รอบถึง จึงมี

การที่เราจะตัดสินใจช่วย แนะนำสิ่งใด ๆ ถ้ามันไม่เต็มรอบของมัน มันไม่สำเร็จหรอก บางทีพูดไปก็เสียของ ดีไม่ดี ตีความผิด หูเพี้ยน พาลจะบาดหมางกันอีกด้วย

วันนี้นั่งแท็กซี่เข้าบ้าน เพราะขนของเยอะ พอขึ้นไปคนขับเขาก็ทักว่าไปนั่งสมาธิมาหรอ? เราก็ตอบว่าไปเรียนพระไตรปิฎกมา เขาก็สนใจ

ก็คุยกันประเด็นเกี่ยวกับว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็ตอบตามที่เขาถาม แนะนำในประเด็นที่เขาสนใจ รู้สึกว่ามันลื่น ไปได้สวย พอเขาไม่ถามก็สงบตามปกติของเราไป ไม่ได้มีความรู้สึกอยากจะพูดอะไร

แต่ก่อนก็เคยคิดอยู่ว่าพูดมันก็ดี แต่จริง ๆ มันต้องดูจังหวะให้ออก ไม่ใช่ว่าเข้าใจว่าตัวเองมีของดีแล้วปล่อยหมด มันก็ต้องประมาณหน่อย

แต่ก่อนก็เคยเจอแต่แท็กซี่ เอาแต่พูด ไม่ฟัง แต่คนนี้เขาฟัง ก็เลยไปได้ดี สุดท้ายพอถึงบ้านก็เอาเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการจัดค่ายให้เขา เสนอไปแล้วเขาดูสนใจน่ะนะ สรุปครั้งนี้ก็เป็นการแบ่งปันโดยไม่ได้มีการยัดเยียดใดใดเลย ก็เลยเป็นสุขเบา ๆ ต้อนรับเช้าวันใหม่

…เวลาที่จะให้ข้อมูล ผมไม่ได้ประเมินจากแค่ที่เขาถาม แต่ประเมินจากสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเป็นด้วย พี่แท็กซี่คนนี้เขาเป็นคนตั้งใจทำดี เขาแขวนบัตรประชาชนจิตอาสาไว้หน้ารถ และเล่าเรื่องออกมาด้วยความยินดีในการเสียสละของเขา ผมก็ประเมินข้อมูลแล้วมันก็น่าจะพอได้ ก็เห็นพี่เขาใฝ่ดี ก็เลยลองบอก และแนะนำได้มากขึ้น

เขาก็ทำดีของเขามาเป็นทุน เราก็มีความรู้ที่เราศึกษามาพอที่จะให้ พอรอบมันลงตัว มันก็ไปด้วยกันได้ดี แต่ถ้ารอบไม่ถึงแล้วฝืนไปนะ จากประสบการณ์มีแต่บาดหมาง เหินห่าง ก็คงจะอย่างที่อาจารย์หมอเขียวสอนในค่ายล่าสุด

ยอมให้เขาห่างเรา x เมตร ดีกว่า พูดไปแล้ว แนะนำไปแล้ว บอกไปแล้ว เขาห่างเราไปอีก x+y+z+… เมตร สรุปก็นิ่งไว้เป็นหลักนั่นแหละนะ ดูให้ดี บางทีวิบากก็หลอกเราเหมือนกัน ให้เราประเมินผิดว่าเขาน่าจะเข้าใจ แต่จริง ๆ เขาไม่สามารถเข้าใจได้

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจอะไรไป มันก็ต้องดูความเจริญว่าเต็มรอบหรือยัง ทำกุศลมาดีไหม ศรัทธากันมากพอไหม มีศีลไหม มันก็ต้องดูกันดี ๆ เพราะถ้าพลาดแล้ว นอกจากช่วยไม่ได้ ยังได้ศัตรูเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ไม่สนุกเลยล่ะ…

คนไข้และหมอจะพากันป่วยตาย…

ตอนแรกที่ได้ยินก็พอเข้าใจอยู่ แต่ไม่ค่อยเห็นภาพชัด แต่พอไปโรงพยาบาลเมื่อวาน ภาพก็ชัดเจนขึ้นทันที ว่าปลายทางคือพากันป่วยตายแน่นอน

จากประโยคเต็ม “หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง ถ้าสุขภาพพึ่งตนเกิดไม่ได้ คนไข้และหมอจะพากันป่วยตาย” จากอาจารย์หมอเขียว (ดร.ใจเพชร กล้าจน)

ผมเห็นภาพที่คนไข้มากมายต่างมารอการรักษา ซึ่งโดยสถิติตามที่ได้รับรู้มาคือคนไข้โดยรวมไม่เคยลดลงเลย มีแต่มากขึ้น โรงพยาบาลก็สร้างตึกมากขึ้น นี่คือสิ่งที่แสดงการขยายตัวของความเจ็บป่วย

คนไข้ป่วย นี่เขาก็มีโอกาสจะตายอยู่แล้ว แต่หมอป่วยตายตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจจนไปเห็นภาพ คนไข้ที่มหาศาล แล้วหมอกับพยาบาลต้องแบกรับไว้

คนป่วยคนไข้ นี่เขามาพร้อมกับวิบากบาป โดนทำให้ป่วย ให้เป็นทุกข์ เป็นพลังทางลบ หดหู่ เศร้าหมอง ถ้าถามว่าช่วยเขามันดีไหม มันก็ดีแหละ ได้ใช้ชีวิต ได้ใช้เวลาและความสามารถช่วยเหลือคนอื่นมันก็ดี มันก็เป็นกุศลกรรมที่ดี

แต่ปัญหาคือเขามาให้เรารักษาเขาไม่ได้คิดจะพึ่งตน เขาไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการรักษาขนาดนั้น ถ้าตามหลักพุทธความเจ็บป่วยความตายนี่มันเกิดจากความเบียดเบียน แล้วเอาง่าย ๆ แค่ตามที่หมอแนะนำ ส่วนมากเขายังทำกันไม่ค่อยได้เลย เช่น ออกกำลังกายบ้าง ลดอาหารรสจัดบ้าง แค่นี้ก็ยากแล้ว

ซึ่งในความจริงมันก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือแก้ที่กิเลส แก้ความอยากได้อยากมีอยากเสพที่ฟุ่มเฟือยเกินไปจนเบียดเบียนชีวิตตนเองและผู้อื่น

แล้วคนไปรักษาเขาอยากพรากจากกิเลสไหมล่ะ ไม่มีหรอก เขาแค่อยากหาย แล้วก็กลับไปเสพตามที่เขาสมใจ สร้างทุกข์ สะสมเหตุแห่งทุกข์แล้วมาให้หมอกับพยาบาลแก้

แล้วหมอกับพยาบาลก็พากันแก้ได้เต็มที่แค่วัตถุ วัตถุมันก็เท่านั้นแหละ เท่าที่เห็นคนเต็มโรงพยาบาล แก้ได้จริงโรงพยาบาลมันต้องเกือบร้างสิ มันก็ไม่ 100% เพราะวัตถุนี่มันสังเคราะห์ตามจิตวิญญาณ มันยังมีองค์ประกอบที่แก้ด้วยวัตถุไม่ได้อยู่เหมือนกัน เช่นความเครียด ความกังวล ความกลัว ความอยาก ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุที่ส่งผลต่อการเกิดหรือการกำเริบของโรค

แล้วโดยหน้าที่ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ก็ต้องแบกคนไข้ เป็นทั้งอาชีพและจริยธรรม ส่วนตัวแล้วผมว่านี่มันซวยสุด ๆ เลยนะ คนเขาก็ว่าอาชีพนี้ดี ได้กุศล คนก็สรรเสริญ แต่จากมุมมองผมนะ ให้ไปแบกคนไม่ลดกิเลสผมไม่เอาด้วยหรอก มีแต่จะสร้างปัญหามาให้เรื่อย ๆ ปัญหาเดิมก็ไม่ลด แล้วยังสร้างปัญหาใหม่มาอีก ตายกันพอดี

แบกคนที่เขาพยายามล้างกิเลสมันยังพอไปไหวอยู่บ้าง แต่แบบว่าเอาแต่เสพสมใจ ทำชั่วมาเต็มที่ แล้วมาให้แก้นี่มันไม่ไหว มันก็เป็นอาชีพที่ดี รายได้ดี แต่ต้องมาแลกกับการแบกปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้ 1 แต่เพิ่มมา 2

ผมว่าบุคลากรทางการแพทย์จะป่วยตายก็เพราะแบบนี้แหละ ต้องมาร่วมแบกรับวิบากกรรมของการเบียดเบียน ของการสนองกิเลสตามใจอยาก

แล้วบุคลากรทางการแพทย์นี่ผมว่าสร้างไม่ทันคนเจ็บคนป่วยหรอก สุดท้ายอัตราส่วนก็จะขยายตัวต่างกันหลายเท่า แบกกันไปก็เจ็บป่วยล้มตายตามกันไป

การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ

วันนี้ไปธุระที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบว่าคนเยอะกว่าไปเดินห้างอีก เห็นแล้วก็สงสัยว่านี่มันอะไรกัน ทำไมคนป่วยถึงเยอะขนาดนี้

ก็คิดทบทวน ก็เข้าใจว่ายุคนี้มันก็แบบนี้แหละ คนเบียดเบียนกันมาก เบียดเบียนสัตว์มาก ก็ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บล้มตายมากเป็นธรรมดา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนสรุปความได้ว่า ผู้ที่เบียดเบียนสัตว์ ไม่มีความเอ็นดูต่อสัตว์ จะทำให้มีโรคมากและอายุสั้น (จูฬกัมมวิภังคสูตร เล่ม 14 ข้อ 579…)

แล้วยุคนี้คนกินเนื้อสัตว์ขนาดนี้ ส่งเสริมการล่าสัตว์ สนับสนุนโรงฆ่าสัตว์กันขนาดนี้ วิบากกรรมจะไปทางไหนได้นอกจากทางทุกข์

คนที่เขาไปโรงพยาบาลนี่เขาก็ดูมีเงินกันทั้งนั้นนะ ค่ารักษาไม่ใช่ถูก ๆ บางคนเขาก็คิดว่านี่การที่เขามีเงินรักษานี่แหละคือดี โชคดีที่มีเงิน ดีที่มีลาภ

อันนี้มันก็ตื้น ๆ พอเห็นได้ เข้าใจได้ง่าย แต่มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากมายนัก เพราะสุดท้ายก็ต้องไปหาเงินมาก ๆ เบียดเบียนชาวบ้านมาก ๆ เพื่อให้ได้เงินมา ก็เป็นวิบากบาปใหม่อยู่ดี วนเวียนไป ทำชั่ว รักษาตัว แล้วไปทำชั่วเพื่อมารักษาตัวใหม่

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ นี่มันไม่ใช่เรื่องโชคช่วยนะ มันต้องทำเอา คือทำตนให้เป็นคนไม่เบียดเบียน เกื้อกูลผู้คนและสัตว์ มันถึงจะมีลาภก้อนนี้สะสมได้ ส่วนลาภคือเงินที่เขาเอาไปใช้จ่ายค่ารักษานี่ผมว่ามันเทียบคุณค่ากับการไม่มีโรคไม่ได้เลยนะ

ไม่เชื่อก็ลองเลือกดูก็ได้ ไม่ป่วย กับ ป่วยแล้วมีเงินรักษา จะเลือกกันแบบไหน … แต่ความจริงมันก็เลือกไม่ได้หรอก มันต้องทำเอา อยากได้รับผลกรรมแบบไหนก็ทำแบบนั้น เบียดเบียนก็ได้ผลเป็นโรคและอายุสั้น ไม่เบียดเบียนเกื้อกูลก็ได้ผลเป็นแข็งแรงอายุยืน ก็เลือกธรรมกันเอาตามที่ชอบ

ชอบเป็นทุกข์ก็เบียดเบียนกันต่อไปทั้งทางตรงทางอ้อมทางแอบ ๆ อะไรก็ตามที แต่ถ้าจะให้เป็นอยู่ผาสุกก็ต้องหยุดเบียดเบียน ชวนคนอื่นเลิกเบียดเบียน ยินดีในธรรมที่พากันไม่เบียดเบียน

เข้าใจเรื่องกรรม ไม่ช้ำใจ

เรื่องกรรมและผลของกรรมนี่เป็นเรื่องเข้าใจยาก อธิบายยาก สอนยาก เพราะมันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ

นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ อันนี้ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทำใจให้เข้าใจเมื่อกระทบกับความจริงตรงหน้า (คิดเอาท่องเอา มันก็พอได้อยู่หรอก)

ดังเช่นว่า เพื่อนร่วมงานเป็นที่รักของเจ้านาย ส่วนเรานี่เป็นที่น่าชังเสียเหลือเกิน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรม มันจะโทษองค์ประกอบภายนอกหมดเลย เขาลำเอียงบ้างล่ะ เขาเลียเจ้านายบ้างล่ะ เขาไม่เข้าใจถึงคุณค่าของเราบ้างล่ะ

จิตที่มีกิเลสมันจะพุ่งไปเอาทันทีเลย มันจะโลภ อยากได้ของที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์จะได้ อยากได้ของที่ตัวเองไม่ได้ทำมา อยากได้สภาพดี ๆ ชังสภาวะหมาหัวเน่า อะไรแบบนี้ ถึงแม้พยายามเก็บอาการ แต่มันก็จะทำให้ขุ่นใจ ซึ่งอาจจะทำให้ออกหน้า ออกท่าทางโดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้ามาทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ดี ๆ ว่านั่นเขาก็มีกรรมของเขาเนาะ ที่เขาจะเข้ากันได้ เกื้อกูลกันดี ก็เขาอาจจะเข้าขากันมาหลายภพหลายชาติ จริตเขาตรงกัน เขาก็มีผลกรรมที่เขาควรได้รับอย่างนั้น

แล้วเราทำไมไม่ได้อย่างเขา ก็เราไม่ได้ทำมา เราอาจจะเข้าใจว่าเราทำดีมามาก แต่ดีแบบนี้เราไม่ได้ทำ เราไปทำดีแบบอื่นมุมอื่น หรือจริง ๆ ก็คือเรายังทำดีไม่มากพอ ที่จะส่งผลให้มันเกิดสิ่งดีขึ้นกับเรา

ซึ่งดีโดยมากมันก็รั่วออกไปเพราะกิเลสนั่นแหละ ทำดีแล้วเททิ้ง ทำดีเป็นคนดี แต่พอโดนคนเข้าใจผิด ดูถูก ใส่ร้าย หยาม ข่ม ฯลฯ แล้วดันไปโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา อันนี้ดีที่ทำมามันรั่วออกรูนี้

ยิ่งเราสำคัญตนว่าตนดีเท่าไหร่ ฟ้าจะส่งโจทย์มาพิสูจน์ความดีเสมอว่า กระทบกับสิ่งเหล่านี้แล้วยังดีได้จริงอย่างที่คิดหรือเปล่า หรือเอาดีไปเททิ้งหมดแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายถึงเมื่อคนดีกระทบสิ่งใดแล้วก็จะไม่พาล ไม่ชิงชัง ไม่คิดร้าย ไม่เพ่งโทษ ไม่เห็นว่าสิ่งร้ายที่กระทบนั้นจะเป็นโทษใด ๆ แก่จิตอันเป็นกุศลของตนเอง และไม่สร้างความเห็นผิดให้ตนเองซ้ำ

เพราะมีความเห็นเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างถูกต้องว่า ก็ถูกแล้ว สิ่งร้ายและดีที่เราได้รับ นั้นเพราะเราทำมาเอง ได้รับก็ได้รู้ว่าทำมา ได้รู้ก็ได้ระลึกว่าตนทำดีทำชั่วมาแค่ไหน เจอร้าย ก็อ๋อ ทำชั่วมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ชั่วนี้แหละที่ทำ เจอดีก็ทำดีมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ดีนี้แหละที่ทำมา

เรื่องราวมันก็วนอยู่ในตัวอยู่เท่านี้ อยู่กับเรื่องตัวเองอยู่กับกรรมและผลของกรรมของตัวเอง เมื่อใจไม่ได้สุขไม่ได้ทุกข์กับสิ่งที่กระทบ ความเห็น ความคิด การพูด การทำต่อจากนั้นเราก็ปรับปรุงให้เกิดดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดีใหม่ที่เราจะทำอย่างมีสติ ไม่ใช่ดีที่หลงไปเองว่าดี เพราะดีที่ทำมา อาจจะไม่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริงก็ได้

คนรักฆ่ากันตาย

เหมือนจะเป็นข่าวธรรมดา ๆ ไปซะแล้ว เพราะมีเป็นประจำ แต่กระนั้นคนก็ยังไม่วายจะหาคู่ ไม่พิจารณา ไม่ทำใจในใจให้เข้าใจว่า คนที่จะเข้ามาเป็นคู่นั้นแหละ คือตัวเวรตัวกรรม

เขาก็หากันไป ตามเรื่องตามราว ตามกิเลสที่มี หามาบำเรอกาม บำเรออัตตากันไป ตามที่เห็นว่าดี เห็นว่ามีประโยชน์

แต่ก็ไม่รู้เลยว่าทุกอย่างมันมีต้นทุน มันมีวิบากกรรมเป็นตัวผลัก ได้คนดีมา ก็เสพผลดี กรรมดีที่สะสมไว้ก็รั่วออกไปเรื่องไร้สาระ ส่วนใหญ่ก็ไหลไปกับการกิน เที่ยว …. เสพทุกวัน กุศลที่เคยทำไว้ก็หมดไปทุกวัน

หมดเมื่อไหร่ก็เหมือนเทวดาตกสวรรค์ เริ่มจะเปลี่ยนทิศ จากเสพสุขมาจมทุกข์แทน แต่ก็ไม่อยากออกเพราะมันยังมีสุขให้เสพ (ปั้นสุขลวงขึ้นมาเองตามที่หลง) แม้จะมีทุกข์ก็ตาม สุดท้าย แม้จะสุข 1 หน่วย ทุกข์ 100 ก็ยังเอา เป็นสภาพที่ชาวบ้านงง ว่าทนอยู่ได้อย่างไรทุกข์ขนาดนี้

ดีไม่ดีทุนหมด วิบากร้ายเข้า เขาก็ทำร้ายเอา ฆ่าเอา นอกใจ ตายจาก สารพัดเรื่องที่จะทำให้ทุกข์

คนหาคู่นี่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวแท้ ๆ พระพุทธเจ้าตรัสสอนประมาณว่า คนเขาได้คู่ ได้ลูกเขาก็หลงดีใจว่าได้ลาภ แต่นั้นเป็นลาภเลว (อนุตริยสูตร)… คือไม่ได้ดีกว่านั่นแหละ แต่คนหลงก็วนอยู่แต่เรื่องนี้ไง เรื่องได้คู่ได้ลูกนี่แหละ

เอากุศลตัวเองมาเปลี่ยนให้ได้เสพตามกิเลส มันอยากได้อะไรจิตมันก็จดจ่ออยู่อย่างนั้น สุดท้ายมันก็พยายามแส่หาสิ่งนั้นมา ได้มากุศลกรรมที่ทำมาก็หมดไป เหมือนทำดีมามากมายแล้วเทให้หมากิน ตัวเองไม่ได้กินใช้ผลนั้น กิเลสเอาไปกินหมด

คนมากมายเกิดแล้วตายไปเปล่า ๆ เพราะหลงมีคู่นี่แหละ ไม่ได้มีสาระอะไรเล้ย เอามากอดอยู่ได้ ความเห็นที่ว่าการมีคู่นั้นดี เป็นสุข เป็นสิ่งน่าได้น่ามีนั่นแหละ

คนใจเหี้ยมฆ่าสัตว์

คนที่เขาฆ่าสัตว์นี่ใจเขาต้องเหี้ยมมากนะ ศีล เศิล เมตตง เมตตา นี่ไม่ต้องมีกันหรอก คิดอย่างเดียวทำยังไงให้มันตาย ให้มันขายได้ราคาแพง มันจะเจ็บปวดทรมานยังไงเรื่องของมัน

คนมีหิริโอตตัปปะ เขาทำไม่ลงนะ มันทำไม่ได้ เห็นสัตว์เจ็บเขาก็ละอายเกรงกลัวบาปแล้ว ให้เขาร่วมวงด้วยเขาก็ไม่เอา ให้เขายินดีด้วยเขาก็ไม่เอา ให้เขากินด้วยเขาก็ไม่เอา

ส่วนคนโลกๆ ทั่วไปก็ โหดร้ายจัง ไม่อยากดู แต่ถ้าเขาไม่ฆ่า แล้วเราจะมีกินได้อย่างไร… อย่ากระนั้นเลย เราปล่อยวางแล้วกินต่อไปดีกว่า…พวกคิดแบบนี้มันพวกเฉโกชัด ๆ นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังสนับสนุนให้เขาฆ่าอีก อยู่ไปไม่ได้เกื้อกูลอะไรสัตว์อื่นเล้ย กิน ๆ เสพ ๆ บ้ากาม เมาอัตตา อยู่ๆ อยากๆ แล้วก็ตายไป เสียชาติเกิดจริงๆ

มงคลชีวิต กับเรื่องคู่

ว่ากันด้วยเรื่องมงคลชีวิต ต่อจากเรื่องคู่เมื่อโพสก่อน ใครตกไปก็ตามไปอ่านกันก่อนได้

พระพุทธเจ้าตรัสมงคลชีวิตข้อแรกไว้ว่า “ไม่คบคนพาล” ข้อแรกนี่คือตัวกรองหยาบของศาสนาพุทธเลย เพราะในความจริงแล้วคนพาลมีอยู่เต็มโลก ซึ่งท่านก็ตรัสไว้อีกว่าคนที่จะพ้นทุกข์ได้จริง ๆ เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีจำนวนเพียงแค่ฝุ่นปลายเล็บเมื่อเทียบกับดินทั้งแผ่นดิน

คนพาลจึงทำหน้าที่อย่างคนพาล คือมีไว้พรากคนโง่ออกจากความผาสุกที่แท้จริงโดยเฉพาะ คนที่คบคนพาล ก็จะพาไปหาผิด เช่น มีคู่ก็บอกว่าดี หรือไปมีคู่ก็จะพบความสุข พบความเจริญ ก็เฉโกกันไปตามความฉลาดของคนพาลที่จะแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม

ในประเด็นเรื่องคู่ พระพุทธเจ้าปิดแทบทุกประตู คือไม่ส่งเสริม และคำตรัสของท่านเกี่ยวกับเรื่องคู่ เรื่องความรักก็มีมากมายเช่น ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ” นั่นหมายถึงคนพาลจะพาไปในทิศทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ แต่ปลายทางคือจะไปมีคู่ให้ได้

หรือไม่คนเขาก็มักอ้างเล่ห์ว่า มีรักแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักแต่ไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นความฉลาดของคนพาลอีกเช่นกันในการสร้างวาทกรรมนำกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ดังเช่นว่า มีรัก ๑ ก็ทุกข์ ๑ หรือที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ มันจะหนีทุกข์ไปไม่ได้หรอก ยกเว้นไม่ฉลาดพอที่จะเห็นทุกข์ ซึ่งการจะเห็นทุกข์นี่มันก็ยาก และคนพาลย่อมไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัยของการยินดีในการครองคู่อยู่แล้ว

หรืออีกความเห็นที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยคืออยู่เป็นคู่บารมีส่งเสริมกันทำดี อันนี้เนียนสุด ๆ ดูดี ดูขาวสะอาด แต่กลิ่นฉุนพอสมควร เพราะความจริง ลักษณะของการเป็นคู่บารที่ปรากฎในพุทธประวัตินั้น จะพบว่าแทบจะไม่มีความอยากในการครองคู่เลย พระพุทธเจ้าก็ดี พระมหากัสสัปปะก็ดี ท่านก็ไม่อยากมีคู่ แต่พ่อแม่ก็บังคับบ้าง บริบทของสังคมบังคับบ้าง คือสภาพของคู่บารมีนี่มันไม่ต้องผลักดัน ไม่ต้องพยายาม ถึงพยายามจะผลักไสเขาก็จะมาอยู่ดี และที่สำคัญคือจะดำรงสภาพคู่อยู่ก็ต่อเมื่อยังไม่มีคำสอนในศาสนาพุทธเผยแพร่อยู่ ดังเช่นกรณีของพระมหากัสสัปปะ ซึ่งมีเรื่องราวคล้าย ๆ กับพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อยากแต่งงาน นอนก็เอาดอกไม้กั้น ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ถึงเวลาบวช ก็แยกกันไปคนละทาง อันนี้คือลักษณะเด่นของสาวกของพระพุทธเจ้าคือ เมื่อพบธรรมะก็จะหูผึ่ง จะไม่เอาแล้วเรื่องคู่ จะวิ่งหาธรรมอย่างเดียว

ส่วนยุคนี้มีธรรมประกาศอยู่ ซึ่งตามที่ยกมาก็ชัดพอแล้ว สูตรเดียวก็ชัดแล้ว คือมีรักก็ต้องทุกข์ ดังนั้นจะไปรักให้มันทุกข์ทำไม แต่คนพาลจะไม่พูดแบบนั้น จะไม่คิดแบบนั้น จะไม่เชื่อแบบนั้น คนพาลจะไม่ดำรงในธรรม แต่จะดำรงอยู่ในกาม จะฝักใฝ่ในเรื่องคู่ สามารถคิดหาเหตุผลล้านแปดในการให้น้ำหนักในการที่ตนหรือผู้อื่นจะยินดีในการมีคู่

เรียกว่ามาสร้างคู่บารมีผิดยุค ยุคนี้มันต้องโสดปฏิบัติธรรมจึงจะเจริญได้ไว ถ้าจะสร้างบารมีกันก็ยุคที่ไม่มีธรรมของพุทธประกาศอยู่ ถ้ามาหลงยุคสร้างบารมีกันในยุคนี้นี่จะเรียกว่าขัดขวางความเจริญกันซะมากกว่า เพราะยังไงก็ขัดกับคำพระพุทธเจ้าชัด ๆ อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่เจริญถึงขั้นเป็นบัณฑิตสักที ดังคำกล่าวว่า ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด

คนส่วนมากก็จะไปหลงติดกับธรรมของคนพาลกันมาก ยากนาน ยึดยื้อกันอยู่หลายภพหลายชาติ เพราะเชื่อแล้วมันฝัง กลายเป็นอุปาทาน ทีนี้บวกพลิงกิเลสยิ่งยึดใหญ่ เพราะมันชอบเสพไง มันก็หาคำ หาประโยค หาแนวคิด หาวาทกรรมมาให้ได้เสพสมใจได้หมดนั่นแหละ

ต่อมาที่ข้อคบบัณฑิต ข้อนี้เป็นตัวคัดคนเข้าพุทธเลย ว่าจะทำใจได้รึเปล่า บัณฑิตก็คนที่ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่ใช่แค่พูดได้นะ แต่ทำได้จริงด้วย แล้วทำได้อย่างยั่งยืน ยาวนาน ไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยน คงทนถาวรด้วย ไม่ใช่เข้ามาอาศัยศาสนาศึกษา อาศัย สอนไป สอนไปว่าแล้วก็สึกไปมีเมีย อันนี้ไม่ใช่แล้ว บัณฑิตนี้มันก็ต้องคัดหน่อย จะคัดมันก็ต้องใช้ปัญญา ส่วนข้อ 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชาจะเป็นตัวย้ำสัมมาทิฏฐิ ส่วนคนโง่ เขาก็บูชาคนพาลอยู่นั่นแหละ สรรเสริญธรรมของคนพาล ยินดีในธรรมของคนพาล ทิศมันจะกลับกัน

นี่ก็พยายามย่นย่อได้เท่านี้ มงคล 38 ก็เอาแค่ 3 ข้อแบบไม่เต็มก็ดูจะยาวมากแล้ว ก็เอาเท่านี้แล้วกันครับ ใครที่อ่านแล้วก็พิจารณาหาประโยชน์กันไป ไม่ต้องเพ่งหาโทษนะ อันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า ๆ

ช่วยคนอยากมีคู่นี่มันยาก

คนที่เขาอยากมีคู่นี่เขาจะไม่ฟังธรรมที่พาไปโสดเลยนะ ได้ยินก็ปิดใจ ไม่พิจารณา พอความอยากมาก ๆ นี่เปลี่ยนไปฟังธรรมะอื่นเลย ธรรมะที่พาให้รื่นเริง อิ่มเอมใจในการมีคู่ อันนั้นเขาชอบ ถูกใจ เขาฟังได้ แต่ธรรมที่พาไปโสดนี่เขาไม่ยินดี

แต่ก่อนผมก็เคยอยากมีนะคู่ครองนั่นน่ะ มันก็เคยโง่มาก่อนไง แต่ดีที่ผมมีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในคำสอนของครูบาอาจารย์ พอดีอาจารย์ที่ผมนับถือท่านสอนประโยชน์และโทษตามจริงของการมีคู่โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เราก็ฝึกพิจารณาตามนั่นแหละ ไม่ฟังธรรมอื่นใด ๆ สำนักไหนเขาจะพูดเรื่องคู่ยังไงเราไม่สน เรามีปัญญาเราก็รู้สิอันไหนมิจฉาทิฏฐิ อันไหนสัมมา ว่ากันตรง ๆ จากที่ผมอ่านมาหลายคนจนถึงวันนี้ผมยังไม่เจอคนที่ผ่านเรื่องคู่กันจริง ๆ เลย นอกจากสายที่ผมปฏิบัติ

พอผ่านได้มันจะรู้เลยว่าความเห็นนี้มิจฉา มันจะพาให้ไปมีคู่ อันไหนอนุโลม อันไหนกิเลส ทิศมันจะต่างกัน องศาต่างกันนิดเดียวมันก็พากันไปคนละทางแล้ว อย่างคนอยากมี ไม่ยินดีมี หรือคนติดคู่ มันจะรู้ได้ กลิ่นมันจะออก เหมือนที่พระพุทธเจ้าว่ากลิ่นศีลย่อมหอมฟุ้งไปไกล เช่นเดียวกับคนอยากมีคู่หรือคนยังหลงในเรื่องคู่ มันจะมีลีลาอาการหรือความเห็นที่บอกอยู่ว่ายังไม่พ้น

ถ้าเขาเขียนเป็นหนังสือนี่ก็ง่ายหน่อย อ่านดูมันก็รู้แล้ว แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปนี่ต้องใช้เวลาศึกษาบ้าง แต่ก็รู้ได้ไม่ยาก

ธรรมะปัจจุบันนี่มัน Red ocean ทะเลแดงเดือดที่ฉ่ำไปด้วยกามและอัตตาปนกันอยู่ในนั้น จะกล่าวถึงเรื่องคู่อย่างเดียวแล้วกัน คือธรรมที่พาให้หลงเสพยินดีในการมีคู่ก็เยอะ คืออ่าน ศึกษา ทำใจตามไปแล้วจะรู้สึกว่ามีคู่ได้ มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อารมณ์ประมาณนี้ ส่วนธรรมที่พาให้หลงติดหลงยึดในในคู่มันก็เยอะอีก เช่นพวกคู่บุญ คู่บารมี อะไรพวก ๆ นี้แหละ

จริง ๆ ถ้าเขารู้ว่ามันเป็นแค่อุปทานเพราะเสพกันมาหลายชาติเขาก็คงจะไม่กล้านำเสนอเรื่องนี้กันมาก คนส่วนใหญ่ก็มีแค่นี้แหละ เสพคบคุ้นกันมาหลายชาติ ของมันเคยไง พอมาเจออีกมันก็ชอบตามที่มันเคยชอบ มันก็จะมีเหตุให้รู้สึกพิเศษ ถึงไม่มีกิเลสมันก็หาให้มีจนได้นั่นแหละ

ถ้ามันไม่ถึงขั้นเขาคลุมถุงชนให้แต่งหรือบริบทของชีวิตบังคับก็ไม่ต้องไปแส่หามันหรอกเรื่องคู่ มีกันทุกคนอยู่แล้ว เรื่องคู่นี่มันเป็นเรื่องต่ำ ๆ เสพกันมาตั้งแต่ยังเป็นสัตว์ ตั้งแต่ยังเป็นเดรัจฉาน มันก็ถูกใจติดใจ สืบภพต่อมาเรื่อย ๆ เป็นคนก็ยังไม่เลิก สร้างนิทาน สร้างตำนานมาหลอกตัวเองซ้อนอีกต่อให้การมีคู่ครอง มีลูกหลานดูเป็นเรื่องปกติ

หลอกตัวเองไม่พอ ยังไปโดนคนอื่นหลอกต่ออีก ไปอยู่ในสังคมที่ยินดีในการมีคู่มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งศรัทธาในคนที่ยินดีในการมีคู่นี่มันไปไม่รอดเลย เวลาสอนมันจะไม่ขาด ไม่ชัด มันจะนัว ๆ และเอนเอียงไปทาง มีคู่มันก็ดีนะ อะไรประมาณนั้น มันจะไม่พาไปทางเลิกเสพ

ทีนี้คนเขาก็มีสิทธิเลือกไง ใครจะไปห้ามได้ ถ้าเขาอยากมีคู่ เขาก็ไปฟังธรรมที่ยินดีในการมีคู่ เขาก็ไปมีคู่ได้อย่าง happy ending (ตามที่เขาคิด) ส่วนธรรมที่พาไปโสดนี่ขายไม่ค่อยออกหรอก พอจะดามใจได้ตอนอกหักได้บ้าง แต่ถ้าไม่เอาจริงเดี๋ยวก็เวียนกลับไปเสพใหม่

เพราะอะไร? ก็เพราะติดมาหลายชาติไง

พุดโถ่ พุดถัง เถียงกินเนื้อสัตว์

ว่าจะพิมพ์เรื่องนี้หลายทีแล้วก็ลืมทุกที วันนี้ได้โอกาส นำเรื่องนี้มาพิมพ์กัน ว่าทำไมเมื่อปฏิบัติธรรมไปแล้วจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ซึ่งก็มีเถียงกันมากมาย อ้างเหตุให้ได้ จะกิน จะกิน จะกินให้ถูกตามธรรมด้วย เอาข้อธรรมมาอ้างให้ได้กินนั่นแหละ ชีวิตมันจะต้องลำบากปกป้องตนเอง เสียเวลากับการปกป้องตนเองไปเพื่ออะไร

หลายวันก่อนระลึกถึงพระสูตรหนึ่ง ค้นเจอว่าเป็น เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน ผมเคยใช้พระสูตรนี้อธิบายเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่คราวนี้มันนึกขึ้นได้ว่า จริง ๆ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้เอง ทำไมคนไม่เข้าใจ

เนื้อความก็ประมาณว่า สัตว์เขาอยากมีชีวิต เขาไม่อยากตาย เราก็ไม่อยากตายเช่นกัน เมื่อเราเข้าใจเช่นนั้น เราจึงไม่ฆ่าเขา และยังชักชวนให้คนไม่ฆ่า มีความยินดีในการไม่ฆ่า… เอาแค่นี้ก่อน

เอาแค่ภาษาแค่นี้ผมว่าคนมีปัญญาก็ทะลุได้แล้วนะ เลิกกินได้เลย เอ้อนี่ เราก็ไม่อยากให้ใครฆ่าเราไปให้ใครกิน ดังนั้นเราจึงไม่กินเนื้อใครซะเลย มันก็ตรรกกะง่าย ๆ คือถ้าไม่โง่จนเกินไปก็น่าจะพอเข้าใจ

แต่ผมก็เข้าใจอีกอย่างคือ ยุคนี้มันใกล้กลียุค คนมีวิบาก แม้ธรรมง่าย ๆ ก็ฟังไม่เข้าใจ มันจะมืดบอดไปหมด ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่เห็นอกเห็นใจสัตว์อื่น ทำตัวเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นเทพ อยู่เหนือสัตว์อื่น จิตมันเลยไม่น้อมไปว่า สัตว์อื่นทุกข์อย่างไร แม้เราโดนเช่นนั้น เราก็ทุกข์อย่างนั้น

ถ้าธรรมะเจริญจริง มันไม่ยากหรอกที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น สัตว์อื่น เมตตาที่เพิ่มขึ้นมันจะมีผล มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะมีความรู้สึกผิด กลัวบาป เพราะรู้ชัดในกรรมว่าทำไปแล้วโดนแน่ ๆ ผลของกรรมมันกลับมาเอาคืนแน่ ๆ ในเมื่อมันไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มันก็ไม่รู้จะไปกินเอาวิบากร้ายทำไม

ใครอยากศึกษาต่อก็ไปตามอ่านกันเอา แต่ที่เถียง ๆ กิน นี่ยังไม่เจริญเท่าไหร่หรอก ก็มีแต่ตรรกะ สภาวะไม่ได้ เพราะถ้าจะเจริญอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คนนั้นก็ต้องไม่ฆ่า อันนี้คนทั่วไปก็พอจะทำได้ พอมาชักชวนให้คนอื่นไม่ฆ่า สายปฏิบัติกินเนื้อสัตว์นี่น้ำท่วมปากแล้ว พูดไม่ออก จะไปชวนคนที่เขาฆ่าสัตว์มาขายให้เลิกฆ่าก็พูดไม่ออก กลัวไม่มีเนื้อสัตว์กิน พอมาข้อสุดท้าย คือกล่าวชม มีความยินดีในการไม่ฆ่า ไปไม่เป็นเลยทีนี้ เพราะตัวเองก็กำลังเถียงสู้ (แม้จะเถียงในใจ)อยู่กับคนที่เขายินดีไม่ฆ่าสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ มันก็เลือกข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า อยู่ฝั่งยินดีให้สัตว์โดนฆ่า ยินดีให้สัตว์ตาย ปล่อยวางธรรมแล้วถือเอาเนื้อสัตว์มากินมันซะเลย

ถ้าจิตมันไม่ยินดีให้สัตว์ตายนั้น ร่างกายมันจะเคลื่อนตาม มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ไปทีละนิด ลด ละ เลิกไปตามฐาน ตามปัญญาที่มี

ฝากชีวิตไว้กับ “รัก”

คงจะมีคนหลายคนในโลกนี้ที่ฝากชีวิต ฝากอนาคตไว้กับความรัก คนรัก ครอบครัวที่รัก แต่เมื่อวันหนึ่งที่ที่เขาฝากฝังไว้พังทลาย น้อยคนนักที่จะยังคงดำเนินชีวิตไปในเส้นทางแห่งความดีงามได้

ได้อ่านข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในชีวิตรักมาก็มาก เหตุนั้นก็ไม่ได้มาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเหล่านั้นลงทุนผิด เอาสิ่งสำคัญไปฝากฝังไว้กับอะไรที่มันพึ่งพาไม่ได้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฝากไว้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่มีจริง(ไม่สามารถคงสภาพนั้น ๆ ได้เที่ยงแท้ถาวร) เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนจะทนทุกข์ได้ถึงขนาดไหน จะหลงผิดไปยังไงก็แล้วแต่บุญกุศลของแต่ละคน

เวลาเราสวดมนต์(พุทธ) เราก็มักจะสวดบทไตรสรณคมน์ “พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ …” คือให้ชาวพุทธระลึกว่า ให้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเบื้องต้นแม้จิตยังไม่รู้จักวิธีการพึ่งพาอาศัยสามสิ่งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ยังมีผลให้เพิ่มความตระหนักว่าเราควรพึ่งสามสิ่งนี้นี่แหละ ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ไปสู่ความผาสุก

ยกตัวอย่างคนที่เขาศึกษาธรรมมาประมาณหนึ่ง ได้พบครูบาอาจารย์ ได้พบหมู่มิตรดีที่พากันปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เขากลับเลือกไปพึ่งสามี ภรรยา คือเข้าใจว่าชีวิตจะมั่นคงด้วยการมีคู่ มีลูกหลาน ฯลฯ เขาก็เลือกไปด้วยความหลงของเขา หลงไปยึดเอาสิ่งที่มันไม่เที่ยง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอยิ่งยึดในโลกีย์มันก็ยิ่งจะห่างจากธรรม

คนเรามีอยู่แค่สองเท้า ก็ยืนได้ในพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับจิตถ้าหลงไปยึดสิ่งใดแล้ว ย่อมพรากจากสิ่งอื่นโดยธรรมชาติ เช่นหลงยึดเอาอธรรม ก็ย่อมห่างไกลจากธรรม สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฎฐิไม่รวมอยู่ที่เดียวกัน(ภพในจิต) ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นยึดเอาคู่ครองครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิต ก็ย่อมจะพรากห่างจากพุทธธรรมสงฆ์เป็นธรรมดา

เพราะแทนที่จะใช้เวลาในชีวิตไปคิดว่าต้องทำอย่างไรเราจึงจะเจริญได้มากกว่านี้ จะลดโลภ โกรธ หลง ได้ยิ่งกว่านี้ ก็ต้องเอาเวลาไปเสียกับการสังเคราะห์ปัญหาหรือไม่ก็บำเรอกิเลสคนในครอบครัว วันนี้จะพากันไปกินอะไร จะไปเที่ยวกันที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะวางแผนครอบครัวยังไง สรุปแม้จะดูเหมือนนับถือศาสนา แต่กิเลสเอาเวลาไปกินหมด เวลา ทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ จ่ายให้กับที่พึ่งอันโยกเยกคลอนแคลนเหมือนกับไม้ผุปักเลน

พอวันหนึ่งที่พึ่งเหล่านั้นพังไปด้วยเหตุดังเช่นว่า คู่ครองนอกใจ คู่ครองตาย คู่ครองติดอบายมุข เป็นนักเลง ติดพนัน ติดยา ขี้เกียจ นิสัยชั่วร้าย ฯลฯ คือสภาพที่เคยคิดว่าดี มันเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายชีวิตก็จะพังตามไปด้วยตามน้ำหนักของการยึดสิ่งนั้น ๆ

บางคนยึดไว้แต่คู่ครองครอบครัว ไม่มีสิ่งอื่น พอมันพังไปชีวิตก็จบสิ้นไปด้วย บางคนยึดคู่ครองครอบครัวไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกขายังพยายามมายึดธรรมบ้าง ก็ยังถือว่าเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาที่ผ่านไป อาจจะทำให้ห่างธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วหลงเข้าใจไปเองว่าตัวเองยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง สุดท้ายต่อไม่ติด เข้าไม่ถึงธรรม ชีวิตก็อาจจะพังได้ (ทุกข์แสนสาหัส)

ส่วนคนที่ยึดพุทธธรรมสงฆ์ไว้อาศัย ก็ไม่ต้องลำบากเมื่อคู่ครองครอบครัว เปลี่ยนแปลง แตกหัก พังทลาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งแท้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นยึดไว้ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่สาระแท้ในชีวิต ก็สักแต่ว่าอาศัย ถึงมีอยู่ก็เอื้อให้เกิดกุศล จากไปก็แค่หมดภาระหน้าที่ในบทบาทนั้น ๆ ก็มีแต่อาการเบาลง ไม่เศร้า ไม่อาลัย ไม่เหมือนกับคนที่ยึดคู่ครอง พอคู่ครองครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจจะทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

นี่คือความต่างของการพึ่งพาอาศัยในสิ่งใด ๆ ชีวิตต้องการความผาสุกที่มั่นคง ดังนั้นเราก็ควรเลือก ที่พึ่งทางใจที่มั่นคงด้วย อย่าเอาไปฝากไว้กับ แฟน สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความมั่นคงใด ๆ เลย