เรียนรู้การสอนจากอาจารย์

การที่เราได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้ฟังความคิดเห็นของท่าน ได้พูดคุย ได้ซักถาม ได้ทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เลิศยอดที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะพึงมีได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในอนุตริยสูตร

ผมเคยได้เห็นหลายลีลาการสอนของอาจารย์ทั้งแบบปกติ จริงจัง ดุ ปล่อยวาง ทำเฉย ฯลฯ แต่ละครั้งก็เป็นสิ่งที่ประทับไว้ในใจ เพื่อการเรียนรู้และประโยชน์ของศิษย์

ครั้งนี้ไปค่ายพระไตรปิฎก สิ่งพื้นฐานที่ได้เรียนก็คือภาคทฤษฎี แต่ค่ายนี้จะมีภาคปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นมา คือกิจกรรมการทำบาราย ซึ่งต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการทำ

ภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้แสดงให้ได้เห็นและเรียนรู้อยู่เสมอ ผมไม่แปลกใจที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาและมาร่วมเสียสละเช่นนี้

ระหว่างที่ร่วมพูดคุยงานในส่วนวิชาการและสื่อ อาจารย์ได้เดินมาทักทาย และพูดคุย มีเนื้อความตอนหนึ่งประมาณว่า “การสอนงานคนนี่แหละจะทำให้บรรลุธรรมเร็วที่สุด” เนื้อหาขยายหลังจากนั้นคือการสอนนี่จะได้พบกับความไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เพ่งโทษกันไปกันมาระหว่างนักเรียนกับคนสอน ก็จะมีโจทย์ให้ได้ฝึกล้างใจกันไป

มาถึงตอนเย็น ผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนาม ทำบาราย ขนอิฐและเศษวัสดุ ลงในร่องน้ำ

ซึ่งตรงนั้นก็มีท่อน้ำที่เชื่อมระหว่างถนนสองฝั่ง อาจารย์ก็บอกให้เอาหินก้อนใหญ่ไปกันปากท่อไม่ให้มีเศษหินเล็ก ๆ หล่นเข้าไป

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าวางหินอย่างไร เพื่อที่จะได้ผลนั้น อาจารย์ก็มาวางให้ดู เราก็ทำตาม…

ผ่านไปสักครู่เล็ก ๆ ระหว่างลำเลียงหินและเศษวัสดุมาถม ผมก็ลืมไปเลยว่าเคยเอาหินไปวางบังปากท่อ ว่าแล้วก็เอาพวกเศษปูนที่รับมาทุ่มลงไป หมายจะให้เศษแผ่นปูนแตกละเอียด เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาตามทุบกันทีหลัง …อาจารย์เห็นดังนั้นก็ทักอย่างปกติประมาณว่า ค่อย ๆ วางก็ได้นะ เพราะแผ่นหินที่วางกันปากท่อไว้แตกหมดแล้ว

พอได้ยินดังนั้น เราก็นึกได้ ลืมสนิทว่าเคยทำไว้ ว่าแล้วก็ค่อย ๆ รื้อมาทำใหม่ วางให้ดีกว่าเดิม

… ดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม แต่ผมได้เรียนรู้อย่างมากมาย เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า การสอนคนต้องทำอย่างไร

นี่ขนาดผมทำลายสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ท่านก็ยังเฉย ๆ ยังเบิกบานได้อย่างปกติ แล้วก็ยังสามารถบอกสิ่งดีกับผมได้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยวางให้มันพังไปอย่างนั้น เป็นความสงบเย็นที่จะรับรู้ได้เมื่อได้ทำงานร่วมด้วย

ตอนที่จัดหินใหม่ให้เข้าที่ ผมก็ระลึกว่า เราก็ต้องใจเย็นแบบอาจารย์นี่แหละ ทำให้ได้แบบอาจารย์นี่แหละ แม้เราจะบอกจะสอนเขาไปแล้ว เขาทำไม่ได้ เขาทำผิด เขาทำพัง เราก็ต้องวางใจ แล้วก็ทำดีบอกสิ่งดีกับเขาไปเรื่อย ๆ ส่วนความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สอน มีเพียงการนำเสนอสิ่งดีเท่านั้นที่เป็นหน้าที่

สรุปก็ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี คือได้ฟังคำสั่งสอน และภาคปฏิบัติ คือทำให้ดู ให้เห็นเลยว่า ความดีนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะดีจริง ดีแท้ ดีไม่มัวหมอง (ความดีที่มัวหมอง คือดีที่มีอัตตา หรือมีความชอบ ความชังไปปน)