บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย

วันที่สองของการเดินทาง สำหรับในบทความนี้เป็นบทความในช่วงบ่ายของวันที่สอง หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมตามแต่ละบ้านมาแล้ว เรื่องราวของตอนนี้เราก็จะมาแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ

10 พฤษจิกายน 2555 เวลา บ่าย 3 โมง

จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง
จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง

เราเดินทางจากบ้านของแม่แต๋นมายัง ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญนะครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานเท่าไรนัก สำหรับบ้านผมนั้นมาถึงเป็นกลุ่มแรกเลย ก็เลยได้มีเวลาเดินเล่นชมสถานที่ได้มากหน่อย ตากล้องทีวีบูรพาแดดในวันนี้ก็แรงดีทีเดียวครับ แดดดีแบบนี้เหมาะแก่ฤดูการเกี่ยวข้าวมากครับ เพราะถ้าฝนตกในช่วงข้าวสุกแบบนี้จะทำให้ข้าวเสียหาย ทำให้เกี่ยวยาก ซึ่งก็ให้ผลเสียมากมายตามมาครับ การป้องกันก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากเกี่ยวให้ไวหรือภาวนาเท่านั้นเอง

สำหรับการมากับทีวีบูีรพา ก็จะมีการเก็บภาพเป็นระยะๆ นะครับ เพราะเป็นรายการทีวีละนะ ก็จะมีกล้องผ่านเรามาเป็นระยะๆเหมือนกันดังนั้นกล้องผ่านมาก็ต้องทำตัวธรรมชาติแบบกึ่งดูดีกันหน่อย เผื่อเขาจะได้เก็บภาพไปใช้ได้ครับ เห็นตากล้องแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ต้องไปรอไปเตรียมถ่ายก่อนตลอดไม่งั้นก็เก็บภาพไม่ได้ทั้งร้อนทั้งหนัก แต่ก็เป็นงานละนะ

เห็ดฟางใหญ่ๆ

อาหารที่เรากินแต่ละมื้อนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้นครับ ทั้งคุณภาพ ปริมาณและความปลอดภัยนั้น ถ้าเอาราคาไปเทียบกับราคาในกรุงเทพ การเดินทางมาในครั้งนี้คงได้กำไรตั้งแต่อาหารที่กินแล้วครับ อย่างเห็ดในรูปด้านบนนี่ก็มีแต่ขนาดใหญ่ๆ

น้ำข้าวกล้องงอก
น้ำข้าวกล้องงอก

แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ปลูก ขนาดของเห็ดจะเป็นตัวกำหนดราคาครับ สำหรับที่เคยเห็นในตลาดยังไม่ค่อยเห็นมีขนาดใหญ่เท่าที่นี่เลยครับ

บ่ายๆแบบนี้หลายคนคงจะยังอิ่มกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงก็มีน้ำข้าวกล้องงอกให้ดื่มกันให้สบายท้องมากยิ่งขึ้นครับ น้ำข้าวกล้องงอกสดใหม่นี่หากินในกรุงเทพยากมากครับ เดินไปตามตลาดเช้าทั่วไปนี่ไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่หมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้อะไรประมาณนี้เท่านั้นเอง นี่ถ้าได้ดื่มทุกเช้าคงจะดีมาก เพราะได้ทั้งคุณค่าและพลังงานช่วยทำให้หิวช้ากว่าเดิมได้ดีมาก จากเดิมที่ก่อนเวลาพักก็จะอยู่ต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ
เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ

หลังจากหลายๆบ้านมาถึงที่หมายกันจนครบแล้ว ก็เข้าถึงกิจกรรมต่อไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ไปที่มาของข้าวคุณธรรม ชาวนาคุณธรรม เครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา การเริ่มต้นต่างๆถูกเล่าผ่านชาวนาคุณธรรม คุณอดุลย์ พาณิชย์ (ฉายารึเปล่าไม่แน่ใจ) ร่วมกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ที่มาเล่าเรื่องราวให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้เรื่องราวและต้นกำเนิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบัลดาลใจ รวมถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้น ผมได้ฟังแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเนื้อหาผมแนะนำให้ตามไปอ่านในนิตยสาร ฅ ฅน นะครับ พี่เช็คบอกว่าเขียนไว้ด้วย ซึ่งอาจจะลองสอบถามกับทางทีวีบูรพาก็ได้

เหตุผลที่ผมไม่อยากเล่าในบล็อกแห่งนี้เพราะเนื้อหามันค่อนข้างจะแน่น และผมเองก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างอาจจะปะติดปะต่อขาดๆเกินๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงประเด็นกันไปได้ครับ ยังไงถ้าอยากรู้ต้องถามจากแหล่งที่มาที่แนะนำไปข้างต้นครับ

ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง
ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง

หลังจากที่ทราบที่มาและความเป็นไปรวมถึงอนาคตที่คาดหวังร่วมกันแล้ว ก็ได้พากลุ่มสมาชิกเดินชมพื้นที่ครับ ก็มีโรงสี โรงบรรจุ วิถีชีวิตรอบๆ ครับ เป็นการแนะนำกระบวนการผลิตในเบื้องต้นให้กลุ่มสมาชิกได้รับรู้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามบ้านสมาชิกชาวนาคุณธรรมเพื่อ อาบน้ำอาบท่า จัดการธุระส่วนตัวก่อนจะมาทานข้าวเย็นครับ สำหรับค่ำนี้ผมได้พักกายในบ้านของพ่อประมวลครับ เมื่อถึงที่พักก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากอาบน้ำคุยกับสมาชิกใหม่ในบ้าน

ลืมบอกไปว่าการพักในแต่ละวันจะเปลี่ยนสมาชิกในบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้นครับ สำหรับผมก็เป็นคนอยากรู้ก็เลยชอบถามอะไรเยอะแยะตามประสาครับ แบบว่าคิดไปเองในสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัวจะพลาดถามกันง่ายๆเลยจะดีกว่า

แบ่งปันความรู้สึกหลังจากอาบน้ำอาบท่าเราก็จะมารวมกินข้าวเย็นร่วมกันครับ มื้อนี้อร่อยเหมือนเคยครับ การเดินทางครั้งนี้ไม่มีคำว่าท้องหิวครับ มีแต่คำว่า “กินอีกแล้วหรอ” , “ยังอิ่มอยู่เลย” อะไรประมาณนี้ เขาเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดีตามวิถีของชาวนาคุณธรรมครับ

หลังจากทานข้าวกันเสร็จแล้วก็จะมาไหว้พระฟังธรรมกันครับ โดยหลวงพ่อจากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ(ถ้าจำผิดพลาดขออภัยครับ) การฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสายวัดป่านั้นเป็นธรรมที่เป็นธรรมดา เป็นการพูดกันธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธเจ้านั่นคือหากไปเทศน์ที่ไหน ให้เทศน์ภาษาของที่นั่น ให้คนได้เข้าใจ ประมาณนี้ครับผิดพลาดประการใดรบกวนชี้แนะผมด้วยนะ และก็มีกิจกรรมแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละบ้าน ประกอบภาพกันครับ หลายๆบ้านก็ออกมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ จะมีความต่างก็นิดหน่อยตามสภาพพื้นที่ของแต่ละบ้านครับ สำหรับบ้านผมก็เ้ป็นบ้านสุดท้ายก็ออกไปเล่าแบบงงๆ ครับ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องปะติดปะต่อกับเพื่อนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ความแตกต่างที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ข้าวหลามเผาสดใหม่
ข้าวหลามเผาสดใหม่

ต่อจากเล่าประสบการณ์ในแต่ละบ้านกันแล้วก็จะมีพิธีเทียนและผูกข้อมือโดยพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมครับ ซึ่งก็เป็นพิธีที่ค่อนข้างมีผลทางใจมากทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆท่านได้พูดสิ่งที่คิดหรือความในใจออกมาให้เพื่อนๆได้รับฟังกันถือเป็นการแบ่งปันความรู้สึกที่ดีครับ และพรจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ถือเป็นพรที่ดีด้วยเก็บกลับบ้านไปเป็นแรงผลักดันและกำลังใจกันได้มากมายเลยทีเดียว

หลังจากแบ่งปันกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลากลับบ้านครับ สำหรับใครที่อยากคุยต่อก็จะมีข้าวหลามเป็นมื้อค่ำครับ สำหรับผมก็รอกินข้าวหลามกับเขาอยู่เหมือนว่าแตกต่างกับที่เคยกินมากขนาดไหน ผลก็คือข้าวเหนียวนิ่มมากครับ เป็นข้าวหลามที่กินร้อนๆ จากกองไฟกันเลยทีเดียว

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ในมุมมองของผมนั้นทีเด็ดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ กลางวงสนทนาเกลอเมืองเกลอทุ่งครับ วงนี้บอกตรงๆว่ามีแต่ประสบการณ์ ความรู้ ปรัชญา แนวคิด อัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ บอกตรงๆว่าผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆมากมายจากวงนี้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราครับ ยังไงเราก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อกิจกรรมสำคัญในวันพรุ่งนี้อีกวันนั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ติดตามอ่านบทความต่อไปกันได้เลย

วันที่สองก็จบเพียงเท่านี้ อ่านวันสุดท้ายต่อได้ที่…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ธรรมชาตินั้นคือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้กับธรรมชาติคือการเรียนรู้และรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงแห่งความจริง ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

ผมเองเป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก จริงๆจะบอกว่าชอบปลูกต้นไม้มันก็ไม่ตรงเสียทีเดียว ต้องบอกว่าผมชอบมองอะไรที่มันเติบโตมากกว่า นอกจากต้นไม้แล้ว ยังจะมีอะไรที่เติบโตอย่างที่เราสามารถดูได้ทุกวันได้อีก หลายคนอาจจะบอกว่ามีสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมวนั่นไง แต่ผมก็ต้องตอบว่าบทมันก็ต่างไปจากปลูกต้นไม้ เพราะการดูแลสัตว์เลี้ยงกับการดูแลต้นไม้นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก และสุดท้ายผมก็เลือกมองการเติบโตของต้นไม้มากกว่า

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ต้นไม้นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมชาติ สัตว์ก็กินพืช คนก็กินพืช แล้วพืชกินอะไร? แสง น้ำ ความชื้น อากาศ ธรรมชาติของพืชเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป พืชในธรรมชาติอย่างป่า ภูเขานั้น มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงที่เป็นวัฏจักรและเกื้อหนุนกันระหว่างสิ่งมีชีิวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

การกำเนิดกับการเปลี่ยนแปลง

ผมเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างจากพืช หรือต้นไม้ ภาพที่ติดตาอยู่ตั้งแต่สมัยเด็กคือเมล็ดข้าวโพดที่ซื้อมาจากห้างแห่งหนึ่ง อยู่ในซองผักทั่วไป ผมเพาะลงที่หน้าบ้านเล็กๆ หยอดเป็นหลุม ไม่กี่วันต่อมา ต้นข้าวโพดน้อยๆทำให้ผมประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับขนาดของมัน ต้นข้าวโพดโตเร็วมากๆ แต่สุดท้ายความทรงจำก็จบลงแค่นั้น และมันคงไม่ได้โตต่อด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเติบโต

ในระหว่างที่มีการเติบโต ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเกิดขึ้น ผมเรียนรู้ได้จากไม้ประดับเช่น กระบองเพชร หรือบอนสีที่ผมเลี้ยง ทุกๆขั้นตอนของการเติบโต มีจังหวะ มีปัจจัย มีฤดู และมีสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้ต้นหนึ่ง ลองนึกดูว่าไม้ประดับเช่นกล้วยไม้ กว่าจะได้ดอกงามๆ ต้องให้สารเคมีกี่ชนิดกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเกิดจากมือของเราก็ได้ หรือจากธรรมชาติก็ได้เหมือนกัน

ผมสังเกตุว่าต้นไม้เองก็มีวัย เหมือนกับวัยของคนเรานี่แหละ วัยต้นกล้า วัยรุ่นของต้นไม้ วัยสืบพันธุ์ หรือต้นไม้ยืนต้นก็จะดำรงชีวิตไปเรื่อยๆจนกว่าจะอ่อนแอและตายไป

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ซากบนพื้นดิน

หลายครั้งที่ผมได้เห็นการตาย หรือการหยุดการเจริญเติบโตอย่างถาวรของต้นไม้ ผมเองเคยคิดว่าผมชอบการเติบโต แต่พอมามองการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายของต้นไม้แล้ว ผมกลับค้นพบเรื่องใหม่ที่ตัวเองไม่รู้ ซึ่งซ่อนอยู่ในใจของผมเอง ผมสนใจการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายนี้ด้วย

สรุปแล้วจริงๆ ผมเองคงจะชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรียกว่าชอบคงไม่ถูกตรงประเด็นนัก อาจจะเรียกได้ว่า ผมมักจะได้เรียนรู้จากการสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไม่ว่าจะร้ายหรือดี หรือจริงๆแล้ว คำว่าร้ายและดีนั้น คนเราคงตัดสินเอาเองตามผลประโยชน์ของตนมากกว่า บางทีการจากไปของบางสิ่งก็อาจจะดีก็ได้ บางทีการเกิดของอีกสิ่งก็อาจจะไม่ดีก็ได้ใครจะรู้ เพราะมันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละคนจริงๆ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนทีไ่ด้ประโยชน์ก็จะสนับสนุน คนที่เสียประโยชน์ก็จะต่อต้าน ซึ่งก็จะมีผลที่ตามมาอย่างแน่นอน ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ธรรมชาติเสียประโยชน์ล่ะ ผลที่ตามมาคืออะไร?

สวัสดี

มือเย็นปลูกต้นไม้ขึ้น

หลายๆคนคงจะเคยได้ยินคำว่ามือเย็น ที่มักจะใช้กับคนที่ปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็งอกงาม ผมก็เป็นอีกคนที่มักจะถูกเรียกว่าเป็นคนมือเย็น

คนมือเย็น หรือที่มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่าใช้เรียกคนที่มักปลูกต้นไม้ได้งอกงามดีว่า “คนมือเย็น” ตรงข้ามกับ “คนมือร้อน” ซึ่งจริงๆก็เป็นคำเรียกละนะครับ เพราะจริงๆแล้วบางทีคนมือเย็นก็อาจจะไม่ได้ปลูกต้นไม้ได้งอกงามอย่างที่เห็นเพราะกว่าจะงอกงามได้อย่างที่เห็นและเรียกกันว่ามือเย็น อาจจะผ่านซากต้นไม้ พรากมาหลายชีวิตแล้วก็เป็นได้

ในทางตรงกันข้าม คนมือร้อน เมื่อพบว่าปลูกต้นไม้แล้วตาย หรือไม่งอกงาม ก็จำกัดความว่าตนเองเป็นคนมือร้อน และจำไว้อย่างนั้น แล้วก็เลิกปลูก ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น…

มือเย็นปลูกต้นไม้ขึ้น

(อยากเริ่มต้นเป็นคนมือเย็นให้หัดเพาะต้นที่งอกง่ายๆเช่นถั่วงอก หรือในรูปก็จะเป็นกระถินครับ)

ตัวผมเองบอกตรงๆ ว่าไม่เชื่อในเรื่องของ คนมือเย็นหรือคนมือร้อน ผมเชื่อในความเป็นจริงมากกว่า คือคนเข้าใจในต้นไม้ที่ปลูกหรือไม่ ได้ดูแลต้นไม้ในแบบที่มันต้องการหรือไม่ เพราะจริงๆแล้ว ถ้าให้คนมือเย็นและคนมือร้อนใช้วิธีและดูแลแบบเดียวกัน ผลมันก็คงจะออกมาไม่ต่างกันนัก

สำหรับเรื่องของจิตใจผู้ปลูกนั้นมีผลกับต้นไม้หรือไม่ จากที่เคยรับรู้มาในหลายๆเรื่องราวก็ได้ยินว่ามีผลอยู่ซึ่งอาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ เช่นการเปิดเพลงให้ต้นไม้ฟัง(ฟัง?) ก็อาจจะให้ผลทางอ้อมคือคนดูแลอารมณ์ดีทำให้ดูแลต้นไม้ด้วยความละเอียดมากขึ้น ส่วนทางตรงก็น่าจะเป็นคลื่นเสียงมีผลกับการเติบโตของต้นไม้อะไรแบบนี้คงต้องใช้ข้อมูลงานวิจัยมาอ้างอิงละนะ ใครมีเวลาก็ลองค้นๆดูกันแล้วกันนะครับ

หรือกระทั่งเรื่องของคลื่นที่คนปล่อยออกมา ผมไม่แน่ใจในเนื้อหาแต่ก็เคยได้ยินมาว่าเมื่อเรามีความสุขจะส่งคลื่นออกมาแบบหนึ่ง แต่เมื่อเรามีความทุกข์ก็จะส่งคลื่นออกมาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการงอกงามของต้นไม้ก็เป็นไปได้ (แต่ผลกระทบคงไม่เยอะเท่าได้น้ำและแสงแดด…) เพราะต้นไม้ก็ใช้คลื่นของแสงในการสังเคราะห์พลังงานเหมือนกัน

สรุปว่าบางทีเรื่องมือร้อนมือเย็นนี่ผมคิดว่า คงจะเป็นเรื่องที่เราคิดไปเองเสียมากกว่า เพราะกว่าผมจะโดนเรียกว่าคนมือเย็นนั้น ผมทำต้นไม้ตายไปหลายต้นแล้วครับ…

ปริญญา

ห่างหายกันไปนานมากกับการพิมพ์บล็อกการอัพเดทบล็อกในหลายๆส่วนของผม ซึ่งก่อนหน้านี้มันนิ่งมากจนแทบจะเรียกได้ว่าหายไปเลยก็ว่าได้

ช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมาจนกระทั่ง ล่าสุดหนึ่งสัปดาห์ได้ผ่านไป ผมได้ไปปฏิบัติภารกิจอย่างหนึ่ง นั่นคือไปเรียนปริญญาโท เป็นการเรียนหาความรู้ใหม่ๆ หาประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในจังหวะที่มีโอกาสที่ดี

ผมเลือกเรียนบริหารธุรกิจจากกว่า 4 -5 ทางเลือกและเหตุผลที่ได้คัดมาแล้วด้วยน้ำหนักอันเหมาะสมและความเป็นไปได้จนถึงการใช้ประโยชน์จากมันในอนาคต จึงได้เลือกเรียนโครงการบริหารธุรกิจภาคค่ำ (YMBA) และเน้นเรียนเวลาค่ำหรือหลังพระอาทิตย์ตกนั่นเอง แม้ว่าโครงการจะมีวันเสาร์อาทิตย์ไว้เป็นตัวเลือก แต่ผมเลือกลงทะเบียนเพียงสาขาเดียวนั่นคือการจัดการวันธรรมดา

ปริญญา

ปริญญา

การเรียนนั้นผ่านมาร่วม 2 ปีกว่า ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจาก YMBA KU แห่งนี้ ซึ่งผมเองเป็นรุ่นที่ 20 และแต่ละรุ่น แต่ละสาขา แต่ละกลุ่ม ก็จะมีธรรมชาติที่แตกต่างกันไป แล้วแต่จะเลือกสรรตามใจ ตามธรรมชาติ

ปริญญาใบแรกของผมนั้นคือศิลปบัณฑิต (BFA) ได้มาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นศิลปะประยุกต์โดยเรียนรู้ทั้ง Fine Art และ Digital Art ควบคู่กันไปจนในที่สุดผมได้สำเร็จการศึกษาโดยมีทักษะหลักติดตัวหลายอย่างเช่น อนิเมชั่น การวาดภาพประกอบ และอื่นๆอีกมากมาย

ปริญญาใบที่สอง เป็นปริญญาโท ได้มาเป็นปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) จากโครงการปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจภาคค่ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เก่ามาประยุกต์เพราะโครงการนี้เขาต้องการประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 3 ปีก่อนเข้ามาสมัครเรียนได้ สิ่งที่ได้รับมาจากการเรียนบริหารธุรกิจคือการรู้โลกที่ไม่เคยได้รับรู้ ซึ่งแตกต่างกันไปกับตอนปริญญาตรีเมื่อครั้งเรียนศิลปกรรม เป็นการเติมเต็มจินตนภาพและความจริงให้สมดุลกันมากขึ้น

ถ้าจะเปรียบ…

ศิลปกรรมที่ได้เรียนรู้มาก็คงจะเป็นเหมือนวัตถุดิบ เป็นการปรุงอาหาร เป็นการจัดวาง เป็นส่วนผสม เป็นรสชาติ เป็นสิ่งที่จะขาย และบริหารธุรกิจก็คงจะเป็นสูตรอาหาร เป็นกระบวนการ เป็นการมองจากวัตถุดิบจนไปถึงปากของผู้บริโภค การดูแลผู้บริโภค การนำเสนออาหารใหม่ๆ การเข้าใจพฤติกรรมของผู้กิน รวมๆแล้ว ศิลปกรรม+บริหารธุรกิจก็คงจะเป็นสิ่งที่ทำให้การทำอาหารสักจานได้ผลมากกว่าความอร่อยนั่นเอง

เป็นการเปรียบเปรยง่ายๆ เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า “เรียนปริญญาโทแล้วได้อะไร” เป็นคำถามง่ายๆแต่ต้องฟังกันยาวๆ เพราะมันไม่ได้มีแค่ปริญญาโท มันต้องนับก่อนปริญญาโทด้วย เพราะว่าต้นทุนของแต่ละคนมาไม่เท่ากัน ดังนั้นเรียนแล้วได้อะไรคาดหวังในอะไร คงไม่มีคำตอบที่ครอบจักรวาล ซึ่งผมเองก็คงจะไม่ตอบง่ายๆเช่นกัน เพราะมันดูมักง่ายเกินไปที่จะย่อสิ่งที่เรียนรู้มา 2 ปี รวมกับประสบการณ์เกือบ 20 ปีก่อนหน้านั้นมาเป็นคำพูดสั้นๆ ให้คนเข้าใจ

สำหรับตอนนี้ผมได้เรียนจบและได้รับปริญญาเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหลังจากได้พักมานาน

สวัสดี

Let’s plant tree ปลูกต้นไม้กันเถอะ :)

วันก่อนนั่งๆนึกว่าวันนี้จะวาดรูปอะไรดี สิ่งที่เข้ามาในหัวก็คือการปลูกป่า ประสบการณ์ที่กำลังจะฝังรากลึกลงไปในสมองของผมนั่นเอง

หลังจากที่ได้ไปร่วมกิจกรรม ปลูกป่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็คิดอยู่ตลอดว่าจะเอามาใช้ในชีิวิตประจำวันอย่างไรดีในเมื่อชีวิตในเมืองนั้นต่างกันกับชีวิตที่ได้ไปเจอมาก จนล่าสุดพบได้พบคำตอบหนึ่ง..

จินตนาการและทักษะการวาดรูปของผมเองสามารถสร้างสื่อที่กระัตุ้นให้เกิดความรู้สึกบางอย่างออกมาได้ แต่ก่อนจะสร้างได้นั้นมันก็ต้องมาจากความรู้สึกภายใน ผ่านการผสมของจินตนาการ ผ่านปลายปากกา จนมาสู่ผลงานที่เห็นกันได้ด้านล่าง ซึ่งก็เป็นคำตอบได้ว่าแม้ผมจะไม่ได้ปลูกป่าทุกวัน แต่ก็สามารถสร้างสรรค์สื่อดีๆได้ทุกเวลาเท่าที่ใจต้องการ

Let’s plant tree ปลูกต้นไม้กันเถอะ :)

Let's plant tree ปลูกต้นไม้กันเถอะ :)

สำหรับรูปนนี้อาจจะเล็กไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับขนาดจริงของงาน ซึ่งผู้สนใจก็สามารถรับชมรูปใหญ่กว่านี้กันได้ที่ หมูเด็กปลูกต้นไม้ : MonkiezGrove Cartoon Book นะครับ ก็เป็นเพจเฟสบุคของมังกีซ์โกรฟนั่นเอง

ตอนนี้ยังไม่ได้กลับไปอัพเดทเว็บไซต์มังกีซ์โกรฟเท่าไรนักเพราะกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่นิดหน่อยก็เลยใช้ช่องทางเฟสบุคเสียมากกว่า ถ้าเว็บไซต์ปรับปรุงเสร็จอย่างไรแล้วก็คงจะได้อ่านบทความที่เกี่ยวกับรูปนี้ในแบบลึกซึ้งกันมากกว่าเดิมแน่นอน

MonkiezGrove Cartoon Book

ยังมีรูปอีกมากมายในช่วงนี้ที่ผมได้เริ่มกลับมาวาดอีกครั้งก็จะอยู่ใน Facebook Page : MonkiezGrove Cartoon Book (http://www.facebook.com/monkiezgrovecartoon)

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ผ่านไปแล้วกับ กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งในบทความนี้ผมจะมาสรุปให้ตามไปอ่านกันได้ง่ายๆว่าผมได้พิมพ์บทความใดไปบ้าง

สำหรับกิจกรรมจากเรี่ยวแรงสู่เรียวรวง ครั้งที่ 9 ตอน หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ที่จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 15 – วันอาทิตย์ ที่ 17 มิถุนายน 2555 ณ วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

ผมเองก็ได้ไปร่วมกิจกรรมกับเขามาด้วยครับ คณะเดินทางเรามีไม่มากประมาณรถตู้สามคันครับ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดยโสธร ในงานนี้ผมก็ได้ไปเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อีกเช่นเคย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นก็แนะนำให้อ่านได้จากบทความที่ผมได้เรียงลำดับไว้ด้านล่างเลยครับ

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

Introduction : ปลูกป่าลุยนา

1. บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

เล่าเรื่อง

2.1 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางวันแรก

2.2 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

2.3 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

2.4 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางกลับ

 

3. หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

เก็บตกเรื่องราวระหว่างทาง

สำหรับบทความเกี่ยวกับการเดินทางในครั้งนี้ก็มีเพียงเท่านี้ครับ สำหรับเนื้อหาเพิ่มเติมผู้เยี่ยมชมสามารถติดตามไปอ่านได้ใน เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ได้ครับ