มงคลชีวิต กับเรื่องคู่

ว่ากันด้วยเรื่องมงคลชีวิต ต่อจากเรื่องคู่เมื่อโพสก่อน ใครตกไปก็ตามไปอ่านกันก่อนได้

พระพุทธเจ้าตรัสมงคลชีวิตข้อแรกไว้ว่า “ไม่คบคนพาล” ข้อแรกนี่คือตัวกรองหยาบของศาสนาพุทธเลย เพราะในความจริงแล้วคนพาลมีอยู่เต็มโลก ซึ่งท่านก็ตรัสไว้อีกว่าคนที่จะพ้นทุกข์ได้จริง ๆ เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีจำนวนเพียงแค่ฝุ่นปลายเล็บเมื่อเทียบกับดินทั้งแผ่นดิน

คนพาลจึงทำหน้าที่อย่างคนพาล คือมีไว้พรากคนโง่ออกจากความผาสุกที่แท้จริงโดยเฉพาะ คนที่คบคนพาล ก็จะพาไปหาผิด เช่น มีคู่ก็บอกว่าดี หรือไปมีคู่ก็จะพบความสุข พบความเจริญ ก็เฉโกกันไปตามความฉลาดของคนพาลที่จะแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม

ในประเด็นเรื่องคู่ พระพุทธเจ้าปิดแทบทุกประตู คือไม่ส่งเสริม และคำตรัสของท่านเกี่ยวกับเรื่องคู่ เรื่องความรักก็มีมากมายเช่น ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ” นั่นหมายถึงคนพาลจะพาไปในทิศทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ แต่ปลายทางคือจะไปมีคู่ให้ได้

หรือไม่คนเขาก็มักอ้างเล่ห์ว่า มีรักแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักแต่ไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นความฉลาดของคนพาลอีกเช่นกันในการสร้างวาทกรรมนำกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ดังเช่นว่า มีรัก ๑ ก็ทุกข์ ๑ หรือที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ มันจะหนีทุกข์ไปไม่ได้หรอก ยกเว้นไม่ฉลาดพอที่จะเห็นทุกข์ ซึ่งการจะเห็นทุกข์นี่มันก็ยาก และคนพาลย่อมไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัยของการยินดีในการครองคู่อยู่แล้ว

หรืออีกความเห็นที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยคืออยู่เป็นคู่บารมีส่งเสริมกันทำดี อันนี้เนียนสุด ๆ ดูดี ดูขาวสะอาด แต่กลิ่นฉุนพอสมควร เพราะความจริง ลักษณะของการเป็นคู่บารที่ปรากฎในพุทธประวัตินั้น จะพบว่าแทบจะไม่มีความอยากในการครองคู่เลย พระพุทธเจ้าก็ดี พระมหากัสสัปปะก็ดี ท่านก็ไม่อยากมีคู่ แต่พ่อแม่ก็บังคับบ้าง บริบทของสังคมบังคับบ้าง คือสภาพของคู่บารมีนี่มันไม่ต้องผลักดัน ไม่ต้องพยายาม ถึงพยายามจะผลักไสเขาก็จะมาอยู่ดี และที่สำคัญคือจะดำรงสภาพคู่อยู่ก็ต่อเมื่อยังไม่มีคำสอนในศาสนาพุทธเผยแพร่อยู่ ดังเช่นกรณีของพระมหากัสสัปปะ ซึ่งมีเรื่องราวคล้าย ๆ กับพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อยากแต่งงาน นอนก็เอาดอกไม้กั้น ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ถึงเวลาบวช ก็แยกกันไปคนละทาง อันนี้คือลักษณะเด่นของสาวกของพระพุทธเจ้าคือ เมื่อพบธรรมะก็จะหูผึ่ง จะไม่เอาแล้วเรื่องคู่ จะวิ่งหาธรรมอย่างเดียว

ส่วนยุคนี้มีธรรมประกาศอยู่ ซึ่งตามที่ยกมาก็ชัดพอแล้ว สูตรเดียวก็ชัดแล้ว คือมีรักก็ต้องทุกข์ ดังนั้นจะไปรักให้มันทุกข์ทำไม แต่คนพาลจะไม่พูดแบบนั้น จะไม่คิดแบบนั้น จะไม่เชื่อแบบนั้น คนพาลจะไม่ดำรงในธรรม แต่จะดำรงอยู่ในกาม จะฝักใฝ่ในเรื่องคู่ สามารถคิดหาเหตุผลล้านแปดในการให้น้ำหนักในการที่ตนหรือผู้อื่นจะยินดีในการมีคู่

เรียกว่ามาสร้างคู่บารมีผิดยุค ยุคนี้มันต้องโสดปฏิบัติธรรมจึงจะเจริญได้ไว ถ้าจะสร้างบารมีกันก็ยุคที่ไม่มีธรรมของพุทธประกาศอยู่ ถ้ามาหลงยุคสร้างบารมีกันในยุคนี้นี่จะเรียกว่าขัดขวางความเจริญกันซะมากกว่า เพราะยังไงก็ขัดกับคำพระพุทธเจ้าชัด ๆ อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่เจริญถึงขั้นเป็นบัณฑิตสักที ดังคำกล่าวว่า ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด

คนส่วนมากก็จะไปหลงติดกับธรรมของคนพาลกันมาก ยากนาน ยึดยื้อกันอยู่หลายภพหลายชาติ เพราะเชื่อแล้วมันฝัง กลายเป็นอุปาทาน ทีนี้บวกพลิงกิเลสยิ่งยึดใหญ่ เพราะมันชอบเสพไง มันก็หาคำ หาประโยค หาแนวคิด หาวาทกรรมมาให้ได้เสพสมใจได้หมดนั่นแหละ

ต่อมาที่ข้อคบบัณฑิต ข้อนี้เป็นตัวคัดคนเข้าพุทธเลย ว่าจะทำใจได้รึเปล่า บัณฑิตก็คนที่ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่ใช่แค่พูดได้นะ แต่ทำได้จริงด้วย แล้วทำได้อย่างยั่งยืน ยาวนาน ไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยน คงทนถาวรด้วย ไม่ใช่เข้ามาอาศัยศาสนาศึกษา อาศัย สอนไป สอนไปว่าแล้วก็สึกไปมีเมีย อันนี้ไม่ใช่แล้ว บัณฑิตนี้มันก็ต้องคัดหน่อย จะคัดมันก็ต้องใช้ปัญญา ส่วนข้อ 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชาจะเป็นตัวย้ำสัมมาทิฏฐิ ส่วนคนโง่ เขาก็บูชาคนพาลอยู่นั่นแหละ สรรเสริญธรรมของคนพาล ยินดีในธรรมของคนพาล ทิศมันจะกลับกัน

นี่ก็พยายามย่นย่อได้เท่านี้ มงคล 38 ก็เอาแค่ 3 ข้อแบบไม่เต็มก็ดูจะยาวมากแล้ว ก็เอาเท่านี้แล้วกันครับ ใครที่อ่านแล้วก็พิจารณาหาประโยชน์กันไป ไม่ต้องเพ่งหาโทษนะ อันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า ๆ

คนไม่มีศาสนา กับ คนติดดี

ในปีที่ผ่านมาผมใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ เพื่อเข้าไปศึกษาคนที่เขาไม่มีศาสนา คนที่ไม่ยินดีในการนับถือศาสนา ไม่เชื่อศาสนา ตามกลุ่มต่างๆ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งเขาก็มีความเชื่อของเขา ที่เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาเห็นและเข้าใจเช่นนั้นคือสิ่งที่ดี (มากกว่ามีศาสนา)

ทีนี้มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าโลกนี้ไม่มีความแตกต่าง ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ การกระทบกันของคนไม่มีศาสนากับคนมีศาสนา จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ต่างอะไรกับการทะเลาะ แข่งดี เอาชนะกันด้วยความเห็นทั่วๆ ไป

คนไม่มีศาสนาก็ยกไว้ เพราะเขาไม่ได้ยินดีที่จะศรัทธาหรือศึกษาในคำสอนของศาสนาใด แต่ปัญหาก็คือคนมีศาสนาที่ติดดี ยึดดี วางดีไม่ลงนี่แหละ ที่จะเข้าไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น

คนไม่มีศาสนาส่วนใหญ่ เขาก็ศึกษาศาสนามาบางส่วนแล้ว เขาก็มีความรู้ของเขาอยู่เหมือนกัน แต่เขาไม่เชื่อว่าความรู้นั้นคือสิ่งที่ดีเลิศสำหรับเขา เขาเชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่าคือการไม่มีศาสนา แต่คนที่มีศาสนาหลายคนก็มักจะเข้าไปให้ข้อมูล หลักฐาน ความเชื่อ จนถึงขั้นยัดเยียด ประชด แดกดัน ดูถูก พูดข่ม จนทะเลาะกันก็มีให้เห็นอยู่บ่อยไป

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ก็จะยิ่งสร้างความเกลียดชัง แตกแยกมากขึ้น ซึ่งก็เกิดจากความติดดี ยึดดี วางดีไม่เป็นนั่นเอง

ถ้าเราไปบังคับยัดเยียดให้คนที่เขาเห็นต่างจากเรา มาเห็นตามเรา เราจะต้องเป็นศัตรูกับคนทั้งโลก

แม้จะเป็นผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงแต่ยังวางความยึดดีของตนไม่ได้ก็ตาม การเอาธรรมะไปบอกคนที่เขาไม่ยินดีที่จะฟัง ไม่ต่างอะไรกับคนพูดเพ้อเจ้อ คนเขาไม่เชื่อก็พูดอยู่อย่างนั้น เมาน้ำลาย เมาธรรมะ เมาอัตตาอยู่แบบนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เห็นถูกตรงจริงๆ มีเพียงแค่ฝุ่นที่ติดปลายเล็บเท่านั้น (หลังจากที่ท่านเอานิ้วไปจิ้มดิน) ส่วนคนที่เห็นผิดนั้นคือทั้งแผ่นดิน ปริมาณมันต่างกันมากๆ …ใครจะเอาภาระเปลี่ยนคนทั้งโลกก็เชิญตามสบาย ผมไม่เอาด้วยหรอก

ทีนี้ก็มีแต่คนบ้า(อัตตา) เท่านั้นแหละ ที่คิดจะไปเปลี่ยนคนอื่น ที่คิดจะไปหว่านล้อม ล่อลวง ดึงดันจะชักจูงคนอื่นให้เชื่ออย่างตน เพราะถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปยัดเยียดธรรมะแล้วจะบรรลุธรรมกันได้ การจะเข้าใจธรรมนั้นๆ ต้องเกิดจากสภาพสุกงอมที่พร้อมจะเกิดผลดีของทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ไม่ใช่เกิดแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้คนพูดจะเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าเขาไม่ยินดีฟัง ก็จะไม่มีวันเข้าใจธรรมนั้นๆ

ที่จริงแล้วคนที่ติดดีในวงการศาสนา ไม่ได้ต่อสู้กับแค่คนไม่มีศาสนา ยังต่อสู้กับลัทธิอื่น ความเชื่ออื่น ทั้งคนใกล้ตัว ทั้งคนไกลตัวด้วย ประมาณว่าข้ารู้ดี อาจารย์ข้ารู้ดี สำนักข้ารู้ดี ก็พาลจะไปยัดเยียดตัวตน(อัตตา) ด้วยความหวังดี ว่าถ้ายัดเข้าไปแล้ว เขาจะต้องเจริญแน่ๆ …โดยที่เขาไม่ได้ถาม

ศาสนาพุทธไม่ได้เผยแพร่ธรรมด้วยการยัดเยียด แต่เป็นการทำตนเองให้ดี ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้ดีจนเขามาถามนั่นแหละ จึงจะบอกไป ถ้าเขาไม่ได้ถาม เขาไม่อยากรู้แล้วเราไปยัดเยียดนี่เราผิดแล้ว เราทำเกินหน้าที่แล้ว เราหวังผลเกินจริงแล้ว มันยังไม่ถึงเวลาสุกงอมของเขา เราไปรีบเด็ดไม่ได้ เราต้องรอ รอจนมันสุกแล้วร่วงลงมา เราค่อยรับเขา ค่อยช่วยเขา

แต่คนศึกษาธรรมะแรกๆ นี่รอกันไม่ค่อยได้ วางกันไม่ค่อยลงหรอก คนที่จะวางความเห็นของตนได้ วางความยึดดีได้ แม้จะมีคนที่มีความเห็นต่างมาแสดงความคิดเห็น มาพูดข่ม มาดูถูก คนที่วางได้จริงนั้นมีไม่มาก ส่วนมากก็ทำทีเป็นวาง แล้วพูดข่มกลับบ้าง ถึงไม่พูดก็ขุ่นอยู่ในใจบ้าง เรียกว่ายังวางไม่ลง แต่ก็ดีกว่าไปด่าเขากลับ ต้องบอกกันตรงๆ ว่าฐานที่จะวางความยึดมั่นถือมั่นได้นั้น ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติใหม่แน่ๆ แม้ผู้ปฏิบัติมานานแต่ปฏิบัติยังไม่ถึงผลก็ใช่ว่าจะวางกันได้ง่าย

การที่เรายังยึดมั่นถือมั่นในความดีที่ตนเชื่อ จนตนเองต้องทุกข์เพราะอัตตา หรือไปทำร้ายคนอื่นด้วยหน้าตา ท่าทาง คำพูดก็ตาม คือความชั่วของคนดี ที่ควรจะต้องรีบล้างให้สะอาด เพราะไอ้ความยึดดีนี่แหละ ที่จะลากคนดีลงนรก

อ่านแล้วก็ระวังกันดีๆ ผมเองก็ระวังอยู่เหมือนกัน เพราะยิ่งเราศึกษาปฏิบัติไปมากเท่าไหร่ ความเห็นของเราจะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้นว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว แต่ถ้าเรายังวางความยึดดีนั้นไม่ลง เราชั่วแน่ๆ และทุกข์แน่ๆ รับรอง

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้หรือฟังอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงโอกาสในการที่เราจะฉลาดขึ้น มีปัญญามากขึ้น รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่การจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะมีอัตตายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ได้รู้มา และไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วได้ เมื่อเป็นดังนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความไม่คุ้นชิน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปให้กับกับอัตตา หรือที่เรียกว่า เพ่งโทษฟังธรรม นั่นเอง เป็นอย่างไรก็ลองมาอ่านกันดูถึงโทษภัยของการฟังอย่างเพ่งโทษและคอยจับผิด

อ่านต่อได้ที่บทความ : เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat