หนุ่มสาวเอย…

วันนี้ไปร่วมกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เห็นนักศึกษามากมาย ก็พลันคิดไปว่า…

เมื่อไหร่หนอที่เขาจะสุกงอม เมื่อไหร่ที่จะทุกข์จนเกินทน ชีวิตเกิดมาก็ต้องเล่นบทไปตามวิบาก ถ้าหมดวิบากกรรมแล้วอีกนานแค่ไหนจะได้เจอกับสัตบุรุษ(ผู้รู้ธรรม) ได้ฟังสัจธรรม ได้นำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ก็คงจะประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ได้ในวันใดวันหนึ่ง

ว่าแล้วก็กลับมาคิดถึงตัวเอง กว่าจะมาเจอธรรมะจริง ๆ ก็ 29 ปี แม้ก่อนหน้านั้นจะศึกษามาบ้าง แต่ก็ล้วนแต่เป็นมิจฉาธรรม หรือไม่ก็ธรรมที่ไม่ครบพร้อม ขาด ๆ พร่อง ๆ เอาไปใช้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ไม่แตกฉาน ไม่ชัดเจน

กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโต กว่าจะเรียนจบมันใช้เวลานานมาก ประมาณ 20 กว่าปี ไหนจะต้องดิ้นรนแสวงหาอีก พอได้มาก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมากับลาภ ยศ อำนาจ อิสระ ฯลฯ ที่ได้มาจากความสามารถที่ตนมี เรียกว่าคงสนุกกับการหาเงิน หาความก้าวหน้า หรือไม่ก็วนเวียนอยู่กับการหาคู่อยู่หลายปีเลยล่ะ

แม้ว่าเราจะมีจิตที่เต็มใจจะช่วยเหลือคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเหลือใครได้ถ้าเขาไม่ทุกข์ การที่เขาไม่รู้สึกถึงทุกข์ ไม่ได้หมายความเขาไม่มีทุกข์ เขาอาจจะมีทุกข์ก็ได้ เพียงแต่เขาไม่มีปัญญารู้จักทุกข์นั้น ๆ เราก็คงต้องปล่อยให้ทุกข์งอม(สุกงอม)เสียก่อน

คือปล่อยให้เขาใช้ชีวิตของเขาให้ทุกข์ให้เต็มที่เลย ให้มันทุกข์จนรู้สึกทนไม่ไหว เขาถึงจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วถึงวันนั้นถ้าได้เจอกันก็ค่อยว่ากัน ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่เจอมันก็ไม่ใช่งานของเรา

เหมือนกับเรื่องคู่ ที่ผมค่อนข้างปล่อย อย่างเก่งก็แค่พิมพ์บทความออกไป สุดท้าย ใครเขาจะไปมีคู่ เพราะเขาเชื่อว่าไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยกว่าทนอยู่เป็นโสดมันก็เรื่องของเขา เขาก็ต้องรับทุกข์ของเขาในท้ายที่สุด เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้ไปทุกข์กับเขาด้วย ไม่ได้ยึดว่าเขาต้องได้ดีดังใจหมาย เพราะเขาก็เป็นของเขาไปแบบนั้นแหละ บางทีเราก็ได้แต่ดู ได้แต่ดูก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะถ้าการช่วยเขาคืองานของเรา เราก็จะได้ทำ แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็จะไม่ได้ทำนั่นเอง ง่ายจัง

ชีวิตหนึ่งเกิดมาเรียนรู้ และแม้ว่าสุดท้ายจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำความเจริญอะไรให้แก่ตน ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับผู้อื่น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า โมฆะบุรุษ คือคนที่เกิดมาเสียของ เบิกกุศลกรรมมากินใช้ไปวัน ๆ เป็นพวกกินของเก่า ไม่สร้างใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า พวกชิงหมาเกิด ซึ่งผมก็คิดว่าประมาณนั้นแหละ อ่านแล้วอาจจะว่าแรง แต่มันก็จริง เพราะเกิดมาแล้วขาดทุน ทำแต่เรื่องขาดทุน ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง ไม่เป็นประโยชน์กับใครอย่างแท้จริง เกิดมาใช้ทรัพยากรโลก แก่งแย่งมาเพื่อกิเลสตน สุดท้ายทั้งชีวิตก็เบียดเบียนชีวิตอื่นมาบำเรอตน เอาวิญญาณหมานิสัยดีเกิดมาแทนยังจะดีกว่า

ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา

ประโยคทองของอาจารย์หมอเขียว ที่ช่วยในการประมาณได้ดีมาก ๆ

ทำความผาสุกที่ตนนี่มันก็พอตรวจใจกันได้ง่าย ถ้ายังมีอาการทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ก็ทำใจ ปรับใจตรงนี้กันก่อน งานเราก็ต้องมาก่อนเป็นธรรมดา

ช่วยคนที่ศรัทธานี่สิยาก มันเป็นการประมาณข้างนอกแล้ว รู้เรานี่พอไหว รู้เขานี่เดากันล้วน ๆ จะไปช่วยเขานี่เขาศรัทธาเรารึเปล่า? เชื่อมั่นในเรารึเปล่า? มันก็ต้องใช้การประเมิน มันเดาไม่ได้หรอก

การประเมินก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่มันจะประเมินเขาพลาดเป็นธรรมดา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าช่วยคนที่ศรัทธาลึกซึ้งขึ้น คือศรัทธามันมีน้ำหนัก มีความเข้มของมัน และศรัทธา ไม่เที่ยง … คือเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มได้ ลดได้ แต่ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เช่นเมื่อก่อนเขาบอกว่าศรัทธาเรา แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราไปยึดตามสัญญาเก่า ไม่ประเมินจากปัจจุบัน เวลาช่วยเขามันจะพลาดกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พลาดกันตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นการไม่รีบ ไม่ลงรายละเอียด คุยเก็บข้อมูลไปก่อน มันก็จะช่วยป้องกันการผิดใจกันได้

แบบที่ลวง ๆ ก็มีเหมือนกัน เหมือนจะศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรจริงจัง คือมีอยู่ แต่ไม่มี เหมือนจะให้ช่วย แต่ก็ไม่ได้ทำตามอะไร อันนี้ก็เป็นศรัทธาที่น้ำหนักน้อย ความเข้มน้อย ศรัทธาแบบเจือจาง แต่เผิน ๆ อาจจะดูเยอะ ต้องใช้เวลาประเมินเช่นกัน

ในตอนนี้มันก็เลยสบายแบบสุด ๆ เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือถ้าไม่ชัดว่าศรัทธา ไม่ชัดว่าเชื่อมั่นในความเห็นกัน ประมาณ 90 % ผมไม่ต้องปรุงช่วยเขาให้เหนื่อยเลย ก็แค่คุยขีดเท่าที่เป็นกุศล ไม่บาดหมางกัน พูดประโยชน์ของธรรมะ โทษของกิเลสประมาณหนึ่ง ก็ผิว ๆ ไม่ลงรายละเอียด มันก็ไม่ต้องปรุงมาก ไม่เหนื่อย เอาพลังที่เหลือไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อ

มันเหมือนกลลวงของนักปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้ามันหลงกับการช่วยคน มันจะไม่มีขีดเตือนว่าควรจะช่วยถึงขั้นไหนหรือเท่าไหร่ มันจะดันไปที่ MAX ตลอด หรือตามภาษาที่เข้าใจโดยมากว่า “ติดดี ยึดดี” แต่ถ้าแบบที่ผมทำได้ตอนนี้คือมันปรับได้ มันปรับได้ว่าจะเอา MAX หรือ min คือจะเอามากน้อยมันปรับได้ พลาดไปเราก็ปรับลง เบาอีก หรือไม่ก็ปิดไปเลย แบบนี้มันอาจจะพลาด แต่มันจะพลาดน้อยลง

ยิ่งคนไม่รู้จัก ไม่เคยพบปะ ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยร่วมในเครือข่าย นี่ง่ายเลย เอา concept ไปก็พอ

มีลูก สุขแว๊บเดียว ทุกข์แสนนาน

ช่วงนี้ค่อนข้างจะเห็นข่าวว่าเพื่อน ๆ มีลูกกันเยอะ เวลาเขาประกาศก็จะมีคนไปยินดี ดีใจกับเขาด้วย ถ้ามองกลับไปสมัยก่อนเราก็คงจะเป็นแบบนั้นนั่นแหละ

แต่เดี๋ยวนี้มันทำใจตามเขาไม่ได้นะ มันไม่เห็นสุขในนั้นเลย เห็นทุกข์แท้ ๆ ทุกข์เน้น ๆ ทุกข์นาน ๆ จะให้ยินดีก็ยินดีไม่ออกหรอก เพราะมันสงสารเขา ที่เขาหลงในสุขลวง หลงในลาภลวง เข้าใจว่าสิ่งที่ได้เป็นคุณค่าที่ควรได้

ถ้ามีลูกคนหนึ่งนะ ทุกข์อย่างน้อย ๆ แบบกลม ๆ ก็ยี่สิบปี กว่าจะเลี้ยง กว่าจะโต ซึ่งจริง ๆ ก็ทุกข์ตลอดไปนั่นแหละ เขาอยู่ก็เป็นทุกข์ เขาตายก็ทุกข์ เขาตายไปแล้วก็ยังทำทุกข์ทับถมตนได้อีก

กิเลสมันลวงเก่งมากเลยนะ พอมันเป็นของฉัน ลูกของฉันนี่มันหลงเลย ถ้าอยากเลี้ยงเด็กจริง ๆ อยากสร้างคนดี ก็มีเด็กด้อยโอกาสในโลกอีกตั้งเยอะแยะให้เลี้ยง จะกี่คนก็เลี้ยงไป ทุกข์เหมือนกัน แต่น้อยกว่ามีของตัวเอง เพราะมีเองนี่มันจะใส่อัตตาไปผสมเสียเยอะ ลูกของฉัน เลือดเนื้อของฉัน ใส่ความเชื่อไปว่าเขาจะดีอย่างนั้นอย่างนั้น ตามที่ฉันมี ฉันเป็น ฉันสร้าง … คนเราก็เชื่อมั่น มั่นใจในตัวเองไปตามฤทธิ์ของกิเลสนั่นแหละ

จะร่ายทุกข์ เหตุแห่งทุกข์กันก็คงจะยาวหลายหน้า เอาตามประเด็นที่ยกมา คือได้สุขสมใจแว็บเดียว สุขก็สุขตอนที่ตนได้ตามที่ตนยึดมั่นถือมั่นไว้ มันก็ได้บ้าง แต่ทุกข์นี่นาน เรียกว่ายี่สิบปียังน้อย เพราะจริง ๆ มันหลายภพหลายชาติ พอเข้าไปยึดแล้วไม่คลายยาก ดีไม่ดีตาบอดยิ่งกว่าหลงสามีภรรยาอีก ลูกนี่ทั้งดื้อทั้งเกเร ก็ยังรักยังหลง นี่ถ้าเป็นเด็กคนอื่นทำก็คงด่าไปแล้ว แต่พอเป็นลูกตัวเองนี่มือไม้อ่อน กิเลสนี่มันมีอำนาจจริง ๆ

แล้วยิ่งถ้ามาศึกษาธรรมแล้วไปมีลูกนะ เกือบจะเรียกว่าจบกันได้เลย เพราะต้องเอาเวลาส่วนใหญ่ไปดูแลลูกและครอบครัว ลำพังดูแลคู่ครองก็ต้องเสียเวลามากอยู่แล้ว ยังต้องเอาเวลาไปดูแลลูกอีก ยิ่งห่างกลุ่มนานก็ยิ่งจมลงไปเรื่อย ๆ ครอบครัวส่วนมากเขาก็พากันเสพตามกิเลสว่านั่นแหละ เขาไม่พาลด ละ เลิกกันหรอก ชีวิตคู่ครอบครัว นี่มีแต่แสวงหาอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตามาเสพกัน

คนนี่ติดสมมุติ แล้วก็ยึด เล่นพ่อแม่ลูกแล้วก็ยึดบทบาทไว้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลาย เห็นมาเยอะเหมือนกันนักปฏิบัติธรรมที่เขามีคู่ครองมีลูก เราคบคุ้นกับเขาไปจะเห็นความขาด ๆ เกิน ๆ ของเขาที่มีต่อครอบครัว แล้วใช่ว่าเราจะไปทักเขาได้ง่าย เขาก็เห็นว่าเราเป็นคนโสด เขาก็ไม่ได้สนใจความเห็นของเรา

แต่ที่เราโสด ไม่มีเมีย ไม่มีลูกน่ะ เพราะเรารู้โทษชั่วของมันไง รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้นี่แหละ ลากกันไป สอนก็ยาก จะไปทำดีก็ทำไม่ได้เต็มที่ ดีไม่ดีดึงเราไปลงนรกด้วยกันกับเขาอีก

ใครยังโสดอยู่ก็รักษาความโสดกันไปนะครับ ใครที่มีคู่ก็อย่าไปมีเลยลูกเนี่ย ประชากรโลกสมัยนี้ก็เยอะพออยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องเพิ่ม คงจะขาดแต่คนเสียสละนี่แหละ ที่น้อยเหลือเกิน เพราะเขาเอาเวลาไปบำเรอลูกเมียกันหมดรึเปล่านะ?

เสียสละก็เป็นเรื่อง ๆ ไป อย่างเรื่องคู่นี่เราเสียสละคู่เรา เราปล่อยเลย คืนให้โลกเขาไป ใครจะเอาก็เอาไป แต่เราสละสิทธิ์ในการมีคู่ ก็จะเหลือผู้หญิงโสดในโควต้าของเราอย่างน้อย 1 คน ให้คนอื่นได้นำไปพิจารณาต่อ

ส่วนสละลูกนี่ก็แบบว่า … ผมเห็นส่วนมากเขารักลูกมากกว่าคู่ครองกันอีกนะ ดังนั้นเอาไว้ก่อนแล้วกัน น่าจะยากไป

รักแล้วไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำได้จริงหรือ?

รักโดยไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น” คำความอะไรประมาณนี้ เป็นวาทกรรมที่เขาฮิตกันมานาน เอาเป็นว่าก็เป็นข้ออ้างหนึ่งของกิเลสในการมีคู่นั่นแหละ

จะแปลความข้างต้นให้ไปถูกก็ได้ ให้ผิดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่พอเอาไปใช้จริงมันจะไปทางผิดเสียมากกว่า ดังนั้นจะแปลหรือตีความไปทางไหน สุดท้ายก็อยู่ที่ทุกข์หรือพ้นทุกข์เท่านั้นเอง

ส่วนที่เขาพูด ๆ กันนี่ทำได้จริงไหม ผมมีความเห็นว่า 99.99…% ทำไม่ได้หรอก พอเข้าไปรัก ไปผูกพัน ส่วนมากก็จะหลง สานสัมพันธ์ไปเลยเถิด เหมือนกับว่าหลงไปในเขาวงกตแห่งความสุข สุดท้ายก็ออกไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเข้ามายังไง ตั้งแต่ตอนไหน จะออกก็กลัวทุกข์ กลัวเสียใจ

เราสามารถพิสูจน์ ความเชื่อดังกล่าว ได้โดยการ เลิก… ก็เลิกทั้ง ๆ ที่รักอยู่นั่นแหละ เชื่อไหมทุกข์เกิดทันที ไม่เกิดฝั่งเรา ก็เกิดฝั่งเขาหรือไม่ก็เกิดทั้งสองฝั่ง

ลองเลิกยึดดู คบกันอยู่ บอกจะเป็นโสดตลอดชีวิต คิดว่าหลังจากที่พูดออกไป ชีวิตจะอยู่เป็นสุขไหม? แค่จินตนาการไปก็ดูเหมือนจะมีแต่ภาพหายนะทั้งนั้น

คนรักกันคบกันอยู่ เขาจะเลิกยึดกันเอาดื้อ ๆ นี่ไม่ง่ายนะ คนนึงจะไปบวชตลอดชีวิต คิดว่าอีกฝั่งจะยินดีกันง่าย ๆ หรือ ถ้าเขาไม่ยอม เขาก็ตามราวีคุณไปเรื่อย ๆ จองเวรไปทุกชาติ แบบนี้เรียกความผาสุกหรืออย่างไร

…ส่วนรักแล้วไม่ทุกข์เพราะไม่ยึดมั่นที่ถูกคือ ปราถนาดีต่อเขา ช่วยเหลือเขาตามสมควร แต่ก็ไม่นำเขาเข้ามาเป็นตัวเราของเรา เป็นความหวัง ความฝัน ความสุข ความมั่นคง หรือเป็นอนาคตของเรา …ส่วนที่หยาบ ๆ อย่างเอาเขามาเคียงคู่ อันนั้นไกลสุดไกลความผาสุกเลย สภาพเละเทะแบบนั้นถ้าจะรักอย่างพ้นทุกข์ก็ไม่ควรเอามา

ปีศาจ กระหายเลือด

ในประวัติศาสตร์จะมีกรณีที่คนถูกตีตราว่าเป็นปีศาจ กระหายเลือด เพราะเอาเลือดคนมาอาบ ดูคลิปนี้ก็เห็นว่า สมัยนี้โหดกว่าเยอะ เพราะคนฆ่าสัตว์ สูบเลือดตัดเนื้อเขามากินได้อย่างปกติ แถมสังคมก็ส่งเสริม สนับสนุนบาปนี้อีก นี่มันนรกบนดินจริง ๆ สัตว์ที่ถูกฆ่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก ก็เพื่อน ๆ คนกินเนื้อสัตว์ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ยังอยู่ในนรก ยังไม่หมดวิบากกรรม ถูกเขากิน แล้วก็กินเขาสลับกันไป ยุติธรรมดีออก

https://www.facebook.com/watch/?v=2317141878540918

รถขนวัว

มองดูวัวในรถก็สงสารมัน รถส่ายไปมา ยืนก็ลำบาก มือก็ไม่มีไว้เกาะ ก็ทรงตัวกันไปบนพื้นที่เต็มไปด้วยขี้เยี่ยวของพวกมันเอง

รถคันนี้ใส่วัวเข้าไป 3 ตัว วัว 3 ตัวต่างพยายามหาตำแหน่งที่ตนสบาย ตัวที่ใกล้ข้างรถก็เอาหัวออกไปรับลมได้ ตัวตรงกลางนี่ลำบากที่สุด นอกจากตัวเล็กแล้วยังไม่มีที่ให้ขยับตัวอีก ต้องยืนอยู่ข้าง ๆ ตูดเพื่อน ว่าแล้วเพื่อนวัวก็ขี้ออกมา แถมฉี่อีก 1 ยก ดูเป็นบรรยากาศที่แสนจะอึดอัดเมื่อนำมาเปรียบกับชีวิตคนเมือง

ตัวผมเองนั้นใช้บริการรถสาธารณะค่อนข้างบ่อยและใช้มายาวนาน เพราะรู้สึกว่ามันสะดวกและประหยัด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความลำบาก เพราะในบางเวลาก็ต้องพบกับคนจำนวนมาก แออัด เบียดเสียด ขยับได้ยาก ร้อน เหม็น สารพัดสิ่งที่ไม่น่าอยู่

แต่ด้วยความที่ผมสูงกว่าคนทั่วไปพอสมควร ก็เลยได้พื้นที่สูดอากาศโปร่งมากกว่าชาวบ้านอยู่หน่อยนึง ก็คงเหมือนวัวที่สามารถยื่นหัวออกไปนอกตัวรถได้ละมั้ง แม้จะเบียดแต่อย่างน้อยก็พอหายใจหายคอได้

แต่คนส่วนใหญ่ ก็คงเหมือนวัวที่อยู่ตรงกลาง ถูกเบียดจากตัวที่อยู่ข้างหน้าและตัวที่อยู่ข้างหลัง คนไทยส่วนใหญ่ไม่สูงนัก โดยเฉพาะผู้หญิง สภาพที่เป็นอยู่ก็ค่อนข้างน่าเห็นใจ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อชีวิตมีข้อจำกัด ถ้าคนสามารถเลือกได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทุกคนก็คงอยากจะนั่งตากแอร์สบาย ๆ ในรถส่วนตัวกันทั้งนั้น

ผมเห็นวิบากกรรมของคนที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพียงเพื่อจะให้ชีวิตมันดำรงอยู่ จริง ๆ การจะมีชีวิตอยู่นั้นมันก็ไม่ยากอะไร ก็มีแค่ปัจจัย 4 ที่พอเพียงเรียบง่ายไม่เป็นโทษ ก็พอจะอยู่ได้แล้ว แต่ชีวิตนี่มันมีวิบากกรรม มีสิ่งที่ส่งผล มีสิ่งที่บังคับ มีสิ่งที่เป็นเหมือนกรอบบังตาไว้ให้คนเดินไปตามเส้นทางนั้น

อย่างน้อย ๆ ถ้ารู้สึกว่าชีวิตมันลำบาก ไม่อยากเป็นอย่างวัวที่ยืนเบียดกันบนรถ ก็เลิกเป็นเหตุหนึ่งให้วัว หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ ต้องไปยืนเบียดกันเช่นนั้น เลิกสะสมกรรมเช่นนั้น เพราะเมื่อไหร่ที่เราเป็นเหตุ หรือทำกรรมเช่นนั้น เราก็ต้องรับผลนั้น รับวิบากกรรมเช่นนั้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ได้รับในชาตินี้ ก็ไปรอรับในชาติหน้า หรือชาติอื่น ๆ ต่อไป

การตรวจใจในความโสดอย่างยั่งยืน

การอยู่เป็นโสดโดยทั่วไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขายินดีในการเป็นโสด ก็อาจจะเป็นเพียงแค่โสดรอเสพ โสดหวังสูง โสดค่าตัวแพง ฯลฯ อะไรประมาณนี้

ก็อย่างที่รู้กันว่าการอยู่เป็นโสดแบบโลกีย์นั้นคือโสดแบบมีภพ มีกิเลสอาศัยอยู่ เพียงแต่มันนอนก้น ตกตะกอน ไม่แสดงตัว แต่ถ้ามีสิ่งที่หวัง ที่ฝันไว้ เช่นคนหน้าตาดี คนมีตัง คนอบอุ่น คนเป็นที่พึ่ง คนที่เข้าใจ คนมีธรรม คนในอุดมคติ ฯลฯ โผล่เข้ามาก็อาจจะใจแตกได้

คงจะมีแค่ส่วนน้อยในสังคมเท่านั้นที่สอนให้ยินดีในความโสด และในส่วนน้อยนั้นก็ยังมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ถูกบ้าง ผิดบ้างไปตามปัญญาของแต่ละท่าน แต่ก็ยังสามารถใช้หลักของพระพุทธเจ้ามาตรวจสอบได้ว่าที่เป็นอยู่ ที่เข้าใจอยู่ ที่เชื่ออยู่นั้นถูกต้องมั่นคงถาวรไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหรือกาลเวลาใด ๆ

เราสามารถประยุกต์หลักของพระพุทธเจ้าได้จากเวฬุทวารสูตร (เล่ม 19 ข้อ 1459) โดยเนื้อความของพระสูตรนี้เป็นเรื่องของการเบียดเบียน ซึ่งการมีสละโสดไปมีคู่นั้น ก็อยู่ในหมวดของการเบียดเบียนด้วยเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว หลัก 3 อย่างที่จะประกันความโสดได้คือ 1.ตนเองต้องยินดีในความโสด 2.ชักชวนให้ผู้อื่นเป็นโสด 3.ยินดีในธรรมที่พาให้เป็นโสด

จิตของคนที่พ้นจากความอยากมีคู่ ยินดีในความโสด จะมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องปรุงว่าเราจะต้องทำตาม 3 หลักนี้ มันจะเป็นไปเองอย่างนั้น ซึ่งนี้คือสภาพผลของการปฏิบัติที่ถูกตรงเท่านั้น ถ้าไม่ถูก จิตมันจะไม่มีสภาพ 3 อย่างนี้

บางคนดูเหมือนยินดีในความโสด แต่พอจะชักชวนคนอื่น หรือยินดีในธรรมที่เป็นโสดกลับไม่เข้าใจ ปรับใจตามไม่ได้ หรือบางคนยินดีในการเป็นโสด แต่พอไปร่วมงานแต่งงานกลับยินดีในธรรมฝ่ายตรงข้าม คือไปยินดีที่เขาแต่งงานกัน มีอาการชอบ ปลื้มใจ แบบนี้มันก็ไปคนละทิศ หรือจะตรวจง่าย ๆ ก็ดูคนรักกันทั่วไปก็ได้ จะรักกันจริงหรือในละคร พอเห็นแล้ว ถ้ามันชอบใจ ถูกใจก็ยังไม่พ้น

การปฏิบัติธรรมกับการหมั่นตรวจมรรคผลเป็นของคู่กัน ถ้าทำแล้วไม่มีการตรวจ ไม่มีการชี้วัด จากหลักฐานเช่นพระไตรปิฎกหรือผู้รู้จริงทั้งหลาย ก็อาจจะทำให้หลงเข้าใจผิดไปได้ว่าตนเองผ่านโจทย์นั้น ๆ

สภาพหลงบรรลุธรรมจะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ในทุกกรณี เพราะสำคัญว่าตนเองผ่านแล้ว ได้แล้ว สำเร็จแล้ว จึงเสียโอกาสในการเรียนรู้เพิ่ม พลาดโอกาสในการตรวจสอบจุดพร่อง หรืออาจจะนำมาซึ่งเหตุเภทภัยอื่น ๆ จากความประมาณตนผิด

ถ้าไม่เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ จะให้ทำอะไร?

ผมก็คิดทบทวนนะ ว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี่จะทำให้ลดการกักขัง,ทำร้าย,ฆ่า ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์ของสัตว์และเป็นประโยชน์ของตนเองด้วย คือเราไม่มีกรรมไปเกี่ยวข้องกับการเบียดเบียน สรุปคือเป็นทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

แล้วเรามีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ จะให้เก็บไว้เปล่า ๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ก็ใช่ว่าจะผลักดันให้เกิดผลในอุดมคติ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ความรู้มันก็ช่วยได้แค่คนที่ต้องการรู้เท่านั้น คนน้ำเต็มแก้วก็ต้องปล่อยเขาไป

เพราะสุดท้ายทำยังไงมันก็ไม่ทันหรอก โลก(โลกีย์/กิเลส) มันกลืนกินคนได้เร็วกว่า ดูสิ ทุกวันนี้เขารีวิวอาหาร อร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไปกินเนื้อแบบนั้นแบบนี้ เคยมีไหมที่จะเห็นคนไปแย้ง ว่านั่นกิเลส นั่นกาม ไม่มีหรอก เขาก็ไหล ๆ ไปรวมกันนั่นแหละ

แต่ถ้าเราเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์นี่ เขามาฮึ่ม ๆ ใส่เลยนะ กับกิเลสโลก ๆ ทั่ว ๆ ไป เขาไม่ค่อยสู้กันนะ เขามาสู้กับคนที่เผยแพร่ธรรมที่พาให้ไม่เบียดเบียน นี่มันยังไง แต่ก็ไม่สงสัยหรอก ก็มันหน้าที่เขา เขาก็ทำตามหน้าที่เขา

ส่วนเราก็ทำตามหน้าที่เรา เผยแพร่ไป นึกมุกใหม่ได้ก็เผยแพร่กันไป ถ้ามุกตันก็ทบทวนธรรมศึกษาโลกไปเดี๋ยวก็นึกออกสักวัน

ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรดีเท่าเราเผยแพร่สิ่งดีออกไปหรอก ก็ประมาณให้เหมาะก็พอ ก็ต้องติกันให้กระทบถึงอัตตา แต่ก็ไม่ถึงขั้นทะเลาะบาดหมางกัน เพราะคนสมัยนี้ด้าน หนา มารยาเยอะ ถ้าลงน้ำหนักไม่มาก ประนีประนอม มันไม่เข้า ไม่สะเทือนผิวเขาเลย

คิดดูสิ ทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา เพราะความหลง ความอยากกินของตนแท้ ๆ แต่ต้องไปเบียดเบียนเขามา ถึงขนาดต้องให้คนไปฆ่าเขามากิน ก็ยังกินกันหน้าตาเฉย กิเลสมันจะหนาขนาดไหน ตื้น ๆ แค่นี้เขายังไม่รู้กันเลย

นี่ขนาดว่ามีคนเขาขยันเผยแพร่กันขนาดนี้ยังไม่เห็นผลเลย แล้วถ้าไม่ทำอะไรเลยมันจะแย่ลงขนาดไหนเนี่ย

พระพุทธเจ้าตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์ว่าทำความดีให้ถึงพร้อม ไม่ใช่ให้ปล่อยวางความดี คือดีน่ะทำไป ถ้าจะปล่อยวางค่อยไปปล่อยตอนเขาจะฆ่า ถ้าเผยแพร่เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเขาจะฆ่า ก็คงจะปล่อยวางตอนนั้น ไม่ใช่ว่ากลัวตายหรอกนะ ก็แค่สงสารเขาว่าเขาต้องทำบาปด้วยเรื่องแบบนี้

และนี่เองคือรูปแบบเดียวกับที่คนดีในกลียุคต้องหนีเข้าป่า 7 วัน 7 คืน ให้คนชั่วเขาฆ่ากันให้หมดโลก แล้วค่อยออกมาใหม่ มันจะปล่อยวางดีกันตรงนี้นี่แหละ คือจุดที่ทำดีแล้วเบียดเบียน ทำร้ายกัน เราก็เลิกยึดดีนั้น แล้วหนีออกจากคนพาลไปหาดีใหม่ทำเท่านั้นเอง

กินอย่างรู้ที่มา

เห็นร้านอาหารบางร้านเขาชูเรื่องผัก ก็มีแปลงผักในพื้นที่ บางที่ก็เก็บผัก เก็บผลผลิตได้ คนก็ชอบกัน ชื่นชมกับกระบวนการเก็บเกี่ยวกัน

พอมานึกถึงเนื้อสัตว์ ไม่เห็นจะมีสักร้านที่เขาเอาสัตว์มาเลี้ยง ฆ่าสัตว์โชว์ ให้ลูกค้าฆ่าเอง สัตว์ที่หมายถึงก็พวกหมู วัว ไก่ เป็ด ขาประจำโรงเชือดทั้งหลาย

คงเพราะภาพมันไม่น่าชม เสียงร้องมันไม่น่าฟัง กลิ่นเลือดมันไม่น่าดม เขาก็เลยไม่นิยมกัน ไม่ใช่คุณธรรมอะไรหรอก ก็แค่ไม่สมกาม ไม่สมใจที่อยากเสพ มันไม่ใช่ภาพที่ชอบ ไม่ใช่เสียงที่อยากได้ยิน ไม่ใช่กลิ่นที่อยากดม เขาก็ไม่เอากัน

แต่ที่เขาเอาก็มี พวกสัตว์เล็กที่มันร้องไม่ได้ เลือดไม่นอง กลิ่นไม่แรง ก็พวกกุ้งหอยปูปลาทั้งหลาย พวกนี้บางร้านเขาก็ฆ่ากันสด ๆ เลย จับมันมาใส่บ่อ พอจะกินมันก็จับมันปิ้งกันสด ๆ เลย ถ้าแบบนี้คนชอบ ฆ่ากันแบบสดใหม่เขาก็ยินดีกินกัน

ผมเคยคิดว่าถ้าคนเขากินอย่างรู้ที่มาจริง ๆ เขาอาจจะหยุดกินเนื้อสัตว์ได้ แต่พอมาทบทวนอีกที มันก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะถ้ากามมันจัด มันก็เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเองได้หมดนั่นแหละ

คือรู้ทั้งรู้ว่าสัตว์ต้องตายเมื่อตนเองกิน การกินสัตว์ของตนเองนั้นคือแรงขับเคลื่อนในกระบวนการเลี้ยงล่าค้าขาย เขาก็ไม่หยุด ไม่คิดจะหยุด ไม่ยินดีในการหยุด ปกป้องตนเองเพื่อจะได้ไม่มีวันหยุด

คงเหมือนกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ในลำดับของจิตที่จะพัฒนาได้ จะต้องมีศีลเสียก่อน ไม่มีศีลก็ไม่มีหิริโอตัปปะ ทุกวันนี้พุทธไม่มีศีลเป็นเบื้องต้นแล้ว จะหวังอะไรกับหิริโอตัปปะหรือธรรมที่สูงกว่านั้น

ไม่มีฉันทะ ก็ไม่ต้องเริ่มกันเลย

ได้ฟังพ่อครูกับอาจารย์หมอเขียวก่อนหน้านี้ในประเด็นประมาณนี้ คือถ้าไม่มีฉันทะ ไม่มีศรัทธา ทำยังไงก็ไม่สำเร็จ

แต่ก่อนมันก็ประมาณไม่เก่งหรอก มันก็จะเกิน ๆ ไปเสียส่วนมาก แล้วก็ไม่รู้โทษ ความจริงคือที่เกินนี่มันเสียของ เททิ้งน้ำเลย เราให้ เขาไม่เอา เขาเสียกุศลเขา ความเห็นเราเขาเอาไปเททิ้ง พูดไปเสียเวลา เสียกำลังปรุงไปเฉย ๆ สรุปเสียทั้งสองฝ่าย

ตอนนี้ก็สบายขึ้นเยอะ ไม่ผลักดันเหมือนก่อน เดี๋ยวนี้ก็ประมาณเอาตามศรัทธาของเขานั่นแหละ ถ้ามีก็ค่อยลงมือ ถ้าไม่มีก็คุยตามมารยาทกันไป

อย่าเอาธรรมะไปให้กับคนที่ไม่รู้ค่า
(ธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นมูล)

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์
๕ เมษายน ๒๕๖๒
บวรราชธานีอโศก
อุบลราชธานี