สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

อ่านข่าวบ้านเมืองวันนี้ก็ทำให้เข้าใจคำนี้ลึกซึ้งขึ้น ในมุมที่ว่า จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้มีวีรบุรุษอะไรหรอก แต่พอมีคนชั่วมาก คนที่เขาทำดีแม้เพียงน้อยก็โดดเด่นขึ้นมาได้ทันที

คนโง่ก็ขยันโง่ คนชั่วก็ขยันชั่ว คนดีก็ขยันทำดีไป ระยะห่างมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในจังหวะที่เหมาะสม คนโง่ คนชั่ว คนดี มาบรรจบกัน จะเกิดสถานการณ์สร้างวีรบุรุษขึ้นเองตามธรรมชาติ เหมือนกับเรากำลังเดินอยู่แล้วแผ่นดินมันข้าง ๆ มันยุบ มันก็เลยเหมือนเราสูงเด่นกว่าระดับแผ่นดินที่ยุบ จริง ๆ เราก็สูงเท่าเดิมนั่นแหละ

เหมือนคนดี เขาก็ดีเท่าดีที่เขาทำได้ แต่พอมีคนโง่คนชั่วมากระทบ มันจะมีการเปรียบเทียบโดยธรรมชาติ โลกจะเปรียบเทียบ โลกธรรมจะหมุนเวียน สรรเสริญและนินทาจะเกิดขึ้น เป็นสภาพไม่เรียบ ไม่เสมอกัน กลายเป็นฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ฝ่ายหนึ่งเป็นวีรบุรุษ

ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะไปโกรธ ขุ่นเคือง หมองใจกับคนโง่คนชั่ว เพราะเขาก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ของเขา คือแสดงความโง่ความชั่วให้โลกได้เห็น เพื่อขับให้ความดีโดดเด่นขึ้น ให้มันตัดกันแรงขึ้น(contrast)

พอผมเข้าใจเรื่องนี้เพิ่ม ก็เข้าใจอีกหลายเรื่องเพิ่มเลยนะ เราเข้าใจเลยว่าไอ้ที่เขาแสดงมิจฉาธรรมกันเป็นอันมากทุกวันนี้ เพื่อให้เราได้ฝึกทำใจไม่ให้โกรธ ขุ่นเคืองคับข้องใจ(1) เพื่อที่จะทำให้มันชัดเจนขึ้น(2) เขาก็กำลังใช้กรรมของเขา(3) มันก็เป็นไปตามธรรมดาของโลกที่จะต้องมีคนชั่วมากกว่าคนดีอยู่แล้ว(4) ดังนั้นธรรมที่แสดงอยู่โดยมาก แม้เป็นอธรรมก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และมันก็เป็นไปของมันอย่างนั้นเอง(5)

สรุปก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปใส่ใจอะไรมากนัก ก็รับรู้ไปตามเรื่องตามราว ช่วยอะไรได้ก็ช่วย แต่อย่าไปช่วยให้เขาเกลียด เขาโกรธกันมากกว่าเดิม คือช่วยให้เขาเมตตากัน เข้าใจกัน อภัยกัน

เมื่อเราเพียรทำดีไปเรื่อย ๆ โดยไม่ไปเสียเวลาร่วมทำชั่วไปกับความชั่วที่มายั่วให้เราหลงโกรธ เกลียด ชัง แช่ง ดีที่เราทำก็จะยิ่งชัดขึ้นไปเรื่อย ๆ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของผลของกรรมที่จะลิขิตสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง

ณ วันนี้ดูเหมือนจะมีกิจกรรมที่หลายอย่าง ดูจะสับสนในชีวิตพิกล การมีกิจกรรมและงานที่หลากหลายดูจะเป็นข้อดีในชีวิต

แต่ในปัจจุบันนั้นความหลากหลายเหล่านั้นกลับมาเล่นงานผม ในวันหนึ่งผมมีสมาธิอยู่ปริมาณหนึ่ง แน่นอนมันสามารถเพิ่มเป็นอนันต์ได้ถ้าหากผมฝึกบ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกิจกรรมหลายๆอย่างนั้น ทำให้ผมกลายเป็นคนสมาธิสั้นไป

การรับข้อมูลข่าวสาร จากทุกๆมุมของเรื่องที่สนใจ มีผลทำให้เราไขว้เขวไปจากเรื่องที่กำลังจดจ่อหรือมุ่งมั่นอยู่ ครั้นไอ้การจะไม่สนใจก็ดูจะเป็นการยากไปหน่อยเพราะส่วนใหญ่กิจกรรมเหล่านั้นก็มักจะอยู่รอบๆ หรือปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ก็คล้ายๆกับกินกาแฟตอนเช้า แปรงฟันก่อนนอนอะไรอย่างนั้น

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป…

แน่นอนว่าถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ผมเองสามารถควบคุมความหลากหลายของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรกับมัน จนกระทั่งมาถึงตอนนี้ ณ จุดนี้ที่กำลังพิมพ์อยู่นั้นเป็นเวลาของเทอมสุดท้ายในการเรียนปริญญาโท ของผม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยจะถนัดนัก นั่นคือการวิจัยเชิงสถิติและบรรยายในรูปแบบวิชาการ

ผมเองเรียนศิลปะมา ผมคิดว่าศิลปะเหมือนจักรวาล ไม่มีขอบ ไม่มีสูงสุด ไม่มีต่ำสุด ความคิดผมจึงไม่เคยมารูปแบบหรือกรอบใดๆทั้งนั้น มันกลายเป็นทัศนคติ กลายเป็นนิสัย และกลายเป็นอนาคตของผมไปในเวลาเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้ผมจำเป็นต้องทำตามกฏเกณ หรือรูปแบบ หรือ แบบทดสอบใดๆก็ตามที่จำเป็นต้องผ่านไปให้ได้ การเปลี่ยนมุมมองที่เคยมีนั้น ไม่ยากเท่ากับการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำกิจกรรมอย่างหลากหลายในแต่ละวัน

สถานการณ์เปลี่ยนคนก็ต้องเปลี่ยน

เมื่อสถานการณ์บีบคั้นกว่าที่คิด ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจ และเข้าใจสภาพที่ตัวเองเป็นอยู่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะจำได้ ผมนึกถึงประโยคหนึ่งได้ในขณะที่ตั้งสมาธิ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ประโยคนี้พุ่งเข้ามาในหัวผมทันที โชคดีที่ผมเคยได้ยินและได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับความหมายของประโยคนี้ ผมเองชินกับความหลากหลาย จนขาดความสามารถในการจดจ่อในสถานการณ์ที่จำเป็นเช่นนี้ เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เป็นประโยคที่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างดี

เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ทำให้ผมรู้ว่าผมควรจะเรียงลำดับความสำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดในสิ่งที่สำคัญมากมายนั้น ถ้าไม่ใช้สติคิดก็คงจะลำบาก เพราะผมเองมีสิ่งสำคัญหลายสิ่งที่ต้องทำไม่ทำก็อาจจะทำให้ชีวิตแย่ก็ได้ แต่สิ่งนี้ การทำวิจัยในครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ ผมพิมพ์บทความนี้เพื่อบอกกับตัวเอง ทุกคำที่พิมพ์ลงไปได้ตอกย้ำข้อความเหล่านี้ในสมองของผม และเป็นสิ่งยืนยันแนวทางของผมเองด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ต้องการ การพิสูจน์หรือการทดลอง แต่จำเป็นต้องทำอย่างจริงจัง เวลาที่เหลือไม่มากในช่วง 1-2 เดือนนี้ผมจะขอใช้เพื่อการทำวิจัยนี้เท่านั้น

สวัสดี

ทบทวนเรื่องราวระหว่างปี

ใกล้จะปีใหม่แล้ว ถือเป็นช่วงเวลาหยุดยาวที่จะได้คิดได้ทำอะไรหลายๆอย่าง หนึ่งในกิจกรรมที่ผมจำเป็นต้องทำนั่นคือนั่งทบทวนว่าหนึ่งปีทำอะไรไปบ้าง

สิ่งที่ทำในหนึ่งปีนั้นอาจจะอยู่ในเป้าหมายหรือไม่ได้อยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้แล้วคงได้แต่ทำใจและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งปีนี้เท่านั้นและวางแผนใหม่ในอนาคตต่อไป

To do list ปีเก่าๆ ผมทำไว้เสมอเมื่อเข้าสู่ช่วงปีใหม่ ซึ่งในช่วงสิ้นปี 2554 ผมก็จะหยิบบันทึกเก่าตอนต้นปี 2554 ที่เคยเขียนไว้มาดูอีกครั้งว่าเคยทำอะไรไปบ้าง อะไรบ้างที่หลงลืม อะไรบ้างที่หล่นหายไป ซึ่งต่อจากนี้คงต้องคิดกันว่า สิ่งที่เคยประเมินไว้ว่าตัวเองน่าจะจำได้ แล้วทำไม่ได้นั้นควรจะปรับปรุงอย่างไร..

และจากที่ดูแล้วคิดว่าผมคงต้องให้เกรด C แก่ตัวเอง เพราะงานหลายๆอย่างที่ได้วางไว้ ไม่ได้ตามเป้าหมายเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็ไม่อยากโทษว่าติดเรียน หรือป้ายความผิดให้กับน้ำท่วม เหตุจริงๆนั้นก็เพราะผมประเมินสถานการณ์ไว้ผิดตั้งแต่แรกนั่นเอง…

สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทำเป้าหมายของตัวเองไว้ ปีใหม่นี้ก็ลองดูก็ได้นะครับ เริ่มจากการทบทวนเรื่องราวเก่าๆก่อนเพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานในการตั้งเป้าในปีต่อๆไปของตัวเอง ส่วนเป้าหมายของใครจะท้าทายแค่ไหน ก็ขอให้ทำได้สำเร็จแล้วกันนะครับ

สวัสดี

เสียสละ หรือ ต้องช่วยกันเจ็บ ?

วันนี้ผมติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมเหมือนเคยครับ เพราะต้องคอยระวังที่บ้านไว้ด้วย และอีกอย่างคือวันนี้จะออกไปซื้อของด้วยก็เลยต้องตามข่าวกันติดหนึบหน่อย

ข่าวสารเนี่ยมันเป็นข้อมูลครับ ยิ่งฟัง ก็ยิ่งคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด คนเราบางทีก็รับข้อมูลบางอย่างเข้าสมองมากเกินจำเป็นครับ การคัดกรองข่าวสารที่จำเป็นเพียงเล็กน้อยจากข้อมูลข่าวสารจำนวนมากเกินจำเป็น (Snow job คำนี้ผมได้มาจากการเรียน Negotiate และชอบมากๆ )  ซึ่งผมได้รับทราบมาว่ามีทั้งข่าวที่เกิดขึ้นจริง และข่าวที่บิดเบือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับข่าวสาร

ข่าวสารสำหรับผมนั้น ในโลกนี้ไม่มีข่าวใดจริงแท้เลย ทุกๆข่าว ผ่านสายตา สมอง และปากจนถึงปลายปากกาหรือมือที่พิมพ์ลงไป ระหว่างทางที่ข่าวนั้นๆ ผ่านมาจนถึงเราจะเจออะไรบ้าง ประสบการณ์ ความวิตก อคติ ลำเอียง การคิดไปเอง ฯลฯ ทำให้ข่าวสารเหล่านั้นถูกบิดเบือนแต่แรกแล้ว ดังนั้นการรับข่าวสารจำเป็นต้องกรองจากหลายแหล่งกันให้ดีนะครับ เพราะจะส่งผลในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ ซึ่งในเวลานี้ทุกอย่างดูจะแข่งกับเวลามากทีเดียว

เข้าประเด็นกันเลย…

ระหว่างที่ผมอ่านเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมจำนวนมาก ก็ได้ปรากฏข้อความหนึ่ง ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเมื่อโดนซึนามิว่า “ญี่ปุ่นพยายามกั้นแนวความเสียหายให้วงแคบที่สุด และทุกคนเสียสละและมีระเบียบ ความมีระเบียบทำให้ญี่ปุ่นจัดการทุกอย่างได้ไว แต่เมื่อมองคนไทยแล้ว คนไทยกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าการเสียสละเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทำไมไม่ช่วยกันแบ่งเบา ฉันโดนคุณช่วยกันโดนบ้าง ต้องโดนให้ทั่วๆกัน จะได้มาตราฐานเดียวกัน ” อะไรประมาณนี้

ในความเห็นนั้นมีกระทั่งคนที่บอกมาว่ามีคนไปทำลายแนวกระสอบทรายก็ยังมี ผมอ่านแล้วก็ไม่แปลกใจ เพราะจากที่ฟังวิทยุดูเหมือนจะมีการขัดแย้งกันในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นดูจะมาจากมุมมองทางการเมือง ซึ่งผมเองขอให้ความคิดเห็นตรงๆว่า เราน่าจะมองไปที่การจัดการปัญหาน้ำท่วมกันมากกว่า

ผมเองอยู่กรุงเทพฯ คงไม่มีหน้าไปบอกว่าให้คนต่างจังหวัดช่วยกันเสียสละให้กรุงเทพฯ เพราะเห็นภาพน้ำท่วมก็พูดไม่ออก แต่ถ้าเราคิดไปถึงระดับประเทศ เราควรจะรักษาอะไรเป็นอันดับแรก สิ่งที่ประเทศจำเป็นต้องรักษาคืออะไร? ถ้าให้ดีก็คิดไปถึงระดับโลกเลยก็ดีครับ เพราะจริงๆ ปัญหาที่เราเจอนั้นเป็นปัญหาระดับโลกทีเดียวนะครับ

ผมเองเป็นแค่ชีวิตเล็กๆในเมืองใหญ่คงจะไม่มีปัญญาไปช่วยอะไรเขาได้มาก จากสถานการณ์ตอนนี้คงได้แค่ภาวนาให้ฝนไม่ตกมากไปกว่านี้ และคิดว่าหลังจากนี้เราควรทำอะไรกันบ้าง

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสังคมที่ค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลายพอสมควร แต่ผมยินดีต้อนรับทุกความคิดเห็นครับ

สวัสดี