ในวันที่แดดหายาก

จากข้อมูลที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนพายุคาจิกิ จะผ่านพ้นไปแล้ว คงเหลือแต่ผลกระทบที่ธรรมชาติได้แสดงผลแห่งความเป็นไปในสังคมให้ได้เห็น

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ถ้ามองแบบโลก ๆ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการจัดการผังเมืองที่ไม่ได้เตรียมรับปัญหาเหล่านี้ ก็อย่างที่รู้กัน เมืองไทยเป็นประเทศที่ภัยพิบัติน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ประชาชนชาวไทยจนกระทั่งภาครัฐก็ยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร

ผมเองก็เช่นกัน มีปัญหาในชีวิตอยู่บ้าง แม้ปัญหาที่ผมเจอจะเป็นปัญหาที่เล็กมากเหมือนฝุ่นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ชาวบ้านเขาเจอกัน

ปัญหาของผมก็คือ แดดมันไม่มี ก็เลยไม่ได้ซักผ้าเสียที เพราะซักไปมันก็จะเหม็นอับ ก็เลยเก็บไว้ก่อน อันนี้มันก็เกิดจากการที่เราจัดการไม่ดี แดดไม่มีก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ปัญหาที่เป็นปัญหามากกว่าคือเราไม่แก้ปัญหา เรากลับรอให้แดดมันมา ซึ่งมันก็เป็นวิธีแก้ปัญหาทางหนึ่งนั่นแหละ แต่มันช้า มันนาน

สุดท้ายก็ทบทวนว่ามันมีทางออกอะไรบ้าง ก็มีซักแล้วเอามาผึ่งพัดลม หรือไม่ก็หาผงซักฟอกสูตรที่เหมาะกับการตากในร่ม หรือตากผ้าหน้าฝน ก็ได้ยินโฆษณาว่าเขามีผลิตมาเหมือนกัน เขาก็คงจะผลิตมาแก้ปัญหาแบบนี้แหละ เราก็ลองดู ถ้าลองแล้วได้ผลดี ก็ดี ถ้าลองแล้วไม่ดีก็เลิก หรือถ้ามีสิ่งใดที่มีองค์ประกอบดีกว่าก็เอา

แน่นอนว่าแดดคือสิ่งที่มีค่าในหน้าฝน เพราะพืชจะเจริญเติบโตได้ต้องมีแสงแดดเป็นองค์ประกอบ ถ้าได้ทั้งฝนตกแดดออก นี่ก็น่าจะโตไว พืชก็ใช้ประโยชน์จากฝนตกแดดออกนี่แหละ เป็นปัจจัยในการพัฒนาของมัน เราเองก็น่าจะใช้ทั้งฝนตกและแดดออกให้เจริญเช่นกัน แม้ปัญหาน้อย ๆ ในชีวิตก็หัดเอามาตรวจตัวเอง ตรวจทั้งกิเลส ตรวจทั้งความยึดมั่นถือมั่น ก็ตรวจใจกันไป

ปริญญา

ห่างหายกันไปนานมากกับการพิมพ์บล็อกการอัพเดทบล็อกในหลายๆส่วนของผม ซึ่งก่อนหน้านี้มันนิ่งมากจนแทบจะเรียกได้ว่าหายไปเลยก็ว่าได้

ช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมาจนกระทั่ง ล่าสุดหนึ่งสัปดาห์ได้ผ่านไป ผมได้ไปปฏิบัติภารกิจอย่างหนึ่ง นั่นคือไปเรียนปริญญาโท เป็นการเรียนหาความรู้ใหม่ๆ หาประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในจังหวะที่มีโอกาสที่ดี

ผมเลือกเรียนบริหารธุรกิจจากกว่า 4 -5 ทางเลือกและเหตุผลที่ได้คัดมาแล้วด้วยน้ำหนักอันเหมาะสมและความเป็นไปได้จนถึงการใช้ประโยชน์จากมันในอนาคต จึงได้เลือกเรียนโครงการบริหารธุรกิจภาคค่ำ (YMBA) และเน้นเรียนเวลาค่ำหรือหลังพระอาทิตย์ตกนั่นเอง แม้ว่าโครงการจะมีวันเสาร์อาทิตย์ไว้เป็นตัวเลือก แต่ผมเลือกลงทะเบียนเพียงสาขาเดียวนั่นคือการจัดการวันธรรมดา

ปริญญา

ปริญญา

การเรียนนั้นผ่านมาร่วม 2 ปีกว่า ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจาก YMBA KU แห่งนี้ ซึ่งผมเองเป็นรุ่นที่ 20 และแต่ละรุ่น แต่ละสาขา แต่ละกลุ่ม ก็จะมีธรรมชาติที่แตกต่างกันไป แล้วแต่จะเลือกสรรตามใจ ตามธรรมชาติ

ปริญญาใบแรกของผมนั้นคือศิลปบัณฑิต (BFA) ได้มาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นศิลปะประยุกต์โดยเรียนรู้ทั้ง Fine Art และ Digital Art ควบคู่กันไปจนในที่สุดผมได้สำเร็จการศึกษาโดยมีทักษะหลักติดตัวหลายอย่างเช่น อนิเมชั่น การวาดภาพประกอบ และอื่นๆอีกมากมาย

ปริญญาใบที่สอง เป็นปริญญาโท ได้มาเป็นปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) จากโครงการปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจภาคค่ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เก่ามาประยุกต์เพราะโครงการนี้เขาต้องการประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 3 ปีก่อนเข้ามาสมัครเรียนได้ สิ่งที่ได้รับมาจากการเรียนบริหารธุรกิจคือการรู้โลกที่ไม่เคยได้รับรู้ ซึ่งแตกต่างกันไปกับตอนปริญญาตรีเมื่อครั้งเรียนศิลปกรรม เป็นการเติมเต็มจินตนภาพและความจริงให้สมดุลกันมากขึ้น

ถ้าจะเปรียบ…

ศิลปกรรมที่ได้เรียนรู้มาก็คงจะเป็นเหมือนวัตถุดิบ เป็นการปรุงอาหาร เป็นการจัดวาง เป็นส่วนผสม เป็นรสชาติ เป็นสิ่งที่จะขาย และบริหารธุรกิจก็คงจะเป็นสูตรอาหาร เป็นกระบวนการ เป็นการมองจากวัตถุดิบจนไปถึงปากของผู้บริโภค การดูแลผู้บริโภค การนำเสนออาหารใหม่ๆ การเข้าใจพฤติกรรมของผู้กิน รวมๆแล้ว ศิลปกรรม+บริหารธุรกิจก็คงจะเป็นสิ่งที่ทำให้การทำอาหารสักจานได้ผลมากกว่าความอร่อยนั่นเอง

เป็นการเปรียบเปรยง่ายๆ เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า “เรียนปริญญาโทแล้วได้อะไร” เป็นคำถามง่ายๆแต่ต้องฟังกันยาวๆ เพราะมันไม่ได้มีแค่ปริญญาโท มันต้องนับก่อนปริญญาโทด้วย เพราะว่าต้นทุนของแต่ละคนมาไม่เท่ากัน ดังนั้นเรียนแล้วได้อะไรคาดหวังในอะไร คงไม่มีคำตอบที่ครอบจักรวาล ซึ่งผมเองก็คงจะไม่ตอบง่ายๆเช่นกัน เพราะมันดูมักง่ายเกินไปที่จะย่อสิ่งที่เรียนรู้มา 2 ปี รวมกับประสบการณ์เกือบ 20 ปีก่อนหน้านั้นมาเป็นคำพูดสั้นๆ ให้คนเข้าใจ

สำหรับตอนนี้ผมได้เรียนจบและได้รับปริญญาเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหลังจากได้พักมานาน

สวัสดี

หายไปไหนช่วงน้ำท่วม

ช่วงที่ผมไม่อยู่นั้น เนื่องจากอพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วม ใช่ว่าผมจะไม่เดือดร้อนในช่วงน้ำท่วมเสียทีเดียว แต่ผมเลือกที่จะไปรับประสบการณ์ที่แตกต่างกับการอยู่บ้านต้่อนรับน้ำท่วม

แม้ว่าตอนนี้บ้านของผมดูเหมือนจะรอดพ้นวิกฤตน้ำท่วมแล้ว ซึ่งมันก็ยังไม่เคยท่วมส่วนสาเหตุนั้นจะเพราะอะไรก็ช่าง สรุปก็ถือว่าโชคดี เพราะดูในแผนที่น้ำท่วม น้ำมันท่วมรอบๆเขตบ้านไปหมดแล้ว แต่ที่หมู่บ้านยังปกติ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้ผมรับรู้หลังจากกลับมาที่บ้านครับ

การอพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วม สำหรับผมนั้นถือเป็นโอกาสที่ผมจะได้ลองไปรับประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะก่อนหน้าที่ผมจะตัดสินใจออกจากบ้านนั้น ผมได้ไปรับประสบการณ์ของคนที่โดนน้ำท่วมมาแล้วครับ นั่นคือการลุยน้ำเข้าไปช่วยพี่สาวย่านดอนเมืองอพยพออกมา สิ่งที่ผมได้รับในวันนั้น คงจะเล่าในบทความต่อไป แต่ผมบอกได้เลยว่านั่นคือประสบการณ์ที่ทำให้ผมมั่นใจที่จะออกไปดีกว่าที่จะทนอยู่

โอกาส กับทางเลือก

แน่นอนว่าประชาชนทุกคนคงจะทำอย่างผมไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีเท่ากัน ทางเลือกเราไม่เท่ากัน ผมมีทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้อยู่หลายทาง แน่นอนว่าผมจะไม่เอาตัวเองไปเบียดเบียนคนที่มีความจำเป็นกว่าแน่นอน สิ่งที่ผมคิดนั่นคือการตัดโอกาสการกลายเป็นภาระทางสังคมของตัวผมทิ้งเสีย และย้ายตัวเองไปมองดูจากวงนอก ซึ่งน่าจะดีกับคนส่วนใหญ่มากกว่า

พื้นที่ในกรุงเทพฯนั้นเต็มไปด้วยผู้คน ผมไม่เคยคิดว่ากรุงเทพฯ นั้นสำคัญที่สุดในประเทศ แต่ผมมองในเรื่องของรายละเอียดมากกว่า เมื่อมีคนมาก การจัดการก็ยาก ตรอกซอกซอย ชุมชนสารพัด ซึ่งน่าจะเรียกว่ามหาศาล เมื่อน้ำเข้ากรุงเทพ การช่วยเหลือ การจราจร ทุกอย่างดูจะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางจัดสรรได้อย่างลงตัวแน่นอน และนั่นคือเหตุที่ผมตัดสินใจอพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วมไปดีกว่า

อพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วมไปไหน?

ผมเคยคิด เคยฝันไว้ว่าผมจะได้เดินทาง ไปเที่ยวโดยไม่มีกฏอะไรมาหยุดไว้ (ยกเว้นเงิน) ผมอยากจะหยุดในที่ผมอยากจะหยุด ผมอยากจะอยู่ในที่ ที่ผมอย่างจะอยู่ ผมอยากจะทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลาที่เป็นของผมอย่างแท้จริง น้ำท่วมครั้งนี้คือโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่ผมจะได้ไปค้นหาอะไรในตัวเองเพิ่มขึ้น นี่คือจินตนาการของผม

ความเป็นจริงก็คือผมไปได้ในระยะที่พอจะไหว เขตใกล้ๆกรุงเทพที่น้ำไม่ท่วมและเดินทางไม่ไกล เพราะงบประมาณมีจำกัดมาก และไม่รู้ว่าต้องอยู่นานแค่ไหน เลยต้องคิดคำนวนกันให้ดี ที่พักส่วนใหญ่จะเป็น บ้านเพื่อน บ้านญาติ โรงแรม อะไรประมาณนี้ ซึ่งจะเน้นประหยัดไว้เป็นหลัก เพราะถ้างบหมด นั่นหมายถึงอิสระแห่งจินตนาการของผมก็คงต้องดับลงไป

สรุปแล้วช่วงที่ผมไม่อยู่ ผมก็แทบไม่ได้เข้าอินเทอร์เน็ต เลยครับ จะมีเข้าบ้างก็บางทีเพราะอุปกรณ์ไม่ค่อยอำนวยเท่าไหร่ ส่วนเรื่องผมไปเที่ยวไหนอะไรยังไง รายละเอียดเดี๋ยวค่อยมาเขียนกันอีกทีนะครับ เอาแค่ว่าหนีน้ำท่วมไปเที่ยวแล้วกันนะ

สวัสดี

เสียสละ หรือ ต้องช่วยกันเจ็บ ?

วันนี้ผมติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมเหมือนเคยครับ เพราะต้องคอยระวังที่บ้านไว้ด้วย และอีกอย่างคือวันนี้จะออกไปซื้อของด้วยก็เลยต้องตามข่าวกันติดหนึบหน่อย

ข่าวสารเนี่ยมันเป็นข้อมูลครับ ยิ่งฟัง ก็ยิ่งคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด คนเราบางทีก็รับข้อมูลบางอย่างเข้าสมองมากเกินจำเป็นครับ การคัดกรองข่าวสารที่จำเป็นเพียงเล็กน้อยจากข้อมูลข่าวสารจำนวนมากเกินจำเป็น (Snow job คำนี้ผมได้มาจากการเรียน Negotiate และชอบมากๆ )  ซึ่งผมได้รับทราบมาว่ามีทั้งข่าวที่เกิดขึ้นจริง และข่าวที่บิดเบือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับข่าวสาร

ข่าวสารสำหรับผมนั้น ในโลกนี้ไม่มีข่าวใดจริงแท้เลย ทุกๆข่าว ผ่านสายตา สมอง และปากจนถึงปลายปากกาหรือมือที่พิมพ์ลงไป ระหว่างทางที่ข่าวนั้นๆ ผ่านมาจนถึงเราจะเจออะไรบ้าง ประสบการณ์ ความวิตก อคติ ลำเอียง การคิดไปเอง ฯลฯ ทำให้ข่าวสารเหล่านั้นถูกบิดเบือนแต่แรกแล้ว ดังนั้นการรับข่าวสารจำเป็นต้องกรองจากหลายแหล่งกันให้ดีนะครับ เพราะจะส่งผลในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ ซึ่งในเวลานี้ทุกอย่างดูจะแข่งกับเวลามากทีเดียว

เข้าประเด็นกันเลย…

ระหว่างที่ผมอ่านเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมจำนวนมาก ก็ได้ปรากฏข้อความหนึ่ง ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเมื่อโดนซึนามิว่า “ญี่ปุ่นพยายามกั้นแนวความเสียหายให้วงแคบที่สุด และทุกคนเสียสละและมีระเบียบ ความมีระเบียบทำให้ญี่ปุ่นจัดการทุกอย่างได้ไว แต่เมื่อมองคนไทยแล้ว คนไทยกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าการเสียสละเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทำไมไม่ช่วยกันแบ่งเบา ฉันโดนคุณช่วยกันโดนบ้าง ต้องโดนให้ทั่วๆกัน จะได้มาตราฐานเดียวกัน ” อะไรประมาณนี้

ในความเห็นนั้นมีกระทั่งคนที่บอกมาว่ามีคนไปทำลายแนวกระสอบทรายก็ยังมี ผมอ่านแล้วก็ไม่แปลกใจ เพราะจากที่ฟังวิทยุดูเหมือนจะมีการขัดแย้งกันในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นดูจะมาจากมุมมองทางการเมือง ซึ่งผมเองขอให้ความคิดเห็นตรงๆว่า เราน่าจะมองไปที่การจัดการปัญหาน้ำท่วมกันมากกว่า

ผมเองอยู่กรุงเทพฯ คงไม่มีหน้าไปบอกว่าให้คนต่างจังหวัดช่วยกันเสียสละให้กรุงเทพฯ เพราะเห็นภาพน้ำท่วมก็พูดไม่ออก แต่ถ้าเราคิดไปถึงระดับประเทศ เราควรจะรักษาอะไรเป็นอันดับแรก สิ่งที่ประเทศจำเป็นต้องรักษาคืออะไร? ถ้าให้ดีก็คิดไปถึงระดับโลกเลยก็ดีครับ เพราะจริงๆ ปัญหาที่เราเจอนั้นเป็นปัญหาระดับโลกทีเดียวนะครับ

ผมเองเป็นแค่ชีวิตเล็กๆในเมืองใหญ่คงจะไม่มีปัญญาไปช่วยอะไรเขาได้มาก จากสถานการณ์ตอนนี้คงได้แค่ภาวนาให้ฝนไม่ตกมากไปกว่านี้ และคิดว่าหลังจากนี้เราควรทำอะไรกันบ้าง

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสังคมที่ค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลายพอสมควร แต่ผมยินดีต้อนรับทุกความคิดเห็นครับ

สวัสดี