ทำดียังหวังผล

ในหลักสูตรของวิชชาราม(แพทย์วิถีธรรม) การบ้านประจำสัปดาห์ตอนนี้เขาให้ลองฝึกเล่าสภาวธรรมประยุกต์กับ “อริยสัจ ๔” ก็เลยทดลองพิมพ์เพื่อทบทวนตนเอง ขัดเกลาภาษาและการเรียบเรียง รวมทั้งแบ่งปันแนวทางที่ทำได้แก่ผู้ที่สนใจครับ ลองอ่านแล้วศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ไปช่วยขายข้าว ในช่วงข้าวใกล้หมดสต็อก ทางกลุ่มเลยจำกัดการจำหน่ายท่านละ 1 กก. เท่านั้น เมื่อไปเป็นผู้ขายจึงได้มีโอกาสเจอกับผู้ซื้อ และเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นจึงมีปัญหาให้จัดการ ปัญหานั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากกิเลสของตัวเอง

ทุกข์ : เกิดความรู้สึกชังเล็กน้อย เมื่อลูกค้าท่านหนึ่ง ยืนยันที่จะซื้อมากกว่า 1 กก. ให้ได้ และเมื่อเราได้อธิบายไป ดังเช่นว่า ข้าวใกล้หมด , แบ่งปันให้คนที่ยังมาไม่ถึง ฯลฯ เขาก็ยังยืนยันจะซื้อให้ได้ โดยเริ่มต่อว่าเราว่าเรื่องมาก ทำไมไม่ขาย ไม่อยากได้เงินหรือ? อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ว่าเขาจะไปหาคนมาซื้อ เราก็ตอบเขาว่าก็แล้วแต่ เพียงแต่เราจำกัดการซื้อคนละ 1 กก. เท่านั้น

สมุทัย : เหตุที่เกิดความชังนั้น เพราะเราสงสารคนที่เขาพยายามจะเอาชนะเรา พยายามจะเอาอำนาจเงินมาซื้อเรา เราไม่ได้ชังเขาเพราะเขาว่าเรา แต่เราชังการที่เราอธิบายเขาแล้ว เขาไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ซ้ำยังกระแทกกลับมาด้วยลีลาที่แสดงว่าฉันได้เปรียบ ฉันต้องได้ เป็นต้น สรุปคือ “ที่ชังก็เพราะอธิบายแล้วเขาไม่พร้อมจะทำความเข้าใจนั่นแหละ” สรุปไปอีกชั้นของรากให้ชัดขึ้น คือเราไม่ได้ต้องการคนมาเข้าใจ แต่เราต้องการให้คนที่เราได้อธิบายแล้วได้ทำความเข้าใจ (ต่างกันตรงที่ต้องมีตัวเราไปอธิบาย) สรุปลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ เราต้องการทำดีแล้วให้มันเกิดผลดี คือเขาเข้าใจ สรุปลึกลงไปอีกชั้นคือเป็นอาการของความโลภ เพราะเราหลงว่าถ้าเขาเข้าใจตามที่เราพูดจึงจะดีที่สุด จึงจะสุขที่สุด

นิโรธ : กำหนดความดับในเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการความสำเร็จในการทำดี ดังนั้น ถ้าจะกำหนดจุดที่ควรทำให้ดับ ทำให้มอด ทำให้จางคลาย ก็คือทำลายในส่วนของความต้องการที่เกินความจำเป็น นั่นก็คือความต้องการในความสำเร็จเมื่อลงมือทำดี ดังนั้นสภาพที่เป็นเป้าหมายที่พึงจะหวังได้คือ การทำดีโดยไม่ต้องหวังอะไร ทำดีแค่ทำดี ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกจากกันออกไป จะเกิดอะไรก็ได้เป็นสภาพที่อิสระต่อกัน ไม่ยึดว่าทำดีแล้วจะต้องเกิดผลดีตามที่เราหวัง ดีนั้นเกิดผลแน่ แต่มันจะไม่เป็นไปตามตัณหาของเรา มันจะเป็นไปตามกรรม

มรรค : การปฏิบัติตนให้ไปถึงผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเราในตอนนี้ยังมีความเห็นที่ยังผิดบิดเบี้ยวไปจากความผาสุกอยู่ คือทำดีแล้วยังจะเอาดีอยู่ ก็เลยต้องหาธรรมมาปรับความเห็นความเข้าใจให้ถูก เช่นใช้คำสอนของอาจารย์ ดังเช่นว่า “ให้แล้วคิดที่จะไม่เอาอะไรจากใครให้ได้” ดูแล้วเข้ากับการปฏิบัตินี้ดี รวมทั้งการหมั่นพิจารณาธรรมด้วยหลักไตรลักษณ์ เช่น ผลที่มันจะเกิดนี่มันไม่แน่นอน มันคาดเดาไม่ได้ หวังไม่ได้ และความอยากให้เกิดดีนี่มันเป็นทุกข์ และสุดท้ายอยากไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เกิดดีมันก็เป็นดีของเขา เกิดร้ายมันก็ร้ายของเขา เราก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราทำดีมันก็กรรมดีของเรา ส่วนผลดีร้ายที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมของเราและของเขาสังเคราะห์กัน ถ้าเราทำดีไม่หวังผลดี เราก็จะได้ประโยชน์จากความเบา โล่ง สบาย ส่วนถ้าเรายังทำดีแล้วเราจะเอาผลดีด้วยนี่มันหนักใจ มันไม่สบาย มันก็ไม่เป็นประโยชน์

ส่วนการคิด ก็คิดสวนทางกับความคาดหวังนั้น ๆ ในเรื่องการทำก็ขยันทำดี ขยันอธิบาย พูด บอก ให้มากขึ้น จะได้มีโอกาสกระทบมากขึ้น กระทบมากขึ้นก็ได้โอกาสในการจับอาการกิเลสมากขึ้นด้วย ที่เหลือก็ใช้สติที่มีจับอาการกิเลสให้ได้ กิเลสนี่มันจับตัวยากที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ต้องเพิ่มกำลังของสติด้วยเมื่อตั้งใจทำดี สุดท้ายมีสมาธิเป็นผล ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในนิโรธ ได้ยั่งยืนถาวร ยาวนาน ไม่กำเริบ ไม่เวียนกลับ ไม่มีความคิดเห็นผิดใดๆ มาหักล้างได้ ฯลฯ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จบงานกิเลสเรื่องนี้ไป

29.10.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

อ่านข่าวบ้านเมืองวันนี้ก็ทำให้เข้าใจคำนี้ลึกซึ้งขึ้น ในมุมที่ว่า จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้มีวีรบุรุษอะไรหรอก แต่พอมีคนชั่วมาก คนที่เขาทำดีแม้เพียงน้อยก็โดดเด่นขึ้นมาได้ทันที

คนโง่ก็ขยันโง่ คนชั่วก็ขยันชั่ว คนดีก็ขยันทำดีไป ระยะห่างมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในจังหวะที่เหมาะสม คนโง่ คนชั่ว คนดี มาบรรจบกัน จะเกิดสถานการณ์สร้างวีรบุรุษขึ้นเองตามธรรมชาติ เหมือนกับเรากำลังเดินอยู่แล้วแผ่นดินมันข้าง ๆ มันยุบ มันก็เลยเหมือนเราสูงเด่นกว่าระดับแผ่นดินที่ยุบ จริง ๆ เราก็สูงเท่าเดิมนั่นแหละ

เหมือนคนดี เขาก็ดีเท่าดีที่เขาทำได้ แต่พอมีคนโง่คนชั่วมากระทบ มันจะมีการเปรียบเทียบโดยธรรมชาติ โลกจะเปรียบเทียบ โลกธรรมจะหมุนเวียน สรรเสริญและนินทาจะเกิดขึ้น เป็นสภาพไม่เรียบ ไม่เสมอกัน กลายเป็นฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ฝ่ายหนึ่งเป็นวีรบุรุษ

ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะไปโกรธ ขุ่นเคือง หมองใจกับคนโง่คนชั่ว เพราะเขาก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ของเขา คือแสดงความโง่ความชั่วให้โลกได้เห็น เพื่อขับให้ความดีโดดเด่นขึ้น ให้มันตัดกันแรงขึ้น(contrast)

พอผมเข้าใจเรื่องนี้เพิ่ม ก็เข้าใจอีกหลายเรื่องเพิ่มเลยนะ เราเข้าใจเลยว่าไอ้ที่เขาแสดงมิจฉาธรรมกันเป็นอันมากทุกวันนี้ เพื่อให้เราได้ฝึกทำใจไม่ให้โกรธ ขุ่นเคืองคับข้องใจ(1) เพื่อที่จะทำให้มันชัดเจนขึ้น(2) เขาก็กำลังใช้กรรมของเขา(3) มันก็เป็นไปตามธรรมดาของโลกที่จะต้องมีคนชั่วมากกว่าคนดีอยู่แล้ว(4) ดังนั้นธรรมที่แสดงอยู่โดยมาก แม้เป็นอธรรมก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และมันก็เป็นไปของมันอย่างนั้นเอง(5)

สรุปก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปใส่ใจอะไรมากนัก ก็รับรู้ไปตามเรื่องตามราว ช่วยอะไรได้ก็ช่วย แต่อย่าไปช่วยให้เขาเกลียด เขาโกรธกันมากกว่าเดิม คือช่วยให้เขาเมตตากัน เข้าใจกัน อภัยกัน

เมื่อเราเพียรทำดีไปเรื่อย ๆ โดยไม่ไปเสียเวลาร่วมทำชั่วไปกับความชั่วที่มายั่วให้เราหลงโกรธ เกลียด ชัง แช่ง ดีที่เราทำก็จะยิ่งชัดขึ้นไปเรื่อย ๆ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของผลของกรรมที่จะลิขิตสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

นาบุญ

ช่วงหลายวันก่อนมีประเด็นคุยกับพี่น้องร่วมปฏิบัติธรรมกันอยู่บ้างในเรื่องที่คนเขาไปบำเพ็ญ ทำดีกันในที่ต่าง ๆ กัน

คำถามก็คือทำไมคนถึงไม่มาร่วมกันทำดีในที่ที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งที่มีครูบาอาจารย์พูดกำชับอยู่แล้วว่าที่นั่นที่นี่ควรทำก่อน…?

ก็จริงอยู่ที่ว่าคนเราทำดีที่ไหนก็ได้ มันก็จริง แต่มันก็ได้ผลไม่เท่ากัน เหมือนปลูกข้าวในที่ดินดีกับปลูกข้าวในที่แห้งแล้ง มันก็ได้ปลูกเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันได้ผลไม่เหมือนกัน

คืออาจจะเหนื่อยเท่ากัน แต่ผลดีเกิดไม่เหมือนกัน แล้วเราจะเลือกทำดีที่ไหนล่ะ ดีที่เกิดผลสูงสุด หรือดีที่เกิดทั่ว ๆ ไป

ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่ทุกคนจะเข้าถึงดีที่สูงที่สุดได้ แต่ละคนจะมีขอบเขตที่ตนปฏิบัติได้ โดยถูกกันจากวิบากกรรมตนเองบ้าง กิเลสตนเองบ้าง ไม่ให้มี “สิทธิ์” เข้าถึงพื้นที่นาบุญแห่งนั้นได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าถึงสิทธิ์นั้นจะทำดีได้มากกว่า เขาเพียงแค่ได้โอกาสทำดีได้ผลดีมากกว่า ซึ่งนั่นก็ดี แต่ถ้าหากเขามัวแต่ปลูกหญ้าในนาบุญ มันก็จะไม่ได้ข้าว ทำให้โอกาสเหล่านั้นเสียเปล่าไปเรื่อย ๆ

การอยู่ในที่ที่ดีมันก็เป็นดาบสองคม คือถ้าทำดีไม่เต็มที่ก็จะเสื่อมเร็ว เพราะทุกวันก็ต้องกินต้องใช้ ก็เอาไปให้กิเลสกินหมด กุศลกรรมที่ทำมามันก็หมดเร็ว พอถึงจุดนึงหมดแล้วมันก็ต้องร่วง ต้องหลุดออก ไปต่อท้ายแถวใหม่

ไปต่อไกล ๆ นู้นนน ทำดีรอบ ๆ ไป ทำดีเต็มที่ สุดท้ายก็ได้เข้ามาใหม่ ก็อยู่ที่ว่าตอนได้สิทธิ์นั้น ทำดีคู่ควรกับสถานที่/โอกาส/คน ฯลฯ นั้นหรือไม่

ส่วนตัวผมใครจะทำดีที่ไหนยังไงก็เข้าใจเขานะ เพราะเราก็เคยมีประสบการณ์ทั้งสองแบบนั่นแหละ คือทำดีในที่ห่างไกลความเจริญทางธรรม(นาบุญ) กับทำดีในนาบุญ มันก็แตกต่างกัน แต่มันก็เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น ว่าโลกนี้มันก็พร่อง ๆ แบบนี้แหละ

มันจะไปเอาดีที่สุดเลยทันทีไม่ได้ มันต้องกำจัดขวากหนาม(กิเลส/วิบากกรรม) ตามทางไปก่อน จะไปตะลุยดงหนามมันจะเจ็บมาก ทรมานมาก สุดท้ายมันก็ดีได้เท่าที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ