ช่วยคนอยากมีคู่นี่มันยาก

คนที่เขาอยากมีคู่นี่เขาจะไม่ฟังธรรมที่พาไปโสดเลยนะ ได้ยินก็ปิดใจ ไม่พิจารณา พอความอยากมาก ๆ นี่เปลี่ยนไปฟังธรรมะอื่นเลย ธรรมะที่พาให้รื่นเริง อิ่มเอมใจในการมีคู่ อันนั้นเขาชอบ ถูกใจ เขาฟังได้ แต่ธรรมที่พาไปโสดนี่เขาไม่ยินดี

แต่ก่อนผมก็เคยอยากมีนะคู่ครองนั่นน่ะ มันก็เคยโง่มาก่อนไง แต่ดีที่ผมมีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในคำสอนของครูบาอาจารย์ พอดีอาจารย์ที่ผมนับถือท่านสอนประโยชน์และโทษตามจริงของการมีคู่โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เราก็ฝึกพิจารณาตามนั่นแหละ ไม่ฟังธรรมอื่นใด ๆ สำนักไหนเขาจะพูดเรื่องคู่ยังไงเราไม่สน เรามีปัญญาเราก็รู้สิอันไหนมิจฉาทิฏฐิ อันไหนสัมมา ว่ากันตรง ๆ จากที่ผมอ่านมาหลายคนจนถึงวันนี้ผมยังไม่เจอคนที่ผ่านเรื่องคู่กันจริง ๆ เลย นอกจากสายที่ผมปฏิบัติ

พอผ่านได้มันจะรู้เลยว่าความเห็นนี้มิจฉา มันจะพาให้ไปมีคู่ อันไหนอนุโลม อันไหนกิเลส ทิศมันจะต่างกัน องศาต่างกันนิดเดียวมันก็พากันไปคนละทางแล้ว อย่างคนอยากมี ไม่ยินดีมี หรือคนติดคู่ มันจะรู้ได้ กลิ่นมันจะออก เหมือนที่พระพุทธเจ้าว่ากลิ่นศีลย่อมหอมฟุ้งไปไกล เช่นเดียวกับคนอยากมีคู่หรือคนยังหลงในเรื่องคู่ มันจะมีลีลาอาการหรือความเห็นที่บอกอยู่ว่ายังไม่พ้น

ถ้าเขาเขียนเป็นหนังสือนี่ก็ง่ายหน่อย อ่านดูมันก็รู้แล้ว แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปนี่ต้องใช้เวลาศึกษาบ้าง แต่ก็รู้ได้ไม่ยาก

ธรรมะปัจจุบันนี่มัน Red ocean ทะเลแดงเดือดที่ฉ่ำไปด้วยกามและอัตตาปนกันอยู่ในนั้น จะกล่าวถึงเรื่องคู่อย่างเดียวแล้วกัน คือธรรมที่พาให้หลงเสพยินดีในการมีคู่ก็เยอะ คืออ่าน ศึกษา ทำใจตามไปแล้วจะรู้สึกว่ามีคู่ได้ มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อารมณ์ประมาณนี้ ส่วนธรรมที่พาให้หลงติดหลงยึดในในคู่มันก็เยอะอีก เช่นพวกคู่บุญ คู่บารมี อะไรพวก ๆ นี้แหละ

จริง ๆ ถ้าเขารู้ว่ามันเป็นแค่อุปทานเพราะเสพกันมาหลายชาติเขาก็คงจะไม่กล้านำเสนอเรื่องนี้กันมาก คนส่วนใหญ่ก็มีแค่นี้แหละ เสพคบคุ้นกันมาหลายชาติ ของมันเคยไง พอมาเจออีกมันก็ชอบตามที่มันเคยชอบ มันก็จะมีเหตุให้รู้สึกพิเศษ ถึงไม่มีกิเลสมันก็หาให้มีจนได้นั่นแหละ

ถ้ามันไม่ถึงขั้นเขาคลุมถุงชนให้แต่งหรือบริบทของชีวิตบังคับก็ไม่ต้องไปแส่หามันหรอกเรื่องคู่ มีกันทุกคนอยู่แล้ว เรื่องคู่นี่มันเป็นเรื่องต่ำ ๆ เสพกันมาตั้งแต่ยังเป็นสัตว์ ตั้งแต่ยังเป็นเดรัจฉาน มันก็ถูกใจติดใจ สืบภพต่อมาเรื่อย ๆ เป็นคนก็ยังไม่เลิก สร้างนิทาน สร้างตำนานมาหลอกตัวเองซ้อนอีกต่อให้การมีคู่ครอง มีลูกหลานดูเป็นเรื่องปกติ

หลอกตัวเองไม่พอ ยังไปโดนคนอื่นหลอกต่ออีก ไปอยู่ในสังคมที่ยินดีในการมีคู่มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งศรัทธาในคนที่ยินดีในการมีคู่นี่มันไปไม่รอดเลย เวลาสอนมันจะไม่ขาด ไม่ชัด มันจะนัว ๆ และเอนเอียงไปทาง มีคู่มันก็ดีนะ อะไรประมาณนั้น มันจะไม่พาไปทางเลิกเสพ

ทีนี้คนเขาก็มีสิทธิเลือกไง ใครจะไปห้ามได้ ถ้าเขาอยากมีคู่ เขาก็ไปฟังธรรมที่ยินดีในการมีคู่ เขาก็ไปมีคู่ได้อย่าง happy ending (ตามที่เขาคิด) ส่วนธรรมที่พาไปโสดนี่ขายไม่ค่อยออกหรอก พอจะดามใจได้ตอนอกหักได้บ้าง แต่ถ้าไม่เอาจริงเดี๋ยวก็เวียนกลับไปเสพใหม่

เพราะอะไร? ก็เพราะติดมาหลายชาติไง

พุดโถ่ พุดถัง เถียงกินเนื้อสัตว์

ว่าจะพิมพ์เรื่องนี้หลายทีแล้วก็ลืมทุกที วันนี้ได้โอกาส นำเรื่องนี้มาพิมพ์กัน ว่าทำไมเมื่อปฏิบัติธรรมไปแล้วจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ซึ่งก็มีเถียงกันมากมาย อ้างเหตุให้ได้ จะกิน จะกิน จะกินให้ถูกตามธรรมด้วย เอาข้อธรรมมาอ้างให้ได้กินนั่นแหละ ชีวิตมันจะต้องลำบากปกป้องตนเอง เสียเวลากับการปกป้องตนเองไปเพื่ออะไร

หลายวันก่อนระลึกถึงพระสูตรหนึ่ง ค้นเจอว่าเป็น เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน ผมเคยใช้พระสูตรนี้อธิบายเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่คราวนี้มันนึกขึ้นได้ว่า จริง ๆ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้เอง ทำไมคนไม่เข้าใจ

เนื้อความก็ประมาณว่า สัตว์เขาอยากมีชีวิต เขาไม่อยากตาย เราก็ไม่อยากตายเช่นกัน เมื่อเราเข้าใจเช่นนั้น เราจึงไม่ฆ่าเขา และยังชักชวนให้คนไม่ฆ่า มีความยินดีในการไม่ฆ่า… เอาแค่นี้ก่อน

เอาแค่ภาษาแค่นี้ผมว่าคนมีปัญญาก็ทะลุได้แล้วนะ เลิกกินได้เลย เอ้อนี่ เราก็ไม่อยากให้ใครฆ่าเราไปให้ใครกิน ดังนั้นเราจึงไม่กินเนื้อใครซะเลย มันก็ตรรกกะง่าย ๆ คือถ้าไม่โง่จนเกินไปก็น่าจะพอเข้าใจ

แต่ผมก็เข้าใจอีกอย่างคือ ยุคนี้มันใกล้กลียุค คนมีวิบาก แม้ธรรมง่าย ๆ ก็ฟังไม่เข้าใจ มันจะมืดบอดไปหมด ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่เห็นอกเห็นใจสัตว์อื่น ทำตัวเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นเทพ อยู่เหนือสัตว์อื่น จิตมันเลยไม่น้อมไปว่า สัตว์อื่นทุกข์อย่างไร แม้เราโดนเช่นนั้น เราก็ทุกข์อย่างนั้น

ถ้าธรรมะเจริญจริง มันไม่ยากหรอกที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น สัตว์อื่น เมตตาที่เพิ่มขึ้นมันจะมีผล มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะมีความรู้สึกผิด กลัวบาป เพราะรู้ชัดในกรรมว่าทำไปแล้วโดนแน่ ๆ ผลของกรรมมันกลับมาเอาคืนแน่ ๆ ในเมื่อมันไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มันก็ไม่รู้จะไปกินเอาวิบากร้ายทำไม

ใครอยากศึกษาต่อก็ไปตามอ่านกันเอา แต่ที่เถียง ๆ กิน นี่ยังไม่เจริญเท่าไหร่หรอก ก็มีแต่ตรรกะ สภาวะไม่ได้ เพราะถ้าจะเจริญอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คนนั้นก็ต้องไม่ฆ่า อันนี้คนทั่วไปก็พอจะทำได้ พอมาชักชวนให้คนอื่นไม่ฆ่า สายปฏิบัติกินเนื้อสัตว์นี่น้ำท่วมปากแล้ว พูดไม่ออก จะไปชวนคนที่เขาฆ่าสัตว์มาขายให้เลิกฆ่าก็พูดไม่ออก กลัวไม่มีเนื้อสัตว์กิน พอมาข้อสุดท้าย คือกล่าวชม มีความยินดีในการไม่ฆ่า ไปไม่เป็นเลยทีนี้ เพราะตัวเองก็กำลังเถียงสู้ (แม้จะเถียงในใจ)อยู่กับคนที่เขายินดีไม่ฆ่าสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ มันก็เลือกข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า อยู่ฝั่งยินดีให้สัตว์โดนฆ่า ยินดีให้สัตว์ตาย ปล่อยวางธรรมแล้วถือเอาเนื้อสัตว์มากินมันซะเลย

ถ้าจิตมันไม่ยินดีให้สัตว์ตายนั้น ร่างกายมันจะเคลื่อนตาม มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ไปทีละนิด ลด ละ เลิกไปตามฐาน ตามปัญญาที่มี

ทำดียังหวังผล

ในหลักสูตรของวิชชาราม(แพทย์วิถีธรรม) การบ้านประจำสัปดาห์ตอนนี้เขาให้ลองฝึกเล่าสภาวธรรมประยุกต์กับ “อริยสัจ ๔” ก็เลยทดลองพิมพ์เพื่อทบทวนตนเอง ขัดเกลาภาษาและการเรียบเรียง รวมทั้งแบ่งปันแนวทางที่ทำได้แก่ผู้ที่สนใจครับ ลองอ่านแล้วศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ไปช่วยขายข้าว ในช่วงข้าวใกล้หมดสต็อก ทางกลุ่มเลยจำกัดการจำหน่ายท่านละ 1 กก. เท่านั้น เมื่อไปเป็นผู้ขายจึงได้มีโอกาสเจอกับผู้ซื้อ และเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นจึงมีปัญหาให้จัดการ ปัญหานั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากกิเลสของตัวเอง

ทุกข์ : เกิดความรู้สึกชังเล็กน้อย เมื่อลูกค้าท่านหนึ่ง ยืนยันที่จะซื้อมากกว่า 1 กก. ให้ได้ และเมื่อเราได้อธิบายไป ดังเช่นว่า ข้าวใกล้หมด , แบ่งปันให้คนที่ยังมาไม่ถึง ฯลฯ เขาก็ยังยืนยันจะซื้อให้ได้ โดยเริ่มต่อว่าเราว่าเรื่องมาก ทำไมไม่ขาย ไม่อยากได้เงินหรือ? อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ว่าเขาจะไปหาคนมาซื้อ เราก็ตอบเขาว่าก็แล้วแต่ เพียงแต่เราจำกัดการซื้อคนละ 1 กก. เท่านั้น

สมุทัย : เหตุที่เกิดความชังนั้น เพราะเราสงสารคนที่เขาพยายามจะเอาชนะเรา พยายามจะเอาอำนาจเงินมาซื้อเรา เราไม่ได้ชังเขาเพราะเขาว่าเรา แต่เราชังการที่เราอธิบายเขาแล้ว เขาไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ซ้ำยังกระแทกกลับมาด้วยลีลาที่แสดงว่าฉันได้เปรียบ ฉันต้องได้ เป็นต้น สรุปคือ “ที่ชังก็เพราะอธิบายแล้วเขาไม่พร้อมจะทำความเข้าใจนั่นแหละ” สรุปไปอีกชั้นของรากให้ชัดขึ้น คือเราไม่ได้ต้องการคนมาเข้าใจ แต่เราต้องการให้คนที่เราได้อธิบายแล้วได้ทำความเข้าใจ (ต่างกันตรงที่ต้องมีตัวเราไปอธิบาย) สรุปลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ เราต้องการทำดีแล้วให้มันเกิดผลดี คือเขาเข้าใจ สรุปลึกลงไปอีกชั้นคือเป็นอาการของความโลภ เพราะเราหลงว่าถ้าเขาเข้าใจตามที่เราพูดจึงจะดีที่สุด จึงจะสุขที่สุด

นิโรธ : กำหนดความดับในเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการความสำเร็จในการทำดี ดังนั้น ถ้าจะกำหนดจุดที่ควรทำให้ดับ ทำให้มอด ทำให้จางคลาย ก็คือทำลายในส่วนของความต้องการที่เกินความจำเป็น นั่นก็คือความต้องการในความสำเร็จเมื่อลงมือทำดี ดังนั้นสภาพที่เป็นเป้าหมายที่พึงจะหวังได้คือ การทำดีโดยไม่ต้องหวังอะไร ทำดีแค่ทำดี ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกจากกันออกไป จะเกิดอะไรก็ได้เป็นสภาพที่อิสระต่อกัน ไม่ยึดว่าทำดีแล้วจะต้องเกิดผลดีตามที่เราหวัง ดีนั้นเกิดผลแน่ แต่มันจะไม่เป็นไปตามตัณหาของเรา มันจะเป็นไปตามกรรม

มรรค : การปฏิบัติตนให้ไปถึงผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเราในตอนนี้ยังมีความเห็นที่ยังผิดบิดเบี้ยวไปจากความผาสุกอยู่ คือทำดีแล้วยังจะเอาดีอยู่ ก็เลยต้องหาธรรมมาปรับความเห็นความเข้าใจให้ถูก เช่นใช้คำสอนของอาจารย์ ดังเช่นว่า “ให้แล้วคิดที่จะไม่เอาอะไรจากใครให้ได้” ดูแล้วเข้ากับการปฏิบัตินี้ดี รวมทั้งการหมั่นพิจารณาธรรมด้วยหลักไตรลักษณ์ เช่น ผลที่มันจะเกิดนี่มันไม่แน่นอน มันคาดเดาไม่ได้ หวังไม่ได้ และความอยากให้เกิดดีนี่มันเป็นทุกข์ และสุดท้ายอยากไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เกิดดีมันก็เป็นดีของเขา เกิดร้ายมันก็ร้ายของเขา เราก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราทำดีมันก็กรรมดีของเรา ส่วนผลดีร้ายที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมของเราและของเขาสังเคราะห์กัน ถ้าเราทำดีไม่หวังผลดี เราก็จะได้ประโยชน์จากความเบา โล่ง สบาย ส่วนถ้าเรายังทำดีแล้วเราจะเอาผลดีด้วยนี่มันหนักใจ มันไม่สบาย มันก็ไม่เป็นประโยชน์

ส่วนการคิด ก็คิดสวนทางกับความคาดหวังนั้น ๆ ในเรื่องการทำก็ขยันทำดี ขยันอธิบาย พูด บอก ให้มากขึ้น จะได้มีโอกาสกระทบมากขึ้น กระทบมากขึ้นก็ได้โอกาสในการจับอาการกิเลสมากขึ้นด้วย ที่เหลือก็ใช้สติที่มีจับอาการกิเลสให้ได้ กิเลสนี่มันจับตัวยากที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ต้องเพิ่มกำลังของสติด้วยเมื่อตั้งใจทำดี สุดท้ายมีสมาธิเป็นผล ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในนิโรธ ได้ยั่งยืนถาวร ยาวนาน ไม่กำเริบ ไม่เวียนกลับ ไม่มีความคิดเห็นผิดใดๆ มาหักล้างได้ ฯลฯ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จบงานกิเลสเรื่องนี้ไป

29.10.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ไปร่วมกิจกรรมค่ายพระไตรปิฎก ๒๒

ไปร่วมกิจกรรมค่ายพระไตรปิฎก ๒๒ ของเครือข่ายแพทย์วิถีธรรมมา เขามีกิจกรรม ทำการบ้านส่งแนวทางการวิเคราะห์อริยสัจ ๔ กับกิเลสของตัวเอง …. สมุทัย ได้ชื่อว่าเข้าใจยากที่สุด ผมเชื่อมั่นตามนั้น เพราะมันไม่ง่ายเลย ที่จะทำความเข้าใจ หรือบอกให้ใครเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

มหาอำนาจผู้เบียดเบียน

เดี๋ยวนี้เวลาจะพิมพ์บทความใหม่ ๆ จะเก็บข้อมูลนานมาก กว่าจะตกผลึก แต่พอมันมีจุด หรือองค์ประกอบที่เหมาะ มันก็พิมพ์ได้เลย อันนี้ประมาณ 80% ของที่คิดไว้ ก็พอใจ ก็ปล่อยแล้ว คงจะไม่เสียเวลาเกลาไปมากกว่านี้ เพราะมันเหมาะกับสถานการณ์ช่วงนี้

มหาอำนาจผู้เบียดเบียน (life.dinp.org)

 

มือไม่ถึง พาวอดวาย

วันนี้ได้ลองใช้สว่านไฟฟ้าขันสกรูเป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะใช้แต่ไขควง อย่างเก่งก็ใช้สว่านเจาะนำก่อน แต่ครั้งนี้สกรูมันยาว 3 นิ้ว แถมจุดหนึ่งก็หลายตัว จะไขด้วยมือก็คงนาน เลยใช้สว่านไขเอา

ก็เคยเห็นตอนช่างเขาทำอยู่ มันก็ดูเหมือนไม่ยาก ก็ดันไปแล้วก็กด มันก็เข้าไปได้ แต่พอลองเองนี่มันไม่ง่าย ถึงกับเสียหัวไปหนึ่งอัน แถมเสียสกรูอีก 2-3 อันและเสียเวลาขันสกรูที่เกือบจะเสียออก…ถึงจะพอจับทางได้ (ดีนะมีหัวสำรองอีกอัน)

…เข้าเรื่องกันเลย จากภาพจะเห็นว่าสกรูก็พัง หัวแฉกก็พัง สรุปคือพังทั้งคู่ ถ้าทำไม่เป็นมันจะพากันพังทั้งคู่

เหมือนกับธรรมะที่พอไม่เป็นแล้วทำเหมือนเป็นนี่มันพังจริง ๆ แล้วมันพังแบบแนบเนียนด้วย คือพังแล้วไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับที่เห็นกันมากมายในข่าวที่มีผู้นำลัทธิที่อ้างว่าใช้วิถีพุทธแล้วทำเรื่องผิดศีลมากมาย แบบนี้มันก็มีให้เห็นเยอะ แต่มันเป็นความน่ากลัวในความธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องอันตราย ถ้าแสดงฐานะเกินฐาน หรือเกินกว่าที่มีเมื่อไหร่ ภัยจะมา จริงอยู่ว่าในเบื้องต้นเราอาจจะแสร้งว่าเรามีธรรม เราเป็นผู้วิเศษ แต่ถ้ามันดันติดลมบน มีคนนิยม แล้วจะยังไงต่อ โลกธรรมมันเข้ามา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขมันเข้ามา แล้วตนเองไม่มีธรรมนั้นจริง แต่ก็ไม่อยากเสียโลกธรรม ก็เลยตามเลย แสดงธรรมไปตามที่ตนเข้าใจ(ผิด) ผลมันก็เหมือนกับหัวแฉกกับสกรูนี่แหละ คือตนเองก็พัง คนอื่นก็พัง พังเพราะพากันเมาในมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งในสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยคือมิจฉาทิฏฐิ ปิดไว้จะเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ แล้วคนที่เขาหลงเขาจะรู้ไหม เขาไม่รู้หรอก เขาก็เปิดเผยมิจฉาที่เขาหลงว่าเป็นสัมมานั่นแหละ ดีไม่ดีเขียนตำราใหม่เลย นี่แหละคือสัมมา(ของข้า)

สิ่งที่น่ากลัวกว่าโลกธรรม ก็คืออัตตา บางคนเหมือนว่าเขาไม่เสพโลกธรรมแล้ว ลาภมาไม่สน ชมมาไม่ฟู เรียกอาจารย์ก็ไม่ใส่ใจ แต่ลึก ๆ ในใจแล้วไม่มีใครรู้หรอก ภาพข้างนอกมันก็วิเคราะห์กันได้แค่ประมาณหนึ่ง คนอื่นเขาก็รู้ด้วยได้ยาก ว่าตกลงผ่านไม่ผ่าน

แล้วพวกอัตตาจัดนี่เวลาจับธรรมะแล้วจะโหดสาหัสเลย ยิ่งอ้างว่าตนเป็นพุทธแท้เท่าไหร่ยิ่งจะหนักเท่านั้น เพราะพูดออกไปมันได้โลกธรรมมาก ถ้าคนเชื่อเขาก็เทน้ำหนักให้มาก นั่นหมายถึงวิบากที่ได้รับก็มากตามได้ด้วยตามน้ำหนักที่ประกาศออกไป

ทีนี้มันก็มีทั้งจริงไม่จริงไง ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือมันไม่จริง พออัตตาจัดแสดงธรรม มันก็เหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีคนติดตาม มีลูกศิษย์ ทีนี้ก็ติดลมบนแล้ว ณ จุดนี้มันจะช่วยยากแล้ว เพราะส่วนมากก็ยึดตามหลักตนไปแล้ว ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็น…ฯลฯ แล้วล้างกิเลสไม่ได้จริง มันจะพอกเป็นอัตราพิเศษต่างจากคนทั่ว ๆ ไป

ธรรมะนี่เป็นหน่วยลงทุนที่กำไรมาก แต่เวลาพลาดก็ขาดทุนมากเช่นกัน และปัญหาคือขาดทุนแล้วไม่รู้ตัว หนึ่งในสภาพที่น่ากลัวก็คือ “หลงบรรลุธรรม” คือเกิดสภาพหลงไปว่าตัวเองมีคุณวิเศษนั้นจริง ไม่มีก็เข้าใจว่ามี เปรียบเหมือนคนบ้าหลงว่าตัวเองใส่เกราะถือดาบแต่จริง ๆ ใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว แล้วจะวิ่งไปรบกับกองทัพศัตรู มันก็มีแต่ตายเปล่าเท่านั้นเอง

แล้วยิ่งพาคนอื่นบ้าไปด้วยนี่วิบากมันจะยิ่งคูณ / ยกกำลังเข้าไปใหญ่ กว่าจะกลับมาเป็นคนปกติที่สามารถเรียนรู้ธรรมะที่สัมมาทิฏฐิได้ก็คงจะไม่ใช่ง่าย เพราะวิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้หลงตามปริมาณที่เคยพาคนอื่นหลง

จะเตือนกันว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่ารีบแสดงธรรมกันเลย มันก็คงจะไม่ไหว เพราะผลที่ได้จากการแสดงธรรมนี่มันหอมหวาน เต็มไปด้วยภาพเสมือนของกุศล(เหมือนจะดี)และโลกีย์รส โลกธรรมเอย อัตตาเอย เขาก็พุ่งเข้าหานั่นแหละ บางคนตอนแรกเขาก็ตั้งใจทำดี แต่เจอกิเลสดักตีหัว สุดท้ายก็อาจจะต้องจบลงแบบสกรูกับหัวแฉก แบบนี้ คือพังทั้งตนเองและผู้อื่น

ฝากชีวิตไว้กับ “รัก”

คงจะมีคนหลายคนในโลกนี้ที่ฝากชีวิต ฝากอนาคตไว้กับความรัก คนรัก ครอบครัวที่รัก แต่เมื่อวันหนึ่งที่ที่เขาฝากฝังไว้พังทลาย น้อยคนนักที่จะยังคงดำเนินชีวิตไปในเส้นทางแห่งความดีงามได้

ได้อ่านข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในชีวิตรักมาก็มาก เหตุนั้นก็ไม่ได้มาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเหล่านั้นลงทุนผิด เอาสิ่งสำคัญไปฝากฝังไว้กับอะไรที่มันพึ่งพาไม่ได้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฝากไว้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่มีจริง(ไม่สามารถคงสภาพนั้น ๆ ได้เที่ยงแท้ถาวร) เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนจะทนทุกข์ได้ถึงขนาดไหน จะหลงผิดไปยังไงก็แล้วแต่บุญกุศลของแต่ละคน

เวลาเราสวดมนต์(พุทธ) เราก็มักจะสวดบทไตรสรณคมน์ “พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ …” คือให้ชาวพุทธระลึกว่า ให้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเบื้องต้นแม้จิตยังไม่รู้จักวิธีการพึ่งพาอาศัยสามสิ่งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ยังมีผลให้เพิ่มความตระหนักว่าเราควรพึ่งสามสิ่งนี้นี่แหละ ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ไปสู่ความผาสุก

ยกตัวอย่างคนที่เขาศึกษาธรรมมาประมาณหนึ่ง ได้พบครูบาอาจารย์ ได้พบหมู่มิตรดีที่พากันปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เขากลับเลือกไปพึ่งสามี ภรรยา คือเข้าใจว่าชีวิตจะมั่นคงด้วยการมีคู่ มีลูกหลาน ฯลฯ เขาก็เลือกไปด้วยความหลงของเขา หลงไปยึดเอาสิ่งที่มันไม่เที่ยง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอยิ่งยึดในโลกีย์มันก็ยิ่งจะห่างจากธรรม

คนเรามีอยู่แค่สองเท้า ก็ยืนได้ในพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับจิตถ้าหลงไปยึดสิ่งใดแล้ว ย่อมพรากจากสิ่งอื่นโดยธรรมชาติ เช่นหลงยึดเอาอธรรม ก็ย่อมห่างไกลจากธรรม สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฎฐิไม่รวมอยู่ที่เดียวกัน(ภพในจิต) ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นยึดเอาคู่ครองครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิต ก็ย่อมจะพรากห่างจากพุทธธรรมสงฆ์เป็นธรรมดา

เพราะแทนที่จะใช้เวลาในชีวิตไปคิดว่าต้องทำอย่างไรเราจึงจะเจริญได้มากกว่านี้ จะลดโลภ โกรธ หลง ได้ยิ่งกว่านี้ ก็ต้องเอาเวลาไปเสียกับการสังเคราะห์ปัญหาหรือไม่ก็บำเรอกิเลสคนในครอบครัว วันนี้จะพากันไปกินอะไร จะไปเที่ยวกันที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะวางแผนครอบครัวยังไง สรุปแม้จะดูเหมือนนับถือศาสนา แต่กิเลสเอาเวลาไปกินหมด เวลา ทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ จ่ายให้กับที่พึ่งอันโยกเยกคลอนแคลนเหมือนกับไม้ผุปักเลน

พอวันหนึ่งที่พึ่งเหล่านั้นพังไปด้วยเหตุดังเช่นว่า คู่ครองนอกใจ คู่ครองตาย คู่ครองติดอบายมุข เป็นนักเลง ติดพนัน ติดยา ขี้เกียจ นิสัยชั่วร้าย ฯลฯ คือสภาพที่เคยคิดว่าดี มันเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายชีวิตก็จะพังตามไปด้วยตามน้ำหนักของการยึดสิ่งนั้น ๆ

บางคนยึดไว้แต่คู่ครองครอบครัว ไม่มีสิ่งอื่น พอมันพังไปชีวิตก็จบสิ้นไปด้วย บางคนยึดคู่ครองครอบครัวไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกขายังพยายามมายึดธรรมบ้าง ก็ยังถือว่าเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาที่ผ่านไป อาจจะทำให้ห่างธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วหลงเข้าใจไปเองว่าตัวเองยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง สุดท้ายต่อไม่ติด เข้าไม่ถึงธรรม ชีวิตก็อาจจะพังได้ (ทุกข์แสนสาหัส)

ส่วนคนที่ยึดพุทธธรรมสงฆ์ไว้อาศัย ก็ไม่ต้องลำบากเมื่อคู่ครองครอบครัว เปลี่ยนแปลง แตกหัก พังทลาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งแท้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นยึดไว้ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่สาระแท้ในชีวิต ก็สักแต่ว่าอาศัย ถึงมีอยู่ก็เอื้อให้เกิดกุศล จากไปก็แค่หมดภาระหน้าที่ในบทบาทนั้น ๆ ก็มีแต่อาการเบาลง ไม่เศร้า ไม่อาลัย ไม่เหมือนกับคนที่ยึดคู่ครอง พอคู่ครองครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจจะทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

นี่คือความต่างของการพึ่งพาอาศัยในสิ่งใด ๆ ชีวิตต้องการความผาสุกที่มั่นคง ดังนั้นเราก็ควรเลือก ที่พึ่งทางใจที่มั่นคงด้วย อย่าเอาไปฝากไว้กับ แฟน สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความมั่นคงใด ๆ เลย

เทศกาลเจ ศึกมารเทวดา

ใกล้เทศกาลเจ บทความเกี่ยวกับการลดละเลิกเนื้อสัตว์ ก็จะได้รับการแชร์มากเป็นพิเศษ ก็จะมีคนเข้ามาให้ความเห็น ส่วนจะเห็นอย่างไรก็ลองตาม ๆ ศึกษากันดู

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มีคนเสนอ และมีคนค้าน ฝ่ายเสนอก็คือการชวนเลิกกินเนื้อสัตว์นี่แหละ ส่วนฝ่ายค้านก็คือผู้ที่จะไม่เลิก และชักชวนให้ไม่ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ และยินดีในการไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ถ้าจะสรุปจากที่เคยพิมพ์มา ๆ ก็จะให้ความเห็นก่อนเลยว่าการค้านแย้งในประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้ลดการเบียดเบียน แถมยังชักชวนให้ยินดีและส่งเสริมการเบียดเบียนต่อไป สรุปคือมันก็ไปทางตรงข้ามกับหลักปฏิบัติของพุทธนั่นแหละ เหตุผลจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องดูทิศ ดูที่ไปของผลของกรรมด้วย ไม่เบียดเบียนก็ไปทางนึงนะ เบียดเบียนก็ไปอีกทางหนึ่งนะ ไปคนละทางกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่ต่างกัน ก็ทำใจยอมรับ ๆ กันหน่อย

ส่วนใครจะไปทิศไหน ภพภูมิไหน อันนี้ก็คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะตราบโลกแตกมันก็ต้องมีคนเห็นต่างกันอยู่แล้ว และโดยมากก็จะไปชั่วเป็นธรรมดาเสียด้วย เรื่องนั้นเราอย่าไปใส่ใจนักเลย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่เราได้ “ปะทะ” ,”กระทบ”,”ได้ยินได้ฟัง” ความเห็นที่แตกต่างแล้วเราทำใจในใจอย่างไร เรายอมรับฟังได้ไหม เราพิจารณาได้ไหมว่าแบบไหนมันดีกว่า มันเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากกว่า หรือเราจะเอาแต่ของเรา ของที่เราเคยเรียนรู้ ของที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น หรือ ความคิดของฉันถูกที่สุด อะไรประมาณนี้

ประโยชน์ของการเสนอกับการค้าน ในเชิงลึกมันก็มีอยู่ในด้านการตรวจจับจิตมาร-เทวดา ในใจตัวเอง ไม่ต้องไปตรวจคนอื่นหรอก เอาตัวเองนี่แหละว่าเป็นมาร เป็นเทวดา หรือเป็นมารในคราบเทวดา

ถ้าเราฟังความเห็นต่าง ฟังข้อมูลต่างแล้วลองเอาไปปฏิบัติดู จนเห็นผลว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เขาว่ามานั้น มีประโยชน์/ไม่มีประโยชน์ อย่างไร พอเห็นอย่างนั้นจริง หรือระลึกเท่าที่เคยทำมา หรือศึกษาจากกลุ่มที่เขาปฏิบัติ แล้วชัดเจนในผลนั้น จึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือคงสภาพเดิมก็แล้วแต่ประโยชน์ที่พึงเกิดแต่ตนและผู้อื่น

ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ผมปฏิบัติ เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วน้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ประหยัด เรียบง่าย พึ่งตนได้ ยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ผมก็มั่นใจว่า “ผล” ที่ได้รับนั้นควรค่าแก่การเลิกแล้ว

หรืออีกตัวอย่าง ที่เขาแนะนำกันมาเช่น กินเป็นธาตุบ้าง กินด้วยจิตว่างบ้าง ผมก็ลองนะ ลองฟังเขา แต่พิจารณาดูแล้วธาตุมันก็มีธาตุดีกับธาตุเลวด้วยนะ จะเอาอะไรเข้าปากมันก็ต้องมีประโยชน์ มันก็ต้องใช้ปัญญาบ้าง พระพุทธเจ้าท่านให้กินของที่ย่อยง่ายและไม่เป็นโทษจึงจะดีต่อชีวิต พืชผักนี่แหละย่อยง่าย โทษก็น้อย ยิ่งปลูกเองยิ่งปลอดภัย ประหยัด เนื้อสัตว์นี่เสี่ยงโรคและยาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมชาวพุทธเขาก็ไม่ค่อยอยากคบคนผิดศีลกันสักเท่าไหร่หรอก จะให้คบค้าสมาคมกับคนที่เขาฆ่าสัตว์ขายนี่ผมทำไม่ได้ ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผิดศีลโดยไม่จำเป็น แถมแพงก็แพง เก็บก็ยาก ต้องมีตู้เย็น ผักนี่ไม่มีตู้เย็นก็เก็บได้ ประเด็นนี้ชนะขาดกันแบบเห็น ๆ

ส่วนกินด้วยจิตว่างนี่มันยังไง ก็คนมันมีปัญญาเนาะ มันก็รู้ประโยชน์และโทษสิ จิตนี่มันว่าง มันไม่ได้อยากกินหรอกเนื้อสัตว์ มันก็ไม่ต้องไปกินให้มันลำบากสิ ที่ยังแสวงหากินอยู่นี่มันจิตไม่ว่าง ยังอยู่ในกามภพ ยังหลงกินอยู่ กินด้วยจิตว่างนี่มันจะหลับหูหลับตากินไม่ได้นะ จิตมันว่างจากกิเลส มันก็เลยมีปัญญา ไม่ใช่ว่างจากปัญญาก็เลยกินไม่คิด พุทธนี่มีการคิดที่ถูกที่ควรเป็นมรรค ในระดับโลก ๆ เอาแค่คิดว่ากินสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็พอแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้คนอื่นเขาทำยังไงนะ ที่เขาว่าว่างมันว่างแบบเดียวกันรึเปล่าหรือมันว่างแบบบื้อ ๆ หรือมันแค่พูดดีว่าว่าง สุดท้ายคุณกินเข้าไปคุณก็รู้เองนั่นแหละ เรื่องกิเลสมันโกหกตนเองไม่ได้หรอก จิตมันจะยินดีที่ได้เสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่ชักชวนกันเสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่มีคนส่งเสริมการเสพเนื้อสัตว์

อาการ 3 อย่างนี้ เป็นอาการของอสัตบุรุษ หรือคนพาล หรือ… ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป ส่วนใครมั่นใจว่าทำได้อย่างที่ว่า คือยินดีในการกินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นต่าง ๆ แล้วยังสามารถเบิกบาน ผาสุก สุขภาพดี ไร้ทุกข์ ไร้กังวลในชีวิตได้ ก็ทำไป …ส่วนตัวผมไม่เชื่อคนหนึ่งล่ะ

ก็สรุปบทความสั้น ๆ (?) นี้ลงตรงที่ว่า อย่าไปเอาประโยชน์จากการเถียงกันเลย ให้เอาประโยชน์จากการเถียงมารในใจตัวเองดีกว่า คนอื่นเขาอยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวเขาก็ไป กิเลสมารในใจเราอยู่ด้วยกันมาหลายล้านชาติ สิงเรามานานแล้ว ยังไปสู้ผิดคนผิดเป้าอีก

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี

รักกันจนตาย…เกือบทุกวัน

ทุกวันนี้แม้จะมีข่าวฆ่ากันตายด้วยเหตุแห่งรัก? มากมายแค่ไหน แต่ผู้คนก็ยังดิ้นรนแสวงหามัน เสพสุขจากมัน ไม่ยอมพรากจากมัน

ไอ้รักแบบนี้นี่มัน… จะเรียกว่าขยะ ขยะมันก็ยังเอามาปรับปรุงใช้ประโยชน์ได้ แต่ความรักที่เต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง นี่มันไม่มีค่าอะไรเลย คือไม่มีน่ะดี มีขึ้นมาก็ไม่เป็นประโยชน์กับใครทั้งตนเองและผู้อื่น สรุปมันต่ำกว่าขยะอีก

คนเขาก็หลงดม หลงเก็บ หลงกอดกันไว้ เพิ่มเจ้ากรรมนายเวรกันไป ในวิถีของโลกีย์ มันจะวนดิ่งลงไปสู่ความต่ำเรื่อย ๆ ความน่ากลัวของมันคือชั่วช้านาน คือมันจะเป็นบาปที่กัดกินใจอย่างช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่เห็นโทษชัดเจนในเบื้องต้น ทุกข์หนักนานแสนสาหัสในเบื้องปลาย ซึ่งก็ตามที่เห็นตาย ๆ กันมาเยอะแยะ

ความยินดีในการมีคู่ จึงเป็นสภาพที่น่าสงสาร ไม่ต่างกับเป็นโรค เป็นเหตุที่ทำให้บาดเจ็บได้ ทำให้ตายได้

หลายคนประมาท ก็หลงเข้าใจว่าเขาควบคุมมันได้ จริง ๆ เรื่องพวกนี้มันคุมไม่ได้ ทุกอย่างมันจะเปลี่ยนแปลงไป คนยึดมั่นถือมั่นก็พยายามจะกอดมันไว้ ดึงมันไว้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ตัวเองตัวขาดตาย ก็ไปดึงคนอื่นให้ตัวขาดตาย หรือไม่ก็พากันตายไปตาม ๆ กัน

ถ้าเก่งเหนือรักโลกีย์ ก็แค่ไม่ต้องไปแตะไปเสพมัน ปล่อยมันไว้แบบนั้นแหละ เขาไม่ใช่ของของเรา ปล่อย ๆ ไปเดี๋ยวเขาก็ไปมีชีวิตของเขา ไม่จำเป็นต้องเอาใครมาผูกไว้ ให้คอยจองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายชาติ

เลือกรักใครก็เลือกจองเวรจองกรรมคนนั้นนั่นแหละ แล้วก็เลือกให้เขามาจองเวรจองกรรมกับเราเช่นกัน สนุกตรงไหนล่ะนี่?