ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย

วันที่สองของการเดินทาง สำหรับในบทความนี้เป็นบทความในช่วงบ่ายของวันที่สอง หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมตามแต่ละบ้านมาแล้ว เรื่องราวของตอนนี้เราก็จะมาแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ

10 พฤษจิกายน 2555 เวลา บ่าย 3 โมง

จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง
จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง

เราเดินทางจากบ้านของแม่แต๋นมายัง ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญนะครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานเท่าไรนัก สำหรับบ้านผมนั้นมาถึงเป็นกลุ่มแรกเลย ก็เลยได้มีเวลาเดินเล่นชมสถานที่ได้มากหน่อย ตากล้องทีวีบูรพาแดดในวันนี้ก็แรงดีทีเดียวครับ แดดดีแบบนี้เหมาะแก่ฤดูการเกี่ยวข้าวมากครับ เพราะถ้าฝนตกในช่วงข้าวสุกแบบนี้จะทำให้ข้าวเสียหาย ทำให้เกี่ยวยาก ซึ่งก็ให้ผลเสียมากมายตามมาครับ การป้องกันก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากเกี่ยวให้ไวหรือภาวนาเท่านั้นเอง

สำหรับการมากับทีวีบูีรพา ก็จะมีการเก็บภาพเป็นระยะๆ นะครับ เพราะเป็นรายการทีวีละนะ ก็จะมีกล้องผ่านเรามาเป็นระยะๆเหมือนกันดังนั้นกล้องผ่านมาก็ต้องทำตัวธรรมชาติแบบกึ่งดูดีกันหน่อย เผื่อเขาจะได้เก็บภาพไปใช้ได้ครับ เห็นตากล้องแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ต้องไปรอไปเตรียมถ่ายก่อนตลอดไม่งั้นก็เก็บภาพไม่ได้ทั้งร้อนทั้งหนัก แต่ก็เป็นงานละนะ

เห็ดฟางใหญ่ๆ

อาหารที่เรากินแต่ละมื้อนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้นครับ ทั้งคุณภาพ ปริมาณและความปลอดภัยนั้น ถ้าเอาราคาไปเทียบกับราคาในกรุงเทพ การเดินทางมาในครั้งนี้คงได้กำไรตั้งแต่อาหารที่กินแล้วครับ อย่างเห็ดในรูปด้านบนนี่ก็มีแต่ขนาดใหญ่ๆ

น้ำข้าวกล้องงอก
น้ำข้าวกล้องงอก

แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ปลูก ขนาดของเห็ดจะเป็นตัวกำหนดราคาครับ สำหรับที่เคยเห็นในตลาดยังไม่ค่อยเห็นมีขนาดใหญ่เท่าที่นี่เลยครับ

บ่ายๆแบบนี้หลายคนคงจะยังอิ่มกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงก็มีน้ำข้าวกล้องงอกให้ดื่มกันให้สบายท้องมากยิ่งขึ้นครับ น้ำข้าวกล้องงอกสดใหม่นี่หากินในกรุงเทพยากมากครับ เดินไปตามตลาดเช้าทั่วไปนี่ไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่หมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้อะไรประมาณนี้เท่านั้นเอง นี่ถ้าได้ดื่มทุกเช้าคงจะดีมาก เพราะได้ทั้งคุณค่าและพลังงานช่วยทำให้หิวช้ากว่าเดิมได้ดีมาก จากเดิมที่ก่อนเวลาพักก็จะอยู่ต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ
เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ

หลังจากหลายๆบ้านมาถึงที่หมายกันจนครบแล้ว ก็เข้าถึงกิจกรรมต่อไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ไปที่มาของข้าวคุณธรรม ชาวนาคุณธรรม เครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา การเริ่มต้นต่างๆถูกเล่าผ่านชาวนาคุณธรรม คุณอดุลย์ พาณิชย์ (ฉายารึเปล่าไม่แน่ใจ) ร่วมกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ที่มาเล่าเรื่องราวให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้เรื่องราวและต้นกำเนิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบัลดาลใจ รวมถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้น ผมได้ฟังแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเนื้อหาผมแนะนำให้ตามไปอ่านในนิตยสาร ฅ ฅน นะครับ พี่เช็คบอกว่าเขียนไว้ด้วย ซึ่งอาจจะลองสอบถามกับทางทีวีบูรพาก็ได้

เหตุผลที่ผมไม่อยากเล่าในบล็อกแห่งนี้เพราะเนื้อหามันค่อนข้างจะแน่น และผมเองก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างอาจจะปะติดปะต่อขาดๆเกินๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงประเด็นกันไปได้ครับ ยังไงถ้าอยากรู้ต้องถามจากแหล่งที่มาที่แนะนำไปข้างต้นครับ

ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง
ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง

หลังจากที่ทราบที่มาและความเป็นไปรวมถึงอนาคตที่คาดหวังร่วมกันแล้ว ก็ได้พากลุ่มสมาชิกเดินชมพื้นที่ครับ ก็มีโรงสี โรงบรรจุ วิถีชีวิตรอบๆ ครับ เป็นการแนะนำกระบวนการผลิตในเบื้องต้นให้กลุ่มสมาชิกได้รับรู้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามบ้านสมาชิกชาวนาคุณธรรมเพื่อ อาบน้ำอาบท่า จัดการธุระส่วนตัวก่อนจะมาทานข้าวเย็นครับ สำหรับค่ำนี้ผมได้พักกายในบ้านของพ่อประมวลครับ เมื่อถึงที่พักก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากอาบน้ำคุยกับสมาชิกใหม่ในบ้าน

ลืมบอกไปว่าการพักในแต่ละวันจะเปลี่ยนสมาชิกในบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้นครับ สำหรับผมก็เป็นคนอยากรู้ก็เลยชอบถามอะไรเยอะแยะตามประสาครับ แบบว่าคิดไปเองในสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัวจะพลาดถามกันง่ายๆเลยจะดีกว่า

แบ่งปันความรู้สึกหลังจากอาบน้ำอาบท่าเราก็จะมารวมกินข้าวเย็นร่วมกันครับ มื้อนี้อร่อยเหมือนเคยครับ การเดินทางครั้งนี้ไม่มีคำว่าท้องหิวครับ มีแต่คำว่า “กินอีกแล้วหรอ” , “ยังอิ่มอยู่เลย” อะไรประมาณนี้ เขาเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดีตามวิถีของชาวนาคุณธรรมครับ

หลังจากทานข้าวกันเสร็จแล้วก็จะมาไหว้พระฟังธรรมกันครับ โดยหลวงพ่อจากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ(ถ้าจำผิดพลาดขออภัยครับ) การฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสายวัดป่านั้นเป็นธรรมที่เป็นธรรมดา เป็นการพูดกันธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธเจ้านั่นคือหากไปเทศน์ที่ไหน ให้เทศน์ภาษาของที่นั่น ให้คนได้เข้าใจ ประมาณนี้ครับผิดพลาดประการใดรบกวนชี้แนะผมด้วยนะ และก็มีกิจกรรมแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละบ้าน ประกอบภาพกันครับ หลายๆบ้านก็ออกมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ จะมีความต่างก็นิดหน่อยตามสภาพพื้นที่ของแต่ละบ้านครับ สำหรับบ้านผมก็เ้ป็นบ้านสุดท้ายก็ออกไปเล่าแบบงงๆ ครับ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องปะติดปะต่อกับเพื่อนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ความแตกต่างที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ข้าวหลามเผาสดใหม่
ข้าวหลามเผาสดใหม่

ต่อจากเล่าประสบการณ์ในแต่ละบ้านกันแล้วก็จะมีพิธีเทียนและผูกข้อมือโดยพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมครับ ซึ่งก็เป็นพิธีที่ค่อนข้างมีผลทางใจมากทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆท่านได้พูดสิ่งที่คิดหรือความในใจออกมาให้เพื่อนๆได้รับฟังกันถือเป็นการแบ่งปันความรู้สึกที่ดีครับ และพรจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ถือเป็นพรที่ดีด้วยเก็บกลับบ้านไปเป็นแรงผลักดันและกำลังใจกันได้มากมายเลยทีเดียว

หลังจากแบ่งปันกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลากลับบ้านครับ สำหรับใครที่อยากคุยต่อก็จะมีข้าวหลามเป็นมื้อค่ำครับ สำหรับผมก็รอกินข้าวหลามกับเขาอยู่เหมือนว่าแตกต่างกับที่เคยกินมากขนาดไหน ผลก็คือข้าวเหนียวนิ่มมากครับ เป็นข้าวหลามที่กินร้อนๆ จากกองไฟกันเลยทีเดียว

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ในมุมมองของผมนั้นทีเด็ดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ กลางวงสนทนาเกลอเมืองเกลอทุ่งครับ วงนี้บอกตรงๆว่ามีแต่ประสบการณ์ ความรู้ ปรัชญา แนวคิด อัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ บอกตรงๆว่าผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆมากมายจากวงนี้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราครับ ยังไงเราก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อกิจกรรมสำคัญในวันพรุ่งนี้อีกวันนั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ติดตามอ่านบทความต่อไปกันได้เลย

วันที่สองก็จบเพียงเท่านี้ อ่านวันสุดท้ายต่อได้ที่…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

วันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นที่สอง เป็นวันที่เรามีเวลาเต็มวันในการทำกิจกรรมต่างๆมากมาย

วันนี้เราเริ่มต้นวันตั้งแต่ตีสี่ด้วยธรรมะตามสาย เป็นการตื่นที่น่าจะเช้าที่สุดในรอบปี ถ้าเป็นปกติก็คงจะงงตัวเองไม่รู้จะตื่นมาทำอะไรตอนตีสี่

ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4
ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4

แต่ตีสี่วันนี้พิเศษออกไปเพราะมีธรรมะให้ฟัง เสียงนุ่มละมุนหูพร้อมด้วยข้อคิดสอนใจมากมาย ทำให้ต้องตื่นมานอนฟัง เพราะไหนๆก็อยู่ในวัดแล้ว การนอนฟังธรรมนี่คงหาโอกาสได้ไม่ยากนักสำหรับคนแบบผม ก็เลยใช้โอกาสนี้ฟังจนจบเสียเลย เมื่อจบแล้วก็ไปอาบน้ำเตรียมพร้อมกิจกรรมในวันนี้

กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง

เราพยายามจะออกเดินทางไปปลูกป่าแนวกันชนกันให้เร็วที่สุดเช้าที่สุดเพราะจะหลีกเลี่ยงแดดในช่วงสายถึงเที่ยง เพราะเจ้าถิ่นเขาว่าร้อนมาถึงขนาดว่าผิวอาจจะไหม้กันได้เลยทีเดียว และแน่นอนผมก็ใส่ชุดเตรียมพร้อมออกปลูกนั่นคือเสื้อแขนยาวพร้อมหมวกแก๊ปหนึ่งใบ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา
อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา

เราเดินทางกันเข้าไปในชุมชน ไปในถนนที่นานๆทีจะมีรถผ่านสวนมาสักคัน อาจจะเพราะเป็นเวลาเช้า เราบุกเข้าไปในที่ดินที่มีการปลูกพืชสลับกับป่า หนทางนั้นเหมือนจะทำขึ้นมาใหม่ได้ไม่นานนัก และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางทีมงานตัดสินใจใช้รถตู้ก็เพราะว่าจะทำให้เราเดินทางมาปลูกป่าได้สะดวกยิ่งขึ้น

ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

เมื่อเข้ามาด้านในพบว่าพื้นที่บางส่วนกำลังปรับปรุงอยู่ และส่วนที่ไถไปแล้วก็จะเห็นเป็นดินทรายครับ ที่นี่มีแต่ดินร่วนปนทรายโดยส่วนใหญ่จะเป็นทราย เดินไปก็นุ่มๆดี

น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้
น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้

น้ำข้าวกล้องงอก ต้อนรับเช้าวันใหม่ เป็นน้ำข้าวกล้องอินทรีย์ครับ ยกระดับขึ้นมาอีกนิดสบายใจขึ้นอีกหน่อย ขอบอกว่าแก้วนี้กินนานมากเพราะร้อน… แต่ก็ต้องขอเพิ่มอีกแก้วเพราะนอกจากจะอิ่มแล้วยังอร่อยอีกด้วย

โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ที่ที่เราจะมาปลูกป่ากันคือ โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน ครับ ป่าที่เราปลูกนอกจากเราจะได้ป่าแล้ว เรายังจะได้ประโยชน์อีกอย่างซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการปลูกป่าก็คือ การใช้ป่าเป็นกันชนต้านสารเคมีจากไร่อ้อยของชาวไร่อื่นๆอีกฝั่งหนึ่งครับ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมี ในข้าวคุณธรรมที่เราได้กินกันนั่นเอง เห็นไหมครับใส่ใจคุณภาพกันตั้งแต่ระดับเตรียมการผลิตเลยทีเดียว

ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ
ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ

ที่นี่ ชีวิตไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ไม่ต้องใช้เตาแก๊สที่จุดติดทันที เพียงแค่ใช้ถ่านที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่ ที่นี่มีไม้และเศษไม้มากพอจะเผาถ่านใช้ได้เป็นปีๆสำหรับหนึ่งครัวเรือน

หลุมแมงช้าง
หลุมแมงช้าง

เห็นหลุมแมงช้างผมก็นึกถึงตอนเด็กที่ชอบเอามดไปหย่อนหลุมแมงช้างครับ คืออยากเห็นแมงช้างก็เลยต้องใช้มดเป็นตัวล่อครับ ปัจจุปันได้ประสบการณ์พอแล้วก็เลยได้แค่คิดถึงก็พอ

ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก
ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก

มาถึงตอนที่เราต้องช่วยกันขนต้นไม้นะครับ ขนขึ้นรถเพื่อจะเอาไปปลูกต่ออีกมุมหนึ่งของพื้นที่ ที่เราจะปลูกป่ากันชนกันครับ

เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย
เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย

เราพากันเดินไปที่พื้นที่ที่จะปลูกป่ากันชนครับ ไม่ไกลเท่าไรนักแต่บรรยากาศนี่ดูคึกคักมากทีเดียว งานนี้มีเครือข่ายชาวนาจากอีกที่มาช่วยลงแรงกันด้วยครับ

มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า
มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า

หน้าตาของป่ากันชนน่าจะเป็นแบบนี้นะครับ ป่าจะช่วยป้องกันสารเคมีที่จะลอยมาตามลมได้ครับ ก็เหมือนกั้นฉากทำกำแพงธรรมชาติไว้ละนะ

ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน
ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน

ก่อนจะปลูกเราก็ต้องมีการสอนการปลูกป่าักันหน่อยนะครับ ว่าอะไรควรทำอย่างไรก่อนหลัง เพื่อการเติบโตของต้นไม้ที่ดีในอนาคตครับ

นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง
นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง

ต้นนี้น่าจะเป็นมะม่วงป่าครับ ต้นนี้ผมปลูกแต่ถ่ายตอนยังไม่ได้ยึดต้นไม้กับหลัก หลังจากปลูกเราก็จะปักหลักใกล้ๆแล้วหยิบฟางหรือเศษหญ้าข้างๆมาจับมัดต้นไม้กับหลักเพื่อยึดไว้ป้องกันลมพัดต้นหักนะครับ

สำหรับต้นไม้ที่ปลูกก็มีหลายชนิดเลยเช่น ยางนา ตะเคียน มะม่วงป่า สะเดาป่า ข่อย ขนุน อะไรก็ไม่รู้อีกเยอะแยะครับ จำไม่ได้จริงๆ

อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม
อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม

ด้วยความที่อากาศดี ไม่มีแดดเลย ทำให้เราปลูกกันได้ไวกว่าที่คาดกันเอาไว้ จึงได้มีการถางและไถดินเพื่อให้เหมาะกับการปลูกเพิ่มมากขึ้นครับ

ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?
ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?

ก็ช่วยกันปลูกกันไปตามมุมที่ชอบครับ ใครชอบมุมไหนก็ปลูกมุมนั้น ชอบต้นไหนก็ปลูกต้นนั้น โดยมีข้อกำหนดนิดหน่อยคือยางนา ต้องเว้นห่างกัน 2 ช่วงต้นที่ปลูก ก็ประมาณ 6 เมตรนะครับ

แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง
แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง

หลังจากปลูกต้นไม้กันไม่นานก็มีรถเสบียงยามเช้ามาถึงที่ครับ เรามีข้าวต้มเป็นมื้อเช้าในวันนี้ เป็นข้าวต้มฟักทองเสียด้วยงานนี้นอกจากได้ปลูกต้นไม้แล้วยังได้กินของดีอีกด้วยครับ

อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว
อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว

ข้าวต้มนี่กินกันกลางทุ่งได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ ชีวิตผมนั่งร้านอาหารมาก็เยอะแต่ไม่ค่อยประทับใจ เอาเป็นว่ามันชินแล้วกัน พอมาเจอความแตกต่างแบบนี้เลยต้องขอเติมข้าวต้มอีกชามเพื่อมาดื่มด่ำกับบรรยากาศข้าวต้มกลางทุ่งให้ยาวนานขึ้นครับ

ต่อจากข้าวต้มเขาก็มีกระเพาะปลามาซ้ำกันด้วยนะครับ เป็นกระเพาะปลาเจ ใช้พวกโปรตีนเกษตรน่ะครับ อร่อยดีทีเดียว แต่กินได้ไม่เยอะเพราะอิ่มข้าวต้ม…

วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน
วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน

เนื่องจากเราใช้การวัดพื้นที่ก่อนปลูกครับ ดังนั้นอะไรที่ขวางทางเรา เราก็จะพยายามย้ายมันออกไปครับ ท่อนไม้ท่อนนี้วางอยู่และอยู่ในเส้นทางปลูกต้นไม้ของเราครับ ดังนั้นก็เลยต้องช่วยกันย้าย ตอนแรกเราใช้แรงคนดันครับมันไม่ขยับเลยผมก็ว่า ผมออกแรงสุดแล้วนะ มันยังไม่ขยับเลย สรุปต้องใช้ไม้แถวนั้นใช้วิธีคาดงัดเอาครับถึงจะขยับได้

ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก
ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก

ไล่ปลูกกันจนสุดขอบที่มีครับ เหมือนตอนนี้ไฟมันติดแล้วการปลูกเลยดำเนินต่อไปแม้ว่าจะหมดเวลาที่กำหนดไว้แล้วเล็กน้อย สุดท้ายก็ได้ปลูกกันจนหมดครับ

ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน
ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน

ปลูกกันจนเสร็จก็ทยอยเดินกลับกันไปหลังจากถ่ายรูปหมู่กันเป็นที่ระลึกครับ งานนี้ต้องดูกันยาวๆครับเพราะการปลูกป่านี่ต้องหวังผลระยะนานมากๆกันเลยทีเดียว สำหรับป่านี้ผมเองก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอีกสัก 5 ปีหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป สรุปวันนี้จบกิจกรรมครึ่งวันเช้าด้วยการปลูกป่ากันชนเพียงเท่านี้ครับ

สวัสดี

แมวระหว่างทาง

ในระหว่างการเดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีของชาวคุณธรรม ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็พบกับแมวหลายตัวด้วยกันครับ

พอพบแมวก็อดเข้าไปทักทายมันด้วยภาษาเราไม่ได้ ซึ่งก็จะถ่ายรูปติดมาด้วยและแมวส่วนใหญ่ก็มักจะเชื่องเพราะคุ้นชินกับคนครับ เรียกก็มา มาก็เดินตามอะไรประมาณนี้เลยครับ มาดูแมวที่เจอกันที่ละตัวตามลำดับกันเลย

แมวระหว่างทาง

แมวตัวแรกที่เจอที่ ทีวีบูรพา
แมวตัวแรกที่เจอที่ ทีวีบูรพา

แมวตัวแรกที่เจอ ก็เจอที่บริษัท ทีวีบูรพาเลยครับ ก็เป็นแมวสามสีละนะ น่าจะตัวเมียแน่นอน มันก็เดินไปมาแถวกระเป๋าของสมาชิกร่วมเดินทางผมไปเจอก็ลูบหัวนิดหน่อย ถ่ายรูปแล้วจากมา แมวมีปลอกคอด้วยครับ

แมวตัวที่สองเจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ
แมวตัวที่สองเจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

ตัวนี้เจอหลังจากถึงที่หมายแล้ว ประมาณว่าลงจากรถมายืดเส้นยืดสายก็เจอแมวตัวนี้เลย ก็เดินไปทักทายมันตามประสาคนทักทายแมวครับ ตัวนี้เชื่องมากเรียกก็มา แถมยังเดินตามอีก สุดท้ายต้องพาไปปล่อยให้เล่นกับคนอื่นแล้วเดินหนีมา

ลูกแมวตัวที่สาม เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจโดนจับมาปล่อยที่โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
ลูกแมวตัวที่สาม เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจโดนจับมาปล่อยที่โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ลูกแมวตัวนี้มาเจอเอาตอนปลูกป่าครับ ฟังความได้ว่าทีมงานเอาติดมาด้วย สุดท้ายกลายเป็นแมวป่าเลย เพราะได้ยินว่าจะมีคนรับเลี้ยงที่นี่ต่อ ว่าแต่ตัวเล็กขนาดนี้ไม่รู้หย่านมรึยังนะ แต่ก็เชื่องดี ผมเดินไปไหนมันก็เดินตามเหมือนมันคุ้นและเชื่อใจคนมากทีเดียว

แมวตัวที่สี่ เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ
แมวตัวที่สี่ เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

แมวตัวสุดท้ายที่เจอครับ ตัวนี้เจอในดงข้าว ในแปลงนาสาธิต มันเดินชมธรรมชาติอยู่ก็เลยเรียกมันมา มันก็มา เชื่องอีกเหมือนกัน สรุปแมวทริปนี้เชื่องทุกตัวเลยครับ ตัวนี้เป็นแมวแม่ด้วย เห็นกำลังมีนมสงสัยจะเป็นแม่ของแมวตัวที่สามนั่นแหละนะ

เรื่องแมวๆ ก็คงจะมีแค่นี้ เหมือนเป็นความน่ารักของเพื่อนร่วมโลกที่แวะมาทักทายระหว่างช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ

สวัสดี

เรื่องเล่าลุยน้ำ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับรู้เรื่องน้ำท่วมตามแหล่งข่าวสารมากมาย แน่นอนว่าผมเองมีความเสี่ยงด้วยเหมือนกัน แต่ก็คงไม่มีใครอยากโดนน้ำท่วมเป็นแน่

ก่อนอื่น…

นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบเดือนที่แล้ว ผมลังเลที่จะพิมพ์เรื่องนี้ออกมา เพราะไม่รู้จะเรียบเรียงยังไง เพราะมันเป็นเรื่องราวของหนึ่งวันที่อัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์มากมายจนผมไม่คิดว่าเวลาหนึ่งวันจะสามารถมีเรื่องราวผ่านมาในชีวิตผมได้เข้มข้นขนาดนี้

หลายคนได้เห็นน้ำท่วมจากในทีวี ภาพในอินเทอร์เน็ต ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ สิ่งนั้นก็คล้ายๆกับเราดูละครนั่นแหละ มันผ่านประสาทสัมผัสของเราได้เพียงแค่ 2 ใน 5 นั่นคือตาดูหูฟังนั่นเอง สำหรับความเข้าใจนั้นก็ตามประมาณ 2 ใน 5 นั่นแหละการจะเข้าใจคนที่เขาประสบอุทกภัยจริงๆ ถ้าไม่ได้ลงไปรับทุกประสบการณ์เหมือนกันกับเขาคงจะพูดไม่ได้เต็มปากว่าเข้าใจ…

เรื่องมันมีอยู่ว่า

แน่นอนว่า คนเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ผมเองก็มีญาติ กระจายอยู่ตามมุมต่างๆของกรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งก็อยู่ในเขตเสี่ยงน้ำท่วมทั้งนั้น เช่น ดอนเมือง รังสิต จนกระทั่งนนทบุรี การที่มีคนที่ผูกพันกับเราอยู่ใต้ภาวะความเสี่ยง เราก็คงจะไม่สามารถกินอิ่มนอนหลับได้ตามปกติ ความเป็นห่วงนั้นเหมือนเชือกดึงรั้งระหว่างคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่ง นั่นคือความสัมพันธ์ เอาง่ายๆเรียกกันว่าร่วมทุกข์ การร่วมทุกข์ร่วมสุข ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติของคนที่มีความผูกพันกัน

เมื่อน้ำท่วมถึงดอนเมือง มีญาติบางส่วนอพยพหนีน้ำมาที่บ้านผม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังอยู่ ส่วนจะอยู่ด้วยเหตุผลอะไรนั้น ผมขอละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจ เพราะแต่ละคนมีความจำเป็นและความห่วงกังวลไม่เหมือนกัน ผมไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นคิดได้ทั้งหมด สิ่งที่ผมต้องทำคือเตรียมตัวเตรียมใจในลำดับต่อไป นั่นคือการเข้าไปช่วย หรือส่งความช่วยเหลือเข้าไปในจังหวะที่เกินใจ (ของใคร) จะทนไหว..

และแล้ววันหนึ่งเมื่อถึงเวลาผมก็ได้่รับสัญญาณไว้ ให้เข้าไปช่วยอพยพออกมาได้แล้ว ผมเองรอความคิดนี้มานานแล้ว เพราะถ้าคนเขาคิดว่าไหวเขาจะทน แต่เมื่อเขาคิดว่าไม่ไหว เราก็จะช่วยนั่นไม่ใช่ปัญหา การเดินทางของผมจะเริ่มตั้งแต่จุดนี้…

เริ่มเล่าลุยน้ำ…

การเดินทางของผมในวันนี้ รายละเอียดเยอะมากจึงขอแนบแผนที่ เผื่อว่าดูแล้วจะเห็นภาพมากขึ้น

แผนที่เดินทางลุยน้ำ

ผมเริ่มต้นกับวันที่ฟ้าฝนเป็นใจอากาศค่อนข้างดี ผมตื่นสายนิดหน่อยเพราะติดตามข่าวสาร ถึงเกือบเช้า และทานอาหารเช้าไปนิดหน่อยเพื่อรองท้อง ไม่นานนักมีข่าวมาว่าต้องออกไปช่วยพี่สาวอพยพที่ดอนเมือง ซึ่งก็พ่อก็มารับและออกไปด้วยกันทันที ภารกิจนี้ผมดำเนินเรื่องไปพร้อมกับพ่อครับ

1.ผมเริ่มเดินทางจากบ้าน มุ่งหน้าไปจอดรถที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งตอนนั้นน้ำยังไม่ท่วมครับ ไปจอดรถทิ้งไว้เพราะไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งต่อจากนี้เราจะเดินทางต่อกันด้วยแท็กซี่ครับ

2.เรานั่งแท็กซี่จาก ม. เกษตร ไปให้ไกล้ดอนเมืองมากที่สุดเท่าที่จะไปได้ พี่แท็กซี่แกส่งแถวๆ สะพานเข้าสนามบินในประเทศนั่นแหละครับ แล้วเราก็ลงและเดินต่อเพื่อที่จะไปที่ป้ายรถเมล์เพื่อขึ้นรถเมล์ต่อ

3.เราขึ้นรถเมล์ได้ในระยะทางไม่ไกลนักก็ต้อง แต่ก็ยังดีกว่าเดิน เพราะไม่รู้เลยว่าถ้าไม่มีรถเมล์เราจะนั่งอะไรได้ เรารู้แค่เป้าหมายเท่านั้น แต่วิธีนั้นคงได้แต่งมๆไปตามทาง

4. เมื่อลงจากรถเมล์ก็ต้องขึ้นรถทหาร ซึ่งรถทหารสูงมาก พี่ทหารเขาจะมีเก้าอี้ให้ปีน แต่ผมก็ว่ายากอยู่ดี นี่มองจากคนตัวสูงช่วงขายาวยังว่ายาก แล้วคนตัวเล็กๆก็คงจะยากกว่าแน่นอน แต่ด้วยความจำเป็นและทางเลือกที่มีไม่มาก เราจึงเห็นผู้คนหลากหลายในรถทหารคันนี้ครับ

5. รถทหารมาส่งถึงปากซอย เข้าหมู่บ้านของพี่สาว ซึ่งเราลง ณ จุดนี้ รถทหารมุ่งหน้าต่อไปทางรังสิต เพื่อส่งคนให้ถึงยังที่หมายต่อไป ส่วนพวกผมก็เดินเข้าซอยครับ แต่เมื่อกำลังเดินไปถึงหน้าปากซอยเราเห็น รถใหญ่ๆ คล้ายๆรถดับเพลิงกำลังมุ่งหน้าเข้าไปในซอยครับ ซึ่งผมก็ถามเขาเรื่องเส้นทาง สรุปว่าเราติดรถเขาเข้าไปได้ครับ เพราะผ่านทางที่ผมจะลงพอดี

บนรถดับเพลิงคันนี้มีผู้คนมากหน้าหลายตา หลายคนทักทายกันยิ้มให้กันแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน ผมกับพ่อดูจะเป็นคนที่ดูแปลกไป นั่นอาจจะเพราะความสดใหม่ ซึ่งต่างกับคนที่อยู่บนหลังคารถที่ดูเปียกและเหนื่อยอ่อน ผมคิดว่าเขาคงเข้าออกช่วยคนกันหลายรอบแล้วเลยเป็นอย่างที่เห็น เพราะรถดับเพลิงที่ผมนั่งนั้นคือรถที่ช่วยขนคนจากด้านในซอยออกมาครับ ซึ่งตอนขาเข้าไปในซอยรถจะว่าง เราเลยติดไปได้ครับ

ระหว่างที่นั่งบนหลังคารถดับเพลิงที่วิ่งผ่านไปอย่างช้าๆ ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ผมได้กลิ่นน้ำ และเสียงรถที่วิ่งผ่านน้ำ แม้ว่าสองข้างทางจะมีคนเดินออกมาตลอด แต่ทุกอย่างดูเงียบ..เหลือเกิน

ผมมองไปที่คนที่บ้านอยู่ข้างทาง เป็นบ้านเช่าเล็กๆแบ่งเป็นล็อคๆที่ติดถนน บนชั้นสองของเขามีแค่ระเบียงที่ติดกับถนน บนระเบียงมีข้าวของบางอย่างที่เอาขึ้นมาวางหนีน้ำรวมทั้งสุนัขและจักรยาน… มีคำทักทายจากคนบนรถดับเพลิง และคำตอบที่ได้ยินก็ประมาณว่า “ไม่รู้จะอพยพไปไหน นี่ก็ขอเขาขึ้นมาอยู่” ครับ ที่ผมเห็นคือผู้อพยพจากชั้นล่างขึ้นมาชั้นบน เขาไม่ได้สบายกันอย่างที่ตาเห็น น้ำเสียงที่ได้ยินบอกให้รู้ว่า ไม่รู้ ไม่รู้ เขาไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่รู้ว่าจะไปไหน ไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ และไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากรอให้มันผ่านพ้นไปเสียที

จนวันนี้ผมไม่รู้ว่าป่านนี้พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะเมื่อด้านในอพยพกันออกมาแล้ว อาจจะมีรถหรือคนวนเวียนผ่านมาน้อยลง และถ้าน้ำขึ้นอีกก็คงจะมีแต่เรือที่ผ่านได้ คงจะลำบากกันไม่น้อย ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีคนที่ลำบากและไร้ทางออกมากเท่าไหร่ ในกรุงเทพฯ

6. ผมมาสุดทางของการนั่งรถดับเพลิงและลงเดินต่อไปอีกประมาณ 300 เมตร มันเป็น 300 เมตรที่ไกลมากๆ  เพราะต้องเดินบนน้ำที่สูงระดับน่องจนเกือบถึงเอวผมในบางจุด และเดินมาจนถึงบ้านพี่สาวที่อยู่ในหมู่บ้านด้วยความกังวลเล็กน้อย ว่าถ้าบ้านไหนไฟรั่วผมจะได้รู้ตัวก่อนจะตายรึเปล่า หรือเดินผ่านปุ๊ปตายปั๊บอะไรแบบนี้ เพราะน้ำนั้นท่วมเกือบถึงระดับพื้นบ้านแล้ว ซึ่งบางบ้านก็ยังเปิดน้ำพุหน้าบ้านอยู่เลยแม้จะน้ำท่วมก็ตาม

ผมเห็นสายตาของคนในหมู่บ้านมองด้วยท่าทางไม่เป็นมิตรสักเท่าไรนัก อาจจะเพราะด้วยความเครียดหรือความระแวงคนแปลกหน้าก็ได้ แน่นอนว่าในภาวะเช่นนี้ใครๆก็สามารถเป็นโจรได้ง่ายๆ เพราะข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับ ทำให้เรามองเป็นอย่างนั้นจริงๆ

สุดท้ายเมื่อมาถึงก็จัดการอพยพ ยังดีที่พี่สาวมีเรือเล็กๆที่ต่อด้วยท่อพีวีซีและฟิวเจอร์บอร์ดอยู่ในบ้าน ทำให้เราใส่เด็กๆ 8,3 ขวบไว้ในเรือได้ (ตอนแรกผมเตรียมใจไว้แล้วว่าต้องอุ้่มออกไป) แน่นอนว่ามันดีกว่าที่คิดไว้ เพราะการลากเรือนั้นทุ่นแรงไปได้มากทีเดียว เด็กๆยังสนุกอยู่บ้าง นั่นก็ถือว่าดี เพราะถ้าเด็กๆงอแงแล้ว ผู้ใหญ่อาจจะเครียดกันมากขึ้นซึ่งคงไม่ดีแน่

7. เราเดินออกมาจากหมู่บ้าน โดยมีเด็กๆอยู่ในเรือขนาดเล็กๆ ซึ่งขากลับนั้นยากกว่าเพราะต้องเดินทวนน้ำออกมา มันไม่ใช่น้ำนิ่งๆ แต่เป็นน้ำที่มีกระแสการไหลอยู่ ส่วนจะไหลไปไหนผมไม่รู้เหมือนกัน แต่การเดินทวนน้ำที่ไหลนี่มันเปลืองแรงมากจริงๆ

8.มาถึงจุดนี้ถือเป็นโชคดีของเราครับ มีพ่อลูกคู่หนึ่งเขาขับรถมาส่งอาหารให้เพื่อน เป็นรถที่สูงพอจะลุยน้ำได้แต่ก็ไม่ใหญ่พอจะให้คนทั้งหมดขึ้นไป ณ จุดนี้เป็นจุดแยก ผมให้พี่สาวและชาวคณะอพยพ แยกไป โดยคุณพี่เขาใจดีให้โดยสารไปด้วยครับ และเขาก็จะออกไปจนกระทั่งใกล้ถึงจุดนัดพบ ที่ ม เกษตรเลยครับ เป็นอีกหนึ่งน้ำใจที่ให้กับคนแปลกหน้ากลุ่มหนึ่งที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันจริงๆ

ผมเดินลากเรือต่อไปกับพ่อ เพื่อที่จะไปยังอีกจุดหมายหนึ่ง นั่นคือหมู่บ้านย่านรังสิต อยู่ก่อนเมืองเอกครับ ได้ยินว่าน้ำสูงระดับอกของผม และมีคนแก่ประมาณคุณยายอยู่ เป็นคุณยายที่เป็นเครือญาติกันครับ ผมกับพ่อเลยตัดสินใจเอาเรือไปรับครับ และเดินทวนน้ำออกมาได้ไม่นาน เราก็ได้ติดรถออกจากซอยหมู่บ้านไปลงที่ถนนวิภาวดีรังสิตอีกครั้งครับ บังเอิญจริงๆนะครับ ทุ่นแรงไปได้อีกหน่อย ส่วนรถคันนี้ของใครยังไงไม่รู้ครับ รู้แต่มีคนมากหน้าหลายตาในรถเยอะดีครับ

หลังรถเราก็ลากเรือไปด้วยครับ เพราะต้องใช้ต่อในภารกิจหน้า โดยจับเชือกที่ผูกเรือไว้ โดยที่ต้องใช้ขาควบคุมบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเรืออาจจะเซไปโดนชาวบ้านที่กำลังเดินลุยน้ำออกมาได้ครับ

9.เราเดินต่อจากวิภาวดีรังสิต ต่อไปจนเลยอนุสรณ์สถานแห่งชาติไปนิดหน่อยครับ เป็นการเดินที่ยากลำบากมาก เพราะคนเดิน และรถใช้ช่องทางเดียวกันครับ ทางเดินมีทั้งเกือบแห้งและน้ำสูงเป็นช่วงๆ คลื่นที่ซัดมาพร้อมกับการวิ่งผ่านของรถนั้นทำให้การลากเรือลำบากมากครับ เรือที่ผมลากแอบไปกระทบรถที่จอดอยู่หลายคัน หวังว่าเขาคงไม่ว่าอะไร ซึ่งไม่นานนักก็ได้รับการติดต่อว่ามี ญาติอีกฝ่ายสามารถนำเรือเข้าไปช่วยคุณยายได้แล้ว ภารกิจของผมและพ่อจึงจบลงครับ

แต่ระหว่างที่รอการยืนยันข้อมูลนั้น ผมได้นั่งรออยู่ที่มุมหนึ่งของถนน นั่นคือเกาะกลางถนนของวิภาวดีรังสิต เป็นที่ที่ในเวลาธรรมดาคงไม่สามารถมานั่งเล่นๆได้ แต่การได้หยุดนั่งแล้วมองทำให้ผมเห็นอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น ชาวบ้านที่ขนของออกมาโดยมีอุปกรณ์กันน้ำแค่ถุงพลาสติกเท่านั้น บางคนดีหน่อยก็มีกะละมัง แต่ภาพที่เห็นส่วนใหญ่ก็มีแต่แบบนี้ทั้งนั้น

ระหว่างที่ผมนั่งอยู่ก็เกิดอาการหน้ามืดขึ้นมา ผมเองไม่คิดว่าตัวเองจะอ่อนแอขนาดนี้ ก็ได้แต่นั่งคิดไปว่าทำไม ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นไม่ได้กินอาหารมาอย่างพอเพียง และขาดน้ำครับ ผมนั่งก้มหน้าอยู่ข้างทางได้สักพัก คิดว่าตัวเองน่าจะแย่ลงอีกเพราะเริ่มรู้สึกหนาวเย็น จึงมองไปที่ถนนและเห็นรถสวนมาพอดี รถหลายคันมองสบตาผมและชะลอ เพื่อที่จะสื่อสารอะไรสักอย่าง ผมทำได้แต่ยิ้มและปล่อยให้เขาผ่านไป

จนกระทั่งถึงรถคันหนึ่งผ่านมา ผมเริ่มคิดว่าตัวเองไม่น่าจะไหว เลยโบกเขาและขอน้ำสักหน่อย รถที่ผมโบกนั้นเป็นรถตู้ ที่มีพ่อแม่ลูกนั่งอยู่ ซึ่งเขาก็ช่วยกันหาน้ำให้ผมซึ่งไม่รู้จักกัน และไม่ได้เคยช่วยเหลืออะไรกันมาก่อน เพียงแค่ผ่านมาผ่านไปเท่านั้น ไม่นานนัก เขาก็ยื่นน้ำขวดใหญ่ และบอกผมว่า ” เหลืออยู่เท่านี้เอง” (เหลือ 3/4 ของขวด) ผมเองรับน้ำขวดนั้นมาและกล่าวคำขอบคุณ ผมไม่รู้ว่าน้ำขวดนั้นคือขวดสุดท้ายของเขารึเปล่า รู้แค่ว่าน้ำขวดนี้คงหาไม่ได้ง่ายๆในชีิวิตปกติแน่ๆ เพราะนั่นคือน้ำใจ…

น้ำขวดใหญ่ที่ได้รับมา
น้ำขวดใหญ่ที่ได้รับมา

ผมได้กินน้ำและไม่นานนักร่างกายก็ค่อยๆกลับมาเป็นเหมือนเดิม ภายหลังมาถามเพื่อน เขาบอกว่าผมอาจจะเหนื่อยเกินไปเท่านั้นเองไม่ได้เป็นอะไรหรอก แต่ในใจผมแอบคิดว่าการที่ไม่ออกกำลังกายมันทำให้ผมปวกเปียกขนาดนี้เชียวหรือ?

เมื่อได้รับคำยืนยันว่ากลับได้แล้ว พ่อก็ยกเรือให้ชาวบ้านที่กำลังขนของอพยพหนีน้ำอยู่ใกล้ๆ เขากำลังขนของใส่กะละมังและเดินลอยน้ำ ทันทีที่ได้เรือไปเขาเอาของที่ขนมาใส่เรือและลากเรือไปกับน้ำต่อไป เราคิดว่าเรือนี้คงทำประโยชน์ให้กับเขาได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ทำให้สีหน้าของเขายิ้มแย้มทันทีเมื่อได้รับเรือ

10. ไม่นานนัก เราก็โบกรถกลับ เป็นรถกระบะที่มีคนขับอยู่คนเดียว ผมกับพ่อขอนั่งไปด้วย ซึ่งผมเองนอนหมดแรงที่ท้ายกระบะ และค่อยๆจิบน้ำที่ได้มาทีละน้อย บอกตรงๆว่าหมดสภาพมาก ผมเองประมาทในสถานการณ์มากเกินไป คิดว่าตัวเองจะมีแรงพอ แต่ท้ายที่สุดมันก็เกินกำลังไปหน่อย ผมนั่งของเขามาเรื่อยจนถึงหลักสี่ พี่เขาจะเข้าหลักสี่เราก็เลยขอลงช่วงหลักสี่ เพื่อที่จะได้ไปขึ้นรถต่อในถนนวิภาวดีรังสิต

11. ผมยืนรอรถแท็กซี่อยู่ัสักพัก และก็มีรถประมงของ ม เกษตรผ่านมา และเขาจอดส่งคนพอดี ก็เลยขอขึ้นไปด้วยอย่างน้อยก็ได้ไปลง ม. เกษตรพอดี เป็นรถสูงขึ้นยากอีกเหมือนเคย กำลังคิดว่าปกติเขาขนของขึ้นรถกันยังไงนะ สูงจริงๆ ก็คงมีบันไดละนะ

และพอมาถึง ม.เกษตร เขาก็จะเขาประตูฝั่งวิภาวดี ซึ่งผมต้องการไปประตูฝั่งงามวงศ์วาน ก็เลยลงและต่อรถแท็กซี่ไปอีกนิดหน่อย สุดท้ายก็กลับถึงรถ และถึงบ้านอาบน้ำล้างเนื้อล้างตัว

สภาพของซองหมากฝรั่งที่เอาใส่กระเป๋ากางเกงไปด้วย
สภาพของซองหมากฝรั่งที่เอาใส่กระเป๋ากางเกงไปด้วย

เหตุการณ์ในวันนี้สอนให้ผมรับรู้และเข้าใจกับคำว่าน้ำท่วมครบทั้ง 5 สัมผัสกันเลยครับ

ผมได้เห็นน้ำที่ท่วมด้วยตาตนเอง

ผมได้ยินเสียงของผู้ประสบภัยและความเงียบ ทุกๆอย่างรอบตัวด้วยหูของผม

ผมได้สัมผัสน้ำท่วม ที่กำลังเน่าด้วยผิวหนังของผม

ผมได้กลิ่นน้ำ กลิ่นที่นอนอยู่บ้านคงไม่มีวันเข้าใจ ด้วยจมูกของผม

บางครั้งเมื่อน้ำกระเด็นมาเพราะคลื่นที่เกิดจากรถสวนทางกัน ผมก็ได้ลิ้มรสน้ำท่วมกับเขาด้วยเหมือนกัน

ไอ้ที่เขาบอกว่าไม่เจอไม่รู้นี่ผมว่าจริงนะครับ แต่เราก็ไม่จำเ้ป็นต้องไปเจอทุกอย่างก็ได้ครับ มันอาจจะเหนื่อยเกินไป ทำในสิ่งที่เราทำกันได้จะดีกว่า และเข้าใจคนที่ประสบภัยด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่ใช่ตัดสินด้วยมุมของเรานะครับ เพราะถึงแม้เราจะเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกับเขา เราก็ไม่มีวันจะเข้าใจเขาได้หรอกครับ ดังนั้นก็ให้เผื่อใจกับเรื่องนี้ให้มากๆ ใจกว้าง ใจเย็น และอดทนต่อกันนะครับ

สิ่งที่ผมไปเผชิญในครั้งนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กๆของความเดือนร้อนเท่านั้นครับ ถ้าให้ทุกคนเขียนความเืดือดร้อนของตัวเองออกมาจากน้ำท่วมครั้งนี้ หนึ่งชีวิตก็คงจะอ่านไม่หมด…

แม้ว่าในวันนี้ในบางพื้นที่จะดูคลี่คลายลงแล้ว แต่มันเป็นเพียงแค่วันนี้ครับ เราจำเป็นต้องเตรียมใจรับความผันแปรของธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือของพวกเรากันต่อไปครับ

สวัสดี