มดกับการเพาะเมล็ด

มดกับการเพาะเมล็ด

มดกับการเพาะเมล็ด

ผมเจอกับปัญหาที่เมล็ดถูกมดกิน ลงดินไปเท่าไหร่ก็หายเท่านั้น ไม่เคยงอกขึ้นมา จนสังเกตุเห็นว่าหลุมที่ได้หยอดเมล็ดไปนั้นมีร่องรอยของมด
ซึ่งมดจะเข้าไปกัดกินเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะงอก หรือหลังจากงอกเป็นต้นอ่อนแล้วมันก็ยังกินอยู่บ้าง ทำให้อัตราการรอดน้อย ถ้ารอดก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่

ก็เลยลองเพาะเมล็ดโดยใช้ถาดรองน้ำ พอดีไม่มีวัสดุเลยเอาอ่างผสมปูนสองอันมารองน้ำกันมด จริงๆอะไรก็ได้ที่สร้างพื้นที่เป็นน้ำไม่ให้มดเข้ามา สรุปก็เป็นทางเลือกที่ดี เมล็ดมีการงอกตามปกติ

ซึ่งวิธีเลี่ยงมดนี้อาจจะลำบากนิดหน่อยที่ต้องหาวัสดุอุปกรณ์มาแก้ปัญหา หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าใช้สารเคมีก็ไม่ต้องยุ่งยาก แต่ผมคิดว่าการเลี่ยงสารเคมี รวมทั้งหลีกเลี่ยงวิธีการที่จะไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์นั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ผู้สนใจสุขภาพ ควรศึกษาผลกระทบของการดัดแปลงพันธุกรรม

GMO

GMO คือการพยายามดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามตัณหา(ความอยาก) เพื่อแก้ปัญหาที่มันไม่ได้ดั่งใจ ความโลภที่อยากได้ผลผลิตมาก ความกลัวผลผลิตเสียหาย ความขี้เกียจในการจัดการหลายๆอย่าง

แทนที่เราจะดัดแปลงความเห็นผิดของเราให้เป็นความเห็นถูก ว่าธรรมชาติมันก็เป็นของมันไปอย่างนั้น ถ้าเรารู้จักใช้มันอย่างพอประมาณมันก็จะมีการเกื้อหนุนกันเอง แม้จะไม่ได้อย่างใจทุกอย่างก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร

เหล่าคนผู้เห็นผิดมักจะดัดแปลงสิ่งภายนอกให้ได้ดั่งใจตนเอง คนที่เห็นถูกจะดัดแปลงใจตนเองให้ยอมรับสิ่งภายนอกให้ได้

Dinplant : การแก้ปัญหาด้วย “ตัณหา” มักจะสร้างสิ่งที่ผิดธรรมชาติขึ้นมา แต่การแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจธรรมชาติ นั่นแหละที่จะไปล้าง “อุปาทาน”

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ธรรมชาตินั้นคือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้กับธรรมชาติคือการเรียนรู้และรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงแห่งความจริง ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

ผมเองเป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก จริงๆจะบอกว่าชอบปลูกต้นไม้มันก็ไม่ตรงเสียทีเดียว ต้องบอกว่าผมชอบมองอะไรที่มันเติบโตมากกว่า นอกจากต้นไม้แล้ว ยังจะมีอะไรที่เติบโตอย่างที่เราสามารถดูได้ทุกวันได้อีก หลายคนอาจจะบอกว่ามีสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมวนั่นไง แต่ผมก็ต้องตอบว่าบทมันก็ต่างไปจากปลูกต้นไม้ เพราะการดูแลสัตว์เลี้ยงกับการดูแลต้นไม้นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก และสุดท้ายผมก็เลือกมองการเติบโตของต้นไม้มากกว่า

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ต้นไม้นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมชาติ สัตว์ก็กินพืช คนก็กินพืช แล้วพืชกินอะไร? แสง น้ำ ความชื้น อากาศ ธรรมชาติของพืชเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป พืชในธรรมชาติอย่างป่า ภูเขานั้น มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงที่เป็นวัฏจักรและเกื้อหนุนกันระหว่างสิ่งมีชีิวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

การกำเนิดกับการเปลี่ยนแปลง

ผมเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างจากพืช หรือต้นไม้ ภาพที่ติดตาอยู่ตั้งแต่สมัยเด็กคือเมล็ดข้าวโพดที่ซื้อมาจากห้างแห่งหนึ่ง อยู่ในซองผักทั่วไป ผมเพาะลงที่หน้าบ้านเล็กๆ หยอดเป็นหลุม ไม่กี่วันต่อมา ต้นข้าวโพดน้อยๆทำให้ผมประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับขนาดของมัน ต้นข้าวโพดโตเร็วมากๆ แต่สุดท้ายความทรงจำก็จบลงแค่นั้น และมันคงไม่ได้โตต่อด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเติบโต

ในระหว่างที่มีการเติบโต ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเกิดขึ้น ผมเรียนรู้ได้จากไม้ประดับเช่น กระบองเพชร หรือบอนสีที่ผมเลี้ยง ทุกๆขั้นตอนของการเติบโต มีจังหวะ มีปัจจัย มีฤดู และมีสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้ต้นหนึ่ง ลองนึกดูว่าไม้ประดับเช่นกล้วยไม้ กว่าจะได้ดอกงามๆ ต้องให้สารเคมีกี่ชนิดกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเกิดจากมือของเราก็ได้ หรือจากธรรมชาติก็ได้เหมือนกัน

ผมสังเกตุว่าต้นไม้เองก็มีวัย เหมือนกับวัยของคนเรานี่แหละ วัยต้นกล้า วัยรุ่นของต้นไม้ วัยสืบพันธุ์ หรือต้นไม้ยืนต้นก็จะดำรงชีวิตไปเรื่อยๆจนกว่าจะอ่อนแอและตายไป

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ซากบนพื้นดิน

หลายครั้งที่ผมได้เห็นการตาย หรือการหยุดการเจริญเติบโตอย่างถาวรของต้นไม้ ผมเองเคยคิดว่าผมชอบการเติบโต แต่พอมามองการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายของต้นไม้แล้ว ผมกลับค้นพบเรื่องใหม่ที่ตัวเองไม่รู้ ซึ่งซ่อนอยู่ในใจของผมเอง ผมสนใจการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายนี้ด้วย

สรุปแล้วจริงๆ ผมเองคงจะชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรียกว่าชอบคงไม่ถูกตรงประเด็นนัก อาจจะเรียกได้ว่า ผมมักจะได้เรียนรู้จากการสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไม่ว่าจะร้ายหรือดี หรือจริงๆแล้ว คำว่าร้ายและดีนั้น คนเราคงตัดสินเอาเองตามผลประโยชน์ของตนมากกว่า บางทีการจากไปของบางสิ่งก็อาจจะดีก็ได้ บางทีการเกิดของอีกสิ่งก็อาจจะไม่ดีก็ได้ใครจะรู้ เพราะมันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละคนจริงๆ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนทีไ่ด้ประโยชน์ก็จะสนับสนุน คนที่เสียประโยชน์ก็จะต่อต้าน ซึ่งก็จะมีผลที่ตามมาอย่างแน่นอน ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ธรรมชาติเสียประโยชน์ล่ะ ผลที่ตามมาคืออะไร?

สวัสดี

มือเย็นปลูกต้นไม้ขึ้น

หลายๆคนคงจะเคยได้ยินคำว่ามือเย็น ที่มักจะใช้กับคนที่ปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็งอกงาม ผมก็เป็นอีกคนที่มักจะถูกเรียกว่าเป็นคนมือเย็น

คนมือเย็น หรือที่มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่าใช้เรียกคนที่มักปลูกต้นไม้ได้งอกงามดีว่า “คนมือเย็น” ตรงข้ามกับ “คนมือร้อน” ซึ่งจริงๆก็เป็นคำเรียกละนะครับ เพราะจริงๆแล้วบางทีคนมือเย็นก็อาจจะไม่ได้ปลูกต้นไม้ได้งอกงามอย่างที่เห็นเพราะกว่าจะงอกงามได้อย่างที่เห็นและเรียกกันว่ามือเย็น อาจจะผ่านซากต้นไม้ พรากมาหลายชีวิตแล้วก็เป็นได้

ในทางตรงกันข้าม คนมือร้อน เมื่อพบว่าปลูกต้นไม้แล้วตาย หรือไม่งอกงาม ก็จำกัดความว่าตนเองเป็นคนมือร้อน และจำไว้อย่างนั้น แล้วก็เลิกปลูก ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น…

มือเย็นปลูกต้นไม้ขึ้น

(อยากเริ่มต้นเป็นคนมือเย็นให้หัดเพาะต้นที่งอกง่ายๆเช่นถั่วงอก หรือในรูปก็จะเป็นกระถินครับ)

ตัวผมเองบอกตรงๆ ว่าไม่เชื่อในเรื่องของ คนมือเย็นหรือคนมือร้อน ผมเชื่อในความเป็นจริงมากกว่า คือคนเข้าใจในต้นไม้ที่ปลูกหรือไม่ ได้ดูแลต้นไม้ในแบบที่มันต้องการหรือไม่ เพราะจริงๆแล้ว ถ้าให้คนมือเย็นและคนมือร้อนใช้วิธีและดูแลแบบเดียวกัน ผลมันก็คงจะออกมาไม่ต่างกันนัก

สำหรับเรื่องของจิตใจผู้ปลูกนั้นมีผลกับต้นไม้หรือไม่ จากที่เคยรับรู้มาในหลายๆเรื่องราวก็ได้ยินว่ามีผลอยู่ซึ่งอาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ เช่นการเปิดเพลงให้ต้นไม้ฟัง(ฟัง?) ก็อาจจะให้ผลทางอ้อมคือคนดูแลอารมณ์ดีทำให้ดูแลต้นไม้ด้วยความละเอียดมากขึ้น ส่วนทางตรงก็น่าจะเป็นคลื่นเสียงมีผลกับการเติบโตของต้นไม้อะไรแบบนี้คงต้องใช้ข้อมูลงานวิจัยมาอ้างอิงละนะ ใครมีเวลาก็ลองค้นๆดูกันแล้วกันนะครับ

หรือกระทั่งเรื่องของคลื่นที่คนปล่อยออกมา ผมไม่แน่ใจในเนื้อหาแต่ก็เคยได้ยินมาว่าเมื่อเรามีความสุขจะส่งคลื่นออกมาแบบหนึ่ง แต่เมื่อเรามีความทุกข์ก็จะส่งคลื่นออกมาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการงอกงามของต้นไม้ก็เป็นไปได้ (แต่ผลกระทบคงไม่เยอะเท่าได้น้ำและแสงแดด…) เพราะต้นไม้ก็ใช้คลื่นของแสงในการสังเคราะห์พลังงานเหมือนกัน

สรุปว่าบางทีเรื่องมือร้อนมือเย็นนี่ผมคิดว่า คงจะเป็นเรื่องที่เราคิดไปเองเสียมากกว่า เพราะกว่าผมจะโดนเรียกว่าคนมือเย็นนั้น ผมทำต้นไม้ตายไปหลายต้นแล้วครับ…

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงสามวัน แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาได้นั้น สามารถใช้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะได้อ่านจากบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับก็จะได้เห็นด้วยรูป และผ่านตัวอักษรที่เล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้มาและฝังอยู่ลึกๆ ในส่วนหนึ่งของสมองของผม

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา
หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

จากกิจกรรมที่ผมได้ไปร่วมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ผมได้รับประัสบการณ์ และความรู้หลายๆอย่างนะครับ อาจจะไม่ได้พิมพ์เป็นข้อๆให้อ่านกันได้สะดวกนักแต่ก็จะเล่าให้พอเข้าใจครับ

สำหรับประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้น สิ่งแรกต้องบอกเลยว่าได้รับรู้ และรู้จักคำว่าคุณธรรม ในมุมมองของชาวนาคุณธรรมครับ มันมากมายเหนือความคาดหมายของผมมากว่า การเป็นชาวนาคุณธรรมจำเป็นต้องทำขนาดนี้เชียวหรอ แต่แน่นอนว่าถ้ามันคือสิ่งดีก็ควรจะทำครับ เพราะผลประโยชน์ก็จะตกกับตัวชาวนาคุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเองครับ

ผมได้เรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมแบบสั้นๆ ที่พอจะพบเห็นได้ผ่านภาพที่มองผ่านตา ซึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูได้ทั้งหมดครับ รวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ตามที่ได้เห็น

สำหรับประสบการณ์การปลูกป่า การหว่านข้าว การดำนา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะไม่เคยได้ลงมือทำเลย เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำซึ่งเป็นระดับเล็กๆ ขนาดเล็กๆ คิดว่าวันหนึ่งก็คงจะได้ทำจริงและวันนั้นก็จะได้พบความจริงอย่างที่สุด วันนี้ก็คงจะเป็นการทดลองเรียนรู้ไปก่อน

ได้รับรู้ถึงการส่งต่อและการขยายตัวของน้ำใจและการเกื้อกูลกันของมนุษย์ การส่งเสริมคนดี การส่งเสริมการทำสิ่งดีๆยังมีอยู่ให้เห็นตลอดสามวันที่ได้เดินทาง ไม่เหมือนข่าวสาร และสิ่งที่เรารับรู้กันในเมืองสมัยนี้ มีสักกี่เรื่องในแต่ละวันที่เป็นเรื่องดีๆบ้าง สำหรับผมที่ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ บอกได้เลยว่า ผมได้รับรู้แต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต

หลายๆสิ่งอีกมากมายที่ยังฝังอยู่ในสมองของผม อยู่ในความทรงจำของผม อาจจะคาดคั้นออกมาไม่ได้ในบทความนี้ แต่คิดว่าดอกผลของมันก็คงจะออกมาให้เห็นในอนาคตเป็นแน่ ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น ก็คงจะมีการเดินทางในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นก็เป็นได้

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

วันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นที่สอง เป็นวันที่เรามีเวลาเต็มวันในการทำกิจกรรมต่างๆมากมาย

วันนี้เราเริ่มต้นวันตั้งแต่ตีสี่ด้วยธรรมะตามสาย เป็นการตื่นที่น่าจะเช้าที่สุดในรอบปี ถ้าเป็นปกติก็คงจะงงตัวเองไม่รู้จะตื่นมาทำอะไรตอนตีสี่

ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4
ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4

แต่ตีสี่วันนี้พิเศษออกไปเพราะมีธรรมะให้ฟัง เสียงนุ่มละมุนหูพร้อมด้วยข้อคิดสอนใจมากมาย ทำให้ต้องตื่นมานอนฟัง เพราะไหนๆก็อยู่ในวัดแล้ว การนอนฟังธรรมนี่คงหาโอกาสได้ไม่ยากนักสำหรับคนแบบผม ก็เลยใช้โอกาสนี้ฟังจนจบเสียเลย เมื่อจบแล้วก็ไปอาบน้ำเตรียมพร้อมกิจกรรมในวันนี้

กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง

เราพยายามจะออกเดินทางไปปลูกป่าแนวกันชนกันให้เร็วที่สุดเช้าที่สุดเพราะจะหลีกเลี่ยงแดดในช่วงสายถึงเที่ยง เพราะเจ้าถิ่นเขาว่าร้อนมาถึงขนาดว่าผิวอาจจะไหม้กันได้เลยทีเดียว และแน่นอนผมก็ใส่ชุดเตรียมพร้อมออกปลูกนั่นคือเสื้อแขนยาวพร้อมหมวกแก๊ปหนึ่งใบ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา
อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา

เราเดินทางกันเข้าไปในชุมชน ไปในถนนที่นานๆทีจะมีรถผ่านสวนมาสักคัน อาจจะเพราะเป็นเวลาเช้า เราบุกเข้าไปในที่ดินที่มีการปลูกพืชสลับกับป่า หนทางนั้นเหมือนจะทำขึ้นมาใหม่ได้ไม่นานนัก และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางทีมงานตัดสินใจใช้รถตู้ก็เพราะว่าจะทำให้เราเดินทางมาปลูกป่าได้สะดวกยิ่งขึ้น

ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

เมื่อเข้ามาด้านในพบว่าพื้นที่บางส่วนกำลังปรับปรุงอยู่ และส่วนที่ไถไปแล้วก็จะเห็นเป็นดินทรายครับ ที่นี่มีแต่ดินร่วนปนทรายโดยส่วนใหญ่จะเป็นทราย เดินไปก็นุ่มๆดี

น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้
น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้

น้ำข้าวกล้องงอก ต้อนรับเช้าวันใหม่ เป็นน้ำข้าวกล้องอินทรีย์ครับ ยกระดับขึ้นมาอีกนิดสบายใจขึ้นอีกหน่อย ขอบอกว่าแก้วนี้กินนานมากเพราะร้อน… แต่ก็ต้องขอเพิ่มอีกแก้วเพราะนอกจากจะอิ่มแล้วยังอร่อยอีกด้วย

โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ที่ที่เราจะมาปลูกป่ากันคือ โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน ครับ ป่าที่เราปลูกนอกจากเราจะได้ป่าแล้ว เรายังจะได้ประโยชน์อีกอย่างซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการปลูกป่าก็คือ การใช้ป่าเป็นกันชนต้านสารเคมีจากไร่อ้อยของชาวไร่อื่นๆอีกฝั่งหนึ่งครับ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมี ในข้าวคุณธรรมที่เราได้กินกันนั่นเอง เห็นไหมครับใส่ใจคุณภาพกันตั้งแต่ระดับเตรียมการผลิตเลยทีเดียว

ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ
ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ

ที่นี่ ชีวิตไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ไม่ต้องใช้เตาแก๊สที่จุดติดทันที เพียงแค่ใช้ถ่านที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่ ที่นี่มีไม้และเศษไม้มากพอจะเผาถ่านใช้ได้เป็นปีๆสำหรับหนึ่งครัวเรือน

หลุมแมงช้าง
หลุมแมงช้าง

เห็นหลุมแมงช้างผมก็นึกถึงตอนเด็กที่ชอบเอามดไปหย่อนหลุมแมงช้างครับ คืออยากเห็นแมงช้างก็เลยต้องใช้มดเป็นตัวล่อครับ ปัจจุปันได้ประสบการณ์พอแล้วก็เลยได้แค่คิดถึงก็พอ

ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก
ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก

มาถึงตอนที่เราต้องช่วยกันขนต้นไม้นะครับ ขนขึ้นรถเพื่อจะเอาไปปลูกต่ออีกมุมหนึ่งของพื้นที่ ที่เราจะปลูกป่ากันชนกันครับ

เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย
เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย

เราพากันเดินไปที่พื้นที่ที่จะปลูกป่ากันชนครับ ไม่ไกลเท่าไรนักแต่บรรยากาศนี่ดูคึกคักมากทีเดียว งานนี้มีเครือข่ายชาวนาจากอีกที่มาช่วยลงแรงกันด้วยครับ

มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า
มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า

หน้าตาของป่ากันชนน่าจะเป็นแบบนี้นะครับ ป่าจะช่วยป้องกันสารเคมีที่จะลอยมาตามลมได้ครับ ก็เหมือนกั้นฉากทำกำแพงธรรมชาติไว้ละนะ

ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน
ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน

ก่อนจะปลูกเราก็ต้องมีการสอนการปลูกป่าักันหน่อยนะครับ ว่าอะไรควรทำอย่างไรก่อนหลัง เพื่อการเติบโตของต้นไม้ที่ดีในอนาคตครับ

นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง
นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง

ต้นนี้น่าจะเป็นมะม่วงป่าครับ ต้นนี้ผมปลูกแต่ถ่ายตอนยังไม่ได้ยึดต้นไม้กับหลัก หลังจากปลูกเราก็จะปักหลักใกล้ๆแล้วหยิบฟางหรือเศษหญ้าข้างๆมาจับมัดต้นไม้กับหลักเพื่อยึดไว้ป้องกันลมพัดต้นหักนะครับ

สำหรับต้นไม้ที่ปลูกก็มีหลายชนิดเลยเช่น ยางนา ตะเคียน มะม่วงป่า สะเดาป่า ข่อย ขนุน อะไรก็ไม่รู้อีกเยอะแยะครับ จำไม่ได้จริงๆ

อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม
อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม

ด้วยความที่อากาศดี ไม่มีแดดเลย ทำให้เราปลูกกันได้ไวกว่าที่คาดกันเอาไว้ จึงได้มีการถางและไถดินเพื่อให้เหมาะกับการปลูกเพิ่มมากขึ้นครับ

ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?
ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?

ก็ช่วยกันปลูกกันไปตามมุมที่ชอบครับ ใครชอบมุมไหนก็ปลูกมุมนั้น ชอบต้นไหนก็ปลูกต้นนั้น โดยมีข้อกำหนดนิดหน่อยคือยางนา ต้องเว้นห่างกัน 2 ช่วงต้นที่ปลูก ก็ประมาณ 6 เมตรนะครับ

แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง
แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง

หลังจากปลูกต้นไม้กันไม่นานก็มีรถเสบียงยามเช้ามาถึงที่ครับ เรามีข้าวต้มเป็นมื้อเช้าในวันนี้ เป็นข้าวต้มฟักทองเสียด้วยงานนี้นอกจากได้ปลูกต้นไม้แล้วยังได้กินของดีอีกด้วยครับ

อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว
อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว

ข้าวต้มนี่กินกันกลางทุ่งได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ ชีวิตผมนั่งร้านอาหารมาก็เยอะแต่ไม่ค่อยประทับใจ เอาเป็นว่ามันชินแล้วกัน พอมาเจอความแตกต่างแบบนี้เลยต้องขอเติมข้าวต้มอีกชามเพื่อมาดื่มด่ำกับบรรยากาศข้าวต้มกลางทุ่งให้ยาวนานขึ้นครับ

ต่อจากข้าวต้มเขาก็มีกระเพาะปลามาซ้ำกันด้วยนะครับ เป็นกระเพาะปลาเจ ใช้พวกโปรตีนเกษตรน่ะครับ อร่อยดีทีเดียว แต่กินได้ไม่เยอะเพราะอิ่มข้าวต้ม…

วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน
วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน

เนื่องจากเราใช้การวัดพื้นที่ก่อนปลูกครับ ดังนั้นอะไรที่ขวางทางเรา เราก็จะพยายามย้ายมันออกไปครับ ท่อนไม้ท่อนนี้วางอยู่และอยู่ในเส้นทางปลูกต้นไม้ของเราครับ ดังนั้นก็เลยต้องช่วยกันย้าย ตอนแรกเราใช้แรงคนดันครับมันไม่ขยับเลยผมก็ว่า ผมออกแรงสุดแล้วนะ มันยังไม่ขยับเลย สรุปต้องใช้ไม้แถวนั้นใช้วิธีคาดงัดเอาครับถึงจะขยับได้

ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก
ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก

ไล่ปลูกกันจนสุดขอบที่มีครับ เหมือนตอนนี้ไฟมันติดแล้วการปลูกเลยดำเนินต่อไปแม้ว่าจะหมดเวลาที่กำหนดไว้แล้วเล็กน้อย สุดท้ายก็ได้ปลูกกันจนหมดครับ

ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน
ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน

ปลูกกันจนเสร็จก็ทยอยเดินกลับกันไปหลังจากถ่ายรูปหมู่กันเป็นที่ระลึกครับ งานนี้ต้องดูกันยาวๆครับเพราะการปลูกป่านี่ต้องหวังผลระยะนานมากๆกันเลยทีเดียว สำหรับป่านี้ผมเองก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอีกสัก 5 ปีหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป สรุปวันนี้จบกิจกรรมครึ่งวันเช้าด้วยการปลูกป่ากันชนเพียงเท่านี้ครับ

สวัสดี

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

จากการไปเรียนรู้ที่ยโสธร ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็ได้พบกับผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ส่วนหนึ่งครับ

เกษตรอินทรีย์นั้นจะไม่ใช้สารเคมีเลย ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเร่งต่างๆ จากการสังเคราะห์ทางเคมีหรือแม้แต่ใช้พืชที่ตัดแต่งพันธุ์กรรม ทำให้เกษตรอินทรีย์นั้นเติบโตโดยพื้นฐานทางธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็จะใช้วัสดุและนวัตกรรมทางธรรมชาติแทนครับ เช่นน้ำหมัก ฮอโมนพืชต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ นั่นคือเอาธรรมชาติ ส่งเสริมธรรมชาติอีกที สรุปคือไม่ใช่สิ่งที่มีพิษมีภัยแน่นอนครับ

ทีนี้เกษตรกรหลายคนอาจจะคิดว่ามันได้ผลผลิตน้อยไม่พอขาย แต่จากที่ผมได้ไปศึกษาจากสวนลุงนิล จนถึงกิจกรรมในตอนนี้ผมก็ยังคิดว่ามันพอกินนะ สำหรับการพอขายเนี่ยมันแล้วแต่การวางแผนทางการค้า แต่ถ้าพอกินนี่มีแน่นอน เพราะพื้นที่ไม่มาก แต่ดูเหมือนจะให้ผลผลิตที่ดีทีเดียวเชียวล่ะ ลองมาดูกันนะ

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

มะเขือ
มะเขือ

มะเขือนี่อาจจะดูธรรมดาและพบเห็นได้ทั่วไปนะครับ ผลสุกนี่ถ้าเราเอามากินไม่ทันสุกจริงๆก็เก็บไปทำน้ำหมักชีวภาพได้ครับ เอามารดต้นไม้อีกทีงามนักล่ะ

บวบ
บวบ

บวบที่ไม่โดนปนเปื้อนด้วยสารเคมี สำคัญนะครับ บวบที่เราเอาไปขัดตัวขัดผิว หากมีการปนเปื้อนด้วยสารเคมีแล้วจะดีต่อผิวอันบอบบางของเราจริงหรือ หลายคนอาจจะบอกว่าเราแกะเปลือกใช้แต่ไส้ในของมัน แต่สารเคมีที่เกษตรเคมีใช้ส่วนใหญ่เป็นพวกดูดซึมครับ หมายความว่ามันก็ไปปนอยู่ในที่เราถูตัวนั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โดนฉีดโดยตรงแต่ถ้าในพื้นที่มีการฉีดพ่นก็มีความเสี่ยงอยู่ครับ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ควรจะมั่นใจกับแหล่งที่มาด้วยนะ

ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่
ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่

ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจนี่เขาปลูกไผ่ไว้หลายชนิดเลยครับ มีทั้งไผ่ใช้ไม้ ไผ่กินหน่อมากมาย มีเยอะขนาดนี้วันไหนอยากกินก็เดินไปหาๆดูก็น่าจะพบหน่อไม้ อิ่มสบายๆ แค่เดินรอบดงไผ่

มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่
มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่

มะละกอในแปลงสาธิตใหญ่ขนาดที่มือผมยังจับลำบาก ที่เห็นนี่ถือว่ายังเล็กนะครับ เมื่อเทียบกับมะละกอในสวนด้านหลังซึ่งไม่ได้ถ่่ายมาเพราะมัวแต่ไปถ่ายอย่างอื่น จะเห็นว่าผลผลิตที่ได้นั้นมีคุณภาพและความปลอดภัยมากทีเดียว

กล้วยพันธุ์พระราชทาน
กล้วยพันธุ์พระราชทาน

กล้วยพันธุ์พระราชทานครับ นี่เป็นกล้วยน้ำว้าลูกใหญ่ที่มีเปลือกบางครับ ซึ่งลองกินแล้วก็พบว่าหวานแต่พอดีครับ แต่ปัญหาคือกินลูกเดียวก็จะอิ่มแล้วครับ เลยไม่ได้ชิมลูกที่สองอยู่ คุณภาพคับหวีอีกเหมือนเดิมครับ

แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ
แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ

มาจบกันที่แตงโมครับ เคยได้ยินว่าแตงโมที่นี่ไม่ได้รดน้ำครับ ให้กินแต่น้ำค้างเอา ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่ขนาดของแตงโมที่ผมว่าก็ได้ เพราะที่เคยได้มามันใหญ่กว่านี้เยอะเลยครับ แต่ขนาดนี้ก็น่ารักดีครับ กินเป็นมื้อๆได้พอดีไม่ใหญ่มากขนาดพอเป็นของหวานประดับมื้อได้ ที่สำคัญปลอดภัยกับชีวิตครับ

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์นะครับ จริงๆแล้วก็มีอีกมากมายที่งอกงามในดินร่วนปนทรายผ่านกรรมวิธีบำรุงดินแบบเกษตรอินทรีย์ให้โตและงอกงามอย่างยั่งยืนครับ

สวัสดี

ของฝากจากยโสธร

หลังจากไปร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ที่จังหวัดยโสธร ก็ได้ของฝากมาด้วยมากมายครับ

มีทั้งของที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจให้มา ของที่พ่อๆแม่ๆ ร่วมกันให้มา และของที่ซื้อมาด้วยครับ สำหรับของส่วนใหญ่ก็จะเป็นของกินของใช้ละนะ ส่วนของที่ระลึกนั้นไม่มี

ของฝากจากยโสธร

หอม กระเทียม และข้าวอินทรีย์ ของฝากจากมูลนิธิธรรมะร่วมใจ
หอม กระเทียม และข้าวอินทรีย์ ของฝากจากมูลนิธิธรรมะร่วมใจ

อันนี้เป็นของฝากที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ร่วมกันให้นะครับ มีหอมกระเทียม และข้าวด้วยครับ เยอะทีเดียว กินกันไปอีกนานเลยงานนี้

น้ำหมักชีวภาพ ซื้อมาจากห้างดินของมูลนิธิฯ
น้ำหมักชีวภาพ ซื้อมาจากห้างดินของมูลนิธิฯ

อันนี้เป็นน้ำหมักชีวภาพ ที่เป็นอาหารพืชครับ จริงๆแล้วหาซื้อที่ไหนก็ได้ครับ แต่ได้จังหวะเหมาะแถมราคาไม่แพงด้วยก็เลยซื้อกลับมาทีเดียวเลย เพราะยังไงก็คิดว่าต้องลองซื้อใช้อยู่แล้ว และคิดว่าในกรุงเทพฯ คงไม่ขายถูกกว่าราคาป้ายแน่นอน ซื้อมาสองแบบ แบบบำรุงต้นใบและบำรุงดอกผล

สารพัดเมล็ดผัก ถูกและได้เยอะกว่าที่ขายเป็นซองๆทั่วไป
สารพัดเมล็ดผัก ถูกและได้เยอะกว่าที่ขายเป็นซองๆทั่วไป

เมล็ดพันธุ์ผักครับ ปกติก็หาซื้อได้ทั่วไปเหมือนกัน แต่ถึงจะมีทั่วไปผมก็ไม่ซื้อครับ มาซื้อเอาที่นี่แหละ อยากลองเพาะผักอยู่พอดีก็เลยซื้อไปเลย ที่ซื้อไปก็มี พริกขี้หนู สลัดม่วง ผักกาดขาว คะน้ายอด ชีลาวครับ เมล็ดพันธุ์เยอะทีเดียว คิดว่าคงต้องทยอยปลูกนะครับ พื้นที่ที่บ้านไม่ค่อยจะพอ

สิบเซียนสมุนไพร ซื้อจากห้างดินเหมือนกัน
สิบเซียนสมุนไพร ซื้อจากห้างดินเหมือนกัน

สิบเซียนสมุนไพร น้ำหมักสมุนไพรหรืออะไรสักอย่างนี่แหละ เห็นน้องตากล้องเขาซื้อก็เลยซื้อบ้าง เห็นเขาลองแล้วคงจะดีเป็นแน่แท้ ไม่งั้นคงไม่เอามาขาย ส่วนดีจริงไม่จริง ชอบไม่ชอบ อย่างไร ลองแล้วค่อยมาว่ากันอีกทีแล้วกัน แต่ตอนนี้ขอซื้อติดมาก่อนไม่งั้นไม่ได้ลอง

จริงๆมีของฝากจากแม่หม่อน ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจฝากให้คุณแม่ของผมด้วย แต่ก็ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะ โดนเอาไปจัดเก็บหมดแล้วเลยไม่อยากหยิบมาถ่าย ( แอบขี้เกียจ ) เลยเอาประมาณนี้แล้วกันนะ

สวัสดี

ทำบัญชีซื้อต้นไม้

หลังจากที่ซื้อต้นไม้มานานก็ไม่เคยนึกถึง เมื่อวานอากาศดี พาให้คิดไปไกลว่า…เราซื้อต้นไม้มาเท่่าไหร่กันนะ

หลายคนที่ปลูกเลี้ยงต้นไม้ผมเชื่อว่าไม่ค่อยได้จำกันหรอกครับ เพราะคงจะซื้อบ่อยเหมือนผมนั่นแหละ แต่ใครจะจดไว้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ สำหรับผม มีการจดบันทึกไว้โดยการพิมพ์บล็อกครับ เป็นอีกข้อดีของการเขียนบล็อกคือสามารถตามค้นหาอดีตของตัวเองได้ง่ายครับ สุดท้ายเราก็จะมาทำบัญชีย้อนหลังในการซื้อต้นไม้ และอุปกรณ์ต่างๆที่เีกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ของผมกันครับ

แต่อย่างน้อยการทำบัญชีย้อนหลังก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าเราทำอะไรไปบ้างในช่วงเวลาเหล่านั้นการลงบัญชีย้อนหลัง ที่ไม่มีหลักฐานครบถ้วนนั้น เป็นเรื่องยากมากๆ หลายรายการต้องนั่งนึกกันเอาเอง หลายรายการต้องลงไปดูว่ามีอะไรอยู่บ้างที่เคยซื้อมา เราควรทำบัญชีตั้งแต่แรกครับ เพราะการทำบัญชีย้อนหลังไม่ใช่เรื่องสนุกและไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนอีกต่างหาก แต่อย่างน้อยการทำบัญชีย้อนหลังก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าเราทำอะไรไปบ้างในช่วงเวลาเหล่านั้น

หลังจากทำบัญชีเสร็จผลที่ออกมาทำให้ ผมได้รับความรู้สึกว่า “นี่เราซื้อเยอะขนาดนี้เลยหรอ” แน่นอนครับ การซื้อไปเรื่อย ทีละน้อยๆนั้นให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย แต่การซื้ออะไรหนักๆทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่นี่มันน่าหนักใจจริงๆ จะเปรียบก็เหมือนซื้อเงินสดกับซื้อเงินผ่อนนั่นแหละครับ เมื่อเห็นผลดังนั้นผมเองก็คงจะต้องคิดประหยัด หรือคิดก่อนซื้อเสียบ้าง เพราะรายการซื้อในบัญชีจะแสดงจำนวนเงินที่เราจ่ายไปแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าเราได้ซื้ออะไรที่มันไม่น่าซื้อมาด้วยเหมือนกัน…

สวัสดี