[38] การผสมดินสำหรับเพาะเมล็ด

diary-0038-การผสมดินเพาะเมล็ด

38. การผสมดินสำหรับเพาะเมล็ด

ดินที่ใช้เพาะเมล็ดนั้นมีผลค่อนข้างมาก สำหรับการเพาะเมล็ด

จากที่ผมได้ทดลองมา เมล็ดชุดเดียวกัน แต่เพาะลงในดินที่ผสมสูตรต่างกัน อัตราการงอกก็ต่างกัน

จากตัวอย่างนี้ คือการเพาะเมล็ดมะเขือเทศ ในตอนแรกนั้นใช้ดินผสมทรายอย่างเดียว กว่าเมล็ดจะงอกก็ใช้เวลาเป็นสิบวัน

ต่อมาทดลองผสมดินเพาะใหม่ ใส่ขุยมะพร้าวไปเพิ่ม ใส่ใบกระถินผสมไปเพิ่ม เมล็ดชุดเดิมกลับงอกได้ใน 5 วัน แถมอัตราการงอกดูเหมือนจะสูงกว่าสองเท่าด้วย

อุณหภูมิกับความชื้นมีผลมากในการงอกของเมล็ด อย่างล่าสุดผมทดลองเพาะเมล็ดฟักทอง ซึ่งได้ผลคือวันต่อมา ต้นกล้าก็งอกออกมาแล้ว ต่างจากการหยอดเมล็ดฟักทองในแปลงผักโดยตรง แบบนั้นกว่าจะขึ้นก็เป็นสัปดาห์ แต่ข้อดีของการหยอดในแปลงเลยคือได้โตต่อเนื่อง

พืชผักบางชนิดก็ไม่เหมาะที่จะหยอดในแปลงทันที แยกมาเพาะเมล็ด ค่อย ๆ ดูแลต้นกล้าจะเหมาะกว่า

ในส่วนดินผสมสำหรับปลูกนั้น ผมก็คงจะทดลองไปเรื่อย ๆ โดยหลัก ๆ ก็จะหาวัสดุที่ทำให้ดินร่วนซุย เก็บความชื้นได้ดี ไม่มีธาตุอาหารที่เกินความจำเป็น ส่วนที่เหลือก็ควบคุมความร้อนและความชื้นให้เหมาะก็พอ

เพาะเมล็ดถั่วพุ่ม

เพาะเมล็ดถั่วพุ่ม

เพาะเมล็ดถั่วพุ่ม

เป็นเมล็ดถั่วพุ่มที่เก็บมาจากต้นที่ปลูกจากเมล็ดผักซองที่ขายทั่วไปตามห้าง

มีหลายคนบอกว่า ผักซองจะเอามาปลูกต่อไม่ได้ หรือถึงจะปลูกต่อได้ ผลผลิตก็ไม่งอกงาม แต่ผมไม่เชื่ออย่างเขาหรอกนะ

ผมเชื่อว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โดยไม่มีข้อจำกัดอย่างที่ว่ามาก่อนหน้านี้เลย ยกตัวอย่างชีวิตผมเองก็ได้ เกิดมาในครอบครัวนี้ เขาก็ไม่ได้สนใจธรรมะอะไรกันมากมาย แต่ก่อนผมเองก็ไม่ได้สนใจเหมือนกัน แล้วทำไมทุกวันนี้มันกลายเป็นชีวิตจิตใจไปเสียแล้ว

จริงอยู่ที่ต้นไม้ไม่มีวิญญาณ จึงไม่มีกรรมที่เป็นตัวส่งผล แต่ผมนั้นมีวิญญาณ มีกรรมเป็นผู้ให้ผล ดังนั้น ถึงจะเป็นต้นที่เขาบอกไม่โต โม่งาม ผมเอามาปลูกเลี้ยงอาจจะงามก็ได้ เพราะว่ามันต่างกรรมต่างวาระ

ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเรามุ่งทำดี หน้าด้านปลูกสลับหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเราจะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้นพันธุ์ที่ดี สิ่งเหล่านี้ผมเคยได้รับมาแล้วสมัยศึกษาทดลองเลี้ยงแคคตัส มันไม่แน่นอนหรอก ในการจะได้รับสิ่งใด ๆ มา แต่เราก็ใช้โอกาสในความไม่แน่นอนนี่แหละในการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ คนก็เช่นกัน เราก็ใช้ความไม่แน่นอนในชีวิตนี่แหละ พัฒนาตนเอง

ผลการเพาะมะเขือเทศ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

เป็นมะเขือเทศที่เพาะไว้ตั้งแต่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ก็ราว ๆ 20 กว่าวัน ได้ต้นกล้ามะเขือเทศที่ดูแข็งแรง จริง ๆ แล้วถ้ามันขึ้นง่ายขนาดนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเพาะเยอะแบบนี้ก็ได้ เพราะว่าเพาะเยอะไปก็โตช้า แย่งอาหารกัน ต้องจับแยกปลูก

คราวหน้าว่าจะลองเพาะให้มันปราณีตกว่านี้ดู เพื่อเปรียบเทียบกันว่าแบบไหนจะสะดวกต่อการทำงานมากกว่า บางครั้งเน้นคุณภาพก็ดี บางครั้งเน้นปริมาณก็ดี ก็แล้วแต่องค์ประกอบ ณ เวลานั้น ๆ

ผมค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงมะเขือเทศในระดับทดลอง เพราะสามารถทำจนเกิดวงจรแล้ว คือได้ผล>เก็บเมล็ด>เพาะเมล็ด>ดูแลให้เติบโต>ให้ผล

พอได้ผลแบบนี้แล้วก็ค่อยขยายผลต่อไป จากแปลงเล็ก ๆ ก็ค่อยขยายและเพิ่มปริมาณขึ้น ทดลองดูว่าจะจัดการอย่างไรกับต้นมะเขือเทศ อย่างตอนนี้ที่เลี้ยงอยู่นี่ต้นยาวกว่า 2 เมตร เอามาขึ้นเสา ก็สูงกว่า 2 เมตรเลยทีเดียว

ต้นมันจะสูงจะเลื้อยจะยาวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็อยู่ที่ว่าเราจะจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้มันได้ผล และดูแลได้ง่าย จะปล่อยให้ยาว หรือจะตัดให้สั้นก็ค่อยทดลองกันไปอีกที

เพาะถั่วงอก

เพาะถั่วงอก

เพาะถั่วงอก

เห็นคลิปที่เขาสอนเพาะถั่วงอกแบบง่าย ๆ และเพื่อนก็ลองเอามาทำแล้วได้ผลจริง ไม่ยาก ก็เลยลองทำบ้าง

ตอนแรกนั้นก็ติดที่ไม่มีวัสดุ ก็เลยว่าจะกลับกรุงเทพก่อนแล้วค่อยทำ ไป ๆ มา ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าเราน่าจะลองประยุกต์ดู

ก็เอากะละมังโลหะที่ซื้อมาจากร้าน 20 บาท มาเจาะก้นด้วยตะปู

เอาผ้าเช็ดตัวเก่าที่เคยใช้เป็นผ้าเช็ดทั่วไปมาเป็นผ้ารองแต่ละชั้นเพื่อเก็บกักความชื้น

เอาถาดพลาสติกที่เป็นรู ที่เป็นของเหลือจากที่เขาใส่เส้นขนมจีนมาเป็นตัวกั้นระหว่างชั้นของถั่วงอก

แล้วก็หาอะไรที่พอดีมาปิดไม่ให้มีแสง ลำดับก็คือใส่ผ้าไปก่อน แล้วใส่ถาด แล้วก็ใส่ถั่วที่แช่น้ำมาแล้วคืนนึง แล้วก็ใส่ผ้า ใส่ถาด ใส่ถั่ว สลับกันไปแบบนี้ อย่างของผมทำสี่ชั้น

ที่เห็นเขียว ๆ นั่นเพราะวันก่อนมันโตจนดันฝาออก แล้วไม่ได้หาอะไรมากดทับไว้ พอแสงเข้า ก็เลยยอดเขียว แต่ก็กินได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร

จริง ๆ 3 วันก็กินได้แล้ว แต่ในรูปนี้ผมทิ้งไว้ 4 วันเพราะจะเอามาทำอาหารในวันที่ 4 พร้อมกับวัตถุดิบอื่นที่ซื้อมาจากตลาด

ถั่วงอกปลูกเองจะต่างจากถั่วงอกซื้อเขา ถ้าผมซื้อถั่วงอกมาเย็นนี้ พอถึงพรุ่งนี้สาย ๆ มันก็จะช้ำ ก็เริ่มเน่าแล้ว (ไม่มีตู้เย็น) ดังนั้นทำเองดีกว่า ปลอดภัยกว่า สบายใจกว่า ยืดหยุ่นกว่า ประหยัดกว่า

มดกับการเพาะเมล็ด

มดกับการเพาะเมล็ด

มดกับการเพาะเมล็ด

ผมเจอกับปัญหาที่เมล็ดถูกมดกิน ลงดินไปเท่าไหร่ก็หายเท่านั้น ไม่เคยงอกขึ้นมา จนสังเกตุเห็นว่าหลุมที่ได้หยอดเมล็ดไปนั้นมีร่องรอยของมด
ซึ่งมดจะเข้าไปกัดกินเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะงอก หรือหลังจากงอกเป็นต้นอ่อนแล้วมันก็ยังกินอยู่บ้าง ทำให้อัตราการรอดน้อย ถ้ารอดก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่

ก็เลยลองเพาะเมล็ดโดยใช้ถาดรองน้ำ พอดีไม่มีวัสดุเลยเอาอ่างผสมปูนสองอันมารองน้ำกันมด จริงๆอะไรก็ได้ที่สร้างพื้นที่เป็นน้ำไม่ให้มดเข้ามา สรุปก็เป็นทางเลือกที่ดี เมล็ดมีการงอกตามปกติ

ซึ่งวิธีเลี่ยงมดนี้อาจจะลำบากนิดหน่อยที่ต้องหาวัสดุอุปกรณ์มาแก้ปัญหา หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าใช้สารเคมีก็ไม่ต้องยุ่งยาก แต่ผมคิดว่าการเลี่ยงสารเคมี รวมทั้งหลีกเลี่ยงวิธีการที่จะไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์นั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่า