คนรักฆ่ากันตาย

เหมือนจะเป็นข่าวธรรมดา ๆ ไปซะแล้ว เพราะมีเป็นประจำ แต่กระนั้นคนก็ยังไม่วายจะหาคู่ ไม่พิจารณา ไม่ทำใจในใจให้เข้าใจว่า คนที่จะเข้ามาเป็นคู่นั้นแหละ คือตัวเวรตัวกรรม

เขาก็หากันไป ตามเรื่องตามราว ตามกิเลสที่มี หามาบำเรอกาม บำเรออัตตากันไป ตามที่เห็นว่าดี เห็นว่ามีประโยชน์

แต่ก็ไม่รู้เลยว่าทุกอย่างมันมีต้นทุน มันมีวิบากกรรมเป็นตัวผลัก ได้คนดีมา ก็เสพผลดี กรรมดีที่สะสมไว้ก็รั่วออกไปเรื่องไร้สาระ ส่วนใหญ่ก็ไหลไปกับการกิน เที่ยว …. เสพทุกวัน กุศลที่เคยทำไว้ก็หมดไปทุกวัน

หมดเมื่อไหร่ก็เหมือนเทวดาตกสวรรค์ เริ่มจะเปลี่ยนทิศ จากเสพสุขมาจมทุกข์แทน แต่ก็ไม่อยากออกเพราะมันยังมีสุขให้เสพ (ปั้นสุขลวงขึ้นมาเองตามที่หลง) แม้จะมีทุกข์ก็ตาม สุดท้าย แม้จะสุข 1 หน่วย ทุกข์ 100 ก็ยังเอา เป็นสภาพที่ชาวบ้านงง ว่าทนอยู่ได้อย่างไรทุกข์ขนาดนี้

ดีไม่ดีทุนหมด วิบากร้ายเข้า เขาก็ทำร้ายเอา ฆ่าเอา นอกใจ ตายจาก สารพัดเรื่องที่จะทำให้ทุกข์

คนหาคู่นี่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวแท้ ๆ พระพุทธเจ้าตรัสสอนประมาณว่า คนเขาได้คู่ ได้ลูกเขาก็หลงดีใจว่าได้ลาภ แต่นั้นเป็นลาภเลว (อนุตริยสูตร)… คือไม่ได้ดีกว่านั่นแหละ แต่คนหลงก็วนอยู่แต่เรื่องนี้ไง เรื่องได้คู่ได้ลูกนี่แหละ

เอากุศลตัวเองมาเปลี่ยนให้ได้เสพตามกิเลส มันอยากได้อะไรจิตมันก็จดจ่ออยู่อย่างนั้น สุดท้ายมันก็พยายามแส่หาสิ่งนั้นมา ได้มากุศลกรรมที่ทำมาก็หมดไป เหมือนทำดีมามากมายแล้วเทให้หมากิน ตัวเองไม่ได้กินใช้ผลนั้น กิเลสเอาไปกินหมด

คนมากมายเกิดแล้วตายไปเปล่า ๆ เพราะหลงมีคู่นี่แหละ ไม่ได้มีสาระอะไรเล้ย เอามากอดอยู่ได้ ความเห็นที่ว่าการมีคู่นั้นดี เป็นสุข เป็นสิ่งน่าได้น่ามีนั่นแหละ

ฝากชีวิตไว้กับ “รัก”

คงจะมีคนหลายคนในโลกนี้ที่ฝากชีวิต ฝากอนาคตไว้กับความรัก คนรัก ครอบครัวที่รัก แต่เมื่อวันหนึ่งที่ที่เขาฝากฝังไว้พังทลาย น้อยคนนักที่จะยังคงดำเนินชีวิตไปในเส้นทางแห่งความดีงามได้

ได้อ่านข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในชีวิตรักมาก็มาก เหตุนั้นก็ไม่ได้มาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเหล่านั้นลงทุนผิด เอาสิ่งสำคัญไปฝากฝังไว้กับอะไรที่มันพึ่งพาไม่ได้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฝากไว้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่มีจริง(ไม่สามารถคงสภาพนั้น ๆ ได้เที่ยงแท้ถาวร) เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนจะทนทุกข์ได้ถึงขนาดไหน จะหลงผิดไปยังไงก็แล้วแต่บุญกุศลของแต่ละคน

เวลาเราสวดมนต์(พุทธ) เราก็มักจะสวดบทไตรสรณคมน์ “พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ …” คือให้ชาวพุทธระลึกว่า ให้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเบื้องต้นแม้จิตยังไม่รู้จักวิธีการพึ่งพาอาศัยสามสิ่งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ยังมีผลให้เพิ่มความตระหนักว่าเราควรพึ่งสามสิ่งนี้นี่แหละ ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ไปสู่ความผาสุก

ยกตัวอย่างคนที่เขาศึกษาธรรมมาประมาณหนึ่ง ได้พบครูบาอาจารย์ ได้พบหมู่มิตรดีที่พากันปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เขากลับเลือกไปพึ่งสามี ภรรยา คือเข้าใจว่าชีวิตจะมั่นคงด้วยการมีคู่ มีลูกหลาน ฯลฯ เขาก็เลือกไปด้วยความหลงของเขา หลงไปยึดเอาสิ่งที่มันไม่เที่ยง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอยิ่งยึดในโลกีย์มันก็ยิ่งจะห่างจากธรรม

คนเรามีอยู่แค่สองเท้า ก็ยืนได้ในพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับจิตถ้าหลงไปยึดสิ่งใดแล้ว ย่อมพรากจากสิ่งอื่นโดยธรรมชาติ เช่นหลงยึดเอาอธรรม ก็ย่อมห่างไกลจากธรรม สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฎฐิไม่รวมอยู่ที่เดียวกัน(ภพในจิต) ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นยึดเอาคู่ครองครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิต ก็ย่อมจะพรากห่างจากพุทธธรรมสงฆ์เป็นธรรมดา

เพราะแทนที่จะใช้เวลาในชีวิตไปคิดว่าต้องทำอย่างไรเราจึงจะเจริญได้มากกว่านี้ จะลดโลภ โกรธ หลง ได้ยิ่งกว่านี้ ก็ต้องเอาเวลาไปเสียกับการสังเคราะห์ปัญหาหรือไม่ก็บำเรอกิเลสคนในครอบครัว วันนี้จะพากันไปกินอะไร จะไปเที่ยวกันที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะวางแผนครอบครัวยังไง สรุปแม้จะดูเหมือนนับถือศาสนา แต่กิเลสเอาเวลาไปกินหมด เวลา ทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ จ่ายให้กับที่พึ่งอันโยกเยกคลอนแคลนเหมือนกับไม้ผุปักเลน

พอวันหนึ่งที่พึ่งเหล่านั้นพังไปด้วยเหตุดังเช่นว่า คู่ครองนอกใจ คู่ครองตาย คู่ครองติดอบายมุข เป็นนักเลง ติดพนัน ติดยา ขี้เกียจ นิสัยชั่วร้าย ฯลฯ คือสภาพที่เคยคิดว่าดี มันเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายชีวิตก็จะพังตามไปด้วยตามน้ำหนักของการยึดสิ่งนั้น ๆ

บางคนยึดไว้แต่คู่ครองครอบครัว ไม่มีสิ่งอื่น พอมันพังไปชีวิตก็จบสิ้นไปด้วย บางคนยึดคู่ครองครอบครัวไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกขายังพยายามมายึดธรรมบ้าง ก็ยังถือว่าเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาที่ผ่านไป อาจจะทำให้ห่างธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วหลงเข้าใจไปเองว่าตัวเองยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง สุดท้ายต่อไม่ติด เข้าไม่ถึงธรรม ชีวิตก็อาจจะพังได้ (ทุกข์แสนสาหัส)

ส่วนคนที่ยึดพุทธธรรมสงฆ์ไว้อาศัย ก็ไม่ต้องลำบากเมื่อคู่ครองครอบครัว เปลี่ยนแปลง แตกหัก พังทลาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งแท้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นยึดไว้ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่สาระแท้ในชีวิต ก็สักแต่ว่าอาศัย ถึงมีอยู่ก็เอื้อให้เกิดกุศล จากไปก็แค่หมดภาระหน้าที่ในบทบาทนั้น ๆ ก็มีแต่อาการเบาลง ไม่เศร้า ไม่อาลัย ไม่เหมือนกับคนที่ยึดคู่ครอง พอคู่ครองครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจจะทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

นี่คือความต่างของการพึ่งพาอาศัยในสิ่งใด ๆ ชีวิตต้องการความผาสุกที่มั่นคง ดังนั้นเราก็ควรเลือก ที่พึ่งทางใจที่มั่นคงด้วย อย่าเอาไปฝากไว้กับ แฟน สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความมั่นคงใด ๆ เลย