ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย

วันที่สองของการเดินทาง สำหรับในบทความนี้เป็นบทความในช่วงบ่ายของวันที่สอง หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมตามแต่ละบ้านมาแล้ว เรื่องราวของตอนนี้เราก็จะมาแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ

10 พฤษจิกายน 2555 เวลา บ่าย 3 โมง

จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง
จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง

เราเดินทางจากบ้านของแม่แต๋นมายัง ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญนะครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานเท่าไรนัก สำหรับบ้านผมนั้นมาถึงเป็นกลุ่มแรกเลย ก็เลยได้มีเวลาเดินเล่นชมสถานที่ได้มากหน่อย ตากล้องทีวีบูรพาแดดในวันนี้ก็แรงดีทีเดียวครับ แดดดีแบบนี้เหมาะแก่ฤดูการเกี่ยวข้าวมากครับ เพราะถ้าฝนตกในช่วงข้าวสุกแบบนี้จะทำให้ข้าวเสียหาย ทำให้เกี่ยวยาก ซึ่งก็ให้ผลเสียมากมายตามมาครับ การป้องกันก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากเกี่ยวให้ไวหรือภาวนาเท่านั้นเอง

สำหรับการมากับทีวีบูีรพา ก็จะมีการเก็บภาพเป็นระยะๆ นะครับ เพราะเป็นรายการทีวีละนะ ก็จะมีกล้องผ่านเรามาเป็นระยะๆเหมือนกันดังนั้นกล้องผ่านมาก็ต้องทำตัวธรรมชาติแบบกึ่งดูดีกันหน่อย เผื่อเขาจะได้เก็บภาพไปใช้ได้ครับ เห็นตากล้องแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ต้องไปรอไปเตรียมถ่ายก่อนตลอดไม่งั้นก็เก็บภาพไม่ได้ทั้งร้อนทั้งหนัก แต่ก็เป็นงานละนะ

เห็ดฟางใหญ่ๆ

อาหารที่เรากินแต่ละมื้อนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้นครับ ทั้งคุณภาพ ปริมาณและความปลอดภัยนั้น ถ้าเอาราคาไปเทียบกับราคาในกรุงเทพ การเดินทางมาในครั้งนี้คงได้กำไรตั้งแต่อาหารที่กินแล้วครับ อย่างเห็ดในรูปด้านบนนี่ก็มีแต่ขนาดใหญ่ๆ

น้ำข้าวกล้องงอก
น้ำข้าวกล้องงอก

แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ปลูก ขนาดของเห็ดจะเป็นตัวกำหนดราคาครับ สำหรับที่เคยเห็นในตลาดยังไม่ค่อยเห็นมีขนาดใหญ่เท่าที่นี่เลยครับ

บ่ายๆแบบนี้หลายคนคงจะยังอิ่มกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงก็มีน้ำข้าวกล้องงอกให้ดื่มกันให้สบายท้องมากยิ่งขึ้นครับ น้ำข้าวกล้องงอกสดใหม่นี่หากินในกรุงเทพยากมากครับ เดินไปตามตลาดเช้าทั่วไปนี่ไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่หมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้อะไรประมาณนี้เท่านั้นเอง นี่ถ้าได้ดื่มทุกเช้าคงจะดีมาก เพราะได้ทั้งคุณค่าและพลังงานช่วยทำให้หิวช้ากว่าเดิมได้ดีมาก จากเดิมที่ก่อนเวลาพักก็จะอยู่ต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ
เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ

หลังจากหลายๆบ้านมาถึงที่หมายกันจนครบแล้ว ก็เข้าถึงกิจกรรมต่อไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ไปที่มาของข้าวคุณธรรม ชาวนาคุณธรรม เครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา การเริ่มต้นต่างๆถูกเล่าผ่านชาวนาคุณธรรม คุณอดุลย์ พาณิชย์ (ฉายารึเปล่าไม่แน่ใจ) ร่วมกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ที่มาเล่าเรื่องราวให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้เรื่องราวและต้นกำเนิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบัลดาลใจ รวมถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้น ผมได้ฟังแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเนื้อหาผมแนะนำให้ตามไปอ่านในนิตยสาร ฅ ฅน นะครับ พี่เช็คบอกว่าเขียนไว้ด้วย ซึ่งอาจจะลองสอบถามกับทางทีวีบูรพาก็ได้

เหตุผลที่ผมไม่อยากเล่าในบล็อกแห่งนี้เพราะเนื้อหามันค่อนข้างจะแน่น และผมเองก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างอาจจะปะติดปะต่อขาดๆเกินๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงประเด็นกันไปได้ครับ ยังไงถ้าอยากรู้ต้องถามจากแหล่งที่มาที่แนะนำไปข้างต้นครับ

ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง
ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง

หลังจากที่ทราบที่มาและความเป็นไปรวมถึงอนาคตที่คาดหวังร่วมกันแล้ว ก็ได้พากลุ่มสมาชิกเดินชมพื้นที่ครับ ก็มีโรงสี โรงบรรจุ วิถีชีวิตรอบๆ ครับ เป็นการแนะนำกระบวนการผลิตในเบื้องต้นให้กลุ่มสมาชิกได้รับรู้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามบ้านสมาชิกชาวนาคุณธรรมเพื่อ อาบน้ำอาบท่า จัดการธุระส่วนตัวก่อนจะมาทานข้าวเย็นครับ สำหรับค่ำนี้ผมได้พักกายในบ้านของพ่อประมวลครับ เมื่อถึงที่พักก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากอาบน้ำคุยกับสมาชิกใหม่ในบ้าน

ลืมบอกไปว่าการพักในแต่ละวันจะเปลี่ยนสมาชิกในบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้นครับ สำหรับผมก็เป็นคนอยากรู้ก็เลยชอบถามอะไรเยอะแยะตามประสาครับ แบบว่าคิดไปเองในสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัวจะพลาดถามกันง่ายๆเลยจะดีกว่า

แบ่งปันความรู้สึกหลังจากอาบน้ำอาบท่าเราก็จะมารวมกินข้าวเย็นร่วมกันครับ มื้อนี้อร่อยเหมือนเคยครับ การเดินทางครั้งนี้ไม่มีคำว่าท้องหิวครับ มีแต่คำว่า “กินอีกแล้วหรอ” , “ยังอิ่มอยู่เลย” อะไรประมาณนี้ เขาเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดีตามวิถีของชาวนาคุณธรรมครับ

หลังจากทานข้าวกันเสร็จแล้วก็จะมาไหว้พระฟังธรรมกันครับ โดยหลวงพ่อจากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ(ถ้าจำผิดพลาดขออภัยครับ) การฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสายวัดป่านั้นเป็นธรรมที่เป็นธรรมดา เป็นการพูดกันธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธเจ้านั่นคือหากไปเทศน์ที่ไหน ให้เทศน์ภาษาของที่นั่น ให้คนได้เข้าใจ ประมาณนี้ครับผิดพลาดประการใดรบกวนชี้แนะผมด้วยนะ และก็มีกิจกรรมแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละบ้าน ประกอบภาพกันครับ หลายๆบ้านก็ออกมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ จะมีความต่างก็นิดหน่อยตามสภาพพื้นที่ของแต่ละบ้านครับ สำหรับบ้านผมก็เ้ป็นบ้านสุดท้ายก็ออกไปเล่าแบบงงๆ ครับ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องปะติดปะต่อกับเพื่อนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ความแตกต่างที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ข้าวหลามเผาสดใหม่
ข้าวหลามเผาสดใหม่

ต่อจากเล่าประสบการณ์ในแต่ละบ้านกันแล้วก็จะมีพิธีเทียนและผูกข้อมือโดยพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมครับ ซึ่งก็เป็นพิธีที่ค่อนข้างมีผลทางใจมากทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆท่านได้พูดสิ่งที่คิดหรือความในใจออกมาให้เพื่อนๆได้รับฟังกันถือเป็นการแบ่งปันความรู้สึกที่ดีครับ และพรจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ถือเป็นพรที่ดีด้วยเก็บกลับบ้านไปเป็นแรงผลักดันและกำลังใจกันได้มากมายเลยทีเดียว

หลังจากแบ่งปันกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลากลับบ้านครับ สำหรับใครที่อยากคุยต่อก็จะมีข้าวหลามเป็นมื้อค่ำครับ สำหรับผมก็รอกินข้าวหลามกับเขาอยู่เหมือนว่าแตกต่างกับที่เคยกินมากขนาดไหน ผลก็คือข้าวเหนียวนิ่มมากครับ เป็นข้าวหลามที่กินร้อนๆ จากกองไฟกันเลยทีเดียว

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ในมุมมองของผมนั้นทีเด็ดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ กลางวงสนทนาเกลอเมืองเกลอทุ่งครับ วงนี้บอกตรงๆว่ามีแต่ประสบการณ์ ความรู้ ปรัชญา แนวคิด อัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ บอกตรงๆว่าผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆมากมายจากวงนี้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราครับ ยังไงเราก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อกิจกรรมสำคัญในวันพรุ่งนี้อีกวันนั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ติดตามอ่านบทความต่อไปกันได้เลย

วันที่สองก็จบเพียงเท่านี้ อ่านวันสุดท้ายต่อได้ที่…