ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย

วันที่สองของการเดินทาง สำหรับในบทความนี้เป็นบทความในช่วงบ่ายของวันที่สอง หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมตามแต่ละบ้านมาแล้ว เรื่องราวของตอนนี้เราก็จะมาแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ

10 พฤษจิกายน 2555 เวลา บ่าย 3 โมง

จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง
จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง

เราเดินทางจากบ้านของแม่แต๋นมายัง ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญนะครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานเท่าไรนัก สำหรับบ้านผมนั้นมาถึงเป็นกลุ่มแรกเลย ก็เลยได้มีเวลาเดินเล่นชมสถานที่ได้มากหน่อย ตากล้องทีวีบูรพาแดดในวันนี้ก็แรงดีทีเดียวครับ แดดดีแบบนี้เหมาะแก่ฤดูการเกี่ยวข้าวมากครับ เพราะถ้าฝนตกในช่วงข้าวสุกแบบนี้จะทำให้ข้าวเสียหาย ทำให้เกี่ยวยาก ซึ่งก็ให้ผลเสียมากมายตามมาครับ การป้องกันก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากเกี่ยวให้ไวหรือภาวนาเท่านั้นเอง

สำหรับการมากับทีวีบูีรพา ก็จะมีการเก็บภาพเป็นระยะๆ นะครับ เพราะเป็นรายการทีวีละนะ ก็จะมีกล้องผ่านเรามาเป็นระยะๆเหมือนกันดังนั้นกล้องผ่านมาก็ต้องทำตัวธรรมชาติแบบกึ่งดูดีกันหน่อย เผื่อเขาจะได้เก็บภาพไปใช้ได้ครับ เห็นตากล้องแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ต้องไปรอไปเตรียมถ่ายก่อนตลอดไม่งั้นก็เก็บภาพไม่ได้ทั้งร้อนทั้งหนัก แต่ก็เป็นงานละนะ

เห็ดฟางใหญ่ๆ

อาหารที่เรากินแต่ละมื้อนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้นครับ ทั้งคุณภาพ ปริมาณและความปลอดภัยนั้น ถ้าเอาราคาไปเทียบกับราคาในกรุงเทพ การเดินทางมาในครั้งนี้คงได้กำไรตั้งแต่อาหารที่กินแล้วครับ อย่างเห็ดในรูปด้านบนนี่ก็มีแต่ขนาดใหญ่ๆ

น้ำข้าวกล้องงอก
น้ำข้าวกล้องงอก

แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ปลูก ขนาดของเห็ดจะเป็นตัวกำหนดราคาครับ สำหรับที่เคยเห็นในตลาดยังไม่ค่อยเห็นมีขนาดใหญ่เท่าที่นี่เลยครับ

บ่ายๆแบบนี้หลายคนคงจะยังอิ่มกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงก็มีน้ำข้าวกล้องงอกให้ดื่มกันให้สบายท้องมากยิ่งขึ้นครับ น้ำข้าวกล้องงอกสดใหม่นี่หากินในกรุงเทพยากมากครับ เดินไปตามตลาดเช้าทั่วไปนี่ไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่หมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้อะไรประมาณนี้เท่านั้นเอง นี่ถ้าได้ดื่มทุกเช้าคงจะดีมาก เพราะได้ทั้งคุณค่าและพลังงานช่วยทำให้หิวช้ากว่าเดิมได้ดีมาก จากเดิมที่ก่อนเวลาพักก็จะอยู่ต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ
เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ

หลังจากหลายๆบ้านมาถึงที่หมายกันจนครบแล้ว ก็เข้าถึงกิจกรรมต่อไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ไปที่มาของข้าวคุณธรรม ชาวนาคุณธรรม เครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา การเริ่มต้นต่างๆถูกเล่าผ่านชาวนาคุณธรรม คุณอดุลย์ พาณิชย์ (ฉายารึเปล่าไม่แน่ใจ) ร่วมกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ที่มาเล่าเรื่องราวให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้เรื่องราวและต้นกำเนิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบัลดาลใจ รวมถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้น ผมได้ฟังแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเนื้อหาผมแนะนำให้ตามไปอ่านในนิตยสาร ฅ ฅน นะครับ พี่เช็คบอกว่าเขียนไว้ด้วย ซึ่งอาจจะลองสอบถามกับทางทีวีบูรพาก็ได้

เหตุผลที่ผมไม่อยากเล่าในบล็อกแห่งนี้เพราะเนื้อหามันค่อนข้างจะแน่น และผมเองก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างอาจจะปะติดปะต่อขาดๆเกินๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงประเด็นกันไปได้ครับ ยังไงถ้าอยากรู้ต้องถามจากแหล่งที่มาที่แนะนำไปข้างต้นครับ

ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง
ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง

หลังจากที่ทราบที่มาและความเป็นไปรวมถึงอนาคตที่คาดหวังร่วมกันแล้ว ก็ได้พากลุ่มสมาชิกเดินชมพื้นที่ครับ ก็มีโรงสี โรงบรรจุ วิถีชีวิตรอบๆ ครับ เป็นการแนะนำกระบวนการผลิตในเบื้องต้นให้กลุ่มสมาชิกได้รับรู้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามบ้านสมาชิกชาวนาคุณธรรมเพื่อ อาบน้ำอาบท่า จัดการธุระส่วนตัวก่อนจะมาทานข้าวเย็นครับ สำหรับค่ำนี้ผมได้พักกายในบ้านของพ่อประมวลครับ เมื่อถึงที่พักก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากอาบน้ำคุยกับสมาชิกใหม่ในบ้าน

ลืมบอกไปว่าการพักในแต่ละวันจะเปลี่ยนสมาชิกในบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้นครับ สำหรับผมก็เป็นคนอยากรู้ก็เลยชอบถามอะไรเยอะแยะตามประสาครับ แบบว่าคิดไปเองในสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัวจะพลาดถามกันง่ายๆเลยจะดีกว่า

แบ่งปันความรู้สึกหลังจากอาบน้ำอาบท่าเราก็จะมารวมกินข้าวเย็นร่วมกันครับ มื้อนี้อร่อยเหมือนเคยครับ การเดินทางครั้งนี้ไม่มีคำว่าท้องหิวครับ มีแต่คำว่า “กินอีกแล้วหรอ” , “ยังอิ่มอยู่เลย” อะไรประมาณนี้ เขาเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดีตามวิถีของชาวนาคุณธรรมครับ

หลังจากทานข้าวกันเสร็จแล้วก็จะมาไหว้พระฟังธรรมกันครับ โดยหลวงพ่อจากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ(ถ้าจำผิดพลาดขออภัยครับ) การฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสายวัดป่านั้นเป็นธรรมที่เป็นธรรมดา เป็นการพูดกันธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธเจ้านั่นคือหากไปเทศน์ที่ไหน ให้เทศน์ภาษาของที่นั่น ให้คนได้เข้าใจ ประมาณนี้ครับผิดพลาดประการใดรบกวนชี้แนะผมด้วยนะ และก็มีกิจกรรมแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละบ้าน ประกอบภาพกันครับ หลายๆบ้านก็ออกมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ จะมีความต่างก็นิดหน่อยตามสภาพพื้นที่ของแต่ละบ้านครับ สำหรับบ้านผมก็เ้ป็นบ้านสุดท้ายก็ออกไปเล่าแบบงงๆ ครับ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องปะติดปะต่อกับเพื่อนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ความแตกต่างที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ข้าวหลามเผาสดใหม่
ข้าวหลามเผาสดใหม่

ต่อจากเล่าประสบการณ์ในแต่ละบ้านกันแล้วก็จะมีพิธีเทียนและผูกข้อมือโดยพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมครับ ซึ่งก็เป็นพิธีที่ค่อนข้างมีผลทางใจมากทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆท่านได้พูดสิ่งที่คิดหรือความในใจออกมาให้เพื่อนๆได้รับฟังกันถือเป็นการแบ่งปันความรู้สึกที่ดีครับ และพรจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ถือเป็นพรที่ดีด้วยเก็บกลับบ้านไปเป็นแรงผลักดันและกำลังใจกันได้มากมายเลยทีเดียว

หลังจากแบ่งปันกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลากลับบ้านครับ สำหรับใครที่อยากคุยต่อก็จะมีข้าวหลามเป็นมื้อค่ำครับ สำหรับผมก็รอกินข้าวหลามกับเขาอยู่เหมือนว่าแตกต่างกับที่เคยกินมากขนาดไหน ผลก็คือข้าวเหนียวนิ่มมากครับ เป็นข้าวหลามที่กินร้อนๆ จากกองไฟกันเลยทีเดียว

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ในมุมมองของผมนั้นทีเด็ดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ กลางวงสนทนาเกลอเมืองเกลอทุ่งครับ วงนี้บอกตรงๆว่ามีแต่ประสบการณ์ ความรู้ ปรัชญา แนวคิด อัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ บอกตรงๆว่าผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆมากมายจากวงนี้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราครับ ยังไงเราก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อกิจกรรมสำคัญในวันพรุ่งนี้อีกวันนั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ติดตามอ่านบทความต่อไปกันได้เลย

วันที่สองก็จบเพียงเท่านี้ อ่านวันสุดท้ายต่อได้ที่…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…