ไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร?

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วชีวิตมันจะดีขึ้นอย่างไร ในเมื่อความรู้เดิม ๆ ที่เคยได้รับมาเนื้อสัตว์ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งดีเสียด้วยซ้ำ แล้วการเลิกเสพสิ่งที่สังคมเข้าใจว่าดีนั้น มันจะดีได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ที่ผมเคยพิมพ์ผ่านหลาย ๆ บทความมา ก็แจกแจงข้อดีในการเลิกกินเนื้อสัตว์ ข้อเสียในการกินเนื้อสัตว์มาก็มากก็มาย มาวันนี้เรามีเนื้อหาโดยสรุปจากอาจารย์หมอเขียว ให้เข้าใจได้ง่าย กับข้อดีของการเลิกกินเนื้อสัตว์ ที่ดีอย่างยิ่ง 3 ประการ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ลองรับชมกันดูเลย

อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง

แกงฟักทอง

แกงฟักทอง

แกงฟักทอง

ก็ไม่รู้จะตั้งชื่ออะไรเหมือนกัน ก็เอาของที่มีใส่ไป แล้วต้มรวมกัน…

ช่วงก่อนหน้านี้เป็นฤดูร้อนที่อากาศหนาว ก็เลยทำอาหารที่มีพลังความร้อนหน่อย คือจะต้มแล้วใส่พริกไทย

ก็เอาฟักทองมาต้มแล้วยีให้เละ เอามะเขือเทศลงไป เอาใบไชยาใส่ลงไป ปรุงให้พอเหมาะ ปิดฝา แล้วก็รอให้สุก

กินเข้าไปก็ช่วยคลายความเย็นในร่างกายได้ดี ถ้าอากาศร้อนจะกินแบบนี้ไม่ได้ เพราะกินแล้วจะร้อนไปทั้งตัว

ซึ่งเมนูนี้ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเหมือนกัน ก็ผักต้มเปื่อยใส่พริกไทย แต่จะสรุปเรียกว่าแกงฟักทองแล้วกันนะ

ผัดวอเตอร์เครสใส่เห็ดออรินจิ

ผัดวอเตอร์เครสใส่เห็ดออรินจิ

ผัดวอเตอร์เครสใส่เห็ดออรินจิ

ถ่ายมาสามรูป ตั้งแต่เก็บยอดมันมา เอามาเด็ดใบออก สุดท้ายก็เอาไปผัด จากที่ล้นภาชนะก็เหลือแค่นิดเดียวเอง

ในวันหนึ่ง ๆ ผมจะกินกับข้าวไม่หลากหลาย แต่อาหารโดยรวมจะหลากหลาย ที่แน่ ๆ จะมีถั่วหลายชนิด ข้าว และกับข้าว ซึ่งจะเป็นผักสดบ้าง ผักที่ปรุงบ้าง และมีผลไม้บ้างในบางวัน

การกินผักน้อยชนิด จะให้พลังและความเสถียรของกำลังมากกว่า เพราะร่างกายย่อยชนิดเดียว เหมือนกับเรามีงานอยู่แบบเดียว ทำไม่นานก็จบ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเยอะ

แม้จะกินวันละไม่กี่อย่าง แต่ก็จะไม่กินซ้ำกัน สลับกันไป ซึ่งจากที่ทดลองดูก็ยังมีพลังทำงานทุกวัน ทั้งงานหนักงานเบา งานใช้แรง งานใช้สมอง มันก็ไปได้หมด

ช่วงหลัง ๆ เริ่มจับอาการได้ว่ากินผักที่ปลูกเองจะให้พลังงานมากกว่าผักที่ซื้อมาจากตลาด ผัดตลาดเหมือนจะหมดกำลังไวกว่า คือมันจะออกอาการเบื่อ ๆ เพลีย ๆ ล้า ๆ ถ้ากินผักที่ปลูกเองและปรุงได้ถูกสมดุลร่างกายจะไม่มีอาการเหล่านี้

อย่างเมนูที่ทำในวันนี้เป็นเมนูทดลอง ว่าถ้าเอาวอเตอร์เครสมาผัดแบบผัดผักทั่วไปนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร พอดีมีเห็นออรินจิเหลือจากที่ซื้อมาทดลองทำอาหารบางอย่างวันก่อนก็เลยใส่ไปด้วย ไม่มีนัยสำคัญอะไรหรอก ก็แค่ใส่ไปให้มันหมด ๆ เท่านั้นเอง

สรุปว่า เมนู “ผัดวอเตอร์เครส” ก็จะเป็นเมนูที่เอาไว้ใช้รับแขกอีกหนึ่งเมนู เพราะว่ากินได้ง่าย ไม่ได้มี รูป สี กลิ่น รส สัมผัสที่มันทำให้รู้สึกแปลก ๆ ในการกินแต่อย่างใด กินไปก็คล้าย ๆ เด็ดแต่ใบของผักบุ้งมาผัดนั่นแหละนะ

ไชยากินสด

ไชยา-กินสด

ไชยากินสด

ชายา (chaya) หรือที่เรียกกันว่าไชยาบ้างก็ดี เป็นพืชที่กินได้ทั้งสดและนำไปปรุงอาหาร

ผมค้นหาข้อมูลอ้างอิงของ chaya นี้ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน และที่สำคัญคือเขาว่ามันมีคุณค่าทางอาหารเยอะพอตัวเลย

จากที่ลองกินสด ก็มีพลังดี กินไป 6-8 กิ่งก็ยังสบาย มีข่าวว่าหลายคนกินสดแล้วมีอาการแพ้ ผมมีข้อสังเกตในการเลือกกินสด คือ เลือกใบอ่อนจากต้นที่ปลูกในร่มและให้น้ำเยอะเป็นประจำ จะกินสดได้ดี ไม่พบอาการระคายเคือง

แต่ถ้าไปกินต้นที่ปลูกกลางแดด นาน ๆ ให้น้ำที หรือว่าให้โตตามแดดตามฝน ก็อาจจะพบอาการระคายเคืองได้ อันนี้ลองแล้วค้นพบตามนี

หรือถ้าใครกังวลจะเอาไปลวกก่อนก็ได้ ทั้งนี้จากที่เคยเลือกกินสดมา พบว่าถ้าเลือกกิ่งที่เหมาะจากต้นที่ควร กินแล้วก็จะมีพลังและไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ในทางลบ

สรุปคือ แม้จะเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่ปลูกต่างที่ต่างวิธี ก็จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป เราก็ควรจะเลือกใช้ให้เหมาะ

อ้างอิงชายา

http://www.getnativ.com/chaya-plant-mayan-super-green/

http://www.eattheweeds.com/chaya-the-spinach-tree/

http://www.mexconnect.com/articles/982-chaya-the-maya-miracle-plant

http://heart-institute.org/an-introduction-to-chaya/

มะเขือเทศกินสด

มะเขือเทศกินสด

มะเขือเทศกินสด

พอลองปลูกมะเขือเทศจนได้ผล ก็เอามาประกอบอาหารต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่เคยได้ลองกินสดสักที ก็เลยเอามาลองกินแบบมะเขือเทศกินสดกัน

ปกติแล้วมะเขือเทศที่เห็นขายในห้าง ก็จะมีสองแบบ คือแบบที่เหมาะกับการนำไปประกอบอาหาร กับแบบที่ผลิตมาเพื่อกินสด อย่างเช่น มะเขือเทศตระกูลเชอรี่ เป็นต้น

แต่นี่เราก็เอามะเขือเทศบ้าน ๆ มากินแหละ พันธุ์อะไรไม่รู้ ก็คล้าย ๆ พันธุ์ท้ออยู่บ้าง ระบุไม่ได้เหมือนกันเพราะซื้อมาจากตลาดต่างจังหวัด ถุงหนึ่ง 10 บาท มันก็ปน ๆ กันไม่ได้มีพันธุ์เดียว เรียกว่าพ้นธุ์ท้องถิ่นแล้วกัน

ก็เห็นผลสุกแดงก่ำ เลยเอามาลองกินลูกหนึ่ง ก็กัดกินแบบผลไม้ทั่วไปเลย มันก็อร่อยดี อีกลูกหนึ่งก็เอามาปาดแล้วจัดให้มันดูดีนิดหน่อย วางเกลือโปะไว้ข้าง ๆ เพราะสังเกตว่ามะเขือเทศกินผลเขามักจะแถมพริกเกลือให้ แต่นี่พริกเราไม่มี เอาแต่เกลือแล้วกัน สรุปว่ารสดี ไม่ได้เปรี่ยวขนาดนั้น จะเรียกว่าอย่างไรดี คือมันไม่ได้เปรี้ยวแบบที่คิด สัดส่วนความเปรี้ยวนี่มันนิดเดียว หวานเยอะกว่านะ

ก็เลยได้ประสบการณ์กินมะเขือเทศสดเพิ่มขึ้น คือไม่จำเป็นต้องกินลูกเล็กก็ได้ กินลูกใหญ่ก็ได้เหมือนกัน จริง ๆ จะเรียกว่าลูกใหญ่ก็ไม่ถูก เพราะถ้าเทียบกับพันธุ์ที่ใหญ่ในตลาด ลูกนี้ก็ยังเล็กอยู่ดีนั่นแหละ

ผัดยอดตำลึง

ผัดยอดตำลึง

ผัดยอดตำลึง

วันก่อนค้นข้อมูลเกี่ยวกับตำลึง ที่เขาว่ามีตัวผู้ตัวเมีย แล้วก็เจอว่า ยอดตำลึงนี่เอามาผัดได้เหมือนกัน

ก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับผม เพราะแต่ก่อนจะคิดว่ายอดตำลึงนี่จะอยู่แค่พวกเมนูต้มหรือไม่ก็เอามาเป็นผักลวก ไม่ค่อยได้เห็นเอามาทำแบบอื่น

พอดีว่าตอนนี้ตำลึงที่ปลูกอยู่ก็เป็นพุ่มใหญ่ทีเดียว น่าจะพอผัดกินได้หนึ่งมื้อ ก็เลยลองเอามาผัดตามสูตรสากลดู คือใส่พริกกับกระเทียม เพื่อดูว่าทำออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร

สรุปว่ามันก็กลายเป็นผัดผักที่น่าจะเอาไว้รับแขกได้อีกเมนูหนึ่ง คือถ้าคิดอะไรไม่ออกก็เอายอดตำลึงนี่แหละมาผัดให้เขากิน เพราะมันก็กินได้ อาจจะไม่ดีไม่คุ้นเคยเท่าผักบุ้ง แต่ผมว่ามันก็ดีนะ

ส้มตำ กับวัตถุดิบที่ปลูกเอง

ส้มตำ

ส้มตำ กับวัตถุดิบที่ปลูกเอง

วันก่อนลองทำส้มตำอีก เป็นสูตรแบบที่เขาใส่ทั่วไป เพื่อทดลองและเรียนรู้อะไรบางอย่าง

พอทำเมนูหนึ่งก็จำเป็นต้องกินหลายวัน เพราะวัตถุดิบมันเยอะ แต่พอหลายวันก็มีเน่าเสียไปบ้างก็มี เช่น มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว

ก็เลยไปหาวัตถุดิบในสวนว่าพอจะมีอะไรบ้าง ก็มีมะเขือเทศสองลูก ลูกหนึ่งสุกอีกลูกเขียว ลูกหม่อน ถั่วพุ่ม ก็เอามาใส่ส้มตำ

แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ส้มตำนี่จริง ๆ เป็นเมนูจากของใกล้ตัวทั้งนั้นเลยนะ ตอนนี้ยังขาดมะละกอ มะนาว พริก กระเทียม ที่ยังไม่โตบ้าง ยังไม่ได้ปลูกบ้าง แต่ถ้าปลูกครบก็ไม่ต้องวิ่งออกไปหาที่ไหน เก็บกินเอาได้ในสวนนั่นแหละ

หลังจากใส่หม่อนไป ผมเพิ่งจะสังเกตว่าคนเราต้องการเสพรสที่หลากหลาย อย่างรสเปรี้ยวนี้เขาไม่ได้ต้องการเปรี้ยวเดียว ส้มตำนี้มีสามเปรี้ยว คือเปรี้ยวจากมะขามเปียก เปรี้ยวจากมะเขือเทศ เปรี้ยวจากมะนาว และที่ผมใส่ยังไปได้เปรี้ยวจากลูกหม่อนอีก

มันต้องหลากหลายไปไหน เปรี้ยวเดียวไม่ได้หรอ? เดี๋ยววันหลังจะลองเปรี้ยวเดียว ส่วนเค็มหวาน เผ็ดในส้มตำนี่ไม่ค่อยหลากหลายอยู่แล้ว แต่อาจจะมีบางที่เขาทำหลากหลายนะ อย่างในบางเมนูอาหารพริกแห้งก็ต้องมี พริกสดก็ต้องใส่ ความหลากหลายเหล่านี้คนเขาก็เรียกว่าอร่อย แต่ผมว่ามันเป็นความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนะ

ผักนึ่งสามอย่าง

ผักนึ่งสามอย่าง

ผักนึ่งสามอย่าง

อาหารช่วงที่กินก่อนหน้านี้ เป็นช่วงที่เขาว่าอากาศร้อนที่สุดช่วงหนึ่ง ดังนั้นอาหารเลยปรับไปตามอากาศ

เป็นสัปดาห์ที่ผมแทบจะไม่ได้แตะอาหารที่ใส่น้ำมันเลย วนเวียนอยู่กับผักนึ่ง ผักต้ม ผักสด วันนี้มีเยอะชนิดหน่อย คือสามชนิด ปกติจะน้อยกว่านี้ ก็เอาเท่าที่กินทั้งหมดจัดใส่จานให้ดู จานมันเล็ก มันก็ล้น ๆ หน่อย

ผักที่มีก็มีฟักทอง ไชยา ตำลึง กินแค่ผักนึ่ง ข้าว แล้วก็ถั่วต้ม ก็อยู่ได้ทั้งวัน กินแบบนี้เป็นอาทิตย์น้ำหนักหายไปหลายกิโล เพราะไม่มีน้ำมันเหมือนเดิม

หน้าร้อนก็แบบนี้ ก็ต้องเอาน้ำหนักส่วนเกินออก แต่ไม่นานนักฝนก็ตกลงมา อากาศเย็นจนรู้สึกหนาว ก็ต้องกินของมัน ๆ หรือกินเพื่อไปเพิ่มน้ำหนักตัวบ้าง ไม่งั้นมันจะหนาวจนทรมาน มันจะอยู่ไม่ไหว ปรับร้อนปรับเย็นไปแบบนี้ตามสภาพอากาศ เราปรับตามอากาศ ไม่ใช่ให้อากาศปรับตามเรา ถ้าให้อากาศปรับตามเราเช่นเปิดแอร์มันก็จะเปลือง แถมยังทำให้เราอ่อนแออีกด้วย

เมล็ดฟักทองญี่ปุ่น

เมล็ดฟักทองญี่ปุ่น

เมล็ดฟักทองญี่ปุ่น

ซื้อฟักทองญี่ปุ่นมา กะจะเอาเมล็ดมาปลูก เพราะด้วยเหตุที่ว่า ผลของมันมีผิวเกลี้ยง ทำความสะอาดได้ง่าย กว่าฟักทองทั่วไป

พอเอาผลมากินก็เหลือเมล็ด ส่วนหนึ่งก็แบ่งไปปลูก ส่วนหนึ่งก็ลองเอามาคั่วกิน มันไม่เหมือนเมล็ดฟักทองทั่วไป คือเมล็ดฟักทองญี่ปุ่นนั้นหนากว่า เปลือกนั้นหนาถึง 1 มิลลิเมตรเลยทีเดียว ต้องกัด แกะ กะเทาะเอาถึงจะได้กิน ไม่เหมือนเมล็ดฟักทองทั่วไปที่เคยคั่ว กินทั้งเปลือกได้เลยเพราะเปลือกมันบาง

แล้วเวลาคั่วนี่ก็ยากกว่าเพราะเปลือกมันหนา มันจะไม่แตกแล้วกระเด้งไปมาเหมือนฟักทองทั่วไป แต่มันจะระอุ สุกอยู่ข้างใน ดังนั้น จะคั่วให้ถึงขั้นเปลือกแตกก็คงจะสุกจนแห้งเกินไป ต้องคอยสังเกตมากกว่าเมล็ดฟักทองทั่วไป

พอรวมองค์ประกอบเรื่องการคั่วเมล็ดกินด้วยแล้ว การปลูกฟักทองญี่ปุ่นนั้นมีน้ำหนักลดลงไปทันที ไปหาพันธุ์ฟักทองไทยที่ผิวมันเรียบ ๆ มาเพาะดีกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็เก็บไว้ชุดหนึ่ง ซื้อฟักทองมาจากตลาด ผิวเรียบดี เดี๋ยวก็คงปลูกและคัดพันธุ์ไปเรื่อย ๆ

ต้มจืดฟัก

ต้มจืดฟัก

ต้มจืดฟัก

ผมเคยทำต้มจืดฟักมาครั้งหนึ่ง จุดประสงค์คืออยากจะลองใช้ฟักทำอาหาร คราวก่อนก็ไม่มีอะไรมาก มีฟัก เกลือ น้ำตาล ใบวอเตอร์เครส แค่นี้

แต่พอลองทำไปก็สงสัยว่ารสแบบที่เขาทำกันนี่เป็นยังไง ใส่สามสหาย คือ กระเทียม พริกไทย รากผักชีแล้วมันเป็นยังไง ผมไม่ค่อยได้ทำต้มจืดเลยไม่รู้ รู้แต่ปกติเขาใส่กัน สุดท้ายก็เลยซื้อมาลองให้หายสงสัย

สรุปกินไปแล้วเหมือนไม่ดีเท่าตอนแรก รสจัดกว่าก็จริง แต่กลายเป็นว่าหิวเร็วกว่าเดิม รู้สึกไม่อยู่ท้อง ทั้ง ๆ ที่ปริมาณอาหารก็เยอะกว่าครั้งก่อนที่ลอง

ต้มฟักหม้อหนึ่ง ผมจะกินได้สองวัน วันหนึ่งกินเป็นกับข้าว อีกวันก็ใส่ข้าวลงไปต้มพร้อมอุ่นเลย กลายเป็นข้าวต้มฟักนั่นแหละ

ทุนฟักลูกหนึ่งก็ตก 10-15 บาท แบ่งกินได้สองวันแบบนี้ ก็ตกค่าผักเพียงแค่ 5 – 8 บาทต่อวันเท่านั้น ส่วนจะเติมจะเสริมอะไรก็แล้วแต่เหมาะสม ถ้าเสริมแล้วมันดีก็เสริม แต่ถ้าไปซื้อกระเทียม ผักชี (พริกไทย มีอยู่แล้ว) มาเติมแบบคราวนี้ ก็ดูจะกลายเป็นสิ่งเปลืองเงิน และเสียสุขภาพไปในตัว มันอาจจะเหมาะกับช่วงที่หนาวมากกว่านี้ก็ได้ ถ้าอากาศแบบตอนนี้เติมฤทธิ์ร้อนมากไปก็คงจะเกิน