สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

ปฏิบัติธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ใช้วิถีการไหน มีเคล็ดลับอะไร?

มีคำถามมานะครับ คิดว่าถ้าเอามาตอบกันในนี้น่าจะได้ประโยชน์เยอะขึ้น

1.ผมเริ่มศึกษาธรรมะมาตั้งแต่ก่อนปี 50 ก็ยังเป็นธรรมะทั่วไปที่กระจายอยู่ในสังคม จนเมื่อปี 56 ได้คำตอบของการปฏิบัติลงตัว จึงได้เริ่มปฏิบัติจริงจัง จนชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลได้ชัด

2.การปฏิบัติธรรม ของผมนั้นใช้หลักอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ผมเชื่อว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีปัญญาในการคิด พูด ทำ ไม่ใช่หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ดังนั้นการปฏิบัติจะเกิดขึ้นในจิตเป็นหลัก ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการมุ่งเน้นไปที่การกำหนดรูปแบบทางร่างกาย

3.เคล็ดไม่ลับในการปฏิบัติของผมคือ มีอาจารย์ที่ถูกต้อง ถ้ามีอาจารย์ที่ถูกต้อง ทางที่ปฏิบัติมันก็ถูกต้อง

ตัวผมนั้นจะเอนเอียงไปในสายปัญญา ไม่ใช่สายศรัทธา ดังนั้น การที่ผมจะเชื่อหรือปฏิบัติตามใครได้นั้น เขาจะต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของผมได้ทั้งหมดโดยไม่แสดงอาการกิเลสใด ๆ เช่น โกรธ กลัว ตอแหล ฯลฯ หรือถามวัวตอบควาย คนจะเป็นอาจารย์ผมต้องชัด แม่นประเด็น รู้จริง มีปัญญาจำแนกธรรม เมตตาสั่งสอน และต้องทันความฉลาดของกิเลสผม ไม่งั้นก็เอาผมไม่อยู่เหมือนกัน

และไม่ใช่ว่าผมจะทดลองด้วยการถามลองเชิงกันครั้งสองครั้งแล้วจะรู้ มันต้องฟังเขามาก คุยกับเขามาก มันจะเริ่มรู้ว่าใครเป็นใคร โดยสัจจะมันจะรู้ของมันเอง เพราะกิเลสมันจะแพ้ธรรมะ ปัญญาน้อยกว่ามันจะแพ้ปัญญามากกว่า แล้วเราก็ไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเพื่ออวดดี เราปฏิบัติเพื่อเจริญ ดังนั้นอะไรที่ดีกว่าเราก็น้อมเข้ามาหาตัวเอง เราก็รับท่านที่เหนือกว่าเป็นอาจารย์เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะปิดทางศึกษาของตนเอง หลังจากได้พบครูบาอาจารย์ที่เชื่อว่าถูกตรงแล้ว ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลที่น่าพอใจแล้ว ก็ได้ออกไปศึกษาค้นคว้าภายนอก ศึกษาสำนักต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทั้งไทยและต่างประเทศ ศึกษาคนที่แสดงตนว่ามีดี จนกระทั่งผมค้นพบความจริงว่า ไม่มีหรอก ที่เขาจะสอนอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกตรงเหมือนอาจารย์ผม ที่ผมรู้เพราะผมปฏิบัติได้ผล เมื่อได้ผลก็จะรู้ว่า วิธีไหนได้ผล วิธีไหนไม่ได้ผล วิธีไหนได้ผลเป็นมิจฉา วิธีไหนได้ผลเป็นสัมมา มันมีความแตกต่างในรายละเอียดของการปฏิบัติอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา ไม่ละเอียดลึกซึ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะอริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต คาดเดามั่วเอาไม่ได้ คนชัดก็จะชัด คนไม่ชัดก็ปฏิบัติมัว ๆ เมา ๆ กันไปตามวิบากของเขา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องพบกับสัตบุรุษก่อน คือได้พบกับอาจารย์ที่ถูกตรงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรมที่ถูกและพ้นทุกข์ได้ ถ้าพบอาจารย์มิจฉา มันก็มัวเมาหลงทางเข้าป่าเข้าพงกันไปใหญ่ อันนี้คือเคล็ดไม่ลับ แต่ถ้ามองในสังคมมันก็เหมือนป่าแห่งความลับยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันมีอยู่ มันยังแสดงตัวอยู่ มันเปิดเผยอยู่ แต่คนไม่เข้าใจ นี่แหละความไม่ลับที่ลึกลับ

หนุ่มสาวเอย…

วันนี้ไปร่วมกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เห็นนักศึกษามากมาย ก็พลันคิดไปว่า…

เมื่อไหร่หนอที่เขาจะสุกงอม เมื่อไหร่ที่จะทุกข์จนเกินทน ชีวิตเกิดมาก็ต้องเล่นบทไปตามวิบาก ถ้าหมดวิบากกรรมแล้วอีกนานแค่ไหนจะได้เจอกับสัตบุรุษ(ผู้รู้ธรรม) ได้ฟังสัจธรรม ได้นำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ก็คงจะประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ได้ในวันใดวันหนึ่ง

ว่าแล้วก็กลับมาคิดถึงตัวเอง กว่าจะมาเจอธรรมะจริง ๆ ก็ 29 ปี แม้ก่อนหน้านั้นจะศึกษามาบ้าง แต่ก็ล้วนแต่เป็นมิจฉาธรรม หรือไม่ก็ธรรมที่ไม่ครบพร้อม ขาด ๆ พร่อง ๆ เอาไปใช้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ไม่แตกฉาน ไม่ชัดเจน

กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโต กว่าจะเรียนจบมันใช้เวลานานมาก ประมาณ 20 กว่าปี ไหนจะต้องดิ้นรนแสวงหาอีก พอได้มาก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมากับลาภ ยศ อำนาจ อิสระ ฯลฯ ที่ได้มาจากความสามารถที่ตนมี เรียกว่าคงสนุกกับการหาเงิน หาความก้าวหน้า หรือไม่ก็วนเวียนอยู่กับการหาคู่อยู่หลายปีเลยล่ะ

แม้ว่าเราจะมีจิตที่เต็มใจจะช่วยเหลือคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเหลือใครได้ถ้าเขาไม่ทุกข์ การที่เขาไม่รู้สึกถึงทุกข์ ไม่ได้หมายความเขาไม่มีทุกข์ เขาอาจจะมีทุกข์ก็ได้ เพียงแต่เขาไม่มีปัญญารู้จักทุกข์นั้น ๆ เราก็คงต้องปล่อยให้ทุกข์งอม(สุกงอม)เสียก่อน

คือปล่อยให้เขาใช้ชีวิตของเขาให้ทุกข์ให้เต็มที่เลย ให้มันทุกข์จนรู้สึกทนไม่ไหว เขาถึงจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วถึงวันนั้นถ้าได้เจอกันก็ค่อยว่ากัน ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่เจอมันก็ไม่ใช่งานของเรา

เหมือนกับเรื่องคู่ ที่ผมค่อนข้างปล่อย อย่างเก่งก็แค่พิมพ์บทความออกไป สุดท้าย ใครเขาจะไปมีคู่ เพราะเขาเชื่อว่าไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยกว่าทนอยู่เป็นโสดมันก็เรื่องของเขา เขาก็ต้องรับทุกข์ของเขาในท้ายที่สุด เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้ไปทุกข์กับเขาด้วย ไม่ได้ยึดว่าเขาต้องได้ดีดังใจหมาย เพราะเขาก็เป็นของเขาไปแบบนั้นแหละ บางทีเราก็ได้แต่ดู ได้แต่ดูก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะถ้าการช่วยเขาคืองานของเรา เราก็จะได้ทำ แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็จะไม่ได้ทำนั่นเอง ง่ายจัง

ชีวิตหนึ่งเกิดมาเรียนรู้ และแม้ว่าสุดท้ายจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำความเจริญอะไรให้แก่ตน ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับผู้อื่น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า โมฆะบุรุษ คือคนที่เกิดมาเสียของ เบิกกุศลกรรมมากินใช้ไปวัน ๆ เป็นพวกกินของเก่า ไม่สร้างใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า พวกชิงหมาเกิด ซึ่งผมก็คิดว่าประมาณนั้นแหละ อ่านแล้วอาจจะว่าแรง แต่มันก็จริง เพราะเกิดมาแล้วขาดทุน ทำแต่เรื่องขาดทุน ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง ไม่เป็นประโยชน์กับใครอย่างแท้จริง เกิดมาใช้ทรัพยากรโลก แก่งแย่งมาเพื่อกิเลสตน สุดท้ายทั้งชีวิตก็เบียดเบียนชีวิตอื่นมาบำเรอตน เอาวิญญาณหมานิสัยดีเกิดมาแทนยังจะดีกว่า