ทำดียังหวังผล

ในหลักสูตรของวิชชาราม(แพทย์วิถีธรรม) การบ้านประจำสัปดาห์ตอนนี้เขาให้ลองฝึกเล่าสภาวธรรมประยุกต์กับ “อริยสัจ ๔” ก็เลยทดลองพิมพ์เพื่อทบทวนตนเอง ขัดเกลาภาษาและการเรียบเรียง รวมทั้งแบ่งปันแนวทางที่ทำได้แก่ผู้ที่สนใจครับ ลองอ่านแล้วศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ไปช่วยขายข้าว ในช่วงข้าวใกล้หมดสต็อก ทางกลุ่มเลยจำกัดการจำหน่ายท่านละ 1 กก. เท่านั้น เมื่อไปเป็นผู้ขายจึงได้มีโอกาสเจอกับผู้ซื้อ และเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นจึงมีปัญหาให้จัดการ ปัญหานั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากกิเลสของตัวเอง

ทุกข์ : เกิดความรู้สึกชังเล็กน้อย เมื่อลูกค้าท่านหนึ่ง ยืนยันที่จะซื้อมากกว่า 1 กก. ให้ได้ และเมื่อเราได้อธิบายไป ดังเช่นว่า ข้าวใกล้หมด , แบ่งปันให้คนที่ยังมาไม่ถึง ฯลฯ เขาก็ยังยืนยันจะซื้อให้ได้ โดยเริ่มต่อว่าเราว่าเรื่องมาก ทำไมไม่ขาย ไม่อยากได้เงินหรือ? อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ว่าเขาจะไปหาคนมาซื้อ เราก็ตอบเขาว่าก็แล้วแต่ เพียงแต่เราจำกัดการซื้อคนละ 1 กก. เท่านั้น

สมุทัย : เหตุที่เกิดความชังนั้น เพราะเราสงสารคนที่เขาพยายามจะเอาชนะเรา พยายามจะเอาอำนาจเงินมาซื้อเรา เราไม่ได้ชังเขาเพราะเขาว่าเรา แต่เราชังการที่เราอธิบายเขาแล้ว เขาไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ซ้ำยังกระแทกกลับมาด้วยลีลาที่แสดงว่าฉันได้เปรียบ ฉันต้องได้ เป็นต้น สรุปคือ “ที่ชังก็เพราะอธิบายแล้วเขาไม่พร้อมจะทำความเข้าใจนั่นแหละ” สรุปไปอีกชั้นของรากให้ชัดขึ้น คือเราไม่ได้ต้องการคนมาเข้าใจ แต่เราต้องการให้คนที่เราได้อธิบายแล้วได้ทำความเข้าใจ (ต่างกันตรงที่ต้องมีตัวเราไปอธิบาย) สรุปลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ เราต้องการทำดีแล้วให้มันเกิดผลดี คือเขาเข้าใจ สรุปลึกลงไปอีกชั้นคือเป็นอาการของความโลภ เพราะเราหลงว่าถ้าเขาเข้าใจตามที่เราพูดจึงจะดีที่สุด จึงจะสุขที่สุด

นิโรธ : กำหนดความดับในเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการความสำเร็จในการทำดี ดังนั้น ถ้าจะกำหนดจุดที่ควรทำให้ดับ ทำให้มอด ทำให้จางคลาย ก็คือทำลายในส่วนของความต้องการที่เกินความจำเป็น นั่นก็คือความต้องการในความสำเร็จเมื่อลงมือทำดี ดังนั้นสภาพที่เป็นเป้าหมายที่พึงจะหวังได้คือ การทำดีโดยไม่ต้องหวังอะไร ทำดีแค่ทำดี ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกจากกันออกไป จะเกิดอะไรก็ได้เป็นสภาพที่อิสระต่อกัน ไม่ยึดว่าทำดีแล้วจะต้องเกิดผลดีตามที่เราหวัง ดีนั้นเกิดผลแน่ แต่มันจะไม่เป็นไปตามตัณหาของเรา มันจะเป็นไปตามกรรม

มรรค : การปฏิบัติตนให้ไปถึงผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเราในตอนนี้ยังมีความเห็นที่ยังผิดบิดเบี้ยวไปจากความผาสุกอยู่ คือทำดีแล้วยังจะเอาดีอยู่ ก็เลยต้องหาธรรมมาปรับความเห็นความเข้าใจให้ถูก เช่นใช้คำสอนของอาจารย์ ดังเช่นว่า “ให้แล้วคิดที่จะไม่เอาอะไรจากใครให้ได้” ดูแล้วเข้ากับการปฏิบัตินี้ดี รวมทั้งการหมั่นพิจารณาธรรมด้วยหลักไตรลักษณ์ เช่น ผลที่มันจะเกิดนี่มันไม่แน่นอน มันคาดเดาไม่ได้ หวังไม่ได้ และความอยากให้เกิดดีนี่มันเป็นทุกข์ และสุดท้ายอยากไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เกิดดีมันก็เป็นดีของเขา เกิดร้ายมันก็ร้ายของเขา เราก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราทำดีมันก็กรรมดีของเรา ส่วนผลดีร้ายที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมของเราและของเขาสังเคราะห์กัน ถ้าเราทำดีไม่หวังผลดี เราก็จะได้ประโยชน์จากความเบา โล่ง สบาย ส่วนถ้าเรายังทำดีแล้วเราจะเอาผลดีด้วยนี่มันหนักใจ มันไม่สบาย มันก็ไม่เป็นประโยชน์

ส่วนการคิด ก็คิดสวนทางกับความคาดหวังนั้น ๆ ในเรื่องการทำก็ขยันทำดี ขยันอธิบาย พูด บอก ให้มากขึ้น จะได้มีโอกาสกระทบมากขึ้น กระทบมากขึ้นก็ได้โอกาสในการจับอาการกิเลสมากขึ้นด้วย ที่เหลือก็ใช้สติที่มีจับอาการกิเลสให้ได้ กิเลสนี่มันจับตัวยากที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ต้องเพิ่มกำลังของสติด้วยเมื่อตั้งใจทำดี สุดท้ายมีสมาธิเป็นผล ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในนิโรธ ได้ยั่งยืนถาวร ยาวนาน ไม่กำเริบ ไม่เวียนกลับ ไม่มีความคิดเห็นผิดใดๆ มาหักล้างได้ ฯลฯ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จบงานกิเลสเรื่องนี้ไป

29.10.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วิธีดูว่ามิตรที่มีนั้นกำลังพาเราไปไหน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่ประมาทก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว” เช่นกัน หากเราใช้ชีวิตประมาท ไม่รู้ว่าชีวิตกำลังดำเนินไปทางไหน มันก็กำหนดทางตายของเราไปแล้วนั่นเอง

การมีสติในชีวิตประจำวันนั้นไม่เพียงพอที่จะกันนรกอยู่ เพราะหากไม่มีศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตดีชั่วแล้ว สติที่มีนั้น ก็เอาไปทำชั่วได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนประกาศจะแต่งงาน ก็จะมีคนมากมายเข้าไปยินดี อวยพร ฯลฯ เขามีสติตอนอวยพรไหม? ถ้าถามเขา เขาก็คงว่ามีกัน แต่ทำไมถึงพูดให้คนยินดีในทางผิด การมีคู่นี่คือไปนรกชัด ๆ อยู่แล้ว คนเขายังไปยินดีอวยพรกัน

แต่คนมีศีลเขาจะไม่ไปยินดีด้วย เพราะรู้แน่ชัดว่าคนมีคู่กำลังจับมือกันไปนรก มันจะทำใจยินดีได้อย่างไร มันมีอะไรดี? มันไม่เห็นมีอะไรดีให้ไปสรรเสริญเลย มีแต่ความเสื่อมความต่ำ มีแต่ความทุกข์

มิตรที่ยินดีเมื่อเราทำไม่ดี นั่นแหละคือมิตรที่จะผลักดันเราไปนรก ส่วนมิตรที่ไม่ยินดีเมื่อเราทำไม่ดี นั่นแหละคือมิตรที่จะช่วยให้เราพ้นนรก

ถ้าคนที่กำลังจะไปทำชั่ว เช่นไปแต่งงาน มีมิตรชั่วมาก ๆ เขาก็จะเสริมพลังให้กับกิเลส ให้กับความหลง ให้ยินดีในการครองคู่ ให้ยินดีในการสร้างครอบครัว แม้จะมีมิตรดีอยู่ ก็อาจจะสู้พลังของกิเลสไม่ได้ เพราะเจ้าตัวก็อยากได้อยากเสพ แถมมีคนยุยงให้ได้เสพสมใจกัน มันก็ไปกันใหญ่

เรื่องคู่นั้น ผมถือเป็น check point หนึ่งของความเจริญในทางพุทธศาสนา ถ้าใครผ่านได้จะสบายไปหลายขุม(นรก) เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการท่องเที่ยวในนรก ตัดเรื่องคู่ได้ จะมีพลังทำความดีอีกมหาศาล

เวลาผมประเมินคนที่เขาสอนศาสนาทั่วไป ผมก็ใช้ตรงนี้นี่แหละเป็นตัววัด ว่าความเห็นของเขายังยินดีในการมีคู่หรือไม่ยินดี ถ้ายังไม่ผ่านมันจะมีช่องไว้ให้ตัวเองแอบเสพอยู่ มันจะเห็นได้ คนไปศึกษาก็ยังรับรู้ได้ว่าเขายังเห็นว่าการมีคู่นั้นมีข้อดีอยู่ นั่นแสดงว่าเขายังไม่ผ่าน เราก็รู้ว่า อ๋อ ฐานเขายังไม่ถึงตรงนี้