ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา

ประโยคทองของอาจารย์หมอเขียว ที่ช่วยในการประมาณได้ดีมาก ๆ

ทำความผาสุกที่ตนนี่มันก็พอตรวจใจกันได้ง่าย ถ้ายังมีอาการทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ก็ทำใจ ปรับใจตรงนี้กันก่อน งานเราก็ต้องมาก่อนเป็นธรรมดา

ช่วยคนที่ศรัทธานี่สิยาก มันเป็นการประมาณข้างนอกแล้ว รู้เรานี่พอไหว รู้เขานี่เดากันล้วน ๆ จะไปช่วยเขานี่เขาศรัทธาเรารึเปล่า? เชื่อมั่นในเรารึเปล่า? มันก็ต้องใช้การประเมิน มันเดาไม่ได้หรอก

การประเมินก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่มันจะประเมินเขาพลาดเป็นธรรมดา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าช่วยคนที่ศรัทธาลึกซึ้งขึ้น คือศรัทธามันมีน้ำหนัก มีความเข้มของมัน และศรัทธา ไม่เที่ยง … คือเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มได้ ลดได้ แต่ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เช่นเมื่อก่อนเขาบอกว่าศรัทธาเรา แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราไปยึดตามสัญญาเก่า ไม่ประเมินจากปัจจุบัน เวลาช่วยเขามันจะพลาดกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พลาดกันตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นการไม่รีบ ไม่ลงรายละเอียด คุยเก็บข้อมูลไปก่อน มันก็จะช่วยป้องกันการผิดใจกันได้

แบบที่ลวง ๆ ก็มีเหมือนกัน เหมือนจะศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรจริงจัง คือมีอยู่ แต่ไม่มี เหมือนจะให้ช่วย แต่ก็ไม่ได้ทำตามอะไร อันนี้ก็เป็นศรัทธาที่น้ำหนักน้อย ความเข้มน้อย ศรัทธาแบบเจือจาง แต่เผิน ๆ อาจจะดูเยอะ ต้องใช้เวลาประเมินเช่นกัน

ในตอนนี้มันก็เลยสบายแบบสุด ๆ เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือถ้าไม่ชัดว่าศรัทธา ไม่ชัดว่าเชื่อมั่นในความเห็นกัน ประมาณ 90 % ผมไม่ต้องปรุงช่วยเขาให้เหนื่อยเลย ก็แค่คุยขีดเท่าที่เป็นกุศล ไม่บาดหมางกัน พูดประโยชน์ของธรรมะ โทษของกิเลสประมาณหนึ่ง ก็ผิว ๆ ไม่ลงรายละเอียด มันก็ไม่ต้องปรุงมาก ไม่เหนื่อย เอาพลังที่เหลือไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อ

มันเหมือนกลลวงของนักปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้ามันหลงกับการช่วยคน มันจะไม่มีขีดเตือนว่าควรจะช่วยถึงขั้นไหนหรือเท่าไหร่ มันจะดันไปที่ MAX ตลอด หรือตามภาษาที่เข้าใจโดยมากว่า “ติดดี ยึดดี” แต่ถ้าแบบที่ผมทำได้ตอนนี้คือมันปรับได้ มันปรับได้ว่าจะเอา MAX หรือ min คือจะเอามากน้อยมันปรับได้ พลาดไปเราก็ปรับลง เบาอีก หรือไม่ก็ปิดไปเลย แบบนี้มันอาจจะพลาด แต่มันจะพลาดน้อยลง

ยิ่งคนไม่รู้จัก ไม่เคยพบปะ ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยร่วมในเครือข่าย นี่ง่ายเลย เอา concept ไปก็พอ