กุศลหลอก กิเลสหลอน

ผมตั้งข้อสังเกตนี้มานาน เป็นเรื่องของการทำดี ทำกุศลกรรมทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่าจะดีในเบื้องต้น แต่จบลงที่ขาดทุนในเบื้องปลาย

คนเราถ้าไม่หมั่นทำดีมันก็มักจะมีชั่วอยู่ในการไม่ทำดีนั้นอยู่แล้ว พอพัฒนาตนเองมาหมั่นทำดี ก็ใช่ว่าชั่วที่มีจะหายไปหมด ส่วนหนึ่งมันก็เปลี่ยนรูปเป็นชั่วในดีนั่นแหละ

การจะเห็นชั่วในดี มันก็ต้องหมั่นทำดี มาทำกิจกรรมการงานที่ดีร่วมกันกับหมู่มิตรดี ถึงจะมีโอกาสเห็นได้มากขึ้น ทำคนเดียวมันเห็นยาก พอมาทำร่วมกับคนอื่นเดี๋ยวคนตาดีเขาก็เห็น จะแอบซ่อนยังไง มันก็จะทะลักออกมาให้เห็น ยิ่งถ้าตนเองมีญาณปัญญารับรู้ได้ดี ก็ยิ่งเห็นตนเองได้ชัดยิ่งขึ้น

ลีลาของชั่วในดีอันหนึ่งก็คือ การตั้งจิตผิด ไปเอาผลของงานมาเป็นตัวตั้งว่าทำดีแล้วมันต้องเกิดผลดี ต้องเกิดดีสำเร็จตามที่ตั้งใจ ต้องมีคนรับรู้ถึงดีนั้น ๆ จึงจะสุขใจ

โดยมากผู้ที่มีอาการเหล่านี้มักจะมองข้าม ไม่สนใจการพัฒนาของจิตใจหรือการเติบโตของกิเลสในตน เพราะเกิดจากการตั้งจิตไว้ผิด พอเอางานนำ การปฏิบัติใจมันจะพร่องไปเยอะ แต่ถ้าเอาเรื่องใจนำ งานก็ทำดีเต็มที่แล้วปล่อยวางให้เป็นไปตามวิบากกรรม มันก็จะได้ทั้งใจทั้งงานอย่างเต็มที่ที่สุด แม้มันจะขาดบ้างพร่องบ้าง ออกมาไม่สวยบ้าง แต่ถ้าใจไม่ทุกข์ กิเลสไม่กำเริบมันก็ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็น

เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะกิเลสมันหลอกให้มองไปนอกตัว ปิดบังไม่ให้ไปยุ่งกับมัน โดยเอากุศลหรือการทำดีนี่แหละ เป็นเป้าลวงให้คนพุ่งชน คนหลงตามกิเลสเขาก็พุ่งชนแต่เป้ากุศล เอาแต่เป้ากุศลเป็นหลักชัย ว่าดีทีทำนี้ งานการกุศลนี้ต้องสำเร็จเพื่อเป้าหมาย…ฯลฯ

นึกภาพไม่ออกก็นึกถึงวัวกับมาทาดอร์ ถ้าวิ่งชนถูกเป้ามันก็จบ แต่ถ้าโดนเขาล่อลวงไปเรื่อย ๆ มันก็วิ่งวนไปอยู่แบบนั้น

กิเลสนี่มันร้าย แม้จะมาทำดีแล้ว แต่มันจะลวงให้เราหลงแต่ในกุศล ไม่สนใจเรื่อง “บุญ” หรือการชำระกิเลส มันจะไม่ให้เราใส่ใจ ไม่ให้เราให้เวลา ไม่ให้เราให้น้ำหนัก ไม่ให้เราเห็นความสำคัญของการทำบุญ ขัดเกลากิเลส แต่จะลวงเราให้หลงกับการทำงานและผลของงานอย่างหน้ามืดตามัว มาทำงานกับคนหมู่มากก็จะเอาแต่กุศล จะเอาแต่งานนอกเสร็จ แต่งานใน คือเรื่องกิเลสในจิตใจ ไม่พากันทำ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ให้เวลา ไม่ช่วยกันทำ งานนอกเสร็จแล้วก็แยกย้าย สุดท้ายกิเลสงาบไปกินหมด

ซึ่งกิเลสมันก็เนียนมาก ๆ เพราะคนทำดี มันก็จะมีผลดีให้ได้กินได้ใช้เป็นธรรมดา ซึ่งบางทีไอ้ “ผลดี” ที่ว่านี่แหละ คือสิ่งที่เลี้ยงเราไว้ให้หลงในความเป็น “โลกีย์” ความขาดทุนของการยึดดีเป็นหลักชัยนั้นก็คือความวนอยู่ในโลกนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ

ทำดีทำกุศล มันก็มีดีไว้กินไว้ใช้ไว้ป้องกัน แต่มันก็ไม่ใช่ว่าทำดีที่สุดแล้วจะพ้นทุกข์ ถ้าจะพ้นทุกข์มันก็ต้องหัดทำบุญ หรือหัดชำระกิเลส ดีนั้นก็เอาไว้อาศัยทำประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะควรยึดมาเป็นตัวเป็นตน หรือยึดว่าเป็นผลที่น่าได้น่าเสพใด ๆ

สรุปจบตรงที่ว่า อย่าหลงกุศล จนลืมทำบุญ(การชำระกิเลสในสันดาน)

ทำดียังหวังผล

ในหลักสูตรของวิชชาราม(แพทย์วิถีธรรม) การบ้านประจำสัปดาห์ตอนนี้เขาให้ลองฝึกเล่าสภาวธรรมประยุกต์กับ “อริยสัจ ๔” ก็เลยทดลองพิมพ์เพื่อทบทวนตนเอง ขัดเกลาภาษาและการเรียบเรียง รวมทั้งแบ่งปันแนวทางที่ทำได้แก่ผู้ที่สนใจครับ ลองอ่านแล้วศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ไปช่วยขายข้าว ในช่วงข้าวใกล้หมดสต็อก ทางกลุ่มเลยจำกัดการจำหน่ายท่านละ 1 กก. เท่านั้น เมื่อไปเป็นผู้ขายจึงได้มีโอกาสเจอกับผู้ซื้อ และเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นจึงมีปัญหาให้จัดการ ปัญหานั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากกิเลสของตัวเอง

ทุกข์ : เกิดความรู้สึกชังเล็กน้อย เมื่อลูกค้าท่านหนึ่ง ยืนยันที่จะซื้อมากกว่า 1 กก. ให้ได้ และเมื่อเราได้อธิบายไป ดังเช่นว่า ข้าวใกล้หมด , แบ่งปันให้คนที่ยังมาไม่ถึง ฯลฯ เขาก็ยังยืนยันจะซื้อให้ได้ โดยเริ่มต่อว่าเราว่าเรื่องมาก ทำไมไม่ขาย ไม่อยากได้เงินหรือ? อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ว่าเขาจะไปหาคนมาซื้อ เราก็ตอบเขาว่าก็แล้วแต่ เพียงแต่เราจำกัดการซื้อคนละ 1 กก. เท่านั้น

สมุทัย : เหตุที่เกิดความชังนั้น เพราะเราสงสารคนที่เขาพยายามจะเอาชนะเรา พยายามจะเอาอำนาจเงินมาซื้อเรา เราไม่ได้ชังเขาเพราะเขาว่าเรา แต่เราชังการที่เราอธิบายเขาแล้ว เขาไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ซ้ำยังกระแทกกลับมาด้วยลีลาที่แสดงว่าฉันได้เปรียบ ฉันต้องได้ เป็นต้น สรุปคือ “ที่ชังก็เพราะอธิบายแล้วเขาไม่พร้อมจะทำความเข้าใจนั่นแหละ” สรุปไปอีกชั้นของรากให้ชัดขึ้น คือเราไม่ได้ต้องการคนมาเข้าใจ แต่เราต้องการให้คนที่เราได้อธิบายแล้วได้ทำความเข้าใจ (ต่างกันตรงที่ต้องมีตัวเราไปอธิบาย) สรุปลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ เราต้องการทำดีแล้วให้มันเกิดผลดี คือเขาเข้าใจ สรุปลึกลงไปอีกชั้นคือเป็นอาการของความโลภ เพราะเราหลงว่าถ้าเขาเข้าใจตามที่เราพูดจึงจะดีที่สุด จึงจะสุขที่สุด

นิโรธ : กำหนดความดับในเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการความสำเร็จในการทำดี ดังนั้น ถ้าจะกำหนดจุดที่ควรทำให้ดับ ทำให้มอด ทำให้จางคลาย ก็คือทำลายในส่วนของความต้องการที่เกินความจำเป็น นั่นก็คือความต้องการในความสำเร็จเมื่อลงมือทำดี ดังนั้นสภาพที่เป็นเป้าหมายที่พึงจะหวังได้คือ การทำดีโดยไม่ต้องหวังอะไร ทำดีแค่ทำดี ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกจากกันออกไป จะเกิดอะไรก็ได้เป็นสภาพที่อิสระต่อกัน ไม่ยึดว่าทำดีแล้วจะต้องเกิดผลดีตามที่เราหวัง ดีนั้นเกิดผลแน่ แต่มันจะไม่เป็นไปตามตัณหาของเรา มันจะเป็นไปตามกรรม

มรรค : การปฏิบัติตนให้ไปถึงผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเราในตอนนี้ยังมีความเห็นที่ยังผิดบิดเบี้ยวไปจากความผาสุกอยู่ คือทำดีแล้วยังจะเอาดีอยู่ ก็เลยต้องหาธรรมมาปรับความเห็นความเข้าใจให้ถูก เช่นใช้คำสอนของอาจารย์ ดังเช่นว่า “ให้แล้วคิดที่จะไม่เอาอะไรจากใครให้ได้” ดูแล้วเข้ากับการปฏิบัตินี้ดี รวมทั้งการหมั่นพิจารณาธรรมด้วยหลักไตรลักษณ์ เช่น ผลที่มันจะเกิดนี่มันไม่แน่นอน มันคาดเดาไม่ได้ หวังไม่ได้ และความอยากให้เกิดดีนี่มันเป็นทุกข์ และสุดท้ายอยากไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เกิดดีมันก็เป็นดีของเขา เกิดร้ายมันก็ร้ายของเขา เราก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราทำดีมันก็กรรมดีของเรา ส่วนผลดีร้ายที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมของเราและของเขาสังเคราะห์กัน ถ้าเราทำดีไม่หวังผลดี เราก็จะได้ประโยชน์จากความเบา โล่ง สบาย ส่วนถ้าเรายังทำดีแล้วเราจะเอาผลดีด้วยนี่มันหนักใจ มันไม่สบาย มันก็ไม่เป็นประโยชน์

ส่วนการคิด ก็คิดสวนทางกับความคาดหวังนั้น ๆ ในเรื่องการทำก็ขยันทำดี ขยันอธิบาย พูด บอก ให้มากขึ้น จะได้มีโอกาสกระทบมากขึ้น กระทบมากขึ้นก็ได้โอกาสในการจับอาการกิเลสมากขึ้นด้วย ที่เหลือก็ใช้สติที่มีจับอาการกิเลสให้ได้ กิเลสนี่มันจับตัวยากที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ต้องเพิ่มกำลังของสติด้วยเมื่อตั้งใจทำดี สุดท้ายมีสมาธิเป็นผล ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในนิโรธ ได้ยั่งยืนถาวร ยาวนาน ไม่กำเริบ ไม่เวียนกลับ ไม่มีความคิดเห็นผิดใดๆ มาหักล้างได้ ฯลฯ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จบงานกิเลสเรื่องนี้ไป

29.10.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์