ปรับแต่งเครื่องมือทำสวน

 

View this post on Instagram

 

หาจอบที่เหมาะ จอบที่บ้านมีเยอะเหมือนกัน แต่ใช้งานยังไม่เหมาะมือ ส่วนใหญ่จะกว้างและเบา แต่พื้นที่แถวนี้ถ้าไม่ดินแน่น ก็หิน ดังนั้นเครื่องมือต้องเล็กและแกร่ง ปกติผมจะใช้อีเตอร์ แม้อีเตอร์จะทำงานได้ดี แต่มันหนักและกินแรงมาก เลยต้องลดสเป็คลงเพื่อเพิ่มความคล่องตัว แต่ยังต้องแกร่งเป็นหลัก เลยไปซื้อจอบที่หนักมาตัดขอบด้านข้างของมัน ให้ผอม แล้วใส่ด้ามอีเตอร์เพราะหนาดี ..อีกอันเป็นจอบหน้าแคบซื้อมือ 2 มา 80 บาท ขนาดกำลังพอดี เอามาต่อด้าม ….นี่ต่อด้ามมาหลายอัน เริ่มเป็นมากขึ้นแล้ว ต่อแล้วใช้ได้นานขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อน ขุดไม่กี่ทีหลุด

A post shared by dinh airawanwat (@diiinp) on

ถ้าใช้จอบทั่วไป หรือพวกจอบเหล็ก อันนั้นมันจะเบา ดีไม่ดี ฟาดดินลงไปจะงออีกด้วย เพราะดินที่นี่หินเยอะ ดังนั้นมันก็ต้องปรับเครื่องมือให้เข้ากับงาน แรงคนนี่ส่วนใหญ่มันก็พอจะไหวอยู่ แต่ถ้าเครื่องมือมันอ่อนนิ่มเกินแรง อันนั้นเครื่องมือก็จะพังได้ ดังนั้นจึงต้องหาที่มันพอดีมือ พอดีแรง ก็ปรับกันไปตามเหตุปัจจัย มีก็ปรับ ไม่มีก็ใช้เท่าที่มี

สู่แดนบุญ

สู่แดนบุญ

สู่แดนบุญ

ในค่ายพระไตรปิฎกเมื่อปีก่อน มีพี่จิตอาสามาขอให้ออกแบบโลโก้ให้ เป็นโลโก้ร้านสินค้าสุขภาพ และบอกด้วยความเกรงใจว่าเป็นงานส่วนตัวนะ

ปกติผมจะเป็นคนคิดงานนาน คิดวน ทวนซ้ำ ออกแบบไปมาในหัวบ้าง ในกระดาษบ้าง แต่งานนี้ถือว่าออกมาเร็ว เพราะคิดในได้งานพระไตรปิฎกครั้งนั้นแหละ แรงบันดาลใจก็มาจากดอกบัวในภาพพื้นหลังเวที

ผมออกแบบโดยใช้ฟอร์มข้าวหลามตัด ซึ่งเป็นฟอร์มเดียวกับโลโก้ของบุญนิยมทีวี และมีแนวคิดว่ามันน่าจะต้องเกี่ยวกับการเติบโต (มรรคไปจนถึงผล) ก็เลยใช้บัว 4 เหล่าเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

การจะเข้า “สู่แดนบุญ” อย่างแท้จริงนั้น บุญจะต้องเป็นบุญที่แท้จริงด้วย คือต้องเกิดบุญอย่างถูกสัมมาทิฎฐิ หมายถึงเกิดการชำระกิเลสออกไปโดยลำดับ

จุดเริ่มต้นของโลโก้นี้คือจุดล่างสุด คือบัวเหล่าที่สี่ (อเวไนยสัตว์ – สัตว์ที่สอนไม่ได้) ที่ชี้ลงไปด้านล่าง และดำเนินต่อมาตามดอกบัวที่โตและบานขึ้นโดยลำดับ(เวไนยสัตว์ – สัตว์ที่สอนได้) โดยมีใบบัวนั้นเป็นสิ่งสังเคราะห์อาหาร ใบบัวทั้งหกใบนั้นแทนอายตนะ 6 (สื่อติดต่อ 6 อย่างที่ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หมายถึงว่าคนจะเจริญได้นั้นต้องมีการกระทบ(ผัสสะ) เกิดขึ้น เหมือนกับบัวที่โตได้เพราะได้พลังงานจากแสงที่สังเคราะห์จากใบ

ตอนผมคิดโลโก้นี้ ผมก็คิดถึงบัว 4 เหล่าในมุมมองของคนคนเดียว คือคนทุกคนก็เกิดขึ้นมาจากความหลงผิด แต่ก็กลับตัวกลับใจ พัฒนาตัวเองจนรู้ตื่นเบิกบานได้โดยลำดับ ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะเหมาะกับองค์ประกอบของพี่จิตอาสาท่านนั้น คือแม้ว่าจะไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบในวันนี้ ยังต้องค้าขายอยู่ ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพด้วยความดีล้วน ๆ แบบครูบาอาจารย์ได้ แต่การค้าขายสิ่งที่มีประโยชน์ในราคาถูกมันก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่ไปเสียทีเดียว เพราะยังสามารถดำเนินในแนวทางสัมมาอาชีวะและบริหารสินค้าไม่ให้เป็นมิจฉาวณิชชาได้อยู่

เมื่อวานได้ไปงานเปิดร้านของพี่เขา ก็ได้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า “นี่ไม่ใช่งานส่วนตัว” แต่เป็นธุรกิจเพื่อส่วนรวม คือเปิดร้านขายของดี ราคาถูกและใช้พื้นที่ในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น นี่มันงานส่วนรวมชัด ๆ …แหม่ ตอนแรกเราก็ตีโจทย์ไม่แตก ก็นึกว่าจะหากินกันตายเฉย ๆ แต่ก็นะ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็สมควรตามเหตุปัจจัยของมันนั่นแหละ โลโก้นี้หลายคนเขาก็ชอบนะ ผมก็ชอบ จริง ๆ ก็ดีตั้งแต่ชื่อแล้วนั่นแหละ

[16] หญ้าจำนวนมาก

diary-0016-หญ้าจำนวนมาก

16. หญ้าจำนวนมาก

หลังจากที่ปล่อยให้หญ้าขึ้นในหน้าฝนมากว่าส่ามเดือน ผมพบว่าหญ้าที่ถางมาได้นั้นเยอะมาก มีกองใหญ่ ๆ แบบที่เห็นอีกหลายกอง

พอได้หญ้ามาก็มาคิดว่าจะเอามาทำอะไรดี มันใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง จะเอามาคลุมดินก็ได้ หรือจะเอาไปลงแปลงผักแล้วเอาดินกลบแล้วค่อยปลูกผักก็ได้

ตอนแรกที่เห็นหญ้าผมก็ไม่คิดว่ามันจะเยอะ แต่พอถางไปเรื่อย ๆ กองมันก็ยิ่งใหญ่ ยิ่งหลายกองขึ้นเรื่อย ๆ กองนี้สูงก็ไปวางเริ่มกองใหม่ แต่หญ้าที่เหลือก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมด

ผมได้ลองถางหญ้าต่อเนื่อง แบบเต็มกำลังเท่าที่จะอึดได้ คือประมาณ 1 รอบ จะถางได้ 16 ตรม. (4*4 เมตร) ถ้ามากกว่านั้น จะร้อนเกิน ต้องไปพักเป็นระยะ ให้เย็นลงแล้วค่อยมาถางใหม่

คิดว่าถ้าเอาแบบฟิตจริง ๆ จะได้วันละ 6 – 8 รอบ เช้าจรดเย็น แต่มันก็ยากสำหรับผม เพราะไม่ค่อยได้วางตารางงานว่าจะทำอะไรอย่างเดียวทั้งวัน

วันแต่ละวันจะมีกิจกรรมนั่นนู่นนี่ รวมทั้งที่ไม่ได้วางแผนเต็มไปหมด อะไรควรทำก็เปลี่ยนไปทำ อะไรพิจารณาแล้วว่ารอได้ก็ยกไว้ก่อน ดังนั้นหญ้าก็เลยยังไม่หมดเสียทีเพราะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น

พอผมคิดได้ว่าจะปลูกอะไรก็ค่อย ๆ ถาง จะได้มีที่ปลูก ถ้าถางไว้ก่อนมันจะโตอีกรอบ เพราะช่วงนี้ฝนยังตกอยู่ ก็ถางกันไป ….

[6] ถางหญ้า ในหน้าฝน

diary-0006-ถางหญ้าในหน้าฝน

6. ถางหญ้า ในหน้าฝน

กิจกรรมถางหญ้านั้น เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างจะเพลิน กินแรงน้อย ทำได้นาน ถึงแดดจะร้อน แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเหนื่อยนัก ยิ่งทำตอนแดดร่มลมพัดนี่ยิ่งถางได้เร็ว

แต่เมื่อฝนตกแล้ว ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นอีก เพราะนอกจากจะชื้นแฉะแล้วยังมีโอกาสเจอกับแมลงมีพิษหรือสัตว์อื่น ๆ ด้วยก็ได้

หลังฝนตกผมจึงไม่ค่อยเสี่ยงไปถางหญ้าสักเท่าไรนัก แต่จะเปลี่ยนงานไปทำอย่างอื่นดีกว่า รอวันอากาศดี ความชื้นน้อย ๆ ดูแห้ง ๆ แล้วค่อยออกไปถางหญ้าจะปลอดภัยกว่า

ไตรสิกขา ฉบับการ์ตูน

เมื่อปลายปี 58 ที่ผ่านมา ผมได้เผยแพร่ผลงาน “ไตรสิกขา ฉบับการ์ตูน” ซึ่งได้เขียนไว้ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

ไตรสิกขา

หลังจากทำเพจ “ไตรสิกขา” มาได้สักพัก รวมทั้งศึกษาการปฏิบัติธรรมในหลายๆแนวทาง ทำให้รู้สึกว่า การเข้าถึงไตรสิกขาในเชิงปฏิบัติได้จริงนั้นเข้าใจยากมาก และการพิมพ์บทความมาอธิบายหรือขยายสิ่งที่เข้าใจยากเหล่านั้นย่อมมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว สรุปรวบให้สั้นได้ยาก จึงยังคงเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าถึงสำหรับบางคนที่ไม่ถนัดในการอ่านบทความยาวๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต

ไตรสิกขา ฉบับการ์ตูน

จึงคิดว่าเราน่าจะสรุปไตรสิกขาออกมาเป็นการ์ตูนจะได้ง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจ แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปรวมสิ่งที่สำคัญทั้งหมดลงในการ์ตูนเพียงแค่ 30 หน้านี้ได้ จึงยกมาเพียงหลักปฏิบัติในภาพรวมเพื่อให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของการปฏิบัติไตรสิกขา การมีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ที่สอดร้อยกันเป็นอย่างไร ส่งผลแก่กันและกันอย่างไร เชื่อมโยงกันอย่างไร เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไร และสุดท้ายจะให้ผลอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดออกมาให้พอเห็นภาพ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้จากลิงก์ด้านล่างนี้

คู่มือ ไตรสิกขา ฉบับการ์ตูน สำหรับผู้เริ่มต้น

โสดไม่ง่าย


วันนี้มีคนมาเล่าในบล็อกว่าตั้งใจปฏิบัติธรรมมาสักพัก ก็มาหนักเอาเรื่องความอยากมีคู่นี่แหละ เขาบอกประมาณว่าโจทย์ทั่วๆไปพอไหว แต่เรื่องคู่นี่โดนเล่นงานซะทุกข์หนัก

เพื่อนก็บอกว่า การพาคนโสดเป็นเรื่องยาก แม้บทความที่เราเขียนก็ยังยากไปสำหรับคนทั่วไป เรียกว่าตึงมือเลยล่ะ

ใจก็ว่าเขียนอย่างอนุโลมแล้วนะ ยังไม่เคยอัดตรงๆแบบไม่มีทางให้เลี่ยงสักที แค่ยกมาชี้โทษเป็นเรื่องๆ แต่อาจจะเพราะเดิมทีมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากอยู่แล้วด้วยแหละนะ

จากประสบการณ์ผมก็ว่าโจทย์นี้หินสุดๆเลยนะ การประพฤติตนเป็นโสดเนี่ย การไม่กินเนื้อสัตว์นี้เป็นเด็กทารกไปเลย การกินจืดก็เป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อย กินมื้อเดียวเป็นเด็กมัธยม ส่วนจะโสดนี่มันโดดมาอีกขั้นหนึ่ง เหมือนไม่ได้ต่อกันมา นี่ถ้าไม่มีบุญเก่ามา ชาตินี้คงไม่รอดต้องจมทุกข์เหมือนชาวบ้านเพราะความอยากมีคู่แน่ๆ

ฐานกินมื้อเดียวได้สบายๆ เจอการประพฤติตนเป็นโสดยังเรียกว่าตึงมือ รบกันก็เสียเลือดบ้าง เสียแขนเสียขาไปบ้าง แต่ก็ยังพอมีโอกาสชนะได้ ดังนั้นฐานต่ำกว่านี้ไม่น่ารอด ถ้าจะรอดก็กดข่มอดทนเอาให้มันผ่านๆไปอีกชาติ

ถ้าถามความหวังผมจากการเขียนบทความเชียร์คนโสดทั้งหลาย ผมไม่หวังอะไรเลยนะ ถึงเขาจะมาถามหรือจะมาปรึกษาก็ไม่หวัง ถ้าวันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนใจไปมีคู่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเข้าใจว่ามันยากจริงๆ

แต่เราก็ต้องเขียน ต้องเผยแพร่ ต้องบอกเขานั่นแหละ มันเป็นความรู้ที่ดี ไม่ค่อยมีคนเผยแพร่กันนักหรอก ยังมีคนมาบอกเลยว่าอย่างเราหายาก “บางคนสอนโทษของการมีคู่ แต่ตัวเองก็ดันมีคู่ ไม่น่าศรัทธา

นักเผยแพร่ธรรมะ น้อยคนนักที่จะชี้โทษของการมีคู่ชัดๆ ส่วนใหญ่ก็เหลือช่องน้อยไว้ให้ตัวเองมีคู่ เจาะช่องไว้ให้หาคู่ได้โดยไม่ผิด ธรรมะมันไม่ถึงแก่นมันก็เฉโกไปแบบนี้นั่นแหละ

ก็เลยต้องทำไป ไม่หวังหรอก ทำไปนั่นแหละ มันเป็นสิ่งดี

แนะนำ ไตรสิกขา

ในบทความนี้ก็จะมาแนะนำเพจไตรสิกขาที่ทำไว้กันเสียหน่อย แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีบทความอะไรมากนัก แต่ก็มีบทความที่แก่นและแนวทางเขียนไว้แล้ว

ติดตามเนื้อหาได้ที่ เพจไตรสิกขา (facebook) หรือ บล็อก ไตรสิกขา (web)

ไตรสิกขา ปฐมบทไตรสิกขา ปฐมบท : บทความแรกของเพจไตรสิกขา เป็นภาพรวมของการปฏิบัติไตรสิกขาในบทบรรยายโดยไม่แจกแจงเนื้อหามากนัก ซึ่งจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้พอเข้าใจในแนวทางปฏิบัติเสียก่อน

ไตรสิกขา การศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพื่อก้าวข้ามสามภพไตรสิกขา บทย่อ / บทขยาย : ในบทความนี้จะสร้างขึ้นประกอบภาพการ์ตูนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายโดยใช้ธรรมะข้ออื่นๆเข้ามาประกอบในการตรวจสอบการปฏิบัติ ซึ่งในบทความนี้มีทั้งบทย่อที่อ่านได้ง่าย เพราะสรุปมาเป็นเนื้อหาสั้นๆ และบทขยายที่แจกแจงรายละเอียดของแต่ละข้อให้กระจ่างมากขึ้น

เริ่มต้นไตรสิกขาตั้งแต่วันนี้ด้วย อธิศีลอธิศีล : การเริ่มต้นศึกษาสามอย่างนั้นเริ่มที่อธิศีล  การมีศีลนั้นถือเป็นจุดตั้งต้นในการปฏิบัติ แต่การจะมีศีลได้นั้นจะต้องมีปัญญาที่เห็นว่าศีลนั้นดี ศีลนั้นประเสริฐ มาเป็นฐานเสียก่อน หากใจของเรานั้นยังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ในการปฏิบัติศีล ก็เรียกได้ว่าผู้ที่ยังไม่พร้อมจะศึกษา ไตรสิกขา

ติดตามเนื้อหาอื่นๆได้ที่ เพจไตรสิกขา (facebook) หรือ บล็อก ไตรสิกขา (web)

เปิดเพจ ไตรสิกขา

ไตรสิกขา

เปิดเพจใหม่ เกี่ยวกับไตรสิกขา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เปิดเพจมังสวิรัติวิถีพุทธไป แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปิดลงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่า

ไตรสิกขานั้นสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษา “ไตรสิกขา” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะต่างกันออกไปจากหลายๆทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับการมีแนวปฏิบัติหลายทางแต่ใช้ keyword เดียวกันในการประกาศแนวทาง

เพจ ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ที่มีนั้น ก็จะเป็นเรื่องของสภาวธรรมเสียส่วนใหญ่ คือเอาประสบการณ์ต่างๆมาเขียน แต่ในเพจไตรสิกขานั้นจะต่างออกไปตรงที่เน้นหนักไปในข้อปฏิบัติ การแนะแนวทางการปฏิบัติต่างๆ จนกระทั่งการตรวจสอบผล

ซึ่งเพจก็เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 10 เดือน 4 ตอนนี้ก็ล่วงเลยมาเกือบเดือนแล้ว มีผู้สนใจเข้ามาบ้าง ส่วนใหญ่จะมาจากเพจ “ดิณห์” นั่นแหละ เพราะไปประกาศไว้ที่นั่น ส่วนที่อื่นก็ไม่ได้ประกาศ

เอาเป็นว่าใครสนใจก็ลองติดตามศึกษากันดู ถ้าศึกษาแล้วสงสัยก็สามารถถามได้ในเพจ หรือจะถามในเว็บไซต์ก็ได้เช่นกัน

facebook : ไตรสิกขา

blog : ไตรสิกขา

ถนนนักเขียน

งานเขียนช่วงนี้มีเยอะขึ้นมาก ในเพจที่ทำไว้ก็มีบทความมากมาย และมีผู้ที่สนใจเข้ามาอ่านอยู่บ้าง ซึ่งในตอนแรกที่คิดจะเขียนบทความนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนเข้ามาดูเยอะขนาดนี้

งานนี้เป็นงานหนึ่งที่สามารถทำได้ไม่ยาก แม้จะเรียบเรียงเนื้อหาได้ยากบ้างง่ายบ้าง แต่ก็ใช้สภาวะที่ตัวเองมีเรียบเรียงขึ้นมาเขียนจึงทำให้ร่างบทความต่างๆออกมาได้ไม่ยากเย็นเท่าไรนัก

ส่วนใครจะติดตามผลงานก็ติดตามได้ที่ facebook ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ จะทักทาย ถามตอบกันได้ก็ในเพจนั้นนั่นแหละนะ

เนื้อหาที่ตั้งใจจะเขียนในตอนแรกก็เป็นเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตสบายๆ แต่มาช่วงหลังนี่ก็หนักหน่วงไม่ใช่เล่น แต่ละบทความนั้นมีความหนักแน่นในตัวของมันเอง และมีทั้งความยาวของเนื้อหาที่มาก บางบทความไปไกลถึง 6-7 หน้า A4 แต่ก็ยังดูเหมือนมีคนเพียรที่เขาเข้ามาเก็บสาระได้เหมือนกันนะ อย่างน้อยมีคนมากด like ไว้บ้าง ก็คงต้องมีคนอ่านกันบ้างละนะ

ย้ายบล็อก ย้ายโฮส

หลังจากใช้โฮสของ monkiezgrove.com เป็นฐานที่มั่นมานาน แต่วันนี้ก็ได้ปล่อยให้ที่เดิมนั้นหมดอายุไป ด้วยเหตุว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

ด้วยความที่ตอนนี้คิดว่าตนเองนั้นคงเลิกที่จะรับจ้างหรือขายงานออกแบบใดๆแล้ว ก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเว็บไซต์ monkiezgrove อีกต่อไปให้เปลืองค่าใช้จ่ายรายปี จึงได้ย้ายเฉพาะ Duck blog มาที่โดเมนใหม่แห่งนี้คือ duckblog.dinp.org

ซึ่งเนื้อหานั้นจะถูกตัดทอนและลบทิ้งไปมาก เพราะว่า database นั้นใหญ่เกินไปที่จะย้ายมาทั้งหมดได้ จึงได้ตัดสินใจลบเนื้อหาเกี่ยวกับกระบองเพชร บอนสี และเรื่องราวที่ไม่เป็นสาระต่างๆทิ้งไปเพื่อลดขนาดของก้อนข้อมูล เพื่อจะได้ทำการย้ายข้อมูลในส่วนที่สำคัญมาได้