[31] ใช้ฟืน ได้ไฟ ได้ถ่าน

diary-0031-ใช้ฟืน-ได้ไฟ-ได้ถ่าน

31. ใช้ฟืน ได้ไฟ ได้ถ่าน

หลังจากที่ผมใช้ฟืนมาได้สักพัก ก็ได้รับประโยชน์จากฟืนมากมาย ได้มากกว่าถ่านเสียอีก เลยเก็บมาบันทึกกันหน่อย

การได้ฟืนมานั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะต้องถางป่าที่รกอยู่แล้ว ไหนจะกระถิน ไหนจะปอกระสา มันเยอะจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เอามาทำเป็นเชื้อเพลิงนี่แหละ สุดท้ายก็จะได้ถ่าน เอาไปใช้ปลูกต้นไม้ได้อีก

ถ้าซื้อถ่านที่เขาเผานี่มันไม่ง่ายนะ มันต้องเอารถไปขนมา ฟืนจึงเป็นความเรียบง่ายและพอเพียงชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับชีวิตบ้านไร่

ฟืนคือความไม่แน่นอน จะวางใจเหมือนใช้เตาแก๊สหรือกะทะไฟฟ้าไม่ได้ เพราะความร้อนที่ได้มันไม่แน่ แม้จะมีฟืนปริมาณเท่ากัน แต่ถ้าไม้ต่างชนิดก็ให้ความร้อนต่างกัน ไหนจะขนาด รูปทรง อีกที่มีผลต่อความร้อน ดังนั้นการทำอาหารด้วยฟืนจะต้องคอยสังเกตมากกว่า ต้องคอยเติมเชื้อเพลิงหรือลดมันลงบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าการปรับอุณหภูมิขึ้นลงของเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก

การใช้ฟืนในหน้าฝนนั้น คงไม่เหมือนหน้าร้อน เพราะอากาศมีความชื้นสูง ต้องจัดเตรียมฟืน เก็บฟืนไว้ในที่แห้ง หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่ให้โดนน้ำค้างหรือน้ำฝน

การใช้ฟืนนั้นยังสามารถจุดไฟให้ติดได้ง่ายกว่าใช้ถ่าน เพราะก่อกองไฟด้วยเศษไม้และฟืนนี่แทบจะไม่ต้องใช้พัด แต่ก่อเตาถ่านต้องใช้ ก็เลยเป็นอีกหนึ่งความสะดวกของการใช้ฟืน

[24] ขี้เถ้า

diary-0024-ขี้เถ้า

24. ขี้เถ้า

ช่วงหลังมานี่ขี้เถ้าชักจะเยอะขึ้นมาก เป็นขี้เถ้าที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่มาที่นี่แรก ๆ เก็บจนได้เป็นถัง ก็เลยต้องหาวิธีใช้มัน

มีครั้งหนึ่งที่เคยก่อกองไฟกันบนพื้นดิน ก็ก่อกันหลายชั่วโมง ใช้ฟืนไปพอประมาณ พอฤดูกาลผ่านไป กลายเป็นว่าวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่กองไฟนั้น เจริญเติบโตได้ดีกว่าวัชพืชในพื้นที่อื่น ๆ

ผมเคยคิดว่าขี้เถ้านี้มีความเป็นด่างมาก ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อต้นไม้ แต่จากสิ่งที่ได้เห็น จึงเข้าใจใหม่ว่ามันขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ จริง ๆ แล้วมันดี มันมีธาตุอาหารอยู่ แต่ก็ต้องใช้มันให้พอเหมาะไม่มากจนเกินไป

มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ขี้เถ้าแบ่งปันอยู่ในอินเตอร์เน็ต ผมก็ได้ประโยชน์จากการค้นหาข้อมูลเหล่านั้นนั่นแหละ สุดท้ายเลยได้วิธีการกำจัดขี้เถ้าที่เต็มถังได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นั่นคือเอามันไปใส่พืชผักที่เราปลูกนั่นเอง

[13] การจัดการกับถ่านก้อนเล็กก้อนน้อย

diary-0013-การจัดการกับถ่าน

13. การจัดการกับถ่านก้อนเล็กก้อนน้อย

หลังจากที่ก่อไฟเสร็จ เก็บถ่านดับไฟกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะเหลือถ่านก้อนเล็กก้อนใหญ่ที่ขนาดคละเคล้ากันไป

ถ่านที่ใช้ก่อไฟแล้ว มักจะมีขนาดไม่เหมาะจะนำไปก่อไฟใหม่ เพราะมันจะเล็กจนไปอุดรูของเตาที่เขาทำไว้ให้อากาศผ่าน เมื่อไม่มีอากาศผ่าน มันก็จะลุกไหม้ไม่ค่อยดี

ตอนแรกผมก็ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร ก็เก็บไว้จนมันเยอะ พอวันนึงมาคิดออกว่า เมื่อก่อนสมัยที่ยังเลี้ยงไม้ประดับ เขาก็มักจะเอาเศษถ่านนี่แหละมาเป็นส่วนผสมของดินที่ใช้ปลูก

จากประสบการณ์ที่เคยลองใช้แล้วก็พบว่า รากนั้นมาเกาะถ่าน อาจจะเพราะถ่านมีคุณสมบัติที่เหมาะหลายอย่างเช่น เก็บความชื้นได้พอประมาณ ไม่ทำให้ดินติดกันเป็นก้อน ฯลฯ

เห็นอย่างนั้นก็เลยเอาเศษถ่านมาตำ แล้วเอาตะแกรงกรองให้ได้ขนาดที่เหมาะสมจะนำไปใช้ผสมดินปลูกต้นไม้ต่อไป

[12] การเก็บถ่าน หลังจากใช้เสร็จแล้ว

diary-0012-การเก็บถ่านหลังจากใช้

12. การเก็บถ่าน หลังจากใช้เสร็จแล้ว

หลังจากที่ได้ก่อไฟประกอบอาหารเสร็จ หลายครั้งที่ถ่านยังเหลือ และยังคงร้อนแรงอยู่

ในช่วงแรก ๆ ที่มาหัดใช้ชีวิตที่นี่นั้น ผมใช้วิธีตักถ่านออกมาแล้วเอาน้ำราด เพราะมันดับได้เร็วดี แต่มีข้อเสียที่มากคือถ่านจะเปียกชื้น ต้องเอาไปตากแดดอีกทีถึงจะใช้ได้

วิธีที่เคยเห็นมาคือเขาเอาไปหมกขี้เถ้า ก็รู้สึกว่ามันยุ่งยากตอนจะเอามาใช้งานอีกที

อยู่มาเป็นปี คุยเรื่องนี้กับเพื่อน เขาก็แนะนำว่าเอาฝาปิดสิ มันจะได้ดับ …. เออก็จริง เรื่องนี้ก็ลืมไปสนิท แค่เอาฝาปิดไฟก็จะดับแล้ว เพราะไม่มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงให้เกิดการเผาไหม้

สรุปก็ตอนนี้ก็เลยใช้วิธีนี้ ก็สะดวกดี ไปหลงทำอะไรแปลก ๆ อยู่นาน แบบนี้ดีอย่างคือจะดับก็สะดวก จะเอามาใช้ใหม่ก็สะดวก

[11] การก่อไฟในวันที่ฝนตก

diary-0011-การก่อไฟในวันที่ฝนตก

11. การก่อไฟในวันที่ฝนตก

สิ่งที่ยุ่งยากสิ่งหนึ่งในวันฝนตกหรือวันที่อากาศชื้นมากก็คือการก่อไฟ

ถ้าหากเรามีพื้นที่แห้งมากพอก็คงจะไม่เป็นปัญหาอะไรนัก แต่ในส่วนของที่นี่ พื้นที่ที่จะหลบให้พ้นจากความชื้น มีไม่มากนัก

เอาแค่ชื้นก็ก่อไฟยากแล้ว ถ้าเปียกยิ่งแล้วใหญ่ ต้องเปลืองเชื้อเพลิงตั้งต้น ต้องเปลืองแรงมากในการพัด แม้ถ่านจะติดไฟขึ้นมาก็ไม่ได้ความว่ามันจะติดตลอดไป ต้องคอยพัดเลี้ยงไฟให้มันร้อนจนไล่ความชื้นโดยรวมให้ออกไปให้หมด จึงจะวางใจได้

ในส่วนของถ่านนั้น ผมเก็บไว้ในร่ม แต่ก็ยังหนีไม่พ้นความชื้น ส่วนฟืนหรือไม้นั้น ตากไว้กลางแจ้ง ถ้าในวันฝนตกก็เรียกว่าใช้ยากขึ้นมาเลยทีเดียว ตอนนี้ยังไม่ได้ทำที่เก็บให้มันพ้นความชื้น ค่อยว่ากันต่อไป

[5] จุดไฟด้วยวัสดุต่าง ๆ

diary-0005-จุดไฟด้วยวัสดุต่างๆ

5. จุดไฟด้วยวัสดุต่าง ๆ

หลังจากที่มาเรียนรู้การประกอบอาหารด้วยฟืนหรือถ่าน ผมก็เรียนรู้การจุดไฟมาเรื่อย ๆ

ความเข้าใจเดิม ๆ ก็คือต้องมีขี้ใต้ มีวัสดุช่วยจุดไฟ ซึ่งถ้าในสถานการณ์ เช่น เดินป่าก็อาจจะเหมาะก็ได้ แต่นี่เราอยู่บ้านมันก็ไม่ต้องมีอะไรยุ่งยาก

ผมเริ่มเรียนรู้การจุดไฟจากเศษกระดาษเหลือใช้ ตั้งแต่การใช้กระดาษเยอะ ๆ จนเหลือเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นก็ติดเตาได้

แล้วก็ทดลองใช้กิ่งไม้แทนกระดาษ ใช้เศษหญ้า เศษฟางแทนกระดาษ ลองใช้ไม้ฟืนที่ตัดเตรียมไว้แทน ก็พบว่าแทนกันได้ดี

ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อความยากง่ายในการติดไฟนั้นก็คือความชื้น เราควรเก็บเชื้อเพลิงของเราให้แห้งเข้าไว้จะง่ายต่อการจุดไฟ แต่ถ้าเปียกชื้นมันก็พอได้อยู่ แต่ต้องใช้เวลาและแรงมากหน่อยในการจะก่อไฟแต่ละครั้ง

[4] เก็บเศษไม้ ทำเชื้อเพลิง ทดแทนถ่าน

diary-0004-เก็บเศษไม้ทำเชื้อเพลง-*

4. เก็บเศษไม้ ทำเชื้อเพลิง ทดแทนถ่าน

ช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่ที่นี่นั้น ผมจะใช้ถ่านเป็นหลักของเชื้อเพลิงในการทำอาหาร

แต่การได้มาซึ่งถ่านนั้นก็ยากเย็น ต้องขับรถออกไปซื้อจากชาวบ้าน แม้จะมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับที่กรุงเทพฯ คือกระสอบละ 130-150 บาท แต่ก็ยังเป็นความไม่สะดวกในการจัดหาอยู่ดี

ต่อมา ผมเริ่มใช้กิ่งไม้เข้ามาเพื่อช่วยลดภาระ จนในที่สุดผมแทบจะไม่ได้ใช้ถ่านที่ซื้อมาเลย เรียกว่าแค่กิ่งไม้ที่มีในพื้นที่ก็ใช้กันไม่ทันเลยทีเดียว

ซึ่งตรงจุดนี้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากจากการซื้อถ่านได้ แต่การมีถ่านสำรองไว้นั้นก็สามารถช่วยได้ในหลาย ๆ กรณีเช่น ไม่มีเวลาจัดหาฟืน ป่วย หรือทำอาหารประเภทเผา ย่าง ปิ้ง ควรจะใช้ถ่านมากกว่า เพราะฟืนจะมีควันค่อนข้างมาก ไม่เหมาะที่จะใช้กับอาหารที่ต้องกระทบกับความร้อนโดยไม่ผ่านเครื่องครัว

ถ้าเราไม่ต้องการซื้อถ่าน เราก็สามารถจะเผาถ่านเก็บไว้เองได้ แต่ในการเผาถ่านนี้ผมยังไม่ได้ทดลอง และหากไม่เผาถ่านก็สามารถจัดหาไม้มาตัดเป็นท่อน ๆ เตรียมสำรองไว้ได้เช่นกัน