เรียนรู้จาก เหตุการณ์อาจารย์ลงสนามรบ น้ำปัสสาวะ

เวลาเราศึกษาธรรมะเนี่ย มันต้องมีครูบาอาจารย์ แล้วต้องมีตัวเป็น ๆ ด้วย ที่จะเป็นตัวอย่าง เห็นได้ สอบถามได้ มันถึงจะเจริญไปได้
 
ช่วงนี้อาจารย์หมอเขียว ออกรายการสดค่อนข้างถี่ การกระทบก็เยอะ ผมยังไม่ได้ดูหรอก ติดปัญหานิดหน่อย แต่มีเพื่อนช่วยสรุปข่าวแบบละเอียดมาให้ ก็เลยพอเห็นภาพ
 
เวลาผมจะศึกษา ผมจะคอยดูว่าเวลาอาจารย์กระทบความเห็นต่าง กระทบคนพาล คือโดนเขาด่านั่นแหละ อาจารย์จะทำอย่างไร อาจารย์จะช่วยเขายังไง จะปลอบหรือจะติ มันไปได้ทั้งสองแนว คือทั้งเบาทั้งหนัก
 
ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าใครเขาจะด่า อาจารย์ที่เรานับถืออย่างไร จะไม่ให้เกียรติ จะดูถูก จะทำไม่มีมารยาทยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปสนใจสักเท่าไหร่
 
แต่ถ้าเรารัก เราหลงอาจารย์ เราจะชังคนที่มาติ ด่า ข่ม ดูถูก อาจารย์ หรือคนที่เรารัก ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราไม่ได้เห็นสาระสำคัญที่ท่านกำลังแสดงให้ดู เพราะมัวแต่ไปเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ผมว่ามันน่าเสียดายนะ ที่พลาดโอกาสในการเรียนรู้นั้น ๆ เพราะเอาเวลาไปสนใจสิ่งไร้สาระ
 
ผมไม่ได้ศรัทธาครูบาอาจารย์เพราะผมจะตามท่านตลอดไป แต่ผมศรัทธาเพราะผมจะทำให้ได้แบบท่าน ให้เป็นคนแบบท่าน อย่างน้อย ได้ 1 ในล้านเรื่องก็ยังดี ดังนั้น งานปกป้องอาจารย์จึงไม่ใช่งานของผม ผมไม่ใช่แนวพระอานนท์ที่ไปยืนขวางช้างนาฬาคีรีที่กำลังพุ่งชนพระพุทธเจ้าแน่ ๆ ผมก็คงจะแค่คอยดูปรากฎการณ์ไม่ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นแล้วบันทึกลงในจิตวิญญาณเท่านั้น
 
การร่วมกับอาจารย์นั้น ไม่ได้หมายถึงการเดินร่วมทางกันไป แต่หมายถึงเราได้บรรลุผลตามคำสอนของอาจารย์ได้มากน้อยแล้วเท่าไหร่ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนั้นชาวพุทธจึงถือเอากิเลสที่ลดได้เป็นตัวร่วม เป็นทิฏฐิสามัญญตา เป็นความเห็นเดียวกัน เสมอกัน มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกับอาจารย์ได้มากเท่าไหร่ ก็ร่วมมากเท่านั้น แต่ถ้าอาจารย์สอนอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันก็ไม่ร่วม