หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงสามวัน แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาได้นั้น สามารถใช้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะได้อ่านจากบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับก็จะได้เห็นด้วยรูป และผ่านตัวอักษรที่เล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้มาและฝังอยู่ลึกๆ ในส่วนหนึ่งของสมองของผม

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา
หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

จากกิจกรรมที่ผมได้ไปร่วมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ผมได้รับประัสบการณ์ และความรู้หลายๆอย่างนะครับ อาจจะไม่ได้พิมพ์เป็นข้อๆให้อ่านกันได้สะดวกนักแต่ก็จะเล่าให้พอเข้าใจครับ

สำหรับประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้น สิ่งแรกต้องบอกเลยว่าได้รับรู้ และรู้จักคำว่าคุณธรรม ในมุมมองของชาวนาคุณธรรมครับ มันมากมายเหนือความคาดหมายของผมมากว่า การเป็นชาวนาคุณธรรมจำเป็นต้องทำขนาดนี้เชียวหรอ แต่แน่นอนว่าถ้ามันคือสิ่งดีก็ควรจะทำครับ เพราะผลประโยชน์ก็จะตกกับตัวชาวนาคุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเองครับ

ผมได้เรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมแบบสั้นๆ ที่พอจะพบเห็นได้ผ่านภาพที่มองผ่านตา ซึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูได้ทั้งหมดครับ รวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ตามที่ได้เห็น

สำหรับประสบการณ์การปลูกป่า การหว่านข้าว การดำนา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะไม่เคยได้ลงมือทำเลย เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำซึ่งเป็นระดับเล็กๆ ขนาดเล็กๆ คิดว่าวันหนึ่งก็คงจะได้ทำจริงและวันนั้นก็จะได้พบความจริงอย่างที่สุด วันนี้ก็คงจะเป็นการทดลองเรียนรู้ไปก่อน

ได้รับรู้ถึงการส่งต่อและการขยายตัวของน้ำใจและการเกื้อกูลกันของมนุษย์ การส่งเสริมคนดี การส่งเสริมการทำสิ่งดีๆยังมีอยู่ให้เห็นตลอดสามวันที่ได้เดินทาง ไม่เหมือนข่าวสาร และสิ่งที่เรารับรู้กันในเมืองสมัยนี้ มีสักกี่เรื่องในแต่ละวันที่เป็นเรื่องดีๆบ้าง สำหรับผมที่ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ บอกได้เลยว่า ผมได้รับรู้แต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต

หลายๆสิ่งอีกมากมายที่ยังฝังอยู่ในสมองของผม อยู่ในความทรงจำของผม อาจจะคาดคั้นออกมาไม่ได้ในบทความนี้ แต่คิดว่าดอกผลของมันก็คงจะออกมาให้เห็นในอนาคตเป็นแน่ ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น ก็คงจะมีการเดินทางในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นก็เป็นได้

สวัสดี

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

หลังจากที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนาคุณธรรมใน กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา แล้วกลับมาก็อยากจะมาเล่าให้อ่านกันว่าผมได้พบเจออะไรมาบ้าง

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม
วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

ชาวนาคุณธรรมนั้นต่างจากชาวนาทั่วไปอย่างไร?

คำถามนี้อาจจะดูงงๆและไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเราลองปรับตัวโจทย์ดูสักนิดอาจจะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้มากขึ้นว่า ความแตกต่างระหว่างชาวนาคุณธรรมและชาวนาทั่วไปนั้นมีผลอย่างไรต่อสังคมและโลกบ้าง

ตัวอย่างเช่น…

บริษัท A ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยสารเคมีลงสู่ชุมชน พนักงานไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม รายได้ทั้งหมดหายไปกับนักลงทุน

บริษัท B ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ มีกรรมวิธีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ใส่ใจและสร้างศีลธรรมให้กับพนักงาน ครอบครัว และชุมชนรอบข้าง รายได้ทั้งหมดนำมากระจายสู่ชุมชน

เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้อาจจะเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราจะกลับมาที่ภาพเล็กกันอีกครั้ง

บริษัท A หรือชาวนาเคมี ทำนาโดยใช้สารเคมีเป็นพิษทั้งคนทำและคนกิน รายได้ไปตกอยู่กับพ่อค้าปุ๋ย โรงสี พ่อค้าคนกลาง ฯลฯ ชีวิตเครียด จน กินเหล้า ติดพนันหวังพึ่งดวง

บริษัท B หรือชาวนาคุณธรรม ทำนาโดยใช้เกษตรอินทรีย์ มีวิถีแห่งชาวนาคุณธรรม รับผิดชอบสังคมไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการขายที่สูงกว่า แต่รายได้ทั้งหมดกลับมาจุนเจือตัวชาวนาและสังคมรอบๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างดังนี้ก็จะสามารถอธิบายได้ง่ายขึ้นว่าวิถีแห่งชาวนาคุณธรรมต่างจากชาวนาเคมี หรือชาวนาอินทรีย์อย่างไร ซึ่งเมื่อเรามองที่ปลายทาง ผลสุดท้ายเราก็จะพบว่าชาวนาที่ดำเนินวิถีที่ต่างกันย่อมได้รับผลต่างกัน

ซึ่งแล้วแต่เราจะเลือกว่าจะสนับสนุนเส้นทางไหน สังคมจะไปในทิศทางไหนนั้นน้อยคนนักจะเลือกด้วยตัวเองได้ ชาวนาก็เหมือนกัน บางครั้งหรือหลายครั้งทำไปเพราะความจำเป็น ทำไปเพราะไม่รุ้ ทำไปเพราะต้องดำรงอยู่ ทางเลือกมีไม่มากนัก หากสังคมช่วยกันชี้ช่องทางและเอื้อเฟื้อแก่ชาวนาที่ยังหลงทาง ก็อาจจะทำให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนมามุ่งสู่วิถีแห่งชาวนาคุณธรรมได้

เมื่อมีชาวนาคุณธรรมมาก สังคมรอบๆก็จะมีคุณธรรมเกิดขึ้นตามหลักการแพร่ของคนดี คนดีก็จะชวนกันให้ทำสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปเองโดยอัตโนมัติ อ่านมาจนถึงขนาดนี้คุณคิดว่าผมมีเหตุผลมากพอที่จะสนับสนุนชาวนาคุณธรรมหรือยัง?

สวัสดี

มัน เป็ด มาก

บางครั้งในชีิวิตของเราก็จำเป็นต้องเลือกทางสักทางที่น่าจะดูดีที่สุด แต่ถ้าเกิดมันดีหรือเหมือนจะดี หรือดีพอๆกันทุกทางล่ะ จะเลือกยังไงดี…

คำตอบของผมอาจจะเป็น เลือกทั้งหมดนั่นแหละ…

การเลือกทำหรือเลือกเป็นหลายๆอย่างนั้น มักจะเป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน ไม่เฉพาะทาง ไม่เก่งไปสักอย่าง หรือที่เขาเรียกกันว่า เป็ด … เหมือนทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรได้ดีสักอย่าง แน่นอนว่าผมก็เป็นคนแบบเป็ดๆนั่นแหละ

มันเป็ดมากบทความตอนนี้คิดจะเขียนขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสสักที วันนี้โอกาสเหมาะ อากาศดี ก็เลยได้เขียนและบรรยายความเป็ดให้เป็นที่เข้าใจกัน ความเป็ดของแต่ละคนนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ตามสิ่งแวดล้อม แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้เด่นสักอย่าง ซึ่งผมเองก็เป็นเป็ดอีกตัวหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสังคมนี้

การเก่งเฉพาะทางหรือเฉพาะอย่าง คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก มันเข้าใจง่าย มันดำเนินชีวิตง่าย มันทำให้ชีวิตไปถึงเป้าหมายได้ง่ายเพราะมันชัดเจนในแนวทาง เว้นแต่ว่ามันน่าเบื่อเท่านั้นเอง…

ในบทความตอนนี้เราจะมาบรรยายความเป็ดกับการทำงานกัน

ถ้าจนถึงตอนนี้ยังนึกถึงความเป็ดไม่ออกก็ให้นึกถึงเครื่องถ่ายเอกสารมัลติฟังชั่น fax ,print ,scan ,phone อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แต่ก็ทำได้แค่พอถูไถ เหมาะกับสถานที่ที่อาจจะเล็กนิดหน่อย หรือบริษัทที่งบไม่เยอะต้องการประหยัดอะไรแบบนี้

งานก็เหมือนกัน สำหรับบริษัทที่เริ่มต้นใหม่หรือมีขนาดไม่ใหญ่ก็มักจะอยากได้คนที่ทำได้หลายอย่าง ซึ่งต่างกับ บริษัทใหญ่ๆที่แบ่งแผนกชัดเจนจึงต้องการคนเฉพาะทางนั่นเอง และนี่คือกลไกง่ายๆ จากมุมมองง่ายๆของผมที่มองสังคมการทำงาน แน่นอนว่ามันคือสังคมการทำงาน เราคือฟันเฟืองที่ทำให้กิจการขับเคลื่อนไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็ดหรือไม่เป็ด ก็ขอแค่ให้มันเหมาะกับสถานที่หรือองค์กรที่เป็นอยู่ก็พอ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง

บางครั้งเมื่อองค์กรมีการปรับเปลี่ยนขนาด เป็ดบางตัวก็อาจจะเดือดร้อนก็ได้ เพราะความไม่ชัดเจนหรือไม่เฉพาะทางนั่น เป็ดบางตัวอาจจะได้ยกระดับเป็นผู้บริหารเพราะรู้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง ซึ่งนั่นแหละคือความเป็ด ผู้บริหารไม่ว่าจะเล็กกลางใหญ่จำเป็นต้องรู้ให้กว้าง แต่ไม่ต้องรู้ให้ลึก เพราะรู้ลึกก็ให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำไป

ดังนั้นเมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นเป็ด จึงจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการบริหารให้มากขึ้นนั่นเอง เพราะเราคงจะไปเก่งสู้คนที่เก่งเฉพาะทางได้ ซึ่งการเลือกเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในชีวิตมันก็ต้องใช้เวลา และเราจึงจำเป็นต้องรู้ตัวให้ชัดว่าเป็นเป็ดแบบไหน เป็ดบ้านๆที่รอถูกเชือด (เป็ดกินเงินเดือน) เป็ดป่าที่หากินเองตามธรรมชาติ (เป็ด freelance)  ลูกเป็ดขี้เหร่ ที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นหงส์ (เป็ดโดนดอง) ซึ่งเราอาจจะนิยามอะไรอย่างไรก็ได้เพื่อมองให้เห็นความเป็นตัวเราเอง และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในความเป็ด คือรู้ว่าตนนั้นเป็นเป็ดแบบไหนและขนาดไหน…

บทความแบบเป็ดๆ คงเกริ่นกันไว้เท่านี้ ซึ่งอาจจะมีบทความเพิ่มขึ้นเรื่อยในอนาคตตามแต่ที่ผมจะจินตนาการได้

สวัสดี

เรื่องเล่าลุยน้ำ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับรู้เรื่องน้ำท่วมตามแหล่งข่าวสารมากมาย แน่นอนว่าผมเองมีความเสี่ยงด้วยเหมือนกัน แต่ก็คงไม่มีใครอยากโดนน้ำท่วมเป็นแน่

ก่อนอื่น…

นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบเดือนที่แล้ว ผมลังเลที่จะพิมพ์เรื่องนี้ออกมา เพราะไม่รู้จะเรียบเรียงยังไง เพราะมันเป็นเรื่องราวของหนึ่งวันที่อัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์มากมายจนผมไม่คิดว่าเวลาหนึ่งวันจะสามารถมีเรื่องราวผ่านมาในชีวิตผมได้เข้มข้นขนาดนี้

หลายคนได้เห็นน้ำท่วมจากในทีวี ภาพในอินเทอร์เน็ต ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ สิ่งนั้นก็คล้ายๆกับเราดูละครนั่นแหละ มันผ่านประสาทสัมผัสของเราได้เพียงแค่ 2 ใน 5 นั่นคือตาดูหูฟังนั่นเอง สำหรับความเข้าใจนั้นก็ตามประมาณ 2 ใน 5 นั่นแหละการจะเข้าใจคนที่เขาประสบอุทกภัยจริงๆ ถ้าไม่ได้ลงไปรับทุกประสบการณ์เหมือนกันกับเขาคงจะพูดไม่ได้เต็มปากว่าเข้าใจ…

เรื่องมันมีอยู่ว่า

แน่นอนว่า คนเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ผมเองก็มีญาติ กระจายอยู่ตามมุมต่างๆของกรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งก็อยู่ในเขตเสี่ยงน้ำท่วมทั้งนั้น เช่น ดอนเมือง รังสิต จนกระทั่งนนทบุรี การที่มีคนที่ผูกพันกับเราอยู่ใต้ภาวะความเสี่ยง เราก็คงจะไม่สามารถกินอิ่มนอนหลับได้ตามปกติ ความเป็นห่วงนั้นเหมือนเชือกดึงรั้งระหว่างคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่ง นั่นคือความสัมพันธ์ เอาง่ายๆเรียกกันว่าร่วมทุกข์ การร่วมทุกข์ร่วมสุข ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติของคนที่มีความผูกพันกัน

เมื่อน้ำท่วมถึงดอนเมือง มีญาติบางส่วนอพยพหนีน้ำมาที่บ้านผม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังอยู่ ส่วนจะอยู่ด้วยเหตุผลอะไรนั้น ผมขอละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจ เพราะแต่ละคนมีความจำเป็นและความห่วงกังวลไม่เหมือนกัน ผมไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นคิดได้ทั้งหมด สิ่งที่ผมต้องทำคือเตรียมตัวเตรียมใจในลำดับต่อไป นั่นคือการเข้าไปช่วย หรือส่งความช่วยเหลือเข้าไปในจังหวะที่เกินใจ (ของใคร) จะทนไหว..

และแล้ววันหนึ่งเมื่อถึงเวลาผมก็ได้่รับสัญญาณไว้ ให้เข้าไปช่วยอพยพออกมาได้แล้ว ผมเองรอความคิดนี้มานานแล้ว เพราะถ้าคนเขาคิดว่าไหวเขาจะทน แต่เมื่อเขาคิดว่าไม่ไหว เราก็จะช่วยนั่นไม่ใช่ปัญหา การเดินทางของผมจะเริ่มตั้งแต่จุดนี้…

เริ่มเล่าลุยน้ำ…

การเดินทางของผมในวันนี้ รายละเอียดเยอะมากจึงขอแนบแผนที่ เผื่อว่าดูแล้วจะเห็นภาพมากขึ้น

แผนที่เดินทางลุยน้ำ

ผมเริ่มต้นกับวันที่ฟ้าฝนเป็นใจอากาศค่อนข้างดี ผมตื่นสายนิดหน่อยเพราะติดตามข่าวสาร ถึงเกือบเช้า และทานอาหารเช้าไปนิดหน่อยเพื่อรองท้อง ไม่นานนักมีข่าวมาว่าต้องออกไปช่วยพี่สาวอพยพที่ดอนเมือง ซึ่งก็พ่อก็มารับและออกไปด้วยกันทันที ภารกิจนี้ผมดำเนินเรื่องไปพร้อมกับพ่อครับ

1.ผมเริ่มเดินทางจากบ้าน มุ่งหน้าไปจอดรถที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งตอนนั้นน้ำยังไม่ท่วมครับ ไปจอดรถทิ้งไว้เพราะไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งต่อจากนี้เราจะเดินทางต่อกันด้วยแท็กซี่ครับ

2.เรานั่งแท็กซี่จาก ม. เกษตร ไปให้ไกล้ดอนเมืองมากที่สุดเท่าที่จะไปได้ พี่แท็กซี่แกส่งแถวๆ สะพานเข้าสนามบินในประเทศนั่นแหละครับ แล้วเราก็ลงและเดินต่อเพื่อที่จะไปที่ป้ายรถเมล์เพื่อขึ้นรถเมล์ต่อ

3.เราขึ้นรถเมล์ได้ในระยะทางไม่ไกลนักก็ต้อง แต่ก็ยังดีกว่าเดิน เพราะไม่รู้เลยว่าถ้าไม่มีรถเมล์เราจะนั่งอะไรได้ เรารู้แค่เป้าหมายเท่านั้น แต่วิธีนั้นคงได้แต่งมๆไปตามทาง

4. เมื่อลงจากรถเมล์ก็ต้องขึ้นรถทหาร ซึ่งรถทหารสูงมาก พี่ทหารเขาจะมีเก้าอี้ให้ปีน แต่ผมก็ว่ายากอยู่ดี นี่มองจากคนตัวสูงช่วงขายาวยังว่ายาก แล้วคนตัวเล็กๆก็คงจะยากกว่าแน่นอน แต่ด้วยความจำเป็นและทางเลือกที่มีไม่มาก เราจึงเห็นผู้คนหลากหลายในรถทหารคันนี้ครับ

5. รถทหารมาส่งถึงปากซอย เข้าหมู่บ้านของพี่สาว ซึ่งเราลง ณ จุดนี้ รถทหารมุ่งหน้าต่อไปทางรังสิต เพื่อส่งคนให้ถึงยังที่หมายต่อไป ส่วนพวกผมก็เดินเข้าซอยครับ แต่เมื่อกำลังเดินไปถึงหน้าปากซอยเราเห็น รถใหญ่ๆ คล้ายๆรถดับเพลิงกำลังมุ่งหน้าเข้าไปในซอยครับ ซึ่งผมก็ถามเขาเรื่องเส้นทาง สรุปว่าเราติดรถเขาเข้าไปได้ครับ เพราะผ่านทางที่ผมจะลงพอดี

บนรถดับเพลิงคันนี้มีผู้คนมากหน้าหลายตา หลายคนทักทายกันยิ้มให้กันแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน ผมกับพ่อดูจะเป็นคนที่ดูแปลกไป นั่นอาจจะเพราะความสดใหม่ ซึ่งต่างกับคนที่อยู่บนหลังคารถที่ดูเปียกและเหนื่อยอ่อน ผมคิดว่าเขาคงเข้าออกช่วยคนกันหลายรอบแล้วเลยเป็นอย่างที่เห็น เพราะรถดับเพลิงที่ผมนั่งนั้นคือรถที่ช่วยขนคนจากด้านในซอยออกมาครับ ซึ่งตอนขาเข้าไปในซอยรถจะว่าง เราเลยติดไปได้ครับ

ระหว่างที่นั่งบนหลังคารถดับเพลิงที่วิ่งผ่านไปอย่างช้าๆ ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ผมได้กลิ่นน้ำ และเสียงรถที่วิ่งผ่านน้ำ แม้ว่าสองข้างทางจะมีคนเดินออกมาตลอด แต่ทุกอย่างดูเงียบ..เหลือเกิน

ผมมองไปที่คนที่บ้านอยู่ข้างทาง เป็นบ้านเช่าเล็กๆแบ่งเป็นล็อคๆที่ติดถนน บนชั้นสองของเขามีแค่ระเบียงที่ติดกับถนน บนระเบียงมีข้าวของบางอย่างที่เอาขึ้นมาวางหนีน้ำรวมทั้งสุนัขและจักรยาน… มีคำทักทายจากคนบนรถดับเพลิง และคำตอบที่ได้ยินก็ประมาณว่า “ไม่รู้จะอพยพไปไหน นี่ก็ขอเขาขึ้นมาอยู่” ครับ ที่ผมเห็นคือผู้อพยพจากชั้นล่างขึ้นมาชั้นบน เขาไม่ได้สบายกันอย่างที่ตาเห็น น้ำเสียงที่ได้ยินบอกให้รู้ว่า ไม่รู้ ไม่รู้ เขาไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่รู้ว่าจะไปไหน ไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ และไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากรอให้มันผ่านพ้นไปเสียที

จนวันนี้ผมไม่รู้ว่าป่านนี้พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะเมื่อด้านในอพยพกันออกมาแล้ว อาจจะมีรถหรือคนวนเวียนผ่านมาน้อยลง และถ้าน้ำขึ้นอีกก็คงจะมีแต่เรือที่ผ่านได้ คงจะลำบากกันไม่น้อย ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีคนที่ลำบากและไร้ทางออกมากเท่าไหร่ ในกรุงเทพฯ

6. ผมมาสุดทางของการนั่งรถดับเพลิงและลงเดินต่อไปอีกประมาณ 300 เมตร มันเป็น 300 เมตรที่ไกลมากๆ  เพราะต้องเดินบนน้ำที่สูงระดับน่องจนเกือบถึงเอวผมในบางจุด และเดินมาจนถึงบ้านพี่สาวที่อยู่ในหมู่บ้านด้วยความกังวลเล็กน้อย ว่าถ้าบ้านไหนไฟรั่วผมจะได้รู้ตัวก่อนจะตายรึเปล่า หรือเดินผ่านปุ๊ปตายปั๊บอะไรแบบนี้ เพราะน้ำนั้นท่วมเกือบถึงระดับพื้นบ้านแล้ว ซึ่งบางบ้านก็ยังเปิดน้ำพุหน้าบ้านอยู่เลยแม้จะน้ำท่วมก็ตาม

ผมเห็นสายตาของคนในหมู่บ้านมองด้วยท่าทางไม่เป็นมิตรสักเท่าไรนัก อาจจะเพราะด้วยความเครียดหรือความระแวงคนแปลกหน้าก็ได้ แน่นอนว่าในภาวะเช่นนี้ใครๆก็สามารถเป็นโจรได้ง่ายๆ เพราะข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับ ทำให้เรามองเป็นอย่างนั้นจริงๆ

สุดท้ายเมื่อมาถึงก็จัดการอพยพ ยังดีที่พี่สาวมีเรือเล็กๆที่ต่อด้วยท่อพีวีซีและฟิวเจอร์บอร์ดอยู่ในบ้าน ทำให้เราใส่เด็กๆ 8,3 ขวบไว้ในเรือได้ (ตอนแรกผมเตรียมใจไว้แล้วว่าต้องอุ้่มออกไป) แน่นอนว่ามันดีกว่าที่คิดไว้ เพราะการลากเรือนั้นทุ่นแรงไปได้มากทีเดียว เด็กๆยังสนุกอยู่บ้าง นั่นก็ถือว่าดี เพราะถ้าเด็กๆงอแงแล้ว ผู้ใหญ่อาจจะเครียดกันมากขึ้นซึ่งคงไม่ดีแน่

7. เราเดินออกมาจากหมู่บ้าน โดยมีเด็กๆอยู่ในเรือขนาดเล็กๆ ซึ่งขากลับนั้นยากกว่าเพราะต้องเดินทวนน้ำออกมา มันไม่ใช่น้ำนิ่งๆ แต่เป็นน้ำที่มีกระแสการไหลอยู่ ส่วนจะไหลไปไหนผมไม่รู้เหมือนกัน แต่การเดินทวนน้ำที่ไหลนี่มันเปลืองแรงมากจริงๆ

8.มาถึงจุดนี้ถือเป็นโชคดีของเราครับ มีพ่อลูกคู่หนึ่งเขาขับรถมาส่งอาหารให้เพื่อน เป็นรถที่สูงพอจะลุยน้ำได้แต่ก็ไม่ใหญ่พอจะให้คนทั้งหมดขึ้นไป ณ จุดนี้เป็นจุดแยก ผมให้พี่สาวและชาวคณะอพยพ แยกไป โดยคุณพี่เขาใจดีให้โดยสารไปด้วยครับ และเขาก็จะออกไปจนกระทั่งใกล้ถึงจุดนัดพบ ที่ ม เกษตรเลยครับ เป็นอีกหนึ่งน้ำใจที่ให้กับคนแปลกหน้ากลุ่มหนึ่งที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันจริงๆ

ผมเดินลากเรือต่อไปกับพ่อ เพื่อที่จะไปยังอีกจุดหมายหนึ่ง นั่นคือหมู่บ้านย่านรังสิต อยู่ก่อนเมืองเอกครับ ได้ยินว่าน้ำสูงระดับอกของผม และมีคนแก่ประมาณคุณยายอยู่ เป็นคุณยายที่เป็นเครือญาติกันครับ ผมกับพ่อเลยตัดสินใจเอาเรือไปรับครับ และเดินทวนน้ำออกมาได้ไม่นาน เราก็ได้ติดรถออกจากซอยหมู่บ้านไปลงที่ถนนวิภาวดีรังสิตอีกครั้งครับ บังเอิญจริงๆนะครับ ทุ่นแรงไปได้อีกหน่อย ส่วนรถคันนี้ของใครยังไงไม่รู้ครับ รู้แต่มีคนมากหน้าหลายตาในรถเยอะดีครับ

หลังรถเราก็ลากเรือไปด้วยครับ เพราะต้องใช้ต่อในภารกิจหน้า โดยจับเชือกที่ผูกเรือไว้ โดยที่ต้องใช้ขาควบคุมบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเรืออาจจะเซไปโดนชาวบ้านที่กำลังเดินลุยน้ำออกมาได้ครับ

9.เราเดินต่อจากวิภาวดีรังสิต ต่อไปจนเลยอนุสรณ์สถานแห่งชาติไปนิดหน่อยครับ เป็นการเดินที่ยากลำบากมาก เพราะคนเดิน และรถใช้ช่องทางเดียวกันครับ ทางเดินมีทั้งเกือบแห้งและน้ำสูงเป็นช่วงๆ คลื่นที่ซัดมาพร้อมกับการวิ่งผ่านของรถนั้นทำให้การลากเรือลำบากมากครับ เรือที่ผมลากแอบไปกระทบรถที่จอดอยู่หลายคัน หวังว่าเขาคงไม่ว่าอะไร ซึ่งไม่นานนักก็ได้รับการติดต่อว่ามี ญาติอีกฝ่ายสามารถนำเรือเข้าไปช่วยคุณยายได้แล้ว ภารกิจของผมและพ่อจึงจบลงครับ

แต่ระหว่างที่รอการยืนยันข้อมูลนั้น ผมได้นั่งรออยู่ที่มุมหนึ่งของถนน นั่นคือเกาะกลางถนนของวิภาวดีรังสิต เป็นที่ที่ในเวลาธรรมดาคงไม่สามารถมานั่งเล่นๆได้ แต่การได้หยุดนั่งแล้วมองทำให้ผมเห็นอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น ชาวบ้านที่ขนของออกมาโดยมีอุปกรณ์กันน้ำแค่ถุงพลาสติกเท่านั้น บางคนดีหน่อยก็มีกะละมัง แต่ภาพที่เห็นส่วนใหญ่ก็มีแต่แบบนี้ทั้งนั้น

ระหว่างที่ผมนั่งอยู่ก็เกิดอาการหน้ามืดขึ้นมา ผมเองไม่คิดว่าตัวเองจะอ่อนแอขนาดนี้ ก็ได้แต่นั่งคิดไปว่าทำไม ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นไม่ได้กินอาหารมาอย่างพอเพียง และขาดน้ำครับ ผมนั่งก้มหน้าอยู่ข้างทางได้สักพัก คิดว่าตัวเองน่าจะแย่ลงอีกเพราะเริ่มรู้สึกหนาวเย็น จึงมองไปที่ถนนและเห็นรถสวนมาพอดี รถหลายคันมองสบตาผมและชะลอ เพื่อที่จะสื่อสารอะไรสักอย่าง ผมทำได้แต่ยิ้มและปล่อยให้เขาผ่านไป

จนกระทั่งถึงรถคันหนึ่งผ่านมา ผมเริ่มคิดว่าตัวเองไม่น่าจะไหว เลยโบกเขาและขอน้ำสักหน่อย รถที่ผมโบกนั้นเป็นรถตู้ ที่มีพ่อแม่ลูกนั่งอยู่ ซึ่งเขาก็ช่วยกันหาน้ำให้ผมซึ่งไม่รู้จักกัน และไม่ได้เคยช่วยเหลืออะไรกันมาก่อน เพียงแค่ผ่านมาผ่านไปเท่านั้น ไม่นานนัก เขาก็ยื่นน้ำขวดใหญ่ และบอกผมว่า ” เหลืออยู่เท่านี้เอง” (เหลือ 3/4 ของขวด) ผมเองรับน้ำขวดนั้นมาและกล่าวคำขอบคุณ ผมไม่รู้ว่าน้ำขวดนั้นคือขวดสุดท้ายของเขารึเปล่า รู้แค่ว่าน้ำขวดนี้คงหาไม่ได้ง่ายๆในชีิวิตปกติแน่ๆ เพราะนั่นคือน้ำใจ…

น้ำขวดใหญ่ที่ได้รับมา
น้ำขวดใหญ่ที่ได้รับมา

ผมได้กินน้ำและไม่นานนักร่างกายก็ค่อยๆกลับมาเป็นเหมือนเดิม ภายหลังมาถามเพื่อน เขาบอกว่าผมอาจจะเหนื่อยเกินไปเท่านั้นเองไม่ได้เป็นอะไรหรอก แต่ในใจผมแอบคิดว่าการที่ไม่ออกกำลังกายมันทำให้ผมปวกเปียกขนาดนี้เชียวหรือ?

เมื่อได้รับคำยืนยันว่ากลับได้แล้ว พ่อก็ยกเรือให้ชาวบ้านที่กำลังขนของอพยพหนีน้ำอยู่ใกล้ๆ เขากำลังขนของใส่กะละมังและเดินลอยน้ำ ทันทีที่ได้เรือไปเขาเอาของที่ขนมาใส่เรือและลากเรือไปกับน้ำต่อไป เราคิดว่าเรือนี้คงทำประโยชน์ให้กับเขาได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ทำให้สีหน้าของเขายิ้มแย้มทันทีเมื่อได้รับเรือ

10. ไม่นานนัก เราก็โบกรถกลับ เป็นรถกระบะที่มีคนขับอยู่คนเดียว ผมกับพ่อขอนั่งไปด้วย ซึ่งผมเองนอนหมดแรงที่ท้ายกระบะ และค่อยๆจิบน้ำที่ได้มาทีละน้อย บอกตรงๆว่าหมดสภาพมาก ผมเองประมาทในสถานการณ์มากเกินไป คิดว่าตัวเองจะมีแรงพอ แต่ท้ายที่สุดมันก็เกินกำลังไปหน่อย ผมนั่งของเขามาเรื่อยจนถึงหลักสี่ พี่เขาจะเข้าหลักสี่เราก็เลยขอลงช่วงหลักสี่ เพื่อที่จะได้ไปขึ้นรถต่อในถนนวิภาวดีรังสิต

11. ผมยืนรอรถแท็กซี่อยู่ัสักพัก และก็มีรถประมงของ ม เกษตรผ่านมา และเขาจอดส่งคนพอดี ก็เลยขอขึ้นไปด้วยอย่างน้อยก็ได้ไปลง ม. เกษตรพอดี เป็นรถสูงขึ้นยากอีกเหมือนเคย กำลังคิดว่าปกติเขาขนของขึ้นรถกันยังไงนะ สูงจริงๆ ก็คงมีบันไดละนะ

และพอมาถึง ม.เกษตร เขาก็จะเขาประตูฝั่งวิภาวดี ซึ่งผมต้องการไปประตูฝั่งงามวงศ์วาน ก็เลยลงและต่อรถแท็กซี่ไปอีกนิดหน่อย สุดท้ายก็กลับถึงรถ และถึงบ้านอาบน้ำล้างเนื้อล้างตัว

สภาพของซองหมากฝรั่งที่เอาใส่กระเป๋ากางเกงไปด้วย
สภาพของซองหมากฝรั่งที่เอาใส่กระเป๋ากางเกงไปด้วย

เหตุการณ์ในวันนี้สอนให้ผมรับรู้และเข้าใจกับคำว่าน้ำท่วมครบทั้ง 5 สัมผัสกันเลยครับ

ผมได้เห็นน้ำที่ท่วมด้วยตาตนเอง

ผมได้ยินเสียงของผู้ประสบภัยและความเงียบ ทุกๆอย่างรอบตัวด้วยหูของผม

ผมได้สัมผัสน้ำท่วม ที่กำลังเน่าด้วยผิวหนังของผม

ผมได้กลิ่นน้ำ กลิ่นที่นอนอยู่บ้านคงไม่มีวันเข้าใจ ด้วยจมูกของผม

บางครั้งเมื่อน้ำกระเด็นมาเพราะคลื่นที่เกิดจากรถสวนทางกัน ผมก็ได้ลิ้มรสน้ำท่วมกับเขาด้วยเหมือนกัน

ไอ้ที่เขาบอกว่าไม่เจอไม่รู้นี่ผมว่าจริงนะครับ แต่เราก็ไม่จำเ้ป็นต้องไปเจอทุกอย่างก็ได้ครับ มันอาจจะเหนื่อยเกินไป ทำในสิ่งที่เราทำกันได้จะดีกว่า และเข้าใจคนที่ประสบภัยด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่ใช่ตัดสินด้วยมุมของเรานะครับ เพราะถึงแม้เราจะเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกับเขา เราก็ไม่มีวันจะเข้าใจเขาได้หรอกครับ ดังนั้นก็ให้เผื่อใจกับเรื่องนี้ให้มากๆ ใจกว้าง ใจเย็น และอดทนต่อกันนะครับ

สิ่งที่ผมไปเผชิญในครั้งนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กๆของความเดือนร้อนเท่านั้นครับ ถ้าให้ทุกคนเขียนความเืดือดร้อนของตัวเองออกมาจากน้ำท่วมครั้งนี้ หนึ่งชีวิตก็คงจะอ่านไม่หมด…

แม้ว่าในวันนี้ในบางพื้นที่จะดูคลี่คลายลงแล้ว แต่มันเป็นเพียงแค่วันนี้ครับ เราจำเป็นต้องเตรียมใจรับความผันแปรของธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือของพวกเรากันต่อไปครับ

สวัสดี