การประกาศอรหันต์ในยุคปัจจุบัน

มีความคิดเห็นถามเข้ามาว่า กรณีที่สมณะโพธิรักษ์ประกาศความเป็นอรหันต์ในตนนั้น ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากครับสำหรับประเด็นนี้ เพราะในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ไม่มีใครที่ประกาศอย่างมั่นใจเท่ากับนักบวชท่านนี้อีกแล้ว

ในความเห็นของผมซึ่งไม่ได้ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดนัก แต่ก็ได้ศึกษาภาพรวมของศาสนาจนคิดว่าสามารถใช้ความรู้มาเทียบเคียงได้

วินัยสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่นักบวชควรปฏิบัติ เป็นเสมือนวินัยในอาชีพ การปฏิบัติก็คล้ายวินัยของทหาร ซึ่งโดยค่ารวม ๆ เท่าที่ได้ศึกษามา สมณะโพธิ์รักษ์นี่แหละคือผู้นำวินัยสงฆ์ ในยุคที่พระวินัยนั้นตกต่ำติดตมสุด ๆ แล้ว ทั้งการพานักบวชไม่รับเงินรับทอง ไม่สวดมนต์ผิดวินัย ไม่ทำเดรัจฉานวิชา ไม่ส่งเสริมสิ่งที่ผิดไปจากจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ผมคิดว่าการที่ท่านได้แสดงออกถึงความถูกต้องอย่างตรงไปตรงมาในยุคนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียกท่านว่าผู้ทรงวินัย

แล้วที่นี้การประกาศความเป็นอรหันต์ผิดวินัยไหม? ผมก็มีความเห็นว่าไม่ผิด เพราะพระพุทธเจ้าก็ประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์ สาวกในสมัยพุทธกาลก็ยังมีที่ประกาศความเป็นอรหันต์ในตน ผมให้ความเห็นว่าการประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิด และเป็นประโยชน์ด้วย

ดังเช่นว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประกาศอย่างกล้าหาญว่า เราคือพระพุทธเจ้า เราคือพระอรหันต์ เราตรัสรู้เอง เราไม่มีอาจารย์ ก็จะไม่สามารถสร้างศาสนาได้ ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งการศึกษา ตรวจสอบ พิสูจน์ ดังที่เราคุ้นเคยกับคำว่า เอหิปัสสิโก คือเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้ ก็คือพิสูจน์ความเป็นอรหันต์นี่แหละว่าทำได้จริงไหม

ส่วนวิธีพิสูจน์ก็ใช่ว่าจะเอาตรรกะมาวัด เอาทฤษฎีความรู้ความเข้าใจที่เคยได้เรียนมา มาวัด มันต้องใช้การปฏิบัติวัด คือถ้าทำตามแล้วพ้นทุกข์ ก็ใช่ ถ้าทำตามแล้วไม่พ้นทุกข์ เกิดอกุศล เกิดชั่วก็ไม่ใช่ แล้วก็ใช่ว่าจะได้ผลได้ง่าย ๆ คนโง่ย่อมไม่รู้ คนมีปัญญาจึงรู้

ดังนั้นการประกาศความเป็นอรหันต์ออกไปนั้น คือการเอื้อให้ผู้มีปัญญาได้เข้ามาศึกษาความจริง คือจะจริงเท่าไหร่นั้น ก็ว่ากันไปตามที่ทำได้จริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เปิดเผยแล้วเจริญคือธรรมะในพระพุทธศาสนา ความเป็นอรหันต์นั้นคือค่าสูงสุด คือจุดสุูงสุดของธรรมะ คือเป้าหมายสูงสุด เรียกว่าเป็นธรรมะที่เลิศยอด ถ้าเปิดเผยก็จะเจริญ ปิดไว้ไม่เจริญ ในขณะเดียวกันท่านก็ตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่แสดงจึงเจริญ แสดงออกไม่เจริญ

ในอดีตก็เคยมีนักบวชประกาศอรหันต์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าท่านที่ไม่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ ความเป็นอรหันต์ไม่ได้การันตีจากการประกาศหรือไม่ประกาศว่าตนเองเป็นอรหันต์

แต่อยู่ที่ว่าท่านนั้นพ้นทุกข์พ้นโง่ได้จริงรึเปล่าเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีการจะรู้ได้อย่างหนึ่งก็คือการที่ประกาศออกไป พอประกาศออกไปแล้ว คนมีปัญญาเขาจะเข้ามาพิสูจน์เอง มันก็จะได้ทั้งตรวจสอบตนเองและก็จะได้ประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่นเต็ม ๆ ถ้าไม่ใช่ก็จะได้สังวรระวังตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่แล้วยังหลงว่าตนเป็นอยู่ สมัยพุทธกาลก็มี อันนี้มันเรื่องธรรมดา หมู่สงฆ์ท่านก็แก้ไขกันไป แต่ทุกวันนี้การแก้ไขตรวจสอบก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ถ้าท่านใดประกาศล่ะก็ขึ้นหิ้งเลย ใครจะไปวิจารณ์ก็เหมือนจะหาเรื่องตายเปล่า ๆ กลายเป็นเทวดาอำนาจมหาศาลเลยล่ะ แบบนี้จะไปพิสูจน์มันก็พาลจะไม่รอดเอา

แต่ถ้าใครจะพิสูจน์สมณะโพธิรักษ์ ผมว่าทำได้ง่าย ๆ เลยนะ เพราะท่านเข้าถึงได้ง่ายมาก แถมท่านยังแสดงความจริงโดยการเอา sms หรือความเห็นที่พิมพ์เข้ามาด่าท่านนั่นแหละ เอามาอ่านออกอากาศเลย ผมว่านี่แหละคือความเก๋า คือความแกร่งที่แท้จริง เป็นยอดนักเลงโลกุตระที่ไม่กลัวกิเลส โชว์กันให้เห็น ๆ เลยว่า ต่อให้เขามาด่า มาดูถูก ก็ไม่โกรธเขา ไม่แสดงอาการขุ่นใจ แถมยังดูสดใสได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประกาศอรหันต์แล้วห้าวหาญขนาดนี้เลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเกิดไม่ทัน แต่เท่าที่รับรู้ส่วนมากก็ขึ้นหิ้ง สูงเกินไป จับต้องไม่ได้ ไม่มีโอกาสพิสูจน์

แต่สมณะโพธิรักษ์ นี่ท่านไม่เป็นแบบนั้น ผมเห็นว่าท่านเข้าถึงได้ง่าย พิสูจน์ได้ง่าย ไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากมายนัก เป็นความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่ ที่จะรอการพิสูจน์

ผมคิดว่าประเด็นที่ว่าการประกาศอรหันต์ผิดวินัยหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจ แต่การที่มีผู้ที่ประกาศความเป็นอรหันต์ยังปรากฎอยู่ในยุคสมัยที่กิเลสโอมล้อมโลกด้วยมิจฉาธรรมอันหนักหนาอยู่นี่แหละ คือสิ่งที่น่าสนใจ

ผมคิดอย่างนี้นะ ใครสนใจก็ตามศึกษาตามพิสูจน์เถอะ แต่อย่าได้มีจิตไปเพ่งโทษเลย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายความว่า หากผู้ที่สนใจศึกษาศาสนามัวแต่มุ่งเพ่งโทษ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เพราะมันมุ่งแต่ไปสนใจโทษ แม้มันจะเป็นจุดดำจุดเล็ก ๆ ในผ้าผืนใหญ่สีขาว แทนที่จะมุ่งสนใจว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร กลับมุ่งสนใจในสิ่งที่พร่อง ที่มันไม่สวยดั่งใจ มันก็จะเสียประโยชน์ไปกับการสนใจสิ่งที่ไม่มีสาระ

แม้ตอนนี้ใครจะประกาศความเป็นอรหันต์ออกมา ผมก็พร้อมเสมอนะ ที่จะศึกษาตาม ที่จะพิสูจน์ และพร้อมที่จะวิจารณ์กันอย่างเต็มที่

ผู้สมควรบวชให้ผู้อื่น ต้องเป็นพระอรหันต์

ภิกษุพึงเป็นพระอรหันต์ จึงให้กุลบุตรบวชได้!!

ไปอ่านเจอมาในพระไตรปิฎก เรียกว่าโหดมากทีเดียว แต่ก็เป็นส่ิงที่สมควรที่สุด ในการบวช ในการให้นิสัย รวมทั้งให้มีสามเณรคอยดูแล… ควรเป็นพระอรหันต์

จะยกพระสูตรนึงมาให้อ่านนะครับ ( เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๕๑-๒๕๓)

“[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ พึงให้
กุลบุตรอุปสมบทได้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็น
ของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัศนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ฯ”

ในข้ออื่นๆ ก็มีความไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างคำว่า ศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ คำว่า “อเสขะ” คือไม่ต้องศึกษาแล้ว มีตำแหน่งเดียวคือพระอรหันต์นั่นแหละ สรุปคือต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ในระดับของพระอรหันต์นั่นเอง แม้เป็นพระอริยะระดับอื่นๆ ก็ยังไม่สมควร

สรุปคือถ้าไม่เป็นอรหันต์นี่บวชให้ใครไม่ได้นะครับ จะฝืนบวชก็ได้ แต่ไม่เจริญหรอก

ซึ่งสูตรที่ยกมานี้เข้ากับคำตรัสที่ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงจะไปสอนใครก็ทำตัวเองให้ได้ก่อน การบวชนี่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นตนเองต้องทำให้ได้ก่อน

ถ้าสาวกพระพุทธเจ้ามาอ่านสูตรนี้ผมว่าสะดุ้งเลยนะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันจะรู้สึกเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร สมมุติถ้าผมเป็นนักบวชนี่ ผมก็คงไม่กล้าบวชให้ใคร หรือถึงเคยทำไปโดยไม่รู้ ก็เลิกทำล่ะงานนี้ ฝืนทำต่อก็นรกกินหัวเปล่าๆ

ส่วนจะมีสูตรไหนอนุโลมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ผมว่ายึดสูตรนี้ไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณนักบวชหรอก เน้นคุณภาพก็พอ ศาสนาพุทธนี่ไม่ได้เน้นปริมาณนะ เอาปริมาณเข้าว่าไม่ได้ เพราะคนเห็นผิดเท่าดินทั้งแผ่นดิน คนเห็นถูกเท่าฝุ่นที่ติดปลายเล็บ ดังนั้นจึงควรจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก