พุทธมีหลากหลาย ทางปฏิบัติก็มีมากมาย แต่ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว

ดูสารคดีแล้วนึกถึงสมัยแรก ๆ หลังจากเข้าใจทางปฏิบัติ ก็มุ่งสืบหาว่ากลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่นมีวิธีอย่างที่ทำได้บ้างไหม?

อ่านหนังสือก็หลายเล่ม โลกกว้างมาก แต่ความกว้างเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งกว้าง ยิ่งไกล ยิ่งหลง ก็คงมีไว้เพื่อศึกษาความผิดพลาดเท่านั้น

ผมมีความเห็นว่า ถ้าคนเกิดความเข้าใจที่ถูกตรงจริง ๆ จะมั่นคงในกลุ่มที่ตนปฏิบัติได้ผล จะศรัทธาอย่างยิ่งในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะไม่วอกแว่ก ไขว้เขว ไม่เที่ยวไปกลุ่มที่มีความเห็นต่างออกไป

เพราะถ้าเจอทางพ้นทุกข์แล้วปฏิบัติเองจนเห็นผล มันจะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาลัทธินั้นกลุ่มนี้ ที่ผมเคยตามหาไม่ใช่ว่าจะไปหากลุ่มเพิ่ม แต่ค้นหาและศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ …ที่มีทางเดียว

*จุดสำคัญ คือต้องปฏิบัติจนพ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยสัมมาอริยมรรค ที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๘ มิใช่เพียงเข้าใจและเลือกใช้มรรคใดมรรคหนึ่ง ดังสมการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสัมมาสมาธิจะเกิดได้จาก มรรคทั้ง ๗ ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ไม่ใช่การนั่งสมาธิแล้วเรียกสิ่งนั้น สัมมาสมาธิ …เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็เรียกว่าหาแทบไม่ได้แล้ว ว่าที่ไหนในประเทศไทยจะสอนสัมมาสมาธิอย่างถูกต้องอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากที่ผมศึกษาและเห็นมา ส่วนมากจะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

และมิจฉาสมาธินี่แหละ คือรูปแบบที่แตกตัวไปทั่วโลก เพราะมันไม่ถูกต้อง จึงทำได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากสัมมาสมาธิที่คาดเดาได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามไม่ได้ง่าย ๆ ลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สัตบุรุษ) เท่านั้น

ดังนั้นผมจึงไม่เอาเวลาไปเสียกับกลุ่มบุคคุลหรือคนที่ยังไม่เห็นทางพ้นทุกข์ ทฤษฎีหรือตรรกะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พูดกันไปได้ แต่สภาวธรรมเป็นสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้เข้าถึงธรรม และผู้ที่แจกแจงสภาวะได้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ผมเคยเจอคนที่อ้างตนว่ามีสภาวะ แต่พอถามเข้าหน่อย ให้แจกแจงเข้าหน่อย ก็นั่งนิ่ง ไปไม่เป็น บางทีคนก็หลงสภาวะกับสัญญา คือจำเขามา จำได้ นึกได้ ก็หลงไปว่าเข้าใจ แต่จริง ๆ มันเป็นแค่สัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

ดังเช่นว่าหลายคนที่ศึกษาธรรมะ ก็รู้นะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ของที่อยากได้ โดนพรากของรัก โดนด่า โดนดูถูก โดนทำร้าย ก็ไปโกรธเขา ชิงชังเขา สภาพแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นแค่ความจำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งดีอะไรให้จำเลย ก็ยังดีกว่าไม่มีเป้าหมาย

…อริยสัจ ๔ คือธรรม ๔ หัวข้อสั้น ๆ แต่ยากที่สุดในโลก เชื่อไหมว่าแม้จะมี 100 ลัทธิ เขาก็จะอธิบายและปฏิบัติไปได้มากกว่า 100 แบบ มันจะบิดเบี้ยวและเพี้ยนไปตามวิบากบาปของแต่ละคน หัวข้ออาจจะคล้ายกัน แต่พอขยายลงรายละเอียดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จะมีส่วนถูกบางส่วนปนอยู่ในเนื้อบ้าง แต่ถ้ามันไม่ 100% มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่ดีนั่นเอง

…สรุป ก็ลองสุ่มปฏิบัติตามกันไป ตามที่ศรัทธา ทำให้เต็มที่ อันไหนพ้นทุกข์ก็อันนั้นแหละ อันไหนไม่พ้นก็เลิก แต่ถ้าแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อันนั้นที อันนี้ที จากที่เห็นมา ส่วนใหญ่ไม่รอด กิเลสเอาไปกินหมด หลงเข้าป่าเข้าพงกันไปหมด

พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

บรรลุธรรมแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น คือความเห็นลามกที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ในสังคมพุทธส่วนใหญ่จากในอดีตที่ผ่านมา มักมีความเห็นหนึ่งที่ต่อต้านการแสดงตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เขาจะอ้างเหตุว่าเป็นการอวดตัวอวดตนบ้างล่ะ คนบรรลุธรรมจริงไม่บอกบ้างล่ะ บอกว่าบรรลุแล้วผิดวินัยบ้างล่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นที่จำ ๆ กันมาเพื่อที่จะยึดว่าสิ่งเหล่านั้นถูก ตามที่เขาถูกใจ

ในองค์ประกอบของความเห็นผิดเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์โลกีย์อยู่คือ ผู้ที่ยังมัว ๆ เมา ๆ ปฏิบัติหลง ๆ ไม่บอกใคร พอตนเองปฏิบัติได้ประมาณหนึ่ง มีผู้ศรัทธา เขาก็หลงคิดไปว่าอาจารย์ตนบรรลุธรรม แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ก็เดา ๆ กันไป แล้วก็งง ๆ กันอยู่แบบนั้น กลายเป็นสภาพตาบอดจูงตาบอดชวนกันไปดูหนังใบ้ คือตนเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรแล้วศิษย์ก็หลงไปว่าอาจารย์บรรลุ แล้วก็ไม่ได้เปิดเผยความจริง สุดท้ายก็เลยเป็นความมัว ที่ถูกต้องในสังคมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุด แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับกลายเป็นศาสนา ๆ ที่มัว ๆ เดา ๆ เอา คนนั้นเป็นอย่างนั้น ท่านนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เดาเอากันตามที่เขาว่ามา

ทีนี้มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบรรลุธรรมแล้วไม่บอกนี้ว่าอย่างไร

ในโลหิจจสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 351) มีพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือมีความคิดลามกคนหนึ่ง มีความเห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะเห็นว่าตัดกิเลสไปแล้ว จะไปสร้างเครื่องผูกขึ้นใหม่ทำไม ซ้ำยังบอกอีกว่าการบอกผู้อื่นเป็นความโลภ เพราะคนอื่นเขาจะมาสรรเสริญ จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พราหมณ์สรุปว่าการที่ผู้บรรลุธรรมนั้นบอกผู้อื่นคือความลามก

จะสังเกตได้ว่า ความเห็นของคนส่วนมากจะตรงกับพราหมณ์ลามกท่านนี้ แต่สุดท้ายจะจบไม่เหมือนกัน เพราะยังดีที่พราหมณ์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับอาหารของพราหมณ์

หลังพระพุทธเจ้าจากเสวยอาหารเสร็จ ท่านก็ถามพราหมณ์ว่า จริงหรือที่ท่านมีความเห็นลามกเช่นนั้น พราหมณ์ ก็ตอบว่าจริง และเชื่ออย่างนั้นอย่างเต็มใจ มั่นใจ

ได้ยินเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนโดยการเปรียบเทียบ เพื่อน้อมใจให้พราหมณ์ทำใจในใจตาม ความโดยสรุปว่า ถ้าเจ้าเมืองผู้มีสมบัติมาก ไม่แบ่งปันทรัพยากร ไม่บริหารทรัพยากรไปเพื่อสังคม ครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองนั้นถือเป็นคนที่เป็นภัยต่อชาวเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าเป็นภัย และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร

แล้วท่านก็ถามต่อว่าทำอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าไม่ มีจิตเป็นศัตรูหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่ มีจิตเป็นศัตรูนี่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่

พระพุทธเจ้าก็สรุปความว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดดังนั้น จะมีที่ไปสองอย่าง คือ 1. ไปนรก คือเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ 2.เกิดความเป็นเดรัจฉานในตน คือ เกิดความโง่ดั่งสัตว์เดรัจฉาน

หลังจากนั้นท่านก็สอนธรรมแก่พราหมณ์อีกหลายบท สุดท้ายพราหมณ์ก็ยอม และขอมอบตนเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา

…จะสรุปความและยกตัวอย่างให้ตรงยุค ก็คงต้องเทียบกับผู้นำประเทศที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แจกจ่ายหรือบริหารทรัพยากรให้ผู้อื่น เก็บไว้บำเรอตน เก็บไว้เพื่อตนผู้เดียว ไม่ให้ใคร ภาพที่ออกมาก็คงจะเป็นคนผู้เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดแน่นอน มีของดีแท้ ๆ แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ไม่แจกแจงให้ผู้อื่น

กลับมาในบริบทนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน เขาก็เห็นผิดไปตามวิบากของเขา ดีไม่ดีก็ไม่มีธรรมในตนจริงหรอก ไปตีกินเอา ไม่พูดก็ไม่ผิด ไม่มีใครมาตรวจสอบ สมัยนี้แม้ไม่บอกว่าตนบรรลุอะไร เขาก็เอาของมาบำเรออยู่ดี สู้อยู่เงียบ ๆ กินอยู่ไปเรื่อย รักษาตัวรอดไปจะดีกว่า บอกไปเดี๋ยวเขามาตรวจสอบเอา เหนื่อยอีก แถมไม่มีจริงอีก จะยิ่งลำบาก

แล้วจะเห็นว่าตอนแรกที่พราหมณ์มีความเห็นลามก เพราะไม่ได้อยู่ในพุทธ แต่ทุกวันนี้ความเห็นลามกเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อพุทธนี่เอง ดังนั้น มันจึงมีการบิดเบี้ยว ปัดป้อง เลี่ยงบาลี กันจนหลง จนงงกันไปหมด จริง ๆ แล้วความเห็นและการปฏิบัติส่วนมากในปัจจุบันนั้นนอกขอบเขตพุทธไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อเท่านั้นที่ใช่ แต่ความเห็นความเข้าใจไม่ใช่

โลหิจจพราหมณ์ เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ในเบื้องต้นจะมีความเห็นผิด แต่ก็สามารถทำใจในใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านน้อมนำได้เป็นอย่างดี จนละความลามกได้ในที่สุด

อย่าคิดว่าคนที่มีปัญญาอย่างโลหิจจพราหมณ์จะหากันได้ง่าย ๆ ในยุคนี้นะ ดีไม่ดีอ่านพระสูตรนี้ไปก็ยังเมาอยู่เลย ยังเบี้ยวไปตามความเห็นลามกของตนอยู่เลย ยังไม่เปลี่ยนทิศไปจากมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบบนี้แหละ อย่าไปหวังมาก ใกล้กลียุคแบบนี้คงต้องทำใจ

การประกาศอรหันต์ในยุคปัจจุบัน

มีความคิดเห็นถามเข้ามาว่า กรณีที่สมณะโพธิรักษ์ประกาศความเป็นอรหันต์ในตนนั้น ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากครับสำหรับประเด็นนี้ เพราะในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ไม่มีใครที่ประกาศอย่างมั่นใจเท่ากับนักบวชท่านนี้อีกแล้ว

ในความเห็นของผมซึ่งไม่ได้ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดนัก แต่ก็ได้ศึกษาภาพรวมของศาสนาจนคิดว่าสามารถใช้ความรู้มาเทียบเคียงได้

วินัยสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่นักบวชควรปฏิบัติ เป็นเสมือนวินัยในอาชีพ การปฏิบัติก็คล้ายวินัยของทหาร ซึ่งโดยค่ารวม ๆ เท่าที่ได้ศึกษามา สมณะโพธิ์รักษ์นี่แหละคือผู้นำวินัยสงฆ์ ในยุคที่พระวินัยนั้นตกต่ำติดตมสุด ๆ แล้ว ทั้งการพานักบวชไม่รับเงินรับทอง ไม่สวดมนต์ผิดวินัย ไม่ทำเดรัจฉานวิชา ไม่ส่งเสริมสิ่งที่ผิดไปจากจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ผมคิดว่าการที่ท่านได้แสดงออกถึงความถูกต้องอย่างตรงไปตรงมาในยุคนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียกท่านว่าผู้ทรงวินัย

แล้วที่นี้การประกาศความเป็นอรหันต์ผิดวินัยไหม? ผมก็มีความเห็นว่าไม่ผิด เพราะพระพุทธเจ้าก็ประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์ สาวกในสมัยพุทธกาลก็ยังมีที่ประกาศความเป็นอรหันต์ในตน ผมให้ความเห็นว่าการประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิด และเป็นประโยชน์ด้วย

ดังเช่นว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประกาศอย่างกล้าหาญว่า เราคือพระพุทธเจ้า เราคือพระอรหันต์ เราตรัสรู้เอง เราไม่มีอาจารย์ ก็จะไม่สามารถสร้างศาสนาได้ ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งการศึกษา ตรวจสอบ พิสูจน์ ดังที่เราคุ้นเคยกับคำว่า เอหิปัสสิโก คือเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้ ก็คือพิสูจน์ความเป็นอรหันต์นี่แหละว่าทำได้จริงไหม

ส่วนวิธีพิสูจน์ก็ใช่ว่าจะเอาตรรกะมาวัด เอาทฤษฎีความรู้ความเข้าใจที่เคยได้เรียนมา มาวัด มันต้องใช้การปฏิบัติวัด คือถ้าทำตามแล้วพ้นทุกข์ ก็ใช่ ถ้าทำตามแล้วไม่พ้นทุกข์ เกิดอกุศล เกิดชั่วก็ไม่ใช่ แล้วก็ใช่ว่าจะได้ผลได้ง่าย ๆ คนโง่ย่อมไม่รู้ คนมีปัญญาจึงรู้

ดังนั้นการประกาศความเป็นอรหันต์ออกไปนั้น คือการเอื้อให้ผู้มีปัญญาได้เข้ามาศึกษาความจริง คือจะจริงเท่าไหร่นั้น ก็ว่ากันไปตามที่ทำได้จริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เปิดเผยแล้วเจริญคือธรรมะในพระพุทธศาสนา ความเป็นอรหันต์นั้นคือค่าสูงสุด คือจุดสุูงสุดของธรรมะ คือเป้าหมายสูงสุด เรียกว่าเป็นธรรมะที่เลิศยอด ถ้าเปิดเผยก็จะเจริญ ปิดไว้ไม่เจริญ ในขณะเดียวกันท่านก็ตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่แสดงจึงเจริญ แสดงออกไม่เจริญ

ในอดีตก็เคยมีนักบวชประกาศอรหันต์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าท่านที่ไม่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ ความเป็นอรหันต์ไม่ได้การันตีจากการประกาศหรือไม่ประกาศว่าตนเองเป็นอรหันต์

แต่อยู่ที่ว่าท่านนั้นพ้นทุกข์พ้นโง่ได้จริงรึเปล่าเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีการจะรู้ได้อย่างหนึ่งก็คือการที่ประกาศออกไป พอประกาศออกไปแล้ว คนมีปัญญาเขาจะเข้ามาพิสูจน์เอง มันก็จะได้ทั้งตรวจสอบตนเองและก็จะได้ประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่นเต็ม ๆ ถ้าไม่ใช่ก็จะได้สังวรระวังตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่แล้วยังหลงว่าตนเป็นอยู่ สมัยพุทธกาลก็มี อันนี้มันเรื่องธรรมดา หมู่สงฆ์ท่านก็แก้ไขกันไป แต่ทุกวันนี้การแก้ไขตรวจสอบก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ถ้าท่านใดประกาศล่ะก็ขึ้นหิ้งเลย ใครจะไปวิจารณ์ก็เหมือนจะหาเรื่องตายเปล่า ๆ กลายเป็นเทวดาอำนาจมหาศาลเลยล่ะ แบบนี้จะไปพิสูจน์มันก็พาลจะไม่รอดเอา

แต่ถ้าใครจะพิสูจน์สมณะโพธิรักษ์ ผมว่าทำได้ง่าย ๆ เลยนะ เพราะท่านเข้าถึงได้ง่ายมาก แถมท่านยังแสดงความจริงโดยการเอา sms หรือความเห็นที่พิมพ์เข้ามาด่าท่านนั่นแหละ เอามาอ่านออกอากาศเลย ผมว่านี่แหละคือความเก๋า คือความแกร่งที่แท้จริง เป็นยอดนักเลงโลกุตระที่ไม่กลัวกิเลส โชว์กันให้เห็น ๆ เลยว่า ต่อให้เขามาด่า มาดูถูก ก็ไม่โกรธเขา ไม่แสดงอาการขุ่นใจ แถมยังดูสดใสได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประกาศอรหันต์แล้วห้าวหาญขนาดนี้เลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเกิดไม่ทัน แต่เท่าที่รับรู้ส่วนมากก็ขึ้นหิ้ง สูงเกินไป จับต้องไม่ได้ ไม่มีโอกาสพิสูจน์

แต่สมณะโพธิรักษ์ นี่ท่านไม่เป็นแบบนั้น ผมเห็นว่าท่านเข้าถึงได้ง่าย พิสูจน์ได้ง่าย ไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากมายนัก เป็นความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่ ที่จะรอการพิสูจน์

ผมคิดว่าประเด็นที่ว่าการประกาศอรหันต์ผิดวินัยหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจ แต่การที่มีผู้ที่ประกาศความเป็นอรหันต์ยังปรากฎอยู่ในยุคสมัยที่กิเลสโอมล้อมโลกด้วยมิจฉาธรรมอันหนักหนาอยู่นี่แหละ คือสิ่งที่น่าสนใจ

ผมคิดอย่างนี้นะ ใครสนใจก็ตามศึกษาตามพิสูจน์เถอะ แต่อย่าได้มีจิตไปเพ่งโทษเลย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายความว่า หากผู้ที่สนใจศึกษาศาสนามัวแต่มุ่งเพ่งโทษ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เพราะมันมุ่งแต่ไปสนใจโทษ แม้มันจะเป็นจุดดำจุดเล็ก ๆ ในผ้าผืนใหญ่สีขาว แทนที่จะมุ่งสนใจว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร กลับมุ่งสนใจในสิ่งที่พร่อง ที่มันไม่สวยดั่งใจ มันก็จะเสียประโยชน์ไปกับการสนใจสิ่งที่ไม่มีสาระ

แม้ตอนนี้ใครจะประกาศความเป็นอรหันต์ออกมา ผมก็พร้อมเสมอนะ ที่จะศึกษาตาม ที่จะพิสูจน์ และพร้อมที่จะวิจารณ์กันอย่างเต็มที่

เลี้ยงสัตว์ ฆ่าสัตว์ ขายเนื้อสัตว์ ทำไมรวย อยู่สบาย?

ก็อาจจะนึกสงสัยกันได้บ้างว่าทำไมคนที่ทำธุรกิจบาปพวกนี้ เขาถึงไม่ตกนรกให้เห็นกันกับตาสักที

ถ้าเขาทำบาปคนเดียวรับคนเดียว น้ำหนักมันก็มาก แต่นี่เขาเลี้ยงฆ่าขายให้กับคนจำนวนมาก ผลมันก็แบ่งไปตามสัดส่วนที่เกี่ยวเนื่องนั่นแหละ มันมีผลบาป มันสะสม มันส่งผลอยู่ แต่ทุกข์จากบาปใช่ว่าจะรู้ได้ง่าย ๆ ต่อให้ชี้นิ้วบอกก็ใช่ว่าจะเชื่อ เช่นไปบอกคนเป็นมะเร็งว่าเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะกินเนื้อสัตว์ เขาจะทำใจเชื่อได้ไหม

สรุปมันก็เป็นนรกแบบแบ่งปันไปตามสัดส่วนของความหลงติดหลงยึด และความเบียดเบียน อันนี้ไม่ใช่แบ่งผลกรรมกันนะ กรรมของใครของมัน ใครทำอะไรก็ได้รับผลของคนนั้น

ส่วนที่เขารวยเอารวยเอาก็เพราะคนไปซื้อเนื้อสัตว์ ถ้าไม่หลงติดก็ไม่ซื้อ ไม่ซื้อเขาก็ไม่รวย ไม่เห็นจะมีอะไร ธุรกิจบาปของเขา ก็ร่ำรวยได้จากการเพิ่มความหลงติดหลงยึดหลงรสหลงสัมผัส ของคนกินนั้นแหละ

ธุรกิจที่ดำเนินไปตามความหลงของคน มันก็จะดูรวยตามแบบโลก ๆ ส่วนธุรกิจที่ดำเนินไปตามปัญญา นับวันมันจะมีแต่จนลง เพราะมีปัญญา สละออก แบ่งปัน ไม่สะสม กินน้อยใช้น้อย ชีวิตมันจะเอามาแบกให้เยอะทำไมให้โง่

เพราะหลงยึดไป (การเมืองวันนี้)

ผมเห็นข่าวและผลกระทบจากการเมืองวันนี้ รู้สึกว่าทุกวันนี้สังคมช่างดูเกรี้ยวกราด เหมือนกับว่าเขาพร้อมที่จะทะลวงฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธทุกเมื่อที่เห็น

สมัยก่อนเห็นว่าคนคลั่งฟุตบอลตีกันก็ว่ามากแล้ว คนคลั่งศาสนาเถียงกันก็ว่าบ้าแล้ว นี่คนคลั่งการเมืองออกความเห็นกันนี่ขมคอยิ่งกว่า

เพราะศาสนานี่มันมีถูกมีผิดของมันอยู่ มีรูปแบบมีหลักการอยู่ มันมีจุดจบของมันอยู่ แต่การเมืองนี่มันเรื่องโลก เรื่องโลกีย์ ไม่มีอะไรถูกผิดชัดเจน มีแต่สมมุติ มีแต่ชอบหรือชัง มีแต่เรื่องที่ลวงให้ไปหลงติดหลงยึด หลงมีอารมณ์ร่วมไปกับเขาเท่านั้น ก็เหมือนละครฉากหนึ่งนั่นแหละ

ผมว่านะ ที่เสนอ ๆ กันมานะ ถ้าทำด้วยใจบริสุทธิ์ไม่หวังประโยชน์ตนเอง มันก็ดีหมดนั่นแหละ แต่ดีนั้นจะเหมาะกับบริบทสังคมในปัจจุบันไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องดูเอาตามที่เสนอได้ไม่ฝืดไม่ฝืนจนเกินไป คือไม่ทะเลาะกัน ไม่วิวาทกัน แต่ถ้าดื้อรั้นจะเอานี่ก็คงไม่บริสุทธิ์หรอก

ทีนี้คนเขาก็เลือกตั้ง เอาคนดีตามที่เขาคิดเข้าไป แต่เขาไม่ได้เลือกแค่คนเข้าไป เขายังใส่จิตวิญญาณเข้าไปด้วย ตามไปยึดมั่นถือมั่นเลยนะ ว่าคนคนนั้นเป็นของเรา เป็นเรา เป็นพวกเรา เป็นความคิดเดียวกัน แม้ตัวนั่งดูอยู่หน้าจอ แต่จิตเสมือนไปสิงร่างผู้แทนคนนั้น

ใครมาติคนที่เราชอบก็ไปโกรธเขา ชังเขา ใครเห็นด้วยกับคนที่เราชอบก็ปลื้มใจ นี่มันคือความหลงไปสิงร่างเขา เขาไม่ใช่เราแท้ ๆ ก็ยังไปโกรธไปเกลียดแทนเขา

มันก็สร้างตัวตนขึ้นมาอีกหนึ่ง คือกิเลสตัวเอง การยึดตัวเองก็หนักหนาอยู่แล้ว ก็ยังไปสร้างจุดยึดขึ้นมาเพิ่ม ยึดตัวบุคคลอื่น(โอฬาริกอัตตา) ยึดอุดมการณ์(อรูปอัตตา) ก็ทำให้เกิดความทุกข์แปรผันตามความยึดนั่นแหละ

คนเรานี่ก็แปลก ขยันสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพิ่ม ชีวิตทุกวันนี้มันไม่ทุกข์พอหรือไง ต้องไปหาเรื่องเสพสุขให้มันสะใจ สาแก่ใจอยู่นั่นแหละ

สังคมที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ฯลฯ

พูดในรายการที่ได้เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ ที่ว่าการจะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน และผาสุก* นั้น จำเป็นต้องมีหมู่มิตรดีเป็นองค์ประกอบ

ก็มีผู้สนใจถามมาว่า จะเริ่มต้นที่ไหน ในประสบการณ์ของผมมีความเห็นว่า น่าจะเริ่มที่ค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม เพราะมีองค์ประกอบครบพร้อมในการศึกษา ยิ่งเป็นค่าย 5 วันขึ้นไปแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้พบกับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง คือไม่กินเนื้อสัตว์ตั้งหลายวันก็ยังแข็งแรงมีกำลังอยู่ได้ ไม่ตาย และหลายคนเขาก็ทำได้ ไม่เห็นจะแปลกอะไร ซึ่งมันก็เป็นพลังที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้น

หรือถ้าไม่มีเวลามากนัก ผมคิดว่าชุมชนในเครือข่ายอโศกน่าจะตอบโจทย์ได้ดี เช่นที่สันติอโศก (ถ.นวมินทร์) เขาจะมีตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จริง ๆ แล้วย่านนั้นก็มีอาหารมังสวิรัติขายประจำนั่นแหละ แต่เสาร์อาทิตย์ก็จะค่อนข้างคึกคักกว่า

สิ่งที่จะได้รับจากที่นี่คืออาหารมังสวิรัติราคาถูกและอร่อยตามมาตราฐานคนไทย ซึ่งต่างจากค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมที่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

ร้านขายอาหารมังสวิรัติในย่านสันติอโศก มีหลายร้าน สามารถเลือกซื้อเลือกกินได้ตามที่สนใจ โดยจะมีร้านหลักของชุมชน ชื่อว่าชมรมมังสวิรัติฯ สันติอโศก อยู่ติดถนน ตอนนี้อยู่หน้าปากซอยนวมินทร์ 48

ส่วนผู้ที่สนใจหาความรู้สามารถสอบถามที่ชมรมมังสวิรัติชั้น 2 จะมีหนังสือเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์จำหน่ายอยู่ ซึ่งเป็นแนวทาง ความเห็น ที่หาศึกษาได้ยากในปัจจุบัน

ผมขอแนะนำเพียงแค่ 2 องค์กรนี้เท่านั้น เพราะเท่าที่ศึกษา ผมมั่นใจว่าถ้าใครได้เข้าไปคบคุ้น ศึกษา พากเพียรปฏิบัติตาม ก็จะนำความผาสุกที่ยั่งยืนมาให้

ตายสังเวยรัก ตายเพราะความยึดมั่นถือมั่น

ข่าวทำร้ายกันหรือฆ่ากันตายเพราะเหตุแห่งความรักที่เกินทนไหว ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นข่าวประจำวันกันเสียแล้ว

รักแล้วไม่ทุกข์นั้นไม่มี รักแล้วไม่ยึดเป็นไปได้ยาก เพราะความหลงจะหลอกให้ไปรัก ความยึดจะเกิดเมื่อรักไปแล้ว ความทุกข์จะปรากฏเมื่อพบเจอการพลัดพราก

คนมักหลอกตัวเองซ้อนเข้าไปว่า ถ้าเข้าไปรักแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่ทุกข์ แต่จะมีอะไรพิสูจน์ได้ว่าตนเองจะไม่ทุกข์หรือคู่จะไม่ทุกข์ ในภาคทฤษฎีมันก็คิดกันไปได้ แต่ใครล่ะจะลองพิสูจน์สัจจะนี้ด้วยภาคปฏิบัติ

เวลาคนเขารักกันนี่เขาจะไม่พรากกันเลยนะ ไม่หัดพราก ไม่ยินดีในการพราก ใช่ว่าเขารักกันแล้วเขาจะยอมเลิกกันง่าย ๆ ซะที่ไหน ต่อให้เอาสวรร์นิพพานมาล่อเขาก็ไม่เอาหรอกความโสด เขาก็เกาะคู่เขาไว้เป็นสรณะแบบนั้นแหละ

มันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็ตอนจับแยกกันนี่แหละ จะแยกด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่น มันจะมีทุกข์เกิดขึ้นไม่ฝ่ายเราก็ฝ่ายเขา

พรากด้วยความรักก็ทุกข์ พรากด้วยความชังก็ทุกข์ ยิ่งความชังนี่อันตราย ก็เป็นเหตุให้ทำร้ายกันฆ่ากันนี่แหละ พอเลิกกันแล้วไม่ได้ดังใจ ก็ฆ่าเสียเลย ฆ่าบูชาความรัก ฆ่าบูชาความหลง สังเวยให้กับความยึดมั่นถือมั่น

ถ้าเราไม่ได้รักใคร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใคร เราจะไม่ทุกข์เพราะเขาเลย เขาก็จะเป็นคนคนหนึ่งในสังคม ใช้ชีวิตไปในแบบของเขา เราไ่ม่มีจิตชอบใจจะไปยุ่งกับเขา มันก็จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวเขา

ในประเด็น รักแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือรักแล้วพากันทำดี นี่ผมคิดว่ามันเป็นกลกิเลสที่แนบเนียนมาก ในสังคมส่วนมากเขาก็สอนกันแบบนี้ จริง ๆ คือมันจะเป็นช่องเหตุผลอันงดงามให้คนเข้าไปยึดตามที่ถือมั่นไว้นั่นแหละ แต่คนที่หลงไปมีคู่แล้ว ก็คงต้องปฏิบัติตามหลักนั้นไปพลาง ๆ คือ หัดไม่ยึดมั่นถือมั่น ส่วนพากันทำดีนั้น ไม่ต้องให้น้ำหนักมาก ให้เป็นพาตัวเองทำดีให้เต็มที่จะดีกว่า ส่วนคู่เขาจะทำไม่ทำก็เรื่องของเขา เอาตัวเราให้รอดก่อน อย่าไปผูกกับใคร ว่ายน้ำยังไม่แข็งอย่าเพิ่งไปช่วยคนอื่น จะพาจมกันไปทั้งคู่

ไม่อย่างนั้นมันจะเวียนเกิดเวียนตายเพราะความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องคู่อีกหลายชาติ เรื่องนี้ยาก ต้องตั้งใจให้ดี ไม่ประมาท

สมการการกิน

เมื่อก่อนก็ยังหลงคิดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อศึกษาจนมาถึงตอนนี้ก็กลับพบว่ามันไม่ได้จำเป็นเลย

สมัยก่อน : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + เนื้อสัตว์
ตอนนี้ : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ

ผมค้นพบว่า แค่กินถั่วแทนเนื้อสัตว์ ชีวิตก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก มีแรง มีกำลังทำงานเป็นปกติ ดังนั้น เนื้อสัตว์จึงเป็นตัวแปรที่ชีวิตไม่จำเป็นต้องใช้

คนไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่กินถั่วและธัญพืช จะอิ่มได้ไม่นาน แรงน้อย แต่ถ้ากินแต่พวกถั่วอบถั่วทอด ถั่วขนมถุง ๆ ทั้งหลายก็อยู่ไม่รอดเหมือนกัน อันนั้นได้คุณค่าน้อย บวกกับพิษจากการผลิตและการปรุงแต่งที่เยอะ โดยค่ารวม ๆ คือมีประโยชน์บ้าง มีโทษปานกลาง แต่ถ้าเป็นพวกถั่วนึ่ง ถั่วต้มนี่จะอิ่มท้องมีกำลังอยู่ได้นาน ยิ่งกินแบบไม่ใส่น้ำตาลยิ่งดี ถั่วที่ดี คือถั่วที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ฯลฯ หรือถั่วท้องถิ่นทั้งหลาย

การเลือกกินถั่วหรือเนื้อสัตว์ในด้านความต้องการโปรตีนของร่างกาย มีเหตุและผลไม่เหมือนกัน การกินถั่วเกษตรกรต้องเสียเหงื่อเสียแรง ส่วนการกินเนื้อสัตว์ สัตว์ต้องกลัว เจ็บปวด และเสียชีวิต และส่งเสริมกิจกรรมที่ผิดศีลไปในตัว ดังนั้นผลที่ได้จึงต่างกัน แม้จะเป็นธาตุโปรตีนเหมือนกัน แต่ผลจะไม่เหมือนกัน กรรม(การกระทำ)ต่างกันวิบากกรรม(ผลของการกระทำ)ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

การใช้ชีวิตให้แข็งแรงผาสุกอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องศึกษาเหตุที่เกิดสืบเนื่องต่อกันมาและผลที่เกิดจากความแตกต่างของเหตุเหล่านั้น

กุศลหลอก กิเลสหลอน

ผมตั้งข้อสังเกตนี้มานาน เป็นเรื่องของการทำดี ทำกุศลกรรมทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่าจะดีในเบื้องต้น แต่จบลงที่ขาดทุนในเบื้องปลาย

คนเราถ้าไม่หมั่นทำดีมันก็มักจะมีชั่วอยู่ในการไม่ทำดีนั้นอยู่แล้ว พอพัฒนาตนเองมาหมั่นทำดี ก็ใช่ว่าชั่วที่มีจะหายไปหมด ส่วนหนึ่งมันก็เปลี่ยนรูปเป็นชั่วในดีนั่นแหละ

การจะเห็นชั่วในดี มันก็ต้องหมั่นทำดี มาทำกิจกรรมการงานที่ดีร่วมกันกับหมู่มิตรดี ถึงจะมีโอกาสเห็นได้มากขึ้น ทำคนเดียวมันเห็นยาก พอมาทำร่วมกับคนอื่นเดี๋ยวคนตาดีเขาก็เห็น จะแอบซ่อนยังไง มันก็จะทะลักออกมาให้เห็น ยิ่งถ้าตนเองมีญาณปัญญารับรู้ได้ดี ก็ยิ่งเห็นตนเองได้ชัดยิ่งขึ้น

ลีลาของชั่วในดีอันหนึ่งก็คือ การตั้งจิตผิด ไปเอาผลของงานมาเป็นตัวตั้งว่าทำดีแล้วมันต้องเกิดผลดี ต้องเกิดดีสำเร็จตามที่ตั้งใจ ต้องมีคนรับรู้ถึงดีนั้น ๆ จึงจะสุขใจ

โดยมากผู้ที่มีอาการเหล่านี้มักจะมองข้าม ไม่สนใจการพัฒนาของจิตใจหรือการเติบโตของกิเลสในตน เพราะเกิดจากการตั้งจิตไว้ผิด พอเอางานนำ การปฏิบัติใจมันจะพร่องไปเยอะ แต่ถ้าเอาเรื่องใจนำ งานก็ทำดีเต็มที่แล้วปล่อยวางให้เป็นไปตามวิบากกรรม มันก็จะได้ทั้งใจทั้งงานอย่างเต็มที่ที่สุด แม้มันจะขาดบ้างพร่องบ้าง ออกมาไม่สวยบ้าง แต่ถ้าใจไม่ทุกข์ กิเลสไม่กำเริบมันก็ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็น

เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะกิเลสมันหลอกให้มองไปนอกตัว ปิดบังไม่ให้ไปยุ่งกับมัน โดยเอากุศลหรือการทำดีนี่แหละ เป็นเป้าลวงให้คนพุ่งชน คนหลงตามกิเลสเขาก็พุ่งชนแต่เป้ากุศล เอาแต่เป้ากุศลเป็นหลักชัย ว่าดีทีทำนี้ งานการกุศลนี้ต้องสำเร็จเพื่อเป้าหมาย…ฯลฯ

นึกภาพไม่ออกก็นึกถึงวัวกับมาทาดอร์ ถ้าวิ่งชนถูกเป้ามันก็จบ แต่ถ้าโดนเขาล่อลวงไปเรื่อย ๆ มันก็วิ่งวนไปอยู่แบบนั้น

กิเลสนี่มันร้าย แม้จะมาทำดีแล้ว แต่มันจะลวงให้เราหลงแต่ในกุศล ไม่สนใจเรื่อง “บุญ” หรือการชำระกิเลส มันจะไม่ให้เราใส่ใจ ไม่ให้เราให้เวลา ไม่ให้เราให้น้ำหนัก ไม่ให้เราเห็นความสำคัญของการทำบุญ ขัดเกลากิเลส แต่จะลวงเราให้หลงกับการทำงานและผลของงานอย่างหน้ามืดตามัว มาทำงานกับคนหมู่มากก็จะเอาแต่กุศล จะเอาแต่งานนอกเสร็จ แต่งานใน คือเรื่องกิเลสในจิตใจ ไม่พากันทำ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ให้เวลา ไม่ช่วยกันทำ งานนอกเสร็จแล้วก็แยกย้าย สุดท้ายกิเลสงาบไปกินหมด

ซึ่งกิเลสมันก็เนียนมาก ๆ เพราะคนทำดี มันก็จะมีผลดีให้ได้กินได้ใช้เป็นธรรมดา ซึ่งบางทีไอ้ “ผลดี” ที่ว่านี่แหละ คือสิ่งที่เลี้ยงเราไว้ให้หลงในความเป็น “โลกีย์” ความขาดทุนของการยึดดีเป็นหลักชัยนั้นก็คือความวนอยู่ในโลกนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ

ทำดีทำกุศล มันก็มีดีไว้กินไว้ใช้ไว้ป้องกัน แต่มันก็ไม่ใช่ว่าทำดีที่สุดแล้วจะพ้นทุกข์ ถ้าจะพ้นทุกข์มันก็ต้องหัดทำบุญ หรือหัดชำระกิเลส ดีนั้นก็เอาไว้อาศัยทำประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะควรยึดมาเป็นตัวเป็นตน หรือยึดว่าเป็นผลที่น่าได้น่าเสพใด ๆ

สรุปจบตรงที่ว่า อย่าหลงกุศล จนลืมทำบุญ(การชำระกิเลสในสันดาน)