อเทวนิยม

พุทธไม่ใช่ลัทธิบูชาเทพ,เทวดา
แต่มุ่งสร้างตนเองให้มีจิตดังเทพ,เทวดา จนถึงขั้นเหนือไปกว่านั้น
และไม่ได้สร้างภาพว่าตนเป็นดังเทพ,เทวดา
แล้วไม่ยึดหรือสำคัญว่าตนนี้คือเทพ, เทวดา, ผู้วิเศษ, คนสำคัญ …ฯลฯ ที่คนต้องมาเคารพ กราบไหว้ บูชา

เลวที่สุดในแผ่นดิน คือหากินบนคำว่า ช่วยเขา

(โศลก : พ่อครูสมณะโพธิรักษ์)

ผมนี่ซึ้งกับประโยคนี้จริง ๆ เพราะเป็นประโยคที่อธิบายชั่วในดี ที่แอบแฝง ซ่อนเร้น มารยา ตอแหล ฯลฯ ได้อย่างดี

เป็นภาวะของเทวดาเก๊ที่สร้างภาพขึ้นมาว่าจะช่วยเขา แต่ที่จริงตัวเองแอบเสพสุขอยู่ หรือสร้างองค์ประกอบขึ้นมาลวง ๆ ให้ดูเหมือนว่าตัวเองกำลังช่วยเขา แต่ที่จริงมีวาระซ่อนเร้นอยู่

เหมือนคนสูบบุหรี่แล้วอ้างว่าเอาภาษีไปช่วยชาติ แต่จริง ๆ ตนเองนั่นแหละอยากสูบบุหรี่

เหมือนคนที่ซื้อหวยแล้วบอกว่าเอาไปพัฒนาชาติ แต่จริง ตนเองโลภมากอยากลงทุนน้อยได้เงินมาก อยากถูกรางวัล

เหมือนคนที่หาเรื่องมากมายเพื่อที่จะมาปรึกษา พูดคุย แนะนำกับคู่ตรงข้าม แต่จริง ๆ ก็แอบชอบเขา

เหมือนคนที่สอนธรรมคนอื่น แต่จริง ๆ แอบเสพสุขที่มีคนยกย่อง ชื่นชม ศรัทธาตนเอง

เหมือนคนที่บวชมาในพุทธศาสนา ปากก็บอกว่าต้องการจะสืบสานศาสนา แต่มุ่งหน้ากอบโกยลาภสักการะและบริวาร

ถ้าจะเอาให้เหมือนจริง ๆ ก็นักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยการ ทำเหมือนว่าจะทำเพื่อประชาชนนั่นแหละ

…ตามความเข้าใจของผม ที่พ่อครูว่า “เลวที่สุด” เพราะมันมีสภาพชั่วเชิงซ้อน คือชั่วแล้วชั่วอีก หมายถึงที่จะทำมันก็ชั่วพออยู่แล้ว ยังจะไปหลอกคนอื่นว่าชั่วที่ตนทำนั้นมันดีเสียอีก

ไอ้ชั่วซับซ้อนแบบนี้นี่มันแก้ยาก แกะยาก อธิบายยาก เข้าใจยาก รู้ได้ยาก เพราะมันซ่อนไว้ในดี เวลาคนดีไปแตะเขาจะโดนกระแทกกลับมา เพราะมันไม่ใช่ชั่วตรง ๆ มันมีเกราะแห่งความดีตอแหลป้องกันอยู่ ดังนั้นมันจึงเป็นชั่วที่หนักหนามาก ปราบได้ยาก ทำลายได้ยาก ความชั่วที่ทำลายได้ยาก ชำระได้ยาก แก้ได้ยาก ก็ย่อมเป็นความเลวที่สุดเป็นธรรมดา

จริง ๆ มันก็มีภาวะลึก ๆ อีก แต่จะไม่ลงรายละเอียด เอาเป็นว่าใครสนใจก็ตามไปศึกษาหัวข้อธรรม เมถุนสังโยค ข้อ 7 กันต่อได้เลย

เทศกาลเจ ศึกมารเทวดา

ใกล้เทศกาลเจ บทความเกี่ยวกับการลดละเลิกเนื้อสัตว์ ก็จะได้รับการแชร์มากเป็นพิเศษ ก็จะมีคนเข้ามาให้ความเห็น ส่วนจะเห็นอย่างไรก็ลองตาม ๆ ศึกษากันดู

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มีคนเสนอ และมีคนค้าน ฝ่ายเสนอก็คือการชวนเลิกกินเนื้อสัตว์นี่แหละ ส่วนฝ่ายค้านก็คือผู้ที่จะไม่เลิก และชักชวนให้ไม่ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ และยินดีในการไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ถ้าจะสรุปจากที่เคยพิมพ์มา ๆ ก็จะให้ความเห็นก่อนเลยว่าการค้านแย้งในประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้ลดการเบียดเบียน แถมยังชักชวนให้ยินดีและส่งเสริมการเบียดเบียนต่อไป สรุปคือมันก็ไปทางตรงข้ามกับหลักปฏิบัติของพุทธนั่นแหละ เหตุผลจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องดูทิศ ดูที่ไปของผลของกรรมด้วย ไม่เบียดเบียนก็ไปทางนึงนะ เบียดเบียนก็ไปอีกทางหนึ่งนะ ไปคนละทางกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่ต่างกัน ก็ทำใจยอมรับ ๆ กันหน่อย

ส่วนใครจะไปทิศไหน ภพภูมิไหน อันนี้ก็คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะตราบโลกแตกมันก็ต้องมีคนเห็นต่างกันอยู่แล้ว และโดยมากก็จะไปชั่วเป็นธรรมดาเสียด้วย เรื่องนั้นเราอย่าไปใส่ใจนักเลย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่เราได้ “ปะทะ” ,”กระทบ”,”ได้ยินได้ฟัง” ความเห็นที่แตกต่างแล้วเราทำใจในใจอย่างไร เรายอมรับฟังได้ไหม เราพิจารณาได้ไหมว่าแบบไหนมันดีกว่า มันเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากกว่า หรือเราจะเอาแต่ของเรา ของที่เราเคยเรียนรู้ ของที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น หรือ ความคิดของฉันถูกที่สุด อะไรประมาณนี้

ประโยชน์ของการเสนอกับการค้าน ในเชิงลึกมันก็มีอยู่ในด้านการตรวจจับจิตมาร-เทวดา ในใจตัวเอง ไม่ต้องไปตรวจคนอื่นหรอก เอาตัวเองนี่แหละว่าเป็นมาร เป็นเทวดา หรือเป็นมารในคราบเทวดา

ถ้าเราฟังความเห็นต่าง ฟังข้อมูลต่างแล้วลองเอาไปปฏิบัติดู จนเห็นผลว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เขาว่ามานั้น มีประโยชน์/ไม่มีประโยชน์ อย่างไร พอเห็นอย่างนั้นจริง หรือระลึกเท่าที่เคยทำมา หรือศึกษาจากกลุ่มที่เขาปฏิบัติ แล้วชัดเจนในผลนั้น จึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือคงสภาพเดิมก็แล้วแต่ประโยชน์ที่พึงเกิดแต่ตนและผู้อื่น

ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ผมปฏิบัติ เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วน้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ประหยัด เรียบง่าย พึ่งตนได้ ยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ผมก็มั่นใจว่า “ผล” ที่ได้รับนั้นควรค่าแก่การเลิกแล้ว

หรืออีกตัวอย่าง ที่เขาแนะนำกันมาเช่น กินเป็นธาตุบ้าง กินด้วยจิตว่างบ้าง ผมก็ลองนะ ลองฟังเขา แต่พิจารณาดูแล้วธาตุมันก็มีธาตุดีกับธาตุเลวด้วยนะ จะเอาอะไรเข้าปากมันก็ต้องมีประโยชน์ มันก็ต้องใช้ปัญญาบ้าง พระพุทธเจ้าท่านให้กินของที่ย่อยง่ายและไม่เป็นโทษจึงจะดีต่อชีวิต พืชผักนี่แหละย่อยง่าย โทษก็น้อย ยิ่งปลูกเองยิ่งปลอดภัย ประหยัด เนื้อสัตว์นี่เสี่ยงโรคและยาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมชาวพุทธเขาก็ไม่ค่อยอยากคบคนผิดศีลกันสักเท่าไหร่หรอก จะให้คบค้าสมาคมกับคนที่เขาฆ่าสัตว์ขายนี่ผมทำไม่ได้ ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผิดศีลโดยไม่จำเป็น แถมแพงก็แพง เก็บก็ยาก ต้องมีตู้เย็น ผักนี่ไม่มีตู้เย็นก็เก็บได้ ประเด็นนี้ชนะขาดกันแบบเห็น ๆ

ส่วนกินด้วยจิตว่างนี่มันยังไง ก็คนมันมีปัญญาเนาะ มันก็รู้ประโยชน์และโทษสิ จิตนี่มันว่าง มันไม่ได้อยากกินหรอกเนื้อสัตว์ มันก็ไม่ต้องไปกินให้มันลำบากสิ ที่ยังแสวงหากินอยู่นี่มันจิตไม่ว่าง ยังอยู่ในกามภพ ยังหลงกินอยู่ กินด้วยจิตว่างนี่มันจะหลับหูหลับตากินไม่ได้นะ จิตมันว่างจากกิเลส มันก็เลยมีปัญญา ไม่ใช่ว่างจากปัญญาก็เลยกินไม่คิด พุทธนี่มีการคิดที่ถูกที่ควรเป็นมรรค ในระดับโลก ๆ เอาแค่คิดว่ากินสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็พอแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้คนอื่นเขาทำยังไงนะ ที่เขาว่าว่างมันว่างแบบเดียวกันรึเปล่าหรือมันว่างแบบบื้อ ๆ หรือมันแค่พูดดีว่าว่าง สุดท้ายคุณกินเข้าไปคุณก็รู้เองนั่นแหละ เรื่องกิเลสมันโกหกตนเองไม่ได้หรอก จิตมันจะยินดีที่ได้เสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่ชักชวนกันเสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่มีคนส่งเสริมการเสพเนื้อสัตว์

อาการ 3 อย่างนี้ เป็นอาการของอสัตบุรุษ หรือคนพาล หรือ… ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป ส่วนใครมั่นใจว่าทำได้อย่างที่ว่า คือยินดีในการกินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นต่าง ๆ แล้วยังสามารถเบิกบาน ผาสุก สุขภาพดี ไร้ทุกข์ ไร้กังวลในชีวิตได้ ก็ทำไป …ส่วนตัวผมไม่เชื่อคนหนึ่งล่ะ

ก็สรุปบทความสั้น ๆ (?) นี้ลงตรงที่ว่า อย่าไปเอาประโยชน์จากการเถียงกันเลย ให้เอาประโยชน์จากการเถียงมารในใจตัวเองดีกว่า คนอื่นเขาอยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวเขาก็ไป กิเลสมารในใจเราอยู่ด้วยกันมาหลายล้านชาติ สิงเรามานานแล้ว ยังไปสู้ผิดคนผิดเป้าอีก

เทวดาร้อนอาสน์

คือสภาพของคนดีที่ทุกข์ร้อนใจ ทนอยู่เฉยไม่ได้ต่อบางสิ่งบางอย่าง

ผมเคยได้ยินคำนี้มาจากครูบาอาจารย์ แต่ก็เพิ่งจะเคยได้เห็นสภาพนี้ในคนทั่วไป คือเมื่อวานไปสนามหลวง และช่วงค่ำจิตอาสาก็ยกทีมกันไปเปิดร้าน ตักถั่วเขียวต้มแจกหน้าเต็นท์รอคอย แบบว่าใครสนใจก็เดินออกมารับได้

ภาพที่จิตอาสามาเสียสละ มาแจกของก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ภาพที่เห็นเมื่อวานนี้คือคนที่เขามารอในเต็นท์รอคอยนี่แหละ เดินมาเสนอตัวว่าจะช่วยเอาถั่วเขียวต้มไปแจกในเต็นท์

…ก็คงจะเป็นสภาพของเทวดาร้อนอาสน์ คือ ไม่ได้ตั้งใจมาช่วยตั้งแต่แรกหรอก แต่เห็นแล้วมันอยากช่วย จะไม่ช่วยใจมันก็ไม่ยอม มันร้อนใจ อยากจะช่วยเขา อยากจะทำดี

จริง ๆ เขาจะนั่งรอคอยอยู่เฉย ๆ ก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร แต่นี่เขายินดีลุกขึ้นมาช่วยไง อันนี้จริง ๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งธรรมดาทั่วไปนะ ถ้าใครมีจิตแบบนี้ก็เข้าท่าเลย จิตเทวดานี่แหละ มีจิตที่อยากช่วยเหลือผู้อื่น แบบไม่ต้องมีใครสั่ง จิตมันจะสั่งให้ทำดีของมันเอง ไม่ให้อยู่เฉย

เพราะลึก ๆ แล้วมันเกิดจากปัญญารู้ว่า ทำดีแล้วมีประโยชน์ ถ้าไม่ทำดีจะเสียประโยชน์ ก็เป็นสภาพของจิตรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับจิตที่เป็นเดรัจฉาน อสูรกาย เปรต ฯลฯ จริง ๆ ก็เหมือนจิตเทวดานี่แหละ เป็นสภาพในจิต คือแม้ร่างเป็นคนแต่จิตข้างในต่างกัน

จิตเทวดาก็ตามที่เล่ากันไป ส่วนจิตที่เป็นเปรตก็คือความโลภ ร่างเป็นคนแต่จิตเป็นเปรตก็โลภมาก สะสมมาก ไม่รู้จักพอ ของที่เขาไม่ได้ให้ก็อยากได้ ของที่เขาจะให้ก็อยากได้มากกว่าที่เขายินดีให้

เมื่อมีคนมาให้ทานกันมาก ๆ เราก็อาจจะได้พบกับเปรต ทั้งเปรตข้างนอกและเปรตข้างใน เปรตคนอื่นเราก็ยกไว้ก่อน เอาแค่ดูไว้ ศึกษาไว้ ว่า…อ๋อ…นั่นเปรตเขาตัวขนาดนั้น ส่วนเปรตในจิตเรานี่ต้องขัดเกลากันให้หนัก จิตเปรตนี่ไม่ควรเอาไว้ เพราะมีแล้วตนเองก็ทุกข์ คนรอบข้างก็ทุกข์

วิธีปราบเปรตก็คือให้ทานนี่แหละ เห็นจิตอาสาเขามาแจกของ แม้เราไม่มีของเราก็ใช้แรงงานแทนได้ แจกเข้าไป ถ้าเราไม่หวง เราแจกได้ สละได้ ไม่สะสมได้เท่าไหร่ นั่นคือเราปราบเปรตในจิตเราได้เท่านั้นแล้ว

เมื่อปราบเปรตได้จิตก็จะสูงขึ้น วันหนึ่งก็จะสูงถึงขั้นเป็นเทวดา(คนใจสูง) แต่ไม่ต้องรอให้ร้อนอาสน์หรอก เพราะตอนนี้มีโอกาสมากมายให้ได้ทำความดี ก็ทำกันไปตามแต่จะมีกำลัง…