บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงสามวัน แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาได้นั้น สามารถใช้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะได้อ่านจากบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับก็จะได้เห็นด้วยรูป และผ่านตัวอักษรที่เล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้มาและฝังอยู่ลึกๆ ในส่วนหนึ่งของสมองของผม

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา
หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

จากกิจกรรมที่ผมได้ไปร่วมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ผมได้รับประัสบการณ์ และความรู้หลายๆอย่างนะครับ อาจจะไม่ได้พิมพ์เป็นข้อๆให้อ่านกันได้สะดวกนักแต่ก็จะเล่าให้พอเข้าใจครับ

สำหรับประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้น สิ่งแรกต้องบอกเลยว่าได้รับรู้ และรู้จักคำว่าคุณธรรม ในมุมมองของชาวนาคุณธรรมครับ มันมากมายเหนือความคาดหมายของผมมากว่า การเป็นชาวนาคุณธรรมจำเป็นต้องทำขนาดนี้เชียวหรอ แต่แน่นอนว่าถ้ามันคือสิ่งดีก็ควรจะทำครับ เพราะผลประโยชน์ก็จะตกกับตัวชาวนาคุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเองครับ

ผมได้เรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมแบบสั้นๆ ที่พอจะพบเห็นได้ผ่านภาพที่มองผ่านตา ซึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูได้ทั้งหมดครับ รวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ตามที่ได้เห็น

สำหรับประสบการณ์การปลูกป่า การหว่านข้าว การดำนา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะไม่เคยได้ลงมือทำเลย เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำซึ่งเป็นระดับเล็กๆ ขนาดเล็กๆ คิดว่าวันหนึ่งก็คงจะได้ทำจริงและวันนั้นก็จะได้พบความจริงอย่างที่สุด วันนี้ก็คงจะเป็นการทดลองเรียนรู้ไปก่อน

ได้รับรู้ถึงการส่งต่อและการขยายตัวของน้ำใจและการเกื้อกูลกันของมนุษย์ การส่งเสริมคนดี การส่งเสริมการทำสิ่งดีๆยังมีอยู่ให้เห็นตลอดสามวันที่ได้เดินทาง ไม่เหมือนข่าวสาร และสิ่งที่เรารับรู้กันในเมืองสมัยนี้ มีสักกี่เรื่องในแต่ละวันที่เป็นเรื่องดีๆบ้าง สำหรับผมที่ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ บอกได้เลยว่า ผมได้รับรู้แต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต

หลายๆสิ่งอีกมากมายที่ยังฝังอยู่ในสมองของผม อยู่ในความทรงจำของผม อาจจะคาดคั้นออกมาไม่ได้ในบทความนี้ แต่คิดว่าดอกผลของมันก็คงจะออกมาให้เห็นในอนาคตเป็นแน่ ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น ก็คงจะมีการเดินทางในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นก็เป็นได้

สวัสดี

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี