[20] ฟ้าที่มองเห็นดาว

diary-0020-ฟ้าที่เห็นดาว

20.ฟ้าที่มองเห็นดาว

ปกติแล้ว จะไม่ได้ออกมาข้างนอกตอนกลางคืน เพราะไม่มีอะไรนอกจากความมืดและความเงียบ (ในหน้าหนาวก็ยังหนาวอีกด้วย…)

แต่วันหนึ่งก็มีเหตุให้ออกมาเดินเล่นตอนกลางคืน ก็เดินคิดงานไปเพลิน ๆ มองไปบนฟ้าเห็นดาวเยอะมาก เลยไปหยิบกล้องมาถ่ายไว้

ฟ้าที่กรุงเทพฯ ไม่เห็นแบบนี้หรอก เพราะมันสว่างเกินไป ทั้งยังมีฝุ่นควันเยอะด้วย แต่ที่นี่เห็นแบบนี้ทุกวัน ถ้าไม่มีเมฆบังละนะ

อยู่ต่างจังหวัด ก็เห็นคลองใส ๆ ภูเขา ต้นไม้ ดาวเป็นธรรมดานั่นแหละ

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางกลับ

มาถึงวันที่สามของกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องเดินทางกลับ แต่วันนี้เป็นวันที่นอนสบายจริงๆนะ

เมื่อคืนมีฝนตกตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่หลับหลังจากฝนตกได้ไม่นาน เพราะความสบายจากอากาศที่เย็นและความเหนื่อยล้า? ที่ผ่านมาในวันนี้

วันนี้ตื่นสาย เพราะเพลินไปกับการนอน
วันนี้ตื่นสาย เพราะเพลินไปกับการนอน

เช้าวันนี้ไม่มีธรรมะตามสายให้ฟังเหมือนเมื่อวาน คล้ายๆจะได้ยินหลวงพ่อท่านว่าอยากให้นอนสบาย แต่ก็มาเปิดตอนช่วงเช้าๆหลังฝนหยุดอีกที สุดท้ายก็ได้ฟังธรรมะยามเช้าอีกเช่นเคย วันนี้เป็นวันที่ตื่นสาย ผมเลยพลาดกิจกรรมยามเช้าไป ฝนตกทั้งคืนทำให้อากาศเย็นมาก

ฝนที่ตกที่ต่างจังหวัดนั้นต่างจากกรุงเทพมากนัก เพราะกรุงเทพที่บ้านผม ก่อนตกนี่จะร้อนมาก ยิ่งหลังตกนี่ยิ่งร้อนมากทีเดียว อาจจะเป็นเพราะต่างจังหวัดไม่ใช่พื้นปูน เป็นพื้นดิน เลยคลายความร้อนได้เร็วกว่า อากาศตอนเช้าเหมือนเปิดแอร์ธรรมชาติที่อุณหภูมิ 24-26 องศา อะไรประมาณนั้น ตอนเกือบจะตื่นก็แอบเผลอคิดว่าใครก็ได้ปรับอุณหภูมิแอร์ขึ้นที…

ตื่นมาก็อาบน้ำแล้วไปดูดงไผ่กันหน่อย
ตื่นมาก็อาบน้ำแล้วไปดูดงไผ่กันหน่อย

ตื่นมาก็อาบน้ำ และเดินไปสำรวจป่าไผ่ครับ ที่นี่มีไผ่ปลูกไว้หลายชนิด ดูจากลำไผ่แล้วน่าจะสามารถใช้งานได้หลากหลายต่างกันไปครับ แต่ที่แน่ๆเขาว่าไผ่สร้างไพร นั้นโตเร็วตามชื่อครับ คิดว่ามีที่ทางถ้าผมจะสร้างกำแพงธรรมชาติก็ต้องไผ่สร้างไพรนี่แหละนะ

ชาวคณะกำลังพอกหน้า แช่เท้ากันอยู่ครับ
ชาวคณะกำลังพอกหน้า แช่เท้ากันอยู่ครับ

เดินกลับมาที่ศาลา ก็จะเห็นว่าชาวคณะกำลังพอกหน้าแช่เท้ากันอยู่ครับ สำหรับการพอกหน้านี่ผมเองก็ยังไม่ได้ลองเพราะเดี๋ยวจะต้องไปทำอีกกิจกรรมหนึ่งนั่นคือไปสวดมนต์ก็เลยตัดสินใจยังไม่พอก เพราะมาช้าตื่นสายด้วยครับเลยทำให้พลาดอะไรดีๆไป

สมุนไพรที่ใช้พอกหน้า?
สมุนไพรที่ใช้พอกหน้า?

สิ่งที่ใช้พอกหน้า มีอะไรผสมอยู่ก็ไม่รู้เหมือนกัน จะเรียกสมุนไพรได้รึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ใจคิดว่าน่าจะมีส่วนผสมของผงถ่านอยู่แน่นอนครับดำๆแบบนี้

ได้แช่เท้านิดหนึ่งก็ยังดี
ได้แช่เท้านิดหนึ่งก็ยังดี

ว่าจะไม่ลองแล้ว แต่ด้วยคำแนะนำของแม่ๆ ว่าลองหน่อยสุดท้ายก็ลองจนได้ แช่เท้ากับน้ำสมุนไพรอุ่นๆกับ ก้อนเกลือที่อยู่ใต้เท้า แม้ว่าจะเป็นเวลาไม่นานแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ เพราะผมเองใช้ชีวิตแบบไม่สนใจบำรุงสุขภาพด้วยวิธีเชิงสปาอะไรแบบนี้เลย แต่ยังไงเดี๋ยวจะหาเวลาลองนะครับ จะได้ไม่พลาดโอกาสในการสร้างประสบการณ์ที่ดี

หลังจากนี้เราก็ไปสวดมนต์พร้อมทานหาอาหารเช้ากันครับ หลวงพ่อท่านให้ศีลให้พรอีกหน่อยเราก็ลากลับกัน

กิจกรรมก่อนลา แจกของใช้ที่ระลึก
กิจกรรมก่อนลา แจกของใช้ที่ระลึก

ก่อนจะลาเราก็จะมีกิจกรรมเฉลยบัดดี้นะครับ เป็นบัดดี้ระหว่างเกลอเมืองและเกลอทุ่งครับ หรือเรียกชื่อเกมส์ว่าเกลอเสี่ยว? ละมั้ง

กิจกรรม เฉลยบัดดี้
กิจกรรม เฉลยบัดดี้

บรรยากาศก็ดูวุ่นๆ ปนขำๆ เล็กน้อยเนื่องจาก พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ไม่ค่อยคุ้นกับเกมส์บัดดี้สักเท่าไรนัก ผมเองก็เพิ่งจะได้ลองไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เองครับ สำหรับจับได้พ่อบุญเรือง ซึ่งวันแรกๆก็ไม่ค่อยได้เจอแกเท่าไหร่ก็เลยไม่ได้ทำอะไร ซึ่งของที่ให้ไปก็เป็นพวกต้นไม้ที่บ้านผมนั่นเอง พวกลิ้นมังกร อโลนี่ละนะ คิดอยู่นานว่าจะให้อะไรเพราะ ทีมงานไม่ได้บอกว่าจะต้องให้ใครก็เลยงัดของกลางๆเอาเป็นต้นไม้นี่แหละนะ ไม่รู้จะเหมาะรึเปล่าแต่คิดว่าคงจะดีนะ

แม่หม่อนและผม
แม่หม่อนและผม

สำหรับบัดเดอร์ ของผมคือแม่หม่อนนะครับ แม่หม่อนฝากของให้คุณแม่ของผมด้วย ชาวนาคุณธรรมหลายท่านยังฝากความคิดถึง ถึงคุณแม่ผมด้วยครับน่ารักจริงๆ

แม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผม
แม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผม

รูปแม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผมเองครับ ช่วงนี้แต่ละคนก็จะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกครับ แต่ผมขยับไปไหนไม่ได้เพราะมาตายเอาตรงเหน็บกินครับ แต่ไม่เป็นไรครับ จำได้ว่าทีมงานถ่ายไว้เยอะเดี๋ยวค่อยตามไปเก็บรูปใน อัลบั้มเครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาอีกที

เดินวนสวัสดีและอำลากัน
เดินวนสวัสดีและอำลากัน

ก่อนจะจากกันไปมีการตั้งแถวเป็นวงกลมครับ เดินวนสวัสดี ทักทาย พูดจา อำลา กัน แน่นอนว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและครบแน่นอนครับ ผมชอบตรงจุดนี้มาก รู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูกจริงๆครับ ขอบคุณทุกๆท่านเลย

พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมมายืนลากัน
พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมมายืนลากัน

เมื่อร่ำลากันเรียบร้อยแล้วก็ทยอยขนของขึ้นรถกันครับ ขามานี่ไม่มีอะไรครับ แต่ขากลับบอกตรงๆว่าเพียบ นี่ขนาดไม่ได้เอาที่นอนที่เขาให้มานะ ยังรถแน่นขนาดนี้ นี่เหมือนเรามารับอย่างเดียวจริงๆทริปนี้

ป้ายสวนธรรมร่วมใจ (หน้าห้างดิน)
ป้ายสวนธรรมร่วมใจ (หน้าห้างดิน)

ก่อนจะกลับเขาก็มีกิจกรรมให้ไปแวะซื้อของกันที่ห้างดินกันก่อนครับ ห้างดินนี่น่าจะมาจากร้านขายสรรพสินค้าที่สร้างด้วยดินเช่นเดียวกับบ้านดินละมั้งครับ แต่หลักๆคือขายผลผลิตของชาวนาคุณธรรมและเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆครับ

แวะซื้อของกันที่ห้างดิน ก่อนเดินทางกลับ
แวะซื้อของกันที่ห้างดิน ก่อนเดินทางกลับ

สำหรับของฝากหรือของที่ผมซื้อก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความในตอน ” ของฝากจากยโสธร

เปิดตลาดทุกวันศุกร์
เปิดตลาดทุกวันศุกร์

ที่นี่เขามีเปิดตลาดสุขใจ ทุกวันศุกร์ด้วยครับ เขาจำหน่ายอาหารพืชผักผลไม้ไร้สารพิษ ที่มาจากผลผลิตของชาวนาคุณธรรมครับ แอบอิจฉาเกลอทุ่งที่มีผลผลิตปลอดสารพิษให้กินกันแบบราคาไม่แพง สำหรับคนในเมืองอย่างผมจริงๆก็มีทางเลือกครับ มีหลายที่ขายผักปลอดสาร แต่ก็ไม่รู้แหล่งที่มาละนะ ถ้ากินแบบรู้แหล่งที่มาก็จะสบายใจกว่า ต่อไปผมคงต้องพิจารณาอาหารมากกว่าเดิม มากกว่าเอาแค่ว่ากินให้อิ่ม

วันนี้ฝนตก
วันนี้ฝนตก

วันนี้ฝนตกทั้งวันครับ ตั้งแต่ยโสธร เรื่อยมา จริงๆก็ตกตั้งแต่เช้าแล้ว ต้นไม้ และป่ากันชนที่เราปลูกไปได้รับน้ำฝนแบบนี้ก็มีอัตราการรอดชีวิตสูงเลยครับ งานนี้เรียกได้ว่าฟ้าฝนเป็นใจครับ ตอนปลูกก็ไม่ร้อนปลูกเสร็จก็มีฝนตก อะไรจะพอดีขนาดนี้กันละนี่

ทุ่งนาวิวสวยที่ผมชอบ
ทุ่งนาวิวสวยที่ผมชอบ

นี่เป็นวิวทุ่งนาระหว่างทางครับ ถ่ายที่ปั้มระหว่างทาง ผมเองเป็นคนที่ชอบมองไปไกลๆ สุดลูกหูลูกตา ผมชอบที่กว้างๆ กว้างแบบไม่มีอะไรบังสายตา ยิ่งเป็นทุ่งนาด้วยละก็เป็นที่โปรดปรานของผมเลย มันเหมือนเราสามารถปล่อยจินตนาการไปได้ไกลมากๆ สรุปคือผมชอบทุ่งนานั่นแหละ

ทริปนี้ไม่ขาดปั้ม
ทริปนี้ไม่ขาดปั้ม

ทริปนี้เราได้แวะปั้มตลอดครับ ผมชอบมากๆ เพราะได้เดินออกมายืดเส้นยืดสายรวมถึงเข้าห้องน้ำด้วย ถ้าหิวก็แวะซื้อได้ตลอด ทั้งนี้ผมเองก็ชอบการเดินทางแบบนี้นะครับ สบายๆไม่รีบ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ให้ใจหมองหม่น

เดินทางกลับ
เดินทางกลับ

เรากลับมาถึงกรุงเทพช่วง 2 ทุ่มกว่าๆครับ ทริปนี้บอกตรงๆว่าไปแบบสบายมากๆ กินอิ่มนอนหลับ ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว สำหรับสิ่งที่ผมได้รับมาจากทริปนี้ก็จะเว้นไว้พิมพ์ไว้ในบทความต่อไปแล้วกันนะครับ สำหรับบทความนี้คงจบเรื่องเล่าแต่เพียงเท่านี้

สวัสดี

ปลูกป่าลุยนา

เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา  ซึ่งจัดโดยทีวีบูรพา อีกครั้งหลังจากไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมแบบเดินทางไปต่างจังหวัดมานาน

สำหรับกิจกรรมในตอนนี้ก็มีชื่อว่า “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ครับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดมาหลายครั้งแล้ว แต่ผมเองก็ไม่ว่างไปสักทีเพราะว่าส่วนใหญ่มักจะชนกับกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย ไม่ก็ติดสอบก็เลยไปไม่ได้สักที

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา
เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา

มาคราวนี้มีโอกาสได้ไปแล้ว ก็ยินดีมากๆสำหรับการได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ สำหรับรูปก็สามารถหาชมได้ในเฟสบุคของ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ได้เลยครับ หรือกดลิงก์ จากรูปภาพด้านบนได้ครับ

สำหรับตอนนี้ก็จะมาเขียนหัวเรื่องทิ้งไว้ก่อนเพราะว่า จากที่คิดๆแล้วน่าจะมีหลายประเด็นหลายตอนที่ผมเก็บเกี่ยวมาได้ซึ่งมีส่วนหนึ่งหรือหลายๆส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับการที่ผมได้ไปศึกษาจาก สวนลุงนิล จากกิจกรรม ฅนคอเดียวกันสัญจร วิถีแห่งความพอเพียง กับ ลุงนิลคนของความสุข ที่ผมได้เคยไปมาเมื่อ 3 ปีก่อน สำหรับบทความของกิจกรรมคราวนี้ขอเวลาสักครู่ใหญ่ๆในการเรียบเรียงทุกอย่างออกมานะครับ

ยังไงก็อยากจะฝากบทความเก่าๆ ซึ่งผมได้พิมพ์ประสบการณ์และเรื่องราวที่เก็บเกี่ยวไว้ได้จากสวนลุงนิล ในบทความ : วิถีแห่งความพอเพียง กับ ลุงนิลคนของความสุข ด้วยครับ

เสียสละ หรือ ต้องช่วยกันเจ็บ ?

วันนี้ผมติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมเหมือนเคยครับ เพราะต้องคอยระวังที่บ้านไว้ด้วย และอีกอย่างคือวันนี้จะออกไปซื้อของด้วยก็เลยต้องตามข่าวกันติดหนึบหน่อย

ข่าวสารเนี่ยมันเป็นข้อมูลครับ ยิ่งฟัง ก็ยิ่งคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด คนเราบางทีก็รับข้อมูลบางอย่างเข้าสมองมากเกินจำเป็นครับ การคัดกรองข่าวสารที่จำเป็นเพียงเล็กน้อยจากข้อมูลข่าวสารจำนวนมากเกินจำเป็น (Snow job คำนี้ผมได้มาจากการเรียน Negotiate และชอบมากๆ )  ซึ่งผมได้รับทราบมาว่ามีทั้งข่าวที่เกิดขึ้นจริง และข่าวที่บิดเบือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับข่าวสาร

ข่าวสารสำหรับผมนั้น ในโลกนี้ไม่มีข่าวใดจริงแท้เลย ทุกๆข่าว ผ่านสายตา สมอง และปากจนถึงปลายปากกาหรือมือที่พิมพ์ลงไป ระหว่างทางที่ข่าวนั้นๆ ผ่านมาจนถึงเราจะเจออะไรบ้าง ประสบการณ์ ความวิตก อคติ ลำเอียง การคิดไปเอง ฯลฯ ทำให้ข่าวสารเหล่านั้นถูกบิดเบือนแต่แรกแล้ว ดังนั้นการรับข่าวสารจำเป็นต้องกรองจากหลายแหล่งกันให้ดีนะครับ เพราะจะส่งผลในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ ซึ่งในเวลานี้ทุกอย่างดูจะแข่งกับเวลามากทีเดียว

เข้าประเด็นกันเลย…

ระหว่างที่ผมอ่านเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมจำนวนมาก ก็ได้ปรากฏข้อความหนึ่ง ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเมื่อโดนซึนามิว่า “ญี่ปุ่นพยายามกั้นแนวความเสียหายให้วงแคบที่สุด และทุกคนเสียสละและมีระเบียบ ความมีระเบียบทำให้ญี่ปุ่นจัดการทุกอย่างได้ไว แต่เมื่อมองคนไทยแล้ว คนไทยกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าการเสียสละเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทำไมไม่ช่วยกันแบ่งเบา ฉันโดนคุณช่วยกันโดนบ้าง ต้องโดนให้ทั่วๆกัน จะได้มาตราฐานเดียวกัน ” อะไรประมาณนี้

ในความเห็นนั้นมีกระทั่งคนที่บอกมาว่ามีคนไปทำลายแนวกระสอบทรายก็ยังมี ผมอ่านแล้วก็ไม่แปลกใจ เพราะจากที่ฟังวิทยุดูเหมือนจะมีการขัดแย้งกันในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นดูจะมาจากมุมมองทางการเมือง ซึ่งผมเองขอให้ความคิดเห็นตรงๆว่า เราน่าจะมองไปที่การจัดการปัญหาน้ำท่วมกันมากกว่า

ผมเองอยู่กรุงเทพฯ คงไม่มีหน้าไปบอกว่าให้คนต่างจังหวัดช่วยกันเสียสละให้กรุงเทพฯ เพราะเห็นภาพน้ำท่วมก็พูดไม่ออก แต่ถ้าเราคิดไปถึงระดับประเทศ เราควรจะรักษาอะไรเป็นอันดับแรก สิ่งที่ประเทศจำเป็นต้องรักษาคืออะไร? ถ้าให้ดีก็คิดไปถึงระดับโลกเลยก็ดีครับ เพราะจริงๆ ปัญหาที่เราเจอนั้นเป็นปัญหาระดับโลกทีเดียวนะครับ

ผมเองเป็นแค่ชีวิตเล็กๆในเมืองใหญ่คงจะไม่มีปัญญาไปช่วยอะไรเขาได้มาก จากสถานการณ์ตอนนี้คงได้แค่ภาวนาให้ฝนไม่ตกมากไปกว่านี้ และคิดว่าหลังจากนี้เราควรทำอะไรกันบ้าง

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสังคมที่ค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลายพอสมควร แต่ผมยินดีต้อนรับทุกความคิดเห็นครับ

สวัสดี