การประกาศอรหันต์ในยุคปัจจุบัน

มีความคิดเห็นถามเข้ามาว่า กรณีที่สมณะโพธิรักษ์ประกาศความเป็นอรหันต์ในตนนั้น ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากครับสำหรับประเด็นนี้ เพราะในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ไม่มีใครที่ประกาศอย่างมั่นใจเท่ากับนักบวชท่านนี้อีกแล้ว

ในความเห็นของผมซึ่งไม่ได้ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดนัก แต่ก็ได้ศึกษาภาพรวมของศาสนาจนคิดว่าสามารถใช้ความรู้มาเทียบเคียงได้

วินัยสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่นักบวชควรปฏิบัติ เป็นเสมือนวินัยในอาชีพ การปฏิบัติก็คล้ายวินัยของทหาร ซึ่งโดยค่ารวม ๆ เท่าที่ได้ศึกษามา สมณะโพธิ์รักษ์นี่แหละคือผู้นำวินัยสงฆ์ ในยุคที่พระวินัยนั้นตกต่ำติดตมสุด ๆ แล้ว ทั้งการพานักบวชไม่รับเงินรับทอง ไม่สวดมนต์ผิดวินัย ไม่ทำเดรัจฉานวิชา ไม่ส่งเสริมสิ่งที่ผิดไปจากจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ผมคิดว่าการที่ท่านได้แสดงออกถึงความถูกต้องอย่างตรงไปตรงมาในยุคนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียกท่านว่าผู้ทรงวินัย

แล้วที่นี้การประกาศความเป็นอรหันต์ผิดวินัยไหม? ผมก็มีความเห็นว่าไม่ผิด เพราะพระพุทธเจ้าก็ประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์ สาวกในสมัยพุทธกาลก็ยังมีที่ประกาศความเป็นอรหันต์ในตน ผมให้ความเห็นว่าการประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิด และเป็นประโยชน์ด้วย

ดังเช่นว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประกาศอย่างกล้าหาญว่า เราคือพระพุทธเจ้า เราคือพระอรหันต์ เราตรัสรู้เอง เราไม่มีอาจารย์ ก็จะไม่สามารถสร้างศาสนาได้ ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งการศึกษา ตรวจสอบ พิสูจน์ ดังที่เราคุ้นเคยกับคำว่า เอหิปัสสิโก คือเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้ ก็คือพิสูจน์ความเป็นอรหันต์นี่แหละว่าทำได้จริงไหม

ส่วนวิธีพิสูจน์ก็ใช่ว่าจะเอาตรรกะมาวัด เอาทฤษฎีความรู้ความเข้าใจที่เคยได้เรียนมา มาวัด มันต้องใช้การปฏิบัติวัด คือถ้าทำตามแล้วพ้นทุกข์ ก็ใช่ ถ้าทำตามแล้วไม่พ้นทุกข์ เกิดอกุศล เกิดชั่วก็ไม่ใช่ แล้วก็ใช่ว่าจะได้ผลได้ง่าย ๆ คนโง่ย่อมไม่รู้ คนมีปัญญาจึงรู้

ดังนั้นการประกาศความเป็นอรหันต์ออกไปนั้น คือการเอื้อให้ผู้มีปัญญาได้เข้ามาศึกษาความจริง คือจะจริงเท่าไหร่นั้น ก็ว่ากันไปตามที่ทำได้จริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เปิดเผยแล้วเจริญคือธรรมะในพระพุทธศาสนา ความเป็นอรหันต์นั้นคือค่าสูงสุด คือจุดสุูงสุดของธรรมะ คือเป้าหมายสูงสุด เรียกว่าเป็นธรรมะที่เลิศยอด ถ้าเปิดเผยก็จะเจริญ ปิดไว้ไม่เจริญ ในขณะเดียวกันท่านก็ตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่แสดงจึงเจริญ แสดงออกไม่เจริญ

ในอดีตก็เคยมีนักบวชประกาศอรหันต์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าท่านที่ไม่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ ความเป็นอรหันต์ไม่ได้การันตีจากการประกาศหรือไม่ประกาศว่าตนเองเป็นอรหันต์

แต่อยู่ที่ว่าท่านนั้นพ้นทุกข์พ้นโง่ได้จริงรึเปล่าเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีการจะรู้ได้อย่างหนึ่งก็คือการที่ประกาศออกไป พอประกาศออกไปแล้ว คนมีปัญญาเขาจะเข้ามาพิสูจน์เอง มันก็จะได้ทั้งตรวจสอบตนเองและก็จะได้ประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่นเต็ม ๆ ถ้าไม่ใช่ก็จะได้สังวรระวังตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่แล้วยังหลงว่าตนเป็นอยู่ สมัยพุทธกาลก็มี อันนี้มันเรื่องธรรมดา หมู่สงฆ์ท่านก็แก้ไขกันไป แต่ทุกวันนี้การแก้ไขตรวจสอบก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ถ้าท่านใดประกาศล่ะก็ขึ้นหิ้งเลย ใครจะไปวิจารณ์ก็เหมือนจะหาเรื่องตายเปล่า ๆ กลายเป็นเทวดาอำนาจมหาศาลเลยล่ะ แบบนี้จะไปพิสูจน์มันก็พาลจะไม่รอดเอา

แต่ถ้าใครจะพิสูจน์สมณะโพธิรักษ์ ผมว่าทำได้ง่าย ๆ เลยนะ เพราะท่านเข้าถึงได้ง่ายมาก แถมท่านยังแสดงความจริงโดยการเอา sms หรือความเห็นที่พิมพ์เข้ามาด่าท่านนั่นแหละ เอามาอ่านออกอากาศเลย ผมว่านี่แหละคือความเก๋า คือความแกร่งที่แท้จริง เป็นยอดนักเลงโลกุตระที่ไม่กลัวกิเลส โชว์กันให้เห็น ๆ เลยว่า ต่อให้เขามาด่า มาดูถูก ก็ไม่โกรธเขา ไม่แสดงอาการขุ่นใจ แถมยังดูสดใสได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประกาศอรหันต์แล้วห้าวหาญขนาดนี้เลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเกิดไม่ทัน แต่เท่าที่รับรู้ส่วนมากก็ขึ้นหิ้ง สูงเกินไป จับต้องไม่ได้ ไม่มีโอกาสพิสูจน์

แต่สมณะโพธิรักษ์ นี่ท่านไม่เป็นแบบนั้น ผมเห็นว่าท่านเข้าถึงได้ง่าย พิสูจน์ได้ง่าย ไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากมายนัก เป็นความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่ ที่จะรอการพิสูจน์

ผมคิดว่าประเด็นที่ว่าการประกาศอรหันต์ผิดวินัยหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจ แต่การที่มีผู้ที่ประกาศความเป็นอรหันต์ยังปรากฎอยู่ในยุคสมัยที่กิเลสโอมล้อมโลกด้วยมิจฉาธรรมอันหนักหนาอยู่นี่แหละ คือสิ่งที่น่าสนใจ

ผมคิดอย่างนี้นะ ใครสนใจก็ตามศึกษาตามพิสูจน์เถอะ แต่อย่าได้มีจิตไปเพ่งโทษเลย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายความว่า หากผู้ที่สนใจศึกษาศาสนามัวแต่มุ่งเพ่งโทษ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เพราะมันมุ่งแต่ไปสนใจโทษ แม้มันจะเป็นจุดดำจุดเล็ก ๆ ในผ้าผืนใหญ่สีขาว แทนที่จะมุ่งสนใจว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร กลับมุ่งสนใจในสิ่งที่พร่อง ที่มันไม่สวยดั่งใจ มันก็จะเสียประโยชน์ไปกับการสนใจสิ่งที่ไม่มีสาระ

แม้ตอนนี้ใครจะประกาศความเป็นอรหันต์ออกมา ผมก็พร้อมเสมอนะ ที่จะศึกษาตาม ที่จะพิสูจน์ และพร้อมที่จะวิจารณ์กันอย่างเต็มที่

เข้าใจเรื่องกรรม ไม่ช้ำใจ

เรื่องกรรมและผลของกรรมนี่เป็นเรื่องเข้าใจยาก อธิบายยาก สอนยาก เพราะมันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ

นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ อันนี้ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทำใจให้เข้าใจเมื่อกระทบกับความจริงตรงหน้า (คิดเอาท่องเอา มันก็พอได้อยู่หรอก)

ดังเช่นว่า เพื่อนร่วมงานเป็นที่รักของเจ้านาย ส่วนเรานี่เป็นที่น่าชังเสียเหลือเกิน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรม มันจะโทษองค์ประกอบภายนอกหมดเลย เขาลำเอียงบ้างล่ะ เขาเลียเจ้านายบ้างล่ะ เขาไม่เข้าใจถึงคุณค่าของเราบ้างล่ะ

จิตที่มีกิเลสมันจะพุ่งไปเอาทันทีเลย มันจะโลภ อยากได้ของที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์จะได้ อยากได้ของที่ตัวเองไม่ได้ทำมา อยากได้สภาพดี ๆ ชังสภาวะหมาหัวเน่า อะไรแบบนี้ ถึงแม้พยายามเก็บอาการ แต่มันก็จะทำให้ขุ่นใจ ซึ่งอาจจะทำให้ออกหน้า ออกท่าทางโดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้ามาทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ดี ๆ ว่านั่นเขาก็มีกรรมของเขาเนาะ ที่เขาจะเข้ากันได้ เกื้อกูลกันดี ก็เขาอาจจะเข้าขากันมาหลายภพหลายชาติ จริตเขาตรงกัน เขาก็มีผลกรรมที่เขาควรได้รับอย่างนั้น

แล้วเราทำไมไม่ได้อย่างเขา ก็เราไม่ได้ทำมา เราอาจจะเข้าใจว่าเราทำดีมามาก แต่ดีแบบนี้เราไม่ได้ทำ เราไปทำดีแบบอื่นมุมอื่น หรือจริง ๆ ก็คือเรายังทำดีไม่มากพอ ที่จะส่งผลให้มันเกิดสิ่งดีขึ้นกับเรา

ซึ่งดีโดยมากมันก็รั่วออกไปเพราะกิเลสนั่นแหละ ทำดีแล้วเททิ้ง ทำดีเป็นคนดี แต่พอโดนคนเข้าใจผิด ดูถูก ใส่ร้าย หยาม ข่ม ฯลฯ แล้วดันไปโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา อันนี้ดีที่ทำมามันรั่วออกรูนี้

ยิ่งเราสำคัญตนว่าตนดีเท่าไหร่ ฟ้าจะส่งโจทย์มาพิสูจน์ความดีเสมอว่า กระทบกับสิ่งเหล่านี้แล้วยังดีได้จริงอย่างที่คิดหรือเปล่า หรือเอาดีไปเททิ้งหมดแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายถึงเมื่อคนดีกระทบสิ่งใดแล้วก็จะไม่พาล ไม่ชิงชัง ไม่คิดร้าย ไม่เพ่งโทษ ไม่เห็นว่าสิ่งร้ายที่กระทบนั้นจะเป็นโทษใด ๆ แก่จิตอันเป็นกุศลของตนเอง และไม่สร้างความเห็นผิดให้ตนเองซ้ำ

เพราะมีความเห็นเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างถูกต้องว่า ก็ถูกแล้ว สิ่งร้ายและดีที่เราได้รับ นั้นเพราะเราทำมาเอง ได้รับก็ได้รู้ว่าทำมา ได้รู้ก็ได้ระลึกว่าตนทำดีทำชั่วมาแค่ไหน เจอร้าย ก็อ๋อ ทำชั่วมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ชั่วนี้แหละที่ทำ เจอดีก็ทำดีมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ดีนี้แหละที่ทำมา

เรื่องราวมันก็วนอยู่ในตัวอยู่เท่านี้ อยู่กับเรื่องตัวเองอยู่กับกรรมและผลของกรรมของตัวเอง เมื่อใจไม่ได้สุขไม่ได้ทุกข์กับสิ่งที่กระทบ ความเห็น ความคิด การพูด การทำต่อจากนั้นเราก็ปรับปรุงให้เกิดดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดีใหม่ที่เราจะทำอย่างมีสติ ไม่ใช่ดีที่หลงไปเองว่าดี เพราะดีที่ทำมา อาจจะไม่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริงก็ได้

เจอตอบนทางธรรม

วันก่อนผมเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ตระหนักถึงภัยอันน่ากลัว คือผมเดินไปสะดุดกระดานรองเขียนที่วางไว้ที่พื้น กระดานนั้นมันมีสีน้ำตาลเหมือนสีพื้น แม้มันจะสูงกว่าพื้นไม่มากนัก แต่มันก็ไม่ใช่พื้น และเราก็ไม่ทันสังเกต เราไปเห็นว่ามันเป็นพื้น สุดท้ายก็เลยสะดุดมัน

ก็ทำให้คิดว่า บนเส้นทางธรรมนี่ก็เป็นเส้นทางที่น่ากลัวเหมือนกัน ประมาทไม่ได้ และประมาทใครก็ไม่ได้ คนที่ไม่มีสติจะไม่ทันสังเกตความแตกต่าง คนไม่มีปัญญาจะไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร

คนที่หันมาปฏิบัติธรรมแรก ๆ ส่วนมากจะมีความอ่อนน้อม เพราะรู้ตัวว่ายังไม่เก่ง แต่พออยู่นานเข้า ศึกษาและปฏิบัตินานเข้า ก็จะเริ่มเก่งและอัตตาก็จะเริ่มโต พออัตตาโตสายตามันก็จะเริ่มสั้น เริ่มมองเห็นไม่ชัด เห็นได้แต่ใกล้ ๆ คือเห็นสำคัญแต่ตัวตนของตนเอง แต่มักไม่เห็นความสำคัญในผู้อื่น

พอมองไม่ชัด มันก็เผลอ ก็พลาด ก็เลยเกิดเป็นสภาพชนตอ ทีนี้พออัตตาจัดแล้วชนตอ มันจะไม่รู้ตัวว่าชนตอ รู้แต่เจ็บ รู้แต่ทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าชนอะไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ชนไปแล้ว

หายนะอย่างหนึ่งของผู้ปฏิบัติธรรม คือการเพ่งโทษกันในหมู่คนดี กรรมเหล่านั้นจะให้ผลเช่น หลง เสื่อม เจ็บ ตาย ฯลฯ ซึ่งจะมีความรุนแรงไปตามตัวแปรคือบุคคลที่ไปเพ่งโทษ เรื่องที่ไปเพ่งโทษ และระยะเวลาที่ยังไม่ได้แก้ความเห็นผิดนั้น ๆ

ผมเคยเห็นผู้ที่ทำกรรมนี้มาแล้ว คือทำดีมาแทบตาย สุดท้ายชนตอ แล้วตอใหญ่ด้วย แต่ตัวเองไม่เห็น ไม่สำคัญว่านั่นคือตอ ชนทีเดียวตายเลย

ผมจึงต้องคอยตรวจสอบและระวังตัวเองให้มาก ไม่ให้สบประมาทใคร ไม่ให้เพ่งโทษใคร ไม่ให้อัตตาครอบงำจนสายตาสั้นหรือตาบอดมองไม่เห็นตอนั้น เพราะทันทีที่ผมพลาด ชีวิตผมก็คงจะล่มจมและฉิบหายด้วยผลแห่งกรรมนั้น ๆ

แม้จนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังต้องตรวจจิตตัวเองซ้ำแล้วซ่ำเล่าว่ายังดีอยู่ไหม ยังมีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อยู่ไหม หรือมันเบี้ยว มันเอนออก เราตรวจสอบกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เขาให้ความเห็นอย่างไร เขายังเห็นว่าเรายังดีอยู่ไหม ก็ต้องตรวจทั้งตนเองและให้ผู้อื่นตรวจ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วได้ผลที่ถูกตรงนั้นน่ากลัวเหมือนอสรพิษ ที่ว่าน่ากลัวไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นจะมาทำร้ายเรา แต่น่ากลัวเพราะถ้าเราจะพลาดไปคิดพูดทำไม่ดีต่อท่าน นั่นหมายถึงเราได้สร้างความฉิบหายในระดับที่เรียกว่าโดนงูพิษกัดก็ยังน้อยไปให้ชีวิตของเรานั่นเอง

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้หรือฟังอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงโอกาสในการที่เราจะฉลาดขึ้น มีปัญญามากขึ้น รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่การจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะมีอัตตายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ได้รู้มา และไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วได้ เมื่อเป็นดังนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความไม่คุ้นชิน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปให้กับกับอัตตา หรือที่เรียกว่า เพ่งโทษฟังธรรม นั่นเอง เป็นอย่างไรก็ลองมาอ่านกันดูถึงโทษภัยของการฟังอย่างเพ่งโทษและคอยจับผิด

อ่านต่อได้ที่บทความ : เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat