การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าและคนบาป ทำไมจึงไม่เลิกกินเสียล่ะ?

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม 25 สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ข้อ 112)

อ่านเจอพระสูตรนี้คิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนทำใจในใจได้ ถ้าอยากเจริญ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลก … ต่อให้ไม่อยากก็ได้ แค่ใช้ชีวิตไม่ให้ไม่เป็นโทษภัยต่อสัตว์อื่นก็พอ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราละเว้นบาป เหมือนคนมีปัญญา รู้เห็นอยู่ว่าสิ่งที่กำลังจะกินอยู่นั้น มันก่อบาป ก่อโรค เป็นทั้งห่วงโซ่อุปทานในวงจรบาป เป็นทั้งอาหารก่อโรคภัยในตนเอง บัณฑิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไปทำอย่างนั้นให้มันลำบากหรอก ก็เหมือนมันมีทางให้เลือกเดิน ทางรกกับทางเรียบ ๆ เราก็ไปทางเรียบสิ จะไปทางรกทำไมให้มันลำบาก

ทางอื่นในการดำรงชีวิตนอกจากกินเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แล้วจะไปกินทำไมให้มันลำบากตัวเอง เบียดเบียนสัตว์อื่น

บัณฑิตหรือผู้รู้นี่เขาเห็นแล้วว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ เขาก็เลิกไปเท่านั้นเอง เพราะไอ้บาป เวร ภัย นี่มันชัด ๆ อยู่แล้ว เป็นการเบียดเบียนหยาบ ๆ ที่แม้แต่คนทั่วไป ศาสนาใดเขาก็รับรู้ได้ จริง ๆ ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่น่าจะมั่นใจว่าตนเป็นพุทธนะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ไม่ใช่ศาสนาไม่รู้ มั่ว ๆ เดา ๆ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมใดเบียดเบียน กรรมใดไม่เบียดเบียน อันนี้มันก็หาศึกษาไม่ได้ยากในยุคอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแบบนี้นะ

คนที่เห็นทางที่ดีกว่า สบายกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า แล้วยังไม่ไป ก็ไม่แปลก ก็เขาไม่ใช่บัณฑิตไง …ตรงข้ามกับบัณฑิตก็มีแต่คนพาลเท่านั้นแหละ

ถ้าไม่เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ จะให้ทำอะไร?

ผมก็คิดทบทวนนะ ว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี่จะทำให้ลดการกักขัง,ทำร้าย,ฆ่า ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์ของสัตว์และเป็นประโยชน์ของตนเองด้วย คือเราไม่มีกรรมไปเกี่ยวข้องกับการเบียดเบียน สรุปคือเป็นทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

แล้วเรามีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ จะให้เก็บไว้เปล่า ๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ก็ใช่ว่าจะผลักดันให้เกิดผลในอุดมคติ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ความรู้มันก็ช่วยได้แค่คนที่ต้องการรู้เท่านั้น คนน้ำเต็มแก้วก็ต้องปล่อยเขาไป

เพราะสุดท้ายทำยังไงมันก็ไม่ทันหรอก โลก(โลกีย์/กิเลส) มันกลืนกินคนได้เร็วกว่า ดูสิ ทุกวันนี้เขารีวิวอาหาร อร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไปกินเนื้อแบบนั้นแบบนี้ เคยมีไหมที่จะเห็นคนไปแย้ง ว่านั่นกิเลส นั่นกาม ไม่มีหรอก เขาก็ไหล ๆ ไปรวมกันนั่นแหละ

แต่ถ้าเราเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์นี่ เขามาฮึ่ม ๆ ใส่เลยนะ กับกิเลสโลก ๆ ทั่ว ๆ ไป เขาไม่ค่อยสู้กันนะ เขามาสู้กับคนที่เผยแพร่ธรรมที่พาให้ไม่เบียดเบียน นี่มันยังไง แต่ก็ไม่สงสัยหรอก ก็มันหน้าที่เขา เขาก็ทำตามหน้าที่เขา

ส่วนเราก็ทำตามหน้าที่เรา เผยแพร่ไป นึกมุกใหม่ได้ก็เผยแพร่กันไป ถ้ามุกตันก็ทบทวนธรรมศึกษาโลกไปเดี๋ยวก็นึกออกสักวัน

ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรดีเท่าเราเผยแพร่สิ่งดีออกไปหรอก ก็ประมาณให้เหมาะก็พอ ก็ต้องติกันให้กระทบถึงอัตตา แต่ก็ไม่ถึงขั้นทะเลาะบาดหมางกัน เพราะคนสมัยนี้ด้าน หนา มารยาเยอะ ถ้าลงน้ำหนักไม่มาก ประนีประนอม มันไม่เข้า ไม่สะเทือนผิวเขาเลย

คิดดูสิ ทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา เพราะความหลง ความอยากกินของตนแท้ ๆ แต่ต้องไปเบียดเบียนเขามา ถึงขนาดต้องให้คนไปฆ่าเขามากิน ก็ยังกินกันหน้าตาเฉย กิเลสมันจะหนาขนาดไหน ตื้น ๆ แค่นี้เขายังไม่รู้กันเลย

นี่ขนาดว่ามีคนเขาขยันเผยแพร่กันขนาดนี้ยังไม่เห็นผลเลย แล้วถ้าไม่ทำอะไรเลยมันจะแย่ลงขนาดไหนเนี่ย

พระพุทธเจ้าตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์ว่าทำความดีให้ถึงพร้อม ไม่ใช่ให้ปล่อยวางความดี คือดีน่ะทำไป ถ้าจะปล่อยวางค่อยไปปล่อยตอนเขาจะฆ่า ถ้าเผยแพร่เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเขาจะฆ่า ก็คงจะปล่อยวางตอนนั้น ไม่ใช่ว่ากลัวตายหรอกนะ ก็แค่สงสารเขาว่าเขาต้องทำบาปด้วยเรื่องแบบนี้

และนี่เองคือรูปแบบเดียวกับที่คนดีในกลียุคต้องหนีเข้าป่า 7 วัน 7 คืน ให้คนชั่วเขาฆ่ากันให้หมดโลก แล้วค่อยออกมาใหม่ มันจะปล่อยวางดีกันตรงนี้นี่แหละ คือจุดที่ทำดีแล้วเบียดเบียน ทำร้ายกัน เราก็เลิกยึดดีนั้น แล้วหนีออกจากคนพาลไปหาดีใหม่ทำเท่านั้นเอง

ความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ได้ตัดกันง่ายๆ

ผมมีความเห็นว่าจะตัดความอยากกินเนื้อกันด้วยปัญญานี่มันยากนะ มันต้องตัดด้วย “อัตตา” คือยึดดี ไปก่อนนี่แหละ มันถึงจะเลิกกิน(ยึดชั่ว) ได้

คือการไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันก็มีอะไรดี ๆ มากมายให้ยึดอยู่เหมือนกัน จะเมตตา จะสุขภาพ จะประหยัด จะ…ฯลฯ ก็ต้องหาจุดยึดไปก่อน ไม่งั้นมันไหลไปตามน้ำ ไหลไปตามกระแสโลกหมด

แล้วถ้าพัฒนาตัวเองจนโตขึ้นได้แล้ว ว่ายน้ำได้แล้ว ขาถึงพื้นแล้ว ก็ค่อยเลิกยึดหลัก เลิกยึดดี (อัตตา) นั้นอีกทีหนึ่ง ปฏิบัติไปเป็นลำดับ ล้างกาม ล้างอัตตา มันก็จะดูเป็นไปได้หน่อย

จะไปล้างอัตตาก่อนนี่มันจะไปไม่ได้ มันจะมั่วเลย ชิงวางก่อนเลย ทำดียังไม่ได้ทำเลย วางไปแล้ว ก็เรียกว่ามันยังไม่ได้ทำอะไรนั่นแหละ ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย ยังไม่มีดีให้วางเลย จะวางดีได้ยังไง ถ้าจะเรียกว่า “วาง” ได้จริง มันต้องมี “สิ่ง” ให้วางด้วย ไม่ใช่ไม่มีอะไรดีเลย จะวาง มันก็ไม่ใช่ มันก็เล่นตลกเท่านั้นแหละ

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้จริง วางได้จริง จิตมันจะสบาย ทางโลกที่แสดงออกจะมีลักษณะ 3 อย่างคือ ตัวเองก็ไม่กินเนื้อสัตว์, ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์, ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนและผู้อื่น …แล้วก็ไม่ทุกข์ใด ๆ ในองค์ประกอบ 3 อย่างนี้

1.ไม่กินก็ไม่ทุกข์ร้อน ไม่กินทั้งชีวิตก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องอดไม่ต้องทน การไม่กินเนื้อสัตว์ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

2.ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ ไม่ต้องยึดดี ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรถ้าคนอื่นจะเห็นแย้งหรือไม่เอาด้วย อธิบายบอกตามเหตุปัจจัยที่เหมาะแก่ความเจริญ แล้วก็วางดีเหล่านั้นไป ไม่ต้องทะเลาะกับใครให้ปวดหัว

3.ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนเองและผู้อื่น ตนเองก็ยินดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แม้จะกินแค่ข้าวเปล่าจิตก็ยังยินดี ไม่มีน้อยใจ ขุ่นใจ เห็นคนอื่นเขาไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยินดี เขาลดได้แม้เล็กแม้น้อยก็ยินดีกับเขา

…แค่เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ชีวิตก็ยกระดับขึ้นอีกขั้นแล้ว ไม่ใช่ความโก้หรูดูดีมีศีลเคร่งอะไรหรอก มันยกระดับขึ้นจากทุกข์นั่นแหละ คือจากที่เคยลอยคอ มันก็สูงขึ้น ไม่ต้องสำลักน้ำบ่อย ๆ

จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางคนมีกำลังจิตดี มีปัญญามากก็ตัดได้ไว แต่ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ทำกันหรอก เพราะเขาไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเขา หรือไม่ก็เห็นว่ามี แต่มันไม่มีแรงต้าน ดังนั้น มันจึงต้องเพิ่มความยึดดีเป็นแรงต้าน ความอยากกินเนื้อสัตว์ (กาม) นั้นก่อน

อย่ายึดมั่นถือมั่น

อย่ายึดมั่นถือมั่น…

ผมได้อ่านประโยคเหล่านี้บ่อย เมื่อได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับความเห็นจากการศึกษาศาสนาพุทธต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ คนเขาก็ว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, การเลือกกินมันยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ

ผมมาเห็นรูปนี้แล้วก็นึกได้ … เออเนาะ คนเรานี่ก็หลอกตัวเองได้เยอะเลย ยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่ามันเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามใจตน เช่น สิ่งนี้คือแกะ แกะกินได้ แกะอร่อย ฯลฯ

ไอ้ “สิ่งนี้คือแกะ” นี่ก็สมมุติทั่วไป คือการตั้งสัญญาให้ตรงกัน ไม่ได้เบียดเบียนอะไรแกะ ถึงมันจะถูกเรียกว่า แกะ แอะ แมะ ฯลฯ ก็ไม่ได้กระทบอะไรมัน แต่ที่ไปกำหนดว่ามันกินได้นี่สิ มันเริ่มจะไปเบียดเบียนมันแล้ว ส่วนที่ไปฆ่าเขาแล้วซื้อมากินกันนี่เบียดเบียนเต็มๆ

ทีนี้คนที่ยึดมั่นถือมั่นนี่เขาจะไม่ปล่อยไม่คลายเลยนะ เขาว่าแกะกินได้ หมูกินได้ เขาก็จะกินอยู่นั่นแหละ เขาจะไม่ยอมคลายออกเลย เขาจะยึดอยู่แบบนั้น นี่แหละคือความยึดมั่นถือมั่นในสัญญาของคนที่ติดเนื้อสัตว์

กลายเป็นเอาเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน (อัตตา) เหมาเอาว่าเนื้อแกะชิ้นนี้ เป็นของฉัน ฉันซื้อมา อันนี้มันเมาสมมุติทั้งนั้น เหมือนเด็กเล่นขายของแล้วจริงจัง จริงๆ แกะมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการซื้อขายของเราหรอกนะ เราสมมุติขึ้นมาเอง แล้วยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นความดีความชอบของเรา

อย่ายึดมั่นถือมั่น…ในสิ่งที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นเลย วางเสียทีเถิด ยึดถือสิ่งที่เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อประโยชน์ตนอยู่นั่นแหละ(เห็นแก่ตัว) ไม่รู้จักวางเสียที


ผู้ที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า “สัญญาไม่เที่ยง” จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย แต่จะเหลือเพียงหลักพิจารณาประโยชน์และโทษให้เป็นไปตามจริง (ตามข้อมูลและความรู้ที่มี ณ ขณะนั้นๆ)

เช่นความรู้เดิมคือเนื้อสัตว์กินได้ แต่พอได้ความรู้ใหม่ว่า เขาต้องฆ่ามาถึงจะได้เนื้อมากินนะ ก็จะพิจารณาเอาประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเลือกไม่กินเนื้อสัตว์เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบียดเบียนผู้อื่นและไม่สร้างบ่วงกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยเวรนั้นทับถมให้เป็นทุกข์แก่ตน