ไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร?

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วชีวิตมันจะดีขึ้นอย่างไร ในเมื่อความรู้เดิม ๆ ที่เคยได้รับมาเนื้อสัตว์ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งดีเสียด้วยซ้ำ แล้วการเลิกเสพสิ่งที่สังคมเข้าใจว่าดีนั้น มันจะดีได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ที่ผมเคยพิมพ์ผ่านหลาย ๆ บทความมา ก็แจกแจงข้อดีในการเลิกกินเนื้อสัตว์ ข้อเสียในการกินเนื้อสัตว์มาก็มากก็มาย มาวันนี้เรามีเนื้อหาโดยสรุปจากอาจารย์หมอเขียว ให้เข้าใจได้ง่าย กับข้อดีของการเลิกกินเนื้อสัตว์ ที่ดีอย่างยิ่ง 3 ประการ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ลองรับชมกันดูเลย

อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง

เรียนรู้จาก เหตุการณ์อาจารย์ลงสนามรบ น้ำปัสสาวะ

เวลาเราศึกษาธรรมะเนี่ย มันต้องมีครูบาอาจารย์ แล้วต้องมีตัวเป็น ๆ ด้วย ที่จะเป็นตัวอย่าง เห็นได้ สอบถามได้ มันถึงจะเจริญไปได้
 
ช่วงนี้อาจารย์หมอเขียว ออกรายการสดค่อนข้างถี่ การกระทบก็เยอะ ผมยังไม่ได้ดูหรอก ติดปัญหานิดหน่อย แต่มีเพื่อนช่วยสรุปข่าวแบบละเอียดมาให้ ก็เลยพอเห็นภาพ
 
เวลาผมจะศึกษา ผมจะคอยดูว่าเวลาอาจารย์กระทบความเห็นต่าง กระทบคนพาล คือโดนเขาด่านั่นแหละ อาจารย์จะทำอย่างไร อาจารย์จะช่วยเขายังไง จะปลอบหรือจะติ มันไปได้ทั้งสองแนว คือทั้งเบาทั้งหนัก
 
ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าใครเขาจะด่า อาจารย์ที่เรานับถืออย่างไร จะไม่ให้เกียรติ จะดูถูก จะทำไม่มีมารยาทยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปสนใจสักเท่าไหร่
 
แต่ถ้าเรารัก เราหลงอาจารย์ เราจะชังคนที่มาติ ด่า ข่ม ดูถูก อาจารย์ หรือคนที่เรารัก ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราไม่ได้เห็นสาระสำคัญที่ท่านกำลังแสดงให้ดู เพราะมัวแต่ไปเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ผมว่ามันน่าเสียดายนะ ที่พลาดโอกาสในการเรียนรู้นั้น ๆ เพราะเอาเวลาไปสนใจสิ่งไร้สาระ
 
ผมไม่ได้ศรัทธาครูบาอาจารย์เพราะผมจะตามท่านตลอดไป แต่ผมศรัทธาเพราะผมจะทำให้ได้แบบท่าน ให้เป็นคนแบบท่าน อย่างน้อย ได้ 1 ในล้านเรื่องก็ยังดี ดังนั้น งานปกป้องอาจารย์จึงไม่ใช่งานของผม ผมไม่ใช่แนวพระอานนท์ที่ไปยืนขวางช้างนาฬาคีรีที่กำลังพุ่งชนพระพุทธเจ้าแน่ ๆ ผมก็คงจะแค่คอยดูปรากฎการณ์ไม่ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นแล้วบันทึกลงในจิตวิญญาณเท่านั้น
 
การร่วมกับอาจารย์นั้น ไม่ได้หมายถึงการเดินร่วมทางกันไป แต่หมายถึงเราได้บรรลุผลตามคำสอนของอาจารย์ได้มากน้อยแล้วเท่าไหร่ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนั้นชาวพุทธจึงถือเอากิเลสที่ลดได้เป็นตัวร่วม เป็นทิฏฐิสามัญญตา เป็นความเห็นเดียวกัน เสมอกัน มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกับอาจารย์ได้มากเท่าไหร่ ก็ร่วมมากเท่านั้น แต่ถ้าอาจารย์สอนอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันก็ไม่ร่วม

สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา

ประโยคทองของอาจารย์หมอเขียว ที่ช่วยในการประมาณได้ดีมาก ๆ

ทำความผาสุกที่ตนนี่มันก็พอตรวจใจกันได้ง่าย ถ้ายังมีอาการทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ก็ทำใจ ปรับใจตรงนี้กันก่อน งานเราก็ต้องมาก่อนเป็นธรรมดา

ช่วยคนที่ศรัทธานี่สิยาก มันเป็นการประมาณข้างนอกแล้ว รู้เรานี่พอไหว รู้เขานี่เดากันล้วน ๆ จะไปช่วยเขานี่เขาศรัทธาเรารึเปล่า? เชื่อมั่นในเรารึเปล่า? มันก็ต้องใช้การประเมิน มันเดาไม่ได้หรอก

การประเมินก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่มันจะประเมินเขาพลาดเป็นธรรมดา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าช่วยคนที่ศรัทธาลึกซึ้งขึ้น คือศรัทธามันมีน้ำหนัก มีความเข้มของมัน และศรัทธา ไม่เที่ยง … คือเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มได้ ลดได้ แต่ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เช่นเมื่อก่อนเขาบอกว่าศรัทธาเรา แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราไปยึดตามสัญญาเก่า ไม่ประเมินจากปัจจุบัน เวลาช่วยเขามันจะพลาดกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พลาดกันตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นการไม่รีบ ไม่ลงรายละเอียด คุยเก็บข้อมูลไปก่อน มันก็จะช่วยป้องกันการผิดใจกันได้

แบบที่ลวง ๆ ก็มีเหมือนกัน เหมือนจะศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรจริงจัง คือมีอยู่ แต่ไม่มี เหมือนจะให้ช่วย แต่ก็ไม่ได้ทำตามอะไร อันนี้ก็เป็นศรัทธาที่น้ำหนักน้อย ความเข้มน้อย ศรัทธาแบบเจือจาง แต่เผิน ๆ อาจจะดูเยอะ ต้องใช้เวลาประเมินเช่นกัน

ในตอนนี้มันก็เลยสบายแบบสุด ๆ เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือถ้าไม่ชัดว่าศรัทธา ไม่ชัดว่าเชื่อมั่นในความเห็นกัน ประมาณ 90 % ผมไม่ต้องปรุงช่วยเขาให้เหนื่อยเลย ก็แค่คุยขีดเท่าที่เป็นกุศล ไม่บาดหมางกัน พูดประโยชน์ของธรรมะ โทษของกิเลสประมาณหนึ่ง ก็ผิว ๆ ไม่ลงรายละเอียด มันก็ไม่ต้องปรุงมาก ไม่เหนื่อย เอาพลังที่เหลือไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อ

มันเหมือนกลลวงของนักปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้ามันหลงกับการช่วยคน มันจะไม่มีขีดเตือนว่าควรจะช่วยถึงขั้นไหนหรือเท่าไหร่ มันจะดันไปที่ MAX ตลอด หรือตามภาษาที่เข้าใจโดยมากว่า “ติดดี ยึดดี” แต่ถ้าแบบที่ผมทำได้ตอนนี้คือมันปรับได้ มันปรับได้ว่าจะเอา MAX หรือ min คือจะเอามากน้อยมันปรับได้ พลาดไปเราก็ปรับลง เบาอีก หรือไม่ก็ปิดไปเลย แบบนี้มันอาจจะพลาด แต่มันจะพลาดน้อยลง

ยิ่งคนไม่รู้จัก ไม่เคยพบปะ ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยร่วมในเครือข่าย นี่ง่ายเลย เอา concept ไปก็พอ

ไม่มีฉันทะ ก็ไม่ต้องเริ่มกันเลย

ได้ฟังพ่อครูกับอาจารย์หมอเขียวก่อนหน้านี้ในประเด็นประมาณนี้ คือถ้าไม่มีฉันทะ ไม่มีศรัทธา ทำยังไงก็ไม่สำเร็จ

แต่ก่อนมันก็ประมาณไม่เก่งหรอก มันก็จะเกิน ๆ ไปเสียส่วนมาก แล้วก็ไม่รู้โทษ ความจริงคือที่เกินนี่มันเสียของ เททิ้งน้ำเลย เราให้ เขาไม่เอา เขาเสียกุศลเขา ความเห็นเราเขาเอาไปเททิ้ง พูดไปเสียเวลา เสียกำลังปรุงไปเฉย ๆ สรุปเสียทั้งสองฝ่าย

ตอนนี้ก็สบายขึ้นเยอะ ไม่ผลักดันเหมือนก่อน เดี๋ยวนี้ก็ประมาณเอาตามศรัทธาของเขานั่นแหละ ถ้ามีก็ค่อยลงมือ ถ้าไม่มีก็คุยตามมารยาทกันไป

อย่าเอาธรรมะไปให้กับคนที่ไม่รู้ค่า
(ธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นมูล)

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์
๕ เมษายน ๒๕๖๒
บวรราชธานีอโศก
อุบลราชธานี

 

สังคมต้องการคนดีที่กล้าหาญ

ธรรมจากอาจารย์หมอเขียวครับ ยากแสนยากเลย ท้าท้ายกิเลสทั้งสองด้าน จะแยกเป็น 5 มุมตามความเข้าใจนะครับ

1.ติเพราะชัง …เกลียดเขาก็ใส่ยับเลย บันดาลโทสะเต็มที่ กิเลสงอกงาม
2.ชมเพราะชอบ …เพราะเขาคิดเหมือนเรา เอามาเพิ่มพลังเรา เพิ่มอัตตากันให้เต็มบ้อง
3.ไม่ติเพราะกลัว …ไม่กล้าแตะ กลัวเขาสวน กลัวคนเกลียด
4.ไม่ชมเพราะกลัว …ไม่กล้าชม กลัวคนหาว่าโง่
5.ไม่ติไม่ชมเพราะโง่ …เข้าใจผิดว่า ผู้อยู่เหนือหรือผู้บรรลุคือผู้ไม่ติไม่ชม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสความประมาณว่า ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม …ส่วนพวกไม่ติไม่ชมนี่มิจฉาทิฏฐิ ฤๅษีชอบคิดแบบนั้น

ส่วนติชมที่ไม่เป็นไปตามกิเลสก็มี คือเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตนเองก็ได้แสดงสิ่งดี ผู้อื่นก็จะได้นำไปพิจารณา ที่เหลืออยู่ที่จิตของแต่ละคนแล้วแหละ ว่าข้างในคิดอะไร

เลือกตั้งปี 62 ในมุมมองของผม

บ้านเมืองก็สงบสุขกันมาพักใหญ่ ๆ ช่วงโค้งสุดท้ายนี้ก็ดูจะชุลมุนวุ่นวายกันเล็กน้อย แต่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป

คนที่มีสิทธิ์หรือยังไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะยินดีในการกระทำใด ๆ ของใครก็ตามที่ตนเห็นว่าดี

แต่สิ่งที่ตนคิดตนเห็นนั้นดีจริงหรือเปล่า จะใช้อะไรมายืนยัน? จะเชื่อได้อย่างไรว่าเราเห็นควร เห็นถูก กระทำถูกจริง?

ในมุมมองของผม ซึ่งจะไม่เด่นไปทางถนนสายการเมือง ไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้สักเท่าไรนัก จะรู้ก็เผิน ๆ ตามข้อมูลที่ได้รับ ตามภูมิธรรมที่มี ว่าคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร

แต่โดยส่วนตัวผมก็เลือกไว้แล้ว แต่จะให้บรรยายเหตุผลหรือข้อดีอย่างกระจ่างแจ้ง ผมทำไม่ได้หรอก ความสามารถไม่ถึงปัญญาไม่พอ

ซึ่งคนที่ผมเลือกก็ยังตรงกับครูบาอาจารย์ การเลือกของครูบาอาจารย์เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าโอกาสผิดพลาดน่าจะน้อยกว่าเชื่อตัวเอง เพราะครูบาอาจารย์ท่านคิดดี ทำดี พูดดีมากกว่า อินทรีย์พละสูงกว่า ประสบการณ์มากกว่า และแน่นอนที่สุดคือปัญญามากกว่า เมื่อท่านเลือกใครท่านก็ต้องแบกรับวิบากไว้ ซึ่งจำนวนก็มหาศาลกว่าคนทั่วไป เพราะการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณก็ต้องมีส่วนเหนี่ยวนำให้คนอื่นทำตาม

ผมเชื่อว่าท่านต้องเลือกทางที่ดีที่สุดให้ตนเองและสังคมแน่นอน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านก็เสียสละ ทำดี ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างเสมอต้นเสมอปลายและเสมอมาตั้งแต่ท่านเข้ามาทำงานศาสนานี้

ผมเชื่อว่าจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีอะไรดีกว่าเราลดอัตตาตัวตน ตัวยึดดีถือดีทั้งหลาย เข้าไปรวมพลังกับครูบาอาจารย์หรอกครับ ถ้ามันจะถูก ก็ให้เจริญไปด้วยกัน ถ้ามันจะผิดก็จะได้ช่วยกันแก้

และสุดท้าย ผมขอย้ำว่า ผมไม่เชื่อว่าตัวเองจะฉลาดหรือมีปัญญามากกว่าครูบาอาจารย์

…สมณะโพธิรักษ์และอาจารย์หมอเขียว เลือกที่จะเทคะแนนให้ลุงตู่ ตัวผมก็เช่นเดียวกัน

รอบถึง จึงมี

การที่เราจะตัดสินใจช่วย แนะนำสิ่งใด ๆ ถ้ามันไม่เต็มรอบของมัน มันไม่สำเร็จหรอก บางทีพูดไปก็เสียของ ดีไม่ดี ตีความผิด หูเพี้ยน พาลจะบาดหมางกันอีกด้วย

วันนี้นั่งแท็กซี่เข้าบ้าน เพราะขนของเยอะ พอขึ้นไปคนขับเขาก็ทักว่าไปนั่งสมาธิมาหรอ? เราก็ตอบว่าไปเรียนพระไตรปิฎกมา เขาก็สนใจ

ก็คุยกันประเด็นเกี่ยวกับว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็ตอบตามที่เขาถาม แนะนำในประเด็นที่เขาสนใจ รู้สึกว่ามันลื่น ไปได้สวย พอเขาไม่ถามก็สงบตามปกติของเราไป ไม่ได้มีความรู้สึกอยากจะพูดอะไร

แต่ก่อนก็เคยคิดอยู่ว่าพูดมันก็ดี แต่จริง ๆ มันต้องดูจังหวะให้ออก ไม่ใช่ว่าเข้าใจว่าตัวเองมีของดีแล้วปล่อยหมด มันก็ต้องประมาณหน่อย

แต่ก่อนก็เคยเจอแต่แท็กซี่ เอาแต่พูด ไม่ฟัง แต่คนนี้เขาฟัง ก็เลยไปได้ดี สุดท้ายพอถึงบ้านก็เอาเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการจัดค่ายให้เขา เสนอไปแล้วเขาดูสนใจน่ะนะ สรุปครั้งนี้ก็เป็นการแบ่งปันโดยไม่ได้มีการยัดเยียดใดใดเลย ก็เลยเป็นสุขเบา ๆ ต้อนรับเช้าวันใหม่

…เวลาที่จะให้ข้อมูล ผมไม่ได้ประเมินจากแค่ที่เขาถาม แต่ประเมินจากสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเป็นด้วย พี่แท็กซี่คนนี้เขาเป็นคนตั้งใจทำดี เขาแขวนบัตรประชาชนจิตอาสาไว้หน้ารถ และเล่าเรื่องออกมาด้วยความยินดีในการเสียสละของเขา ผมก็ประเมินข้อมูลแล้วมันก็น่าจะพอได้ ก็เห็นพี่เขาใฝ่ดี ก็เลยลองบอก และแนะนำได้มากขึ้น

เขาก็ทำดีของเขามาเป็นทุน เราก็มีความรู้ที่เราศึกษามาพอที่จะให้ พอรอบมันลงตัว มันก็ไปด้วยกันได้ดี แต่ถ้ารอบไม่ถึงแล้วฝืนไปนะ จากประสบการณ์มีแต่บาดหมาง เหินห่าง ก็คงจะอย่างที่อาจารย์หมอเขียวสอนในค่ายล่าสุด

ยอมให้เขาห่างเรา x เมตร ดีกว่า พูดไปแล้ว แนะนำไปแล้ว บอกไปแล้ว เขาห่างเราไปอีก x+y+z+… เมตร สรุปก็นิ่งไว้เป็นหลักนั่นแหละนะ ดูให้ดี บางทีวิบากก็หลอกเราเหมือนกัน ให้เราประเมินผิดว่าเขาน่าจะเข้าใจ แต่จริง ๆ เขาไม่สามารถเข้าใจได้

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจอะไรไป มันก็ต้องดูความเจริญว่าเต็มรอบหรือยัง ทำกุศลมาดีไหม ศรัทธากันมากพอไหม มีศีลไหม มันก็ต้องดูกันดี ๆ เพราะถ้าพลาดแล้ว นอกจากช่วยไม่ได้ ยังได้ศัตรูเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ไม่สนุกเลยล่ะ…

คนไข้และหมอจะพากันป่วยตาย…

ตอนแรกที่ได้ยินก็พอเข้าใจอยู่ แต่ไม่ค่อยเห็นภาพชัด แต่พอไปโรงพยาบาลเมื่อวาน ภาพก็ชัดเจนขึ้นทันที ว่าปลายทางคือพากันป่วยตายแน่นอน

จากประโยคเต็ม “หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง ถ้าสุขภาพพึ่งตนเกิดไม่ได้ คนไข้และหมอจะพากันป่วยตาย” จากอาจารย์หมอเขียว (ดร.ใจเพชร กล้าจน)

ผมเห็นภาพที่คนไข้มากมายต่างมารอการรักษา ซึ่งโดยสถิติตามที่ได้รับรู้มาคือคนไข้โดยรวมไม่เคยลดลงเลย มีแต่มากขึ้น โรงพยาบาลก็สร้างตึกมากขึ้น นี่คือสิ่งที่แสดงการขยายตัวของความเจ็บป่วย

คนไข้ป่วย นี่เขาก็มีโอกาสจะตายอยู่แล้ว แต่หมอป่วยตายตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจจนไปเห็นภาพ คนไข้ที่มหาศาล แล้วหมอกับพยาบาลต้องแบกรับไว้

คนป่วยคนไข้ นี่เขามาพร้อมกับวิบากบาป โดนทำให้ป่วย ให้เป็นทุกข์ เป็นพลังทางลบ หดหู่ เศร้าหมอง ถ้าถามว่าช่วยเขามันดีไหม มันก็ดีแหละ ได้ใช้ชีวิต ได้ใช้เวลาและความสามารถช่วยเหลือคนอื่นมันก็ดี มันก็เป็นกุศลกรรมที่ดี

แต่ปัญหาคือเขามาให้เรารักษาเขาไม่ได้คิดจะพึ่งตน เขาไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการรักษาขนาดนั้น ถ้าตามหลักพุทธความเจ็บป่วยความตายนี่มันเกิดจากความเบียดเบียน แล้วเอาง่าย ๆ แค่ตามที่หมอแนะนำ ส่วนมากเขายังทำกันไม่ค่อยได้เลย เช่น ออกกำลังกายบ้าง ลดอาหารรสจัดบ้าง แค่นี้ก็ยากแล้ว

ซึ่งในความจริงมันก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือแก้ที่กิเลส แก้ความอยากได้อยากมีอยากเสพที่ฟุ่มเฟือยเกินไปจนเบียดเบียนชีวิตตนเองและผู้อื่น

แล้วคนไปรักษาเขาอยากพรากจากกิเลสไหมล่ะ ไม่มีหรอก เขาแค่อยากหาย แล้วก็กลับไปเสพตามที่เขาสมใจ สร้างทุกข์ สะสมเหตุแห่งทุกข์แล้วมาให้หมอกับพยาบาลแก้

แล้วหมอกับพยาบาลก็พากันแก้ได้เต็มที่แค่วัตถุ วัตถุมันก็เท่านั้นแหละ เท่าที่เห็นคนเต็มโรงพยาบาล แก้ได้จริงโรงพยาบาลมันต้องเกือบร้างสิ มันก็ไม่ 100% เพราะวัตถุนี่มันสังเคราะห์ตามจิตวิญญาณ มันยังมีองค์ประกอบที่แก้ด้วยวัตถุไม่ได้อยู่เหมือนกัน เช่นความเครียด ความกังวล ความกลัว ความอยาก ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุที่ส่งผลต่อการเกิดหรือการกำเริบของโรค

แล้วโดยหน้าที่ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ก็ต้องแบกคนไข้ เป็นทั้งอาชีพและจริยธรรม ส่วนตัวแล้วผมว่านี่มันซวยสุด ๆ เลยนะ คนเขาก็ว่าอาชีพนี้ดี ได้กุศล คนก็สรรเสริญ แต่จากมุมมองผมนะ ให้ไปแบกคนไม่ลดกิเลสผมไม่เอาด้วยหรอก มีแต่จะสร้างปัญหามาให้เรื่อย ๆ ปัญหาเดิมก็ไม่ลด แล้วยังสร้างปัญหาใหม่มาอีก ตายกันพอดี

แบกคนที่เขาพยายามล้างกิเลสมันยังพอไปไหวอยู่บ้าง แต่แบบว่าเอาแต่เสพสมใจ ทำชั่วมาเต็มที่ แล้วมาให้แก้นี่มันไม่ไหว มันก็เป็นอาชีพที่ดี รายได้ดี แต่ต้องมาแลกกับการแบกปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้ 1 แต่เพิ่มมา 2

ผมว่าบุคลากรทางการแพทย์จะป่วยตายก็เพราะแบบนี้แหละ ต้องมาร่วมแบกรับวิบากกรรมของการเบียดเบียน ของการสนองกิเลสตามใจอยาก

แล้วบุคลากรทางการแพทย์นี่ผมว่าสร้างไม่ทันคนเจ็บคนป่วยหรอก สุดท้ายอัตราส่วนก็จะขยายตัวต่างกันหลายเท่า แบกกันไปก็เจ็บป่วยล้มตายตามกันไป

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี