวิรัติแล้วดียังไง?

จะว่าไปการกินมังสวิรัติเพื่อสุขภาพก็เป็นเหตุผลรองๆ ที่ผมให้ความสำคัญ แต่ก็ได้รับสิ่งที่เห็นผลของการกินมังสวิรัติได้อย่างชัดเจน นั่นคือน้ำหนักลด ซึ่งโดยปกติแล้ว ผมเองเป็นคนที่ไม่ออกกำลังกาย จะขี้เกียจๆไปออกกำลังกายตามแบบที่เขาทำกันด้วยซ้ำ ดังนั้น น้ำหนักที่ลดจนเป็นหลักฐานให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน มาจากการปรับอาหารล้วนๆ ไม่มีกิจกรรมอื่นใดปนเลย

ลดน้ำหนัก

การปรับอาหารมากินมังสวิรัติ ทำให้น้ำหนักของผมลด จากช่วงที่เกือบจะเลย 100 กิโลกรัม ลงมาเหลือราวๆ 80 ปลายๆ และลดลงมาอีกช่วงใหญ่ๆ เมื่อปรับมื้ออาหารให้พอดี เท่าที่จำเป็นในชีวิตจริงๆ ถ้าจะนับผลของการกินมังสวิรัติที่นำมาซึ่งน้ำหนักที่ลดลงของผม ก็คง ราวๆ 10 กิโลกรัม แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับร่างกายที่เบาสบายขึ้น

เป็นการลดน้ำหนักโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เสียแรง เสียเวลา แถมยังประหยัดเงิน ได้สุขภาพภายในที่ดีขึ้นมาอีก ดีไหมล่ะ

ความยุ่งยากในชีวิตที่ลดลง เป็นอีกหนึ่ง ข้อดี คือไม่ต้องลำบากไปหาเนื้อมากิน ไปสรรหาร้านเนื้ออร่อยๆ ไม่ต้องสนใจว่าร้านนี้จะมี หมู ไก่ เนื้อ หรืออะไรยังไง ไม่ต้องคิดมาก หลายคนอาจจะคิดว่ากินผักยุ่งยาก ซึ่งปกติในชีวิตเราก็กินผักกับเนื้อปนกันอยู่แล้ว อันนี้ก็แค่เลิกกินเนื้อ แต่ผักก็ยังกินปกติอยู่นั่นแหละ แค่ลดจากแบบชาวบ้านทั่วไปลงมา สะดวกกว่าเดิมเยอะ

อาหารพื้นบ้าน

อย่างกรณีที่ได้ลดความยุ่งยากในชีวิต คือ ตอนผมไปเช่าบ้านอยู่ที่ปากช่อง ไม่มีตู้เย็น หากว่ายังติดเนื้อสัตว์อยู่ชีวิตก็คงลำบากแน่ๆ ไหนจะต้องซื้อตู้เย็นมาเป็นภาระอีก แต่การเก็บผักนั้นไม่ยากเลย เอามาวางๆไว้ อย่างมากก็แค่เหี่ยวนิดหน่อย แต่ก็ยังกินได้ ยิ่งกะหล่ำปลีนี่เก็บไว้ได้หลายวันเลย ถือว่าการกินมังสวิรัติช่วยให้ชีวิตผมตอนอยู่ต่างถิ่นมันง่ายและสะดวก คล่องตัวขึ้นมาก

สุขภาพดี เป็นอีกสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเกิดขึ้นจากภายในมากกว่า เพราะร่างกายไม่ต้องลำบากมาย่อยเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก กินแต่ละทีอืดเป็นวันๆ ทำให้เหลือพลังงานในการเอาไปซ่อมแซม บำรุงส่วนที่สึกหรออื่นๆ จนทำให้มีความ สุขสบาย เบากาย มีกำลัง รวมทั้งสบายใจที่ได้จากการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์อีกด้วย

เห็ด

กินแล้วมีความสุขไหม?

ผมได้คุยกับคนหลายคน ซึ่งเขามองว่าการกินมังสวิรัติลำบาก ไม่อร่อย ทรมานตัวเอง ยังอยากมีความสุขอยู่ ฯลฯ …จริงๆผมเองก็อยากมีความสุขเหมือนกันนะ…

แต่ก่อน …ผมก็เป็นคนชอบกินเนื้อมาก คอหมูย่าง เนื้อย่าง ไก่ย่าง ยิ่งติดมันหวานๆ นี่ยิ่งชอบ สเต็ก ปลาดิบ ซีฟู้ด อะไรต่างๆนาๆ นี่ของโปรดเลย …แล้วถ้ามันกินแล้วมันเป็นสุขแล้วผมจะเลิกกินทำไม ผมกินไปเรื่อยๆ ก็มีความสุขไปเรื่อยๆ มันน่าจะเป็นอย่างนั้นสิ…

จนกระทั่งวันที่ได้พบกับ ความรู้สึกที่ว่า “ สุขกว่าเสพ ” นี่แหละ ที่ทำให้ผมมั่นใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ อย่างน้อยมันก็สุขมากพอที่จะทำให้ผมยอมทิ้งสุขที่เคยได้รับเมื่อตอนกินเนื้อละนะ ความรู้สึกนี้อาจจะยากสักหน่อยที่จะเข้าใจ จนกว่าวันที่ใครสักคนยินดีที่จะละเนื้อสัตว์ด้วยใจที่สบายๆ แม้จะเห็นคนอื่นกินต่อหน้าก็ไม่ได้อยากกิน หรือทุกข์ใจอะไร ก็ตอนนั้นแหละคงจะพอ รู้สึกเองว่า “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

แดดยามเย็น

และสิ่งที่แน่นอน คือ มีความสุข …ความรู้สึกดีๆ นี้เกิดขึ้นได้ หลังจากลด ละ เลิก กินเนื้อสัตว์ เชื่อไหมว่าช่วงที่พยายามจะเลิก ผมรู้สึกผิดทุกครั้งเวลาขับรถไปแล้วเห็นรถขนหมู รถขนวัว ผมรู้ว่าปลายทางของมันจะไปที่ไหน และรู้ตัวดีว่าผมเองคือเหตุหนึ่งที่ผลักดันมันไปสู่ที่นั่น

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว การเบียดเบียนจึงไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ผมสามารถมองสัตว์เหล่านั้นด้วยความรู้สึกธรรมดาๆ อย่างที่สัตว์โลกเห็นกันทั่วไป ไม่ต้องรู้สึกผิดเหมือนเคย เป็นความสบายใจที่ได้รับมาจากการเลิกกินเนื้อสัตว์ หรือที่ใครๆเขาเรียกกันว่า “ บุญ

วัวข้างทาง

กินมังสวิรัติแล้วอยู่ได้ยังไง?

หลายๆ คนมักจะมองว่า การกินมังสวิรัติ ทำให้ไม่มีแรง เพลีย อ่อนล้า หิว อะไรก็ว่ากันไป ผมเองทดลองกินมังสวิรัติและกำหนดช่วงเวลาทำงาน คือการใช้แรงงาน รวมถึงงานที่ใช้สมองรวมอยู่ด้วย

ผมตื่นตั้งแต่เช้า ราวๆ  7 โมง ก็ขับรถไปที่ไร่เพื่อทำงาน ซึ่งตอนนั้นเป็นงานขุดแปลงผัก สักประมาณ 11 โมงก็กลับมาทำกับข้าวกิน พักสักครู่ใหญ่ๆ บ่าย 1 ก็ออกไปขุดต่อ ขุดเรื่อยๆเหนื่อยก็พัก ตกเย็นก็กลับบ้าน มาทำงานออกแบบที่ในส่วนของพื้นที่ใช้สอยต่างๆ มุมต่างๆของที่ และนอนเวลา 3 ถึง 5 ทุ่มโดยประมาณ

ต้นอ่อนฟักทอง

ผลการทดลองออกมาก็อยู่ได้ตามปกติ มีแรงทำงาน มีสมองออกแบบ แถมยังฟุ้ง จินตนาการบรรเจิด จนบางทีทำให้นอนดึกกว่าปกติก็มี ทั้งหมดนี้ ผมกินมังสวิรัติ และ กินมื้อเดียว ต่อวัน ไม่ได้ดื่มน้ำผลไม้ หรือนม นอกมื้อดื่มเพียงแค่น้ำเปล่า เท่านั้น

อ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็คงจะตอบได้แล้วว่า การกินมังสวิรัติก็สามารถทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ เหมือนทั่วๆไปละนะ

วิธีกินมังสวิรัติ

การเปลี่ยนมาสู่การกินมังสวิรัติในทันที ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ต้องอาศัยพลังในการอดทนและความรู้ในการเข้าถึงประโยชน์ของการกินมังสวิรัติอย่างมาก การเริ่มกินในเบื้องต้นก็ควรจะเริ่มจาก ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ไปตามลำดับ

มังสวิรัติ-ซื้อกิน

แรกๆก็อาจจะเริ่มจากการ ลด ลดปริมาณการกินเนื้อลง จากที่เคยกินเนื้อเยอะๆ ก็ลดปริมาณ แล้วเพิ่มผัก เพิ่มแป้งเข้าไปแทนในอัตราส่วนที่ยังอิ่มสบายอยู่

การ ละ เช่นในหนึ่งอาทิตย์ ก็ลองกินมังสวิรัติ สักมื้อ แล้วค่อยขยับมาเป็นสักวัน หรือสักสัปดาห์ เพิ่มช่วงเวลาที่ ละ เนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ หรือจะละเนื้อสัตว์ใหญ่ กินแต่สัตว์เล็กลงมาเรื่อยจนเหลือ ปลา แล้วค่อยพัฒนาต่อไปก็ได้

เมื่อละได้จนรู้สึกว่ามีพลังพอจะ เลิก ได้ก็ให้ตั้งใจเลิกไปเลย ได้ไม่ได้ ไหวไม่ไหว ก็อีกเรื่องหนึ่ง มันจะมีความคิดมากมายที่คอยฉุดเราไว้ไม่ให้เลิก ในตอนนี้เราต้องสู้กับความคิด หรือกิเลสเหล่านั้น

มังสวิรัติ-ทำเองกินเอง

ข้าวยังเป็นหลัก การกินมังสวิรัติของผม ไม่เคยลดข้าวเลย ลดแต่เนื้อสัตว์ แล้วก็เพิ่มผัก เพิ่มข้าวในปริมาณที่อิ่มสบาย อาจจะขัดกับความรู้ในการรักษาสุขภาพและการลดน้ำหนักทั่วๆไปว่าให้ลดข้าว กินโปรตีน กินผัก แต่นี่ผมก็ยังกินข้าวเต็มๆแบบไม่กลัวอ้วน กินผักเยอะๆ น้ำหนักก็ยังลงได้สบายๆ

อีกทั้งข้าวยังเป็นแหล่งสารอาหารด้วย วิตามินมากมายอยู่ในเมล็ดข้าว ถ้าผมเลือกได้ ผมจะเลือกกินข้าวกล้องซึ่งให้คุณค่าสูงสุดในการเคี้ยวหนึ่งคำข้าว

การหากินอาหารมังสวิรัติในชีวิตประจำวัน ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตคนเมือง แต่จากที่ผมได้ทดลองมา ร้านขายอาหารหลายร้านก็ให้ความร่วมมือดีนะ เข้าร้านก๋วยเตี๋ยว ไปสั่งก๋วยเตี๋ยวเอาแต่เส้นกับผัก เข้าร้านข้าวแกง ก็สั่งเอาแต่ผัก เข้าร้านอาหารตามสั่งก็สั่งเมนูปกติ แต่ใส่ผักแทนเนื้อสัตว์ไป ก็ไม่เห็นมันจะลำบากตรงไหน ยิ่งถ้ายังกินไข่อยู่ก็สามารถหาเมนูได้มากมาย เมื่อเราคุ้นเคยในการสั่งเมนูมังสวิรัติ หรือมีร้านที่เรากินประจำ เมื่อนั้นแหละการกินมังสวิรัติจะง่ายขึ้นมาทันที

หรือถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ ในการสั่ง ก็ให้เขี่ยเนื้อสัตว์ออกเอา โดยหลักๆแล้วเนื้อหามันก็มีแค่ว่า “ เราอยากกินเนื้อสัตว์หรือไม่อยากกิน “ แค่นั้นเอง ไม่อยากกินก็เขี่ยออก หรือให้คนอื่นไป ถ้ามันอยากกินมากนักก็เอาเข้าปากไป แล้วค่อยว่ากันใหม่

มังสวิรัติ-แม่ทำ

การซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเอง สมัยนี้คนเมืองสามารถหาซื้อผักที่หลากหลายได้ง่ายๆ ยิ่งผักปลอดสารพิษก็มีขายเยอะขึ้น มีให้เลือกตามสะดวก ราคาก็ไม่แพง เมื่อเทียบกับสุขภาพในระยะยาว ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็หัดปลูกเองกินเองไป

หิวและไม่อยู่ท้อง เป็นอีกหนึ่งปัญหาของคนกินมังสวิรัติ ค่ายสุขภาพได้สอนมาว่า ปัญหาของคนกินเจเช่น ไม่อยู่ท้อง ไม่มีแรง สามารถแก้ปัญหาด้วยการกินถั่ว ธัญพืชต่างๆ เข้าไปเพิ่ม ผมเองก็ไม่เคยกินเจนะ… แต่จากที่ลองดู ถั่วก็สามารถทำให้อยู่ท้องและมีแรงได้จริงๆ จะรู้ได้เลยว่ากินถั่ว กับไม่กินถั่ว ร่างกายก็จะแสดงอาการต่างกัน

ทุ่งหญ้า

ชีวิตมังสวิรัติ

การที่เราจะหันมากินมังสวิรัติ ก็คงจะได้รับเสียงตอบรับจากสังคมรอบข้างกันไปต่างๆ นาๆ  ถือเป็นความท้าทายหนึ่งในการกินมังสวิรัติ เป็นบททดสอบว่าเราเอาจริงไหม เรามั่นใจว่าสิ่งนั้นดีจริงไหม เรามีกำลังใจมากพอไหม เรามีความรู้เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติมากพอไหม

ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังทำดีจริง และทำอย่างจริงจัง คนรอบข้างจะค่อยๆเปลี่ยนไปตามเรา อาจจะเข้าใจเรามากขึ้น อาจจะเห็นดีกับเรา หรือกระทั่งอาจจะหันมากินมังสวิรัติตามเราก็เป็นไปได้ ส่วนคนที่เขายังไม่เห็นด้วย ก็ให้เข้าใจเขา เขาจะติดการกินเนื้อ จะเข้าใจว่าการกินเนื้อดี หรือจำเป็นต่อชีวิต ก็เป็นความเข้าใจของเขา เราก็กินของเราไป

ถ้าสิ่งที่เราปฏิบัติมันดีจริง เรามั่นคงจริง มันทำให้สุขภาพดี หน้าตาผ่องใส จิตใจดีขึ้น มีผลมากมายที่เห็นได้ชัดจริงๆ …วันหนึ่ง ถ้าเขาสนใจ เขาก็มาถามเองนั่นแหละ

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับเมนูมังสวิรัติ บทความมังสวิรัติได้ที่ Veggie kitchen , facebook (Veggie Kitchen)

แดดยามเช้า

ชีวิตหลังจากกลับมาจากค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม (ค่ายหมอเขียว)

แทบจะไม่เชื่อตัวเองเลยว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถึงขนาดนี้ กับเวลาเพียงแค่อาทิตย์เดียวซึ่งจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตอย่างแน่นอน

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา ผมได้ไปศึกษาวิธีดูแลสุขภาพ กับค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม (ค่ายหมอเขียว) ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับที่ได้รับมาจากค่ายสุขภาพก็จะนำมาพิมพ์กันให้อ่านในภายหลัง พอดีว่ายังไม่มีเวลาเรียบเรียง เอาเป็นว่ามารู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงกันก่อนดีกว่า

การเปลี่ยนแปลงด้านอาหารการกิน

เชื่อไหมว่าความรู้สึกต้องการกินเนื้อสัตว์ ปลา หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกจากพืช มันเบาบางและเหมือนจะจางหายไป มันไม่ต้องการเหมือนเคย แม้ว่าจะกินไปแล้วก็ไม่รู้สึกว่าอร่อยติดใจ อาจจะเพราะผมเองให้ความหมายของการกินเพียงแค่หนึ่งอิ่มเท่านั้นเอง แต่ลึกๆในใจนั้นกลับติดใจอาหารในค่ายสุขภาพ อาหารที่หลายคนเบือนหน้าหนี เพราะว่ามันจืดและกินยากมากๆ แต่เชื่อไหมว่า ผมอยากกินอีก…

อาหารประจำวันในค่ายสุขภาพ
อาหารประจำวันในค่ายสุขภาพ

ในวันหลังๆในค่าย (1 สัปดาห์) ผมสามารถกินอาหารจืดๆในค่ายสุขภาพได้อย่างปกติ แทบจะไม่มีการปรุงรส สำหรับเนื้อสัตว์นี่ไม่มีแน่นอน มีแต่ผัก ผลไม้ ข้าว และถั่ว เป็นอาหารที่สามารถให้พลังงานที่เพียงพอได้ในแต่ละวันทีเดียวล่ะ จบเรื่องอาหารไว้เท่านี้ก่อนเพราะประโยชน์มันเยอะเดี๋ยวค่อยไว้ต่อตอนหน้า

ระบบขับถ่าย

ระบบขับถ่ายเป็นอะไรที่เกิดขึ้นทุกวัน ใครที่ระบบดำเนินไปไม่ปกติย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอารมณ์อย่างแน่นอน สำหรับช่วงเวลาที่อยู่ในค่ายหมอเขียวนั้น กินแต่ข้าว ผัก ถั่ว ผลไม้ บอกได้เลยว่าสบายท้องมาก กินไปก็ไม่ร้อนท้อง ทุกอย่างสบายหมด กลับมาบ้านกินเหมือนเดิมๆ ที่กินมาเกือบทั้งชีวิต รู้สึกอย่างชัดเจนว่าของกินในชีวิตประจำวันนี่เอง ทำให้ชีวิตและสุขภาพของเราลำบาก

นี่เป็นเพียงประโยชน์เล็กน้อยที่หยิบยกนำมากล่าว จากประสบการณ์และความรู้มากมายที่ผมได้รับมาจากค่ายสุขภาพ แำพทย์วิถีธรรม หรือค่ายหมอเขียว เพียงแค่สองเรื่องนี้ก็เพียงพอจะทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว ปรับหางเสือเพียงเล็กน้อย  ปลายทางของเป้าหมายในชีวิตที่แสนจะห่างไกล ก็คงจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน

สวัสดี

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการลดเนื้อสัตว์ มากินผักได้ที่ Veggie kitchen , facebook (Veggie Kitchen)

ชีวิตที่ผ่านเลยมาถึงต้นปี 2556

และแล้วก็ผ่านต้นปีมาจนถึงช่วงกลางเดือนมกราคม ผ่านวันเด็ก ผ่านวันอะไรๆที่ดูจะสำคัญในช่วงปีใหม่มาแล้ว คงจะเป็นช่วงที่ผ่อนคลายและสงบนิ่งมากขึ้น

ก่อนปีใหม่ก็ไม่มีเวลาได้ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาในปี 2555 และวางแผนในปี 2556 เลย มันดูเหมือนจะว่าง แต่พอนึกไปมันก็ไม่ว่าง มีอะไรยุ่งๆ นิดๆ หน่อยๆ เต็มไปหมด มีอะไรให้ทำตลอดเวลาจนลืมนึกไปว่าในปีนี้ยังไม่มีแผนเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไรนัก มีแต่แผนรวมๆระยะยาวเท่านั้นเอง

MonkiezGrove , Cartoon Postcard Animation

ในปีนี้ เท่าที่คิดได้ก็จะกลับมาพัฒนามังกีซ์โกรฟ (www.monkiezgrove.com) อีกครั้ง หลังจากปล่อยให้ร้างไปเกือบสองปี ซึ่งการปัดฝุ่นครั้งนี้ได้ใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เก็บเกี่ยวมาในช่วงที่เรียนโทมาใช้ด้วย ทำให้เป็นการวางแผนการสร้างในทุกระยะเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืนกว่าเคย อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในบทบาทบ้าง ตามความเหมาะสม แต่สุดท้ายสิ่งที่ยังเป็นงานหลักของมังกีซ์โกรฟ คือ การ์ตูนน่ารัก คำนี้จะฝังลงไปในทุกๆกิจกรรมของมังกีซ์โกรฟ

ดอกทานตะวัน

อีกอย่างก็คงจะเป็นการทำอัลบั้มภาพออนไลน์ที่ DINPhoto ( photo.dinp.org ) ภาพที่ถ่ายเก็บไว้เยอะมากๆ ภาพที่ไปเที่ยวถ่ายวิว ถ่ายนู่นถ่ายนี่ ตามประสาคนบ้าถือกล้่องไปที่ไหนก็ถ่ายที่นั่น จะได้นำมาลงแบ่งปันกันให้ชมเสียที เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราอยู่แต่บ้านไม่ได้ออกไปดูโลกบ้าง ก็ค่อยๆติดตามกันเป็นระยะๆ นะครับ จะทยอยๆ ลงไปเรื่อยๆ

ส่วนงานอื่นๆ ก็คงกลับมารับทำเหมือนเดิมหลังจากงดรับงานมาเกือบสองปี เพื่อมุ่งเน้นไปในการเรียนรู้ให้คุ้มค่าที่สุด ณ ตอนนี้เหมือนจุดที่ทุกอย่างคลี่คลาย ค่อยๆกลับมาเป็นเหมือนปกติอย่างช้าๆ สำหรับปีนี้คงได้แค่ทำตามแผนที่วางไว้ สำหรับแผนใหม่คงยังไม่คิด เอาไว้คิดปีหน้าดีกว่า ตอนนี้สะสมทุนอีกครั้งก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในโอกาสหน้า

สำหรับใครที่ยังไม่ได้วางแผนชีวิต ก็ลองใช้เวลานั่งคิด นั่งทบทวน นั่งคุยกับตัวเองดูก็ได้ ว่าชีวิตต้องการอะไร อะไรคือเป้าหมาย ได้มาแล้วยังไงต่อ คิดล่วงหน้าไว้ก่อน สุดท้ายค่อยสกัดด้วยคำว่า “อะไรที่จำเป็น

สวัสดี

บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ผ่านไปแล้วกับ กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งในบทความนี้ผมจะมาสรุปให้ตามไปอ่านกันได้ง่ายๆว่าผมได้พิมพ์บทความใดไปบ้าง

สำหรับกิจกรรมจากเรี่ยวแรงสู่เรียวรวง ครั้งที่ 9 ตอน หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ที่จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 15 – วันอาทิตย์ ที่ 17 มิถุนายน 2555 ณ วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

ผมเองก็ได้ไปร่วมกิจกรรมกับเขามาด้วยครับ คณะเดินทางเรามีไม่มากประมาณรถตู้สามคันครับ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดยโสธร ในงานนี้ผมก็ได้ไปเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อีกเช่นเคย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นก็แนะนำให้อ่านได้จากบทความที่ผมได้เรียงลำดับไว้ด้านล่างเลยครับ

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

Introduction : ปลูกป่าลุยนา

1. บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

เล่าเรื่อง

2.1 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางวันแรก

2.2 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

2.3 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

2.4 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางกลับ

 

3. หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

เก็บตกเรื่องราวระหว่างทาง

สำหรับบทความเกี่ยวกับการเดินทางในครั้งนี้ก็มีเพียงเท่านี้ครับ สำหรับเนื้อหาเพิ่มเติมผู้เยี่ยมชมสามารถติดตามไปอ่านได้ใน เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ได้ครับ

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงสามวัน แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาได้นั้น สามารถใช้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะได้อ่านจากบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับก็จะได้เห็นด้วยรูป และผ่านตัวอักษรที่เล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้มาและฝังอยู่ลึกๆ ในส่วนหนึ่งของสมองของผม

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา
หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

จากกิจกรรมที่ผมได้ไปร่วมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ผมได้รับประัสบการณ์ และความรู้หลายๆอย่างนะครับ อาจจะไม่ได้พิมพ์เป็นข้อๆให้อ่านกันได้สะดวกนักแต่ก็จะเล่าให้พอเข้าใจครับ

สำหรับประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้น สิ่งแรกต้องบอกเลยว่าได้รับรู้ และรู้จักคำว่าคุณธรรม ในมุมมองของชาวนาคุณธรรมครับ มันมากมายเหนือความคาดหมายของผมมากว่า การเป็นชาวนาคุณธรรมจำเป็นต้องทำขนาดนี้เชียวหรอ แต่แน่นอนว่าถ้ามันคือสิ่งดีก็ควรจะทำครับ เพราะผลประโยชน์ก็จะตกกับตัวชาวนาคุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเองครับ

ผมได้เรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมแบบสั้นๆ ที่พอจะพบเห็นได้ผ่านภาพที่มองผ่านตา ซึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูได้ทั้งหมดครับ รวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ตามที่ได้เห็น

สำหรับประสบการณ์การปลูกป่า การหว่านข้าว การดำนา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะไม่เคยได้ลงมือทำเลย เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำซึ่งเป็นระดับเล็กๆ ขนาดเล็กๆ คิดว่าวันหนึ่งก็คงจะได้ทำจริงและวันนั้นก็จะได้พบความจริงอย่างที่สุด วันนี้ก็คงจะเป็นการทดลองเรียนรู้ไปก่อน

ได้รับรู้ถึงการส่งต่อและการขยายตัวของน้ำใจและการเกื้อกูลกันของมนุษย์ การส่งเสริมคนดี การส่งเสริมการทำสิ่งดีๆยังมีอยู่ให้เห็นตลอดสามวันที่ได้เดินทาง ไม่เหมือนข่าวสาร และสิ่งที่เรารับรู้กันในเมืองสมัยนี้ มีสักกี่เรื่องในแต่ละวันที่เป็นเรื่องดีๆบ้าง สำหรับผมที่ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ บอกได้เลยว่า ผมได้รับรู้แต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต

หลายๆสิ่งอีกมากมายที่ยังฝังอยู่ในสมองของผม อยู่ในความทรงจำของผม อาจจะคาดคั้นออกมาไม่ได้ในบทความนี้ แต่คิดว่าดอกผลของมันก็คงจะออกมาให้เห็นในอนาคตเป็นแน่ ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น ก็คงจะมีการเดินทางในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นก็เป็นได้

สวัสดี

น้ำท่วม ปัญหาน้ำท่วมและสาเหตุน้ำท่วม

ก่อนอื่นก็ต้่องบอกกันเลยว่าสิ่งที่เห็นในตอนนี้ กับเหตุการณ์น้ำท่วมนั้นมีหลายความรู้สึกมากมายเหลือเกิน ซึ่งจะบอกว่ามันแย่มากก็คงจะใช่ แต่ชีวิตไม่ได้มีไว้ให้ล้ม ดังนั้นเราจึงต้องสู้กันต่อไป

ขอเอาใจช่วยพี่น้องชาวไทยทุกท่านที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ให้เอาตัวรอดปลอดภัยไปได้ สำหรับทรัพสินนั้นก็ขอให้เสียน้อยที่สุดเท่าที่จะเสียได้ โดยมุ่งรักษาชีวิตและความมั่นคงในอนาคตเป็นสำคัญ

ปัญหาน้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน หลายจังหวัดในประเทศไทยตอนนี้เป็นปัญหาที่รุนแรงและจำเป็นต้องหาทางแก้ไขกันอย่างรวดเร็ว แต่แน่นอนว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งหรือทีละจุด แต่มันเกิดพร้อมๆกัน ดังนั้นการคาดหวังความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้นควรจะคิดเป็นอย่างหลัง ซึ่งในสถานะการณ์ที่จำเป็นต้องแก้ปัญหา เราจำเป็นต้องมุ่งไปที่ตัวปัญหา นั่นคือน้ำท่วม

น้ำท่วมแล้วจะแก้อย่างไร เช่นบ้านจมไปหมดแล้ว ณ จุดนี้ขอให้ทำใจให้สบาย นึกว่าต่อไปจะทำอย่างไรดี ดีกว่าที่จะคิดว่าจะเสียอะไรให้นึกว่าต่อไปแล้วเราเหลืออะไร แล้วจะได้อะไรได้บ้าง เพราะน้ำท่วมฝนแล้งนี่ต่อให้เป็นเทวดาผู้วิเศษมาจากไหน เป็นใครก็คงจะช่วยแก้ทันทีไม่ได้ ดังนั้นควรจะคิดต่อไปว่า หลังจากน้ำลดจะวางแผนอย่างไรดี เพราะน้ำท่วมครั้งนี้เป็นสัญญาณให้คนไทยเรารู้สึกตัวเสียทีว่าเรากำลังจะเผชิญกับอะไร เราควรป้องกันอย่างไร

ป้องกันน้ำท่วม

ผมเคยได้ยินว่าชาวไทยนั้นมี รูปแบบการป้องกันน้ำท่วมที่ดีอยู่แล้ว นั่นคือบ้านที่มีใต้ถุน แน่นอนว่าบ้านในสมัยนี้นั้นแทบจะไม่หลงเหลือเค้าโครงไทยอยู่แม้แต่น้อย เราใช้แบบบ้านสมัยใหม่ ซึ่งถ้าน้ำมันท่วม ก็โดนแน่นอนอย่างบ้านผมเองก็คงจะไม่รอดเหมือนกัน ปัญหาน้ำท่วมนั้นสร้างความเสียหายได้มากมายนัก ซึ่งขอบเขตความเสียหายนั้นก็จะใหญ่ และเกินจะควบคุมได้ เพราะปริมาณน้ำนั้นไม่ได้มาจากน้ำมือมนุษย์แต่มาจากธรรมชาติ

สำหรับการเกษตร ผมเคยได้ยินว่ามีข้าวที่ต้นยืดยาวได้ตามระดับน้ำ นั่นหมายถึงว่า มันจะเจอน้ำท่วมแค่ไหนมันก็จะรอดได้ แน่นอนว่าข้าวพันธุ์นี้ไม่ได้ถูกปลูกเท่าไรนักเพราะผมได้ยินว่ามันเป็นข้าวนาปี ปลูกได้ปีละครั้ง แต่จากประสบการณ์และความรู้ในการพัฒนาพันธุ์ทำให้ผมรู้ว่า มันสามารถเอามาผสมกับข้าวที่มีลักษณะเด่นอื่นๆให้มันดีขึ้นได้ ซึ่งเหมาะกับยุคแห่งหายนะนี้แน่นอน

ส่วนการใช้กระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมนั้นเป็นวิธีที่ดี แต่ผมเองก็ยังคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แน่นอนว่ามันต้องใช้ แต่ถ้าหากเราไม่คิดนวัตกรรมเพื่อป้องกันน้ำท่วมใหม่ เราอาจจะลำบากตอนน้ำมาอีกทีก็ได้ เพราะกระสอบทรายเนี่ยมันก็ไม่ใช่ของที่จะหากันได้ง่ายๆ ตอนน้ำท่วมหรอกนะครับ เพราะใครๆก็ต้องการ ดังนั้น การป้องกันน่าจะมีทางอื่นที่เข้ามาเสริมด้วย

สาเหตุที่น้ำท่วม

เราอาจจะเห็นว่าฝนตกหนัก พายุพัดเข้าตลอดทำให้มีปริมาณน้ำฝนและน้ำในดินมากทำให้น้ำท่วม แต่นั่นเป็นแค่ผลกระทบปลายเหตุ ทำไมฝนจึงตก ทำไมจึงมีพายุ ทั้งๆที่เมื่อก่อนในภูมิภาคเราไม่ได้มีพายุบ่อยขนาดนี้

สิ่งที่ผมคิดอยู่ตอนนี้คือปัญหาโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่าทำลายสมดุลที่เคยมี แต่นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสู่สมดุลใหม่ ที่ผมหมายถึงคือ สิ่งที่เราเจอกันอยู่ทุกวันนี้ พอถึงจุดหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดทุกปี ทุกเดือน หรือทุกวันก็เป็นได้ ซึ่งใครที่สามารถปรับตัวและปรับวิถีชีิวิตตามสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้นี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคนปรับเปลี่ยนไม่ได้ก็ลำบากหน่อย

ส่วนจะไปเรียกร้องให้ทุกคนรักโลก ดูแลโลก ผมว่าตอนนี้ไม่ทันแล้วแหละครับ ดอกผลแห่งเทคโนโลยีและความเจริญในอุตสาหกรรมกำลังย้อนกลับมาเล่นงานเรา ซึ่งมันก็รวดเร็วและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ผมเองไม่สนใจว่าชาติไหนจะปล่อยสาร หรือก๊าซมากกว่ากันเพราะจริงๆแล้วเราก็ใช้อากาศเดียวกันทั้งโลก ดังนั้นการจะเกี่ยงว่าฉันทำฉันเก็บ เธอทำเธอเก็บก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลดีกับโลกนัก การปรับทัศนคติของคนหมู่มากนั้นยาก ดังนั้นปรับเปลี่ยนวิถีชีิวิตของตนเองรับกับสภาพที่เจอนั้นน่าจะง่ายกว่าเยอะ

สุดท้ายขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีปลอดภัย

สวัสดี