สมการการกิน

เมื่อก่อนก็ยังหลงคิดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อศึกษาจนมาถึงตอนนี้ก็กลับพบว่ามันไม่ได้จำเป็นเลย

สมัยก่อน : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + เนื้อสัตว์
ตอนนี้ : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ

ผมค้นพบว่า แค่กินถั่วแทนเนื้อสัตว์ ชีวิตก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก มีแรง มีกำลังทำงานเป็นปกติ ดังนั้น เนื้อสัตว์จึงเป็นตัวแปรที่ชีวิตไม่จำเป็นต้องใช้

คนไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่กินถั่วและธัญพืช จะอิ่มได้ไม่นาน แรงน้อย แต่ถ้ากินแต่พวกถั่วอบถั่วทอด ถั่วขนมถุง ๆ ทั้งหลายก็อยู่ไม่รอดเหมือนกัน อันนั้นได้คุณค่าน้อย บวกกับพิษจากการผลิตและการปรุงแต่งที่เยอะ โดยค่ารวม ๆ คือมีประโยชน์บ้าง มีโทษปานกลาง แต่ถ้าเป็นพวกถั่วนึ่ง ถั่วต้มนี่จะอิ่มท้องมีกำลังอยู่ได้นาน ยิ่งกินแบบไม่ใส่น้ำตาลยิ่งดี ถั่วที่ดี คือถั่วที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ฯลฯ หรือถั่วท้องถิ่นทั้งหลาย

การเลือกกินถั่วหรือเนื้อสัตว์ในด้านความต้องการโปรตีนของร่างกาย มีเหตุและผลไม่เหมือนกัน การกินถั่วเกษตรกรต้องเสียเหงื่อเสียแรง ส่วนการกินเนื้อสัตว์ สัตว์ต้องกลัว เจ็บปวด และเสียชีวิต และส่งเสริมกิจกรรมที่ผิดศีลไปในตัว ดังนั้นผลที่ได้จึงต่างกัน แม้จะเป็นธาตุโปรตีนเหมือนกัน แต่ผลจะไม่เหมือนกัน กรรม(การกระทำ)ต่างกันวิบากกรรม(ผลของการกระทำ)ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

การใช้ชีวิตให้แข็งแรงผาสุกอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องศึกษาเหตุที่เกิดสืบเนื่องต่อกันมาและผลที่เกิดจากความแตกต่างของเหตุเหล่านั้น

หมู…

วันนี้ระหว่างขับรถตอนเช้าก็เห็นรถขนหมู น่าจะขนหมูได้ 3 ชั้น ระหว่างที่รถเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ผมก็มองหมูที่อยู่ในกรงเหล่านั้นขยับตัวไปมาได้เท่าที่มันจะขยับได้

ตอนเย็นก็ว่าลืมเรื่องหมูไปแล้ว แต่ระหว่างรถติดก็มีภาพที่มาย้ำ เป็นภาพหมูที่ถูกชำแหละแล้ว ยังเหลือสภาพของหมูอยู่ คือดูรู้ว่าเป็นหมู แต่ก็เป็นเพียงซากที่ถูกวางซ้อน ๆ กันหลังรถกะบะคันหนึ่ง

ผมว่ามันก็น่ากลัวเหมือนกันนะ ที่คนมองว่าการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ก็ต้องยอมรับจริง ๆ ว่ามันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำไมเราถึงโดนหล่อหลอมให้เห็นแก่ตัวเพียงแค่อ้างว่าร่างกายต้องการสิ่งที่เรียกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยเนี่ย (จากพืชก็มีนะ)

เพื่อตัวเองแล้ว จะเบียดเบียนหรือทำร้ายชีวิตสัตว์อื่นก็ได้ สังคมก็ยังยอมรับได้ อันนี้ดีแล้วหรือ? ดีจริงหรือ? คุ้มค่าจริงหรือ? ก็เรียนรู้กันไป…