คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด

ชีวิตมันยากเพราะมันโง่มาเยอะ ที่ชีวิตมันยากลำบากก็เพราะต้องมารับผลกรรมชั่วที่เกิดจากความโง่ที่เคยทำมานี่แหละ

ความโง่ หรือเรียกให้ดูสุภาพตรงจริตบางท่าน ก็คือมีอวิชชาเข้าครอบงำ (จริง ๆ มันก็ครอบมาตั้งแต่ชาติไหนแล้วก็ไม่รู้ ช่างมันเถอะ มันแก้อดีตไม่ได้)

ความโง่อันหนึ่งที่ทำร้ายชีวิต ทำลายเวลาอย่างหาประโยชน์แทบไม่ได้คือการคบคนพาล ซึ่งผมเองก็เคยเจอมาในชาตินี้เช่นกัน

สมัยศึกษาธรรมะใหม่ ๆ ก็ศึกษาไปมั่ว ๆ จนมาเจอของที่ปฏิบัติได้ผลจริง สุดท้ายไอ้ที่ศึกษามาก่อนหน้านั้น กว่าจะล้างสัญญาที่เรียนรู้และศึกษามาผิด ๆ ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี แน่นอนว่ายังมีวิบากกรรมซ้อนทบไปอีก จากการที่เราหลงไปศรัทธาคนผิดในชาตินี้ ก็ต้องยอมไปรับในอนาคตต่อไป

ดังนั้นผมจึงไม่บังอาจไปแนะนำ เสนอแนะ หรือสอนใครที่เรียนมาต่างกัน สัญญาต่างกัน ความเห็นต่างกัน ฯลฯ เพราะมันยากที่เขาจะเข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะเขาเชื่ออย่างนั้น จำอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น แล้วบางทีเขามาหลงตีความว่าเราเข้าใจอย่างเขาอีก ถ้าไม่จำเป็นก็คงจะไม่สนทนาเพราะมันต้องใช้เวลามาก แถมยากอีกด้วย การจะล้างความเห็นผิดของตัวเองว่ายากแล้ว จะไปล้างคนอื่นนี่ยากกว่า ยิ่งถ้าเขาไม่ยอมด้วยก็เลิกเลย ไม่ต้องคิด พวกโต้วาทะ ดีเบทอะไรนี่ ไม่เอาด้วยหรอก เสียเวลา

ถ้าถามว่าเห็นใจไหม มันก็เห็นใจเขา เราก็เคยเป็นมา แต่มันก็สุดมือเอื้อม แถมเขาก็ไม่ได้ร้องขอให้เราทำสักหน่อย ถ้าเป็นแบบตั้งใจ แสวงหาทางพ้นทุกข์กันจริง ๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ทุกวินาทีที่ยังคบคนพาล ยังเอาอสัตบุรุษเป็นที่พึ่ง มันก็จะสร้างความหลงไปเรื่อย ๆ เพราะเอาคนพาลเป็นอาจารย์ หลงว่าเป็นมิตรดี มันก็จะปักใจเชื่อ ทำใจตามคำสอนผิดเหล่านั้นแหละ ส่วนมากเป็นไปในทิศทางของกิเลส ซ่อนในวาทะสวยงามเหมือนลูกอมหวาน สอดไส้ยาพิษ

ดีไม่ดี หนีข้างนอกมาเจอในหมู่คนปฏิบัติดีนี่แหละ ก็แทรกตัวอยู่ เป็นเหมือนเนื้อร้าย เป็นมะเร็ง คบกันมากันไป กลายเป็นทิศทางนรก ธรรมะกลับหัวกลับหาง ไม่มีธรรมก็แสร้งว่ามีธรรม ไม่มุ่งขัดเกลาตนเอง แต่มุ่งแต่เรื่องคนอื่น เสแสร้ง ส่อเสียด ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ยุให้คนมีจิตที่ไม่ดีต่อกัน ไม่ศรัทธากัน เพ่งโทษกัน คนแบบนี้คบไปมีแต่เสีย เหมือนพ้นนรกข้างนอกแล้วก็มาเจอนรกข้างในต่อ

ลักษณะหนึ่งของคนพาล คือ มักจะทำให้เราไขว้เขว ไม่ปฏิบัติที่ใจตนเอง ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่ทำใจในใจ มักจะมุ่งเน้นองค์ประกอบข้างนอก ไม่ลงไปถึงกิเลส ตัณหา อุปาทาน แต่จะสนใจแค่เหตุการณ์ผิว ๆ พื้น ๆ เท่านั้น

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง คนพาลจะแก้ปัญหานอกตัว ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง ซ้ำยังโทษผู้อื่น หาโทษผู้อื่น(เพื่อยกตน ข่ม ดูถูก โยนปัญหา ฯลฯ) เพื่อสนองกิเลสตน

ถ้าคุณได้ลองพบกับ “คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง” คุณจะรู้ได้เลยว่านี่แหละคนพาล แถมคนพาลยังมีกำลังที่จะดึงดูดคนพาลมาร่วมกันอีก จึงกลายเป็นพากันเพ่งโทษเป็นอภิมหากำลัง

คุณอาจจะสงสัยว่า วัน ๆ คนพาลไม่มีอะไรทำกันเลยหรือยังไงถึงได้เอาเวลาไปเพ่งโทษชาวบ้าน ไม่มุ่งปฏิบัติธรรมที่ตน ก็อย่าได้สงสัยไปเลย ให้เข้าใจว่านี่แหละธรรมชาติของเขา และเป็นวิบากกรรมของเราที่ต้องมาเจอเขา

มันไม่มีอะไรถาวรหรอก วันหนึ่งผลกรรมชั่วของเราก็หมด เขาก็เลิกยุ่งกับเราเอง ส่วนวันไหนเขาทุกข์เกินทน เขาก็เลิกเป็นคนพาลเอง … แต่ยากหน่อยนะ เพราะกรรมที่ทำมาจะดึงดูดคนพาลเข้ามาในชีวิตเยอะ เป็นคนพาลก็คบแต่คนพาล พอชาติที่จะเลิก มันจะออกยาก มันจะวนเวียนในชีวิตอยู่นั่นแหละ ก็ให้เพียรทำดี ตั้งจิตตั้งใจว่าจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นกิเลสดี ๆ แล้วเสียสละและปฏิบัติตามศีลให้ตั้งมั่น มันจะหมดวิบากกรรมสักวันหนึ่งเอง

เช่นเดียวกับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ ก็ให้ตั้งจิตให้ดี ปฏิบัติ หมดวิบากร้ายชุดนั้นก็จะรู้เองว่าทางที่เดินอยู่นั้นถูกหรือผิด ครูบาอาจารย์ที่คบอยู่นั้นแท้จริงเป็นคนพาลหรือบัณฑิตกันแน่ คงต้องใช้ความตั้งใจและเวลาที่จะพิสูจน์ความจริงกัน

เทศกาลเจ ศึกมารเทวดา

ใกล้เทศกาลเจ บทความเกี่ยวกับการลดละเลิกเนื้อสัตว์ ก็จะได้รับการแชร์มากเป็นพิเศษ ก็จะมีคนเข้ามาให้ความเห็น ส่วนจะเห็นอย่างไรก็ลองตาม ๆ ศึกษากันดู

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มีคนเสนอ และมีคนค้าน ฝ่ายเสนอก็คือการชวนเลิกกินเนื้อสัตว์นี่แหละ ส่วนฝ่ายค้านก็คือผู้ที่จะไม่เลิก และชักชวนให้ไม่ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ และยินดีในการไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ถ้าจะสรุปจากที่เคยพิมพ์มา ๆ ก็จะให้ความเห็นก่อนเลยว่าการค้านแย้งในประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้ลดการเบียดเบียน แถมยังชักชวนให้ยินดีและส่งเสริมการเบียดเบียนต่อไป สรุปคือมันก็ไปทางตรงข้ามกับหลักปฏิบัติของพุทธนั่นแหละ เหตุผลจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องดูทิศ ดูที่ไปของผลของกรรมด้วย ไม่เบียดเบียนก็ไปทางนึงนะ เบียดเบียนก็ไปอีกทางหนึ่งนะ ไปคนละทางกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่ต่างกัน ก็ทำใจยอมรับ ๆ กันหน่อย

ส่วนใครจะไปทิศไหน ภพภูมิไหน อันนี้ก็คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะตราบโลกแตกมันก็ต้องมีคนเห็นต่างกันอยู่แล้ว และโดยมากก็จะไปชั่วเป็นธรรมดาเสียด้วย เรื่องนั้นเราอย่าไปใส่ใจนักเลย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่เราได้ “ปะทะ” ,”กระทบ”,”ได้ยินได้ฟัง” ความเห็นที่แตกต่างแล้วเราทำใจในใจอย่างไร เรายอมรับฟังได้ไหม เราพิจารณาได้ไหมว่าแบบไหนมันดีกว่า มันเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากกว่า หรือเราจะเอาแต่ของเรา ของที่เราเคยเรียนรู้ ของที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น หรือ ความคิดของฉันถูกที่สุด อะไรประมาณนี้

ประโยชน์ของการเสนอกับการค้าน ในเชิงลึกมันก็มีอยู่ในด้านการตรวจจับจิตมาร-เทวดา ในใจตัวเอง ไม่ต้องไปตรวจคนอื่นหรอก เอาตัวเองนี่แหละว่าเป็นมาร เป็นเทวดา หรือเป็นมารในคราบเทวดา

ถ้าเราฟังความเห็นต่าง ฟังข้อมูลต่างแล้วลองเอาไปปฏิบัติดู จนเห็นผลว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เขาว่ามานั้น มีประโยชน์/ไม่มีประโยชน์ อย่างไร พอเห็นอย่างนั้นจริง หรือระลึกเท่าที่เคยทำมา หรือศึกษาจากกลุ่มที่เขาปฏิบัติ แล้วชัดเจนในผลนั้น จึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือคงสภาพเดิมก็แล้วแต่ประโยชน์ที่พึงเกิดแต่ตนและผู้อื่น

ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ผมปฏิบัติ เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วน้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ประหยัด เรียบง่าย พึ่งตนได้ ยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ผมก็มั่นใจว่า “ผล” ที่ได้รับนั้นควรค่าแก่การเลิกแล้ว

หรืออีกตัวอย่าง ที่เขาแนะนำกันมาเช่น กินเป็นธาตุบ้าง กินด้วยจิตว่างบ้าง ผมก็ลองนะ ลองฟังเขา แต่พิจารณาดูแล้วธาตุมันก็มีธาตุดีกับธาตุเลวด้วยนะ จะเอาอะไรเข้าปากมันก็ต้องมีประโยชน์ มันก็ต้องใช้ปัญญาบ้าง พระพุทธเจ้าท่านให้กินของที่ย่อยง่ายและไม่เป็นโทษจึงจะดีต่อชีวิต พืชผักนี่แหละย่อยง่าย โทษก็น้อย ยิ่งปลูกเองยิ่งปลอดภัย ประหยัด เนื้อสัตว์นี่เสี่ยงโรคและยาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมชาวพุทธเขาก็ไม่ค่อยอยากคบคนผิดศีลกันสักเท่าไหร่หรอก จะให้คบค้าสมาคมกับคนที่เขาฆ่าสัตว์ขายนี่ผมทำไม่ได้ ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผิดศีลโดยไม่จำเป็น แถมแพงก็แพง เก็บก็ยาก ต้องมีตู้เย็น ผักนี่ไม่มีตู้เย็นก็เก็บได้ ประเด็นนี้ชนะขาดกันแบบเห็น ๆ

ส่วนกินด้วยจิตว่างนี่มันยังไง ก็คนมันมีปัญญาเนาะ มันก็รู้ประโยชน์และโทษสิ จิตนี่มันว่าง มันไม่ได้อยากกินหรอกเนื้อสัตว์ มันก็ไม่ต้องไปกินให้มันลำบากสิ ที่ยังแสวงหากินอยู่นี่มันจิตไม่ว่าง ยังอยู่ในกามภพ ยังหลงกินอยู่ กินด้วยจิตว่างนี่มันจะหลับหูหลับตากินไม่ได้นะ จิตมันว่างจากกิเลส มันก็เลยมีปัญญา ไม่ใช่ว่างจากปัญญาก็เลยกินไม่คิด พุทธนี่มีการคิดที่ถูกที่ควรเป็นมรรค ในระดับโลก ๆ เอาแค่คิดว่ากินสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็พอแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้คนอื่นเขาทำยังไงนะ ที่เขาว่าว่างมันว่างแบบเดียวกันรึเปล่าหรือมันว่างแบบบื้อ ๆ หรือมันแค่พูดดีว่าว่าง สุดท้ายคุณกินเข้าไปคุณก็รู้เองนั่นแหละ เรื่องกิเลสมันโกหกตนเองไม่ได้หรอก จิตมันจะยินดีที่ได้เสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่ชักชวนกันเสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่มีคนส่งเสริมการเสพเนื้อสัตว์

อาการ 3 อย่างนี้ เป็นอาการของอสัตบุรุษ หรือคนพาล หรือ… ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป ส่วนใครมั่นใจว่าทำได้อย่างที่ว่า คือยินดีในการกินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นต่าง ๆ แล้วยังสามารถเบิกบาน ผาสุก สุขภาพดี ไร้ทุกข์ ไร้กังวลในชีวิตได้ ก็ทำไป …ส่วนตัวผมไม่เชื่อคนหนึ่งล่ะ

ก็สรุปบทความสั้น ๆ (?) นี้ลงตรงที่ว่า อย่าไปเอาประโยชน์จากการเถียงกันเลย ให้เอาประโยชน์จากการเถียงมารในใจตัวเองดีกว่า คนอื่นเขาอยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวเขาก็ไป กิเลสมารในใจเราอยู่ด้วยกันมาหลายล้านชาติ สิงเรามานานแล้ว ยังไปสู้ผิดคนผิดเป้าอีก