ทำบุญล้างซวย

ความเห็นผิดแบบมหภาคของชาวไทยเลยก็คือ เห็นว่าบุญเป็นเหมือนโชค ทำบุญแล้วจะมีผลไปเพิ่มโชค คือทำบุญมากมีโชคมากอะไรแบบนั้น

เมื่อชีวิตพบกับความซวยซ้ำซวยซ้อนก็เข้าใจว่าตัวเองดวงตก วิธีการทั่วไปก็คือไปทำบุญแบบที่เขาเข้าใจนั่นแหละ ทำแล้วก็เข้าใจว่าตัวเองได้โชคเพิ่ม จะโชคดีขึ้น จะพ้นเคราะห์อะไรแบบนี้

จริง ๆ แล้วความซวย มันไม่ได้เกิดจากบุญหมดหรือโชคหมด แต่เกิดจากกรรมอันมีกิเลสเป็นตัวบงการ เมื่อกิเลสสั่ง สิ่งที่ทำนั่นก็ย่อมชั่ว จึงกลายเป็นกรรมชั่วให้ต้องมารับผลซวย ๆ อย่างที่เห็นกัน

ทีนี้ทำบุญล้างซวยมันกลายเป็นความเชื่อชนิดฝังหัวไปแล้วไง คนก็เอาแต่ไปทำบุญล้างซวย และซวยยิ่งกว่าคือล้างผิด เหมือนคนเหยียบขี้แต่ไม่ล้าง กลับพยายามเอาน้ำหอมมาฉีด

เพราะจะล้างซวยกันจริง ๆ ก็ต้องล้างเหตุแห่งความซวย ก็คือล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความซวยนี่แหละ มันถึงจะหายซวย มันถึงจะสะอาด ไปล้างผิดที่อีกกี่ชาติก็ไม่หายซวย

อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆแต่ผมเชื่อว่า 99.99 % หรือมากกว่าของชาวพุทธในประเทศไทยยังมีความเห็นผิดเช่นว่า ทำบุญล้างซวย

หรือถ้าเอาให้ถูกตามพยัญชนะแบบเดิม ก็คือ ทำบุญ(ล้างกิเลสเหตุแห่งความชั่ว) ล้างซวย( เมื่อไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องรับผลซวย ๆ ) แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็ถูก แต่ถ้าเข้าใจแบบอื่นก็ผิด … แต่จะเห็นว่าความเห็นแบบนี้ผิดก็ไม่มีปัญหา เพราะคนเห็นผิดก็ต้องเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกเป็นธรรมดา เอาเป็นว่าก็ทดลองศึกษากันไปว่าทำแบบไหนมันจะพ้นทุกข์ได้จริง

คนเมือง อยากเข้าป่า

หลายปีผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ ดูเหมือนจะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในความคิดของผม และเป้าหมายในชีวิต ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้ดูเหมือนว่าทิศทางในชีวิตจะค่อนข้างแน่นอนแล้ว เหลือแค่ว่าจะเริ่มออกเดินทางเมื่อไหร่ เท่านั้นเอง

เชื่อไหมว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นด้วยความบังเอิญ หรือว่าจริงๆมันไม่บังเอิญก็ไม่อาจจะทราบได้เหมือนกัน ย้อนหลังไปเมื่อปี 2009 หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง นับจากเวลานี้

เริ่มตั้งแต่ กลางปี 2009 กับสวนลุงนิล (12-14 มิถุนายน 2009)

สวนลุงนิล
สวนลุงนิล

เป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางไปกับทีวีบูรพา ที่สวนลุงนิล เพื่อพบกับลุงนิล เป็นเกษตรพอเพียง โดยใช้แนวคิดไร่นาสวนผสม เป็นปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งที่มีความรู้ในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเกื้อกูล โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวง จริงๆแล้วในครั้งนี้คนที่ต้องการเดินทางไปเรียนรู้ และเข้าไปขอร่วมเดินทางกับทีวีบูรพาก็คือคุณแม่ของผม แต่พอมาใกล้่ถึงวันเดินทางก็พบว่าคุณแม่ติดงานด่วนๆ ไปไม่ได้ เลยส่งผมไปแทน??

ผมก็ไปแบบงงๆ เพราะว่าช่วงนั้นก็ว่างอยู่แล้วและไม่ได้รับงานไว้ จึงไปแบบไม่รู้อะไรเลย เขาให้ไปก็ไป ไม่รู้จักทีวีบูรพา ไม่รู้จักสวนลุงนิล ไม่รู้จักลุงนิล อะไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่เมื่อไปก็ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมายจนทำให้ชีวิตหลังจากกลับมาค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองไปทีละนิดละน้อย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :  สวนลุงนิล

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ( 15-17 มิถุนายน 2012 )

หว่านข้าว

ครั้งที่สองกับทีวีบูรพาอีกครั้ง ซึ่งการไปเครือข่ายชาวนาคุณธรรม จังหวัดยโสธร นี้ถือเป็นครั้งที่สองของกิจกรรมชุดนี้ ในครั้งแรกผมเองไม่ได้ไปแต่คุณแม่ของผมไป พอมาครั้งที่สองก็เลยแนะนำให้ผมได้มารู้จัก และเรียนรู้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรม ที่นำพาโดยทีวีบูรพา ครั้งนี้ก็ได้เรียนรู้โลกในอีกมุมหนึ่ง โลกที่หมุนช้ากว่าที่กรุงเทพฯมาก ที่ที่วันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าแต่ก็มีคุณค่าในตัวของมัน ผมได้รู้จักวิถีของชาวนาคุณธรรมจากการเดินทางมาในครั้งนี้ และพบว่านี่แหละคือจุดเริ่มต้นแห่งความสมบูรณ์ในชีวิตของผมอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา ( 9-11 พฤษจิกายน 2012 )

ลงแขกเกี่ยวข้าว
ลงแขกเกี่ยวข้าว

ลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้่ เป็นการเดินทางไปที่ยโสธร เพื่อพบกับเครือข่ายชาวนาคุณธรรมกันอีกครั้ง ในครั้งนี้เป็นการไปเข้าถึงชาวนาแบบบุกบ้าน ไปนอนบ้านชาวนากันเลย ไปดูชีวิตประจำวัน ดูลูกหลาน ชุมชน สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งมีนัยยะที่เป็นกุศลมากมายซ่อนเร้นอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ หากเพียงแค่อ่านฟัง แต่ยังไม่ได้ลองก็คงจะไม่เห็นผล ผมเน้นดำเนินชีวิตตามสุภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ จึงได้เดินทางไปอีกครั้ง ครั้งนี้นับเป็นการเดินทางที่ได้เรียนรู้อย่างคุ้มค่าอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม ( 25 – 31 มกราคม 2013)

ค่ายหมอเขียว
ค่ายหมอเขียว

เป็นอีกครั้งที่ได้เดินทาง ในครั้งนี้ก็จะไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ กับแพทย์วิถีธรรม หรือการใช้หลักธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาและดูแลสุขภาพให้อยู่ในจุดสมดุลคือไม่ดีและไม่ร้าย ให้อยู่กลางๆ ดูๆแล้วอาจจะง่ายแต่จริงๆ นั้นยาก เพราะว่า ยา 9 เม็ด ของหมอเขียวนั้น มีสองเม็ดสุดท้ายคือความพอเพียงและธรรมะ ซึ่งยากง่ายต่างกันไปตามแต่ละคน ซึ่งเป็นตัวที่จะทำให้สุขภาพ ชีวิต และจิตใจ ร้ายดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากว่าเราควบคุมได้

เนื้อหาในค่ายส่วนใหญ่ก็จะเป็นการดูแลสุขภาพโดยหลักยา 9 เม็ด พร้อมกับให้ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในค่ายให้เกิดการเรียนรู้การดูแลรักษาสุขภาพโดยมีเหล่าจิตอาสาเป็นทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาที่คอยให้ความรู้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม ( ค่ายหมอเขียว )

คนเมือง อยากเข้าป่า

มาจนถึงตอนนี้ก็สรุปกันเลยแล้วกัน การปลูกต้นไม้หากินก็รู้บ้างแล้ว การแปรรูปก็รู้บ้างแล้ว การทำนาก็รู้บ้างแล้ว การแพทย์วิถีธรรมก็รู้บ้างแล้ว ธรรมะก็รู้บ้างแล้ว โลกก็เข้าใจบ้างแล้ว

ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีชีวิตไปทำไม แล้วทำไมต้องมาทำงานงกๆ ในเมื่อสุดท้ายก็ต้องเอาเงินไปซื้อข้าวกินอยู่ดี ปลูกข้าวกินเองเลยไม่ง่ายกว่าหรอ ทำไมชีวิตต้องทำอะไรซับซ้อนด้วย ชื่อเสียงเงินทองก็ไม่ได้อยากได้อะไรมากมายแล้ว ก็แค่พอดำรงชีพได้แค่นั้นเอง สุดท้ายก็เลยมีความคิดแบบคนเมือง อยากเข้าป่า (ไปอยู่บ้านนอก นั่นแหละ)

แน่นอนว่ามันยาก ในการปรับตัวในเบื้องต้นหลายคนคงสงสัยว่าอยู่เมืองดีอยู่แล้วไปทำไม ที่เขาถามเพราะเขายังไม่เห็นทุกข์ในเมืองใหญ่ และยังไม่เห็นความสุขที่บ้านนอก รวมถึงยังไม่เข้าใจความสงบในใจ ไม่แปลกหากอ่านแล้วไม่เข้าใจ เพราะคนที่จะเข้าใจได้ต้องมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ผสมผสานทั้งสองด้าน และอื่นๆที่ขอละไว้ในฐานที่อาจจะเข้าใจ

เหตุที่พิมพ์บทความนี้ขึ้นมาอย่างแรกคือต้องการบันทึก สองคือหากเรื่องเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนได้เจอสิ่งที่ชีวิตตัวเองต้องการอย่างแท้จริงก็คงจะดี แน่นอนว่าชีวิตของเรานั้นค้นหาสิ่งที่ต่างกันตามเหตุและปัจจัย ตามแต่กรรมและกิเลสของแต่ละคน

สวัสดี

วันสิ้นโลก

ถ้าตอนนี้ วันนี้ ปีนี้ ไม่มาพิมพ์เรื่องนี้สักหน่อย เดี๋ยวจะกลายเป็นคนตกเทรนด์ระดับโลกไป เพราะวันนี้เป็นวันที่เขาว่า เป็นวันสิ้นโลก!!

เกริ่นกันก่อน….

บทความที่เล่าให้อ่านกันต่อไปนี้ มาจากมุมมองของผมที่ไม่ได้สนใจเรื่องวันสิ้นโลกเลยครับ ไม่ตระหนก ไม่ตามข่าว แต่ก็ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตในแต่ละวันครับ ถือว่าโลกแตกก็ช่างมัน โลกไม่แตกก็เดินต่อไปแค่นั้นเอง ดังนั้นสิ่งที่จะได้อ่านกันต่อไปนี้ก็คือความคิดเห็นที่มาจากข่าวที่อ่านแบบผิวเผินเท่านั้นครับ  เชื่อผมเถอะว่่า..คนที่รับข้อมูลประมาณนี้ แบบผมนั้น เป็นคนหมู่มาก ใครจะมีเวลาไปหาข้อมูลที่เป็นจริงได้ขนาดนั้นละ เสียเวลาทำมาหากินจริงๆ…

MonkiezGrove Go Green : Heal the World : Piglet
Heal the World

ตามปฏิทินของชาวมายัน เขาว่าวันที่ 21 ธันวาคม 2012 หรือ 2555 นี้เป็นวันสิ้นโลกนะครับ ส่วนใครไปขุด ไปหา ไปแปล ไปตีความมายังไง เป็นใครก็ไม่รู้เหมือนกันครับ แต่ที่ผมสงสัยคือมันดูขัดๆกับความเป็นจริงในยุคปัจจุบันมาก แต่ก็อย่างว่านะ ในยุคสมัยที่จิตใจคนอ่อนแอขาดที่พึ่งพิงอะไรวิ่งเข้าไม่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ ก็เป็นธรรมดา

วันสิ้นโลกเป็นข้อมูลจากคนที่ตายมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ตีความโดยคนยุคสมัยนี้ ตีความโดยเชื่อมั่นว่าคนในอดีตแม่น??? ปัญหาคือคนในอดีตรู้อะไร แล้วเรารู้อะไรจากคนในอดีต จริงๆเราก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลยครับอุปทานไปเองทั้งนั้น ประัวัติศาสตร์ที่ได้แต่สมมุติฐานแล้วเอามาสรุปเป็นเรื่องจริง ทำให้เกิดข้อมูลชุดหนึ่งขึ้นมา… แต่ในตอนนี้ผมคงไม่สนใจว่าเชื่อกันได้อย่างไร ไปคิดต่อกันเองละกันนะ คงจะเขียนแค่ว่า เชื่อแล้วได้อะไร

ถ้าเชื่อว่าโลกแตก

คนเชื่อว่าโลกแตกมีไม่น้อย เป็นปัญหาระดับชาติของหลายๆชาติ หลายคนคิดจะทิ้งชีวิตปัจจุบันไปเสพสุขเพราะเชื่อว่าวันนี้คือวันสุดท้ายโดยไม่คิดเผื่อว่า “แล้วถ้ามันไม่แตกล่ะ…” นี่คือการเอาความเสี่ยงทั้งหมดทุ่มลงไปที่ข้อมูลที่ใครก็ไม่รู้หามา ผมต้องถามจริงๆว่า รู้จริงหรือเกี่ยวกับปฏิทินมายัน? ตีความถูกหรือ? เคยคุยกับคนที่ทำปฏิทินหรือ? จึงเชื่อ ก่อนจะเชื่ออะไรนั้นควรพิจารณาแหล่งข้อมูลมากกว่าใครๆก็เชื่อกันหรือการประโคมข่าวเพื่อหาข่าวมาขายของคนขายข่าว

แต่การเชื่อก็ไม่ใช่ว่ามีแต่ข้อเสีย คนที่คุมสติได้และเชื่อว่าโลกแตกก็มีไม่น้อย อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทำสิ่งที่ดี สิ่งที่อยากทำมานาน ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว ได้คุย ได้เปิดใจกัน โดยใช้โอกาสที่เรียกว่าวันสิ้นโลกในการสร้างโลกใหม่ ดังนั้นคนที่เชื่อแล้วใช้ประโยชน์จากวันสิ้นโลกนี้ ถึงโลกไม่แตกแต่ผมเชื่อว่าชีวิตของเขานับจากวันนี้จะดีขึ้นแน่นอน

ถ้าไม่เชื่อว่าโลกแตก

มีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าโลกไม่แตก หรือวันสิ้นโลกไม่มีจริงหรอกจะเป็นไปได้ไงราวๆนี้ อาจจะเพราะข้อมูลที่มีไม่มากเพราะ เอาง่ายๆว่าเขาไม่เชื่อในข้อมูลเหล่านั้นแล้วกัน ปฏิทินชาวมายันและความหมายเหล่านั้นถือเป็นเรื่องตลกสำหรับคนไม่เชื่อ ซึ่งคนที่ไม่เชื่อก็จะดำเนินชีวิตไปตามปกติแบบไม่มีอะไรเกิดอันนี้ก็ถือว่าดี เพราะถ้าโลกแตกก็ตายอยู่ดีจะไปกังวลทำไมใช้ชีวิตแบบปกติไปน่ะดีแล้ว

แต่การที่โลกไม่แตกก็ใช่ว่าจะไม่ตาย เพราะคนเราสามารถตายกันได้ตลอดเวลา นั่งก็ตาย ยืนก็ตาย นอนก็ตายได้ ดังนั้นการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ระรึกถึงความตายที่สามารถเข้ามาหาได้ทุกวินาที เป็นชีวิตที่ไม่ประมาท ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ทุกวันของชีวิตก็จะมีคุณค่าขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

ถ้าทั้งเชื่อและไม่เชื่อล่ะ?

เชื่อและไม่เชื่อ คือเชื่อในความไม่แน่นอนอะไรก็เกิดขึ้นได้ การเตรียมตัวเตรียมใจอย่างมีสติพร้อมการวางแผนในอนาคตอย่างเป็นธรรมชาติก็จะเกิดขึ้น ข้อมูลทุกอย่างหากเรานำมาคัดกรองในส่วนที่มีประโยชน์มันก็จะมีประโยชน์ นี่คือสิ่งที่ยาก แต่ถ้าคิดเป็นทำได้ ก็จะดีกับชีวิตตัวเอง

เราต้องเจอกับข่าววันสิ้นโลกอีกกี่ครั้งจนถึงจะหันมารักษาโลก… ขอจบบทวันสิ้นโลกไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะถ้าคุณได้อ่านถึงตรงนี้หลังจากวันนี้ มันคงจะไม่มีอีกแล้วล่ะ

สวัสดี

บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ธรรมชาตินั้นคือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้กับธรรมชาติคือการเรียนรู้และรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงแห่งความจริง ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

ผมเองเป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก จริงๆจะบอกว่าชอบปลูกต้นไม้มันก็ไม่ตรงเสียทีเดียว ต้องบอกว่าผมชอบมองอะไรที่มันเติบโตมากกว่า นอกจากต้นไม้แล้ว ยังจะมีอะไรที่เติบโตอย่างที่เราสามารถดูได้ทุกวันได้อีก หลายคนอาจจะบอกว่ามีสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมวนั่นไง แต่ผมก็ต้องตอบว่าบทมันก็ต่างไปจากปลูกต้นไม้ เพราะการดูแลสัตว์เลี้ยงกับการดูแลต้นไม้นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก และสุดท้ายผมก็เลือกมองการเติบโตของต้นไม้มากกว่า

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ต้นไม้นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมชาติ สัตว์ก็กินพืช คนก็กินพืช แล้วพืชกินอะไร? แสง น้ำ ความชื้น อากาศ ธรรมชาติของพืชเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป พืชในธรรมชาติอย่างป่า ภูเขานั้น มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงที่เป็นวัฏจักรและเกื้อหนุนกันระหว่างสิ่งมีชีิวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

การกำเนิดกับการเปลี่ยนแปลง

ผมเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างจากพืช หรือต้นไม้ ภาพที่ติดตาอยู่ตั้งแต่สมัยเด็กคือเมล็ดข้าวโพดที่ซื้อมาจากห้างแห่งหนึ่ง อยู่ในซองผักทั่วไป ผมเพาะลงที่หน้าบ้านเล็กๆ หยอดเป็นหลุม ไม่กี่วันต่อมา ต้นข้าวโพดน้อยๆทำให้ผมประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับขนาดของมัน ต้นข้าวโพดโตเร็วมากๆ แต่สุดท้ายความทรงจำก็จบลงแค่นั้น และมันคงไม่ได้โตต่อด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเติบโต

ในระหว่างที่มีการเติบโต ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเกิดขึ้น ผมเรียนรู้ได้จากไม้ประดับเช่น กระบองเพชร หรือบอนสีที่ผมเลี้ยง ทุกๆขั้นตอนของการเติบโต มีจังหวะ มีปัจจัย มีฤดู และมีสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้ต้นหนึ่ง ลองนึกดูว่าไม้ประดับเช่นกล้วยไม้ กว่าจะได้ดอกงามๆ ต้องให้สารเคมีกี่ชนิดกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเกิดจากมือของเราก็ได้ หรือจากธรรมชาติก็ได้เหมือนกัน

ผมสังเกตุว่าต้นไม้เองก็มีวัย เหมือนกับวัยของคนเรานี่แหละ วัยต้นกล้า วัยรุ่นของต้นไม้ วัยสืบพันธุ์ หรือต้นไม้ยืนต้นก็จะดำรงชีวิตไปเรื่อยๆจนกว่าจะอ่อนแอและตายไป

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ซากบนพื้นดิน

หลายครั้งที่ผมได้เห็นการตาย หรือการหยุดการเจริญเติบโตอย่างถาวรของต้นไม้ ผมเองเคยคิดว่าผมชอบการเติบโต แต่พอมามองการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายของต้นไม้แล้ว ผมกลับค้นพบเรื่องใหม่ที่ตัวเองไม่รู้ ซึ่งซ่อนอยู่ในใจของผมเอง ผมสนใจการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายนี้ด้วย

สรุปแล้วจริงๆ ผมเองคงจะชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรียกว่าชอบคงไม่ถูกตรงประเด็นนัก อาจจะเรียกได้ว่า ผมมักจะได้เรียนรู้จากการสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไม่ว่าจะร้ายหรือดี หรือจริงๆแล้ว คำว่าร้ายและดีนั้น คนเราคงตัดสินเอาเองตามผลประโยชน์ของตนมากกว่า บางทีการจากไปของบางสิ่งก็อาจจะดีก็ได้ บางทีการเกิดของอีกสิ่งก็อาจจะไม่ดีก็ได้ใครจะรู้ เพราะมันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละคนจริงๆ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนทีไ่ด้ประโยชน์ก็จะสนับสนุน คนที่เสียประโยชน์ก็จะต่อต้าน ซึ่งก็จะมีผลที่ตามมาอย่างแน่นอน ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ธรรมชาติเสียประโยชน์ล่ะ ผลที่ตามมาคืออะไร?

สวัสดี

มือเย็นปลูกต้นไม้ขึ้น

หลายๆคนคงจะเคยได้ยินคำว่ามือเย็น ที่มักจะใช้กับคนที่ปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็งอกงาม ผมก็เป็นอีกคนที่มักจะถูกเรียกว่าเป็นคนมือเย็น

คนมือเย็น หรือที่มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่าใช้เรียกคนที่มักปลูกต้นไม้ได้งอกงามดีว่า “คนมือเย็น” ตรงข้ามกับ “คนมือร้อน” ซึ่งจริงๆก็เป็นคำเรียกละนะครับ เพราะจริงๆแล้วบางทีคนมือเย็นก็อาจจะไม่ได้ปลูกต้นไม้ได้งอกงามอย่างที่เห็นเพราะกว่าจะงอกงามได้อย่างที่เห็นและเรียกกันว่ามือเย็น อาจจะผ่านซากต้นไม้ พรากมาหลายชีวิตแล้วก็เป็นได้

ในทางตรงกันข้าม คนมือร้อน เมื่อพบว่าปลูกต้นไม้แล้วตาย หรือไม่งอกงาม ก็จำกัดความว่าตนเองเป็นคนมือร้อน และจำไว้อย่างนั้น แล้วก็เลิกปลูก ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น…

มือเย็นปลูกต้นไม้ขึ้น

(อยากเริ่มต้นเป็นคนมือเย็นให้หัดเพาะต้นที่งอกง่ายๆเช่นถั่วงอก หรือในรูปก็จะเป็นกระถินครับ)

ตัวผมเองบอกตรงๆ ว่าไม่เชื่อในเรื่องของ คนมือเย็นหรือคนมือร้อน ผมเชื่อในความเป็นจริงมากกว่า คือคนเข้าใจในต้นไม้ที่ปลูกหรือไม่ ได้ดูแลต้นไม้ในแบบที่มันต้องการหรือไม่ เพราะจริงๆแล้ว ถ้าให้คนมือเย็นและคนมือร้อนใช้วิธีและดูแลแบบเดียวกัน ผลมันก็คงจะออกมาไม่ต่างกันนัก

สำหรับเรื่องของจิตใจผู้ปลูกนั้นมีผลกับต้นไม้หรือไม่ จากที่เคยรับรู้มาในหลายๆเรื่องราวก็ได้ยินว่ามีผลอยู่ซึ่งอาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ เช่นการเปิดเพลงให้ต้นไม้ฟัง(ฟัง?) ก็อาจจะให้ผลทางอ้อมคือคนดูแลอารมณ์ดีทำให้ดูแลต้นไม้ด้วยความละเอียดมากขึ้น ส่วนทางตรงก็น่าจะเป็นคลื่นเสียงมีผลกับการเติบโตของต้นไม้อะไรแบบนี้คงต้องใช้ข้อมูลงานวิจัยมาอ้างอิงละนะ ใครมีเวลาก็ลองค้นๆดูกันแล้วกันนะครับ

หรือกระทั่งเรื่องของคลื่นที่คนปล่อยออกมา ผมไม่แน่ใจในเนื้อหาแต่ก็เคยได้ยินมาว่าเมื่อเรามีความสุขจะส่งคลื่นออกมาแบบหนึ่ง แต่เมื่อเรามีความทุกข์ก็จะส่งคลื่นออกมาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการงอกงามของต้นไม้ก็เป็นไปได้ (แต่ผลกระทบคงไม่เยอะเท่าได้น้ำและแสงแดด…) เพราะต้นไม้ก็ใช้คลื่นของแสงในการสังเคราะห์พลังงานเหมือนกัน

สรุปว่าบางทีเรื่องมือร้อนมือเย็นนี่ผมคิดว่า คงจะเป็นเรื่องที่เราคิดไปเองเสียมากกว่า เพราะกว่าผมจะโดนเรียกว่าคนมือเย็นนั้น ผมทำต้นไม้ตายไปหลายต้นแล้วครับ…

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

หลังจากที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนาคุณธรรมใน กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา แล้วกลับมาก็อยากจะมาเล่าให้อ่านกันว่าผมได้พบเจออะไรมาบ้าง

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม
วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

ชาวนาคุณธรรมนั้นต่างจากชาวนาทั่วไปอย่างไร?

คำถามนี้อาจจะดูงงๆและไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเราลองปรับตัวโจทย์ดูสักนิดอาจจะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้มากขึ้นว่า ความแตกต่างระหว่างชาวนาคุณธรรมและชาวนาทั่วไปนั้นมีผลอย่างไรต่อสังคมและโลกบ้าง

ตัวอย่างเช่น…

บริษัท A ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยสารเคมีลงสู่ชุมชน พนักงานไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม รายได้ทั้งหมดหายไปกับนักลงทุน

บริษัท B ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ มีกรรมวิธีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ใส่ใจและสร้างศีลธรรมให้กับพนักงาน ครอบครัว และชุมชนรอบข้าง รายได้ทั้งหมดนำมากระจายสู่ชุมชน

เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้อาจจะเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราจะกลับมาที่ภาพเล็กกันอีกครั้ง

บริษัท A หรือชาวนาเคมี ทำนาโดยใช้สารเคมีเป็นพิษทั้งคนทำและคนกิน รายได้ไปตกอยู่กับพ่อค้าปุ๋ย โรงสี พ่อค้าคนกลาง ฯลฯ ชีวิตเครียด จน กินเหล้า ติดพนันหวังพึ่งดวง

บริษัท B หรือชาวนาคุณธรรม ทำนาโดยใช้เกษตรอินทรีย์ มีวิถีแห่งชาวนาคุณธรรม รับผิดชอบสังคมไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการขายที่สูงกว่า แต่รายได้ทั้งหมดกลับมาจุนเจือตัวชาวนาและสังคมรอบๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างดังนี้ก็จะสามารถอธิบายได้ง่ายขึ้นว่าวิถีแห่งชาวนาคุณธรรมต่างจากชาวนาเคมี หรือชาวนาอินทรีย์อย่างไร ซึ่งเมื่อเรามองที่ปลายทาง ผลสุดท้ายเราก็จะพบว่าชาวนาที่ดำเนินวิถีที่ต่างกันย่อมได้รับผลต่างกัน

ซึ่งแล้วแต่เราจะเลือกว่าจะสนับสนุนเส้นทางไหน สังคมจะไปในทิศทางไหนนั้นน้อยคนนักจะเลือกด้วยตัวเองได้ ชาวนาก็เหมือนกัน บางครั้งหรือหลายครั้งทำไปเพราะความจำเป็น ทำไปเพราะไม่รุ้ ทำไปเพราะต้องดำรงอยู่ ทางเลือกมีไม่มากนัก หากสังคมช่วยกันชี้ช่องทางและเอื้อเฟื้อแก่ชาวนาที่ยังหลงทาง ก็อาจจะทำให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนมามุ่งสู่วิถีแห่งชาวนาคุณธรรมได้

เมื่อมีชาวนาคุณธรรมมาก สังคมรอบๆก็จะมีคุณธรรมเกิดขึ้นตามหลักการแพร่ของคนดี คนดีก็จะชวนกันให้ทำสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปเองโดยอัตโนมัติ อ่านมาจนถึงขนาดนี้คุณคิดว่าผมมีเหตุผลมากพอที่จะสนับสนุนชาวนาคุณธรรมหรือยัง?

สวัสดี

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

จากการไปเรียนรู้ที่ยโสธร ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็ได้พบกับผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ส่วนหนึ่งครับ

เกษตรอินทรีย์นั้นจะไม่ใช้สารเคมีเลย ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเร่งต่างๆ จากการสังเคราะห์ทางเคมีหรือแม้แต่ใช้พืชที่ตัดแต่งพันธุ์กรรม ทำให้เกษตรอินทรีย์นั้นเติบโตโดยพื้นฐานทางธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็จะใช้วัสดุและนวัตกรรมทางธรรมชาติแทนครับ เช่นน้ำหมัก ฮอโมนพืชต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ นั่นคือเอาธรรมชาติ ส่งเสริมธรรมชาติอีกที สรุปคือไม่ใช่สิ่งที่มีพิษมีภัยแน่นอนครับ

ทีนี้เกษตรกรหลายคนอาจจะคิดว่ามันได้ผลผลิตน้อยไม่พอขาย แต่จากที่ผมได้ไปศึกษาจากสวนลุงนิล จนถึงกิจกรรมในตอนนี้ผมก็ยังคิดว่ามันพอกินนะ สำหรับการพอขายเนี่ยมันแล้วแต่การวางแผนทางการค้า แต่ถ้าพอกินนี่มีแน่นอน เพราะพื้นที่ไม่มาก แต่ดูเหมือนจะให้ผลผลิตที่ดีทีเดียวเชียวล่ะ ลองมาดูกันนะ

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

มะเขือ
มะเขือ

มะเขือนี่อาจจะดูธรรมดาและพบเห็นได้ทั่วไปนะครับ ผลสุกนี่ถ้าเราเอามากินไม่ทันสุกจริงๆก็เก็บไปทำน้ำหมักชีวภาพได้ครับ เอามารดต้นไม้อีกทีงามนักล่ะ

บวบ
บวบ

บวบที่ไม่โดนปนเปื้อนด้วยสารเคมี สำคัญนะครับ บวบที่เราเอาไปขัดตัวขัดผิว หากมีการปนเปื้อนด้วยสารเคมีแล้วจะดีต่อผิวอันบอบบางของเราจริงหรือ หลายคนอาจจะบอกว่าเราแกะเปลือกใช้แต่ไส้ในของมัน แต่สารเคมีที่เกษตรเคมีใช้ส่วนใหญ่เป็นพวกดูดซึมครับ หมายความว่ามันก็ไปปนอยู่ในที่เราถูตัวนั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โดนฉีดโดยตรงแต่ถ้าในพื้นที่มีการฉีดพ่นก็มีความเสี่ยงอยู่ครับ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ควรจะมั่นใจกับแหล่งที่มาด้วยนะ

ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่
ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่

ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจนี่เขาปลูกไผ่ไว้หลายชนิดเลยครับ มีทั้งไผ่ใช้ไม้ ไผ่กินหน่อมากมาย มีเยอะขนาดนี้วันไหนอยากกินก็เดินไปหาๆดูก็น่าจะพบหน่อไม้ อิ่มสบายๆ แค่เดินรอบดงไผ่

มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่
มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่

มะละกอในแปลงสาธิตใหญ่ขนาดที่มือผมยังจับลำบาก ที่เห็นนี่ถือว่ายังเล็กนะครับ เมื่อเทียบกับมะละกอในสวนด้านหลังซึ่งไม่ได้ถ่่ายมาเพราะมัวแต่ไปถ่ายอย่างอื่น จะเห็นว่าผลผลิตที่ได้นั้นมีคุณภาพและความปลอดภัยมากทีเดียว

กล้วยพันธุ์พระราชทาน
กล้วยพันธุ์พระราชทาน

กล้วยพันธุ์พระราชทานครับ นี่เป็นกล้วยน้ำว้าลูกใหญ่ที่มีเปลือกบางครับ ซึ่งลองกินแล้วก็พบว่าหวานแต่พอดีครับ แต่ปัญหาคือกินลูกเดียวก็จะอิ่มแล้วครับ เลยไม่ได้ชิมลูกที่สองอยู่ คุณภาพคับหวีอีกเหมือนเดิมครับ

แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ
แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ

มาจบกันที่แตงโมครับ เคยได้ยินว่าแตงโมที่นี่ไม่ได้รดน้ำครับ ให้กินแต่น้ำค้างเอา ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่ขนาดของแตงโมที่ผมว่าก็ได้ เพราะที่เคยได้มามันใหญ่กว่านี้เยอะเลยครับ แต่ขนาดนี้ก็น่ารักดีครับ กินเป็นมื้อๆได้พอดีไม่ใหญ่มากขนาดพอเป็นของหวานประดับมื้อได้ ที่สำคัญปลอดภัยกับชีวิตครับ

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์นะครับ จริงๆแล้วก็มีอีกมากมายที่งอกงามในดินร่วนปนทรายผ่านกรรมวิธีบำรุงดินแบบเกษตรอินทรีย์ให้โตและงอกงามอย่างยั่งยืนครับ

สวัสดี

ของฝากจากยโสธร

หลังจากไปร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ที่จังหวัดยโสธร ก็ได้ของฝากมาด้วยมากมายครับ

มีทั้งของที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจให้มา ของที่พ่อๆแม่ๆ ร่วมกันให้มา และของที่ซื้อมาด้วยครับ สำหรับของส่วนใหญ่ก็จะเป็นของกินของใช้ละนะ ส่วนของที่ระลึกนั้นไม่มี

ของฝากจากยโสธร

หอม กระเทียม และข้าวอินทรีย์ ของฝากจากมูลนิธิธรรมะร่วมใจ
หอม กระเทียม และข้าวอินทรีย์ ของฝากจากมูลนิธิธรรมะร่วมใจ

อันนี้เป็นของฝากที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ร่วมกันให้นะครับ มีหอมกระเทียม และข้าวด้วยครับ เยอะทีเดียว กินกันไปอีกนานเลยงานนี้

น้ำหมักชีวภาพ ซื้อมาจากห้างดินของมูลนิธิฯ
น้ำหมักชีวภาพ ซื้อมาจากห้างดินของมูลนิธิฯ

อันนี้เป็นน้ำหมักชีวภาพ ที่เป็นอาหารพืชครับ จริงๆแล้วหาซื้อที่ไหนก็ได้ครับ แต่ได้จังหวะเหมาะแถมราคาไม่แพงด้วยก็เลยซื้อกลับมาทีเดียวเลย เพราะยังไงก็คิดว่าต้องลองซื้อใช้อยู่แล้ว และคิดว่าในกรุงเทพฯ คงไม่ขายถูกกว่าราคาป้ายแน่นอน ซื้อมาสองแบบ แบบบำรุงต้นใบและบำรุงดอกผล

สารพัดเมล็ดผัก ถูกและได้เยอะกว่าที่ขายเป็นซองๆทั่วไป
สารพัดเมล็ดผัก ถูกและได้เยอะกว่าที่ขายเป็นซองๆทั่วไป

เมล็ดพันธุ์ผักครับ ปกติก็หาซื้อได้ทั่วไปเหมือนกัน แต่ถึงจะมีทั่วไปผมก็ไม่ซื้อครับ มาซื้อเอาที่นี่แหละ อยากลองเพาะผักอยู่พอดีก็เลยซื้อไปเลย ที่ซื้อไปก็มี พริกขี้หนู สลัดม่วง ผักกาดขาว คะน้ายอด ชีลาวครับ เมล็ดพันธุ์เยอะทีเดียว คิดว่าคงต้องทยอยปลูกนะครับ พื้นที่ที่บ้านไม่ค่อยจะพอ

สิบเซียนสมุนไพร ซื้อจากห้างดินเหมือนกัน
สิบเซียนสมุนไพร ซื้อจากห้างดินเหมือนกัน

สิบเซียนสมุนไพร น้ำหมักสมุนไพรหรืออะไรสักอย่างนี่แหละ เห็นน้องตากล้องเขาซื้อก็เลยซื้อบ้าง เห็นเขาลองแล้วคงจะดีเป็นแน่แท้ ไม่งั้นคงไม่เอามาขาย ส่วนดีจริงไม่จริง ชอบไม่ชอบ อย่างไร ลองแล้วค่อยมาว่ากันอีกทีแล้วกัน แต่ตอนนี้ขอซื้อติดมาก่อนไม่งั้นไม่ได้ลอง

จริงๆมีของฝากจากแม่หม่อน ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจฝากให้คุณแม่ของผมด้วย แต่ก็ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะ โดนเอาไปจัดเก็บหมดแล้วเลยไม่อยากหยิบมาถ่าย ( แอบขี้เกียจ ) เลยเอาประมาณนี้แล้วกันนะ

สวัสดี